วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564

พระสถูปเจดีย์ทุ่งเศรษฐี เพชรบุรี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“สถูปเจติยะทุ่งเศรษฐี” ทวารวดีสุดแดนใต้ ที่เมืองเพชรบุรี
สถูปเจติยะหรือ “พระเจดีย์แห่งทุ่งเศรษฐี” ตั้งอยู่ที่บ้านโคกเศรษฐี หมู่ 6 ตำบลนายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี บริเวณกลุ่มภูเขาโดดที่ใกล้กับแนวชายฝั่งทะเลเรียกว่า “เขานางพันธุรัตน์” ที่ประกอบด้วยเขานายาง เขานาขวาง เขานกยูง เขาพระราม เขาตาจีน เขาตอน้ำ เขาตกน้ำ เขามันหมู เขาถ้ำโหว่ โดยตัวสถูปเจติยะตั้งอยู่ด้านหน้า หันหน้าไปทางทางทะเล ทิศตะวันออกของหน้าเขาจอมปราสาทที่เชื่อมต่อเป็นเทือกเดียวกับเขาเจ้าลายใหญ่ ที่เป็นแนวเขาขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม  
.
เจดีย์ทุ่งเศรษฐีก่อด้วยอิฐสอดิน (ผสมยางไม้ตามสูตรโบราณ) ฉาบปูนขาวตำจากหอยทะเล ประดับลวดลาย แต่ด้วยเพราะอากาศที่มีความเค็ม ลวดลายปูนปั้นโบราณจึงสึกกร่อน ไม่คงทนแบบเจดีย์ในยุคสมัยเดียวกันจากที่อื่น ๆ ครับ   
.
ส่วนฐานล่างมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดความกว้างยาวประมาณ 25*25 เมตร เป็นฐานประทักษิณที่มีผนังคั่นด้วยเสาอิงแบ่งเป็นช่อง ๆ มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออกและตะวันตก รองรับเรือนธาตุเจดีย์ที่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ 18 * 18 เมตร มีชุดฐานแบบ “เวทีพันธะ – อธิษฺฐานะ” (Vedībandha - Adhiṣṭhaāna)  ยกเก็จที่บริเวณกึ่งกลางของผนังแต่ละด้านและมุมทั้ง 4 เกิดเป็นกระเปาะขึ้น 8 มุขโดยรอบ โดยชั้นล่างสุดเป็นฐานชคตีผังสี่เหลี่ยม ฐานอุปานะ (เขียง) ซ้อนกันสองชั้นรองรับฐาน“บัววลัย” (Bua Valai)  “กุมุท” (Kumuda) หรือ “บัวลูกแก้ว” ซึ่งเป็นเส้นลวดทรงโค้งขนาดใหญ่จากอิทธิพลของสถาปัตยกรรมในอินเดียใต้ (ในอินเดียเหนือเรียก “กลศ” (kalasa) แต่จะเป็นทรงหม้อน้ำคอดที่ส่วนล่าง) มีร่องรอยการเขียนลวดลายพรรณพฤกษาประดับด้วยสีแดง  
.
ถัดขึ้นไปเป็นชั้น “กัมภะ” (Kampa) ก่อเป็นผนังเรียบทั้งบนและล่าง ตรงกลางยุบเข้าไปเป็นท้องไม้ที่เรียกว่า “กัณฑะ” (Kaṇṭha)  ก่ออิฐยื่นสลับกันบริเวณที่อิฐนูนขึ้นมาฉาบปูนเป็นรูปสี่เหลี่ยมปาดมุม ทำให้เกิดช่องว่างสลับกับปุ่มนูนโดยรอบแบบขื่อปลอม ตกแต่งปูนปั้นเป็นรูปพรรณพฤกษาครับ  
.
เหนือขึ้นไปเป็นฐานอุปานะรองรับผนังเรือนขนาดใหญ่ เรียกว่า “กาชา” (Gaḷa) หรือ “ปาฏะพันธะ” (Pādabandha) ผนังคั่นด้วยเสาอิง-เสาติดผนังแบ่งเป็นช่องๆ ช่องละประมาณ 80 เซนติเมตร เพื่อประดับประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระ เหนือขึ้นไปเป็นลวดเรียบสี่เหลี่ยมรองรับผนังก่ออิฐมีเสาประดับผนังตกแต่งคล้ายส่วนแรก แต่มีขนาดความกว้างและความสูงมากกว่า ถัดจากผนังส่วนนี้ขึ้นไปเป็นส่วนบนขององค์เจดีย์ซึ่งมีสภาพชำรุดพังทลายลงมาเกือบหมด 
.
จากหลักฐานชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมที่พบ สันนิษฐานได้ว่ารูปทรงสัณฐานขององค์เจดีย์ทุ่งเศรษฐีส่วนบนน่าจะเป็นทรงกลมมีเจดีย์บริวารทรงกลมขนาดเล็กที่มุมทั้งสี่ บริเวณส่วนยอดเป็นปล้องไฉนประดับด้วยอมลกะ ดังลักษณะของสถูปเจดีย์จำลองและยอดสถูปที่พบจากเมืองโบราณนครปฐมและเมืองโบราณคูบัวครับ
.
*** ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2520 ได้มีการลักลอบขุดลงไปตรงแกนกลางเจดีย์เป็นหลุมขนาดใหญ่ คาดว่าน่าจะได้พระบรมสารีริกธาตุ วัตถุโบราณมีค่าและพระเครื่องดินเผาไปจนหมดแล้ว หลังจากนั้นก็ยังมีการลักลอบขุดหาสมบัติอยู่เสมอ จนแทบไม่เหลือโบราณวัตถุที่มีค่า มีสำนักสงฆ์ไปตั้งอยู่ใกล้ ๆ เมื่อปี พ.ศ. 2535 ซึ่งยังคงพบเห็นปูนปั้นรูปบุคคล (พระโพธิสัตว์ รูปสัตว์มงคล) และรูปอื่น ๆ ที่ถูกทุบหาสมบัติ นำมากองทิ้งอยู่เกลื่อนกลาด ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2541 กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นและบูรณะ 
.
--------------------------------------
*** รูปแบบทางสถาปัตยกรรม คติความเชื่อและศิลปะของพระเจดีย์แห่งทุ่งเศรษฐี มีรูปแบบร่วมสมัยกับเจดีย์ในกลุ่มเมืองโบราณคูบัว ในกลุ่มคติเถรวาท (Theravāda)  ทั้งฝ่าย “คณะมหาวิหาร-สายตรงของนิกายสถวีรวาทินเดิม” (Maha-vihāra) และ“คณะอภัยคีรีวิหาร-รับอิทธิพลมหายาน”(Abhayagiri-vihāra) ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอนุราธปุระ (Anuradhapura) ในลังกา ที่สัมพันธ์กับพุทธศาสนาในแคว้นอานธระช่วงต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 13 ครับ 
.
*** เมื่อพิจารณาสภาพภูมิศาสตร์โบราณ สถูปเจติยะทุ่งเศรษฐีถือเป็นเจดีย์แบบวัฒนธรรมทวารวดี (เถรวาท-มหายานแบบลังกา) ที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้สุดในเครือข่ายเดียวกับเมืองโบราณคูบัว บริเวณที่ราบชายฝั่งเพชรบุรี  (แนวสันทรายเก่า) ตรงส่วนแคบที่สุดของที่ราบลุ่มเพชรบุรี ที่มีชุมชนโบราณกระจัดกระจายอยู่ร่วมในเขตที่ราบลุ่ม โดยมีเทือกเขาเป็นแนวยาวจากเทือกเขางู เฉียงลงมายังเขาเต่าที่เป็นแนวเขาลาดลงไปติดกับชายฝั่งทะเล แบ่งที่ราบลุ่มที่สามารถเพาะปลูกและตั้งถิ่นฐานกับเขตที่สูงที่เป็นเขตป่าโปร่ง ไม่สามารถเพาะปลูกได้ออกจากกันในอดีต
.
คงด้วยเพราะบริเวณที่ตั้งของสถูปเจติยะทุ่งเศรษฐี ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าและการเดินทางเลาะชายฝั่งและการเดินทางบกข้ามแนวที่ราบสูงขึ้นมาจากภาคใต้ ลงมาพบกับที่ราบลุ่มเพชรบุรีเป็นจุดแรก อีกทั้งยังภูเขาโดดอย่างเขาเจ้าลายใหญ่และเขาจอมปราสาทเป็นจุดสังเกตทางภูมิศาสตร์ (View Point) ใกล้เส้นทางเดินเรือเลาะชายฝั่ง จึงเหมาะสมกับการตั้งชุมชนสำหรับการแวะพักแรม ซึ่งต่อมาคงได้กลายมาเป็นชุมชนขนาดใหญ่หรือสถานีการค้าในยุควัฒนธรรมทวารวดี ระหว่างเส้นทาขึ้นไปยังเมืองโบราณคูบัว
.
*** ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 จึงได้เกิดการสร้างพระสถูปใหญ่ขึ้นในชุมชนโบราณที่ทุ่งเศรษฐีนี้ไงครับ 
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น