“นันพญาวิหาร” ความงดงามในยุคเริ่มแรกของงานศิลปะพุกาม
เจติยวิหาร “นันพญา – นันปะยา” (Nan Hpaya) ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านมยินกบา (Myinkaba) ห่างไปประมาณ 100 เมตร ทางใต้ของ “วิหารมนูหะ” (Manuha) ซึ่งคำว่า “นัน” ในภาษาพม่านั้นจะหมายความถึง ตำหนักที่ประทับ และ “ปยา” หมายถึง “พญา” ซึ่งก็คงหมายความถึง ที่ประทับแห่งพระพุทธองค์นั่นเอง
.
เล่ากันว่า วิหารนันพญานี้สร้างขึ้นในยุคพระเจ้าอนิรุทร์ หรือ “พระเจ้าอโนรธามังช่อ” (Anawrahta Minsaw) กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์แรกแห่งอาณาจักรพม่า-พุกาม (ตะริมันตระปุระ) แต่เมื่อได้มาพิจารณารูปแบบทางสถาปัตยกรรม ลวดลายประดับและคติในประติมานวิทยาอย่างละเอียดแล้ว วิหารนันพญานี้ควรสร้างขึ้นในยุคสมัยที่มีความนิยมในศิลปะและคติความเชื่อจากอิทธิพลอินเดียในยุคของ “พระเจ้าจานซิตตา – สิทธะ” (Kyanzittha) หรือ “พระเจ้าศรีตรีภูวนาทิตยธัมมมราชา” (Śrī Tribhuvanāditya Dhammarāja) ในภาษาสันสกฤต ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ครับ
.
คงด้วยเพราะศิลปะของเรือนยอดทรงศิขรที่มีการยกเก็จประดับซุ้มกุฑุ ลวดลายพรรณพฤกษาแบบก้านขดห่อรูปหงส์ หน้าเกียรติมุขคายม่านมาลัยอุบะ สลับกับเฟื่องอุบะที่ดูคุ้นเคยในงานศิลปะแบบอินเดีย ประกอบกับหลายหลักฐานที่แสดงว่าพระองค์เองนั้นมีเชื้อสายอินเดียและพยู อีกทั้งในรัชกาลของพระองค์ยังได้ส่งคณะทูตและช่างฝีมือเดินทางไปซ่อมแซมวัดที่พุทธคยา ถวายกัลปนาที่ดินและข้าทาส ขุดบ่อน้ำและทำนุบำรุงวัดในอินเดียหลายแห่ง
.
ในยุคของพระองค์ ยังมีพระภิกษุมหายานจากอินเดียได้พากันหลบหนีการทำลายพุทธศาสนาโดยพวกอิสลาม เข้ามายังอาณาจักรพุกามเป็นจำนวนมากอีกด้วยครับ
.
*** นันทพญาวิหารนับว่าเป็น “ต้นแบบสำคัญ” ของงานศิลปะและคติความเชื่อทางศาสนาแบบอินเดีย/มอญ ที่ส่งต่อมายังงานศิลปะพุกามในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ไปสู่งานศิลปะของพม่า-พุกามในเวลาต่อมา
.
ตัวอาคารวิหารก่อสร้างด้วยอิฐเป็นแกนใน ผิวนอกทั้งหมดบุด้วยหินทรายที่ขัดฝนเป็นก้อนขนาดเล็กจัดก่อเรียงแบบอิฐ และแกะสลักตามแบบงานช่างอินเดีย (ไม่นิยมในงานศิลปะมอญ) โดยตัวอาคารประธานทำเป็นอาคารผังสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่เรียกว่าคู (Gu) ภายในเป็นคูหาเรียกว่า “ครรภคฤหะ” โดยต่อมุขหน้าเป็นอาคารอีกหลังเพียงด้านเดียว ลดความสูงให้ต่ำกว่าอาคารคูหาประธาน เรียกว่าอาคารมณฑปครับ
.
ภายในตัวห้องคูหาครรภคฤหะมีสองชั้น ชั้นในสุดก่อผนังใหญ่หนารองรับเรือนยอดทรงศิขรด้านบน แต่ใช้เทคนิคการถ่ายน้ำหนักลงมาที่เสาทั้ง 4 ต้น ที่เกิดจากการเจาะกลางผนัง แล้วทำเป็นซุ้มประตูโค้ง กลางห้องคูหาด้านในทำเป็นฐานเพื่อวางรูปประติมากรรมประธาน (ไม่เหลือให้เห็นแล้ว) ผนังด้านนอกเจาะเป็นช่องแสงหน้าต่าง เจาะผนังเป็นช่องรูเล็ก ๆ รูปข้าวหลามตัด สลับกับลายผ้าม่าน เพื่อป้องกันการปีนเข้าสู่ภายในของมนุษย์และสัตว์ และเพื่อให้แสงสว่างและอากาศถ่ายเทเข้าไปได้อย่างพอเหมาะ
.
เสาใหญ่ 4 ต้นภายในคูหา ถูกแกะสลักด้วยความประณีตละเอียดลออ ทำเป็นภาพนูนต่ำของ “พระพรหม” 8 องค์ เฉพาะส่วนมุมด้านในที่หันเข้าสู่ฐานรูปประธานกลางคูหา ส่วนด้านนอก สลักลวดลายเป็นภาพนูนต่ำ ทั้งคิ้วบัวรูปเฟื่องอุบะห้อย พวงอุบะประดับอัญมณีห้อย หน้าเกียรติมุขคายอุบะมาลัย ถัดขึ้นไปยังแกะสลักเป็นชุดฐานบัวรองรับเสาที่มีลวดลายต่อขึ้นไปจนถึงยอดด้านบนครับ
.
ภาพสลักพระพรหมที่เสาใหญ่ภายในทั้ง 8 องค์ มี 4 พระพักตร์ สองพระกร ประทับบนดอกบัวในท่ามหาราชะลีลาสนะ (Mahārājalīlāsana) ทั้งสองพระหัตถ์ของพระพรหมไม่ได้แสดงการ “ถือ” ดอกบัว ตามแบบการถือของมงคลในคติเทพเจ้าฮินดู หรือ พระโพธิสัตว์แบบมหายาน-วัชรยาน แต่กลับเป็นเพียงการ “ประคอง” ดอกบัวผุดขึ้นจากกอบัวที่ต่อสายขึ้นมาจากด้านล่าง เช่นเดียวกับดอกบัวบานที่ประทับของพระองค์เอง รูปเทพเจ้านี้จึงไม่ใช่พระพรหมตามแบบคติและงานศิลปะฮินดู หรือพระโพธิสัตว์ในคติแบบมหายาน แต่เป็นพระพรหมในความหมายของ “ความบริสุทธิ์-สูงสุด” ผสมผสานกับการจัดวางรูปพระพรหมไว้ตามมุมต่าง ๆของเสา ในความหมายของการประจำทิศมงคลทั้ง 8 หรือใน บัว 8 กลีบ สัญลักษณ์มงคลอันบริสุทธิ์ ที่อยู่สูงสุดของสวรรค์เขาพระสุเมรุ ในคติพุทธศาสนา(ผสมฮินดู) เถรวาทแบบอินเดียปาละ (ไม่ใช่คติจากมอญและลังกา)
.
*** ความหมายของลวดลายภายในคูหา จึงแสดงถึงความบริสุทธิ์และความเจริญงอกงามอันเป็นสูงสุด ของฝ่ายพระพุทธศาสนานั่นเองครับ
.
*** รูปประธานกลางสุดของคูหาที่ไม่มีอยู่แล้ว ก็อาจเป็นบุษบกมีรูปพระพุทธเจ้าประทับยืน 4 ด้านที่สลักโดยหินทรายครอบโลหะ (ทองคำ ?) ที่ได้กลายมาเป็นต้นแบบของรูปพระพุทธเจ้า 4 ทิศ รูปเคารพสำคัญในแกนกลางของเจติยะวิหารขนาดใหญ่ในงานศิลปะ-สถาปัตยกรรมพุกาม ในช่วงเวลาต่อมานั่นเอง
.
ส่วนของผนังด้านใน ยังคงปรากฏปูนฉาบและร่องรอยการเขียนสี รูปพระโมคลาพระสารีบุตร บริเวณห้องมณฑป ตรงบริเวณผนังข้างประตูที่ติดกับตัวคูหาประธาน ส่วนเพดานและผนังปรากฏรูปลายดอกไม้พรรณพฤกษา ภาพบุคคล และรูปอดีตพระพุทธเจ้าให้เห็นเป็นเค้ารางอยู่บ้างครับ
.
-------------------------------------
*** ส่วนด้านนอกนั้น ประดับผนังด้วยหินทรายที่ก่อแบบการเรียงอิฐ โดยมีการประดับช่องหน้าต่างที่เว้นไว้ด้วยซุ้มหน้าบันแบบเตี้ย ๆ กรอบบนทำเป็นเส้นวงโค้งหลายวงแบบคลื่นน้ำ ด้านบนของเส้นกรอบทำเป็นพวยเปลวปลายแหลมรูปพรรณพฤกษา หรือที่เรียกว่า “ซุ้มเคล็ก” (Clec) ปลายทำเป็นรูปตัวมกรหันหน้าออก เหนือรูปมกรเป็นรูปบุคคลที่อาจหมายถึง “เทพผู้อวยพรประทานโชค” ประทับนั่งบนฐาน ยอดของซุ้มทำเป็นซุ้มเล็กยอดแหลมมีรูปของ “พระศรี – ลักษมี” ภายในวงโค้งของหน้าบันวางรูปหม้อปูรณฑฏะ เสาของซุ้มทำเป็นลายพรรณพฤกษาสามเหลี่ยมคว่ำ ประดับข้างด้วยลายลูกปัดอัญมณี
.
*** ซึ่งรูปศิลปะทั้งหมดก็คือสัญลักษณ์ ที่มีความหมายสื่อถึงความมีคุณค่าอเนกอนันต์ ความอุดมสมบูรณ์และความเจริญงอกงามนั่นเอง
.
ส่วนของผนังเรือนเป็นผนังเรียบ คิ้วบนทำเป็นลายเฟื่องอุบะสลับมาลัย ด้านล่างเป็นกรุยเชิงแบบเส้นลวดพาดเป็นแถบรูปใบไม้ม้วน (ก้านขด – ใบขด) ห่อลายตัวหงส์ไว้ด้านใน มุมผนังทำเป็นเสาอิง แกะลาย “กาบ” บนเป็นหน้ากาลคายอุบะมาลัยลงมาเป็นม่านสามเหลี่ยมคว่ำ ด้านล่างทำเป็นลายกาบเชิงสามเหลี่ยมรูปเกียรติมุขคายมาลัย เหนือกำแพงผนังอาคารทำเป็นชุดชั้นบัวเหนือผนัง เหนือสุดของชั้นบัวบนเป็นใบบังหรือรูปศิลปะกลีบบัวสลับกับรางระบายน้ำ (หินทราย) ครับ
.
หลังคาบนทำเป็นชั้นบัวมีกลีบบัวเรียงเป็นใบบังขึ้นไป 3 ชั้น มีสถูปิกะประดับอยู่ตรงมุมทุกชั้น บนสุดเหนือห้องคูหาเป็นเรือนธาตุทรงศิขรสอบโค้ง ยกเก็จประดับซุ้มกุฑุ มีซุ้มประตูหลอกทั้ง 4 ทิศ ตามแบบศิลปะพุทธคยาในอินเดีย
.
-----------------------------
*** หากได้มีโอกาสมาเที่ยวพุกาม ก็ไม่ควรพลาดชมวิหารนันพญาหรือ “วิหารพระพรหมบดี 8 ทิศ” (ตั้งชื่อเองนะครับ) เพื่อชมงานศิลปะต้นแบบศิลปะพุกาม ทั้งศิลปะแกะสลักหินทราย อิฐและปูนปั้นอันละเอียดอ่อน
.
.
*** แต่ช่วง 4 – 5 ปี ต่อไปนี้ คงยังหมดโอกาส เพราะพม่าในวันนี้ ไม่ได้เหมือนเดิมอีกแล้วครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น