ภาพเก่าเล่าเรื่อง : ประติมากรรมสำริด “อุมามเหศวรประทับบนโคนนทิ” จากเมืองสุพรรณ
“อุมามเหศวรประทับบนโคนนทิ” (Umāmaheśvara on Nandi Bull) ชิ้นนี้ คงเป็นรูปประติมากรรมสำริดชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่งของเมืองสุพรรณบุรี ที่พบจากกลุ่มชุมชนโบราณปากน้ำคลองบางขวาก (แม่น้ำท่าจีนโบราณ) ในตำบลย่านยาว อำเภอสามชุก ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2500
.
คติการประทับบนวัวนนทิขององค์พระศิวะและพระนางปารวตี มีความหมายมงคลเพื่อการอวยพรแก่สาธุชนให้ “เริ่มต้นชีวิต (คู่) ด้วยความสุข” จากเรื่องราวในปกรณัม “วิวาหมูรติ” ในวัน “มหาศิวะราตรี” (Mahā Shivarātri) วันที่พระศิวะและพระนางปารวตีได้เข้าสู่พิธีสยุมพรอภิเษกด้วยความรักและความสุขที่เปี่ยมล้น ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่บนโคนนทิในขบวนแห่แหนอันยิ่งใหญ่ “... พระไมนักกะ เชษฐาพระนางปารวตี เป็นผู้เป่าสังข์นำขวน เหล่าภูตคณะประโคมดนตรีดุริยางค์ เหล่าพราหมณ์มหาฤๅษีและเหล่าเทพเจ้านำหน้าขบวน พระศิวะทรงรับพระนางปารวตีจากหิมาลัยขึ้นมาประทับร่วมกันบนหลังโคนนทิ ที่ตกแต่งอย่างสวยงามเพื่อเป็นพระวาหนะในงานพิธีโดยพระวิษณุ ติดตามด้วยขบวนแห่แหนอันยิ่งใหญ่ของเหล่าสาวกทั้งฤๅษี อสูร ยักษ์ - ยักษิณี คนธรรพ์ ปัตถะ นาคอุรคะ สิทธะ สาธยะ วิทยาธร อัปสราและภูตผีปีศาจจากทั่วจักรวาล... มาทำพิธีอภิเษก ณ ไกรลาสวิมาน....”
.
รูปประติมากรรมสำริดจากบางขวาก ช่างฝีมือแห่งลุ่มน้ำท่าจีนได้แสดงลูกเล่นของงานหล่อโลหกรรมที่สัมพันธ์กับรูปงานศิลปะและคติความเชื่อได้อย่างสมบูรณ์ โดยประกอบรูปของเหล่าสาวกในขบวนแห่วิวาหมูรติมาวางประกบไว้ที่ขาทั้งสี่ของโคนนทิ รองรับด้วยรูปสิงห์แบก 4 ด้าน เป็นรูปบุคลาธิษฐาน (Personification) เพื่อการเพื่อแสดงอำนาจบารมี เป็นงานศิลปะนิยมยุคหลังบายน (Post-Bayon Period) แบบท้องถิ่น ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 สะท้อนร่องรอยความนิยมในคติฮินดู-ไศวะนิกายในกลุ่มเมืองสุวรรณปุระ (Svarṇapura) ในเขตลุ่มน้ำท่าจีนและท่าว้า ที่ยังคงมีความสัมพันธ์ราชสำนักเขมรโบราณเมืองพระนครในยุคต่อเนื่องมาจากยุคจักรวรรดิบายนที่เคยนิยมในคติพุทธตันตระ-วัชรยานครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น