วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2564

พระพุทธรูปศิลปะคุปตะ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พระพุทธรูป “ศิลปะคุปตะ” เพียงองค์เดียวที่พบในประเทศไทย
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 – 9 คงเป็นช่วงเวลาแรก ที่ปรากฏอิทธิพลทางศาสนาความเชื่อจากดินแดนต่าง ๆ จากอินเดียเข้ามาสู่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “สุวรรณทวีป-สุวรรณภูมิ (Suvaṇṇabhūmi- Suvarṇadvīpa) /อินเดียน้อย หรือ “ไครเส - เคอรโสเนโสส” (Chrysḗ Chersónēsos - Chryse Chersonese) ตามชื่อนามเรียกขานในบันทึกของ “ปโตเลมี” นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก และ “เมกัสเธนัส” ชาวกรีกเบคเตรีย (โยนก) ช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 ที่หมายถึงดินแดนคาบสมุทรโพ้นทะเลทางตะวันออก
.
ร่องรอยหลักฐานพุทธศิลป์จากอินเดียรุ่นแรกที่พบ หลายชิ้นมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับศิลปะแบบอมราวดี (Amaravati) ซึ่งเป็นรูปแบบของสกุลศิลปะที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำกฤษณา - โคทาวรี (ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย) ในเขตอานธระประเทศ (Andhra Pradesh) ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ราชวงศ์ศาตวาหนะ (Satavahana Dynasty) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 5 - 8 สืบต่อการปกครองมายังราชวงศ์อิกษวากุ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 – 10 ครับ
.
เมื่อเส้นทางการค้าทางทะเลจากเมืองท่าในแคว้นกลิงคะ ที่ปากแม่น้ำคงคา แคว้นอานธระและทมิฬนาดูที่ชายฝั่งเดกข่านฝั่งตะวันออก (Eastern Deccan Plateau) ด้านฝั่งมหาสมุทรอินเดียได้ถูกพัฒนาขึ้น เกิดเป็นเส้นทางค้าทางทะเลด้วยเรือใบ (Dhow ship) ตัดข้ามมหาสมุทรตาม “เส้นทางลมสินค้า” (Mahajanaka Trade Wind) ได้โดยไม่ต้องเลาะตามชายฝั่งอย่างแต่ก่อน เชื่อมโยงเมืองท่าชายฝั่งอินเดียตะวันออกอย่างเมืองท่าอริกาเมฑุ (โปดูเก), กาเวริปัฏฏินัม อมราวดี (Amaraviti) ฆัณฐศาลา (Ghantasala) ภัฏฏิโปรสุ (Pattiposau) เข้ากับเมืองท่าชายฝั่งทะเลคาบสมุทรฝั่งอ่าวเบงกอล อย่าง หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ มะละกา เมืองสะเทิม นครพัน เมาะละแหม่ง ทวาย ตักโกล่า (ตะกั่วป่า - พังงา – ระนอง) ตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช – สุราษฎร์ธานี) เกาะสุมาตราและชวา
.
การค้าข้ามมหาสมุทรได้นำพาเอาผู้คนต่างวัฒนธรรม ต่างฐานันดรวรรณะ ต่างอาชีพ ต่างความเชื่อ ทั้งพ่อค้าวาณิช นักบวช ช่างฝีมือ เกษตรกร ทหาร ผู้แสวงโชคในโลกใหม่ ต่างได้นำเอางานศิลป์ เทคนิควิทยาการ คติความเชื่อทางศาสนาทั้งพุทธและฮินดู หลั่งไหลเข้ามาสู่โลกใหม่ ดินแดนอาณานิคมโพ้นทะเลพร้อมกับการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าไปตามชุมชนสถานีการค้าชายฝั่งทะเล เชื่อมต่อเครือข่ายเส้นทางลึกเข้าไปในภูมิภาค 
.
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 10 “ราชวงศ์คุปตะ” (Gupta Dynasty) ในอินเดียเหนือ ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาปกครองแคว้นอานธระ-อมราวดี ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ อิทธิพลทางศิลปะและคติความเชื่อแบบอินเดียเหนือได้เข้ามาผสมผสานในแคว้นอานธระ/อมราวดี ซึ่งต่อมาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 11 ราชวงศ์จาลุกยะ (Early Chalukya Dynasty) ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่นิยมฮินดูเข้าครอบครองแคว้นอานธระ ชาวพุทธเริ่มถูกบังคับให้เริ่มออกเดินทางอพยพแบบถาวรไปสู่ดินแดนอาณานิคมใหม่ที่สุวรรณภูมิ-ทวีปมากขึ้น ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่เริ่มมีการขนย้ายรูปพระพุทธปฏิมาขนาดไม่ใหญ่นักจากแคว้นอานธระ อันเคยเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาของเดกข่านตะวันออก เข้ามายังคาบสมุทรสุวรรณภูมิเป็นรุ่นแรก ๆ ครับ
.
-------------------------------------------
*** พระพุทธรูปปางประทานพรขนาดเล็ก แกะสลักขึ้นจากหินทราย สูง 14 เซนติเมตร พบจากอำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มีพระพักตร์กลม อุษณีษะ (Ushnisha) เหนือพระเศียรกลมเล็ก ไม่โหนกสูง พระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานพร พระหัตถ์ซ้าย (หักหายไป) กำชายจีวร ครองผ้าจีวรแบบห่มคลุม จีวรบางแนบพระวรกาย ไม่มีรอยริ้วผ้า ยืนตริภังค์ (Tribhaṅga) มีแผ่นหลังเป็นประภามณฑล มีลักษณะพุทธศิลป์ในความหมายของพระพุทธเจ้าสมณโคตม ตามคตินิกายสถวีรวาท (หินยาน) นิกายที่ยึดถือคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า ใช้คัมภีร์ที่เป็นภาษาบาลี เป็นนิกายที่เคร่งครัดที่สุดในด้านวินัย ถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาไม่ใช่เทวดาหรือพระเจ้าแต่อย่างใด เพียงแต่มีคุณสมบัติบางประการเหนือมนุษย์สามัญครับ
.
รูปศิลปะยืนเอียงพระวรกาย 3 ส่วนแบบตริภังค์ การนุ่งผ้าเรียบแบบผ้าอาบน้ำฝน กระหม่อมอุษณีษะกลมไม่โหนกสูง และการแสดงปางประทานพระแบบทิ้งพระกรฝั่งขวาตามแนวพระวรกาย แล้วแบพระหัตถ์หงายออกแบบประทานพร มีหินแผ่นหลัง ล้วนแต่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของรูปพุทธศิลป์แบบราชวงศ์คุปตะ สกุลช่างสารนาถ (Sārnāth)  
.
แต่การปรากฏ รูป "อุณาโลม" (Unalome) ที่กลางพระนลาฏ ซึ่งเป็นความนิยมในงานศิลปะแบบอมราวดี ในแคว้นอานธนะ พระพุทธรูปปางประทานพระนี้ จึงเป็นงานศิลปะคุปตะในแคว้นอานธระ หรืออาจเรียกว่า “ศิลปะยุคหลังอมราวดี” (Post Amaravati) อายุศิลปะในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 11 ซึ่งกลุ่มชาวพุทธคงได้นำติดตัวเดินทางเข้ามายังดินแดนคาบสมุทรมาลายู (Malay Peninsula) เขตประเทศไทยปัจจุบัน ในช่วงที่พุทธศาสนาเริ่มเสื่อมความนิยมลงในเขตที่ราบสูงเดกข่านแล้วครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น