ภาพสลักรูป “น้องหมา” ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
“สุนัข” มาจากคำในภาษาบาลี-สันสกฤตว่า “ศุนก-สุนข” (Śunaka- Shunakha) ที่แปลว่าหมา ส่วนคำว่า “หมา” มาจากเสียงที่เพี้ยนในท้องถิ่นในคำสันสกฤตว่า “ศฺวานฺ-ศฺวนฺ (Śvan-Śvā- Śvānau-Śvānaḥ) ที่หมายความถึงน้องหมาเช่นเดียวกัน
.
ถึงจะปรากฏภาพศิลปะของน้องหมาที่มีความเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เป็นภาพเขียนสีรูปสุนัขโดด ๆ บนเพิงผาหินปูนที่ เขาวังกุลา จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีอายุประมาณ 3,500 – 4,000 ปี ภาพสุนัขกับมนุษย์ที่ ถ้ำประทุน บนเทือกเขาปลาร้า ในจังหวัดอุทัยธานี และภาพสุนัขตัวผู้ในท่ามกลางมนุษย์และนายพรานที่เพิงผาหินทราย เขาจันทร์งาม อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ที่น่าจะอายุประมาณ 3,200 - 3,500 ปี ที่แสดงให้ร่องรอยหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างคนกับน้องหมา (สุนัขที่ถูกเลี้ยงโดยมนุษย์- Domestication Dog) ในภูมิภาคนี้ แต่กระนั้นรูปศิลปะที่เป็นภาพสลักของน้องหมาก็ยังไม่เคยปรากฏให้เห็นครับ
.
ถึงจะปรากฏเรื่องราวของน้องหมาประกอบในเรื่องเล่าชาดกทางพุทธศาสนา “อรรถกถาชาดก” (Jātakatthavaṇṇanā) ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 2,300 ปี (พุทธศตวรรษที่ 3- 4 ) จำนวน 8 เรื่อง ที่น่าจะส่งอิทธิพลเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกับคติความเชื่อทางศาสนา ทั้ง “กุกกุรชาดก”-พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสุนัข (Kukkura-jātaka) “อภิณหชาดก”-ช้างกับสุนัข (Abhiṇha-jātaka) “สิคาลชาดก”-พราหมณ์เชื่อสุนัข (Sigāla-Jātaka) “สิคาลชาดก”-สุนัขในท้องช้าง (Sigāla-Jātaka) “สุนขชาดก”-สุนัขฉลาด (Sunakha-jātaka) “มหาโพธิชาดก”-สุนัขโกไลยกะ (Mahābodhi-jātaka) มหานารทกัสสปชาดก-ฝูงสุนัขในนรก (Mahānāradakassapa-jātaka) “มหากัณหชาดก”–สุนัขดำกินคน Mahā-Kaṇha-Jātaka. และ “มโหสถชาดก”-สุนัขกับแพะ (Mahā-Ummagga-Jātaka)
.
แต่ก็ยังไม่ปรากฏรูปศิลปะของน้องหมาให้เห็นอย่างชัดเจน นอกไปจากภาพสลักบนใบเสมาหินทรายสมัยวัฒนธรรมทวารวดี เรื่อง “มโหสถชาดก" หรือมโหสถบัณฑิตแห่งมิถิลานคร ซึ่งก็เป็นเรื่องราวของสุนัชกับแพะ ที่มีการแลกเปลี่ยนอาหารระหว่างกันเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น ที่วัดโพธิ์ชัยเสมาราม เมืองฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ อายุในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นภาพสลักของน้องหมาที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยครับ
.
------------------------
*** ในเมืองวิเทหะรัฐ ได้มีเหตุการณ์แปลก ๆ เกิดขึ้น นั้นคือ มีสุนัขตัวหนึ่งเข้าไปคาบหญ้าจากโรงเลี้ยงช้าง แล้วนำมาให้แพะกิน ส่วนเจ้าแพะก็นำเอาชิ้นเนื้อ เศษอาหาร ในโรงครัวมาให้สุนัขกิน ทั้งสองพึ่งพากันอย่างนี้ เหตุที่เกิดขึ้นนี้เนื่องมาจาก สุนัขเดิมอาศัยอยู่ในโรงครัวได้อาศัยเศษอาหารที่พ่อครัวแม่ครัวให้เป็นอาหาร แต่อยู่มาวันหนึ่งไม่สามารถห้ามใจไปกินเครื่องเสวยที่เตรียมไว้ถวายแก่พระราชา จึงโดนขับไล่ทุบตีออกมา ส่วนเจ้าแพะเข้าไปลักขโมยกินฟางที่เก็บไว้เลี้ยงช้าง ทำให้คนเลี้ยงช้างทุบตีจนหลังคด เมื่อสัตว์ทั้งสองมาเจอก็เกิดความคิดที่จะให้สุนัขไปขโมยหญ้าแล้วนำมาให้แพะกิน เนื่องจากสุนัขไม่กินหญ้าก็ไม่เป็นที่สงสัย และแพะก็ไปขโมยชิ้นเนื้อในโรงครัวมาให้สุนัขกิน เพราะไม่มีใครสงสัยเช่นกัน
.
วันหนึ่งพระเจ้าวิเทหะราชได้ทอดพระเนตรเห็นความสัมพันธ์ของสัตว์ทั้งสอง ก็นำมาคิดเป็นปัญหาเพื่อทดสอบปัญญาของนักปราชญ์ทั้งห้าที่รับใช้พระองค์อยู่ในราชสำนัก จึงได้ถามว่า"สัตว์ที่เป็นศัตรูกัน ไม่เคยคิดร่วมเดินทางกัน มาในวันนี้ร่วมเดินทางกันได้อย่างไร"ถ้าวันนี้ใครตอบไม่ได้จะขับไล่ออกจากพระราชสำนัก มโหสถบัณฑิตคิดในใจว่า วันนี้พระราชาน่าจะได้เห็นอะไรสักอย่าง จึงได้นำมาเป็นโจทย์ปัญหา ถ้าออกไปสืบหาน่าจะเจอ แต่ก็คิดว่า น่าจะรอให้นักปราชญ์ทั้งสี่ของผ่อนผันไปก่อนหนึ่ง และนักปราชญ์ทั้งสี่ซึ่งจนปัญญาก็ขอผ่อนผันจะให้คำตอบเป็นวันรุ่งขึ้นตามนั้น
.
มโหสถบัณฑิต จึงได้ไปเข้าเฝ้าพระนางอุทุมพรแล้วถามว่า วันนี้พระราชาได้เสด็จไปที่ใดแล้วประทับที่ได้เป็นเวลานาน ๆ พระนางก็บอกว่าเสด็จไปที่โรงเลี้ยงช้างและโรงครัว มโหสถก็เลยไปสำรวจก็พบว่าความสัมพันธ์ของสัตว์ทั้งสอง สุนัขกับแพะที่พึ่งพาอาศัยกัน ก็สามารถแก้ปัญหาของพระราชาได้ ส่วนนักปราชญ์ทั้งสี่จนปัญญาจึงได้พากันมาหามโหสถขอให้มโหสถช่วย มโหสถจึงได้เรียกนักปราชญ์มาพอทีละคนแล้วให้คาถาไปท่อง เพื่อเป็นคำตอบ
.
พอถึงวันรุ่งขึ้น นักปราชญ์ทั้งห้าก็ได้ให้คำตอบแก่พระราชา เสนกะเป็นคนตอบคนแรกก็ท่องคาถาด้วยความทนงตนว่า
.
"เนื้อแพะเป็นที่โปรดปรานชาวเมือง แต่เนื้อสุนัขหาเป็นเช่นนั้นไม่ เหตุนี้แพะกับสุนัขจึงได้เป็นเพื่อนกัน” พระราชาก็พอพระทัย ต่อไปก็ไปถามปุกกุสะ ท่านก็ท่องคาถาที่มโหสถบัณฑิตให้มาว่า
.
"ธรรมเขาจะขี่ม้า เขาจะใช้หนังแพะเป็นเครื่องลาด แต่ไมใช้หนังสุนัขเป็นเครื่องลาด เหตุนี้แพะกับสุนัขจึงเป็นสหายกันได้" พระราชาก็พอพระทัย จึงได้ตรัสถามคนต่อไป ท่านกามินทร์ก็ตอบว่า
.
"แพะมีเขาโค้งงอ แต่สุนัขไม่มีเขา เหตุนี้ทั้งแพะและสุนัขจึงเป็นเพื่อนกันได้" พระราชาก็ไปถามนักปราชญ์คนที่สี่คือท่านเทวินทร์ต่อไป ท่านก็ตอบว่า
.
"แพะกินใบหญ้าหรือใบไม้ แต่สุนัขไม่กินหญ้าหรือใบไม้ แต่กลับจับกระต่ายหรือแมวกิน ประหลาดสุนัขกับแพะจึงเป็นเพื่อนกันได้" นักปราชญ์ทั้งสี่ท่าน ท่องคาถาตามมโหสถบัณฑิต แต่ก็คงไม่ได้เข้าใจในคำตอบเหล่านั้นเลยแม้แต่คนเดียว มาถึงพระมโหสถบัณฑิต ได้ตอบว่า
.
*** "แพะมี 4 เท้า สุนัขมี 4 เท้า แม้สัตว์ทั้งสองจะมีอาหารแตกต่างกัน แต่สัตว์ทั้งสองก็หาอาหารของอีกฝ่ายแล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันกิน เหตุนี้สัตว์ทั้งสองจึงเป็นเพื่อนกัน" พระเจ้าวิเทหะราชก็เป็นที่พอพระทัยยิ่งนัก จึงได้พระราชทานเงินรางวัลให้กับนักปราชญ์ทั้ง 5 คนคนละ 5 ชั่ง
.
พระนางอุทุมพรเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด ก็รู้สึกไม่พอพระทัย เนื่องจากรู้ว่ามโหสถบัณฑิตเป็นคิดหาคำตอบแต่เพียงผู้เดียว จึงได้ไปบอกกับพระราชาถึงเหตุการณ์ทั้งหมด แต่ครั้นพระราชาให้เพิ่มรางวัลให้มโหสถบัณฑิตก็อาจจะเป็นที่ครหาของประชาชน โดยเฉพาะนักปราชญ์ทั้งสี่ได้ จึงได้คิดปัญหาขึ้นมาอีกหนึ่งข้อ นั่นคือ
.
"คนมีปัญญาแต่ไร้ทรัพย์ กับคนที่มีทรัพย์แต่ไร้ปัญญา คนไหนดีกว่ากัน"
.
เสนกะก็รีบตอบว่าคนมีทรัพย์ดีกว่า จะเห็นว่าคนมีปัญญาหรือนักปราชญ์ทั้งหลายก็เป็นข้ารับใช้ของผู้มีทรัพย์มาก มโหสถบัณฑิตก็แก้ว่า คนที่มีปัญญาจะไม่ทำเรื่องที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ถ้าคนที่ไม่มีปัญญาจะแสวงหาทรัพย์ก็อาจจะหาด้วยวิธีที่ผิด เพราะเห็นแก่ทรัพย์ได้
.
เสนกะก็เปรียบว่า ท่านเศรษฐีท่านหนึ่งมีทรัพย์มาก ถึงแม้เวลาพูดน้ำลายจะไหลย้อยต้องเอาดอกบัวมารองแล้วทิ้งไป นักเลงบ้างคนยังนำไปล้างน้ำแล้วเอาบูชา เหตุนี้ทรัพย์จึงได้กว่าปัญญา
.
มโหสถบัณฑิตก็แก้ความต่อไปว่า "คนเห็นแก่ทรัพย์ ก็เหมือนกับคนที่หวั่นไหวไปกับทรัพย์ ตั้งหน้าตั้งตาจะได้ทรัพย์เพียงอย่างเดียว พอไดก็สุข พอทรัพย์หมดก็ทุกข์ เหมือนปลาที่เขาโยนไปไว้บนบก ต้องดิ้นกระเสือกกระสน ปัญญาจึงดีกว่าทรัพย์พระเจ้าข้า”
.
เสนกะก็แก้กลับมาว่า ปัญญาก็เหมือนแม่น้ำที่ต้องไหลไปรวมกันที่ทะเล ผู้มีทรัพย์ก็เหมือนทะเล จึงมีคนที่มีปัญญามารับใช้ มโหสถบัณฑิตก็โต้ไปว่า คนมีทรัพย์เปรียบเหมือนทะเล แต่ทะเลก็มีคลื่นไม่มีความมั่นคง หวั่นไหวไปตามกระแสตลอด กลับกันคนที่มีปัญญากลับเปรียบเหมือนฝั่ง ถึงมีจะมีคลื่นสักเท่าใดก็ไม่สามารถจะสู้ฝั่งได้ เพราะฝั่งมั่นคงกว่า เหตุนี้ปัญญาจึงดีกว่าทรัพย์
.
เสนกะรีบตอบกลับมาว่า ก็ให้ดูที่พวกเรานักปราชญ์ทั้ง 5 คน เป็นผู้ที่มีปัญญามาก พวกก็ยังเป็นข้าราชบริพารในข้าพระองค์ ยังต้องให้พระองค์ผู้มีทรัพย์ค่อยชุบเลี้ยง เหตุนี้ทรัพย์จึงได้กว่าปัญญา และบอกว่า ถ้ามโหสถบัณฑิตแก้ความนี้ได้ก็จะยอมแพ้ มโหสถบัณฑิตจึงแก้ว่า
.
คนที่มีปัญญาจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ส่วนคนที่ไม่มีปัญญาก็จะทำงานถูก ๆ ผิด ๆ หรือไม่โปร่งใส อาจจะเห็นแก่ทรัพย์ จนไม่ได้สนใจในสิ่งใด อาจจะฉ้อราษฎร์บังหลวงก็ได้ เหตุนี้ปัญญาจึงประเสริฐกว่าทรัพย์ พอมโหสถบัณฑิตกล่าวจบพระราชาก็ทรงสรวลออกมา เป็นอันว่ามโหสถบัณฑิตก็ชนะปัญญาของนักปราชญ์ทั้งสี่อีกวาระ พระราชาก็พระราชทานทรัพย์ให้แก่มโหสถบัณฑิตเป็นอันมาก จนทำให้นักปราชญ์ทั้งสี่เจ็บใจและแค้นมโหสถบัณฑิต…. (เรื่องมโหสถบัณฑิต ยังมีอีกยาวครับ)
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น