“หลวงพ่อศิลา” พระพุทธปฏิมากรศักดิ์สิทธิ์แห่งทุ่งเสลี่ยม
“หลวงพ่อศิลา” เป็นพระพุทธรูปนาคปรกในงานศิลปะแบบเขมรโบราณยุคหลังบายน (Post-Bayon Period) ผสมคติกัมโพชสงฆ์ปักขะ-เถรวาทแบบรัฐสุโขทัย ประมาณช่วงต้นของกลางพุทธศตวรรษที่ 19 มีความสูงประมาณ 86 เซนติเมตร พระเพลากว้าง 44 เซนติเมตร ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดทุ่งเสลี่ยม บ้านศรีเสลี่ยม เทศบาลตำบลทุ่งเสลี่ยม อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย
.
หลวงพ่อศิลาเป็นพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่องกษัตริย์ทับบนจีวรแบบห่มคลุม ทรงกรองศอพาหุรัด สวมศิราภรณ์ทรงเทริด รัดเกล้าเป็นกรวยมงกุฎ นั่งขัดสมาธิราบแสดง “ธยานมุทรา” (Dhyāna Mudra) หรือปางสมาธิ (ในคติเถรวาท) ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของ “พระอาทิพุทธะ-พระวัชรสัตว์–พระมหาไวโรจนะ” (Ādi- Mahāvairocana –Vajrasattva Buddha) พระพุทธเจ้าในพุทะภาวะระดับสูงสุดที่เรียกว่า “ธรรมกาย” (Dharma-kāya) ในคติ “ตรีกาย” (Tri-kāya) ของฝ่ายมหายานครับ
.
แต่กระนั้น การนุ่มจีวรแบบห่มคลุมทิ้งชายผ้าคลุมพระกรไหลลงมาที่พระเพลาทั้งสองข้าง ก็อาจได้แสดงความเป็น “พระศากยมุนี” (Shakyamuni) พระพุทธเจ้าในกายมนุษย์ ในพุทธภาวะ “นิรมาณกาย” (Nirmāṇakāya) ของพระอาทิพุทธะ-มหาไวโรจนะ-วัชรสัตว์ ซึ่งก็คือ พระพุทธเจ้าสมณโคตม (Samaná Gautama) ของฝ่ายเถรวาทนั่นเอง
.
ถึงจะมีพุทธศิลป์นาคปรกอันโดดเด่น ทั้งบัลลังก์ขนดนาค 3 ชั้นที่ขยายขนดจากเล็กขึ้นมาใหญ่ตามขนบศิลปะแบบเขมรโบราณ พญานาค 7 เศียร แผ่พังพานด้านหลังองค์พระแบบใบโพธิ์ใหญ่ยอดแหลม เริ่มแผ่ตัวจากส่วนต้นแขนขึ้นไปเหนือพระเศียร เศียรนาคไม่มีรัศมีหรือกระบังหน้า (เทริด) ประกอบ เศียรนาคตรงกลางเงยหน้าเชิดตรง เศียรนาคด้านข้างทั้งหกเศียรจงเชิดคาง เอียงหน้าลู่ไปตามแนวแผ่พังพานข้างมองขึ้นไปยังเศียรกลาง ปรากฏลายดอกจัน (งู) ทั้งด้านหลังหลังก็ตาม แต่กระนั้นลวดศิลปะของนาคปรก เครื่องประดับและเค้าพระพักตร์ก็ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นแบบรัฐสุโขทัยพื้นถิ่นแล้วครับ
.
*** ลายผ้าทิพย์บัว 8 กลีบ ของหลวงพ่อศิลา ปรากฏในงานศิลปะที่พบจากพระพุทธรูปนาคปรกจากปราสาทเขาตีคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นงานศิลปะนิยมแบบเขมรโบราณตั้งแต่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 มาแล้ว
.
คติความเชื่อเรื่องพระพุทธเจ้าตรีกายของฝ่ายมหายาน-วัชรยานตันตระ ปรากฏความนิยมในช่วงที่รัฐสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ยังคงอยู่ร่วมในอิทธิพลของอาณาจักรเขมรถึงยุคจักรวรรดิบายน ตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 และยังคงสืบเนื่องมาจนถึงช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครองของราชสำนัก จากกลุ่มลูกครึ่งชาวเขมร-ละโว้มาเป็นกลุ่มชาวไทเลือง-ไทลาว และความนิยมในพุทธศาสนาแบบเถรวาท-รามัญนิกายเข้ามาแทนที่ครับ
.
*** หลวงพ่อศิลา จึงเป็นงานพุทธศิลป์ พระพุทธปฏิมากรในช่วงยุคสมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ศรีอินทรบดินทราทิตย์-พ่อขุนบางกลางหาว-ศรีสูริยพงศรามราช) มาจนถึงยุคพ่อขุนรามคำแหง (พระบาทกมรเตงอัญศรีรามราช -จารึกป่ามะม่วง ภาษาเขมร)
.
---------------------------
*** อาจด้วยเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและคติความเชื่อของราชสำนักสุโขทัยที่มาจากสงครามแย่งชิงอำนาจ พระพุทธรูปนาคปรกและรูปประติมากรรมแบบเขมรเดิมถูกทุบทำลาย จึงได้มีการเคลื่อนย้ายพระพุทธรุปนาคปรกองค์สำคัญของราชสำนักไปเก็บซ่อนไว้ที่ “ถ้ำเจ้าราม” เทือกเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองโบราณสุโขทัย (ปัจจุบันคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม) ปรากฏความใน “เที่ยวเมืองพระร่วง” พระนิพนธ์ในสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ ที่ทรงออกตามหาหินจารึกตามคำบอกเล่าไปถึงถ้ำว่า
.
“...บริเวณปากถ้ำมีพระพุทธรูปยืนสูงประมาณ 3 ศอก ชาวบ้านจะเรียกว่า “รูปพระราม” ที่จริงเป็นพระพุทธรูปที่ยังคงมีชายจีวรและดอกจีวรให้เห็นอยู่ ใกล้เคียงกันมีเศษอิฐกระจัดกระจาย...ในถ้ำมีพวกลาวเข้ามาทำดินประสิว ขุดเอามูลค้างคาวจนเป็นหลุมเป็นบ่อไปทั่ว .... หินที่พบแตกอยู่นั้นเป็นศิลาจารึกแน่ เพราะเป็นชนิดหินที่แตกต่างไปจากหินภูเขานั้น ผิวหินยังมีรอยขัดเรียบและปลายมนตามแบบจารึก แต่ก็ไม่พบตัวอักษรจารึกไว้แต่อย่างใด...ภายในถ้ำมืดสนิท ทั้งยังมีมูลค้างคาวมาก จึงเข้าไปได้ยากลำบาก...”
.
ซึ่งต่อมาได้มีชาวบ้านได้เข้าไปหาขี้ค้างคาวมากขึ้น จนได้ไปพบกับพระพุทธรูปนาคปรกในส่วนลึกสุดของถ้ำ ในปี พ.ศ. 2472 เจ้าอาวาสและชาวบ้านทุ่งเสลี่ยมที่อยู่ใกล้เคียงกับถ้ำเจ้าราม จึงได้ขนย้ายอัญเชิญพระพุทธรูปนาคปรกจากถ้ำลงมาประดิษฐานไว้ที่วัดทุ่งเสลี่ยม ถวายพระนามว่า "หลวงพ่อศิลา" ครับ
.
*** ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2520 ได้มีการโจรกรรมหลวงพ่อศิลาออกไปจากวัดทุ่งเสลี่ยม จนอีก 17 ปี จึงได้มีผู้ติดตามจนพบว่า หลวงพ่อศิลานั้นได้ไปประทับอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เอกชนแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านการประมูลขายจาก “สถาบันซัทเทบีส์” (Sotheby's Institute) ในกรุงลอนดอน ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างได้ร่วมกันติดตามทวงคืนผ่านกระบวนทางกฎหมายและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ จนสามารถเจรจากับผู้ครอบครองอย่างมีเงื่อนไข จึงได้มีการระดมเงินทุนเพื่อจ่ายเป็นค่าชดเชยไถ่ถอนองค์หลวงพ่อศิลากลับคืนมาได้เป็นผลสำเร็จ
.
*** 19 ธันวาคม พ.ศ. 2539 หลวงพ่อศิลาจึงได้ถูกอัญเชิญกลับคืนมายังประเทศไทย และนำกลับไปประดิษฐานที่วัดทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัยอีกครั้งครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น