จิตนาการในความงดงามบนหน้าบันแห่ง “ศรีพฤทเธศวร” ปราสาทสระกำแพงใหญ่ เมืองศรีสะเกษ
“...มหาศักราช 964 (พ.ศ. 1585) ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 5 ในเทศกาลวิศุวสงกรานต์ พระกมรเตงอัญศิวทาสผู้เป็นพระสภาแห่งกัมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร เมืองสตุกอําพิล ร่วมกับพระกมรเตงอัญขทุรอุปกัลปดาบส พระกมรเตงอ ญศิขเรสวัตพระธรรมศาสตร์ และเหล่าพระกมรเตงอัญผู้ตรวจราชการแต่ละปักษ์ ได้ร่วมกระทำบุญโดยการจัดหาที่ดินซึ่งอยู่ติดกับตระพัง (สระน้ำ) ตามคำแนะนำของพราหมณ์และกําเสตงโขลญมุขประติปักษ์ โดยให้พระกมรเตงอัญพญาบาลเป็นผู้ดูแลการปักหลักเขต เพื่อถวายแก่พระกัมรเตงชคตศรีพฤทเธศวรในช่วงวันสงกรานต์ พร้อมด้วยการถวายข้าวสาร 1 กระบุง ข้าทาสกัลปนานามว่า ไตกันโส ไตกําพฤก ไตถะเกน ไตกะเชณ สิฤทธิบูร ในกุศลปักษ์ ส่วนในกฤษณปักษ์ มีไตกันธณ ไตกําสด สิกําพิด ไตสมากุล สําสำอบ สิกําไพ รวมทาสสิไต ซึ่งบําเรอสงกรานต์ทั้ง 2 ปักษ์ รวม 12 คน ถวายทรัพย์สินที่ใช้แลกเปลี่ยนในการจัดหาที่ดินแด่พระกัมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร ยังได้มอบพระโค 4 ตัว กินนร 1 ตน ลังเคามีค่า 1 ชุด แก่พระกัมรเตงอัญพญาบาล มอบแหวนทอง 1 สลึง ประดับพลอย 3 เม็ด แก่พระกมรเตงอัญพระตีรถะผู้เป็นต้นสกุลโคภิกษา มอบแหวนทอง 1 สลึง ทองคํา 2 บาท 1 ก้อน ตลับเงินน้ำหนัง 2 ลิง 1 ใบ แก่กําเสตงโขลญมุขเขนกบังศาล มอบภาชนะน้ำหนัก 5 ชั่ง 1 ใบ ขันดีบุกน้ำหนัก 2 ชั่ง 1 ใบ มอบพระโค 1 ตัว ่กระเวา 1 ชุด แก่กําเสตงอยู่ประจําพระบัญชี มอบพระโค 1 ตัวแก่พระตรวจพล มอบพระโค 1 ตัว แก่กําเสตงโขลญระโบส มอบพระโค 1 ตัว แก่กําธิ มอบพระโค 1 ตัวแก่หัวหน้าพระโผลง มอบพระโค 1 ตัว แก่โขลญพลชนารทธะหัวหน้าช่างจําหลัก มอบพระโค 1 ตัวแก่กําเสตงทุเลาหัวหน้าช่างตกแต่งปูลาด มอบภาชนะ หนัก 5 ชั่ง 1 ใบ แก่โขลญผู้ตรวจ มอบพระโค 1 ตัว แก่กําเสตงโขลญมุขระโณจ มอบกระเวา 1 แก่ตํารวจ ...ถวายข้าทาสให้ไว้ในแต่ละปักษ์ มี ไตกันโส ขะเนต.... โดย....พระกมรเตงอัญศิวทาส...”
.
จารึกกรอบประตู ด้านหน้า "ปราสาทสระกำแพงใหญ่" (K.374) อักษร-ภาษาเขมรโบราณ ได้บอกเล่าเรื่องราวการกระทำบุญถวายที่ดิน ข้าทาสกัลปนาและสิ่งของ โดย “พระกมรเตงอัญศิวทาส” (Vraḥ Kamrateṇ Añ Śivadāsa) ผู้ปกครองสฺรุกสตุกอําพิล ซึ่งเป็นช่วงภายหลังจากที่ได้มีการสร้างปราสาทหินสระกำแพงใหญ่ หรือ “ศรีพฤทเธศวร” (Srī Vrddheśvara) ไปแล้วครับ
.
------------------------
ปราสาทหินสระกำแพงใหญ่ ที่ตั้งอยู่ในอำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ อาจจัดเป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศไทย (นับรวม ๆ จากขนาดของระเบียงคดชั้นใน ที่เริ่มจาก พิมาย พนมรุ้ง สระกำแพงใหญ่ ตาเมือน พนมวัน เมืองต่ำ) สร้างขึ้นครั้งแรกประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ในงานศิลปะแบบพระวิหาร ช่วงพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 ตามคติฮินดูไศวะนิกาย (Shaivism)
.
แผนผังเป็นปราสาท 3 หลัง ก่อด้วยอิฐ โดยมีหินทรายเป็นโครงสร้างรับน้ำหนักและส่วนประดับตกแต่ง ตั้งอยู่บนฐานหินทรายไพทีเดียวกัน (ที่มีการขยายฐานส่วนประธาน) อีกหนึ่งหลังเป็นปราสาทหลังเดี่ยวแยกออกไปต่างหากทางด้านหลังฝั่งทิศใต้ มีอาคารบรรณาลัย/หอพิธีกรรมพรามหณ์ก่ออิฐประกอบหินทราย 2 หลัง ล้อมรอบกลุ่มปราสาทประธาน ด้วยอาคารระเบียงคดเป็นคูหาผังสี่เหลี่ยม ใช้หินศิลาแลงเป็นโครงสร้างหลักประกอบหินทราย
.
ตรงกลางของระเบียงมีซุ้มประตูโคปุระทั้งสี่ด้าน แต่ทำเป็นประตูเข้าออกได้เฉพาะฝั่งทิศตะวันออกและทิศตะวันตก หลังคาของระเบียงเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา สลักเชิงชายหลังคาหินทรายรูปกลีบบัว เพื่อสอดคานอะเสรองรับไม้จันทัน เป็นการลดภาระและเวลาที่จะต้องไปสกัดหินมาใช้มุงเป็นหลังคา มีกรอบหน้าต่างช่องลมสลักหินทรายเป็นลูกกรงหม้อน้ำ ส่วนหนึ่งของระเบียงคดทางทิศตะวันตกถูกรื้อหายไป สันนิษฐานว่านำหินไปสร้างปราสาทสระกำแพงน้อย ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ที่อยู่ใกล้เคียงกันครับ
.
**** ลวดลายแกะสลักประดับปราสาททั้งทับหลังและหน้าบัน ที่มีโขลญพลชนารทธะเป็นหัวหน้าช่างจำหลัก ส่วนใหญ่จะถูกกะเทาะทำลายและสึกกร่อนไปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหน้าบันใหญ่ของปราสาทประธานทั้ง 3 ด้าน (ด้านหลังยังไม่ได้แกะสลัก) ที่ดูเหมือนว่าจะถูกทำลายอย่างตั้งใจมาตั้งแต่ในยุคโบราณ ภายหลังการสิ้นอำนาจของราชวงศ์ศรวะ (Šarva dynasty) แห่งพระเจ้าสูริยวรมเทวะที่ยิ่งใหญ่ไปแล้ว
.
-------------------
*** หน้าบันซุ้มประตูด้านหน้าของปราสาทประธานเป็นจุดที่ถูกกะเทาะทำลายมากที่สุด จากเค้าโครงรอยแตกที่เหลืออยู่แสดงภาพเรื่องราว “ศิวนาฏราช” (Shiva Natarāja) หรือ “นฤตตมูรติ – นาฏะ มูรติ” (Nṛtyamūrti) เมื่อนำภาพมาบูรณะด้วยประติมานวิทยา-จิตนาการ ออกมาเป็นภาพวาดกราฟฟิก (CG- Computer Graphic) โดยเทียบเคียงเส้นโครงร่างรอยแตกกะเทาะที่เหลืออยู่ ผสมผสานกับรูปศิลปะและคติในยุคปราสาทพระวิหารที่ร่วมสมัยกับภาพสลัก หน้าบันด้านหน้าประธานปราสาทจึงเป็นภาพพระศิวะ 10 พระกร กำลังร่ายรำในท่า “จตุระ” (Chatura) ฟ้อนจีบนิ้วทุกพระกร แยกพระเพลาตรงพระชานุออกแบบกำลังย่อตัว ยกพระบาทข้างหนึ่งตั้งขึ้นจิกปลายพระกรไว้ ไม่ลอยเหนือพื้น มุมพับศอกพระกรซ้ายล่างแสดงท่าการแยกลงมาด้านล่างไม่ใช่การจีบนิ้วร่ายรำ จึงควรเป็นพระศิวะและเล่นดนตรีไปพร้อมกันที่เรียกว่า “วีณาธรมูรติ” (Veenadhara Murti) ที่เป็นศิลปะ-คตินิยมในช่วงสมัยของพระสูริยวรมันที่ 1 ครับ
.
ข้างรูปพระศิวะด้านบน มีรูปเทวดาเหาะ (พระอาทิตย์ พระจันทร์ ?) ถือสายมาลัย ด้านล่างมุมขวา เป็นภาพพระพรหมกำลังตีฉิ่ง ถัดเข้ามาเป็นพระศรีลักษมีกำลังขับร้องทำนองเพลง ภาพพระทวารบาล “นันทิเกศวร-พระนนฺทีศะ” (Nandikeśvara) ถือตรีศูล ? ด้านซ้ายสุดด้านล่างของภาพเป็นรูปบุคคลชายถือเครื่องสูงพัดหางนกยูง ถัดเข้ามาคือ นาง “กาไลการ์ อัมไมยาร์” (Kāraikkāl Ammaiyār -Karaikkal Ammaiyar) สาวกพระศิวะถือแขน (ขา) มนุษย์ ด้านในติดกับฐานพระศิวะเป็นภาพพระวิษณุยืนตีกลอง ออกท่าร่ายรำตาม
.
*** หน้าบันซุ้มประตูทางด้านทิศใต้ของปราสาทประธาน สลักเป็นเรื่อง “อุมามเหศวรบนโคนนทิ” ” (Umāmaheśvara on Nandi Bull) เป็นรูปพระนางปารวตี พระชายาประทับนั่งอยู่บนพระเพลาขององค์พระศิวะ ที่กำลังประทับอยู่ในอิริยาบถในท่า “ลลิตาสนะ” (Lalitāsana) พระชงฆ์ข้างขวาพับงอไว้ อยู่บนหลังโคนนทิ อันเป็นพาหนะประจำพระองค์ ทางด้านขวาเป็นภาพสาวกถือพัดวาลวิชนีหางนกยูง ยืนคู่กับพระทวารบาลนันทิเกศวร-พระนนฺทีศะ ถือคทาตรีศูล ทางด้านซ้ายเป็นภาพของพระทวารบาล “มหากาฬ-มหากาล” (Mahākāla) ถือคทาวุธ (กระบอง)ครับ
.
*** หน้าบันซุ้มประตูทางทิศเหนือของปราสาทประธาน แสดงเรื่อง “พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ-โควรรธนะธารณ” (Govardhanadhāraṇa) ตรงกลางเป็นภาพ “พระกฤษณะ” (Krishna -Kṛṣṇa) ขนาดใหญ่ แสดงท่าชูพระกรข้างหนึ่งเพื่อยกเขาโควรรธนะ ขนาบด้วยลายกระหนกใบไม้ขด ทางด้านขวาล่างแสดงภาพ “โคปาล-โคปาลกะ” (Gopika ผู้เลี้ยงวัว) 2 คน แสดงท่าทางหวาดกลัว ส่วนภาพสตรีทางซ้ายอาจหมายถึง “นางยโสธา” (Yaśodā) ที่เป็นนางโคปี (Gopis - ผู้หญิงเลี้ยงวัว) กำลังดูแลวัว
.
**** ความงดงามที่หน้าบันปราสาทประธานแห่งศรีพฤทเธศวร ที่สฺรุก-สตุกอําพิล จึงเป็นดังจินตนาการเช่นนี้ครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น