วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2564

โคชานิยชาดก วัดศรีชุม

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
เรื่องเล่าในอุโมงค์ที่วัดศรีชุม “โคชานิยชาดก” เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอาชา 
แผ่นหินจารลายเส้นเล่าเรื่องราว “ชาดก 500 พระชาติ” พร้อมอักษรกำกับเรื่องราวที่เรียกว่า “จารึกภาพชาดกวัดศรีชุม” สลักขึ้นจากหินดินดาน พบติดประดับอยู่บนเพดานของช่องทางเดิน ช่องบันไดและช่องหน้าต่าง เฉพาะในอุโมงค์ทางเดินภายในผนังกำแพงอาคารเรือนมณฑป-เรือนธาตุ ประธานของวัดศรีชุม เมืองโบราณสุโขทัย  
.
แผ่นหินแต่ละแผ่นมีขนาดไม่เท่ากัน บางแผ่นอาจจารภาพได้เพียงเรื่องเดียว แต่บางแผ่นอาจจารได้มากถึง 3-6 เรื่องในแผ่นเดียว  แผ่นหินดินดานส่วนใหญ่จะชำรุดแตกหัก ลายเส้นภาพและตัวอักษรลบเลือน มีที่จารเป็นชาดกจำนวน 40 แผ่น จากทั้งหมด 52 แผ่น ที่เหลือเป็นภาพบัวบานและพระพุทธบาทครับ  
.
ภาพสลักเรื่องชาดกบนแผ่นหิน มีรูปแบบทางศิลปะตามอิทธิพลของศิลปะลังกาและงานศิลปะรามัญ-พุกาม    ตัวอักษรไทยที่จารึกกำกับเรื่องในแต่ละแผ่นนั้น มีอายุอักษรในช่วงปลายสมัยพระญาลิไท (ฦๅไทย-ลิเทยฺย) ไปถึงช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20  ซึ่งน่าจะเริ่มต้นสลักเรื่องราวชาดก โดยกำกับของพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสวามี (มหาเถระศรีศรัทธา)   
.
เรื่องราวชาดก 500 พระชาติ ทั้งหมดอยู่ใน “อรรถกถาชาดก”  (Jātakatthavaṇṇanā) ในภาษาบาลี ที่มีทั้งหมด 547 (550) เรื่อง ตามคติของฝ่ายเถรวาท (Theravāda) เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตนของพระโพธิสัตว์ในแต่ละภพชาติก่อนจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงการกระทำความดีและความชั่วผ่านเรื่องเล่าในนิทาน เป็นคติที่ได้รับความนิยมในอาณาจักรพุกามต่อเนื่องมาจนถึงอาณาจักรมอญ-หงสาวดี ที่เริ่มปรากฏความนิยมในรัฐสุโขทัยประมาณช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 หลังจากที่ราชสำนักหมดความนิยมในคติวัชรยานแบบเขมรและกัมโพชสงฆ์ปักขะในยุคก่อนหน้าไปครับ
.
-------------------------------
*** ชาดกเรื่อง “โคชานิยชาดก-โภชาชานียชาดก” (Bhojājānīya-Jātaka)  อยู่บนแผ่นหินจารลำดับที่ 40  ติดอยู่เหนือเพดานบริเวณปากช่องลมผนังด้านใน ฝั่งทิศใต้ของพระอจนะ คู่กับภาพชาดกเรื่อง “กุกกุรชาดก” (Kukkura-Jātaka)  โดยสลักเป็นภาพของพระเจ้าพรหมทัตประทับนั่งขัดสมาธิแสดงอัญชลี มีดอกไม้ 3 ดอก เหนือพระเศียร อยู่ทางซ้าย ด้านหน้าเป็นภาพดอกไม้สวรรค์ (อิทธิพลจีน-ราชวงศ์หยวน) ในความหมายว่าเรื่องราวชาดกนี้เป็นคำสอนมงคล (ด้วยความเบิกบานดั่งดอกไม้) ตรงกลางเป็นรูปอาชา (พระโพธิสัตว์) ประทับบนอาสนะ หมอบหันหน้าไปทางขวา รูปของทั้งสองอยู่บนราชรถคันเดียวกัน ซีกขวาเป็นรูปท้าวพญา 7 องค์ นั่งประนมมือ มีอักษรจารึกอยู่ด้านบน 3 บรรทัด ว่า “....โคชานียชาดก พระโพธิสตว เปนม่า เทสสนาธรรม แด พญา เจดคน อนนเปนคำรบ ญีสิบสี่....”  
.
---------------- 
***  ครั้งสมัยพระเจ้าพรหมทัต (Brahmadatta) ครองราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี พระองค์มีม้าสินธพอาชาไนย (Thoroughbred Sindh Horse) ชื่อว่า " โคชานียะ" เป็นม้าที่ได้รับการฝึกมาแล้วอย่างดีเยี่ยมมีรูปร่างองอาจล่ำสัน มีพละกำลังเป็นเลิศกว่าม้าทั้งปวง มีฝีเท้าเร็วประหนึ่งสายฟ้า 
.
กล่าวกันว่า เมื่อพระราชาขี่ม้าสินธพอาชาไนยเข้าสู่สนามรบ ต่อให้ข้าศึกมาพร้อมกันทั้งสิบทิศ ก็ยังต้องพ่ายแพ้ แม้เพียงเสียงร้องที่คึกคะนอง  ก็ยังทำให้ม้าของข้าศึกหวาดผวา 
.
พระเจ้าพรหมทัต ทรงโปรดปราน ถือเป็นม้ามิ่งมงคลคู่พระบารมี สั่งให้ดูแลจัดที่อยู่อย่างดีและอาหารรสเลิศให้เสมือนจัดให้สำหรับบุคคลผู้สูงศักดิ์
.
พระนครพาราณสีนั้นมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ กษัตริย์เมืองต่าง ๆ ล้วนอยากครอบครองแต่ด้วยมีทหารกล้าและมีพระราชาที่สามารถทั้งยังมีม้าอาชาไนยเช่นนี้จึงเป็นที่ครั่นคร้ามยำเกรง
.
ต่อมาเมื่อพระเจ้าพรหมทัตชราภาพลง พญาจากหัวเมืองเจ็ดนครได้ร่วมมือกันนำกองทัพบุกเข้าล้อมกรุงพาราณสีไว้ แล้วแต่งทูตมาเจรจาขอให้พระเจ้าพรหมทัตยอมแพ้
.
พระเจ้าพรหมทัตทรงเรียกประชุมขุนศึกและเหล่าขุนนาง ที่ประชุมมีมติให้แม่ทัพม้าที่มีความสามารถผู้หนึ่งเป็นผู้ออกไปรับศึกครั้งนี้ แม่ทัพได้ขอขี่ม้าสินธพโคชานิยะนำไพร่พลบุกเข้าทลายค่ายศัตรูอย่างหนักหน่วงรวดเร็วจนจับพญาองค์แรกได้
.
กองทัพพาราณสีบุกเข้าโจมตีกองทัพค่ายอื่นๆ จนสามารถ จับตัวพญาได้อีกห้าองค์ รวมเป็น 6 องค์ แต่ในระหว่างการรบกับพญาองค์ที่หกนั้น โคชนียะอาชาถูกธนูยิง จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ไม่อาจยืนทรงตัวอยู่ได้
.
หลังจากที่จับพญาองค์ที่หกได้แล้ว แม่ทัพได้ถอดเกราะให้โคชานียะอาชาสบายตัวขึ้น แล้วจึงถามว่า ".... โคชานียะเอ๋ย เจ้าถูกธนูบาดเจ็บสาหัสถึงเพียงนี้ คงจะออกไปร่วมเป็นร่วมตายกับเราไม่ได้อีกแล้ว พาราณสีมีม้าศึกมากมาย แต่จะเทียบเทียมเจ้าได้นั้นไม่มีเลย แต่ถึงเพียงนี้แล้ว เจ้าจงพักรักษาตัวก่อนเถิด ข้าจะออกรบเพื่อสิ้นสุดสงครามครั้งนี้ให้ได้โดยเร็ว...."
....
โคชานียะกล่าวตอบว่า “....เพื่อนเอ๋ย ม้าศึกตัวอื่นที่ท่านหวังจะพาท่านบุกเข้าทำลายค่ายที่เจ็ดนั้น นอกจากเราแล้ว ยังไม่เห็นใครเลย ...”
.
ถึงแม้โคชานียะจะบาดเจ็บสาหัสเพียงใด แต่ก็ยังมีความเพียรไม่หวาดหวั่นต่อความเจ็บปวด ด้วยรู้ว่ามีเพียงตนเองเท่านั้นที่จะพาแม่ทัพผู้กล้าออกรบจนชนะได้ “...หากว่าเรายอมแพ้ต่อการเจ็บปวดเสียตั้งแต่ตอนนี้ ทัพเราก็คงต้องพ่ายแพ้ด้วยความเหนื่อยล้าเป็นแน่....”
.
“...เราจะไม่ยอมให้งานที่ทำมาถึงเพียงนี้แล้วต้องเสียเปล่า ขึ้นชื่อว่าสินธพอาชาไนย แม้จะถูกธนูบาดเจ็บสาหัสจนต้องนอนล้มอยู่กับพื้นดินก็ยังมีพละกำลังมากกว่าม้าทั่วไป เราจะไม่ขอละทิ้งความเพียรอย่างเด็ดขาด ขอท่านแม่ทัพ จงช่วยพยุงเราให้ลุกขึ้นแล้วผูกเกราะออกรบให้แก่เราด้วยเถิด...." แม่ทัพและโคชานิยะที่บาดเจ็บเจียนตาย จึงใส่เกราะเข้าสู่สมรภูมิครั้งสุดท้ายร่วมกัน....
.
โคชานิยะข่มความเจ็บปวดพาแม่ทัพบุกตะลุยเข้าทำลายค่ายที่เจ็ด จนสามารถจับพญาองค์สุดท้ายได้
.
แต่เมื่อโคชานียะเดินทางกลับมาถึงหน้าพระทวารหลวง ก็สิ้นแรงล้มลง พระเจ้าพรหมทัตรีบเสด็จมาดูอาการของโคชานียะด้วยความห่วงใยอย่างที่สุด 
.
อาชาโคชานียะ ทูลขอต่อพระเจ้าพรหมทัตว่า "... มหาราชาเจ้าข้า ขออย่าให้ท่านแม่ทัพต้องได้รับโทษเพราะเหตุที่ข้าบาดเจ็บเลย และขอพระองค์อย่าทรงสั่งประหารพญาทั้ง 7 จงให้เขาได้กระทำสัตย์สาบานแล้วปล่อยคืนกลับไป บ้านเมืองแว่นแคว้นทั้งหลายจะได้สงบสุขไปอีกยาวนาน... 
.
และจึงกล่าวแก่ทุกคนว่า “....ขอให้พระองค์และเหล่าพญาทั้ง 7 ละเว้นการเป็นศัตรูผู้อาฆาต ได้โปรดจงบำเพ็ญทานบารมี รักษาศีล ทรงครองราชย์สมบัติโดยธรรม ด้วยเถิด...” 
.
เมื่อกล่าวจบ โคชานิยะอาชาจึงได้สิ้นใจลง พระเจ้าพรหมทัตโปรดให้ทำพิธีศพม้าสินธพโคชานียะอย่างสมเกียรติเช่นนักรบผู้กล้าหาญ และทรงปฏิบัติตามคำทูลขอของอาชาผู้แสดงความเพียรอันประเสริฐ จนเป็นที่ประจักษ์ทุกประการครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆 
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น