วิจิตรแห่งไกรลาส ที่ “ปราสาทบันทายสรี”
“ปราสาทบันทายสรี” หรือ “บันเตียเสรย” (Bantãy Srĕi) ปรากฏนามในจารึกว่า “อิศวรปุระ” (Īśvarapura) ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเสียมเรียบไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 25 กิโลเมตร ใกล้กับเขาพนมได สร้างขึ้นครั้งแรกในยุคของ “พระเจ้าราเชนทรวรมัน” (Rajendravarman) ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 โดยพราหมณ์-ราชครู “ยัชญยวราหะ” (Yajñavarāha) ซี่งในครั้งแรกสร้างนั้น ตัวปราสาทคงเป็นเพียงปราสาทก่ออิฐ 3 หลัง มีโคปุระก่ออิฐและกำแพงอิฐล้อมรอบตามสถาปัตกรรมที่นิยมในยุคศิลปะแบบแปรรูป (Pre Rup) อย่างที่คงหลงเหลือร่องรอยเป็นซากอาคารโคปุระหลังเดิมให้เห็นอยู่ทางด้านตะวันตกของกลุ่มปราสาทประธานชั้นใน
.
ต่อมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 “พระเจ้าชัยวรมันที่ 5” (Jayavarman V) ลูกศิษย์เอกของพราหมณ์ยัชญยวราหะขึ้นครองอาณาจักร จึงได้มีการก่อสร้างปราสาทบันทายสรีขึ้นใหม่ด้วยหินทรายเนื้อละเอียดสีออกแดงทั้งหมด ตามคติฮินดูไศวะนิกาย - ตรีมูรติ (Shaivism - Trimūrti) ทับซ้อนบนปราสาทอิฐหลังเดิม ประดิษฐานพระศิวลึงค์ “ตรีภูวนมเหศวร” (Tribhuvanamaheśvara) เพื่ออุทิศถวายแด่พระราชครูของพระองค์ครับ
.
กลุ่มปราสาทหินชั้นในสร้างขึ้นอย่างย่อส่วน มีขนาดเล็กกว่าปราสาทหินโดยทั่วไป แต่แกะสลักลวดลายประดับบนเนื้อหินด้วยความพิถีพิถัน ละเอียดบรรจง วิจิตรงดงามอย่างกับมีชีวิต จนได้รับการยกย่องว่าเป็น "อัญมณีชิ้นเอกของงานศิลปะเขมรโบราณ” (Jewel of Ancient Khmer Art) ด้วยเพราะมีการแกะสลักลวดลายประดับแทบทุกพื้นผิวตัวปราสาท อย่างรูปของนางอัปสราและพระทวารบาลประดับผนังเรือนธาตุเป็นที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก
.
ลวดลายอันวิจิตรแห่งปราสาทบันทายสรีได้เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา ลายใบไม้ที่ยื่นออกมาราวกับใบไม้บาง ๆ ตามธรรมชาติ แต่ที่แท้จริงแล้วเป็นเนื้อหินทรายที่ถูกคว้านเนื้อหินเข้าไปจนเหลือส่วนของใบไม้ที่บางเฉียบ ก็ได้ถูกกระทบกระเทือนแตกหักเสียหายไปเป็นอย่างมากในแต่ละยุคสมัย อีกทั้งรูปสลักสำคัญก็มีร่องรอยถูกรื้อถอนทุบทำลายในครั้งใดครั้งหนึ่งของอดีตที่ผ่านมาแล้วครับ
.
---------------------------
*** หน้าบันเหนือซุ้มประตูโคปุระ (ย่อส่วน) ชั้นในสุด หน้าเรือนอรรธมณฑป (Ardhamaṇḍapa) ของปราสาทประธาน ปราสาทบันทายสรี เป็นจุดสำคัญที่สุดที่งานแกะสลักอันวิจิตรและขนบความเชื่อไศวะนิกายได้มาบรรจบกันอย่างลงตัว ปรากฏเป็นภาพสลัก “ศิวนาฏราช” (Shiva Natarāja) ที่ด้านหน้าเรือน รับภาพบนหน้าบันที่หันเข้าด้านใน สลักเป็นเรื่องราว “มหิงษาสุมรรทิณี” (Mahishasura Mardini) หรือพระนางปารวตี (พระอุมา) ในภาคพระแม่ทุรคา (Durgā Doddess) เทวีแห่งการสงคราม
.
เมื่อนำภาพมาบูรณะด้วยประติมานวิทยา-จิตนาการ เป็นกราฟฟิก (CG- Computer Graphic) โดยเทียบเคียงเส้นโครงร่างรอยแตกกะเทาะที่เหลืออยู่ ผสมผสานกับรูปศิลปะและคติในยุคบันทายสรีที่ร่วมสมัยกับภาพสลัก หน้าบันด้านหน้าโคปุระชั้นในเป็นภาพพระศิวะ ราชาแห่งการฟ้อนรำ 10 พระกร กำลังร่ายรำอย่างนุ่มนวลในท่า “จตุระ” (Chatura) ฟ้อนจีบนิ้วทุกพระกร แยกพระเพลาตรงพระชานุออกแบบกำลังย่อตัว ในท่ามกลางลวดลายพรรณพฤษาที่ละเอียดอ่อน มุมขวาล่างเป็นพระวิษณุกำลังตีกลอง มุมซ้ายเป็นภาพของนาง "ปุณิฑาวาธียาร์” (Punithavathiyar) หรือ “กาไลการ์ อัมไมยาร์” (Kāraikkāl Ammaiyār -Karaikkal Ammaiyar) สาวกสตรีแห่งองค์พระศิวะ ที่มีรูปลักษณ์น่าเกลียดน่ากลัว น่าขยะแขยง ผมเผ้ารุงรัง ร่างกายซูบผอมเหมือนซากศพ หนังติดกระดูก นมแหลมยาน แต่มีใบหน้าที่ร่าเริง ยินดีและมีความสุข คอยให้จังหวะดนตรีประกอบการร่ายรำ
.
*** ภาพมหิงษาสุมรรทิณี แสดงเรื่องราวพระแม่ทุรคาสังหาร “มหิงษาอสูร” (Mahishasura) ที่ได้ขอพรต่อพระศิวะให้เป็นอมตะ ไม่มีสิ่งใดและไม่มีผู้ใดสามารถสังหารได้ แม้แต่เหล่ามหาเทพ เทพเจ้า มหาเทวี มหาฤๅษี มนุษย์ อมนุษย์ หรือสรรพสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่แล้วในสามโลก แต่พระศิวะได้ทรงสำทับแนบไว้ว่า “...แต่เจ้าจะต้องตายเมื่อถูกอิสตรีสังหาร...” มหิษาอสูรจึงต่อรองว่า “...ขอให้อิสตรีผู้นั้นจะต้องเกิดโดยผิดปกติวิสัย ไม่ได้เกิดจากครรภ์มารดา ไม่ได้ถืออวตารมาจากเหล่าเทพเทวีบนสรวงสวรรค์ อิสตรีนั้นจะต้องมีฤทธาอานุภาพดั่งมหาเทพ มหาเทวี มหาฤๅษีทั้งปวง และมีศาตราวุธทุกอย่างที่เหล่ามหาเทพ มหาเทวี มหาฤๅษีใช้อยู่รวมกัน จึงจะสามารถสังหารตนได้...”
.
เมื่อมหิงษาอสูรออกอาละวาดรุกรานเข่นฆ่าผู้คน ทำลายล้างไปทั้งสามโลก จนไม่มีเทพเจ้าองค์ใดสามารถต่อกร ได้ นางทุรคาจึงได้ถือกำเนิดขึ้นจากเพลิงครรภ์แห่งรุทรเนตรเหนือนภากาศ เหล่าเทพเจ้าต่างถวายศาสตราวุธพร้อมพลังแห่งความโกรธา บังเกิดเป็น “มหาเทวีทรุคา” (นางกาตยายนี) ผู้มีความงดงามและแสงสว่างดุจดวงอาทิตย์พันดวง มีสามพระเนตร 18 กร เสด็จลงมาสังหารมหิงษาอสูรด้วยตรีศูล
.
*** ภาพจินตนากร CG แสดงภาพมหิงสาอสูรที่กำลังถอดร่างหนีออกจากควายเผือก แต่ได้ถูกรัดด้วยบ่วงบาศนาคราช และถูกแทงสังหารด้วยตรีศูลแห่งองค์พระศิวะ
.
*** ภาพสลักพระศิวะและพระนางปารวตี ไกรลาสปติผู้เป็นใหญ่แห่งสามโลกที่โคปุระชั้นในปราสาทบันทายสรี เป็นภาพในคติบุคลาธิษฐานอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นภาพมงคลในคติฮินดู ...พระศิวะร่ายรำคือความงดงามของสมดุลแห่งชีวิตที่มีความสุข พระนางปารวตี (อุมา) ผู้เป็นพระศักติ คือ ชัยชนะเหนือความชั่วร้าย ที่ไม่มีวันจะชนะความดีงามของเราไปได้ครับ...
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น