วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564

พระพุทธรูปทวารวดี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระพุทธรูปทวารวดี/รามัญละโว้” เคยประดิษฐานในพระปรางค์สามยอด ?

ภายในห้องคูหาครรภธาตุของปราสาท (พระปรางค์) สามยอด ในยุคจักรวรรดิบายน ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 อาจเคยประดิษฐานรูปประติมากรรม “พระพุทธเจ้าอมิตาภะ” (Amitābha Dhyāni Buddha) แสดงธยานะมุทรา ปางนาคปรก เป็นประธานในห้องคูหาปราสาทหลังกลาง รูป “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร” (Bodhisattva Avalokiteśvara ) ในห้องคูหาปราสาทฝั่งทิศใต้ และรูปประติมากรรม “เทวีปรัชญาปารมิตา 2 กร” (Prajñāpāramitā) ในห้องคูหาของปราสาทองค์ทิศเหนือ ตามคติการจัดวางรูปบุคลาธิษฐานแบบเรียงวิภัติ 3 รูป (Trinity)  ใน “ลัทธิโลเกศวร” (Lokeśvara) ที่นิยมในราชสำนักเมืองพระนครในช่วงเวลานั้น เพื่อแสดงความเป็นศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองและความเชื่อของจักรวรรดิ ด้วยการสร้างปราสาทสามหลังตามคติวัชรยานไตรลักษณ์ (Vajrayāna Triad -Trinity) บนเนินดินศักดิ์สิทธิ์ใจกลางเมือง “ละโว้ทยปุระ” (Lavodayapura)  หรือชื่อนาม “กัมโพช” ในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์
.
ภายหลังการสิ้นอำนาจของจักรวรรดิบายนและราชสำนักยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19  ลูกหลานลูกครึ่งรามัญ/เขมรของอดีตกมรเตงผู้ปกครองละโว้ทยปุระได้สร้างราชสำนัก/อาณาจักรใหม่ แยกตัวออกจากอาณาจักรกัมพุชเทศะเดิม หันมานิยมในพุทธศาสนาลูกผสมนิกายเถรวาท/รามัญนิกาย คณะ “กัมโพชสงฆ์ปักขะ” (Kambojsanghapakkha) แต่ส่วนหนึ่งก็ยังคงให้ความนิยมในงานศิลปะแบบบายนเดิมอยู่ครับ 
.
ความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไปของราชสำนักละโว้ใหม่ ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปประธานภายในห้องคูหาของพระปรางค์สามยอด โดยได้มีการรื้อถอนรูปประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรของปราสาทองค์ทิศใต้ และรูปพระนางปรัชญาปารมิตาในปราสาททางทิศเหนือ ตามคติแบบวัชรยาน/โลเกศวรที่ไม่ได้รับความนิยมแล้วออกไป แต่ยังคงวางรูปพระพุทธเจ้านาคปรกเป็นประธานในปราสาทหลังกลางอยู่เช่นเดิม
.
ในช่วงเวลานี้มาจนถึงยุคกรุงศรีอยุธยา งานประติมากรรมหินทรายในยุคบายนจำนวนมากในเมืองละโว้ ได้ถูกนำมารียูธ ดัดแปลงไปใช้ใหม่ โดยมีการดัดแปลงแก้ไขพระพุทธรูปนาคปรกแบบบายนเดิมให้มีรูปจีวร มีผ้าสังฆาฏิ เดินเส้นจีวรพาดพระอุระ เดินเส้นขอบจีวรที่พระเพลา แต่ยังคงเป็นปางธยานะมุทรา/สมาธิ บางรูปมีการเปลี่ยนรายละเอียดของอุณหิสศิราภรณ์ แก้ไขขมวดพระเกศา บ้างก็เอากุณฑล (ตุ้มหู) หลายรูปแก้ไขโดยเอาขนดนาคและตัวนาคปรกด้านหลังออก รวมทั้งการแก้ไขรูปประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร ให้เป็นพระพุทธรูปยืนประกอบปูนปั้น ลงรักปิดทองจนสมบูรณ์ครับ
.
--------------------
***  ในภาพเก่าหนึ่ง เรื่อง พระพุทธรูปสมัยลพบุรี จากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้แสดงให้เห็นภายในห้องคูหาครรภธาตุของปราสาทหลังทิศเหนือที่เคยประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ องค์ทางด้านหน้า (ทางซ้ายของภาพ) เป็นพระพุทธรูปที่ยังคงเห็นร่องรอยการดัดแปลงมาจากพระพุทธรูปนาคปรกแบบบายนเดิม เหนือพระอุระเป็นหินต่อชิ้นประกอบ ปั้นปูนลงรักและปิดทองตามศิลปะแบบอยุธยา ประดิษฐานอยู่ฐานที่มี 2 ช่องเดือย ที่น่าจะถูกย้ายมาวางใหม่ในตำแหน่งกลางห้อง ก่อนจะมีการถมยกพื้นห้องให้สูงขึ้นแล้วปูอิฐเป็นแผ่นรองพื้นในสมัยพระนารายณ์มหาราช ทำให้ฐานรองจมอยู่ในพื้น เช่นเดียวกับฐานเดี่ยวอีกชิ้นหนึ่งที่จมอยู่ในพื้นด้านหลัง 
.
*** พระพุทธรูปองค์นี้ยังคงประดิษฐานในคูหาเช่นเดิม แต่ได้ถูกเคลื่อนย้ายตำแหน่งมาวางด้านหน้าฐาน หินประกอบส่วนบนเหนือพระอุระหายไปครับ
.
-----------------------------
*** พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งด้านหลังในภาพเก่า ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางมารวิชัยที่มีองค์ประกอบพระพักตร์ มวยพระเกศาก้นหอยใหญ่และอุษณีษะ (หม่อมกะโหลก) รวบขึ้นยอดบัวตูม ตามพุทธศิลป์แบบทวารวดี/รามัญละโว้ แต่คงได้มีการสลักจีวรและผ้าสังฆาฏิขึ้นในภายหลัง ดังเห็นได้จากเส้นจีวรแบบห่มคลุมใต้พระศอฝั่งซ้ายยังคงเว้นเว้าไว้ตามเดิม ไม่ได้ถูกแก้เป็นผ้าสังฆาฏิที่สลักภายหลังคลุม ส่วนพระชานุ (เข่า) ทั้งสองด้านเป็นหินประกอบเข้าเดือยใหญ่ แต่หลุดหายไปทั้งสองข้าง   
.
*** ส่วนฐานปัทม์เป็นลายบัวคว่ำกลีบยาวและบัวหงายกลีบสั้นแบบบัวเกสร วางกลีบสับหว่าง แบ่งช่วงกลางด้วยเส้นลวดบัวลูกแก้ว ไม่ใช่งานศิลปะฐานแบบเขมรละโว้หรือแบบบายน
.
พระพุทธรูปองค์นี้ ควรเป็นงานพุทธศิลป์แบบทวารวดี/รามัญละโว้ ตามคติมหาวิหาร/ลังกาเดิมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 แต่ได้มีการแกะสลักแก้ไขเป็นส่วนจีวรขึ้นใหม่ ถูกย้ายเข้ามาประดิษฐานในห้องคูหาครรภธาตุของปราสาทหลังทิศเหนือ ในยุคการเปลี่ยนแปลงช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ตามคติ “พระตรีกาย” หรือ “พระพุทธเจ้าสามพระองค์” ของฝ่ายเถรวาทรามัญ/กัมโพช อันหมายถึง “อดีตพระพุทธเจ้า ปัจจุบันพระพุทธเจ้าและอนาคตพระพุทธเจ้า” มากกว่าจะเป็นพระพุทธรูปในตรีกายแบบคติมหายาน ( นิรมาณกาย สัมโภคกาย และธรรมกาย)    
.
*** พระพุทธรูปแบบทวารวดี/รามัญละโว้ คงได้ถูกนำกลับเข้ามาวางในปรางค์องค์ทิศเหนือ ตามตำแหน่ง “พระอนาคตพุทธเจ้า” สอดรับกับพระพิมพ์ตรีกายที่พบเป็นจำนวนมากในเมืองละโว้ รวมทั้ง “พระนั่งสาม” ของเมืองหริภุญชัย/ลำพูน ที่มีคติรามัญนิกาย/กัมโพชสงฆ์ปักขะเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างชัดเจนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 นี้ครับ   
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2564

อดีตพระพุทธเจ้า

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always belo
อดีตพระพุทธเจ้า

คติความเชื่อเรื่อง “อดีตพระพุทธเจ้า” นั้น  อาจเริ่มต้นมาจากพุทธศาสนานิกายมหาสังฆิกะ/มหายาน ที่ได้เริ่มมีการจัดพุทธภาวะ 3 ระดับ ที่เรียกว่า  “ตรีกาย” (Tri-kāya) โดยแบ่งเป็น ธรรมกาย สัมโภคกายและนิรมาณกาย
.
โดยนิรมาณกาย (Nirmāṇakāya)  เป็นพุทธภาวะระดับล่างสุด หมายถึงรูปกายที่เป็นกายเนื้อหรือมนุษย์ โดยกำหนดให้พระโพธิสัตว์ที่ลงมาประสูติเป็นเจ้าชาย“สิทธัตถะ” (Siddhartha) ตรัสรู้เป็น “พระศากยมุนี” (Shakyamuni)  เป็นตัวแทนของพระอาทิพุทธ/วัชรสัตว์พุทธเจ้าจากพุทภาวะธรรมกายครับ 
.
แต่กระนั้นพุทธภาวะนิรมาณกายก็ไม่ได้มีเพียงพระศากยมุนีเปฌนพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว  พฝ่ายมหายานยังกำหนดให้มี “พระมานุษิพุทธเจ้า” (Mortal Buddhas) มนุษย์ที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอีกเป็นจำนวนมากมายมหาศาล แต่ละพระองค์ประทับใน “จักวาลแห่งมัณฑละ/มันดารา” (Mandala Universe) ที่เรียกกันว่า “พุทธเกษตร” (Buddha Kaset) ที่มีดินแดนอยู่ทั้ง 4 ทิศแห่งจักรวาล
.
อิทธิพลของคติเรื่องพระพุทธเจ้ากายเนื้อที่มีมากมายในพุทธเกษตรของฝ่ายมหายาน ได้ส่งอิทธิพลไปยังพุทธศาสนานิกายสรวาสติวาท/สถวีรวาท/หีนยาน/เถรวาท จนเกิดเป็นแนวคิด “อดีตพระพุทธเจ้า” จำนวน 28พระองค์จากช่วงเวลาในวรรณกรรม 4 อสงไขย 9 กัปป์  ประกอบด้วย พระตัณหังกรพุทธเจ้า,พระเมธังกรพุทธเจ้า,พระสรณังกรพุทธเจ้าและพระทีปังกรพุทธเจ้า จากอสงไขย-สารมณฑกัปป์ พระโกณฑัญญะพุทธเจ้า จากอสงไขย-สารกัปป์ พระมังคละพุทธเจ้า,พระสุมนะพุทธเจ้า,พระเรวตะพุทธเจ้าและพระโสภิตะพุทธเจ้าจากอสงไขย-สารมณฑกัปป์  พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า,พระปทุมะพุทธเจ้า,พระนารทะพุทธเจ้าจากอสงไขย-วรกัปป์      พระปทุมุตตระพุทธเจ้าจากสารกัปป์ พระสุเมธพุทธเจ้า,พระสุชาตะพุทธเจ้าจากมัณฑกัปป์  พระปิยทัสสีพุทธเจ้า,พระอัตถทัสสีพุทธเจ้าและพระธัมมทัสสีพุทธเจ้าจากวรกัปป์  พระสิทธัตถะพุทธเจ้าจากสารกัปป์  พระติสสะพุทธเจ้าและพระปุสสะพุทธเจ้าจากมัณฑกัปป์ พระวิปัสสีพุทธเจ้าจากสารกัปป์ ,พระสิขีพุทธเจ้าและพระเวสสภูพุทธเจ้าจากมัณฑกัปป์ พระกกุสันธพุทธเจ้า,พระโกนาคมนะพุทธเจ้า,พระกัสสปะพุทธเจ้า และพระสมณโคตมพุทธเจ้า ในกัลปป์ปัจจุบันเรียกว่าภัทรกัปป์ครับ

 
.
*** ซึ่งฝ่ายมหายานก็ได้นำแนวคิดนี้อดีตพระพุทธเจ้าของฝ่ายสถวีรวาท กลับไปจัดเป็น “พระสัปตมานุษิพุทธเจ้า” (Sapta Mortal Buddha) หรือ “พระพุทธเจ้า 7 พระองค์” โดยเลือก 6 พระองค์จาก 3 กัปป์ หลังสุด อันได้แก่สารกัปป์ มัณฑกัปป์และภัทรกัปป์ (กัปป์ปัจจุบัน)  มาจัดเป็นกลุ่มตัวแทนของพระมานุษิพุทธเจ้าในอดีตและปัจจุบัน โดยรวมพระโพธิสัตว์ไมเตรยะอนาคตพุทธะเป็นองค์ที่ 7 
.
เมื่อแนวคิดอดีตพระพุทธเจ้า (ที่ตรัสรู้แล้ว) ของฝ่ายเถรวาท ได้เข้าไปผสมกับแนวคิดพระมานุษิพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ากายเนื้อที่มีอยู่อย่างมากมายในพุทธเกษตร จึงปรากฏรูปศิลปะที่มีการจัดแบ่งอดีตพระพุทธเจ้าเป็น 3 แบบ คือ แบบ 24 พระองค์ จาก 12 กัปป์ ตามความอธิบายในคัมภีร์พุทธวงศ์ คัมภีร์มธุรัตถวิลาสินีและคัมภีร์พิเศษที่เน้นความสำคัญของอดีตพุทธเจ้า เฉพาะองค์ที่ทรงให้คำพยากรณ์แก่พระโพธิสัตว์  
.
แบบที่ 2 คือ แบบครบทั้ง 27 พระองค์ (มีพระสมณโคตมเป็นประธาน) ที่นิยมในคติฝ่ายเถรวาทหลังพุทธศตวรรษที่ 21 และแบบอดีตพระพุทธเจ้าจำนวนมากมายเกินกว่า 27 พระองค์ โดยมิได้กำหนดชัดเจนว่าเป็นผู้ใด ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากคติพระมานุษิพุทธเจ้าในพุทธเกษตรของฝ่ายมหายาน แต่ได้มาผนวกกำหนดใหม่ในคัมภีร์ที่เขียนขึ้นในภูมิภาค อย่างโสตัตถกีมหานิทาน ชินกาลมาลีปกรณ์ สัมภารวิบากและคัมภีร์พิเศษ ให้เป็นพระอตีตพระพุทธเจ้าที่จำนวนมากมายนับไม่ถ้วนเช่นเดียวกันครับ
.
-----------------   
***  พระพุทธรูปยืนในซุ้มเรือนแก้วของเจดีย์กู่กุด/สุวรรณจังโกฏเจดีย์ วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน บนเรือนธาตุ 5 ชั้น 4 ด้าน รวมจำนวน 60 องค์ จึงหมายความถึง “พระอดีตพระพุทธเจ้า” ตามชินกาลมาลีปกรณ์ ประทับในแต่ละทิศ (พุทธเกษตร) ทั้ง 4 ทิศ จากอิทธิพลฝ่ายมหายาน ล้อมรอบแกนกลางอันได้แก่เขาพระสุเมรุ/สิเนรุ/สิเนโร ล้อมรอบด้วยทวีปทั้ง 4 ที่อยู่ในรูปศิลปะ “สถูปิกะ” ประดับมุมเรือนธาตุแต่ละชั้น  เรือนธาตุทั้ง 5 ชั้น และฐานยกเก็จชั้นแรก หมายถึงสวรรค์ฉกามาพจร 6 ชั้น ตามคติ“ไตรภูมิกถา/ไตรภูมิโลกวินิจฉัย/ไตรภูมิโลกสัณฐาน” ของฝ่ายรามัญนิกาย/อุทมุพรคีรี ที่เริ่มนิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17  
.
*** โดยชั้นบนสุดเหนือเรือนธาตุศิขระซ้อนชั้น เป็นปลียอดแหลมหมายถึง “เขาพระสุเมรุ” ตามความหมายแกนกลางแห่งจักรวาลที่ประทับแห่งพระสมณโคตม โดยมี“เขาสัตตบริภัณฑ์/สัตปริภัณฑคีรี” ล้อมรอบในรูปศิลปะของฐานบัวสันคมซ้อนเป็นชั้น มีปูนปั้นกลุ่มบัวหงายรองรับต่อขึ้นมาจากเรือนธาตุชั้นบนสุดครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

พระฝาง อุตรดิตถ์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระฝาง”  จังหวัดอุตรดิตถ์
“พระฝาง” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทรงเครื่องใหญ่อย่างพระจักรพรรดิราช หน้าตักกว้าง 1 ศอก 1 คืบ ประทับเหนือฐานปัทม์เหนือฐานสิงห์ซ้อนชั้นหย่อนท้องสำเภา ซ้อนผ้าทิพย์ (ฐานเป็นโลหะสำริด) เดิมอาจเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่แกะสลักขึ้นจากไม้ (?) แต่ต่อมาคงได้ถูกกระแหนะรัก ปั้นประดับลวดลายเปลี่ยนให้เป็นพระพุทธรูปเครื่อง ทรงมงกุฎแบบชฎามงกุฎ กระบังเล็กแบบมาลัยรัด รัดเกล้ายอดปราสาทแหลมมีเกี้ยวยอด (แตกต่างไปจากศิลปะช่วงราชวงศ์ปราสาททองก่อนหน้า ที่นิยมมงกุฎทรงเทริดมีกระบังหน้าใหญ่) ลงรักปิดทองและประดับกระจก ตั้งอยู่หน้าพระประธานในอุโบสถวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ/สว่างคบุรีมุนีนาถ จังหวัดอุตรดิตถ์
.
สันนิษฐานว่าผู้ดัดแปลงคือพระพากุลเถระ พระสังฆราชแห่งเมืองฝาง (เจ้าพระฝาง) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระฝางในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พร้อมกับการบูรณะพระเจดีย์องค์เดิมแบบทรงยอดดอกบัวตูมแบบสุโขทัย มาเป็นเจดีย์ทรงระฆังไม่มีบัลลังก์ในสถาปัตยกรรมนิยมแบบพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศครับ 
.
*** ต่อมาในปี พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญองค์พระฝางมาไว้ที่พระนคร ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2451 ทรงได้มีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้ช่างรีบปั้นหุ่นจำลองรูปพระฝางเก็บไว้ที่กรุงเทพ ฯ เช่นเดียวกับพระพุทธชินราช และให้กระทรวงมหาดไทยนำองค์พระกลับคืนไปไว้ที่เมืองฝางตามเดิมให้ทันฤดูน้ำนี้  แต่ได้เสด็จสวรรคตไปก่อน จึงยังไม่ทันได้มีการจำลองพระฝางไว้  
.
*** พระฝาง จึงยังคงประดิษฐานอยู่ที่มุขเด็จของพระวิหารสมเด็จ วัดเบญจมบพิตร ฯ กรุงเทพมหานคร มาจนถึงในปัจจุบันครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy