วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2564

อุทกสีมา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.

“อุทกุกฺเขปสีมา”เขตแดนแห่งห้วงน้ำอันบริสุทธิ์ ณ กรุงสุโขทัย
ใน “ชินกาลมาลีปกรณ์” ที่นิพนธ์ขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 กล่าวถึงเรื่องราวย้อนกลับไป ในช่วงปี พ.ศ. 1968 ว่า มีพระเถระจากสุวรรณภูมิ จำนวน 33 รูป ได้กระทำการอุปสมบทใหม่ใน “เรือขนาน” ที่ท่าเรือยาปา “แม่น้ำกัลยาณี” (Kelaniya River) ทางตะวันตกของเกาะลังกา และได้เดินทางกลับมาเผยแพร่พุทธศาสนาแบบลังกาที่เรียกว่า “สีหลภิกขุ” หรือ “นิกายกัลยาณีสีมา” ในรัฐสุโขทัย-สวรรคโลก รัฐล้านนา รัฐตามพรลิงค์และรัฐอยุทธยา
การอุปสมบทใหม่ เกิดขึ้นจากความคิดของ “พระเจ้าธรรมเจดีย์” กษัตริย์มอญหงสาวดี และพระเถระนิกายรามัญ ทั้ง 6 สำนัก ที่เห็นว่าพระภิกษุสงฆ์ในอาณาจักรมอญเริ่มหย่อนยานพระวินัย ประพฤติตัวไม่เคร่งครัดเหมาะสม จึงได้ส่งให้ไปบวชเรียนใหม่ที่ลังกา
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มีพระภิกษุจากหลายสำนักของรัฐทางภาคเหนือ (พะเยา หริภุญชัย เชียงใหม่ เชียงแสน) ร่วมเดินทางไปอุปสมบทใหม่ที่เกาะลังกาหลายคณะ ในปี พ.ศ. 1973 ได้มีกลุ่มพระภิกษุจากกรุงสุโขทัย ไปอุปสมบทใหม่และเดินทางกลับมายังสุโขทัย พร้อมกับคติความเชื่อและศิลปะลังกาแบบสีหลภิกขุ – (ในยุคศิลปะแบบลังกาตะวันตก โคลัมโป - โกฏเก – แคนดี้ พุทธศตวรรษที่ 20-21) ที่ส่งอิทธิพลทางศิลปะและคติความเชื่อในการสร้างวัดวาอารามของกรุงสุโขทัยมากที่สุด
วัฒนธรรมทางพุทธศาสนาที่มาพร้อมกับนิกายลังกาสิงหลภิกขุ นอกเหนือไปจากพุทธศิลป์แบบลังกาอันงดงามแล้ว ยังมีประเพณีพิธีกรรมทางพุทธศาสนาแบบชาวบ้านอย่าง ประเพณีการฉลองสมโภชและการเบิกพระเนตรพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ แบบแผนในการบรรจุ “พระธาตุ” (หัวใจ) ไว้ภายในองค์พระพุทธรูป ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้พระพุทธรูปนั้นมีชีวิต มีความศักดิ์สิทธิ์ สมควรที่พุทธศาสนิกชนจะกราบไหว้บูชาได้โดยสมบูรณ์ การบรรจุพระเครื่อง พระบูชาและสิ่งของมีค่าในกรุเจดีย์เป็นจำนวนมาก เพื่อการพุทธบูชาสืบทอดพระพุทธศาสนาในกัลป์ของพระศรีอริยเมตไตรย์
อีกทั้งการใช้ประโยชน์จาก “ฝาดาน” (ส้วม) แบบแผ่นหินมีร่องผ่านของเหลว ตามแบบพระภิกษุลังกา ก็เริ่มเป็นที่นิยมในกรุงสุโขทัย
ในงานศิลปะ รูปลักษณ์ของเทพเจ้าชั้นสูงในคติฮินดู ทั้งพระวิษณุ พระคเณศ พระแม่คงคา พระสกัณทะกุมาร พระนิรฤติ ฯลฯ ได้ถูกนำมาสร้างวรรณกรรมใหม่ กลายมาเป็นบริวารผู้ปกป้องพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก
--------------------------------------
*** อิทธิพลพุทธศาสนาแบบลังกาสิงหลภิกขุ – กัลยาณีสีมา ที่นับว่ามีความโดดเด่นมากที่สุด คือ การจัดวางแผนผัง “เขตศักดิ์สิทธิ์” ไว้กลางน้ำที่เรียกว่า “อุทกุกฺเขปสีมา” (อุ-ทะ-กุก-เข-ปะ-สี-มา) หรือ “วัดที่มีอุโบสถตั้งอยู่กลางน้ำ”
“อุทกุกฺเขปสีมา” หรือ “อุทกสีมา” ก็คือ “เขตสมมุติ” ที่ตั้งอยู่กลางน้ำ ต้องมีระยะห่างจากฝั่งตามแบบแผนที่ว่า "...ไม่น้อยกว่าการวักน้ำสาดไปโดยรอบแห่งบุรุษผู้มีกำลังปานกลาง สาดไปไม่ถึงเขตของสีมา..." ซึ่งเขตสมมุตินี้จะใช้เป็นเรือนแพหรือจะใช้เป็นแพขนานก็ได้ ซึ่งจะต้องทอดสมอหรือผูกกับหลักยึดไว้กลางน้ำ หรือผูกกับต้นไม้ที่เกิดขึ้นในน้ำ จะผูกเรือหรือแพกับกิ่งของต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนตลิ่งที่ยื่นลงไปในแม่น้ำไม่ได้ จะทำบันไดยื่นหรือทอดไปหาเรือหรือแพก็ได้ แต่ตอนสวดเพื่อสมมติสีมาหรือช่วงทำสังฆกรรม จะต้องดึงบันไดออกไม่ให้พาดหรือสัมผัสกับส่วนหนึ่งส่วนใดของเรือหรือแพ จะใช้เรือที่เคลื่อนที่ไปมาเป็นสีมาทำสังฆกรรมไม่ได้
ในยามปกติ สามารถใช้สะพานหรือบันไดทอดไปยังโบสถ์น้ำ เดินทางข้ามฝั่งไปมาได้ แต่ในช่วงที่คณะสงฆ์กำลังลง “สวดสมมติสีมา” หรือกำลังปฏิบัติ “สังฆกรรม” จะต้องดึงบันไดออก ไม่ให้สะพานนั้นไปพาดหรือสัมผัสกับส่วนหนึ่งส่วนใดของโบสถ์กลางน้ำโดยเด็ดขาด
อุทกุกฺเขปสีมา หรือ เขตสีมากลางน้ำ เป็นสีมาที่สมมติขึ้นเฉพาะกิจในการทำสังฆกรรมแต่ละครั้ง เมื่อจะทำสังฆกรรมครั้งหนึ่ง ก็ทำพิธีสวดสมมติเขตสีมาขึ้นใหม่ โดยกำหนดเอาเวลาที่สงฆ์นั่ง “หัตถบาส” อยู่เท่านั้น พอลุกจากที่หรือ “ละหัตถบาส” ก็เป็นอันสิ้นสุดเขตสีมานั้น จะใช้ใหม่ก็ต้องสมมติขึ้นใหม่ ในการสมมติอุทกสีมาแต่ละครั้งไม่ต้องสวดถอน เพราะถือว่าเป็นสถานที่บริสุทธิ์อยู่แล้ว แม้จะเคยทำอุทกสีมา ณ สถานที่เดียวกันมาก่อน ก็ถือว่าอายุแห่งอุทกสีมานั้นหมดไปกลายเป็นแม่น้ำ มหาสมุทร หรือหนองน้ำในสภาพปรกติไปแล้ว
การทำสังฆกรรมและการอุปสมบทในเขตสีมากลางน้ำนั้น ถือว่ามีความบริสุทธิ์และเข้าถึงพระพุทธองค์ได้มากกว่าพันธสีมาแบบทั่วไปที่อยู่บนบก อีกทั้งยังมีความสะดวก เพราะเป็นโบสถ์หรือสีมาที่ถูกสมมุติขึ้น เมื่อสิ้นสุดพิธีกรรม พื้นที่ “อุทกสีมา” ในสระน้ำนั้นก็คืนกลับสู่ธรรมชาติโดยอัตโนมัติ ในขณะที่ “พันธสีมา” จะมีความยุ่งยากในการจัดการทางพิธีกรรมมากกว่า
นิกายสีหลภิกขุ นิยมที่จะกระทำสังฆกรรมในอุทกสีมาเพราะเชื่อว่า อุทกสีมานั้นเป็นเขตแดนที่มี “ความบริสุทธิ์” มากกว่าพัทธสีมาบนบก การอุปสมบทใหม่ให้กับพระเถระจากสุวรรณภูมิจึงกระทำสังฆกรรมกันในแพขนานในแม่น้ำกัลยาณี ที่ถูกผูกพัทธสีมาเป็น “นทีสีมา” ซึ่งเป็น อพัทธสีมา (มิใช่สีมาบนบก) แบบหนึ่งครับ
---------------------------------
*** เมื่ออิทธิพลของนิกายสิงหลภิกขุจากลังกาตะวันตกแพร่หลายเข้าสู่กรุงสุโขทัย ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา จึงเริ่มมีการสร้างเขตอุทกสีมาเป็นเกาะดิน ทั้งยังมีการสร้างอาคารโบสถ์แบบถาวรขึ้นกลางตระพังน้ำขนาดใหญ่ในตัวเมืองสุโขทัย อย่างทั้งที่ วัดสระศรี (ตระพังตะกวน) เกาะวัดร้างในตระพังเงิน เกาะหน้าวัดชนะสงคราม  อีกทั้งยังประยุกต์นำเอาศาสนาอาคารทั้งวัดลงไปสร้างอยู่บนเกาะกลางน้ำ กำหนดอาคารในเขตพุทธาวาสร่วมไว้ในเขตอุทกสีมาเดียวกันทั้งหมด อย่างที่วัดตระพังทองและวัดตระพังสอ รวมทั้งหมด 5 แห่ง
ส่วนอาคารโบสถ์โบราณหลายแห่งที่มีเพียงการขุดคูน้ำล้อมรอบรูปสี่เหลี่ยม ไม่ถือเป็นอุทกุกฺเขปสีมานะครับ ด้วยเพราะไม่สมบูรณ์ด้วยข้อกำหนดอันตายตัวในเรื่องของ “ระยะการวักน้ำ” ตามแรงมนุษย์ และข้อกำหนดความเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ อันสามารถคืนเขตสีมากลับสู่ธรรมชาติได้โดยอัตโนมัติ เป็นเพียงมหาสมุทรล้อมรอบเขาพระสุเมรุตามคติจักรวาลเท่านั้นครับ
ในปัจจุบัน อาคารศาสนสถานที่มีลักษณะของ “อุทกุกฺเขปสีมา” แบบสระน้ำขนาดใหญ่ ในคติความเชื่อแบบสีหลภิกขุจากต้นทางลังกาตะวันตกนั้น ก็ยังหลงเหลืออยู่หลายแห่ง ทั้งในเขตล้านนา รัฐฉานในพม่าและลาว แต่เป็นอาคารโบสถ์ไม้ในยุคหลัง ที่สร้างกลางสระน้ำขนาดเล็กเรียกกันว่า “อุโบสถน้ำ - หนองโบสถ์ – บัวสถกลางนํ้า - ชาตสระ”
*** มีโอกาสลองย้อนอดีต ไปนั่งสวดมนต์ทำสมาธิอย่างสงบกันบนเกาะอุทกุกฺเขปสีมา ที่ถือว่า “บริสุทธิ์” ที่สุด ที่กรุงสุโขทัยกันครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
..........................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น