วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ระฆังหินโบราณ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ระฆังหิน” เสียงดังกังวาน จากยุคก่อนประวัติศาสตร์สู่วัฒนธรรมทวารวดี  
หลายท่านคงเคยได้ไปชมพิพิธภัณฑ์ เมืองโบราณยุควัฒนธรรมทวารวดี และวัดที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับเมืองโบราณ ก็คงได้เคยพบเห็นก้อนหินขนาดเขื่อง ไปจนถึงขนาดใหญ่ แขวนไว้กับคานหรือวางนอนกองอยู่กับพื้นดิน ที่หลายแห่งจะมีป้ายอธิบายบอกว่าเป็น “ระฆังหิน” ซึ่งก็เชื่อแน่ว่า หลายท่านที่ได้พบเจอในวัดเวลาไปทำบุญ ก็คงเคยเอารากไม้ไผ่ที่ถูกดัดแปลงเป็นด้ามไม้ ตีลงไปบนระฆังหินที่แขวนอยู่กันแทบทุกครั้งไป
.
แล้วระฆังหินคืออะไรกันแน่ หลายคนคงไม่สงสัย เพราะมันก็แค่ก้อนหินที่มีขนาดใหญ่ ที่มี “รู” เคยเห็นแขวนไว้ตามวัด แต่บ้างก็คงสงสัย ว่าจะเป็น “สมอเรือหิน” ได้หรือเปล่า 
.
-------------------
*** ประมาณพุทธศตวรรษที่ 5 – 8  ชุมชนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กำลังรับวัฒนธรรมจากภายนอก จากกระบวนการ “ภารตะภิวัฒน์” (Indianization)  เป็นช่วงแรก ๆ  มีการอพยพเข้ามาของ ผู้คนหลากหลายอาชีพ ชนชั้น วรรณะ เดินทางข้ามสมุทรจากอินเดียเข้ามาเพื่อแสวงโชคและเสาะหาทรัพยากรจาก “โลกใหม่” (New World) ที่ถูกเรียกว่า “สุวรรณภูมิ” (Suvaṇṇabhūmi)  หรือ “สุวรรณทวีป” (Suvarṇadvīpa ) ดังปรากฏในวรรณกรรมพุทธศาสนาเรื่อง “พระมหาชนกชาดก” (Mahājanaka Jātaka) หนึ่งในกว่าหลายร้อยเรื่อง ที่เล่าถึงพระชาติต่าง ๆ ก่อนจะมาประสูติเป็นพระพุทธเจ้าครับ
.
“..... เมื่อพระมหาชนกมีพระชนม์ได้ 16 พรรษาได้ทูลขอพระมารดาเพื่อเดินทางไปค้าขาย เมื่อมีทรัพย์สินมากพอแล้ว จะได้คิดอ่าน เอาบ้านเมืองคืนมา พระมารดาทรงนำเอาทรัพย์สินมีค่ามาจากมิถิลา 3 สิ่ง คือ แก้วมณี แก้วมุกดา และแก้ววิเชียร อันมีราคามหาศาล จึงประทานแก้วนั้นให้พระมหาชนกเพื่อนำไปซื้อสินค้า พระมหาชนกทรงจัดซื้อสินค้าบรรทุกลงเรือร่วมไปกับ พ่อค้าชาวสุวรรณภูมิ …” 
.
ช่วงเวลานี้เป็นช่วงก่อนการเกิดของเมือง-รัฐเริ่มแรก ที่ยังมีความคลุมเครือในรายละเอียดของการรับคติความเชื่อทางศาสนา ภูมิปัญญาและเทคโนโลยี ก่อนจะมาเป็นวัฒนธรรมทวารวดีอย่างชัดเจนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 
.
---------------------

*** “ระฆังหิน” คือเครื่องมือหินขนาดใหญ่จากยุคก่อนประวัติศาสตร์ ช่วงปลายยุคโลหะประมาณพุทธศตวรรษที่ 5 -8  ทำขึ้นจากหินปูนโดโลไมด์ (Dolomite Limestone) ที่หาแหล่งวัตถุดิบได้จากภายในภูมิภาค เป็นงานประดิษฐ์แปรรูปหินชิ้นแรกที่ชาวอาณานิคมและลูกผสมอินเดีย ใช้งานเมื่อราว 1,700 ปีที่แล้ว มาจนถึงช่วงต้นของวัฒนธรรมทวารวดีครับ  
.
*** หลักฐานของ “ระฆังหิน” ที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออก อยู่ในช่วงราชวงศ์ชาง (Shang Dynasty) และราชวงศ์โจว (Zhou Dynasty) วัฒนธรรมใหญ่ในเขตลุ่มแม่น้ำฮวงโห ที่มีอายุประมาณกว่า 2,500 – 4,500 ปี ถูกใช้เพื่อการเคาะเรียกและส่งวิญญาณของผู้ตาย เมื่อเสร็จพิธีกรรมแล้วจะฝังรวมไว้ในสุสานกษัตริย์ 
.
แต่รูปลักษณ์ของระฆังหินในวัฒนธรรมชางและโจวนั้น แตกต่างจากที่พบในประเทศไทย เนื้อหินและรูปทรงของจีนจะตกแต่งแกะสลักเป็นแบบแผ่น แต่ระฆังหินที่พบในประเทศไทย จะเลือกเอาจากก้อนหินภูเขาในท้องถิ่นที่เป็นหินภูเขาตามธรรมชาติ เลือกก้อนที่เป็นแผ่นหรือท่อนยาวที่เกิดขึ้นจากการกระทำจากธรรมชาติ ตามขนาดที่ต้องการ  ไม่ได้เป็นการสกัดขึ้นใหม่ นำมา “เจาะรู”  ตรงกลางจุดสมดุลของหินให้ทะลุ เพื่อใช้สำหรับร้อยเชือกแขวน โดยจะเลือกเนื้อหินที่มีความละเอียดของมวลเนื้อเท่ากัน เมื่อเวลาตีจะมีเสียงกังวานจากแรงกระทบและแรงสั่นสะเทือนครับ
.
*** ระฆังหินที่พบในประเทศไทย จึงอาจถูกใช้ใน “พิธีกรรม” ตามแบบโบราณของจีน และยังอาจถูกใช้ในพิธีกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อ “อำนาจเหนือธรรมชาติ” (Animism)  ทั้งยังถูกนำมาใช้ร่วมในพิธีกรรมทางความเชื่อทางศาสนาจากอิทธิพลของอินเดียต่อมาในยุคหลัง
.
ในระหว่างการตีประกอบในพิธีกรรม หรือจะตีเพื่อบอกเวลา การตีระฆังหินคงมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การกระทบของไม้ตีกับหน้าหินทำให้เกิดเสียงดังกังวาน เมื่อมีเสียงดังขึ้น ก็จะสามารถสื่อนำ “สาร” หรือ “เนื้อหา” ไปสู่ผู้รับ ทั้งมนุษย์ด้วยกันและอำนาจลึกลับที่มองไม่เห็นครับ
.
การใช้ระฆังหินจึงเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ทั้งการ “ส่ง” เสียง (สาร) ไปสู่สิ่งที่มนุษย์มองไม่เห็น และการ “รับ” คลื่นเสียงกลับมาตอบสนองเข้าสู่  “มโนจิต ความคิดและจิตสำนึก” ของมนุษย์ เสียงระฆังมีคลื่นเสียงสูง จึงสามารถเข้าสู่โสตประสาทของมนุษย์ได้ง่ายกว่าในยามปกติ  (รวมทั้งสุนัข .....ในยามค่ำคืน) 
.
*** และคงเป็นการยากที่จะระบุให้ระฆังหินเป็น “สมอเรือ” ด้วยเพราะจุดที่พบเห็นระฆังหินทั้งหมดนั้น ไม่เคยพบจมอยู่ในลำน้ำหรือวางทิ้งไว้บริเวณริมตลิ่งทางน้ำ แต่จะพบร่องรอยเฉพาะบริเวณดอนที่มีร่องรอยของซากศาสนสถานโบราณแทบทั้งสิ้น แล้วหากถ้าใช้หินเพื่อเป็นสมอถ่วงเรือ ก็สามารถใช้เชือกพันล้อมก้อนหินที่มีความยาวยาว มาใช้งานได้เลย โดยไม่มีความจำเป็นต้องเจาะหินเป็นรู 
.
*** เมื่อเขตอิทธิพลของชาวลูกผสมอินเดียและพื้นเมือง เริ่มกระจายตัวมาจากตะวันตกเข้ามายังที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางและขยายตัวไปสู่ที่ราบสูงภาคอีสาน เกิดเส้นทางติดต่อเป็นโครงข่ายที่มั่นคงขึ้นแล้ว เราจึงได้พบกับระฆังหินแบบหินปูนโดโลไมด์ ที่มีแหล่งวัตถุดิบจากเทือกเขาหินปูนในภาคกลาง ตามเมืองโบราณยุควัฒนธรรมทวารวดีในหลายจังหวัด แต่ก็คงพบได้เพียงในเขตภาคกลางและอีสานใต้เท่านั้นครับ
.
ระฆังหินจึงถือเป็นหลักฐานสำคัญของเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อพิธีกรรมทางความเชื่อในยุคก่อนจนถึงช่วงเริ่มของวัฒนธรรมทวารวดี และยังคงถูกใช้ต่อเนื่องมาต่อเนื่องอีกอย่างน้อยกว่าสามศตวรรษ ประกอบพิธีกรรมของศาสนาพุทธและฮินดู ก่อนจะถูกแทนที่ความนิยมด้วย “งานโลหกรรม” ในรูประฆังหรือกังสดาลทั้งแบบแผ่นและแบบโปร่งด้านในที่สร้างเสียงได้ดังกังวานกว่า  
.
แต่ด้วยเพราะเคยเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทางความเชื่อมาในยุคก่อนหน้า  ผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดีและยุคสมัยต่อมาจึงยังคงให้ความเคารพ หลายชิ้นถูกนำกลับมาดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ใหม่ ทั้งการนำมาใช้ปิดกรุในพระเจดีย์ ทำเป็นฐานอัฒจันทร์ทางขึ้นศาสนสถาน ใบเสมา หรือแค่เพียงนำมาไว้ในศาสนสถานครับ
.
เมื่อเวลาผ่านไป วัฒนธรรมและบ้านเมืองเปลี่ยนแปลง เกิด รุ่งเรือง ล่มสลาย สาบสูญ ตาม “วัฏสงสาร” เสาและคานไม้เริ่มผุกร่อน เส้นไผ่และหวายที่เคยร้อยรูไว้ก็เริ่มผุเปื่อยสิ้นแรงยึดเหนี่ยวไปตามธรรมชาติ ระฆังหินที่เคยแขวนไว้เพื่อใช้ในพิธีกรรมของเขตมณฑลศักดิ์สิทธิ์ทางความเชื่อในยุคเริ่มแรก จึงเริ่มร่วงหล่นลงมากองอยู่กับพื้นดินตามที่ต่าง ๆ
.
*** จนเมื่อถึงวันหนึ่ง ระฆังหินแห่งโลกโบราณที่ถูกดินฝังทับถมเป็นก้อนหินปริศนา ก็ถูกนำขึ้นมาแขวนใช้ใหม่ ตกแต่งวัด โบราณสถานหรือเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ แต่อีกหลายก้อนศิลาก็ยังคงต้องวางนอนอยู่เช่นนั้น เพราะมันได้สิ้นประโยชน์ต่อมนุษย์ยุคใหม่ ที่ต่างได้หลงลืมกันไปหมดแล้วครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น