วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ศึกหนองหาร สกลนคร

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
"ศึกหนองหารหลวง" การเมืองบนทับหลัง ที่ปราสาทพระธาตุนารายณ์เจงเวง เมืองสกลนคร
ภาพสลักลวดลายประดับ “ปราสาท-พระธาตุนารายณ์เจงเวง” ตำบลธาตุนาเวง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร อาจได้แสดงให้เห็นถึงงานช่างฝีมือที่มีความแตกต่างกันเกือบ 100 ปี นับตั้งแต่การสร้างขึ้นครั้งแรกในช่วงราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 
.
ลวดลายพรรณพฤกษาใบไม้ม้วนหรือก้านขดแบบสมมาตร ไปจบยอดที่ดอกพุ่มข้าวบิณฑ์ บนหน้าบันซุ้มบัญชร(วิมาน) ขนบของการแกะสลักทับหลังที่วางรูปสำคัญไว้ตรงกลางมีหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัยและใบไม้พวยฟุ้งออกมาทั้งบนและล่าง ภาพสลักศิวนาฏราช วิษณุอนันศายินปัทมนาภา พระกฤษณะฉีกร่างนาคกาลียะและการประลองพละกำลังของพระกฤษณะกับเหล่าสัตว์ป่า อีกทั้งบนชิ้นส่วนที่แตกหักยังปรากฏลวดลายภาพเรื่องพาลีรบสุครีพ  ภาพพระรามน้าวศร ที่ล้วนแต่เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในช่วงศิลปะพระวิหาร-บาปวน  ที่มีความนิยมในเรื่องราวประติมานของพระกฤษณะ (Lord Krishna) และวรรณกรรมรามายณะ ถึงแม้ว่าจะปรากฏร่องรอยการแกะสลักลวดลายเสริมต่อโดยช่างฝีมือยุคหลัง แทรกเข้าไปในหลายส่วนก็ตามครับ
.
ร่องรอยของวรรณกรรมรามายณะ ยังได้สะท้อนความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างบ้านเมืองหนองหารหลวงทางทิศเหนือของอาณาจักร กับเมืองโฉกวกุล (วิมายปุระ) บ้านเมืองสำคัญของราชวงศ์มหิธระปุระในเขตอีสานใต้ได้เป็นอย่างดี
.
ลวดลายแกะสลักในทางศิลปะที่ปราสาทพระธาตุเจงเวง อาจดูแตกต่างไปจากศิลปะแบบช่างฝีมือใกล้เมืองศูนย์กลางของราชสำนักทั้งที่วิมายปุระและศรียโสธรปุระ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไรมากนัก ด้วยเพราะอยู่ห่างไกลมาทางทิศเหนือสุดของเขตอำนาจแห่งจักรวรรดิเขมรโบราณ ช่างฝีมือก็ไม่ได้มีมาก ลูกศิษย์ลูกหาในท้องถิ่นก็ขาดความชำนาญ เอาแค่แบบครูพักลักจำ ก็สวยหรูแล้วครับ 
.
แต่ “ขนบ” หรือ “แบบแผน” ของการจัดวางองค์ประกอบ สถาปัตยกรรม การเลือกวัสดุ การก่อเรียงหิน คติความเชื่อ กลับมีความสมบูรณ์ตามแบบสถาปัตยกรรมปราสาทหิน  ทั้งลายลวดประดับ กรอบประตู ท่อรางโสมสูตรที่มีปลายท่อเป็นตัวมกร หน้าบันที่เว้าลึกไปจากกรอบ “รวยนาค” มีฐานโค้งรับกับทับหลังด้านล่างอย่างมีมิติ ก็ล้วนแต่เป็นเสน่ห์ของปราสาทหินที่สร้างสำเร็จเสร็จสิ้นจนถึงส่วนยอด ที่ตั้งอยู่ห่างไกลที่สุดทางทิศเหนือจากเมืองพระนครหลวง 
.
-------------------------------
***  ทับหลังของซุ้มประตูฝั่งทิศใต้ที่ปราสาทพระธาตุนารายณ์เจงเวง ได้แสดงเรื่องราวที่ดูเหมือนว่าจะมีความแตกต่างไปจากภาพสลักอื่น ๆ ที่ดูเป็นศิลปะงานศิลปะแบบพระวิหาร-บาปวนทั้งหมด ซึ่งก็น่าจะเป็นภาพสลักในยุคศิลปะแบบพิมาย ช่วงต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 17 (ช่วงก่อนนครวัด) ยุคหลังกว่าเกือบ 100 ปี ที่นิยมสลักเป็นรูปเรื่องราวทั้งแผ่นโดยไม่มีลวดลายพรรณพฤกษาประกอบ อีกทั้งยังมีการใช้เส้นลวดแบ่งเนื้อหาตามแนวนอนออกเป็นสองถึงสามส่วน ก็เป็นลักษณะเด่นของงานสลักในยุคศิลปะแบบพิมายนี้ครับ 
.
เรื่องราวบนภาพสลัก (ส่วนกรอบล่าง) เล่าเรื่องการเดินทางไกลของขบวนกองทัพ ที่มีบุคคลสำคัญบนสัปคับหลังช้างเป็นประธานตรงกลางของภาพ มีภาพทหารถืออาวุธและบุคคลโบกพัดวาลวิชนีตามหลังช้าง นุ่งผ้าสมพตแบบศิลปะก่อนนครวัด ส่วนด้านขวาของภาพเป็นบุคคลชาย 3 คน ใต้ร่มฉัตรกั้น (ที่ดูเหมือนหมวก) แสดงความเป็นบุคคลสำคัญหรือขุนนาง ซึ่งควรหมายถึงกลุ่มราชสำนักผู้ปกครองเดิมของเมืองหนองหารหลวง 
.
ดูเหมือนว่า ขุนนางสองคนที่ขนาบข้างจะจับแขนอดีตกมรเตง-ผู้ปกครองคนเดิม (คนกลาง) พาออกมามอบให้กับกองทัพที่กรีฑาเข้ามาจากทางขวาครับ
.
ส่วนภาพสลักเหนือเส้นลวดด้านบน เป็นเรื่องราวต่อเนื่องของยอมแพ้ หรือการสวามิภักดิ์ต่อผู้ปกครองใหม่ที่ยกกองทัพมาจากเมืองวิมายปุระหรือพระนครหลวง โดยไม่มีการทำสงครามต่อสู้กัน โดยสลักเป็นภาพของบุคคลที่เคยประทับบนหลังช้างในกรอบล่าง กลับขึ้นมานั่งในซุ้มสามเหลี่ยมที่หมายถึงปราสาท-วังที่ประทับที่ด้านบน  รูปบุคคลทางด้านซ้ายเป็นเหล่าทหารและขุนนาง ส่วนด้านขวาเป็นบริพารโบกพัดวาลวิชนี ถัดมาเป็นทหารองครักษ์ (สองคนเดียวกับภาพกรอบล่าง) โดยด้านขวาสุดของภาพเป็นการถวายเครื่องสูงบรรณาการจากขุนนางที่แปรพักตร์ทั้งสอง (ตามภาพกรอบล่าง) แก่กมรเตงอัญ-ผู้ปกครองดินแดนพระองค์ใหม่
.
โดยภาพของผู้ปกครองหรือกษัตริย์แห่งนครหนองหารหลวงคนเดิมได้หายไปจากภาพ ซึ่งก็คงไม่น่ารอดแล้วครับ
.
------------------------
*** เมืองหนองหารหลวงในครั้งแรกสร้าง อาจก่อตัวขึ้นจากกลุ่มอำนาจเดิมของ “ราชวงศ์ศรวะ” ในยุคพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 โดยมีปราสาทธาตุเชิงชุมเป็นศูนย์กลางของเมือง และมีปราสาทภูเพ็กเป็นวิมานไกรลาส - ศิริศะบนยอดเขา) แต่เมื่อกงล้อแห่งการเมืองเปลี่ยนไป “ราชวงศ์มหิธระปุระ” จากกลุ่มรัฐเมืองพิมาย จึงได้ยกกองทัพขึ้นมายึดครองดินแดนของราชวงศ์เก่า ผู้ปกครองหรือพระญาติของราชวงศ์เดิมแห่งนครหนองหารหลวงถูกขุนนางแปรพักตร์เข้าจับกุม เพื่อหลีกเลี่ยงการสงครามที่เสียเปรียบ เลือกทางรอดด้วยการยอมโอนอ่อนสวามิภักดิ์ไปตามดุลอำนาจใหม่ โดยอาจได้ก่อการปฏิวัติ จับตัวกมรเตง-ผู้ปกครองเชื้อพระวงศ์ศรวะเดิม มาบรรณาการแก่ผู้นำทัพมหิธรปุระ
.
*** ซึ่งก็คือเรื่องราวของภาพสลักบนทับหลังนี้ไงครับ 
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น