พระสาวกเชื้อสายอิราเนียนในสมัยพุทธกาล
ชมพูทวีปเป็นดินแดนกว้างใหญ่ที่มีผู้คนอพยพมาปักหลักจากหลากหลายชาติพันธุ์ หลายกระแส และหลายระลอก ซึ่งก็ส่งอิทธิพลทับซ้อนระหว่างกัน การเข้ามาของพวกอารยัน(Aryan)หรือกลุ่มอินโด-ยุโรเปียนจากตะวันตกพร้อมกับความเชื่อแบบพระเวทครั้งสำคัญเกิดขึ้นประมาณ 1,500 ปีก่อนค.ศ. พวกนี้ได้กลมกลืนและขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมและภาษาเหนือชนพื้นเมืองซึ่งร่นลงใต้ เป็นการก่อรูปสภาพสังคมอินเดีย กลุ่มอารยันที่อพยพเข้ามาทางตะวันออกก็ยิ่งปะปนชนพื้นเมืองมากขึ้น แต่พวกที่อยู่ทางตะวันตกและทางเหนือนั้นยังรักษาสายเลือดและประเพณีเดิมมากกว่า ลัทธิพราหมณ์ก็สะพรัดมาจากทางตะวันตกเช่นกัน
"อารยะ" หรือ อารยัน เป็นคำที่ใช้เรียกตนเองโดยกลุ่มอินโด-อิราเนียน (Indo-Iranian) หรือบรรพบุรุษร่วมกันระหว่างชาวอิหร่านและอินเดียซึ่งต่อมาได้แยกเป็นหลายกลุ่มหลายชนเผ่ากระจายตัวออกไป พวกอิราเนียนสายตะวันออกดูจะเป็นเผ่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในจำนวนนั้นมีกลุ่มเผ่าเร่ร่อนในทุ่งหญ้าแห่งเอเชียกลาง เช่น พวกศกะ(ไซเธียน), อัศวกะ, ฤษิกะ ฯลฯ ซึ่งคงเป็นพวกเดียวกับที่ปรากฏในบันทึกจีนโบราณ และนอกจากนั้นก็มีพวกที่เริ่มสร้างบ้านแปงเมือง เช่น ภัลลิกะ/พาหลิกะ (แบกเตรีย)
ในสมัยมหาชนบท ใกล้เคียงยุคพุทธกาล แว่นแคว้นที่สันนิษฐานกันว่ามีเชื้อสายอิราเนียน ได้แก่ แคว้นที่อยู่บนเส้นทางการค้าสายเหนือหรืออุตตราปถ ทางชายแดนทางตะวันตก ถูกมองว่าเป็นแคว้นชายแดน(อปรันตกชนบท) นอกไปจากเขตแดนกลาง(มัชฌิมชนบท)
• กัมโพชะ
• คันธาระ
• มัทระ หรือ มัททะ
• กุรุ
นอกจากนั้นแม้แต่ชาติภูมิของพระพุทธองค์เองคือ ศากยะ ก็อาจจะมีที่มาจากพวกอิราเนียนเผ่าศกะที่อพยพเข้าไปในอินเดียไม่เกิน 500 ปีก่อนพุทธกาล และอาจจะมีความสัมพันธ์กับแดนแคว้นอื่นๆที่ปกครองแบบสาธารณรัฐ เช่น โกลิยะ,วัชชี(ลิจฉวี), มัลละ, วิเทหะ, โมริยะ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นพวกอิราเนียน
ในสมัยพุทธกาล ไม่ปรากฏหลักฐานในพระคัมภีร์ดั้งเดิมว่าพระพุทธเจ้าเสด็จไปห่างไกลเกินมัชฌิมชนบท และเขตแดนตะวันตกที่สุดที่เสด็จไปก็เพียงแค่แคว้นกุรุ แต่กระนั้นดูเหมือนว่าพระธรรมคำสอนของพระองค์จะขจรขจายไปไกลกว่านั้นด้วยพระสาวกและผู้ศรัทธาที่เป็นพ่อค้าวาณิชซึ่งนำข่าวประเสริฐไปประกาศแจ้งในแดนไกลผ่านเส้นทางการค้านั่นเอง ในจำนวนนี้มีผู้ออกบวชที่มาจากแว่นแคว้นตะวันตกซึ่งน่าจะมีเชื้อสายอิราเนียนรวมอยู่ด้วย
___________________________
• พระมหากัปปินะ (Mahākapphina) หรือในภาษาสันสกฤตเรียกว่า มหากัปผิณะ (Mahākapphiṇa) เป็นพระอรหันต์จากอุตตราปถ หรือเส้นทางการค้าสายเหนือ มีการอ้างถึงท่านในพระสูตรดั้งเดิมเช่นสังยุตตนิกาย (กัปปินสูตร, สหายสูตร) อังคุตตรนิกาย เถรคาถาแห่งขุททกนิกาย พระวินัยปิฎก และยังพบในชาดก อรรถกถาธรรมบท มโนรถปูรณี สารัตถปกาสินี วิสุทธิมรรค รวมทั้งอวทานศตกะในภาษาสันสกฤต และสัทธรรมปุณฑรีกสูตรของมหายาน ชาติภูมิและลักษณะทางกายภาพของท่านปรากฏในคัมภีร์สื่อว่าท่านเป็นชาวอารยัน อาจจะเป็นเชื้อสายอิราเนียนที่มาจากทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย
กัปปินสูตร (สังยุตตนิกาย 21.11) พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระมหากัปปินะว่า " เป็นผู้ขาว(โอทาตกํ) สูงโปร่ง (ตนุกํ) จมูกโด่ง (ตุงฺคนาสิกํ)" โดยทรงชี้ลักษณะพิเศษนี้ให้พระรูปอื่นเห็นและตรัสชมว่าท่านเป็นผู้มีอานุภาพมาก บรรลุธรรมขั้นสูงสุด ลักษณะทางกายภาพนี้ดูจะเป็นแบบเฉพาะพิเศษของเผ่าอารยันทั้งสีผิว ส่วนสูง และจมูกโด่งซึ่งยังคงปรากฏในกลุ่มคนทางเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย เช่นเดียวกับพวกกัมโพชะและคันธาระโบราณ
https://suttacentral.net/sn21.11/th/siam_rath
ปกรณ์บาลีระบุว่า พระมหากัปปินะเกิดในเมืองกุกกุฏะ หรือกุกกุฏวดี (Kukkutavatī) พระราชอาณาจักรมีขนาด300 โยชน์ และเป็นประเทศปลายแดน (อปรันตชนบท) ตั้งอยู่ใกล้หิมวันตประเทศ(หิมาลัย) สืบราชสมบัติต่อจากพระบิดาและมีพระมเหสีนามว่า อโนชา (Anojā) เป็นเจ้าหญิงจากเมืองสาคละ แคว้นมัททะ หลังจากขึ้นครองราชย์ไม่นาน พระองค์ทรงสนใจในพุทธศาสนาด้วยได้ยินพ่อค้าที่เดินทางมาจากสาวัตถีและประกาศข่าวการเกิดขึ้นของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ในโลกนี้ ทรงเดินทางไปพร้อมข้าราชบริพารและพระมเหสีด้วยรถม้า ทำสัจจกิริยา "ถ้าศาสดาท่านนี้เป็นสัมมาสัมพุทธะจริง ขออย่าให้แม้แต่กีบเท้าม้าเหล่านี้เปียกเลย" และเสด็จข้ามแม่น้ำ 3 สายคือ อรวัจฉา(Aravacchā) นีลวาหนะ(Nīlavāhana) และจันทภาคา(Chandabhāgā) พระพุทธเจ้าทรงเห็นด้วยทิพยจักษุและเสด็จไปยังริมฝั่งแม่น้ำจันทภาคา ประทับใต้ต้นไทรใหญ่ คณะของพระราชาก้มกราบนมัสการและฟังธรรมจนบรรลุอรหัตผลและขอบวชเข้าในคณะสงฆ์ หลังจากออกบวชท่านมักจะอุทานในที่วิเวกว่า "โอ สุขหนอ! โอ สุขหนอ!" (อโห สุขํ อโห สุขํ) ทำให้พระรูปอื่นเข้าใจผิดว่าท่านคิดถึงความสุขในราชสมบัติ แต่พระพุทธเจ้ารับรองว่าท่านกำลังเอ่ยถึงความสุขแห่งนิพพาน
* แม่น้ำจันทภาคา ปัจจุบันได้แก่ แม่น้ำเจนาบ Chenab (ฤคเวทเรียก อสฺกินี/ ภายหลังเรียก อิสฺกิมตี/ มหาภารตะเรียก จนฺทรภาค)
* นีลวาหนะ ปัจจุบันคือ แม่น้ำสินธุ Indus (นีลาบ-Nilab)
* อรวัจฉา สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแม่น้ำสวาต Swat
* กุกกุฏะ หรือกุกกุฏวดีตาม จึงน่าจะตั้งอยู่ทางชายแดนตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ปัจจุบันคือปากีสถาน
* กุกกุฏคิริ อ้างถึงโดยปาณินิ ดูเหมือนว่าเป็นยอดเขาต่ำๆอันหนึ่งในเทือกเขาฮินดูกูชในอัฟกานิสถาน ปัจจุบันจึงน่าจะตั้งอยู่ในอัฟกานิสถาน ส่วนที่เป็นชาวแดนติดกับปากีสถาน
มีข้อสันนิษฐานว่าชื่อ "กัปปินะ" หรือ "กัปผินะ" อาจจะสัมพันธ์กับศัพท์จีนว่า 罽賓 กิปิน(Kipin)หรือ จี้ปิน และ โกเฟเน (Kophene) ชื่อในเอกสารกรีก (พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเคยตั้งค่ายรบ) ระบุถึงสถานที่ในแถบสวาต ชายแดนตะวันตกของปากีสถานปัจจุบัน ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า "กุภา" (Kubha)คือกาบุล หรืออาจจะเป็นคำว่า กปิศะ(Kapisa)
ปาณินิกล่าวว่า พระเจ้ากัมโพชะเป็นพระนามเดียวกับอาณาจักรของพระองค์ ดั้งนั้นกัปปินะจึงอาจเป็นไปได้ว่าไม่ใช่พระนามส่วนพระองค์แต่เป็นพระนามตามอาณาจักร จดหมายเหตุสมัยฮั่นตอนปลาย(後漢書) กล่าวว่า กิปินเป็นเขตแดนที่ถูกปกครองต่อมาโดยพวกกรีก ศกะ ปาร์เธียน และกุษาณ (หลังสมัยศตวรรษที่ 3 ดูเหมือนจะมีการถ่ายโอนความหมายของกิปินในเอกสารจีนจากที่เคยใช้เรียกแดนกุภา/กปิศะในอัฟกานิสถาน ไปใช้เรียกแคว้นกัศมีระ/แคชเมียร์ในอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือแทน อาจด้วยเพราะในอดีตกัศมีระเป็นส่วนหนึ่งของกิปินมาก่อนและต่อมามีบทบาทมากในจีนด้วยพระธรรมทูตของนิกายสรรวาสติวาท)
ดังนั้นพระเจ้ากัปปินะจะต้องเสด็จมาจากทางตะวันตกเฉียงเหนือแน่นอน และทรงเป็นราชาผู้ครองอาณาจักรทรงอำนาจที่ตั้งอยู่ใกล้กับกาบุล (กุภา)ในอัฟกานิสถาน-ปากีสถานในปัจจุบัน โดยอาจจะเป็นส่วนใหญ่ของแคว้นกัมโพชะ และอาจจะมีส่วนหนึ่งของคันธาระรวมอยู่ด้วย โดยน่าจะทรงเป็นเผ่า "อัศวกะ" अश्वक(-คนขี่ม้า อาจจะเป็นพวกเดียวกับเผ่าอู่ซุนแห่งเอเชียกลางในบันทึกจีนโบราณ) ที่เป็นอิราเนียนสายหลักของกัมโพชะ
* หลักฐานในตำนานของพระมหากัปปินะ ดูเหมือนจะกำหนดจุดของเมืองกุกกุฏวดีใกล้กับ ปุกขลวตี หรือ มัษกวตี(Maṣkavati) ทางตะวันตกเฉียงเหนือ
เรายังพบเจอนครต่างๆที่มีชื่อลงท้ายคล้ายๆกัน เช่น อุตปลาวตี, หังสวตี, โอฆวตี, โปกขรวตี(ปุษกลาวดี) และมัษกวตี ในตำราของปาณินิ (คล้ายคลึงกับชื่อ Massaga ในบันทึกกรีกของอาร์เรียน)
* ทิวยาวทานระบุว่า อุตปลาวตีตั้งอยู่บนอุตตราปถ และว่ากันว่านี่เป็นชื่อเก่าของโปกขรวตี ซึ่งต่อมาจะโด่งดังในนามของ ปุษกลาวดี/ปุษกราวตี (पुष्कलावती) ในฐานะเมืองหลวงของจักรวรรดิกุษาณ ปัจจุบันคือ Charsadda ตอนเหนือของเมืองเปษวาร์(Peshwar)ในปากีสถาน ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสวาตและแม่น้ำกาบุล
* รูปวตฺยาวทาน (เรื่องของนางรูปาวดี) ระบุว่าอุตปลวตีเป็นอันเดียวกับปุษกลวตี
กุกกุฏวดีจึงน่าจะอยู่ที่ไหนสักแห่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานหรือตะวันออกเฉียงเหนือของอัฟกานิสถาน ในดินแดนของพวกอัศวกะ-กัมโพชะ และการแต่งงานระหว่างพระเจ้ากัปปินะกับพระนางอโนชาจากแคว้นมัททะก็เหมือนจะรับรองเรื่องนี้เช่นกัน
__________________________
• พระเจ้าปุกกุสาติ (Pukkusāti) พระราชาแห่งแคว้นคันธาระ-กัสมีระ ได้ทราบข่าวการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าจากพระสหายที่ไม่เคยพบหน้าในแดนไกลคือ พระเจ้าพิมพิสาร ก็เสด็จอธิษฐานออกผนวชเองและเดินทางไปหาพระพุทธเจ้าที่เมืองสาวัตถี แต่ระหว่างทางที่เมืองราชคฤห์ได้สนทนากับพระองค์ทั้งคืนจนรุ่งสางจึงสำนึกได้ว่ากำลังสนทนากับพระศาสดาของตน และขอออกบวชแต่ถูกโคบ้าขวิดสิ้นชีพเสียก่อน อรรถกถาธาตุวิภังคสูตรระบุว่าท่านมาจากเมืองตักกสิลา ซึ่งน่าจะเป็นเมืองหลวงของคันธาระในสมัยนั้น *ในปกรณ์สันสกฤตเรียกพระองค์ว่า ปุษกรสาริน
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8748&Z=9019
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=673
*คันธาระมีความสัมพันธ์ชิดใกล้กับกัมโพชะ และพาหลิกะ(แบกเตรีย) เช่นเดียวกับแว่นแคว้นตอนเหนือ และน่าจะมีอิทธิพลแบบอิหร่านโบราณอยู่เช่นกัน สมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ในบันทึกของกรีกกล่าวว่าเมืองตักกสิลา(Taxila) มีประเพณีการทำศพโดยวางไว้กลางแจ้งและเฉือนให้แร้งกิน ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับพวกมาซเดียนทางอิหร่านที่ไม่ใช้ไฟเผา
*การเสด็จออกผนวชของพระเจ้าปุกกุสาตินอกจากความศรัทธาในวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณ ก็อาจจะเกิดจากแรงกดดันด้วยความผันผวนของสภาพการเมืองในคันธาระสมัยนั้นซึ่งตกเป็นรัฐบรรณาการของอาณาจักรเปอร์เซียอาเคมินิด (Achaemenid) ตั้งแต่สมัยพระเจ้าไซรัสมหาราช
__________________________
• พระนางอโนชา (Anojā) ชื่อของพระนางแปลว่า "ดอกอังกาบ" (ดอกไม้ท้องถิ่นอินเดียมีขนาดเล็กสีม่วง) ชาติภูมิเป็นเจ้าหญิงจากสาคละ เมืองหลวงของแคว้นมัททะ (มัทระ) ซึ่งน่าจะมีที่มาจากกลุ่มชนอิราเนียน ดังที่มีความสัมพันธ์ฉันเครือญาติกับแคว้นกัมโพชะ และเมืองกุกกุฏวดี พระนางได้โดยเสด็จพระสวามีบนรถม้าในการข้ามแม่น้ำเพื่อเสด็จไปหาพระพุทธองค์ (รถม้าเป็นสัญลักษณ์สำคัญของกลุ่มชนอิราเนียนและอารยันเช่นกัน) พระนางได้ทำสัจจกิริยาว่า "พระพุทธะอุบัติในโลกมิใช่เพื่อประโยชน์แก่บุรุษเท่านั้น แต่เพื่อสตรีเช่นกัน" เมื่อพระนางพบพระพุทธเจ้าและฟังธรรมก็ได้บรรลุโสดาบัน และออกบวชเป็นภิกษุณีในสำนักพระอุบลวรรณาเถรี (อรรถกถาอังคุตตรนิกาย/สังยุตตนิกาย)
__________________________
• พระนางเขมา (Khemā) ชาติภูมิเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงมัททะ จึงอาจจะเป็นพระภคินีหรือเป็นพระญาติกับพระนางอโนชา ได้ถูกยกให้เป็นพระมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ และต่อมาก็ได้ออกบวชเป็นภิกษุณีและบรรลุอรหันต์ ถูกยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นอัครสาวิกา นำหน้าภิกษุณีท่านอื่นๆในฐานะผู้เป็นเลิศด้านปัญญา ในเขมาสูตร พระนางได้อธิบายให้พระเจ้าปเสนทิว่าไม่อาจระบุว่าพระตถาคตมีหรือไม่มีอยู่หลังจากตายแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเคารพนับถือและชื่นชมพระนางเป็นอย่างมากต่อความสามารถทางปัญญาที่ไม่แพ้บุรุษเพศ
__________________________
*ในมหาภารตะ ซึ่งเป็นวรรณกรรมรุ่นหลังพุทธกาลอย่างน้อย 5 ศตวรรษได้กล่าวถึงชนเผ่าต่างๆที่ร่วมเข้ารบ และชนเผ่าที่มีลักษณะแบบอินโด-อิราเนียน ได้แก่ อัศวกะ ศกะ กัมโพชะ พาหลิกะ มัทระ ศัลวะ ทรทะ(ดาร์ดิก) ปาห์ลวะ *พาหลิกะ (แบกเตรีย) ระบุว่าเป็นพวกพื้นเมืองทางตะวันตกแดนหนาว ต้องใช้ผ้าห่ม เลี้ยงวัวและดื่มนมวัว มีการใช้อูฐและม้าพันธุ์ดีที่ถูกส่งไปใช้รบในอารยวรรต(อินเดีย)
*ตามบันทึกกรีกระบุนามกลุ่มชนเผ่าที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เจอในแถบหุบเขาแห่งปากีสถานและอัฟกานิสถาน ซึ่งในกลุ่มนี้น่าจะมีเชื้อสายอิราเนียนรวมอยู่ด้วย
-Aspasioi แห่งหุบเขากุณาร์ (Kunar valleys) = *อัศวกะ
-Guraeans แห่งหุบเขา Guraeus (Panjkora) ปัจจุบันคือแถบไคเบอร์ ปากีสถานตะวันตกเฉียงเหนือ ใกล้จักดารา มีจุดบรรจบกับแม่น้ำสวาต
-Assakenoi แห่งหุบเขาสวาตและบูเนร์ ทางไคเบอร์ ปากีสถานตะวันตกเฉียงเหนือ =*อัศวกยาน พวกนี้มีเค้าว่าเป็นอิราเนียนตะวันออกพวกเดียวกับไซเธียน
-Hastin (Astes) หัวหน้าเผ่า Ilastinayana (Astakenoi /Astanenoi) ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่ Peukelaotis =ปุษกลาวตี
-Massaga เป็นชื่อเมืองของพวกอัศวกยาน ซึ่งนำทัพโดยราชินี (ลักษณะคล้ายพวกไซเธียนที่สตรีร่วมออกรบ) =*มัษกวตี
-Malli (Malloi) แถบแม่น้ำเฌลุมและเจนาบในปัญจาบ =*มัลละ / *มาลวะแห่งมัธยประเทศ (เช่นนี้เผ่ามัลละอาจมีเชื้อมาทางอิราเนียน?)
-Oxydraci แถบแม่น้ำเฌลุมและเจนาบในปัญจาบ
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น