“อัษฎมหาปาฏิหาริย์” เอกลักษณ์งานพุทธศิลป์อันงดงามแห่งราชวงศ์ปาละ
*** สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยมีรับสั่งว่า “...เมื่อเวลาพระพุทธเจ้าเข้าสู่นิพพานที่เมืองกุสินารา ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว มีการแจกพระบรมธาตุให้แก่ผู้เลื่อมใสเอาไปบรรจุลงไว้ในพระสถูป ธรรมเนียมบรรจุธาตุในสถูปนั้นมีมาก่อนพุทธกาล การแจกนั้นรวมแปดแห่งด้วยกัน...
.
...ตอนนี้เป็นตอนที่ควรสังเกต พวกถือพระพุทธศาสนาที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าไม่นับถือพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าเท่าบริโภคเจดีย์ (สังเวชนียสถาน) 4 แห่ง เมื่อก่อนเข้าปรินิพพานตามความใน “หนังสือปฐมสมโพธิ์” ว่า พระอานนท์กราบทูลถามว่า พวกพุทธบริษัทเคยเห็นพระพุทธองค์ขณะมีพระชนม์อยู่ หากเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วจะเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจ ควรจะปฏิบัติสถานไรจึงจะแก้ได้...
.
...ทรงตอบว่า ถ้าใครเปลี่ยวใจคิดถึงตถาคตก็จงไปปลงธรรมสังเวช ณ สังเวชนียสถานสี่ตำบล ตำบลใดตำบลหนึ่งเถิด คือที่ประสูติ “ลุมพินีวัน” กรุงกบิลพัสดุ์ ที่ “ตรัสรู้” พุทธคยาหรือโพธิคยา ที่ประกาศพระศาสนา ”อิสิปัตนมิคคทายวัน” เมืองพาราณสี หรือที่ป่าสาลวันเมืองกุสินาราที่นิพพาน ใครคิดถึงจะไปปลงยังที่แห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้...
.
...ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ก็มีพุทธสาวกไปบูชาสังเวชนียสถานทั้ง 4 ตำบลนี้เสมอมาตราบเท่าทุกวันนี้...”
.
-----------------------
*** การสร้างงานพุทธศิลป์สังเวชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ตามพุทธประวัติทั้ง 4 แห่ง คงได้เริ่มกระทำกันมาตั้งแต่ครั้งหลังพุทธกาล จนเริ่มมีการสร้างรูปเหมือนของพระพุทธเจ้าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 6 – 7 ในเมืองมถุรา (Mathira) และ แคว้นคันธาระ (Gandhara) จึงมีการสร้างรูปของพระพุทธเจ้าในท่าอิริยาบถ ปางและมุทราต่าง ๆ พิมพ์ลงบนดินเหนียว (พระพิมพ์) เพื่อใช้เป็นวัตถุมงคล (ศักดิ์สิทธิ์) ที่ระลึกในโอกาสเดินทางไปจาริกแสวงบุญ (Pilgrimage) ยังสังเวชนียสถานแห่งต่าง ๆ อีกทั้งยังมีการกำหนดรูปพุทธศิลป์เพื่อแทนความหมายของสังเวชนียสถานในแต่ละแห่งแตกต่างกันไป
.
ในยุคเริ่มแรกนิยมทำเป็นรูปดอกบัว ตรีรัตนะและพระพุทธบาทคู่ แทนพุทธประวัติตอนประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน (Lumbinī) เมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งต่อมาเมื่อมีการสร้างเหมือนของบุคคล จึงนิยมทำเป็นรูปพระนางมายาเหนี่ยวกิ่งต้นสาละ โดยมีรูปพุทธกุมารประสูติออกมาจากสีข้างครับ
.
ในยุคแรกสร้างพุทธศิลป์เป็นรูปต้น “ศรีมหาโพธิ์” แทนพุทธประวัติตอนตรัสรู้ ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมืองพุทธคยา (Bodh Gaya) ต่อมาจึงทำพระพุทธรูปปางมารวิชัยหรือปางสมาธิบนดอกบัวใต้ต้นศรีมหาโพธิ์
.
นิยมทำพุทธศิลป์เป็นรูปของ “รัตนบัลลังก์ ธรรมจักรประกอบกวางหมอบ” แทนพุทธประวัติตอนปฐมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองสารนาถ (Sārnāth) ในยุคหลังจึงทำเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา
.
สำหรับพุทธประวัติตอนเสด็จมหาปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา (Kuśinagara) นิยมสร้างเป็นเป็นรูปสถูปเจดีย์ ต่อมาจึงทำเป็นรูปพระพุทธไสยาสน์ครับ
.
*** จนเวลาล่วงเลยมาหลายร้อยปี เมื่อการเดินทางจาริกแสวงบุญไปยังสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่งนั้นกระทำได้ยากลำบาก ด้วยเพราะเกิดความขัดแย้งระหว่างแว่นแคว้น จึงได้เกิดการสร้างคติสังเวชนียสถานเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกในการจาริกแสวงบุญ ด้วยการนำเอาพุทธประวัติในตอน “มหาปาฏิหาริย์” (Mahā- Prātihārya) ในพุทธประวัติตอนสำคัญอีก 4 แห่ง คือ ตอน “แสดงมหา/ยมกปาฏิหาริย์” (Yamaka-pātihāriya) ที่เมืองสาวัตถี (Śrāvasti) นิยมทำเป็นพระพุทธรูปในปางเทศนาธรรม (วิตรรกะมุทรา Vitaraka Mudra) ประทับนั่งห้อยพระบาท (หรือประทับนั่งแบบขัดตะหมาด) บนบัลลังก์ ใต้ต้นมะม่วงที่มีภาพของพระพุทธเจ้าประกอบอยู่ในรูปเป็นคู่อีกหลายองค์ ตอน “เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่เมืองสังกัสสะ” (Saṅkassa) ทำเป็นรูปปางประทับยืนหรือปางลีลา (เดิน) พระหัตถ์ข้างหนึ่ง (หรือทั้งสองข้าง) อยู่ในท่าแสดงธรรมเทศนา (วิตรรกะมุทรา) มีพระอินทร์และพระพรหมตามเสด็จอยู่ทางด้านข้าง ตอน “โปรดช้างนาฬาคีรี” ที่กรุงราชคฤห์ (Rājagṛha) ทำเป็นปางประทานอภัย (อภยมุทรา Abhaya Mudra) และตอน “ทรมาน/โปรดพระยาวานร” ที่เมืองเวสาลี (Vaiśālī) ทำเป็นรูปปางประทานพร (วรมุทรา Varada Mudra) หรือรูปนั่งประกอบรูปวานรถวายรวงผึ้ง รวมเป็น 8 ปาง/8 มหาสถาน จึงเรียกว่า “อัษฎมหาปาฏิหาริย์ (Aṣṭa Mahā Prātihārya/The Eight Great Events of the Buddha Life และ “อัษฎมหาสถาน ทั้ง 8” (Aṣṭa Mahā Sathan/The Eight Great Places of pilgrimage)
.
*** งานพุทธศิลป์ “อัษฏมหาปาฏิหาริย์ /อัฐฏมหาสถาน” ในรูปประติมากรรมชิ้นเดียวกัน ปรากฏครั้งแรกในช่วงยุคราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) ราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 ตามคตินิกายสถวีรวาท (Sthāvirīya อาจริยวาท/เถรวาท) ซึ่งต่อมาได้ส่งอิทธิพลมายังราชวงศ์ปาละ (Pala Dynasty) ในแคว้นพิหาร/เบงกอล ช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-15 ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปศิลปะพระพุทธรูป 8 ปาง 8 มหาสถาน ที่ยังไม่มีแบบแผนการจัดวางทางศิลปะที่ชัดเจนในยุคราชวงศ์คุปตะ มาสลักรวมกันไว้บนแผ่นหลังประภาวลี (Altarpiece) ที่มีรูปประธานองค์ใหญ่อยู่ตรงกลางล้อมรอบด้วยพระพุทธรูปขนาดเล็กอันงดงามครับ
.
*** ช่างศิลปะในยุคราชวงศ์ปาละ ได้นำพุทธประวัติทั้ง 8 มาจัดวางตำแหน่งใหม่อย่างสมมาตร เป็นงานสลักหินที่มีรายละเอียดพิถีพิถัน วางรูปพระนางมายาและพุทธกุมารโพธิสัตว์ตามพุทธประวัติตอนประสูตที่มุมล่างฝั่งซ้ายของรูป ถัดขึ้นมา (กลางซ้าย) เป็นพุทธประวัติตอนปฐมเทศนาที่เมืองสารนาถ มุมบนซ้ายเป็นตอนเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ที่เมืองสังกัสสะ ตรงกลางตอนตรัสรู้ปางมารวิชัยใต้ต้นศรีมหาโพธิ์เป็นพระพุทธรูปใหญ่ประธานของภาพรวม ด้านบนสุดของรูปเป็นตอนเสด็จมหาปรินิพพานที่เมืองกุสินารา มุมขวาบนเป็นพุทธประวัติตอนปราบช้างนาฬาคีรีที่กรุงราชคฤห์ กลางขวาเป็นพุทธประวัติตอนมหาปาฏิหาริย์หรือยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี และมุมล่างซ้ายของรูปเป็นพุทธประวัติตอนโปรดพญาวานรที่เมืองเวสาลี
.
ด้านล่างบริเวณฐานของานพุทธศิลป์อัษฏมหาปาฏิหาริย์/อัฐฏมหาสถานแตกต่างกันไปในแต่ละองค์ บางรูปทำเป็นรูปสิงห์ประกอบด้วยผู้ศรัทธาชายหญิง (รูปสตรี นางสุชาดา ? ถวายสิ่งของ) บางรูปสลักเป็นพระพุทธรูป 3 รูป จากเหตุการณ์ในครั้งเสวยวิมมุตสุข โดยเป็นเหตุการณ์ 3 สัปดาห์สุดท้าย คือสัปดาห์ที่ 5 ตอนเสด็จไปประทับใต้ร่มไม้ไทร นามว่า “อชปาลนิโครธ” ตรงกลางเป็นเหตุการณ์ในสัปดาห์ที่ 6 ที่เสด็จไปประทับนั่งขัดสมาธิภายใต้ร่มไม้จิก โดยมีชื่อว่า “มุจลินท์” ทางทิศอาคเนย์แห่งต้นมหาโพธิ์ และสัปดาห์ที่ 7 ตอนเสด็จไปประทับภายใต้ร่มไม้เกด “ราชายตนะ” (ต้นไม้ที่อยู่แห่งพระราชา)ครับ
.
----------------------------------
*** ซึ่งในช่วงเวลาต่อมา งานพุทธศิลป์ราชวงศ์ปาละได้รับอิทธิพลจากคติความเชื่อแบบมหายาน/วัชรยาน เข้ามาผสมผสาน มีการดัดแปลงรูปประธานที่เคยเป็นพระพุทธเจ้าสมณโคตม (Samaná Gautama) แบบเถรวาท มาเป็น “พระพุทธรูปทรงเครื่องสวมมงกุฎทรงเทริดกลีบบัว” (Crowned buddha surrounded by the eight great events of his life) แบบ “พระศากยมุนี” (Shakyamuni) พระโพธิสัตว์กายเนื้อแห่งพระมหาไวโรจนะตามคติของฝ่ายมหายาน
.
*** รูปศิลปะพระพุทธเจ้าทรงเครื่องกษัตริย์สวมมงกุฏทรงเทริดจากศิลปะปาละนี้ ได้กลายมาเป็นต้นแบบสำคัญให้กับงานพุทธศิลป์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 เป็นต้นมาครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น