วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ทับหลังเมืองละโว้

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ทับหลัง วยาล-เกียรติมุข” เมืองละโว้ งานศิลปะเขมรโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 

ร่องรอยอิทธิพลของอาณาจักรกัมพุชะเทศะ ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาหรือภาคกลางของประเทศไทยในปัจจุบัน ปรากฏความใน “จารึกปราสาทร่อลั่ว” (Lolei inscription - K.323) ซึ่งเป็นจารึกประจำ“ยโศธราศรม” (Yaśōdharāshrams)  หลักหนึ่ง จารึกในปี พ.ศ. 1432 สมัยพระเจ้ายโศวรมัน ด้านหนึ่งเป็นอักษรเขมรโบราณแบบอินเดียใต้ อีกด้านหนึ่งมีข้อความเดียวกันแต่เป็นอักษรเทวนาครีแบบอินเดียเหนือ เป็นฉันทลักษณ์ 92 บท ประกอบด้วย “อนุษฏุปฉันท์” (Anuṣṭubh)  8 พยางค์ "วสันตดิลกฉันท์" (Vasantatilaka) 14 พยางค์ “อุปชาติฉันท์” (Upajāti) 13 พยางค์ “อุเปนทรวัชรา” (Upendravajrā)  22 พยางค์ อินทรวัชรา (Indravjarā) และ “มันทากรานตาฉันท์”  (Mandākrāntā) 17 พยางค์  กล่าวถึงอำนาจของพระเจ้ายโศวรมันว่ามีอาณาเขตขึ้นไปถึงจีนและชายฝั่งทะเล (Cīnasandhi payodhibhyāṃ)  พระองค์โปรดให้สร้าง “อาศรม”  (Āśramas)  ขึ้นนับ 100 แห่ง ทั่วอาณาจักร
.
อีกทั้งจารึกกรอบประตู “ปราสาทปักษีจำกรง” (Baksei Chamkrong inscription - K.286) ที่จารขึ้นในสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมัน (Rājendravarman) ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ด้วยบทประพันธ์ในภาษาสันสกฤต (Sanskrit Verses) 48 บท แบ่งเป็น "วสันตดิลกฉันท์"  “อุปชาติฉันท์”    "ศารทูลวิกรีฑิตะ" (Śārdūlavikrīḍita) 19 พยางค์  สวาคตาฉันท์ 11 พยางค์  (Svāgatā) และ“อารยาฉันท์” (Āryā) กล่าวถึงเรื่องราวความเป็นมาของอาณาจักรว่าเริ่มต้นจาก “พระมหาฤๅษีกัมพุ สวยัมภูวะ” (Kambu Svāyambhuva) และนางเมรา (Marā)  พระองค์ (พระเจ้าราเชนทรวรมัน) สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าศรุตวรมัน (Śrutavarman) ( และพระนามกษัตริย์อีกหลายพระองค์) จนถึงพระเจ้าอินทรวรมัน ซึ่งพระโอรสของพระองค์มีพระนามว่า “ศรียโศวรมัน” เป็นผู้ปกครองแผ่นดินทรงพระยศพระเกียรติเกริกไกรที่ไม่มีผู้ใดเทียบเทียม อาณาจักรของพระองค์  จรดแดน “ศูกษมากามราตะ” (Sūkṣmakāmrāta)  ทะเล (Payodhi)  จีน (Cīna) และจามปา(Campā) ครับ
.
เขตแดน “ศูกษมากามราตะ” ถูกตีความว่าคือพรมแดนไกลสุดทางตะวันตก (Western frontier) ของอาณาจักร ด้วยเพราะชื่อนามดินแดนอีกสามด้านในจารึกคือดินแดนไกลสุดทางทิศใต้ ทิศเหนือและทิศตะวันออก ซึ่งในครั้งแรก ๆ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ และนักวิชาการฝรั่งเศสเชื่อว่าคือ เมืองพะโค (หงสาวดี) เมืองสะเทิม และเทือกเขา-ชายทะเลในเขตจังหวัดจันทบุรี แต่ต่อมามีการสันนิษฐานว่า อาจเป็นเมืองโบราณอู่ทองในเขตลุ่มแม่น้ำท่าจีน จากร่องรอยในจารึกแผ่นทองแดง หรืออาจจะอยู่ที่เพียงเมืองละโว้ ในเขตฝั่งตะวันออกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น
.
------------------------------------
ร่องรอยสำคัญของ “ชายแดนตะวันตก” ตามข้อความที่ปรากฏในจารึกช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 อาจเกี่ยวข้องกับประติมากรรมทับหลังชิ้นหนึ่ง ที่พบในเมืองโบราณละโว้ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จสมนารายณ์ มีรูปของหน้าตัว “วยาล” (Vyala) สิงห์มีเขา ที่ยังปรากฏรูปเขา 2 ข้าง ซ้อนด้วยลายกระหนกต่อขึ้นจากดวงตา มีแก้มใหญ่ ในงานศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียใต้–ชวา ที่ถูกดัดแปลงมาเป็น “หน้ากาล/เกียรติมุข” (Kala-Kirttimukha) ในงานศิลปะเขมรโบราณมาตั้งแต่ยุคก่อนเมืองพระนครครับ   
.
หน้ากาล/เกียรติมุขแสดงการคายท่อนพวงมาลัย ออกทางด้านข้างโค้งลงตวัดปลายเป็นกระหนกขึ้น ด้านบนเป็นกระหนกพรรณพฤกษาพวยโค้งออก ส่วนใต้ท่อนมาลัยตวัดเป็นกระหนกก้านขดโค้งเข้า ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของงานศิลปะแบบกุเลน (Kulen) ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 14   
.
*** สอดรับกับร่องรอยหลักฐานจารึก ที่กล่าวถึง “ชายแดนตะวันตก” ของอาณาจักรกุมพุชะเทศะ (Kambujadeśa) ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 15 ที่อยู่ห่างจากช่วงยุคศิลปะกุเลนเพียงประมาณ 30 ปี  ทับหลังหน้าเกียรติมุขในงานศิลปะเขมรโบราณชิ้นนี้ จึงเป็นหลักฐานที่แสดงอิทธิพลของฝ่ายกัมพุชจากแดนตะวันออกในเมืองละโว้ครั้งแรกที่เก่าแก่ที่สุดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่อาจย้อนขึ้นไปไกลได้ถึงยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 แห่งมเหนทรบรรพต (Mahendraparvata) หรืออาจเป็นทับหลังประกอบปราสาท “ยโศธราศรม” ในยุคพระเจ้ายโศวรมัน ตามที่ปรากฏในจารึกปราสาทร่อลั่ว (ยังพบจารึกประจำยโศธราศรมแบบ 2 ภาษานี้อีกหลายแห่ง อย่างที่ จารึกพระบาท จารึกปราสาทโต๊ะโมะ (K.362) จารึกปราสาทพระนาคบวช (K.341) จารึกไพรปราสาท (K.688) จารึกเพนียดจันทบุรี (K. 479) ฯ) ครับ    
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น