วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564

อัษฎมหาปาฏิหาริย์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“อัษฎมหาปาฏิหาริย์” เอกลักษณ์งานพุทธศิลป์อันงดงามแห่งราชวงศ์ปาละ  

*** สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยมีรับสั่งว่า “...เมื่อเวลาพระพุทธเจ้าเข้าสู่นิพพานที่เมืองกุสินารา ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว มีการแจกพระบรมธาตุให้แก่ผู้เลื่อมใสเอาไปบรรจุลงไว้ในพระสถูป ธรรมเนียมบรรจุธาตุในสถูปนั้นมีมาก่อนพุทธกาล การแจกนั้นรวมแปดแห่งด้วยกัน...
.
...ตอนนี้เป็นตอนที่ควรสังเกต พวกถือพระพุทธศาสนาที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าไม่นับถือพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าเท่าบริโภคเจดีย์ (สังเวชนียสถาน) 4 แห่ง เมื่อก่อนเข้าปรินิพพานตามความใน “หนังสือปฐมสมโพธิ์” ว่า พระอานนท์กราบทูลถามว่า พวกพุทธบริษัทเคยเห็นพระพุทธองค์ขณะมีพระชนม์อยู่ หากเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วจะเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจ ควรจะปฏิบัติสถานไรจึงจะแก้ได้... 
.
...ทรงตอบว่า ถ้าใครเปลี่ยวใจคิดถึงตถาคตก็จงไปปลงธรรมสังเวช ณ สังเวชนียสถานสี่ตำบล ตำบลใดตำบลหนึ่งเถิด คือที่ประสูติ “ลุมพินีวัน” กรุงกบิลพัสดุ์ ที่ “ตรัสรู้” พุทธคยาหรือโพธิคยา ที่ประกาศพระศาสนา ”อิสิปัตนมิคคทายวัน” เมืองพาราณสี หรือที่ป่าสาลวันเมืองกุสินาราที่นิพพาน ใครคิดถึงจะไปปลงยังที่แห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้...
.
...ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ก็มีพุทธสาวกไปบูชาสังเวชนียสถานทั้ง 4 ตำบลนี้เสมอมาตราบเท่าทุกวันนี้...”
.
-----------------------
*** การสร้างงานพุทธศิลป์สังเวชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ตามพุทธประวัติทั้ง 4 แห่ง คงได้เริ่มกระทำกันมาตั้งแต่ครั้งหลังพุทธกาล จนเริ่มมีการสร้างรูปเหมือนของพระพุทธเจ้าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 6 – 7 ในเมืองมถุรา (Mathira) และ แคว้นคันธาระ (Gandhara) จึงมีการสร้างรูปของพระพุทธเจ้าในท่าอิริยาบถ ปางและมุทราต่าง ๆ พิมพ์ลงบนดินเหนียว (พระพิมพ์) เพื่อใช้เป็นวัตถุมงคล (ศักดิ์สิทธิ์) ที่ระลึกในโอกาสเดินทางไปจาริกแสวงบุญ (Pilgrimage) ยังสังเวชนียสถานแห่งต่าง ๆ  อีกทั้งยังมีการกำหนดรูปพุทธศิลป์เพื่อแทนความหมายของสังเวชนียสถานในแต่ละแห่งแตกต่างกันไป 
.
ในยุคเริ่มแรกนิยมทำเป็นรูปดอกบัว ตรีรัตนะและพระพุทธบาทคู่ แทนพุทธประวัติตอนประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน (Lumbinī) เมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งต่อมาเมื่อมีการสร้างเหมือนของบุคคล จึงนิยมทำเป็นรูปพระนางมายาเหนี่ยวกิ่งต้นสาละ โดยมีรูปพุทธกุมารประสูติออกมาจากสีข้างครับ  
ในยุคแรกสร้างพุทธศิลป์เป็นรูปต้น “ศรีมหาโพธิ์” แทนพุทธประวัติตอนตรัสรู้ ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมืองพุทธคยา (Bodh Gaya) ต่อมาจึงทำพระพุทธรูปปางมารวิชัยหรือปางสมาธิบนดอกบัวใต้ต้นศรีมหาโพธิ์  
.
นิยมทำพุทธศิลป์เป็นรูปของ “รัตนบัลลังก์ ธรรมจักรประกอบกวางหมอบ” แทนพุทธประวัติตอนปฐมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองสารนาถ (Sārnāth)  ในยุคหลังจึงทำเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา  
สำหรับพุทธประวัติตอนเสด็จมหาปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา (Kuśinagara) นิยมสร้างเป็นเป็นรูปสถูปเจดีย์ ต่อมาจึงทำเป็นรูปพระพุทธไสยาสน์ครับ
.
*** จนเวลาล่วงเลยมาหลายร้อยปี เมื่อการเดินทางจาริกแสวงบุญไปยังสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่งนั้นกระทำได้ยากลำบาก ด้วยเพราะเกิดความขัดแย้งระหว่างแว่นแคว้น จึงได้เกิดการสร้างคติสังเวชนียสถานเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกในการจาริกแสวงบุญ ด้วยการนำเอาพุทธประวัติในตอน “มหาปาฏิหาริย์” (Mahā- Prātihārya)  ในพุทธประวัติตอนสำคัญอีก 4 แห่ง คือ ตอน “แสดงมหา/ยมกปาฏิหาริย์” (Yamaka-pātihāriya) ที่เมืองสาวัตถี (Śrāvasti) นิยมทำเป็นพระพุทธรูปในปางเทศนาธรรม (วิตรรกะมุทรา Vitaraka Mudra) ประทับนั่งห้อยพระบาท (หรือประทับนั่งแบบขัดตะหมาด) บนบัลลังก์ ใต้ต้นมะม่วงที่มีภาพของพระพุทธเจ้าประกอบอยู่ในรูปเป็นคู่อีกหลายองค์ ตอน “เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่เมืองสังกัสสะ” (Saṅkassa) ทำเป็นรูปปางประทับยืนหรือปางลีลา (เดิน) พระหัตถ์ข้างหนึ่ง (หรือทั้งสองข้าง) อยู่ในท่าแสดงธรรมเทศนา (วิตรรกะมุทรา) มีพระอินทร์และพระพรหมตามเสด็จอยู่ทางด้านข้าง ตอน “โปรดช้างนาฬาคีรี” ที่กรุงราชคฤห์ (Rājagṛha) ทำเป็นปางประทานอภัย (อภยมุทรา Abhaya Mudra)  และตอน “ทรมาน/โปรดพระยาวานร” ที่เมืองเวสาลี (Vaiśālī)  ทำเป็นรูปปางประทานพร (วรมุทรา Varada Mudra) หรือรูปนั่งประกอบรูปวานรถวายรวงผึ้ง รวมเป็น 8 ปาง/8 มหาสถาน จึงเรียกว่า “อัษฎมหาปาฏิหาริย์ (Aṣṭa Mahā Prātihārya/The Eight Great Events of the Buddha Life และ  “อัษฎมหาสถาน ทั้ง 8” (Aṣṭa Mahā Sathan/The Eight Great Places of pilgrimage)  
*** งานพุทธศิลป์ “อัษฏมหาปาฏิหาริย์ /อัฐฏมหาสถาน” ในรูปประติมากรรมชิ้นเดียวกัน ปรากฏครั้งแรกในช่วงยุคราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) ราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 ตามคตินิกายสถวีรวาท (Sthāvirīya อาจริยวาท/เถรวาท)  ซึ่งต่อมาได้ส่งอิทธิพลมายังราชวงศ์ปาละ (Pala Dynasty) ในแคว้นพิหาร/เบงกอล ช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-15  ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปศิลปะพระพุทธรูป 8 ปาง 8 มหาสถาน ที่ยังไม่มีแบบแผนการจัดวางทางศิลปะที่ชัดเจนในยุคราชวงศ์คุปตะ มาสลักรวมกันไว้บนแผ่นหลังประภาวลี (Altarpiece) ที่มีรูปประธานองค์ใหญ่อยู่ตรงกลางล้อมรอบด้วยพระพุทธรูปขนาดเล็กอันงดงามครับ
.
*** ช่างศิลปะในยุคราชวงศ์ปาละ ได้นำพุทธประวัติทั้ง 8 มาจัดวางตำแหน่งใหม่อย่างสมมาตร เป็นงานสลักหินที่มีรายละเอียดพิถีพิถัน วางรูปพระนางมายาและพุทธกุมารโพธิสัตว์ตามพุทธประวัติตอนประสูตที่มุมล่างฝั่งซ้ายของรูป ถัดขึ้นมา (กลางซ้าย) เป็นพุทธประวัติตอนปฐมเทศนาที่เมืองสารนาถ มุมบนซ้ายเป็นตอนเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ที่เมืองสังกัสสะ ตรงกลางตอนตรัสรู้ปางมารวิชัยใต้ต้นศรีมหาโพธิ์เป็นพระพุทธรูปใหญ่ประธานของภาพรวม ด้านบนสุดของรูปเป็นตอนเสด็จมหาปรินิพพานที่เมืองกุสินารา มุมขวาบนเป็นพุทธประวัติตอนปราบช้างนาฬาคีรีที่กรุงราชคฤห์ กลางขวาเป็นพุทธประวัติตอนมหาปาฏิหาริย์หรือยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี และมุมล่างซ้ายของรูปเป็นพุทธประวัติตอนโปรดพญาวานรที่เมืองเวสาลี 
.
ด้านล่างบริเวณฐานของานพุทธศิลป์อัษฏมหาปาฏิหาริย์/อัฐฏมหาสถานแตกต่างกันไปในแต่ละองค์ บางรูปทำเป็นรูปสิงห์ประกอบด้วยผู้ศรัทธาชายหญิง (รูปสตรี นางสุชาดา ? ถวายสิ่งของ) บางรูปสลักเป็นพระพุทธรูป 3 รูป จากเหตุการณ์ในครั้งเสวยวิมมุตสุข โดยเป็นเหตุการณ์ 3 สัปดาห์สุดท้าย คือสัปดาห์ที่ 5 ตอนเสด็จไปประทับใต้ร่มไม้ไทร นามว่า “อชปาลนิโครธ” ตรงกลางเป็นเหตุการณ์ในสัปดาห์ที่ 6 ที่เสด็จไปประทับนั่งขัดสมาธิภายใต้ร่มไม้จิก โดยมีชื่อว่า “มุจลินท์” ทางทิศอาคเนย์แห่งต้นมหาโพธิ์  และสัปดาห์ที่ 7 ตอนเสด็จไปประทับภายใต้ร่มไม้เกด “ราชายตนะ” (ต้นไม้ที่อยู่แห่งพระราชา)ครับ
.
----------------------------------
*** ซึ่งในช่วงเวลาต่อมา งานพุทธศิลป์ราชวงศ์ปาละได้รับอิทธิพลจากคติความเชื่อแบบมหายาน/วัชรยาน เข้ามาผสมผสาน มีการดัดแปลงรูปประธานที่เคยเป็นพระพุทธเจ้าสมณโคตม (Samaná Gautama) แบบเถรวาท  มาเป็น “พระพุทธรูปทรงเครื่องสวมมงกุฎทรงเทริดกลีบบัว” (Crowned buddha surrounded by the eight great events of his life) แบบ “พระศากยมุนี” (Shakyamuni) พระโพธิสัตว์กายเนื้อแห่งพระมหาไวโรจนะตามคติของฝ่ายมหายาน
.
*** รูปศิลปะพระพุทธเจ้าทรงเครื่องกษัตริย์สวมมงกุฏทรงเทริดจากศิลปะปาละนี้ ได้กลายมาเป็นต้นแบบสำคัญให้กับงานพุทธศิลป์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 เป็นต้นมาครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy

วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564

พระมานุษิโพธิสัตว์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
รูปศิลปะแห่ง “พระมานุษิโพธิสัตว์” ปุถุชนผู้บรรลุสู่ความเป็นพระโพธิสัตว์แล้ว ในพุทธมัณฑละ

พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน (Mahāyāna Buddhism) ได้มีการจัดระดับพระพุทธเจ้าออกเป็น 3 พุทธภาวะ เรียกว่า “ตรีกาย” (Tri-kāya) โดยมี พุทะภาวะระดับสูงสุดเรียกว่า “ธรรมกาย” (Dharma-kāya)  มี “พระอาทิพุทธ/พระวัชรสัตว์/พระมหาไวโรจนะ” ( Ādi/Vajrasattva /Mahāvairocana) เป็นพระพุทธเจ้าในภาวะสูงสุดแห่งพุทธะ เป็นผู้ให้กำเนิด-สั่งสอนเหล่าพระพุทธเจ้าและตถาคตทั้งมวล กำเนิดขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของโลก คือเมื่อโลกเกิดเป็นรูปร่าง อาทิพุทธะก็ปรากฏพระกายในแสงสว่างประดุจเปลวเพลิง ไม่เห็นเบื้องต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด ทรงเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยพระมหาปัญญาอันสูงสุด เป็นองค์ปฐมมูลฐานของทุกสรรพสิ่ง ที่ปัจจุบันนิยมเรียกว่า “องค์ปฐม” นั่นเอง
.
*** พุทธภาวะระดับรองลงมาคือ “สัมโภคกาย” (Sambhoga-kāya) มีพระพุทธเจ้าชินพุทธะ(ผู้ชนะ) 5 พระองค์  “ปัญจสุคต/ปัญจชินะ/ศรีฆณะ” (Paῆca Sugatā /Paῆca jina/ Śrīghana Buddhas) หรือ “พระธยานิพุทธเจ้า/ฌานิพุทธเจ้า” (Dhyāni Buddha) เป็นตัวแทนของธาตุทั้ง 5 ในจักรวาล ตามคติ “วัชรธาตุ” ประกอบด้วย อากาศ  ดิน น้ำ ลม ไฟ  และเป็นตัวแทนของขันธ์ 5 แห่งมนุษย์ ประกอบด้วย “พระไวโรจนะ” (ผู้รุ่งโรจน์) ประจำทิศเบื้องบน แทนความหมายของ “รูปะ” “พระอักโษภยะ” (ผู้ไม่หวั่นไหว) ประจำทิศตะวันออก แทน “วิญญาณ” ,“พระอมิตาภะ” (ผู้มีแสงสว่างเป็นนิรันดร) ประจำทิศตะวันตก แทน “สัญญา” ,“พระรัตนสัมภวะ” (ผู้เกิดจากรัตนะ) ประจำทิศใต้ แทน  “เวทนา” และ “พระอโมฆสิทธิ” (ผู้สำเร็จโดยไม่พลาด) แทนขันธ์ “สังขาร”ครับ
.
แต่ละพระชินะพุทธะ/ปัญจสุคต ทั้ง 5 พระองค์ ก็จะแบ่งภาคมาเป็น “พระฌานิโพธิสัตว์” (Celestial -  Bodhisattva) ประจำแต่ละพระองค์ เพื่อลงมาช่วยเหลือมวลมนุษย์ โดยพระไวโรจนะพุทธเจ้าประทับอยู่ทิศกลาง จะแบ่งภาคเป็น “พระโพธิสัตว์สมัตรภัทร”(Samantabhadra) ,พระอักโษภยะ (ตะวันออก)-“พระโพธิสัตว์วัชรปาณี” (Vajrapāṇi) ,พระอมิตาภะพุทธเจ้า (ตะวันตก)-“พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” (Avalokiteśvara), พระรัตนสัมภาวะพุทธเจ้า (ทิศใต้)-“พระโพธิสัตว์รัตนปาณี” (Ratnapāṇi)  และพระอโมฆสิทธิพุทธเจ้า (ทิศเหนือ)–“พระโพธิสัตว์วิศวปาณี” (Viśvapāṇi)
.
ในลัทธิมหายาน /นิกายสุขภาวดี (Sukhāvatī) ที่กำเนิดขึ้นในราชวงศ์จิ้นตะวันออก ช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 9  มีคติความนิยมเฉพาะพระอมิตาภะพุทธเจ้า ได้สร้างวรรณกรรมให้มี “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” (กวนซีอิม/Avalokiteśvara) เป็นพระชิโนรสองค์แรก ถือหม้อน้ำอมฤตประทับอยู่ด้านขวา และ “พระโพธิสัตว์มหาสถามปราปตะ” (ไต้ซีจู๊ พู่สะ/Mahāsthāmaprāpta) พระชิโนรสองค์ที่สอง เป็นผู้ช่วยบรรเทาทุกข์ให้แก่เหล่าสรรพสัตว์ทั้งปวงอยู่ทางด้านขวาครับ
.
*** พุทธภาวะระดับล่างสุดคือ “นิรมาณกาย” (Nirmāṇakāya) หมายถึง “รูปกาย” หรือกายมนุษย์ (กายเนื้อ) เป็นพุทธสภาวะของเหล่าพระตถาคต/พระพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสรู้และสั่งสอนเพื่อให้ตระหนักรู้ถึงกฎแห่งไตรลักษณ์ ความไม่จีรังยั่งยืนของสังขาร การเกิด แก่ เจ็บตาย แก่เหล่าสรรพสัตว์บนโลก เป็นตัวแทนเพื่อการสั่งสอนพระธรรมจักรของพระพุทธเจ้าเจ้าในระดับธรรมกายและระดับสัมโภคกายที่ลงมาปรากฏตัวในร่างมนุษย์บนโลก โดยมี “พระศากยมุนี” (Shakyamuni) /พระโพธิสัตว์สิทธัตถะ (Siddhartha) คือพระพุทธเจ้ากายเนื้อของพระอาทิพุทธ/วัชรสัตว์/มหาไวโรจนะ ทั้งยังมี เหล่าพระพุทธเจ้า-ตถาคตกายเนื้อ ที่ได้ตรัสรู้แล้ว เรียกว่า “พระมานุษิพุทธเจ้า” (Mortal Buddhas) อีกเป็นจำนวนมากมายมหาศาล ประทับใน “จักวาลแห่งมัณฑละ” (Maṇḍalā Universe) หรือ “พุทธเกษตร” (Buddha Kaset) ที่มีการจัดระดับและมีพระฌานิพุทธเจ้า/ชินพุทธะ ทั้ง 5 เป็นประธานในแต่ละทิศของจักรวาล
.
--------------------------------------
ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 พุทธศาสนามหายานในอินเดียเหนือ-ตะวันออกได้พัฒนามาเป็น “พุทธศาสนาตันตระยาน” (Tantric Buddhism ) ที่ประกอบด้วยนิกายมันตรยาน นิกายสหัชรยาน นิกายกาลจักร โดยในนิกาย “วัชรยาน” (Vajrayāna Buddhism) เป็นนิกายที่มีการจัดลำดับพุทธเทวะ สร้างวรรณกรรมอธิบายอำนาจ/อานุภาพและการจัดมัณฑละของพระอาทิพุทธ พระฌานิพุทธ/ชินพุทธะ พระโพธิสัตว์ทั้งเพศบุรุษและพลังศักติ (Goddess Śakti – พลังศักดิ์สิทธิ์แห่งเพศหญิง Divine feminine power) และยิดัม (Yi-Dam The Guardian) ผู้ปกป้องพระพุทธศาสนา ขึ้นอีกอย่างมากมาย เกิดพระมหาโพธิสัตว์ผู้ทรงอานุภาพทั้ง 8 (ทิศทั้ง 8 ผู้นำพระมานุษิโพธิสัตว์ในแต่ละทิศมัณฑละ) ที่เรียกว่า “อัษฏมหาโพธิสัตว์” (Aṣṭamahābodhisatava) ประกอบด้วย “พระสมันตภัทระโพธิสัตว์”“พระกษิติครรภะโพธิสัตว์” (Kṣitigarbha) “พระวัชรปาณีโพธิสัตว์”“พระมัญชุศรีโพธิสัตว์” (Mañjūsrī)  “พระอากาศครรภะโพธิสัตว์”(Ākāśagarbha) “พระสรรวนิวรณวิษกัมภินโพธิสัตว์”(Sarvanivaraṇaviṣkambhin)  “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร”และ“พระไมเตรยะโพธิสัตว์” (Maitreya) ครับ 
.
*** กำหนดพระโพธิสัตว์ในภาคดุร้าย อย่าง “พระหริหริหริวาหนะ” (Harihariharivāhana Avalokiteśvara) หรือ “พระยมาตกะ” (Yamāntaka)
.
*** กำหนด “ยิดัมเพศบุรุษ” เช่น “พระเหวัชระ” (Hevajra) “พระไตรโลกยวิชัย” (Trailokyavijaya) “พระจักระสังวระ”(Cakrasaṃvara) “พระมหามายา” (Mahāmāyā)  “พระคุหยสมาช” (Guhyasamāja)  “พระชัมภล” (Śambala) “กาลจักร” (Kālacakra) “พระธรรมบาลทั้ง 8/ อัษฎาเสน" (Dhammapāla/Astasena) 
.
*** กำหนด “ศักติยิดัม/สตรี” อย่าง “นางหาริตี” (Hārītī) “พระนางวัชระวราหิ/พระโพธิสัตว์มริจี” (Vajravārāhī -Marici Bodhisattva) “นางโยคิณี” (Yogini) /นางฑากิณี (Dakini)  ประจำสายตระกูลพระฌานิพุทธเจ้า 5 พระองค์ ประกอบด้วย “พุทธฑากิณี” (Buddhaḍākinī) “วัชรฑากิณี” (สุขสิทถี Sukhasiddhi- Vajraḍākinī ) “รัตนฑากิณี” (Ratnaḍākinī ) “ปัทมฑากิณี” (Padmaḍākinī) “กรรมฑากิณี” (Karmaḍākinī  ) รูปลักษณ์ในภาคดุร้ายคือ “สรวพุทธฑากิณี (Sarva Buddha Dakini) สิงหวักตรา(Simhavaktra) มกรวักตรา (Makaravaktra) วัชรวราหิ (Vajravārāhī)” และมีนางฑากิณีประจำฤดูกาล อีก 4 องค์คือ “วสันตเทวี คิมหันตเทวี ศรัทเทวี และเหมันตเทวี” และ “นางฑากิณี” 8 องค์ มเหสีของพระธรรมบาล
.
*** “อิตถีโพธิสัตว์” อย่าง “พระศรี/วสุธารา” (Śrī/Vasudhārā) “ปัญจรักษาทั้ง 5” (Pañcarakṣā)  ประจำพระฌานิพุทธเจ้าประกอบด้วย "มหาสาหัสรประมารทินี" (Mahāsāhasrapramardanī ) “มหามนตรานุสารินี” (Mahāmantrāṇusāraṇī) “มหาศีตวดี” (Mahāśītavatī) “มหามายุรี” (Mahāmāyūrī) “มหาประติสรา” (Mahāpratisarā)  หรือ “เทวีตารา” (Tara) พระแม่แห่งการหลุดพ้น 21 ลักษณะครับ
.
*** กำหนดรูปบุคคลาธิษฐานแห่งพระสูตร/คาถาธารณีเทวีแห่งมนตรา (Dhāraṇī /Spells) ในรูปพระเทวีศักติอย่าง “มนตราจุณฑาธาริณี/พระนางจุณฑาอิตถีโพธิสัตว์” (Chunda) “คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร/พระนางปรัชญาปารมิตา (Prajñāpāramitā)  “พระสูตรมหาปฺรติสรา-วิทฺยาราชฺญี/เทวีมหาประติสราอิตถีโพธิสัตว์” (Mahāpratisarā) 
.
*** ในนิกายตันตระยังเกิดความนิยมในคติ “ลัทธิโลเกศวร” บูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรผู้เมตตาในรูปของมูรติทั้ง 8 แห่งพระมหาโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรผู้ทรงอานุภาพบารมี “พระมหาโพธิสัตว์เอกาทศมุข มหากรุณิกะโลเกศวร/พระโพธิสัตว์อารยาวโลกิเตศวร” (Ekadashamukha Mahakarunika Lokeshvara) ครับ
.
----------------------------
*** ในพุทธภาวะนิรมาณกาย (กายเนื้อ) ของฝ่ายมหายาน/วัชรยานตันตระ ได้เปิดโอกาสให้มนุษย์ปุถุชนที่ไม่ใช่นักบวช สามารถบำเพ็ญโพธิญาณกุศลบารมีตามความประสงค์ เพื่อการบรรลุสู่ความเป็นพระโพธิสัตว์หรือ “พระมานุษิโพธิสัตว์” (Mortal Bodhisattva) ได้ด้วยตนเอง หากได้บำเพ็ญโพธิสัตว์บารมี 10 ประการ คือ ทาน ศีล ขันติ วิริยา ปัญญา ญาณ ปณิธาน อุบายะ พละ ชญาณ จนบรลุรู้ความแจ้ง ก็จะมีอำนาจบารมีเฉกเช่นเหล่าพระโพธิสัตว์บนแดนสวรรค์มัณฑละ/พุทธเกษตร แต่อำนาจบารมีนั้น เหล่าพระมานุษิโพธิสัตว์จะต้องตั้งปณิธานไว้อย่างชัดเจนว่า จะแสวงหาเพื่อช่วยเหลือมวลสรรพสัตว์โลกให้รอดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง อย่างไม่มีที่สิ้นสุดในสังสารวัฏฏ์ ไม่อาลัยในความทุกข์ของตน อาลัยแต่ความทุกข์เข็ญของหมู่สัตว์ ไม่แสวงหากุศลบารมีเพื่อการเข้าสู่พระนิพพานของตนเอง 
.
*** อิทธิพลพุทธศาสนาแบบวัชรยานตันตระแบบราชวงศ์ปาละในอินเดียตะวันออกและชวาเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 โดยเฉพาะในช่วงสมัยจักรวรรดิบายน(Bayon Empire) ตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 18 ที่คติวัชรยานได้รับความนิยมจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และราชสำนักกัมพุชะเทศะ ได้มีการสร้างรูปประติมากรรมแบบต่าง ๆ ตามคติวัชรยานตันตระที่แฝงเร้นด้วยพระพักตร์ปริศนาแห่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ขึ้นอย่างมากมายทั่วจักรวรรดิครับ
.
รูปศิลปะแห่งมนุษย์ปุถุชนผู้ตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ ปฏิบัติโพธิญาณบารมีจนบรรลุเป็นพระมานุษิโพธิสัตว์แล้วในพุทธเกษตร ได้ถูกสร้างขึ้นในรูปของพระโพธิสัตว์ในรูปตันตระ 4 กร (รูปอภินิหารแห่งอานุภาพบารมี) ไม่มีรูปพระอมิตาภะที่ด้านหน้ามวยพระเกศาแตกต่างไปจากรูปของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ถือ “อักษมาลา-ลูกปะคำของนักบวช” (Rudraksha Mala) ในความหมายของผู้ปฏิบัติโพธิญาณบารมี “หม้ออมฤตกุมภ์” (กมัลฑลุ/Amritakumbha) ในความหมายของผู้บำเพ็ญบารมี (นักบวช) “คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร” หัวใจแห่งการหลุดพ้นสู่โพธิญาณ และการแสดงวิตรรกะมุทรา (Vitarka mudra-แบบหงายพระหัตถ์) ในความหมายของการสอน (ให้/ความช่วยเหลือสู่การปฏิบัติโพธิญาณบารมีแก่มนุษย์) มีรูปกลมของดอกไม้บูชา หรือดอกบัวบูชาที่กลางพระหัตถ์
.
รูปศิลปะของพระมานุษิโพธิสัตว์ ปรากฏเป็นภาพสลักประดับผนังปราสาทและปราสาทบริวารชั้นบนสุดของปราสาทบายนหลายจุด แต่ได้ถูกขูดสกัดลบทำลายหรือดัดแปลงเป็นรูปฤๅษี คงเหลือรอดอยู่เพียงปราสาทบริวารหลังทิศใต้มุมตะวันตกเท่านั้น คงด้วยเพราะอาจมีความคล้ายคลึงกับรูปพระวิษณุ 4 กรครับ
.
รูปพระมานุษิพุทธเจ้ายังพบเป็นภาพสลักเรียงรายที่ผนังใต้คิ้วบัวใต้หลังคาของระเบียงคดชั้นนอก ปราสาทบันทายฉมาร์ ที่ได้แสดงความหมายถึงว่า พระมานุษิโพธิสัตว์ที่มาจากมนุษย์นั้นสามารถกำเนิดขึ้นได้ตลอดเวลา และมีอยู่อย่างมากมายเป็นเอนกอนันต์มาแล้วในพุทธเกษตร
.
*** ส่วนรูปประติมากรรมพระมานุษิโพธิสตว์แบบลอยตัว นิยมสลักรูปนั่งมีแผ่นหลังประภาวลี (Altarpiece) ยอดเป็นหน้าบันซุ้มบัญชร ไม่มีลวดลาย มีเดือยด้านล่างเข้าเพื่อสอดยึดเข้ากับรูฐานสนานโทรณี (Snāṇadroṇī) จะพบในปราสาทหินที่สร้างขึ้นในคติวัชรยานตันตระในยุคจักรวรรดิบายนทุกหลังและเป็นงานอุทิศในปราสาทใหญ่ยุคก่อนหน้า แต่ก็ปรากฏร่องรอยการทุบทำลายไปเสียมาก
.
 รูปประติมากรรมพระมานุษิพุทธเจ้ามีแผ่นหลังประภาวลี ยังพบจำนวน 1 องค์ ในปราสาทแบบอาโรคยศาลา (ĀrogyaŚālā) หรือปราสาทสุคตาลัย/วิหารพระสุคตแห่งโรงพยาบาลทุกแห่ง โดยจะตั้งอยู่บริเวณมุขหน้าติดผนังฝั่งทิศเหนือของตัวปราสาทประธาน อาจเพื่อความหมายเพื่อการเตือนสติให้ผู้เจ็บปวดทั้งทางกายและใจที่เข้ามาสวดสาธนา (Sādhanas) ในมนตราธาริณีบทต่าง ๆ แห่งพระไภสัชยคุรุไวฑูรยประภา ได้ตั้งใจปฏิบัติโพธิญาณบารมี อันเป็นอีกหนึ่งหนทางสู่การพ้นทุกข์ (จากโรคร้าย) ไปพร้อมกันในคราวเดียวครับ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2564

พระมหาเจดีย์ชเวดากอง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง 
...ณ เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า 
ในสมัยพุทธกาล... สัปดาห์ที่ ๗ หลังการตรัสรู้ของ "พระพุทธเจ้า" พระพุทธองค์ทรงประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกดหรือต้นไม้ที่อยู่แห่งพระราชา) เป็นเวลาอีก ๗ วัน
"ท้าวสักกะเทวราช" ทรงทราบว่านับแต่พระพุทธองค์ตรัสรู้มา ๗ สัปดาห์ รวม ๔๙ วัน ยังมิได้เสวยภัตตาหารเลย จึงนำไม้สีพระทนต์ชื่อ "นาคลดา" พร้อมน้ำจาก "สระอโนดาต" และ "ผลสมอ" อันเป็นทิพยโอสถจากเทวโลก มาน้อมถวายในตอนเช้าของวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๘ หรือ "เดือนอาสาฬหะ"
>>> ณ ที่แห่งนี้เอง... ได้มีพ่อค้า ๒ คน ชื่อ "ตปุสสะ" กับ "ภัลลิกะ" นำเกวียน ๕๐๐ เล่ม เดินทางผ่านมาทางตำบลพุทธคยา (อุรุเวลาเสนานิคม) อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของ "พระพุทธเจ้า"
พ่อค้าทั้ง ๒ คน ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้า ขณะทรงประทับอยู่ใต้ต้นราชายตนะ มีพระรัศมีอันผ่องใสงดงามยิ่งนักก็บังเกิดความเลื่อมใส จึงนำ "ข้าวสัตตุผง - สัตตุก้อน" ซึ่งเป็นเสบียงเดินทางของตนไปน้อมถวาย 
ขณะนั้น... พระพุทธองค์ยังไม่มีบาตร "ท้าวจตุมหาราช' ทั้ง ๔ องค์ จึงได้น้อมนำ "บาตรแก้วอินทนิล" มาถวายองค์ละ ๑ ใบ พระพุทธองค์ทรงดำริว่า "ใบเดียวก็เพียงพอแก่เรา" จึงทรงอธิษฐานให้บาตรทั้ง ๔ ใบนั้นประสานเข้าเป็นใบเดียวกัน แล้วทรงรับ "ข้าวสัตตุผง - สัตตุก้อน" จากพ่อค้าทั้ง ๒
หลังจากพระพุทธองค์เสวยเสร็จก็ทรงแสดงธรรม และประทานอนุโมทนา เมื่อจบพระธรรมเทศนา พ่อค้าทั้ง ๒ คนก็เปล่งวาจาถึง "พระพุทธ - พระธรรม" เป็นสรณะตลอดชีวิต ไม่เปล่งวาจาถึง "พระสงฆ์" เพราะขณะนั้นยังไม่มีพระสงฆ์ พร้อมทั้งประกาศตนเป็น "อุบาสกผู้ถึงรัตนะเป็นคู่แรกในพระพุทธศาสนา" 
ก่อนที่จะเดินทางต่อไป... พ่อค้าทั้ง ๒ ได้กราบทูลขอสิ่งของที่ระลึก เพื่อนำกลับไปบูชาสักการะยังบ้านเมืองของตน พระพุทธองค์ทรงเอาพระหัตถ์ลูบพระเศียร "เส้นพระเกศา ๘ เส้น" หลุดติดพระหัตถ์มา จึงทรงประทานให้แก่ ๒ พ่อค้านั้น
พ่อค้า ๒ พี่น้องได้นำ "พระเกศาธาตุ ๘ เส้น" กลับไปยังบ้านเมืองของตน มีพิธีสมโภช "พระเกศาธาตุ" ซึ่งบรรจุไว้ภายในผอบทองคำหลายวันหลายคืน และได้จัดสร้าง "พระมหาเจดีย์ชเวดากอง" เพื่อประดิษฐาน "พระเกศาธาตุ"
ต่อมา... ทั้ง ๒ พี่น้องได้ตามมาเฝ้าพระพุทธเจ้าอีกครั้งที่กรุงราชคฤห์ พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่ทั้ง ๒ จนได้ "บรรลุโสดาปัตติผล" พ่อค้าที่ชื่อ "ตปุสสะ" เป็นอุบาสกไม่บรรพชา ส่วนพ่อค้าที่ชื่อ "ภัลลิกะ" บรรพชาแล้วได้ "บรรลุอรหัตตผล" พร้อมด้วยอภิญญา ๖ ในเวลาต่อมา
"พระมหาเจดีย์ชเวดากอง" กล่าวกันว่า "บนยอดของพระเจดีย์มีเพชรอยู่จำนวน ๕,๔๔๘ เม็ด ชั้นข้างบนสุดมีเพชรเม็ดใหญ่อยู่ ๗๖ กะรัต และทับทิม ๒,๓๑๗ เม็ด มีมรกตเม็ดใหญ่อยู่ตรงกลาง เพื่อรับลำแสงแรกและลำแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์" 

พระอมิตาภพพุทธเจ้า

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
ศิลปะแห่ง “พุทธานุภาพ” บนพระหัตถ์พระพุทธรูปทวารวดี

พระพุทธรูปสลักขึ้นจากหินปูน ยืนสมภังค์ (Samabhaṅga) พระกรซ้ายยกขึ้น พระหัตถ์ถือรั้งชายจีวร พระกรขวาทิ้งลงตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาทอดลงแบออกด้านหน้าแสดงท่า “ปางประทานพร” (วรทมุทรา) นุ่งจีวรแบบห่มคลุมตามแบบมหายาน (Mahāyāna Buddhism) ในความหมายของ “พระอมิตาภะพุทธเจ้า” (Amitābha) พระพุทธเจ้าผู้ปกครองสวรรค์พุทธเกษตร/มัณดาราทิศตะวันตก ตามอิทธิพลของคติความเชื่อจากราชวงศ์ปาละในอินเดียตะวันตก และฝ่ายมหายาน/นิกายสุขภาวดี (Sukhāvatī) ในยุคราชวงศ์ถังของจีน พบที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
.
“ปางประทานพร” แบบทิ้งพระกรแบพระหัตถ์ข้างพระวรกาย เป็นเอกลักษณ์สำคัญของพระอมิตาภะในนิกายสุขาวดี นิยมสร้างงานศิลปะเป็นรูปของพระพุทธรูปที่มีประภามณฑลล้อมรอบในความหมายของอานุภาพ-พุทธานุภาพ ดังปรากฏความหมายของพระนามตามพระสูตรว่า “พระผู้มีรัศมีแผ่กว้างเป็นแสงสว่างอันเป็นนิรันดร์ เจิดจรัสไปทั่วจักรวาล” นิยมสร้างงานศิลปะ ทั้งในท่ายืนแสดงปางประทานอภัยในพระหัตถ์ขวาและปางประทานพรในพระหัตถ์ซ้าย หรือประทับนั่งปางสมาธิ (Samādhi Mudrā) หรือ ธยานมุทรา (Dhyāna Mudra) โดยมีพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (กวนซีอิม/Avalokiteśvara) พระชิโนรสองค์แรก ถือหม้อน้ำอมฤตประทับอยู่ด้านขวาและพระโพธิสัตว์มหาสถามปราปตะ (ไต้ซีจู๊ พู่สะ/Mahāsthāmaprāpta) พระชิโนรสองค์ที่สอง เป็นผู้ช่วยบรรเทาทุกข์ให้แก่เหล่าสรรพสัตว์ทั้งปวงประทับอยู่ทางด้านขวาครับ
.
“พระพุทธเจ้าอมิตาภะ” ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในคติความเชื่อและงานศิลปะยุควัฒนธรรมทวารวดี ควบคู่ไปกับ พระพุทธเจ้าศากยมุนี (Shakyamuni) จากคติฝ่ายมหายาน/ราชวงศ์ปาละ และพระพุทธเจ้าสมณโคตม (Samaná Gautama) จากคติเถรวาทฝ่ายลังกา ตั้งแต่ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา 
.
-----------------------
*** ที่พระหัตถ์ของพระพุทธรูป แสดงลวดลาย“จักร/ธรรมจักร” (Cakra) ลักษณะสำคัญของพระโพธิสัตว์ผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ดังปรากฏความใน“มหาปุริสลักขณะ/มหาปุริสลักษณะ” (Mahapurisalakkhana/Mahāpuruṣa Lakṣaṇa) หรือ “มหาบุรุษ” 32 ประการ (Thirty-two Characteristics of a Great Man – Buddha) ว่า 
.
“... พระโพธิสัตว์..มีตาข่ายเลิศประดับในมือขวา มีเล็บแดงงาม มีลายกงจักรซึ่งมีซี่ตั้งพันบันเทิงด้วยบุญญาอันงามเหมือนรัศมีทองชมพูนุท ...พื้นภายใต้ฝ่าพระบาทและพระหัตถ์ทั้งสองข้างมีลายรูปจักรอันวิจิตร (สีขาวมีประกายเหมือนเปลวไฟ) มีซี่กำได้ข้างละพัน มีกงมีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง...”  
 .
*** รูปศิลปะแห่งธรรมจักรบนฝ่าพระหัตถ์ แสดงพลังแห่งพุทธานุภาพ “...รัศมีทองชมพูนุท-สีขาวมีประกายเหมือน เปลวไฟ....” ตามลักษณะแห่งมหาบุรุษ ในความหมายของ “พลังออร่า” (Aura) หรือ “ฉัพพรรณรังสี” (Prabashvara) ออกมาเป็นรูปศิลปะ ขีดเป็นเส้นลายโค้งตวัดออกมาทั้ง 4 ด้าน เหมือนรูปดอกไม้ผลิบานออกมา 4 กลีบ (อริยสัจ 4) สับว่างด้วยกลีบดอกไม้ปลายแหลม แทนความหมายของการประทานพรให้เหล่าสาธุชนได้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงครับ
.
“...ด้วยอำนาจบารมีแห่งพระอมิตาภะผู้ทรงมีมหาเมตตากรุณา ดวงวิญญาณของผู้ศรัทธาที่วายชนม์จะได้ไปบังเกิดบนพุทธเกษตรแดนสุขาวดี พุทธภูมิอันงดงาม สุขสบาย บริสุทธิ์สดใส น่ารื่นรมย์ ไม่มีความทุกข์ ไม่มีกามารมณ์ ทุกคนงามประดุจเทพยดา เป็นแดนที่ผู้ศรัทธาในพระอมิตาภะจะใช้ปฏิบัติธรรม หลังจากสิ้นชีวิตบนโลก เพื่อบรรลุไปสู่พระนิพพานต่อไป...” 
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ทับหลังเมืองละโว้

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ทับหลัง วยาล-เกียรติมุข” เมืองละโว้ งานศิลปะเขมรโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 

ร่องรอยอิทธิพลของอาณาจักรกัมพุชะเทศะ ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาหรือภาคกลางของประเทศไทยในปัจจุบัน ปรากฏความใน “จารึกปราสาทร่อลั่ว” (Lolei inscription - K.323) ซึ่งเป็นจารึกประจำ“ยโศธราศรม” (Yaśōdharāshrams)  หลักหนึ่ง จารึกในปี พ.ศ. 1432 สมัยพระเจ้ายโศวรมัน ด้านหนึ่งเป็นอักษรเขมรโบราณแบบอินเดียใต้ อีกด้านหนึ่งมีข้อความเดียวกันแต่เป็นอักษรเทวนาครีแบบอินเดียเหนือ เป็นฉันทลักษณ์ 92 บท ประกอบด้วย “อนุษฏุปฉันท์” (Anuṣṭubh)  8 พยางค์ "วสันตดิลกฉันท์" (Vasantatilaka) 14 พยางค์ “อุปชาติฉันท์” (Upajāti) 13 พยางค์ “อุเปนทรวัชรา” (Upendravajrā)  22 พยางค์ อินทรวัชรา (Indravjarā) และ “มันทากรานตาฉันท์”  (Mandākrāntā) 17 พยางค์  กล่าวถึงอำนาจของพระเจ้ายโศวรมันว่ามีอาณาเขตขึ้นไปถึงจีนและชายฝั่งทะเล (Cīnasandhi payodhibhyāṃ)  พระองค์โปรดให้สร้าง “อาศรม”  (Āśramas)  ขึ้นนับ 100 แห่ง ทั่วอาณาจักร
.
อีกทั้งจารึกกรอบประตู “ปราสาทปักษีจำกรง” (Baksei Chamkrong inscription - K.286) ที่จารขึ้นในสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมัน (Rājendravarman) ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ด้วยบทประพันธ์ในภาษาสันสกฤต (Sanskrit Verses) 48 บท แบ่งเป็น "วสันตดิลกฉันท์"  “อุปชาติฉันท์”    "ศารทูลวิกรีฑิตะ" (Śārdūlavikrīḍita) 19 พยางค์  สวาคตาฉันท์ 11 พยางค์  (Svāgatā) และ“อารยาฉันท์” (Āryā) กล่าวถึงเรื่องราวความเป็นมาของอาณาจักรว่าเริ่มต้นจาก “พระมหาฤๅษีกัมพุ สวยัมภูวะ” (Kambu Svāyambhuva) และนางเมรา (Marā)  พระองค์ (พระเจ้าราเชนทรวรมัน) สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าศรุตวรมัน (Śrutavarman) ( และพระนามกษัตริย์อีกหลายพระองค์) จนถึงพระเจ้าอินทรวรมัน ซึ่งพระโอรสของพระองค์มีพระนามว่า “ศรียโศวรมัน” เป็นผู้ปกครองแผ่นดินทรงพระยศพระเกียรติเกริกไกรที่ไม่มีผู้ใดเทียบเทียม อาณาจักรของพระองค์  จรดแดน “ศูกษมากามราตะ” (Sūkṣmakāmrāta)  ทะเล (Payodhi)  จีน (Cīna) และจามปา(Campā) ครับ
.
เขตแดน “ศูกษมากามราตะ” ถูกตีความว่าคือพรมแดนไกลสุดทางตะวันตก (Western frontier) ของอาณาจักร ด้วยเพราะชื่อนามดินแดนอีกสามด้านในจารึกคือดินแดนไกลสุดทางทิศใต้ ทิศเหนือและทิศตะวันออก ซึ่งในครั้งแรก ๆ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ และนักวิชาการฝรั่งเศสเชื่อว่าคือ เมืองพะโค (หงสาวดี) เมืองสะเทิม และเทือกเขา-ชายทะเลในเขตจังหวัดจันทบุรี แต่ต่อมามีการสันนิษฐานว่า อาจเป็นเมืองโบราณอู่ทองในเขตลุ่มแม่น้ำท่าจีน จากร่องรอยในจารึกแผ่นทองแดง หรืออาจจะอยู่ที่เพียงเมืองละโว้ ในเขตฝั่งตะวันออกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น
.
------------------------------------
ร่องรอยสำคัญของ “ชายแดนตะวันตก” ตามข้อความที่ปรากฏในจารึกช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 อาจเกี่ยวข้องกับประติมากรรมทับหลังชิ้นหนึ่ง ที่พบในเมืองโบราณละโว้ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จสมนารายณ์ มีรูปของหน้าตัว “วยาล” (Vyala) สิงห์มีเขา ที่ยังปรากฏรูปเขา 2 ข้าง ซ้อนด้วยลายกระหนกต่อขึ้นจากดวงตา มีแก้มใหญ่ ในงานศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียใต้–ชวา ที่ถูกดัดแปลงมาเป็น “หน้ากาล/เกียรติมุข” (Kala-Kirttimukha) ในงานศิลปะเขมรโบราณมาตั้งแต่ยุคก่อนเมืองพระนครครับ   
.
หน้ากาล/เกียรติมุขแสดงการคายท่อนพวงมาลัย ออกทางด้านข้างโค้งลงตวัดปลายเป็นกระหนกขึ้น ด้านบนเป็นกระหนกพรรณพฤกษาพวยโค้งออก ส่วนใต้ท่อนมาลัยตวัดเป็นกระหนกก้านขดโค้งเข้า ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของงานศิลปะแบบกุเลน (Kulen) ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 14   
.
*** สอดรับกับร่องรอยหลักฐานจารึก ที่กล่าวถึง “ชายแดนตะวันตก” ของอาณาจักรกุมพุชะเทศะ (Kambujadeśa) ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 15 ที่อยู่ห่างจากช่วงยุคศิลปะกุเลนเพียงประมาณ 30 ปี  ทับหลังหน้าเกียรติมุขในงานศิลปะเขมรโบราณชิ้นนี้ จึงเป็นหลักฐานที่แสดงอิทธิพลของฝ่ายกัมพุชจากแดนตะวันออกในเมืองละโว้ครั้งแรกที่เก่าแก่ที่สุดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่อาจย้อนขึ้นไปไกลได้ถึงยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 แห่งมเหนทรบรรพต (Mahendraparvata) หรืออาจเป็นทับหลังประกอบปราสาท “ยโศธราศรม” ในยุคพระเจ้ายโศวรมัน ตามที่ปรากฏในจารึกปราสาทร่อลั่ว (ยังพบจารึกประจำยโศธราศรมแบบ 2 ภาษานี้อีกหลายแห่ง อย่างที่ จารึกพระบาท จารึกปราสาทโต๊ะโมะ (K.362) จารึกปราสาทพระนาคบวช (K.341) จารึกไพรปราสาท (K.688) จารึกเพนียดจันทบุรี (K. 479) ฯ) ครับ    
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

พนะสุก วัดราชผาติการาม

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.

พระสุก
วัดราชผาติการาม
วัดราชผาติการาม เดิมชื่อวัดส้มเกลี้ยง ต่อมาเป็นวัดร้าง ชาวญวนอพยพซึ่งอยู่ในสังกัดของพระบาทสมเด็จ​พระ​ปิ่นเกล้า​เจ้า​อยู่​หัว​ เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระ​เจ้า​น้องยา​เธอ​ เจ้าฟ้ากรมขุน​อิศเ​รศ​รังสรรค์​ เป็นพวกนับถือ​ศาสนาคริสต์​จึงรื้ออิฐวัดส้มเกลี้ยงไปสร้างบ้านและโบสถ์​คาทอริก ความทราบถึงพระบาทสมเด็จ​พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงปรับโทษ​พระบาทสมเด็จ​พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ไม่คอยห้ามปราม ให้สร้างวัดชดใช้
เมื่อสร้างวัดใหม่ขึ้นทดแทน พระบาทสมเด็จ​พระ​จอมเกล้า​เจ้า​อยู่​หัว​จึงทรงพระราช​ทานนามวัดว่า "วัดราชผาติ​กา​กรรม" ซึ่งแปลว่าเป็นวัดที่ทรงสร้างชดใช้
วัดราชผาติ​กา​ราม​ต้องประสพปัญหา​ตลอดมา ในรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการตัดถนนราชวิถี​ผ่านหน้าวัด ต้องรื้อย้ายหมู่กุฏิเสียครั้งหนึ่ง และมาถูกรื้อย้ายอีกมาก เมื่อมีการสร้างสะพานกรุงธนบุรีในรัชกาลที่ 9
พระบาทสมเด็จ​พระ​ปิ่นเกล้า​เจ้า​อยู่​หัว​โปรดให้​อัญเชิญ​พระสุก จากพระบวรราชวังมาประดิษฐาน​เป็นพระประธาน​ในพระอุโบสถ
พระสุกเป็นพระพุทธรูป​ล้านช้าง (พระลาว)​ ที่ได้มาจากเวียง​จันทน์​ เป็นพระปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก 1 ศอกคืบ เป็นพระหล่อสัมฤทธิ์​งดงาม มีเส้นลายเงินฝังอยู่ตามขอบจีวรและสังฆาฏิ​ พระโอษฐ์​มีสีสุกคล้ายนาก จึงเรียก "พระสุก"
ในวโรกาส​พระบาท​สมเด็จ​พระ​เจ้า​อยู่​หัว​รัชกาลที่ 9 ทรงเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ และสมเด็จพระ​นาง​เจ้า​สิริกิติ์​พระบรม​ราชินีนาถ​ เจริญพระชนมพรรษา​ 80 พรรษา​ ได้เขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระมหาชนก จากพระราช​นิพนธ์​ของพระบาทสมเด็จ​พระ​เจ้า​อยู่​หัว​รัชกาลที่ 9 ที่ทรงสดับพระธรรมเทศนา​เรื่องพระมหาชนกชาดก โดยสมเด็จพระ​มหาวีระวงศ์​ (วิน ธมฺมสาโร)​ ณ พระอุโบส

วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2564

พระพุทธรูปศิลปะคุปตะ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พระพุทธรูป “ศิลปะคุปตะ” เพียงองค์เดียวที่พบในประเทศไทย
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 – 9 คงเป็นช่วงเวลาแรก ที่ปรากฏอิทธิพลทางศาสนาความเชื่อจากดินแดนต่าง ๆ จากอินเดียเข้ามาสู่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “สุวรรณทวีป-สุวรรณภูมิ (Suvaṇṇabhūmi- Suvarṇadvīpa) /อินเดียน้อย หรือ “ไครเส - เคอรโสเนโสส” (Chrysḗ Chersónēsos - Chryse Chersonese) ตามชื่อนามเรียกขานในบันทึกของ “ปโตเลมี” นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก และ “เมกัสเธนัส” ชาวกรีกเบคเตรีย (โยนก) ช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 ที่หมายถึงดินแดนคาบสมุทรโพ้นทะเลทางตะวันออก
.
ร่องรอยหลักฐานพุทธศิลป์จากอินเดียรุ่นแรกที่พบ หลายชิ้นมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับศิลปะแบบอมราวดี (Amaravati) ซึ่งเป็นรูปแบบของสกุลศิลปะที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำกฤษณา - โคทาวรี (ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย) ในเขตอานธระประเทศ (Andhra Pradesh) ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ราชวงศ์ศาตวาหนะ (Satavahana Dynasty) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 5 - 8 สืบต่อการปกครองมายังราชวงศ์อิกษวากุ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 – 10 ครับ
.
เมื่อเส้นทางการค้าทางทะเลจากเมืองท่าในแคว้นกลิงคะ ที่ปากแม่น้ำคงคา แคว้นอานธระและทมิฬนาดูที่ชายฝั่งเดกข่านฝั่งตะวันออก (Eastern Deccan Plateau) ด้านฝั่งมหาสมุทรอินเดียได้ถูกพัฒนาขึ้น เกิดเป็นเส้นทางค้าทางทะเลด้วยเรือใบ (Dhow ship) ตัดข้ามมหาสมุทรตาม “เส้นทางลมสินค้า” (Mahajanaka Trade Wind) ได้โดยไม่ต้องเลาะตามชายฝั่งอย่างแต่ก่อน เชื่อมโยงเมืองท่าชายฝั่งอินเดียตะวันออกอย่างเมืองท่าอริกาเมฑุ (โปดูเก), กาเวริปัฏฏินัม อมราวดี (Amaraviti) ฆัณฐศาลา (Ghantasala) ภัฏฏิโปรสุ (Pattiposau) เข้ากับเมืองท่าชายฝั่งทะเลคาบสมุทรฝั่งอ่าวเบงกอล อย่าง หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ มะละกา เมืองสะเทิม นครพัน เมาะละแหม่ง ทวาย ตักโกล่า (ตะกั่วป่า - พังงา – ระนอง) ตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช – สุราษฎร์ธานี) เกาะสุมาตราและชวา
.
การค้าข้ามมหาสมุทรได้นำพาเอาผู้คนต่างวัฒนธรรม ต่างฐานันดรวรรณะ ต่างอาชีพ ต่างความเชื่อ ทั้งพ่อค้าวาณิช นักบวช ช่างฝีมือ เกษตรกร ทหาร ผู้แสวงโชคในโลกใหม่ ต่างได้นำเอางานศิลป์ เทคนิควิทยาการ คติความเชื่อทางศาสนาทั้งพุทธและฮินดู หลั่งไหลเข้ามาสู่โลกใหม่ ดินแดนอาณานิคมโพ้นทะเลพร้อมกับการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าไปตามชุมชนสถานีการค้าชายฝั่งทะเล เชื่อมต่อเครือข่ายเส้นทางลึกเข้าไปในภูมิภาค 
.
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 10 “ราชวงศ์คุปตะ” (Gupta Dynasty) ในอินเดียเหนือ ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาปกครองแคว้นอานธระ-อมราวดี ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ อิทธิพลทางศิลปะและคติความเชื่อแบบอินเดียเหนือได้เข้ามาผสมผสานในแคว้นอานธระ/อมราวดี ซึ่งต่อมาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 11 ราชวงศ์จาลุกยะ (Early Chalukya Dynasty) ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่นิยมฮินดูเข้าครอบครองแคว้นอานธระ ชาวพุทธเริ่มถูกบังคับให้เริ่มออกเดินทางอพยพแบบถาวรไปสู่ดินแดนอาณานิคมใหม่ที่สุวรรณภูมิ-ทวีปมากขึ้น ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่เริ่มมีการขนย้ายรูปพระพุทธปฏิมาขนาดไม่ใหญ่นักจากแคว้นอานธระ อันเคยเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาของเดกข่านตะวันออก เข้ามายังคาบสมุทรสุวรรณภูมิเป็นรุ่นแรก ๆ ครับ
.
-------------------------------------------
*** พระพุทธรูปปางประทานพรขนาดเล็ก แกะสลักขึ้นจากหินทราย สูง 14 เซนติเมตร พบจากอำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มีพระพักตร์กลม อุษณีษะ (Ushnisha) เหนือพระเศียรกลมเล็ก ไม่โหนกสูง พระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานพร พระหัตถ์ซ้าย (หักหายไป) กำชายจีวร ครองผ้าจีวรแบบห่มคลุม จีวรบางแนบพระวรกาย ไม่มีรอยริ้วผ้า ยืนตริภังค์ (Tribhaṅga) มีแผ่นหลังเป็นประภามณฑล มีลักษณะพุทธศิลป์ในความหมายของพระพุทธเจ้าสมณโคตม ตามคตินิกายสถวีรวาท (หินยาน) นิกายที่ยึดถือคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า ใช้คัมภีร์ที่เป็นภาษาบาลี เป็นนิกายที่เคร่งครัดที่สุดในด้านวินัย ถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาไม่ใช่เทวดาหรือพระเจ้าแต่อย่างใด เพียงแต่มีคุณสมบัติบางประการเหนือมนุษย์สามัญครับ
.
รูปศิลปะยืนเอียงพระวรกาย 3 ส่วนแบบตริภังค์ การนุ่งผ้าเรียบแบบผ้าอาบน้ำฝน กระหม่อมอุษณีษะกลมไม่โหนกสูง และการแสดงปางประทานพระแบบทิ้งพระกรฝั่งขวาตามแนวพระวรกาย แล้วแบพระหัตถ์หงายออกแบบประทานพร มีหินแผ่นหลัง ล้วนแต่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของรูปพุทธศิลป์แบบราชวงศ์คุปตะ สกุลช่างสารนาถ (Sārnāth)  
.
แต่การปรากฏ รูป "อุณาโลม" (Unalome) ที่กลางพระนลาฏ ซึ่งเป็นความนิยมในงานศิลปะแบบอมราวดี ในแคว้นอานธนะ พระพุทธรูปปางประทานพระนี้ จึงเป็นงานศิลปะคุปตะในแคว้นอานธระ หรืออาจเรียกว่า “ศิลปะยุคหลังอมราวดี” (Post Amaravati) อายุศิลปะในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 11 ซึ่งกลุ่มชาวพุทธคงได้นำติดตัวเดินทางเข้ามายังดินแดนคาบสมุทรมาลายู (Malay Peninsula) เขตประเทศไทยปัจจุบัน ในช่วงที่พุทธศาสนาเริ่มเสื่อมความนิยมลงในเขตที่ราบสูงเดกข่านแล้วครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

ลูกปัดหินกึ่งอัญมณี อู่ทองสุพรรณบุรี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
ลูกปัดหินกึ่งอัญมณี หุงเนื้อดำ-ขีดเส้นสี “ส้ม-ดำ-ขาว” เม็ดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เมื่อราวกว่า 60-70 ปีที่แล้ว มีการขุดหาลูกปัดและวัตถุโบราณในเขตอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี กันอย่างกว้างขวาง เริ่มต้นจากเนินพลับพลาบริเวณหน้าโรงพยาบาล บ้านวังขอน บ้านปลายน้ำ บ้านสะพานดำ บ้านนาลาว สะพานท่าพระยาจักร เนินหลังพิพิธภัณฑ์ วัดช่องลม ขยายตัวไปทั่วอำเภอและต่างอำเภอทั้งในเขตบ้านนาลาว บ้านหนองหลุม บ้านโคกสำโรง บ้านสะพานดำ บ้านดอนสุโข รวมไปถึง สวนแตง ดอนระฆัง ดอนเจดีย์ ขยายต่อออกไปจนไปทั่วจังหวัด 
.
“ลูกปัดหินกึ่งอัญมณี” (Semi-Precious Beads) “ลูกปัดแก้ว” (Glass Beads) และ “ลูกปัดแก้วโมเสก” (Mosaic Glass Beads) จากยุคเหล็กถึงยุคต้นประวัติศาสตร์ช่วงต้นการรับวัฒนธรรมอินเดีย ได้รับความนิยมจากผู้มีอันจะกินทั้งข้าราชการและพ่อค้าหลายหน้าหลายตาจากกรุงเทพ ฯ ด้วยเพราะความเก่าแก่สวยงาม ความเชื่อว่ามีคุณค่าเป็นเครื่องของขลังยอดนิยม นำไปสู่การสะสม จนเกิดเป็นความนิยมในการนำ "ลูกปัดโบราณ" มาออกแบบเป็นเครื่องประดับเข้ากับทองคำรูปพรรณ บ่งบอกถึงความชอบ รสนิยมส่วนตัวของแต่ละบุคคล ความสวยงามและเสน่ห์แห่งสีสันได้ดึงดูดใจให้ผู้คนเกิดความผูกพันอย่างลึกซึ้ง จนทำให้เกิดกระแสความต้องการ "ลูกกำปัด” แบรนด์เนมจากเมืองโบราณอู่ทองอย่างกว้างขวางครับ
.
คุณพิสิทธิ์ ลีรัตนนุรัตน์ (พลอย อู่ทอง) เล่าให้ฟังว่า “...ในช่วงปี พ.ศ. 2510 ได้เริ่มเกิดความนิยมลูกกำปัดโบราณขึ้นที่อู่ทอง เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยผู้คนในท้องถิ่นเริ่มให้ความสนใจลูกกำปัด หลายคนเริ่มเก็บลูกกำปัดที่หาได้ง่ายตามผิวดิน นำมาร้อยขายเป็นสายสร้อยให้กับแขกผู้มาเยือนและนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพ ฯ นอกเหนือจากลูกกำปัดโบราณแล้ว ยังมีเครื่องทองอย่างแหวนทอง จี้ทอง กำไลสำริด กำไลทองและกำไลหิน ก็เป็นเครื่องประดับที่สามารถนำมาขายเป็นเงินตราในตลาดอู่ทองได้ 
.
...ลูกกำปัดกลายเป็นที่สนใจและอยากได้กันไว้ เพราะเป็นของที่ระลึกถึงการมาเที่ยวเยือนเมืองอู่ทอง เป็นของสวยงาม หลากหลายสีสัน มีอายุเก่าแก่ แต่ก็มีราคาค่างวดมากขึ้นกว่าเรื่อย ๆ เด็ก ๆ และชาวบ้านในท้องถิ่นรอบ ๆ ตัวเมืองอู่ทองจึงเริ่มไปเสาะหา เก็บลูกกำปัดและเครื่องประดับโบราณตามเนินดินที่เคยพบในอดีตอย่างตั้งใจ ลูกกำปัดที่เคยพบเห็นบนผิวดินจึงหาได้ยากขึ้น
.
...ความต้องการในสินค้าที่ระลึกอันทรงคุณค่าจากเมืองโบราณอู่ทองที่มีมากขึ้น ได้กระตุ้นให้เกิดการค้นหาอย่างไม่มีขอบเขต จนกระทั่งราวปี พ.ศ. 2515 - 2520 ความสนใจลูกกำปัดในเชิงการค้าพาณิชย์จึงได้เริ่มต้นขึ้น จากการที่มีพ่อค้าในตลาดขายลูกกำปัดไปให้พ่อค้าต่างถิ่น จนนำพาให้พ่อค้า นักสะสมลูกกำปัดรวมทั้งวัตถุโบราณเดินทางเข้ามาหาซื้อลูกกำปัดกันถึงในเมืองอู่ทองมากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นของการขุดหาลูกกำปัดตามเนินดินในเขตพื้นที่อำเภออู่ทองเป็นช่วงแรก ๆ ทั้งที่บ้านวังขอน บ้านปลายน้ำ บ้านสะพานดำ บ้านนาลาว สะพานท่าพระยาจักร หน้าโรงพยาบาล เนินหลังพิพิธภัณฑ์ วัดช่องลม.....” 
.
*** ซึ่งก็ติดตามมาด้วยหายนะทางโบราณวิทยา เมื่อเกิดความต้องการสูง แหล่งฝังศพโบราณใกล้เคียงจึงได้ถูกไล่ขุดทำลาย เพื่อหาลูกปัดโบราณมาป้อนอุปสงค์ที่มีมากขึ้น 
.
----------------------------------
*** ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2522 – 2523 ลูกปัดพิเศษขนาดใหญ่ชิ้นหนึ่งถูกขุดได้จากแหล่งฝังศพโบราณที่บ้านโคกสำโรง อำเภออู่ทอง เป็นลูกปัดที่มีลักษณะพิเศษ ทั้งมีขนาดใหญ่และอาจมีคุณค่ามากที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้ 
.
ลูกปัดเม็ดนี้มีความยาว 15 เซนติเมตร รูปทรงบูมเบอแรง เป็นลูกปัดพิเศษที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานเทคนิคการเขียนเส้นสีขาวและการปรับเปลี่ยนสีหิน (หุงน้ำตาล) ไปพร้อม ๆ กัน ที่นิยมกันในช่วง 2,500 – 2,300 ปี จากหุบเขาสาโมน (Samon Valley) วัฒนธรรมพยู (Pyu) ในลุ่มน้ำอิรวดี
ในเทคนิคการผลิต ได้มีการเปลี่ยนแปลงสีของเนื้อหินกึ่งรัตนชาติประเภทคาลซีโดนี (Chalcedony) อย่าง “คาร์เนเลี่ยน” (Carnelian) เป็นหินที่มีแร่เฮมาไทต์ (เหล็ก) ผสมอยู่ในเนื้อ มาหุงสีด้วยความร้อนเสถียรให้ออกมาเป็นสีส้มสด 
.
จากนั้นก็ใช้วิธีการแปลงเนื้อหินบางส่วนให้เป็นสีดำด้วยกรดคาร์บอนิค (น้ำตาล) และความร้อนที่มีความสม่ำเสมอ ซึ่งในขั้นตอนนี้ทำพร้อมกับการขีดเส้นสี แบบเดียวกับการทำลูกปัดเอซบีด (Etched Beads) โดยการใช้กรดโซดาขีดเป็นลายเส้นไปบนลูกปัดอาเกต พร้อม ๆ กับการใช้กรดน้ำตาลเพื่อทำสีดำ ตัวกรดโซดาจะซึมลงเฉพาะผิวหน้าของลูกปัด เมื่อผ่านกระบวนการหุงสีด้วยความร้อน จะปรากฏสนิมหินสีขาวและเนื้อสีดำ (ที่เปลี่ยนมาจากเนื้อสีส้ม) คล้าย ๆ กับการทำลวดลายผ้าบาติกในปัจจุบัน กรรมวิธีนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในเขตวัฒนธรรมพยู ในช่วงประมาณ 2,000 – 2,500 ปีที่แล้ว 
.
ลูกปัดส้มดำขีดเส้นขาวนี้ เรียกกันในภาษาจีน/ทิเบตว่า “จุงซี” (Chung dZi) จัดเป็นลูกปัดโบราณที่หาพบได้ยาก จึงเชื่อว่ามีคุณค่ามากที่สุดในบรรดาลูกปัดโบราณที่พบในประเทศไทย ซึ่งในความเชื่อลูกปัดส้มดำขีดเส้นสีขาว ถือเป็นลูกปัดแห่งอำนาจและวิญญาณ เป็นลูกปัดศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในเขตอินเดียเหนือ ทั้งยังเป็นตัวแทนแสดงสถานะอันสูงส่งทางสังคมและอำนาจวาสนาของผู้ครอบครอง เสริมสร้างบารมี อำนวยโชคลาภและความร่ำรวย มีพลังควบคุมอำนาจเหนือธรรมชาติรอบตัวครับ  
ซึ่งในเวลาต่อมา ลูกปัดส้มดำขีดขาวรวมทั้งลูกปัดลายขีดเส้นสีขาวแบบโซดากัดผิวได้กระจายตัวเข้าสู่ทิเบต เนปาล วัฒนธรรมหิมาลัย กลายมาเป็นลูกปัดที่ทรงคุณค่าในโลกแห่งอำนาจเหนือธรรมชาติที่เราเรียกว่า ซีบีด (dZi Beads) รวมทั้งการเกิดขึ้นของลูกปัด "เพียวซี" (Pure dZi) ซึ่งนั่นก็คือ "ลูกปัดมนตร์ตา (Magical Eye Beads)" อีกประเภทหนึ่งที่มีสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม มีเส้นขีดขาวเป็นจังหวะลวดลายเฉพาะ มีวงกลมเป็นความหมาย "ตา" ตั้งแต่ 1 – 12 ตา ลูกปัดซีบีดแบบนี้ เป็นที่รู้จักกันดีของผู้ที่นิยมและชื่นชอบลูกปัดโบราณและลูกปัดตระกูลทิเบต/เนปาลมาจนถึงในปัจจุบัน
.
*** ปัจจุบันลูกปัดอันทรงคุณค่าจากอดีตเม็ดนี้ ยังอยู่ที่เมืองโบราณอู่ทอง โดยมีคุณแม่มุ่ยเซี้ยม ลีรัตนนุรัตน์ และคุณพิสิทธิ์ ลีรัตนนุรัตน์ (พลอย อู่ทอง) เป็นเจ้าของครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy 

วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564

หลวงพ่อศิลา ทุ่งเสลี่ยม

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“หลวงพ่อศิลา” พระพุทธปฏิมากรศักดิ์สิทธิ์แห่งทุ่งเสลี่ยม   

“หลวงพ่อศิลา” เป็นพระพุทธรูปนาคปรกในงานศิลปะแบบเขมรโบราณยุคหลังบายน (Post-Bayon Period) ผสมคติกัมโพชสงฆ์ปักขะ-เถรวาทแบบรัฐสุโขทัย ประมาณช่วงต้นของกลางพุทธศตวรรษที่ 19 มีความสูงประมาณ 86 เซนติเมตร พระเพลากว้าง 44 เซนติเมตร  ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดทุ่งเสลี่ยม บ้านศรีเสลี่ยม เทศบาลตำบลทุ่งเสลี่ยม อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย
.
หลวงพ่อศิลาเป็นพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่องกษัตริย์ทับบนจีวรแบบห่มคลุม ทรงกรองศอพาหุรัด สวมศิราภรณ์ทรงเทริด รัดเกล้าเป็นกรวยมงกุฎ นั่งขัดสมาธิราบแสดง “ธยานมุทรา” (Dhyāna Mudra) หรือปางสมาธิ (ในคติเถรวาท) ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของ “พระอาทิพุทธะ-พระวัชรสัตว์–พระมหาไวโรจนะ” (Ādi- Mahāvairocana –Vajrasattva Buddha) พระพุทธเจ้าในพุทะภาวะระดับสูงสุดที่เรียกว่า “ธรรมกาย” (Dharma-kāya) ในคติ “ตรีกาย” (Tri-kāya) ของฝ่ายมหายานครับ
แต่กระนั้น การนุ่มจีวรแบบห่มคลุมทิ้งชายผ้าคลุมพระกรไหลลงมาที่พระเพลาทั้งสองข้าง ก็อาจได้แสดงความเป็น “พระศากยมุนี” (Shakyamuni) พระพุทธเจ้าในกายมนุษย์ ในพุทธภาวะ “นิรมาณกาย” (Nirmāṇakāya) ของพระอาทิพุทธะ-มหาไวโรจนะ-วัชรสัตว์ ซึ่งก็คือ พระพุทธเจ้าสมณโคตม (Samaná Gautama) ของฝ่ายเถรวาทนั่นเอง
 .
ถึงจะมีพุทธศิลป์นาคปรกอันโดดเด่น ทั้งบัลลังก์ขนดนาค 3 ชั้นที่ขยายขนดจากเล็กขึ้นมาใหญ่ตามขนบศิลปะแบบเขมรโบราณ พญานาค 7 เศียร แผ่พังพานด้านหลังองค์พระแบบใบโพธิ์ใหญ่ยอดแหลม เริ่มแผ่ตัวจากส่วนต้นแขนขึ้นไปเหนือพระเศียร เศียรนาคไม่มีรัศมีหรือกระบังหน้า (เทริด) ประกอบ เศียรนาคตรงกลางเงยหน้าเชิดตรง เศียรนาคด้านข้างทั้งหกเศียรจงเชิดคาง เอียงหน้าลู่ไปตามแนวแผ่พังพานข้างมองขึ้นไปยังเศียรกลาง ปรากฏลายดอกจัน (งู) ทั้งด้านหลังหลังก็ตาม แต่กระนั้นลวดศิลปะของนาคปรก เครื่องประดับและเค้าพระพักตร์ก็ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นแบบรัฐสุโขทัยพื้นถิ่นแล้วครับ
.
*** ลายผ้าทิพย์บัว 8 กลีบ ของหลวงพ่อศิลา ปรากฏในงานศิลปะที่พบจากพระพุทธรูปนาคปรกจากปราสาทเขาตีคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นงานศิลปะนิยมแบบเขมรโบราณตั้งแต่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 มาแล้ว  
.
คติความเชื่อเรื่องพระพุทธเจ้าตรีกายของฝ่ายมหายาน-วัชรยานตันตระ ปรากฏความนิยมในช่วงที่รัฐสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ยังคงอยู่ร่วมในอิทธิพลของอาณาจักรเขมรถึงยุคจักรวรรดิบายน ตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 และยังคงสืบเนื่องมาจนถึงช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครองของราชสำนัก จากกลุ่มลูกครึ่งชาวเขมร-ละโว้มาเป็นกลุ่มชาวไทเลือง-ไทลาว และความนิยมในพุทธศาสนาแบบเถรวาท-รามัญนิกายเข้ามาแทนที่ครับ   
.
*** หลวงพ่อศิลา จึงเป็นงานพุทธศิลป์ พระพุทธปฏิมากรในช่วงยุคสมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ศรีอินทรบดินทราทิตย์-พ่อขุนบางกลางหาว-ศรีสูริยพงศรามราช) มาจนถึงยุคพ่อขุนรามคำแหง (พระบาทกมรเตงอัญศรีรามราช -จารึกป่ามะม่วง ภาษาเขมร) 
.
---------------------------
*** อาจด้วยเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและคติความเชื่อของราชสำนักสุโขทัยที่มาจากสงครามแย่งชิงอำนาจ พระพุทธรูปนาคปรกและรูปประติมากรรมแบบเขมรเดิมถูกทุบทำลาย จึงได้มีการเคลื่อนย้ายพระพุทธรุปนาคปรกองค์สำคัญของราชสำนักไปเก็บซ่อนไว้ที่ “ถ้ำเจ้าราม” เทือกเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองโบราณสุโขทัย (ปัจจุบันคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม) ปรากฏความใน “เที่ยวเมืองพระร่วง” พระนิพนธ์ในสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ ที่ทรงออกตามหาหินจารึกตามคำบอกเล่าไปถึงถ้ำว่า 
.
“...บริเวณปากถ้ำมีพระพุทธรูปยืนสูงประมาณ 3 ศอก ชาวบ้านจะเรียกว่า “รูปพระราม” ที่จริงเป็นพระพุทธรูปที่ยังคงมีชายจีวรและดอกจีวรให้เห็นอยู่ ใกล้เคียงกันมีเศษอิฐกระจัดกระจาย...ในถ้ำมีพวกลาวเข้ามาทำดินประสิว ขุดเอามูลค้างคาวจนเป็นหลุมเป็นบ่อไปทั่ว .... หินที่พบแตกอยู่นั้นเป็นศิลาจารึกแน่ เพราะเป็นชนิดหินที่แตกต่างไปจากหินภูเขานั้น ผิวหินยังมีรอยขัดเรียบและปลายมนตามแบบจารึก แต่ก็ไม่พบตัวอักษรจารึกไว้แต่อย่างใด...ภายในถ้ำมืดสนิท ทั้งยังมีมูลค้างคาวมาก จึงเข้าไปได้ยากลำบาก...”  
.
ซึ่งต่อมาได้มีชาวบ้านได้เข้าไปหาขี้ค้างคาวมากขึ้น จนได้ไปพบกับพระพุทธรูปนาคปรกในส่วนลึกสุดของถ้ำ ในปี พ.ศ. 2472 เจ้าอาวาสและชาวบ้านทุ่งเสลี่ยมที่อยู่ใกล้เคียงกับถ้ำเจ้าราม จึงได้ขนย้ายอัญเชิญพระพุทธรูปนาคปรกจากถ้ำลงมาประดิษฐานไว้ที่วัดทุ่งเสลี่ยม ถวายพระนามว่า "หลวงพ่อศิลา" ครับ
.
*** ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2520 ได้มีการโจรกรรมหลวงพ่อศิลาออกไปจากวัดทุ่งเสลี่ยม จนอีก 17 ปี จึงได้มีผู้ติดตามจนพบว่า หลวงพ่อศิลานั้นได้ไปประทับอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เอกชนแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านการประมูลขายจาก “สถาบันซัทเทบีส์” (Sotheby's Institute) ในกรุงลอนดอน ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างได้ร่วมกันติดตามทวงคืนผ่านกระบวนทางกฎหมายและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ จนสามารถเจรจากับผู้ครอบครองอย่างมีเงื่อนไข จึงได้มีการระดมเงินทุนเพื่อจ่ายเป็นค่าชดเชยไถ่ถอนองค์หลวงพ่อศิลากลับคืนมาได้เป็นผลสำเร็จ
.
*** 19 ธันวาคม พ.ศ. 2539 หลวงพ่อศิลาจึงได้ถูกอัญเชิญกลับคืนมายังประเทศไทย และนำกลับไปประดิษฐานที่วัดทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัยอีกครั้งครับ 
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564

พระสถูปเจดีย์ทุ่งเศรษฐี เพชรบุรี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“สถูปเจติยะทุ่งเศรษฐี” ทวารวดีสุดแดนใต้ ที่เมืองเพชรบุรี
สถูปเจติยะหรือ “พระเจดีย์แห่งทุ่งเศรษฐี” ตั้งอยู่ที่บ้านโคกเศรษฐี หมู่ 6 ตำบลนายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี บริเวณกลุ่มภูเขาโดดที่ใกล้กับแนวชายฝั่งทะเลเรียกว่า “เขานางพันธุรัตน์” ที่ประกอบด้วยเขานายาง เขานาขวาง เขานกยูง เขาพระราม เขาตาจีน เขาตอน้ำ เขาตกน้ำ เขามันหมู เขาถ้ำโหว่ โดยตัวสถูปเจติยะตั้งอยู่ด้านหน้า หันหน้าไปทางทางทะเล ทิศตะวันออกของหน้าเขาจอมปราสาทที่เชื่อมต่อเป็นเทือกเดียวกับเขาเจ้าลายใหญ่ ที่เป็นแนวเขาขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม  
.
เจดีย์ทุ่งเศรษฐีก่อด้วยอิฐสอดิน (ผสมยางไม้ตามสูตรโบราณ) ฉาบปูนขาวตำจากหอยทะเล ประดับลวดลาย แต่ด้วยเพราะอากาศที่มีความเค็ม ลวดลายปูนปั้นโบราณจึงสึกกร่อน ไม่คงทนแบบเจดีย์ในยุคสมัยเดียวกันจากที่อื่น ๆ ครับ   
.
ส่วนฐานล่างมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดความกว้างยาวประมาณ 25*25 เมตร เป็นฐานประทักษิณที่มีผนังคั่นด้วยเสาอิงแบ่งเป็นช่อง ๆ มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออกและตะวันตก รองรับเรือนธาตุเจดีย์ที่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ 18 * 18 เมตร มีชุดฐานแบบ “เวทีพันธะ – อธิษฺฐานะ” (Vedībandha - Adhiṣṭhaāna)  ยกเก็จที่บริเวณกึ่งกลางของผนังแต่ละด้านและมุมทั้ง 4 เกิดเป็นกระเปาะขึ้น 8 มุขโดยรอบ โดยชั้นล่างสุดเป็นฐานชคตีผังสี่เหลี่ยม ฐานอุปานะ (เขียง) ซ้อนกันสองชั้นรองรับฐาน“บัววลัย” (Bua Valai)  “กุมุท” (Kumuda) หรือ “บัวลูกแก้ว” ซึ่งเป็นเส้นลวดทรงโค้งขนาดใหญ่จากอิทธิพลของสถาปัตยกรรมในอินเดียใต้ (ในอินเดียเหนือเรียก “กลศ” (kalasa) แต่จะเป็นทรงหม้อน้ำคอดที่ส่วนล่าง) มีร่องรอยการเขียนลวดลายพรรณพฤกษาประดับด้วยสีแดง  
.
ถัดขึ้นไปเป็นชั้น “กัมภะ” (Kampa) ก่อเป็นผนังเรียบทั้งบนและล่าง ตรงกลางยุบเข้าไปเป็นท้องไม้ที่เรียกว่า “กัณฑะ” (Kaṇṭha)  ก่ออิฐยื่นสลับกันบริเวณที่อิฐนูนขึ้นมาฉาบปูนเป็นรูปสี่เหลี่ยมปาดมุม ทำให้เกิดช่องว่างสลับกับปุ่มนูนโดยรอบแบบขื่อปลอม ตกแต่งปูนปั้นเป็นรูปพรรณพฤกษาครับ  
.
เหนือขึ้นไปเป็นฐานอุปานะรองรับผนังเรือนขนาดใหญ่ เรียกว่า “กาชา” (Gaḷa) หรือ “ปาฏะพันธะ” (Pādabandha) ผนังคั่นด้วยเสาอิง-เสาติดผนังแบ่งเป็นช่องๆ ช่องละประมาณ 80 เซนติเมตร เพื่อประดับประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระ เหนือขึ้นไปเป็นลวดเรียบสี่เหลี่ยมรองรับผนังก่ออิฐมีเสาประดับผนังตกแต่งคล้ายส่วนแรก แต่มีขนาดความกว้างและความสูงมากกว่า ถัดจากผนังส่วนนี้ขึ้นไปเป็นส่วนบนขององค์เจดีย์ซึ่งมีสภาพชำรุดพังทลายลงมาเกือบหมด 
.
จากหลักฐานชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมที่พบ สันนิษฐานได้ว่ารูปทรงสัณฐานขององค์เจดีย์ทุ่งเศรษฐีส่วนบนน่าจะเป็นทรงกลมมีเจดีย์บริวารทรงกลมขนาดเล็กที่มุมทั้งสี่ บริเวณส่วนยอดเป็นปล้องไฉนประดับด้วยอมลกะ ดังลักษณะของสถูปเจดีย์จำลองและยอดสถูปที่พบจากเมืองโบราณนครปฐมและเมืองโบราณคูบัวครับ
.
*** ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2520 ได้มีการลักลอบขุดลงไปตรงแกนกลางเจดีย์เป็นหลุมขนาดใหญ่ คาดว่าน่าจะได้พระบรมสารีริกธาตุ วัตถุโบราณมีค่าและพระเครื่องดินเผาไปจนหมดแล้ว หลังจากนั้นก็ยังมีการลักลอบขุดหาสมบัติอยู่เสมอ จนแทบไม่เหลือโบราณวัตถุที่มีค่า มีสำนักสงฆ์ไปตั้งอยู่ใกล้ ๆ เมื่อปี พ.ศ. 2535 ซึ่งยังคงพบเห็นปูนปั้นรูปบุคคล (พระโพธิสัตว์ รูปสัตว์มงคล) และรูปอื่น ๆ ที่ถูกทุบหาสมบัติ นำมากองทิ้งอยู่เกลื่อนกลาด ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2541 กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นและบูรณะ 
.
--------------------------------------
*** รูปแบบทางสถาปัตยกรรม คติความเชื่อและศิลปะของพระเจดีย์แห่งทุ่งเศรษฐี มีรูปแบบร่วมสมัยกับเจดีย์ในกลุ่มเมืองโบราณคูบัว ในกลุ่มคติเถรวาท (Theravāda)  ทั้งฝ่าย “คณะมหาวิหาร-สายตรงของนิกายสถวีรวาทินเดิม” (Maha-vihāra) และ“คณะอภัยคีรีวิหาร-รับอิทธิพลมหายาน”(Abhayagiri-vihāra) ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอนุราธปุระ (Anuradhapura) ในลังกา ที่สัมพันธ์กับพุทธศาสนาในแคว้นอานธระช่วงต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 13 ครับ 
.
*** เมื่อพิจารณาสภาพภูมิศาสตร์โบราณ สถูปเจติยะทุ่งเศรษฐีถือเป็นเจดีย์แบบวัฒนธรรมทวารวดี (เถรวาท-มหายานแบบลังกา) ที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้สุดในเครือข่ายเดียวกับเมืองโบราณคูบัว บริเวณที่ราบชายฝั่งเพชรบุรี  (แนวสันทรายเก่า) ตรงส่วนแคบที่สุดของที่ราบลุ่มเพชรบุรี ที่มีชุมชนโบราณกระจัดกระจายอยู่ร่วมในเขตที่ราบลุ่ม โดยมีเทือกเขาเป็นแนวยาวจากเทือกเขางู เฉียงลงมายังเขาเต่าที่เป็นแนวเขาลาดลงไปติดกับชายฝั่งทะเล แบ่งที่ราบลุ่มที่สามารถเพาะปลูกและตั้งถิ่นฐานกับเขตที่สูงที่เป็นเขตป่าโปร่ง ไม่สามารถเพาะปลูกได้ออกจากกันในอดีต
.
คงด้วยเพราะบริเวณที่ตั้งของสถูปเจติยะทุ่งเศรษฐี ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าและการเดินทางเลาะชายฝั่งและการเดินทางบกข้ามแนวที่ราบสูงขึ้นมาจากภาคใต้ ลงมาพบกับที่ราบลุ่มเพชรบุรีเป็นจุดแรก อีกทั้งยังภูเขาโดดอย่างเขาเจ้าลายใหญ่และเขาจอมปราสาทเป็นจุดสังเกตทางภูมิศาสตร์ (View Point) ใกล้เส้นทางเดินเรือเลาะชายฝั่ง จึงเหมาะสมกับการตั้งชุมชนสำหรับการแวะพักแรม ซึ่งต่อมาคงได้กลายมาเป็นชุมชนขนาดใหญ่หรือสถานีการค้าในยุควัฒนธรรมทวารวดี ระหว่างเส้นทาขึ้นไปยังเมืองโบราณคูบัว
.
*** ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 จึงได้เกิดการสร้างพระสถูปใหญ่ขึ้นในชุมชนโบราณที่ทุ่งเศรษฐีนี้ไงครับ 
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564

นันพญาวิหาร

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“นันพญาวิหาร” ความงดงามในยุคเริ่มแรกของงานศิลปะพุกาม
เจติยวิหาร “นันพญา – นันปะยา” (Nan Hpaya) ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านมยินกบา (Myinkaba) ห่างไปประมาณ 100 เมตร  ทางใต้ของ “วิหารมนูหะ” (Manuha) ซึ่งคำว่า “นัน” ในภาษาพม่านั้นจะหมายความถึง ตำหนักที่ประทับ และ “ปยา” หมายถึง “พญา” ซึ่งก็คงหมายความถึง ที่ประทับแห่งพระพุทธองค์นั่นเอง
.
เล่ากันว่า วิหารนันพญานี้สร้างขึ้นในยุคพระเจ้าอนิรุทร์ หรือ “พระเจ้าอโนรธามังช่อ” (Anawrahta Minsaw) กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์แรกแห่งอาณาจักรพม่า-พุกาม (ตะริมันตระปุระ)  แต่เมื่อได้มาพิจารณารูปแบบทางสถาปัตยกรรม ลวดลายประดับและคติในประติมานวิทยาอย่างละเอียดแล้ว วิหารนันพญานี้ควรสร้างขึ้นในยุคสมัยที่มีความนิยมในศิลปะและคติความเชื่อจากอิทธิพลอินเดียในยุคของ “พระเจ้าจานซิตตา – สิทธะ” (Kyanzittha) หรือ “พระเจ้าศรีตรีภูวนาทิตยธัมมมราชา” (Śrī Tribhuvanāditya Dhammarāja) ในภาษาสันสกฤต ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ครับ
.
คงด้วยเพราะศิลปะของเรือนยอดทรงศิขรที่มีการยกเก็จประดับซุ้มกุฑุ  ลวดลายพรรณพฤกษาแบบก้านขดห่อรูปหงส์ หน้าเกียรติมุขคายม่านมาลัยอุบะ สลับกับเฟื่องอุบะที่ดูคุ้นเคยในงานศิลปะแบบอินเดีย ประกอบกับหลายหลักฐานที่แสดงว่าพระองค์เองนั้นมีเชื้อสายอินเดียและพยู อีกทั้งในรัชกาลของพระองค์ยังได้ส่งคณะทูตและช่างฝีมือเดินทางไปซ่อมแซมวัดที่พุทธคยา ถวายกัลปนาที่ดินและข้าทาส ขุดบ่อน้ำและทำนุบำรุงวัดในอินเดียหลายแห่ง 
.
ในยุคของพระองค์ ยังมีพระภิกษุมหายานจากอินเดียได้พากันหลบหนีการทำลายพุทธศาสนาโดยพวกอิสลาม  เข้ามายังอาณาจักรพุกามเป็นจำนวนมากอีกด้วยครับ  
.
*** นันทพญาวิหารนับว่าเป็น “ต้นแบบสำคัญ” ของงานศิลปะและคติความเชื่อทางศาสนาแบบอินเดีย/มอญ ที่ส่งต่อมายังงานศิลปะพุกามในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ไปสู่งานศิลปะของพม่า-พุกามในเวลาต่อมา 
.
ตัวอาคารวิหารก่อสร้างด้วยอิฐเป็นแกนใน ผิวนอกทั้งหมดบุด้วยหินทรายที่ขัดฝนเป็นก้อนขนาดเล็กจัดก่อเรียงแบบอิฐ และแกะสลักตามแบบงานช่างอินเดีย (ไม่นิยมในงานศิลปะมอญ) โดยตัวอาคารประธานทำเป็นอาคารผังสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่เรียกว่าคู (Gu)  ภายในเป็นคูหาเรียกว่า “ครรภคฤหะ” โดยต่อมุขหน้าเป็นอาคารอีกหลังเพียงด้านเดียว ลดความสูงให้ต่ำกว่าอาคารคูหาประธาน เรียกว่าอาคารมณฑปครับ 
.
ภายในตัวห้องคูหาครรภคฤหะมีสองชั้น ชั้นในสุดก่อผนังใหญ่หนารองรับเรือนยอดทรงศิขรด้านบน แต่ใช้เทคนิคการถ่ายน้ำหนักลงมาที่เสาทั้ง 4 ต้น ที่เกิดจากการเจาะกลางผนัง แล้วทำเป็นซุ้มประตูโค้ง กลางห้องคูหาด้านในทำเป็นฐานเพื่อวางรูปประติมากรรมประธาน (ไม่เหลือให้เห็นแล้ว) ผนังด้านนอกเจาะเป็นช่องแสงหน้าต่าง เจาะผนังเป็นช่องรูเล็ก ๆ รูปข้าวหลามตัด สลับกับลายผ้าม่าน เพื่อป้องกันการปีนเข้าสู่ภายในของมนุษย์และสัตว์ และเพื่อให้แสงสว่างและอากาศถ่ายเทเข้าไปได้อย่างพอเหมาะ
.
เสาใหญ่ 4 ต้นภายในคูหา ถูกแกะสลักด้วยความประณีตละเอียดลออ ทำเป็นภาพนูนต่ำของ “พระพรหม” 8 องค์ เฉพาะส่วนมุมด้านในที่หันเข้าสู่ฐานรูปประธานกลางคูหา ส่วนด้านนอก สลักลวดลายเป็นภาพนูนต่ำ ทั้งคิ้วบัวรูปเฟื่องอุบะห้อย พวงอุบะประดับอัญมณีห้อย หน้าเกียรติมุขคายอุบะมาลัย ถัดขึ้นไปยังแกะสลักเป็นชุดฐานบัวรองรับเสาที่มีลวดลายต่อขึ้นไปจนถึงยอดด้านบนครับ
.
ภาพสลักพระพรหมที่เสาใหญ่ภายในทั้ง 8 องค์ มี 4 พระพักตร์ สองพระกร ประทับบนดอกบัวในท่ามหาราชะลีลาสนะ (Mahārājalīlāsana) ทั้งสองพระหัตถ์ของพระพรหมไม่ได้แสดงการ “ถือ” ดอกบัว ตามแบบการถือของมงคลในคติเทพเจ้าฮินดู หรือ พระโพธิสัตว์แบบมหายาน-วัชรยาน แต่กลับเป็นเพียงการ “ประคอง” ดอกบัวผุดขึ้นจากกอบัวที่ต่อสายขึ้นมาจากด้านล่าง เช่นเดียวกับดอกบัวบานที่ประทับของพระองค์เอง รูปเทพเจ้านี้จึงไม่ใช่พระพรหมตามแบบคติและงานศิลปะฮินดู หรือพระโพธิสัตว์ในคติแบบมหายาน แต่เป็นพระพรหมในความหมายของ “ความบริสุทธิ์-สูงสุด” ผสมผสานกับการจัดวางรูปพระพรหมไว้ตามมุมต่าง ๆของเสา ในความหมายของการประจำทิศมงคลทั้ง 8 หรือใน บัว 8 กลีบ สัญลักษณ์มงคลอันบริสุทธิ์ ที่อยู่สูงสุดของสวรรค์เขาพระสุเมรุ ในคติพุทธศาสนา(ผสมฮินดู) เถรวาทแบบอินเดียปาละ (ไม่ใช่คติจากมอญและลังกา) 
.
*** ความหมายของลวดลายภายในคูหา จึงแสดงถึงความบริสุทธิ์และความเจริญงอกงามอันเป็นสูงสุด ของฝ่ายพระพุทธศาสนานั่นเองครับ 
.
*** รูปประธานกลางสุดของคูหาที่ไม่มีอยู่แล้ว ก็อาจเป็นบุษบกมีรูปพระพุทธเจ้าประทับยืน 4 ด้านที่สลักโดยหินทรายครอบโลหะ (ทองคำ ?) ที่ได้กลายมาเป็นต้นแบบของรูปพระพุทธเจ้า 4 ทิศ รูปเคารพสำคัญในแกนกลางของเจติยะวิหารขนาดใหญ่ในงานศิลปะ-สถาปัตยกรรมพุกาม ในช่วงเวลาต่อมานั่นเอง
.
ส่วนของผนังด้านใน ยังคงปรากฏปูนฉาบและร่องรอยการเขียนสี รูปพระโมคลาพระสารีบุตร บริเวณห้องมณฑป ตรงบริเวณผนังข้างประตูที่ติดกับตัวคูหาประธาน ส่วนเพดานและผนังปรากฏรูปลายดอกไม้พรรณพฤกษา ภาพบุคคล และรูปอดีตพระพุทธเจ้าให้เห็นเป็นเค้ารางอยู่บ้างครับ 
.
-------------------------------------
*** ส่วนด้านนอกนั้น ประดับผนังด้วยหินทรายที่ก่อแบบการเรียงอิฐ โดยมีการประดับช่องหน้าต่างที่เว้นไว้ด้วยซุ้มหน้าบันแบบเตี้ย ๆ กรอบบนทำเป็นเส้นวงโค้งหลายวงแบบคลื่นน้ำ ด้านบนของเส้นกรอบทำเป็นพวยเปลวปลายแหลมรูปพรรณพฤกษา หรือที่เรียกว่า “ซุ้มเคล็ก” (Clec) ปลายทำเป็นรูปตัวมกรหันหน้าออก เหนือรูปมกรเป็นรูปบุคคลที่อาจหมายถึง “เทพผู้อวยพรประทานโชค” ประทับนั่งบนฐาน ยอดของซุ้มทำเป็นซุ้มเล็กยอดแหลมมีรูปของ “พระศรี – ลักษมี” ภายในวงโค้งของหน้าบันวางรูปหม้อปูรณฑฏะ เสาของซุ้มทำเป็นลายพรรณพฤกษาสามเหลี่ยมคว่ำ ประดับข้างด้วยลายลูกปัดอัญมณี
.
*** ซึ่งรูปศิลปะทั้งหมดก็คือสัญลักษณ์ ที่มีความหมายสื่อถึงความมีคุณค่าอเนกอนันต์ ความอุดมสมบูรณ์และความเจริญงอกงามนั่นเอง  
.
ส่วนของผนังเรือนเป็นผนังเรียบ คิ้วบนทำเป็นลายเฟื่องอุบะสลับมาลัย ด้านล่างเป็นกรุยเชิงแบบเส้นลวดพาดเป็นแถบรูปใบไม้ม้วน (ก้านขด – ใบขด) ห่อลายตัวหงส์ไว้ด้านใน มุมผนังทำเป็นเสาอิง แกะลาย “กาบ” บนเป็นหน้ากาลคายอุบะมาลัยลงมาเป็นม่านสามเหลี่ยมคว่ำ ด้านล่างทำเป็นลายกาบเชิงสามเหลี่ยมรูปเกียรติมุขคายมาลัย เหนือกำแพงผนังอาคารทำเป็นชุดชั้นบัวเหนือผนัง เหนือสุดของชั้นบัวบนเป็นใบบังหรือรูปศิลปะกลีบบัวสลับกับรางระบายน้ำ (หินทราย) ครับ
.
หลังคาบนทำเป็นชั้นบัวมีกลีบบัวเรียงเป็นใบบังขึ้นไป 3 ชั้น มีสถูปิกะประดับอยู่ตรงมุมทุกชั้น บนสุดเหนือห้องคูหาเป็นเรือนธาตุทรงศิขรสอบโค้ง ยกเก็จประดับซุ้มกุฑุ มีซุ้มประตูหลอกทั้ง 4 ทิศ ตามแบบศิลปะพุทธคยาในอินเดีย   
.
-----------------------------
*** หากได้มีโอกาสมาเที่ยวพุกาม ก็ไม่ควรพลาดชมวิหารนันพญาหรือ “วิหารพระพรหมบดี 8 ทิศ” (ตั้งชื่อเองนะครับ) เพื่อชมงานศิลปะต้นแบบศิลปะพุกาม ทั้งศิลปะแกะสลักหินทราย อิฐและปูนปั้นอันละเอียดอ่อน  
.
.
*** แต่ช่วง 4 – 5 ปี ต่อไปนี้ คงยังหมดโอกาส เพราะพม่าในวันนี้ ไม่ได้เหมือนเดิมอีกแล้วครับ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

มะม่วงงามเมืองย่า

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด 
เกษตรกรต้นแบบ เกษตรกรเส้นทางรวย
 เกษตรกรต้นแบบ
กูรู 4 ภาค เกษตรกรเส้นทางรวย เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด
"มะม่วงงามเมืองย่า ทำ 1 ไร่ ได้ 1 ล้าน"
คุณกิตติกร กีรติเรขา
 12 มกราคม 2560 จ.นครราชสีมา
ถ้าท้อถอยกับอุปสรรคที่เข้ามาทดสอบในชีวิต เราจะเป็นได้เพียงแค่ก้อนถ่าน แต่ถ้าเราผ่านไปได้ เราจะกลายเป็นเพชรที่มีมูลค่ามหาศาล
อาจารย์กิจติกร กีรติเรขา หรือ พี่อ้วน อดีตข้าราชการครู จาก จ. นครราชสีมา ผู้หันมาเอาดีด้านการทำสวนมะม่วงงามเมืองย่า จนโด่งดังคับจังหวัดและส่งผลผลิตไปขายไกลถึง ตะวันออกกลาง จีน และประเทศอื่นๆ ในเขตอาเซียน อดีตคนที่มีหนี้สูงถึง 15 ล้านบาทจากงานรับเหมาก่อสร้าง เมื่อครั้งที่ประเทศไทยเจอกับพิษเศรษฐกิจฟองสบู่ ในปี พ.ศ. 2540 แต่วันนี้สามารถปลดหนี้ได้ด้วยการปลูกมะม่วงพันธุ์งามเมืองย่าที่ตนค้นพบ และกลายเป็นเซียนมะม่วงที่นำศิลปะจากวิชาชีพที่ตนถนัดมาประยุกต์ใช้ ด้วยวิธีการปลูกแบบ 90 องศาตะวันออก ที่ทำให้มะม่วงรับแสงแดดได้เต็มที่ ติดลูกดกตลอดปี จนกลายเป็นที่ยอมรับของชาวสวนมะม่วงงามเมืองย่าใน จ.นครราชสีมา ทุกวันนี้ไม่ว่าผลผลิตมีออกมาเท่าไหร่ก็จำหน่ายได้หมดและไม่ต้องมานั่งห่วงเรื่องราคา เพราะควบคุมคุณภาพและปริมาณผลผลิตได้ ทำให้มีรายรับหมุนเวียนสะพัด เป็นหลักล้านต่อรอบการผลิต
กิตติกร กีรติเรขา เจ้าของมะม่วงสายพันธุ์ "งามเมืองย่า"
คุณกิจติกร กีรติเรขา หรือ พี่อ้วน อยู่บ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 11 บ้านหนองปล้อง ต.งิ้ว อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา 30150 อดีตข้าราชการครู สอนวิชาศิลปะ มานานกว่า10 ปี ก่อนจะอิ่มตัวลาออกมาในปี พ.ศ.2534 เพื่อมาทำสวน โดยเริ่มจากการซื้อพื้นที่รกร้าง ค่อนข้างแห้งแล้ง และ ดินเป็นทรายมีสภาพความเป็นกรด(pH 5) ท่ามกลางไร่มันสำปะหลังที่ห้อมล้อม มาพัฒนาเป็นสวนมะม่วง ก่อนจะลงมือปลูกต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเมล็ด ไว้หลากสายพันธุ์ โดยปลูกที่ระยะชิด 2 x 2 เมตร วางแถวปลูกไว้แถวละ 1 สายพันธุ์ ด้วยสภาพการปลูกที่ใกล้ชิดและมะม่วงทุกต้นเกิดจากการเพาะเมล็ด โอกาสที่จะเกิดการผสมข้ามและเกิดการกลายพันธุ์จึงมีสูง (2 ปีต่อมา คุณกิตติกร จึงได้มะม่วงลูกผสมพันธุ์ใหม่ขึ้นมาโดยบังเอิญ ซึ่งเป็นลูกผสมที่ได้จากการผสมข้ามสายพันธุ์กันระหว่างมะม่วงมันขุนศรีและมะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 จึงได้ทำการขยายสายพันธุ์ไว้ ) ระหว่างการเริ่มต้นอาชีพชาวสวนที่ยังไม่สามารถทำเงินได้ คุณกิจติกรก็หันมาจับงานรับเหมาก่อสร้างควบคู่ไปด้วย โดยปล่อยให้งานสวนเป็นงานเสริมที่ทำควบคู่ไปกับงานรับเหมา
ในปี พ.ศ.2540 เจอพิษเศรษฐกิจฟองสบู่ กลายเป็นคนมีหนี้สินภายในข้ามคืนทันที 15 ล้านบาท วิกฤติครั้งนี้ทำเอาเซจนเกือบทรุด เพราะต้องสูญเสียทุกอย่างไปแบบไม่คาดคิด จำต้องปิดกิจการรับเหมาก่อสร้างลงไปอย่างปวดใจ เท่านั้นยังไม่พอ ยังผีซ้ำด้ามพลอย เมื่อสวนมะม่วงที่ทำอยู่เกิดไฟไหม้ ทำให้มะม่วงที่ปลูกไว้รอวันเก็บเกี่ยวตายเกือบยกสวน หลงเหลือไว้เพียงสายพันธุ์งามเมืองย่าเพียงไม่กี่ต้น
ปลูกระยะห่าง เอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด
ช่วงที่ชีวิตมีแต่ตัวเลขในบัญชีติดลบจนเกินกว่าจะหาเงินไปลบกลบหนี้ได้ คุณกิจติกร ต้องพึ่งพาอาศัยธรรมมะและวัดเป็นที่เยียวยาหัวใจอยู่นานถึง 4 ปีเต็ม ก่อนจะเกิดจุดเปลี่ยนในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพี่ชายกู้เงินมาให้ 70,000 บาท เพื่อให้ใช้ทำทุนตั้งหลักชีวิตใหม่ คุณกิจติกรจึงหันไปจับมะม่วงงามเมืองย่าที่เหลือรอดอยู่อย่างจริงจัง ทำการขยายพันธุ์ปลูกเพิ่มเติม รื้อฟื้นสวนมะม่วงขึ้นมาใหม่ แต่คราวนี้เน้นปลูกแต่พันธุ์งามเมืองย่าเท่านั้น จนกระทั่งใกล้ถึงเวลาได้เก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรก ก็ไม่วายที่จะเกิดมรสุมรุมเข้ามาซ้ำเติมอีก เมื่อเกิดพายุลูกเห็บถล่มลงมาทำให้ผลผลิตที่รอวันเก็บเกี่ยวนั้นเสียหาย เหลือรอดเพียงไม่กี่ผล แต่คนอย่างคุณกิจติกร ไม่มีวันถอยกลับไปจนตรอกคุดคู้กร่นว่าชะตากรรมอีกแล้ว จึงเฝ้าประคบประหงม ผลผลิตที่เหลือรอดจากพายุลูกเห็บให้รอดปลอดภัยจากศัตรูอื่นๆ ตามธรรมชาติ จนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ครั้งแรก คุณกิจติกรเริ่มมองหาตลาดที่จะทำเงินกับมะม่วงสายพันธุ์ใหม่ ที่ยังไม่เคยมีใครลิ้มรส จึงหอบมะม่วงที่มีทั้งหมด ไปขายตามห้างสรรพสินค้า ในราคาลูกละ 250 บาท(น้ำหนักประมาณ 1-2 กก.) ด้วยความแปลกใหม่ ทั้งลูกใหญ่ รสชาติดี และอร่อยไม่เหมือนใคร ผลผลิตครั้งนั้นจึงขายได้หมดเกลี้ยงและนับว่าเป็นก้าวแรกของมะม่วงงามเมืองย่าที่ได้เปิดตัวสู่สาธารณะชนอย่างแท้จริง
คุณกิจติกร จึงทำการเพาะเมล็ดปลูกเพื่อขยายพันธุ์เพิ่มจำนวน เมื่อนำไปปลูกก็ต้องแปลกใจกับลักษณะเด่นที่ค้นพบในมะม่วงต้นนี้ นั้นคือ เมื่อปลูกต้นหลักได้ 1 ปี แล้วตัดยอดไปเสียบกับต้นตอมะม่วงพันธุ์อื่น ได้เพียง 2 ปี ก็ติดผลแล้ว 16 ผล แต่ละผล ให้น้ำหนักเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 กก. สามารถเก็บรักษาได้นานและทนทานต่อการขนส่งเพราะมีเปลือกหนา
มะม่วงงามเมืองย่าเกิดจากการผสมระหว่างมะม่วงมันขุนศรีกับน้ำดอกไม้เบอร์ 4 คุณกิจติกรจึงนำผลที่ลูกใหญ่ไปทางมันขุนศรีและหวานหอมไปทางน้ำดอกไม้ ไม่มีเสี้ยน เนื้อกรอบหนา เปลือกหนา เมล็ดลีบ(เล็ก)ผิวเนียนเหลือง ผลใหญ่ 2-3 กก. ทานได้ทั้งดิบและสุกไปขยายพันธุ์
มะม่วงงามเมืองย่า ช่วยฟื้นชีวิต
ในปี พ.ศ. 2536 เริ่มทำการขยายพันธุ์มะม่วงพันธุ์ใหม่นี้แบบจริงจัง ซึ่งจัดว่าเป็นปีแจ้งเกิดมะม่วงพันธุ์งามเมืองย่า มะม่วงพันธุ์ใหม่สายพันธุ์ไทยถิ่นโคราช แห่งบ้านหนองปล้อง หมู่ 9 ต.งิ้ว อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2546 คุณกิจติกรมีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ จากการกราบบังคมทูลของเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เข้ามาเห็นการปลูกมะม่วงของคุณกิจติกร พระองค์จึงมีรับสั่งให้คุณกิจติกรเข้าเฝ้าถวายกิ่งพันธุ์มะม่วงงามเมืองย่าที่สวนจิตรลดาในวันปลูกต้นไม้แห่งชาติ จนผู้คนรู้จักมะม่วงพันธุ์นี้กันมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน
การเตรียมต้นพันธุ์และการวางแนวปลูก : คุณกิจติกรจะใช้วิธีการเสียบยอดมะม่วงพันธุ์งามเมืองย่าเข้ากับต้นตอมะม่วงแก้วที่ได้จากการเพาะเมล็ด เพื่ออาศัยระบบรากของมะม่วงแก้วในการหากิน เนื่องจากเป็นมะม่วงที่มีความอึดโดยธรรมชาติ มีต้นใหญ่ แข็งแรงทนทานต่อโรคและแมลง เมื่อเสียบยอดไปได้ 2 ปี แล้วนำไปปลูกลงดินอีก 1 ปี ด้วยระยะปลูก 2 x 2 หรือ 2 x 4 เมตร เลี้ยงดูในแนวทางเกษตรอินทรีย์ต่อไปจนกว่าจะให้ผลผลิต ระหว่างนี้ให้บำรุงต้นด้วยน้ำหมักมะม่วงสลับกับนมสด ที่เตรียมได้จาก นมสด 200 ลิตร + เครื่องดื่มชูกำลัง 1 ขวด ผสมให้ทางใบ เดือนละ 2 ครั้ง โดยฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม ใบ ต้น และ ผล จะทำให้ได้มะม่วงผลสวยรสชาติดี ต้นแข็งแรงต้านทานโรค ควรปลูกประมาณเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม เพื่อให้มะม่วงตั้งตัวได้เร็วขึ้น เนื่องจากในฤดูฝนอากาศมีความชุ่มชื้นดี ทำให้มะม่วงตั้งตัวได้เร็ว และเป็นการสะดวกไม่ต้องรดน้ำในระยะแรก
การปลูก : ควรขุดหลุมปลูกให้มีขนาดกว้างยาว และลึก 50 เซนติเมตร - 1 เมตร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ถ้าดินดี ร่วนซุย มีอินทรีย์วัตถุมาก ก็ขุดหลุมขนาดเล็กได้ ส่วนดินที่ไม่ค่อยดี ให้ขุดหลุมขนาดใหญ่ เพื่อจะได้ปรับปรุงดินในหลุมปลูกให้ดีขึ้น ดินที่ขุดขึ้นมาจากหลุมนั้น ให้แยกเป็นสองกอง คือ ดินชั้นบนแยกไว้กองหนึ่ง ดินชั้นล่างอีกกองหนึ่ง ตากดินที่ขุดขึ้นมาสัก 15 - 20 วัน แล้วผสมดินทั้งสองกองด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ก้นหลุมก็ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก รองพื้นด้วย แล้วจึงกลบดินลงไปในหลุมตามเดิม โดยเอาดินชั้นบนลงไว้ก้นหลุม และดินชั้นล่างกลบทับลงไปที่หลัง ดินที่กลบลงไปจะสูงกว่าปากหลุม ควรปล่อยทิ้งไว้ให้ดินยุบตัวดีเสียก่อน หรือรดน้ำให้ดินยุบตัวดีเสียก่อน จึงลงมือปลูก
การปลูกมะม่วงแนว 90 องศาตะวันออก ช่วยให้ติดลูกดกได้ตลอดปี โดยไม่ต้องพึ่งเคมี
อาหารเสริมมะม่วง บำรุงผลให้โต ผิวสวย
ต้นทุนการผลิต
ในปี พ.ศ. 2551 คุณกิจติกรได้รับรางวัลแทนคุณแผ่นดิน จากการทำ มะม่วงงามเมืองย่า 1 ไร่ ได้ 1 ล้าน จากการบริหารจัดการพื้นที่ปลูกมะม่วงงามเมืองย่า ระยะชิด 2 x 2 เมตร จำนวน 400 ต้น / ไร่ เรียกเก็บผลผลิตตั้งแต่ปีแรก ปีที่ 3 เป็นต้นไป ผลผลิตจะเก็บได้อย่างเต็มที่ ผลผลิตขั้นต่ำ 20 ผล / ต้น ซึ่ง 1 ไร่ มี 400 ต้น เท่ากับว่า ใน 1 ไร่ เราจะได้ผลผลิต 8,000 ผล หรือ 8 ตัน ผลละ 1.2 – 1.5 กิโลกรัม อาจารย์คิดขั้นต่ำผลละ 1 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 80 บาท จะได้เงิน 640,000 บาท / ไร่ / ปี นอกจากนั้นยังปลูกดีปลีหรือพริกไทยอีก 400 หลัก เก็บผลผลิตเฉลี่ยหลักละ 500 บาท / ปี เป็นเงิน 200,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 840,000 บาท พืชชั้นล่าง โหระพา และสาระแหน่ พื้นที่ 1 ไร่จะถูกเก็บมาสกัดน้ำมันจำหน่าย ลิตรละ 30,000 บาท รวมเป็นเงินจากการสกัดน้ำมันอีก 16,000 บาท รวมเป็นรายได้ทั้งสินต่อไร่ คือ 1 ล้านบาท
แผนการตลาด
จากคำพูดติดปากที่ว่า "3 เดือน ติดดอก 5 เดือน ติดผล 8 เดือนเก็บเกี่ยว " อาจารย์กิตติกร มีแนวคิดแบบฉีกตำราการตลาดทิ้งว่า ตลาดต้องอยู่ที่เราต้องสร้างผลผลิตให้ปลอดภัยสูงสุดในโลก อร่อยที่สุด เก็บรักษาได้นานที่สุด แปรรูปได้หลากหลายที่สุด และได้รับมาตรฐานและการยอมรับมากที่สุด แค่นี้คนทั้งโลกต้องมากินผลผลิตของเรา นี่คือแผนการตลาดของอาจารย์กิตติกร
ทั้งนี้ ผลผลิตมะม่วงงามเมืองย่าของคุณกิตติกร รวมทั้งการแปรรูปเป็นที่สนใจ จากประเทศญี่ปุ่น และ โซนตะวันออกกลาง จีน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน (AEC) มีการเดินทางมาเจรจาและสั่งซื้อผลผลิตเป็นจำนวนมาก ทำให้ผลผลิตของอาจารย์กิตติกร ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
ผลมะม่วงงามเมืองย่า
เครดิต ; 
รักบ้านเกิด.คอม

วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2564

พระนาคปรกทรงเครื่องกษัตริย์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระพุทธเจ้านาคปรก มีวัตถุทรงกลมอยู่ในพระหัตถ์” ในงานศิลปะเขมรโบราณ ไม่ใช่ “พระไภษัชยคุรุ” 

ชื่อนาม “พระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุไวทูรยประภาสุคต” (Bhaiṣajyaguru Vaidūryaprabha rāja -Sugata) หรือ “พระไภษัชยคุรุตถาคต” (Bhaiṣajyaguru Tathagata) (มหาแพทยราชาพุทธะ – มหาไภษัชยราชพุทธเจ้า) ที่ปรากฏใน “จารึกประจำอโรคยศาลา” (ĀrogyaŚālā Stele) ว่า
.
“...ขอนมัสการพระชินะผู้พิชิต คือ พระไภษัชยคุรุไวฑูรยะประภาราชา (Bhaiṣajyaguru Vaidūryaprabha rāja) ด้วยเพราะพระองค์ จึงทำเกิดความสุขและความไม่มีโรคแก่ประชาชนผู้ได้สดับแม้เพียงชื่อพระนาม อีกทั้ง... พระศรีสูรยะไวโรจนจันทราโรจิ (Śrī -sūrya-vairocana-caṇḍa-rociḥ) และพระศรีจันรไวโรจนโรหิณีศะ (Śrī -candra-vairocana-rohiṇīśaḥ) ผู้ขจัดความมืด อันได้แก่โรคร้ายของประชาชน ผู้ชนะที่อยู่เคียงข้างพระสุเมรุแห่งผู้ปฏิบัติ... 
...พระองค์ได้สร้างโรงพยาบาลและรูปพระโพธิสัตว์ไภษัชยสุคต (Bhaiṣajya Saugata) พร้อมด้วยรูปพระชิโนรสทั้งสองที่อาโรคยศาลา เพื่อความปราศจากโรคของประชาชนตลอดไป...พระองค์ได้สถาปนาอโรคยศาลาหลังนี้ พร้อมด้วยวิหารของ “พระสุคตาลัย – ลยมะ” (Sugatālayam) ประดิษฐานรูปพระไภษัชยสุคตนี้....” 
.
*** พระไภษัชยคุรุไวทูรยประภาสุคต จากจารึกอาโรคยศาลาและจารึกร่วมสมัยในยุคราชสำนักบายน เมื่อมาประกอบกับคติความเชื่อและงานศิลปะในอินเดียเหนือ ทิเบต จีน ญี่ปุ่น ที่อธิบายว่า บนพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุข้างหนึ่งจะมีหม้อยาโอสถ รัตนเจดีย์ ผลสมอหรือถือบาตร ภายในบาตรบรรจุทิพยโอสถ ชื่อว่า “อคทะ” ที่มีความหมายว่า ยาบำบัดโรค ต้นยาสมุนไพร เป็น “พุทธราชาแห่งโอสถ” (King of Medicines) สามารถปลดเปลื้องความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานของมวลมนุษย์ นำทางไปสู่พระนิพพาน “...พระองค์เป็นแพทย์ที่ประทานพระโอสถอันได้แก่น้ำอมฤต ทรงเป็นผู้นำ และเป็นผู้ชี้ทางสู่สวรรค์...” จึงได้ถูกนำมาใช้อธิบายพระพุทธรูปนาคปรกปางสมาธิทรงเครื่องกษัตริย์ ในงานศิลปะเขมรโบราณ ที่มี “วัตถุทรงกลม” หรือ “ทรงกรวย” วางอยู่บนพระหัตถ์ รวมทั้งหากเมื่อพบพระพุทธรูปที่มีรูปกลมและกรวย ในงานศิลปะยุคใกล้เคียงก็จะอธิบายว่าเป็นพระไภษัชยคุรุทุกองค์มาโดยตลอดครับ
.
แต่พระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุของฝ่ายธิเบต-จีน จะฉลองพระองค์แบบพระภิกษุ ไม่สวมเครื่องประดับใด ๆ มีลักษณะของมหาบุรุษต่าง ๆ อย่าง อูรณา อุษณีษะ และพระกรรณยาว แบบเดียวกับพระพุทธเจ้าอมิตาภะ ไม่ทรงเครื่องกษัตริย์ตามแบบ “พระอาทิพุทธะ” ( Ādi) -พระวัชรสัตว์–พระมหาไวโรจนะ” (Vajrasattva - Mahāvairocana) พระพุทธเจ้าในพุทะภาวะระดับสูงสุดเรียกว่า “ธรรมกาย” (Dharma-kāya) ในคติฝ่ายมหายาน 
.
พระไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาสุคต จากจารึกอาโรคยศาลาและงานศิลปะเขมร จึงเป็นเพียงรูปประธานในปราสาทสุคตาลัย ที่กำลังแสดงท่า “วัชร หุมกะระมุทรา” (Vajrahumkara-mudrā ) ยกพระกรขึ้นในระดับพระอุระ พระหัตถ์ขวาถือ “วัชระ” (Vajra) อยู่ด้านบน พระหัตถ์ซ้ายถือ “วัชระกระดิ่ง-วัชระฆัณฏา” (Vajra-Ghaṇṭā) บุคลาธิษฐานของวัชรธร-ผู้ใช้ปัญญา (Vajradhara) ที่มีความหมายถึงการใช้ปัญญาและอุบายเพื่อการบรรลุ (การปฏิบัติ,การรักษา) โดยมีเป้าหมายให้หายจากโรค ผ่านการสวดภาวนามนตราธาริณี เพื่อการบรรลุได้โดยเร็ว (ฉับพลันดั่งสายฟ้า) ไม่ใช่รูปพระพุทธรูปนาคปรกที่มีวัตถุทรงกลมในพระหัตถ์ ที่ยังไม่เคยขุดพบเจอในปราสาทแบบอาโรคยศาลาเลยครับ
.
*** พระพุทธรูปนาคปรกในงานศิลปะเขมรโบราณทั้งหมด หากทรงเครื่องกษัตริย์ ก็ควรหมายถึง “พระอาทิพุทธ–พระมหาไวโรจนะ” ราชาแห่งเหล่าตถาคต พระพุทธเจ้าในสภาวะสูงสุด หากทรงจีวรซ้อนทับก็ควรหมายถึง “พระศากยมุนี” (Shakyamuni) พระพุทธเจ้ากายเนื้อ (นิรมาณกาย - Nirmāṇakāya) ของพระฌานิพุทธเจ้าไวโรจนะ (Vairocana Dhyāni Buddha) ในพุทธภาวะสัมโภคกาย (Sambhoga-kāya) และพระอาทิพุทธะในพุทธภาวะสูงสุดแห่งธรรมกาย (Dharma-kāya)  
.
และยังอาจหมายถึง “พระฌานิพุทธเจ้าพระอมิตาภะ” (Amitabha Dhyāni Buddha) ปางสมาธิ-ประจำทิศตะวันตก พระพุทธเจ้าผู้ดูแลโลกมนุษย์ในกัลป์ปัจจุบัน หนึ่งใน 5 ของพระพุทธเจ้า/ชินพุทธะ 5 พระองค์ในพุทธะภาวะสัมโภคกาย ที่เรียกว่า “ปัญจสุคต–ปัญจชินะ-ศรีฆนะ” (Paῆca Sugatā - Paῆca jina – Śrīghana Buddhas) ผู้ให้กำเนิดพระโพธิสัตว์ประจำพระองค์ (Celestial - Bodhisattva) คือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (Avalokiteśvara) และศักติเทวีปรัชญาปารมิตา(Prajñāpāramitā)     
.
*** สำหรับรูปทรงกลมและทรงกรวย (ทั้งแบบแหลมและมน) ที่อยู่ในพระหัตถ์ ไม่ใช่ “หม้อยาโอสถทิพย์” ตามคติพระไภษัชยคุรุแบบธิเบต–จีน แต่เป็น ”พุ่มดอกไม้บายศรี” กลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์ เพื่อใช้เป็นเครื่องหอมดอกไม้ในการถวายการสักกาบูชาแก่พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 
.
*** จึงได้พบรูปศิลปะของพุ่มดอกไม้-ดอกไม้บูชา บนพระหัตถ์ในงานพุทธศิลป์แบบเขมรโบราณที่หลากหลาย ทั้งแบบกรวยแหลมแบบพุ่มบายศรี แบบกลม (ดอกไม้-พวงมาลัย) ปรากฏบนพระพุทธรูปที่ชัดเจนว่าไม่ใช่รูปพระไภษัชยคุรุ อย่างรูปพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ พระพุทธเจ้าอมิตาภะในกลุ่ม “วัชรยานไตรลักษณ์” เรียงรูปตันตระ-วิภัติ 3 องค์ (Triad-Trinity) บนระนาบ-ฐานสนานโทรณีเดียวกัน โดยเฉพาะรูป “พระพุทธเจ้าอาทิพุทธ-มหาไวโรจนะทรงเครื่องกษัตริย์” ที่เข้าใจผิดกันมาโดยตลอดครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564

พระเจ้าชัยวรมันที่8

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ศิลปะแบบพระปิถุ” ความนิยมในคติไศวนิกายครั้งสุดท้ายในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่รัฐสุวรรณปุระ
เมื่อ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 8” (Jayavarman 8 ) ขึ้นครองราชย์สำนักศรียโสธระปุระแห่งอาณาจักรเขมรโบราณประมาณปี พ.ศ. 1786 (ปลายพุทธศตวรรษที่ 18) ในยุคหลังจักรวรรดิบายนหรือ “ยุคหลังบายน” (Post-Bayon Period) ทรงมีความเลื่อมใสศรัทธาในลัทธิฮินดูไศวนิกาย–ปศุปตะ (Pāśupata - Shavisim) อย่างแรงกล้า ทั้งยังทรงมีความนิยมใน “ลัทธิเทวราชา” (Devarāja) ที่สมมุติให้กษัตริย์คือสมมุติเทพแห่งองค์พระศิวะในร่างมนุษย์ ทรงเริ่มต้นฟื้นฟูลัทธิไศวะนิกาย-ปศุปตะให้กลับคืนมา ลดบทบาทและอิทธิพลของนักบวชในคติความเชื่อเดิมของราชสำนักเก่าในยุคบายน ที่มีความนิยมในคติและงานพุทธศิลป์แบบ “วัชรยานตันตระ-ลัทธิโลเกศวร” ((Mahāyāna Buddhism-Vajrayāna-Tantra-Lokeśvara) เมื่อขึ้นครองราชย์ในทันที
.
ดูเหมือนว่าความนิยมในลัทธิไศวนิกาย-ปศุปตะในยุคก่อนหน้า จะไม่นิยมสร้างรูปพระศิวะที่มีรูปลักษณ์ตามแบบมนุษย์มากนัก แต่ในยุคการฟื้นฟูไศวนิกาย รูปลักษณ์ขององค์พระศิวะและพระนางปารวตี ได้ถูกนำเข้ามาแทนที่รูปเคารพแบบ 3 องค์ (Trinity) บนระนาบ-ฐานสนานโทรณีเดียวกัน แบบ “รูปวิภัติ 3 เพศ (ลิงค์)”ตามวีถี “ตันตระ” (Tantra-Tantric) ที่ให้ความสำคัญกับพลังของเพศหญิงที่เรียกว่า “ศักติ” (Shakti) ครับ
.
รูปพระพุทธเจ้าอมิตาภะ (ไวโรจนะ) นาคปรก ที่เคยวางอยู่บนฐานเดียวกับรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (เบื้องขวา) และเทวีปรัชญาปารมิตา (เบื้องซ้าย) ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นรูปขององค์พระศิวะ 2 กร ถือตรีศูล (Trishula -Triśūl) และดอกบัวนิโลทบล (Nilotpala) รูปเทวีศักติเปลี่ยนมาเป็นพระนางปารวตี ถือดอกบัว-ปัทมะ(Padma) ทั้งสองพระหัตถ์ ทางเบื้องขวาเปลี่ยนเป็นรูปพระวิษณุ 4 กร 
.
รูปศิลปะเครื่องแต่งกายของรูปประติมากรรมในยุค “พระปิถุ-ชัยวรมันที่ 8” เปลี่ยนแปลงไป ไม่นุ่งผ้าแบบยุคบายน อย่างการชักผ้าใต้พระโสณีโค้งหน้าเข็มขัด ที่จะมีทั้งแบบโค้งตรงและโค้งด้านข้าง ภูษาสมพตขาสั้นฝ่ายขายจะรั้งขึ้นสั้นกว่า ทิ้งชายผ้าหน้าขาแบบซ้อนทบปลายแหลม (ทั้งรูปเทพเจ้าและเทวี) ไม่นิยมแบบชายผ้าหางปลา หัวเข็มขัดมีขนาดใหญ่ สวมศิราภรณ์ทรงเทริด แบบไม่มีผูกด้านหลัง มวยผมมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบการัณฑมงกุฎ (ซ้อนเป็นชั้น ๆ ) ครอบมวยผมทรงกระบอกแผ่ที่ฐานสอบด้านบน ทั้งแบบกลมและแบบตัด มียอดแหลมและไม่มียอดแหลมแบบฝาคนโทเหนือทรงกระบอก และแบบครอบทรงหมวกฤๅษีครับ
.
การนุ่งผ้าของรูปเทวีที่พบในเขตลุ่มเจ้าพระยา (รัฐละโว้-รัฐสุวรรณปุระ) มีรูปแบบการนุ่งผ้าที่แตกต่างไปจากศิลปะเมืองพระนคร โดยจะนุ่งแบบเหมือนจริงที่เรียกว่า “ซิ่นบ่วง-จีบป้าย” ปลายผ้านุ่งพันมาทบเกิดเป็นเส้นซ้อนกันฝั่งหนึ่ง โค้งลงมาจากเข็มขัด การรั้งผ้าทำให้เกิดการแยกเป็นช่องที่ตีนซิ่น
.
ช่วงยุคศิลปะแบบพระปิถุ ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 นี้ นิยมสร้างรูปประติมากรรมสำริดในคติไศวะนิกาย-ปศุปตะแบบพระปิถุ โดยเน้นไปที่รูปพระศิวะกับรูปพระนางปารวตี อย่างรูปอุมามเหศวรทรงโคนนทิ รูปพระสทาศิวะ รูปศิวะนาฏราช รูป 3 องค์แบบตันตระ ที่มีรูปของพระวิษณุประกอบ รูปพระวิษณุในอวตารเป็นพระฤๅษี รูปพระศักติ-วิษณุแบบฤๅษีครับ      
.
-----------------------------
*** ดูเหมือนว่า ภายหลังการครองราชย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 กลุ่มบ้านเมืองทางตะวันตก โดยเฉพาะกลุ่มรัฐสุวรรณปุระ-รามัญ (Svarṇapura) ในเขตลุ่มน้ำท่าจีนและท่าว้า และบางส่วนของรัฐละโว้ ยังคงมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติที่ยังคงอยู่ภายในอิทธิพลของราชสำนักเมืองพระนครเป็นอย่างดีในช่วงระยะเวลาหนึ่ง มีการพบรูปประติมากรรมสำริดในยุคฟื้นฟูไศวะนิกาย-หลังยุคบายน-พระปิถุ ในรูปแบบต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีหลายแห่ง ทั้งที่เมืองโบราณหนองแจง บางขวาก สามชุก ดอนเจดีย์ พิหารแดง (รวมทั้งในพื้นจังหวัดลพบุรีบางส่วน) โดยมีลักษณะเป็นงานช่างฝีมือในท้องถิ่นที่มีรูปแบบศิลปะแตกต่างไปจากงานช่างหลวงเมืองพระนคร แต่ยังคงรักษาคตินิยมในยุคฟื้นฟูคติฮินดูไศวะนิกาย-ปศุปตะ ในช่วงงานสิลปะแบบปราสาทพระปิถุอย่างชัดเจนครับ  
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งปวง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
#ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งหลาย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๔ ประการนี้
๔ ประการเป็นไฉน ?  คือ

กำลัง คือ ปัญญา ๑ 
กำลัง คือ ความเพียร ๑ 
กำลัง คือ การงานอันไม่มีโทษ ๑ 
กำลัง คือ การสงเคราะห์ ๑ 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กำลังคือการสงเคราะห์เป็นไฉน ?
สังคหวัตถุ ๔ ประการนี้

คือ ทาน ๑     เปยยวัชชะ ๑
อัตถจริยา ๑ สมานัตตตา ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งหลาย การแสดงธรรมบ่อยๆ แก่บุคคลผู้ต้องการ ผู้เงี่ยโสตลงสดับ นี้เลิศกว่าการพูดถ้อยคำอันเป็นที่รัก

การชักชวนคนผู้ไม่มีศรัทธา ให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในศรัทธาสัมปทา

ชักชวนผู้ทุศีล ให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในศีลสัมปทา

ชักชวนผู้ตระหนี่ ให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในจาคสัมปทา

ชักชวนผู้มีปัญญาทราม ให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในปัญญาสัมปทา
นี้เลิศกว่าการประพฤติประโยชน์ทั้งหลาย

พระโสดาบัน มีตนเสมอกับพระโสดาบัน

พระสกทาคามี มีตนเสมอกับพระสกทาคามี 

พระอนาคามี มีตนเสมอกับพระอนาคามี 

พระอรหันต์ มีตนเสมอกับพระอรหันต์
นี้เลิศกว่าความมีตนเสมอทั้งหลาย

นี้เรียกว่า กำลัง คือการสงเคราะห์

ฉบับหลวง ๒๓/๒๙๓/๒๐๙

วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564

รอยพระพุทธบาท วัดพุทไธสวรรย์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“รอยพระพุทธบาทเขาสุมนกูฎ” ที่ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธศวรรย์ 

ในคติพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท กล่าวถึงเรื่องราวของรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า (Buddha’s Footprint) 5 แห่ง ที่ถือว่ามีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์  คือ รอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนรรมทา (Nammadā) รอยพระพุทธบาทที่สัจพันธบรรพต-สัจจพันธ์คีรี หรือ สุวรรณบรรพต (Suwaṇṇa) รอยพระพุทธบาทที่โยนกปุระ (Yonakapura) รอยพระพุทธบาทที่ยอดเขาสุวัณณมาลิกบนยอดเขาอภัยคีรี (Suwaṇṇamālika) และรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฎ (ศรีปาทะ) ที่เกาะลังกา
.
รอยพระพุทธบาทเขาสุมนกูฎ (Sumanakūta) ตั้งอยู่บนยอดเขาอดัมส์พีค (Adam's Peak) ในเขตจังหวัดซาบารากามูวา ตอนกลางของประเทศศรีลังกา เป็นอุเทสิกเจดีย์ที่ได้รับความนิยม เคารพนับถือมากที่สุดในรัฐสุโขทัยและอยุทธยา ตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19  จากอิทธิพลพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทลังกาวงศ์ ซึ่งใน “คัมภีร์มหาวงศ์” (Mahāvaṃśa) ได้กล่าวว่า  
.
“...ภายหลังที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ได้ 8 พรรษา ในวันเพ็ญเดือน 6 พระพุทธเจ้าและพระภิกษุอีก 500 รูป เสด็จไปยังแม่น้ำกัลยาณี พญามณีอักขิกนาคราชผู้ปกครอง จึงได้ถวายพระแท่นมณฑปแก้ว และทิพยชัชโภชนาหาร พญานาคพร้อมบริวารทั้งปวงได้ฟังพระธรรมเทศนา จนอิ่มเอิบเป็นสุโขประโยชน์ พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปบนยอดเขาสุมณกูฏบรรพต ประทับรอยพระบาทเจติยะไว้...”
.
พระภิกษุและผู้แสวงบุญ จะนิยมเดินทางข้ามทะเลเพื่อไปนมัสการสักการบูชารอยพระพุทธบาทสุมนกูฏที่เกาะลังกากันอย่างต่อเนื่อง ด้วยเพราะเชื่อถือว่าเป็นรอยพระบาทแห่งพระพุทธองค์โดยแท้จริง การเดินทางแสวงบุญที่ยาวไกลและประสบความยากลำบากจะนำมาซึ่งอานิสงส์ผลบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต ดังปรากฏคำอธิบายการเดินทางขึ้นเขาในบันทึกการเดินทางในแต่ละยุคสมัยตรงกันว่า 
.
“...ความสูงจากเชิงเขาขึ้นไปจนถึงพระบาทลังกานั้น 428 เส้นกับ 6 วา ทางขึ้นเป็นทางกันดาร ภูเขาเป็นชะง่อนผาแหลมคม มีถ้ำเป็นที่หลบลมแรง ตรงหน้าผาสูงชั้นจะมีสายโซ่ห่วงเหล็ก (บันไดสายโซ่) สำหรับปีนเหนี่ยวขึ้นไป...”  
.
“...เส้นทางขึ้นเขากันดาร มีชะง่อนแง่งหินแหลม พื้นลื่นเพราะตะไคร้น้ำ ทางขึ้นเป็นหน้าผาสูงชัน ต้องทุลักทุเลปีนเหนี่ยวสายโซ่ซึ่งที่ยาวกว่า 6 เมตรไต่ขึ้นไปถึงตัวพระพุทธบาทที่อยู่บนยอดเขา...”
.
---------------------------------
*** เรื่องราวของการเดินทางอันยากลำบากเพื่อขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุมนกูฎที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เป็นภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง (Mural painting) บนผนังตะวันออกของตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธศวรรย์ ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อใช้เป็นศาลาการเปรียญสำหรับวัดพุทไธศวรรย์ที่ถูกฟื้นฟูบูรณะขึ้นใหม่ ถวายแด่พระพุทธโฆษาจารย์วัดเดิม สมเด็จพระเถระผู้เป็นพระอาจารย์ของพระองค์ครับ
.
ตำหนักพระพุทโฆษาจารย์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ช่องหน้าต่างชั้นล่างทำเป็นโค้งยอดแหลมตามสมัยนิยมตะวันตก ภายในชั้นบนของอาคารมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง  เป็นภาพเขียนสีฝุ่นแบบสีพหุรงค์  กระจายภาพเรื่องราวต่าง ๆ ไปทั่วทุกผนัง ไม่เรียงตามลำดับเหตุการณ์ แต่จัดภาพเป็นกลุ่มตามเรื่องโดยใช้เส้นสินเทาในการแบ่งภาพ 
.
ภาพเขียนถูกเขียนขึ้น 3 ครั้ง จึงมีความแตกต่างกันไปตามฝีมือช่าง ที่เก่าแก่สุดก็คงเป็นภาพวาดผนังทิศเหนือ  
เรื่องไตรภูมิโลกสัณฐาน ตรงผนังผนังหุ้มกลองหรือผนังสกัด (ผนังหลังหน้าบันด้านใน) ที่มีภาพพระอินทร์และหมู่เทวดาประทับในเรือนวิมานเหนือยอดเขาพระสุเมรุ ส่วนผนังด้านล่างเป็นภาพป่าหิมพานต์ ภาพสระอโนดาต
ผนังสกัดด้านทิศใต้วาดเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารวิชัย ใต้ลงมาเป็นภาพพระสาวก ผนังด้านล่างเป็นภาพเรื่องรามเกียรติ์ (แต่ลบเลือนไปมาก) ผนังอาคารทิศตะวันตกเขียนภาพเรื่องมหานิบาตชาดก ด้านล่างของผนังเป็นภาพขุมนรก
ผนังด้านทิศตะวันออก เขียนขึ้นในช่วงสุดท้าย เป็นภาพรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฎ รอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนรรมทา รอยพระพุทธบาทที่สัจพันธบรรพต  ภาพขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเพื่อเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท พระมาลัยโปรดสัตว์ และภาพ “พุทโฆสะนิทาน” ตอนพระพุทธโฆสะลงเรือสำเภา เดินทางไปกรุงลังกาและได้พบกับพระพุทธทัตตเถระกลางทะเลครับ        
.
หลังบานประตูและหน้าต่าง เป็นภาพเขียนสีรูปทวารบาลชาวต่างประเทศสลับกับรูปเทพยดา 
.
*** ภาพวาดได้แสดงรูปพระพุทธบาทสีทองมีรัศมีพวยพุ่งขึ้นเป็นกระหนกตัวเหงา ภายในมณฑปสูงใหญ่บนยอดเขาสุมนกูฏ ด้านบนภายในซุ้มเป็นโคมกลีบบัวมีพู่ห้อยทั้งสามเรือน โดยมีเหล่าพุทธบริษัทแสดงอัญชลีวันทาและสาธุการอยู่ในช่องสินเทาด้านล่างครับ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2564

สุนัขกับมนุษย์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
ภาพสลักรูป “น้องหมา” ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
“สุนัข” มาจากคำในภาษาบาลี-สันสกฤตว่า “ศุนก-สุนข” (Śunaka- Shunakha) ที่แปลว่าหมา ส่วนคำว่า “หมา” มาจากเสียงที่เพี้ยนในท้องถิ่นในคำสันสกฤตว่า “ศฺวานฺ-ศฺวนฺ (Śvan-Śvā- Śvānau-Śvānaḥ) ที่หมายความถึงน้องหมาเช่นเดียวกัน 
.
ถึงจะปรากฏภาพศิลปะของน้องหมาที่มีความเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เป็นภาพเขียนสีรูปสุนัขโดด ๆ บนเพิงผาหินปูนที่ เขาวังกุลา จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีอายุประมาณ 3,500 – 4,000 ปี ภาพสุนัขกับมนุษย์ที่ ถ้ำประทุน บนเทือกเขาปลาร้า ในจังหวัดอุทัยธานี และภาพสุนัขตัวผู้ในท่ามกลางมนุษย์และนายพรานที่เพิงผาหินทราย เขาจันทร์งาม อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ที่น่าจะอายุประมาณ 3,200 - 3,500 ปี ที่แสดงให้ร่องรอยหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างคนกับน้องหมา (สุนัขที่ถูกเลี้ยงโดยมนุษย์- Domestication Dog) ในภูมิภาคนี้ แต่กระนั้นรูปศิลปะที่เป็นภาพสลักของน้องหมาก็ยังไม่เคยปรากฏให้เห็นครับ  
.
ถึงจะปรากฏเรื่องราวของน้องหมาประกอบในเรื่องเล่าชาดกทางพุทธศาสนา “อรรถกถาชาดก” (Jātakatthavaṇṇanā)  ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 2,300 ปี (พุทธศตวรรษที่ 3- 4 ) จำนวน 8 เรื่อง ที่น่าจะส่งอิทธิพลเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกับคติความเชื่อทางศาสนา ทั้ง “กุกกุรชาดก”-พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสุนัข (Kukkura-jātaka)  “อภิณหชาดก”-ช้างกับสุนัข (Abhiṇha-jātaka) “สิคาลชาดก”-พราหมณ์เชื่อสุนัข (Sigāla-Jātaka) “สิคาลชาดก”-สุนัขในท้องช้าง (Sigāla-Jātaka) “สุนขชาดก”-สุนัขฉลาด (Sunakha-jātaka) “มหาโพธิชาดก”-สุนัขโกไลยกะ (Mahābodhi-jātaka)  มหานารทกัสสปชาดก-ฝูงสุนัขในนรก (Mahānāradakassapa-jātaka) “มหากัณหชาดก”–สุนัขดำกินคน Mahā-Kaṇha-Jātaka. และ “มโหสถชาดก”-สุนัขกับแพะ (Mahā-Ummagga-Jātaka) 
.
แต่ก็ยังไม่ปรากฏรูปศิลปะของน้องหมาให้เห็นอย่างชัดเจน นอกไปจากภาพสลักบนใบเสมาหินทรายสมัยวัฒนธรรมทวารวดี เรื่อง “มโหสถชาดก"  หรือมโหสถบัณฑิตแห่งมิถิลานคร ซึ่งก็เป็นเรื่องราวของสุนัชกับแพะ ที่มีการแลกเปลี่ยนอาหารระหว่างกันเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น ที่วัดโพธิ์ชัยเสมาราม เมืองฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์  อายุในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 14  เป็นภาพสลักของน้องหมาที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยครับ 
.
------------------------
*** ในเมืองวิเทหะรัฐ ได้มีเหตุการณ์แปลก ๆ เกิดขึ้น นั้นคือ มีสุนัขตัวหนึ่งเข้าไปคาบหญ้าจากโรงเลี้ยงช้าง แล้วนำมาให้แพะกิน ส่วนเจ้าแพะก็นำเอาชิ้นเนื้อ เศษอาหาร ในโรงครัวมาให้สุนัขกิน ทั้งสองพึ่งพากันอย่างนี้ เหตุที่เกิดขึ้นนี้เนื่องมาจาก สุนัขเดิมอาศัยอยู่ในโรงครัวได้อาศัยเศษอาหารที่พ่อครัวแม่ครัวให้เป็นอาหาร แต่อยู่มาวันหนึ่งไม่สามารถห้ามใจไปกินเครื่องเสวยที่เตรียมไว้ถวายแก่พระราชา จึงโดนขับไล่ทุบตีออกมา ส่วนเจ้าแพะเข้าไปลักขโมยกินฟางที่เก็บไว้เลี้ยงช้าง ทำให้คนเลี้ยงช้างทุบตีจนหลังคด เมื่อสัตว์ทั้งสองมาเจอก็เกิดความคิดที่จะให้สุนัขไปขโมยหญ้าแล้วนำมาให้แพะกิน เนื่องจากสุนัขไม่กินหญ้าก็ไม่เป็นที่สงสัย และแพะก็ไปขโมยชิ้นเนื้อในโรงครัวมาให้สุนัขกิน เพราะไม่มีใครสงสัยเช่นกัน 
.
วันหนึ่งพระเจ้าวิเทหะราชได้ทอดพระเนตรเห็นความสัมพันธ์ของสัตว์ทั้งสอง ก็นำมาคิดเป็นปัญหาเพื่อทดสอบปัญญาของนักปราชญ์ทั้งห้าที่รับใช้พระองค์อยู่ในราชสำนัก จึงได้ถามว่า"สัตว์ที่เป็นศัตรูกัน ไม่เคยคิดร่วมเดินทางกัน มาในวันนี้ร่วมเดินทางกันได้อย่างไร"ถ้าวันนี้ใครตอบไม่ได้จะขับไล่ออกจากพระราชสำนัก มโหสถบัณฑิตคิดในใจว่า วันนี้พระราชาน่าจะได้เห็นอะไรสักอย่าง จึงได้นำมาเป็นโจทย์ปัญหา ถ้าออกไปสืบหาน่าจะเจอ แต่ก็คิดว่า น่าจะรอให้นักปราชญ์ทั้งสี่ของผ่อนผันไปก่อนหนึ่ง และนักปราชญ์ทั้งสี่ซึ่งจนปัญญาก็ขอผ่อนผันจะให้คำตอบเป็นวันรุ่งขึ้นตามนั้น
.
มโหสถบัณฑิต จึงได้ไปเข้าเฝ้าพระนางอุทุมพรแล้วถามว่า วันนี้พระราชาได้เสด็จไปที่ใดแล้วประทับที่ได้เป็นเวลานาน ๆ พระนางก็บอกว่าเสด็จไปที่โรงเลี้ยงช้างและโรงครัว มโหสถก็เลยไปสำรวจก็พบว่าความสัมพันธ์ของสัตว์ทั้งสอง สุนัขกับแพะที่พึ่งพาอาศัยกัน ก็สามารถแก้ปัญหาของพระราชาได้ ส่วนนักปราชญ์ทั้งสี่จนปัญญาจึงได้พากันมาหามโหสถขอให้มโหสถช่วย มโหสถจึงได้เรียกนักปราชญ์มาพอทีละคนแล้วให้คาถาไปท่อง เพื่อเป็นคำตอบ
.
พอถึงวันรุ่งขึ้น นักปราชญ์ทั้งห้าก็ได้ให้คำตอบแก่พระราชา เสนกะเป็นคนตอบคนแรกก็ท่องคาถาด้วยความทนงตนว่า
.
"เนื้อแพะเป็นที่โปรดปรานชาวเมือง แต่เนื้อสุนัขหาเป็นเช่นนั้นไม่ เหตุนี้แพะกับสุนัขจึงได้เป็นเพื่อนกัน” พระราชาก็พอพระทัย ต่อไปก็ไปถามปุกกุสะ ท่านก็ท่องคาถาที่มโหสถบัณฑิตให้มาว่า 
.
"ธรรมเขาจะขี่ม้า เขาจะใช้หนังแพะเป็นเครื่องลาด แต่ไมใช้หนังสุนัขเป็นเครื่องลาด เหตุนี้แพะกับสุนัขจึงเป็นสหายกันได้" พระราชาก็พอพระทัย จึงได้ตรัสถามคนต่อไป ท่านกามินทร์ก็ตอบว่า 
.
"แพะมีเขาโค้งงอ แต่สุนัขไม่มีเขา เหตุนี้ทั้งแพะและสุนัขจึงเป็นเพื่อนกันได้" พระราชาก็ไปถามนักปราชญ์คนที่สี่คือท่านเทวินทร์ต่อไป ท่านก็ตอบว่า 
.
"แพะกินใบหญ้าหรือใบไม้ แต่สุนัขไม่กินหญ้าหรือใบไม้ แต่กลับจับกระต่ายหรือแมวกิน ประหลาดสุนัขกับแพะจึงเป็นเพื่อนกันได้" นักปราชญ์ทั้งสี่ท่าน ท่องคาถาตามมโหสถบัณฑิต แต่ก็คงไม่ได้เข้าใจในคำตอบเหล่านั้นเลยแม้แต่คนเดียว มาถึงพระมโหสถบัณฑิต ได้ตอบว่า 
.
*** "แพะมี 4 เท้า สุนัขมี 4 เท้า แม้สัตว์ทั้งสองจะมีอาหารแตกต่างกัน แต่สัตว์ทั้งสองก็หาอาหารของอีกฝ่ายแล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันกิน เหตุนี้สัตว์ทั้งสองจึงเป็นเพื่อนกัน" พระเจ้าวิเทหะราชก็เป็นที่พอพระทัยยิ่งนัก จึงได้พระราชทานเงินรางวัลให้กับนักปราชญ์ทั้ง 5 คนคนละ 5 ชั่ง
.
พระนางอุทุมพรเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด ก็รู้สึกไม่พอพระทัย เนื่องจากรู้ว่ามโหสถบัณฑิตเป็นคิดหาคำตอบแต่เพียงผู้เดียว จึงได้ไปบอกกับพระราชาถึงเหตุการณ์ทั้งหมด แต่ครั้นพระราชาให้เพิ่มรางวัลให้มโหสถบัณฑิตก็อาจจะเป็นที่ครหาของประชาชน โดยเฉพาะนักปราชญ์ทั้งสี่ได้ จึงได้คิดปัญหาขึ้นมาอีกหนึ่งข้อ นั่นคือ 
.
"คนมีปัญญาแต่ไร้ทรัพย์ กับคนที่มีทรัพย์แต่ไร้ปัญญา คนไหนดีกว่ากัน" 
.
เสนกะก็รีบตอบว่าคนมีทรัพย์ดีกว่า จะเห็นว่าคนมีปัญญาหรือนักปราชญ์ทั้งหลายก็เป็นข้ารับใช้ของผู้มีทรัพย์มาก มโหสถบัณฑิตก็แก้ว่า คนที่มีปัญญาจะไม่ทำเรื่องที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ถ้าคนที่ไม่มีปัญญาจะแสวงหาทรัพย์ก็อาจจะหาด้วยวิธีที่ผิด เพราะเห็นแก่ทรัพย์ได้ 
.
เสนกะก็เปรียบว่า ท่านเศรษฐีท่านหนึ่งมีทรัพย์มาก ถึงแม้เวลาพูดน้ำลายจะไหลย้อยต้องเอาดอกบัวมารองแล้วทิ้งไป นักเลงบ้างคนยังนำไปล้างน้ำแล้วเอาบูชา เหตุนี้ทรัพย์จึงได้กว่าปัญญา 
.
มโหสถบัณฑิตก็แก้ความต่อไปว่า "คนเห็นแก่ทรัพย์ ก็เหมือนกับคนที่หวั่นไหวไปกับทรัพย์ ตั้งหน้าตั้งตาจะได้ทรัพย์เพียงอย่างเดียว พอไดก็สุข พอทรัพย์หมดก็ทุกข์ เหมือนปลาที่เขาโยนไปไว้บนบก ต้องดิ้นกระเสือกกระสน ปัญญาจึงดีกว่าทรัพย์พระเจ้าข้า”
เสนกะก็แก้กลับมาว่า ปัญญาก็เหมือนแม่น้ำที่ต้องไหลไปรวมกันที่ทะเล ผู้มีทรัพย์ก็เหมือนทะเล จึงมีคนที่มีปัญญามารับใช้ มโหสถบัณฑิตก็โต้ไปว่า คนมีทรัพย์เปรียบเหมือนทะเล แต่ทะเลก็มีคลื่นไม่มีความมั่นคง หวั่นไหวไปตามกระแสตลอด กลับกันคนที่มีปัญญากลับเปรียบเหมือนฝั่ง ถึงมีจะมีคลื่นสักเท่าใดก็ไม่สามารถจะสู้ฝั่งได้ เพราะฝั่งมั่นคงกว่า เหตุนี้ปัญญาจึงดีกว่าทรัพย์ 
.
เสนกะรีบตอบกลับมาว่า ก็ให้ดูที่พวกเรานักปราชญ์ทั้ง 5 คน เป็นผู้ที่มีปัญญามาก พวกก็ยังเป็นข้าราชบริพารในข้าพระองค์ ยังต้องให้พระองค์ผู้มีทรัพย์ค่อยชุบเลี้ยง เหตุนี้ทรัพย์จึงได้กว่าปัญญา และบอกว่า ถ้ามโหสถบัณฑิตแก้ความนี้ได้ก็จะยอมแพ้ มโหสถบัณฑิตจึงแก้ว่า 
.
คนที่มีปัญญาจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ส่วนคนที่ไม่มีปัญญาก็จะทำงานถูก ๆ ผิด ๆ หรือไม่โปร่งใส อาจจะเห็นแก่ทรัพย์ จนไม่ได้สนใจในสิ่งใด อาจจะฉ้อราษฎร์บังหลวงก็ได้ เหตุนี้ปัญญาจึงประเสริฐกว่าทรัพย์ พอมโหสถบัณฑิตกล่าวจบพระราชาก็ทรงสรวลออกมา เป็นอันว่ามโหสถบัณฑิตก็ชนะปัญญาของนักปราชญ์ทั้งสี่อีกวาระ พระราชาก็พระราชทานทรัพย์ให้แก่มโหสถบัณฑิตเป็นอันมาก จนทำให้นักปราชญ์ทั้งสี่เจ็บใจและแค้นมโหสถบัณฑิต…. (เรื่องมโหสถบัณฑิต ยังมีอีกยาวครับ)
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.



วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2564

โคชานิยชาดก วัดศรีชุม

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
เรื่องเล่าในอุโมงค์ที่วัดศรีชุม “โคชานิยชาดก” เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอาชา 
แผ่นหินจารลายเส้นเล่าเรื่องราว “ชาดก 500 พระชาติ” พร้อมอักษรกำกับเรื่องราวที่เรียกว่า “จารึกภาพชาดกวัดศรีชุม” สลักขึ้นจากหินดินดาน พบติดประดับอยู่บนเพดานของช่องทางเดิน ช่องบันไดและช่องหน้าต่าง เฉพาะในอุโมงค์ทางเดินภายในผนังกำแพงอาคารเรือนมณฑป-เรือนธาตุ ประธานของวัดศรีชุม เมืองโบราณสุโขทัย  
.
แผ่นหินแต่ละแผ่นมีขนาดไม่เท่ากัน บางแผ่นอาจจารภาพได้เพียงเรื่องเดียว แต่บางแผ่นอาจจารได้มากถึง 3-6 เรื่องในแผ่นเดียว  แผ่นหินดินดานส่วนใหญ่จะชำรุดแตกหัก ลายเส้นภาพและตัวอักษรลบเลือน มีที่จารเป็นชาดกจำนวน 40 แผ่น จากทั้งหมด 52 แผ่น ที่เหลือเป็นภาพบัวบานและพระพุทธบาทครับ  
.
ภาพสลักเรื่องชาดกบนแผ่นหิน มีรูปแบบทางศิลปะตามอิทธิพลของศิลปะลังกาและงานศิลปะรามัญ-พุกาม    ตัวอักษรไทยที่จารึกกำกับเรื่องในแต่ละแผ่นนั้น มีอายุอักษรในช่วงปลายสมัยพระญาลิไท (ฦๅไทย-ลิเทยฺย) ไปถึงช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20  ซึ่งน่าจะเริ่มต้นสลักเรื่องราวชาดก โดยกำกับของพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสวามี (มหาเถระศรีศรัทธา)   
.
เรื่องราวชาดก 500 พระชาติ ทั้งหมดอยู่ใน “อรรถกถาชาดก”  (Jātakatthavaṇṇanā) ในภาษาบาลี ที่มีทั้งหมด 547 (550) เรื่อง ตามคติของฝ่ายเถรวาท (Theravāda) เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตนของพระโพธิสัตว์ในแต่ละภพชาติก่อนจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงการกระทำความดีและความชั่วผ่านเรื่องเล่าในนิทาน เป็นคติที่ได้รับความนิยมในอาณาจักรพุกามต่อเนื่องมาจนถึงอาณาจักรมอญ-หงสาวดี ที่เริ่มปรากฏความนิยมในรัฐสุโขทัยประมาณช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 หลังจากที่ราชสำนักหมดความนิยมในคติวัชรยานแบบเขมรและกัมโพชสงฆ์ปักขะในยุคก่อนหน้าไปครับ
.
-------------------------------
*** ชาดกเรื่อง “โคชานิยชาดก-โภชาชานียชาดก” (Bhojājānīya-Jātaka)  อยู่บนแผ่นหินจารลำดับที่ 40  ติดอยู่เหนือเพดานบริเวณปากช่องลมผนังด้านใน ฝั่งทิศใต้ของพระอจนะ คู่กับภาพชาดกเรื่อง “กุกกุรชาดก” (Kukkura-Jātaka)  โดยสลักเป็นภาพของพระเจ้าพรหมทัตประทับนั่งขัดสมาธิแสดงอัญชลี มีดอกไม้ 3 ดอก เหนือพระเศียร อยู่ทางซ้าย ด้านหน้าเป็นภาพดอกไม้สวรรค์ (อิทธิพลจีน-ราชวงศ์หยวน) ในความหมายว่าเรื่องราวชาดกนี้เป็นคำสอนมงคล (ด้วยความเบิกบานดั่งดอกไม้) ตรงกลางเป็นรูปอาชา (พระโพธิสัตว์) ประทับบนอาสนะ หมอบหันหน้าไปทางขวา รูปของทั้งสองอยู่บนราชรถคันเดียวกัน ซีกขวาเป็นรูปท้าวพญา 7 องค์ นั่งประนมมือ มีอักษรจารึกอยู่ด้านบน 3 บรรทัด ว่า “....โคชานียชาดก พระโพธิสตว เปนม่า เทสสนาธรรม แด พญา เจดคน อนนเปนคำรบ ญีสิบสี่....”  
.
---------------- 
***  ครั้งสมัยพระเจ้าพรหมทัต (Brahmadatta) ครองราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี พระองค์มีม้าสินธพอาชาไนย (Thoroughbred Sindh Horse) ชื่อว่า " โคชานียะ" เป็นม้าที่ได้รับการฝึกมาแล้วอย่างดีเยี่ยมมีรูปร่างองอาจล่ำสัน มีพละกำลังเป็นเลิศกว่าม้าทั้งปวง มีฝีเท้าเร็วประหนึ่งสายฟ้า 
.
กล่าวกันว่า เมื่อพระราชาขี่ม้าสินธพอาชาไนยเข้าสู่สนามรบ ต่อให้ข้าศึกมาพร้อมกันทั้งสิบทิศ ก็ยังต้องพ่ายแพ้ แม้เพียงเสียงร้องที่คึกคะนอง  ก็ยังทำให้ม้าของข้าศึกหวาดผวา 
.
พระเจ้าพรหมทัต ทรงโปรดปราน ถือเป็นม้ามิ่งมงคลคู่พระบารมี สั่งให้ดูแลจัดที่อยู่อย่างดีและอาหารรสเลิศให้เสมือนจัดให้สำหรับบุคคลผู้สูงศักดิ์
.
พระนครพาราณสีนั้นมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ กษัตริย์เมืองต่าง ๆ ล้วนอยากครอบครองแต่ด้วยมีทหารกล้าและมีพระราชาที่สามารถทั้งยังมีม้าอาชาไนยเช่นนี้จึงเป็นที่ครั่นคร้ามยำเกรง
.
ต่อมาเมื่อพระเจ้าพรหมทัตชราภาพลง พญาจากหัวเมืองเจ็ดนครได้ร่วมมือกันนำกองทัพบุกเข้าล้อมกรุงพาราณสีไว้ แล้วแต่งทูตมาเจรจาขอให้พระเจ้าพรหมทัตยอมแพ้
.
พระเจ้าพรหมทัตทรงเรียกประชุมขุนศึกและเหล่าขุนนาง ที่ประชุมมีมติให้แม่ทัพม้าที่มีความสามารถผู้หนึ่งเป็นผู้ออกไปรับศึกครั้งนี้ แม่ทัพได้ขอขี่ม้าสินธพโคชานิยะนำไพร่พลบุกเข้าทลายค่ายศัตรูอย่างหนักหน่วงรวดเร็วจนจับพญาองค์แรกได้
.
กองทัพพาราณสีบุกเข้าโจมตีกองทัพค่ายอื่นๆ จนสามารถ จับตัวพญาได้อีกห้าองค์ รวมเป็น 6 องค์ แต่ในระหว่างการรบกับพญาองค์ที่หกนั้น โคชนียะอาชาถูกธนูยิง จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ไม่อาจยืนทรงตัวอยู่ได้
.
หลังจากที่จับพญาองค์ที่หกได้แล้ว แม่ทัพได้ถอดเกราะให้โคชานียะอาชาสบายตัวขึ้น แล้วจึงถามว่า ".... โคชานียะเอ๋ย เจ้าถูกธนูบาดเจ็บสาหัสถึงเพียงนี้ คงจะออกไปร่วมเป็นร่วมตายกับเราไม่ได้อีกแล้ว พาราณสีมีม้าศึกมากมาย แต่จะเทียบเทียมเจ้าได้นั้นไม่มีเลย แต่ถึงเพียงนี้แล้ว เจ้าจงพักรักษาตัวก่อนเถิด ข้าจะออกรบเพื่อสิ้นสุดสงครามครั้งนี้ให้ได้โดยเร็ว...."
....
โคชานียะกล่าวตอบว่า “....เพื่อนเอ๋ย ม้าศึกตัวอื่นที่ท่านหวังจะพาท่านบุกเข้าทำลายค่ายที่เจ็ดนั้น นอกจากเราแล้ว ยังไม่เห็นใครเลย ...”
.
ถึงแม้โคชานียะจะบาดเจ็บสาหัสเพียงใด แต่ก็ยังมีความเพียรไม่หวาดหวั่นต่อความเจ็บปวด ด้วยรู้ว่ามีเพียงตนเองเท่านั้นที่จะพาแม่ทัพผู้กล้าออกรบจนชนะได้ “...หากว่าเรายอมแพ้ต่อการเจ็บปวดเสียตั้งแต่ตอนนี้ ทัพเราก็คงต้องพ่ายแพ้ด้วยความเหนื่อยล้าเป็นแน่....”
.
“...เราจะไม่ยอมให้งานที่ทำมาถึงเพียงนี้แล้วต้องเสียเปล่า ขึ้นชื่อว่าสินธพอาชาไนย แม้จะถูกธนูบาดเจ็บสาหัสจนต้องนอนล้มอยู่กับพื้นดินก็ยังมีพละกำลังมากกว่าม้าทั่วไป เราจะไม่ขอละทิ้งความเพียรอย่างเด็ดขาด ขอท่านแม่ทัพ จงช่วยพยุงเราให้ลุกขึ้นแล้วผูกเกราะออกรบให้แก่เราด้วยเถิด...." แม่ทัพและโคชานิยะที่บาดเจ็บเจียนตาย จึงใส่เกราะเข้าสู่สมรภูมิครั้งสุดท้ายร่วมกัน....
.
โคชานิยะข่มความเจ็บปวดพาแม่ทัพบุกตะลุยเข้าทำลายค่ายที่เจ็ด จนสามารถจับพญาองค์สุดท้ายได้
.
แต่เมื่อโคชานียะเดินทางกลับมาถึงหน้าพระทวารหลวง ก็สิ้นแรงล้มลง พระเจ้าพรหมทัตรีบเสด็จมาดูอาการของโคชานียะด้วยความห่วงใยอย่างที่สุด 
.
อาชาโคชานียะ ทูลขอต่อพระเจ้าพรหมทัตว่า "... มหาราชาเจ้าข้า ขออย่าให้ท่านแม่ทัพต้องได้รับโทษเพราะเหตุที่ข้าบาดเจ็บเลย และขอพระองค์อย่าทรงสั่งประหารพญาทั้ง 7 จงให้เขาได้กระทำสัตย์สาบานแล้วปล่อยคืนกลับไป บ้านเมืองแว่นแคว้นทั้งหลายจะได้สงบสุขไปอีกยาวนาน... 
.
และจึงกล่าวแก่ทุกคนว่า “....ขอให้พระองค์และเหล่าพญาทั้ง 7 ละเว้นการเป็นศัตรูผู้อาฆาต ได้โปรดจงบำเพ็ญทานบารมี รักษาศีล ทรงครองราชย์สมบัติโดยธรรม ด้วยเถิด...” 
.
เมื่อกล่าวจบ โคชานิยะอาชาจึงได้สิ้นใจลง พระเจ้าพรหมทัตโปรดให้ทำพิธีศพม้าสินธพโคชานียะอย่างสมเกียรติเช่นนักรบผู้กล้าหาญ และทรงปฏิบัติตามคำทูลขอของอาชาผู้แสดงความเพียรอันประเสริฐ จนเป็นที่ประจักษ์ทุกประการครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆 
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.

วัดศรีชุม สุโขทัย

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
เรื่องเล่าในอุโมงค์ที่วัดศรีชุม “โคชานิยชาดก” เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอาชา 
แผ่นหินจารลายเส้นเล่าเรื่องราว “ชาดก 500 พระชาติ” พร้อมอักษรกำกับเรื่องราวที่เรียกว่า “จารึกภาพชาดกวัดศรีชุม” สลักขึ้นจากหินดินดาน พบติดประดับอยู่บนเพดานของช่องทางเดิน ช่องบันไดและช่องหน้าต่าง เฉพาะในอุโมงค์ทางเดินภายในผนังกำแพงอาคารเรือนมณฑป-เรือนธาตุ ประธานของวัดศรีชุม เมืองโบราณสุโขทัย  
.
แผ่นหินแต่ละแผ่นมีขนาดไม่เท่ากัน บางแผ่นอาจจารภาพได้เพียงเรื่องเดียว แต่บางแผ่นอาจจารได้มากถึง 3-6 เรื่องในแผ่นเดียว  แผ่นหินดินดานส่วนใหญ่จะชำรุดแตกหัก ลายเส้นภาพและตัวอักษรลบเลือน มีที่จารเป็นชาดกจำนวน 40 แผ่น จากทั้งหมด 52 แผ่น ที่เหลือเป็นภาพบัวบานและพระพุทธบาทครับ  
.
ภาพสลักเรื่องชาดกบนแผ่นหิน มีรูปแบบทางศิลปะตามอิทธิพลของศิลปะลังกาและงานศิลปะรามัญ-พุกาม    ตัวอักษรไทยที่จารึกกำกับเรื่องในแต่ละแผ่นนั้น มีอายุอักษรในช่วงปลายสมัยพระญาลิไท (ฦๅไทย-ลิเทยฺย) ไปถึงช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20  ซึ่งน่าจะเริ่มต้นสลักเรื่องราวชาดก โดยกำกับของพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสวามี (มหาเถระศรีศรัทธา)   
.
เรื่องราวชาดก 500 พระชาติ ทั้งหมดอยู่ใน “อรรถกถาชาดก”  (Jātakatthavaṇṇanā) ในภาษาบาลี ที่มีทั้งหมด 547 (550) เรื่อง ตามคติของฝ่ายเถรวาท (Theravāda) เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตนของพระโพธิสัตว์ในแต่ละภพชาติก่อนจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงการกระทำความดีและความชั่วผ่านเรื่องเล่าในนิทาน เป็นคติที่ได้รับความนิยมในอาณาจักรพุกามต่อเนื่องมาจนถึงอาณาจักรมอญ-หงสาวดี ที่เริ่มปรากฏความนิยมในรัฐสุโขทัยประมาณช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 หลังจากที่ราชสำนักหมดความนิยมในคติวัชรยานแบบเขมรและกัมโพชสงฆ์ปักขะในยุคก่อนหน้าไปครับ
.
-------------------------------
*** ชาดกเรื่อง “โคชานิยชาดก-โภชาชานียชาดก” (Bhojājānīya-Jātaka)  อยู่บนแผ่นหินจารลำดับที่ 40  ติดอยู่เหนือเพดานบริเวณปากช่องลมผนังด้านใน ฝั่งทิศใต้ของพระอจนะ คู่กับภาพชาดกเรื่อง “กุกกุรชาดก” (Kukkura-Jātaka)  โดยสลักเป็นภาพของพระเจ้าพรหมทัตประทับนั่งขัดสมาธิแสดงอัญชลี มีดอกไม้ 3 ดอก เหนือพระเศียร อยู่ทางซ้าย ด้านหน้าเป็นภาพดอกไม้สวรรค์ (อิทธิพลจีน-ราชวงศ์หยวน) ในความหมายว่าเรื่องราวชาดกนี้เป็นคำสอนมงคล (ด้วยความเบิกบานดั่งดอกไม้) ตรงกลางเป็นรูปอาชา (พระโพธิสัตว์) ประทับบนอาสนะ หมอบหันหน้าไปทางขวา รูปของทั้งสองอยู่บนราชรถคันเดียวกัน ซีกขวาเป็นรูปท้าวพญา 7 องค์ นั่งประนมมือ มีอักษรจารึกอยู่ด้านบน 3 บรรทัด ว่า “....โคชานียชาดก พระโพธิสตว เปนม่า เทสสนาธรรม แด พญา เจดคน อนนเปนคำรบ ญีสิบสี่....”  
.
---------------- 
***  ครั้งสมัยพระเจ้าพรหมทัต (Brahmadatta) ครองราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี พระองค์มีม้าสินธพอาชาไนย (Thoroughbred Sindh Horse) ชื่อว่า " โคชานียะ" เป็นม้าที่ได้รับการฝึกมาแล้วอย่างดีเยี่ยมมีรูปร่างองอาจล่ำสัน มีพละกำลังเป็นเลิศกว่าม้าทั้งปวง มีฝีเท้าเร็วประหนึ่งสายฟ้า 
.
กล่าวกันว่า เมื่อพระราชาขี่ม้าสินธพอาชาไนยเข้าสู่สนามรบ ต่อให้ข้าศึกมาพร้อมกันทั้งสิบทิศ ก็ยังต้องพ่ายแพ้ แม้เพียงเสียงร้องที่คึกคะนอง  ก็ยังทำให้ม้าของข้าศึกหวาดผวา 
.
พระเจ้าพรหมทัต ทรงโปรดปราน ถือเป็นม้ามิ่งมงคลคู่พระบารมี สั่งให้ดูแลจัดที่อยู่อย่างดีและอาหารรสเลิศให้เสมือนจัดให้สำหรับบุคคลผู้สูงศักดิ์
.
พระนครพาราณสีนั้นมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ กษัตริย์เมืองต่าง ๆ ล้วนอยากครอบครองแต่ด้วยมีทหารกล้าและมีพระราชาที่สามารถทั้งยังมีม้าอาชาไนยเช่นนี้จึงเป็นที่ครั่นคร้ามยำเกรง
.
ต่อมาเมื่อพระเจ้าพรหมทัตชราภาพลง พญาจากหัวเมืองเจ็ดนครได้ร่วมมือกันนำกองทัพบุกเข้าล้อมกรุงพาราณสีไว้ แล้วแต่งทูตมาเจรจาขอให้พระเจ้าพรหมทัตยอมแพ้
.
พระเจ้าพรหมทัตทรงเรียกประชุมขุนศึกและเหล่าขุนนาง ที่ประชุมมีมติให้แม่ทัพม้าที่มีความสามารถผู้หนึ่งเป็นผู้ออกไปรับศึกครั้งนี้ แม่ทัพได้ขอขี่ม้าสินธพโคชานิยะนำไพร่พลบุกเข้าทลายค่ายศัตรูอย่างหนักหน่วงรวดเร็วจนจับพญาองค์แรกได้
.
กองทัพพาราณสีบุกเข้าโจมตีกองทัพค่ายอื่นๆ จนสามารถ จับตัวพญาได้อีกห้าองค์ รวมเป็น 6 องค์ แต่ในระหว่างการรบกับพญาองค์ที่หกนั้น โคชนียะอาชาถูกธนูยิง จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ไม่อาจยืนทรงตัวอยู่ได้
.
หลังจากที่จับพญาองค์ที่หกได้แล้ว แม่ทัพได้ถอดเกราะให้โคชานียะอาชาสบายตัวขึ้น แล้วจึงถามว่า ".... โคชานียะเอ๋ย เจ้าถูกธนูบาดเจ็บสาหัสถึงเพียงนี้ คงจะออกไปร่วมเป็นร่วมตายกับเราไม่ได้อีกแล้ว พาราณสีมีม้าศึกมากมาย แต่จะเทียบเทียมเจ้าได้นั้นไม่มีเลย แต่ถึงเพียงนี้แล้ว เจ้าจงพักรักษาตัวก่อนเถิด ข้าจะออกรบเพื่อสิ้นสุดสงครามครั้งนี้ให้ได้โดยเร็ว...."
....
โคชานียะกล่าวตอบว่า “....เพื่อนเอ๋ย ม้าศึกตัวอื่นที่ท่านหวังจะพาท่านบุกเข้าทำลายค่ายที่เจ็ดนั้น นอกจากเราแล้ว ยังไม่เห็นใครเลย ...”
.
ถึงแม้โคชานียะจะบาดเจ็บสาหัสเพียงใด แต่ก็ยังมีความเพียรไม่หวาดหวั่นต่อความเจ็บปวด ด้วยรู้ว่ามีเพียงตนเองเท่านั้นที่จะพาแม่ทัพผู้กล้าออกรบจนชนะได้ “...หากว่าเรายอมแพ้ต่อการเจ็บปวดเสียตั้งแต่ตอนนี้ ทัพเราก็คงต้องพ่ายแพ้ด้วยความเหนื่อยล้าเป็นแน่....”
.
“...เราจะไม่ยอมให้งานที่ทำมาถึงเพียงนี้แล้วต้องเสียเปล่า ขึ้นชื่อว่าสินธพอาชาไนย แม้จะถูกธนูบาดเจ็บสาหัสจนต้องนอนล้มอยู่กับพื้นดินก็ยังมีพละกำลังมากกว่าม้าทั่วไป เราจะไม่ขอละทิ้งความเพียรอย่างเด็ดขาด ขอท่านแม่ทัพ จงช่วยพยุงเราให้ลุกขึ้นแล้วผูกเกราะออกรบให้แก่เราด้วยเถิด...." แม่ทัพและโคชานิยะที่บาดเจ็บเจียนตาย จึงใส่เกราะเข้าสู่สมรภูมิครั้งสุดท้ายร่วมกัน....
.
โคชานิยะข่มความเจ็บปวดพาแม่ทัพบุกตะลุยเข้าทำลายค่ายที่เจ็ด จนสามารถจับพญาองค์สุดท้ายได้
.
แต่เมื่อโคชานียะเดินทางกลับมาถึงหน้าพระทวารหลวง ก็สิ้นแรงล้มลง พระเจ้าพรหมทัตรีบเสด็จมาดูอาการของโคชานียะด้วยความห่วงใยอย่างที่สุด 
.
อาชาโคชานียะ ทูลขอต่อพระเจ้าพรหมทัตว่า "... มหาราชาเจ้าข้า ขออย่าให้ท่านแม่ทัพต้องได้รับโทษเพราะเหตุที่ข้าบาดเจ็บเลย และขอพระองค์อย่าทรงสั่งประหารพญาทั้ง 7 จงให้เขาได้กระทำสัตย์สาบานแล้วปล่อยคืนกลับไป บ้านเมืองแว่นแคว้นทั้งหลายจะได้สงบสุขไปอีกยาวนาน... 
.
และจึงกล่าวแก่ทุกคนว่า “....ขอให้พระองค์และเหล่าพญาทั้ง 7 ละเว้นการเป็นศัตรูผู้อาฆาต ได้โปรดจงบำเพ็ญทานบารมี รักษาศีล ทรงครองราชย์สมบัติโดยธรรม ด้วยเถิด...” 
.
เมื่อกล่าวจบ โคชานิยะอาชาจึงได้สิ้นใจลง พระเจ้าพรหมทัตโปรดให้ทำพิธีศพม้าสินธพโคชานียะอย่างสมเกียรติเช่นนักรบผู้กล้าหาญ และทรงปฏิบัติตามคำทูลขอของอาชาผู้แสดงความเพียรอันประเสริฐ จนเป็นที่ประจักษ์ทุกประการครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.



พระสาวกเชื้อสายอิราเนียน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พระสาวกเชื้อสายอิราเนียนในสมัยพุทธกาล

ชมพูทวีปเป็นดินแดนกว้างใหญ่ที่มีผู้คนอพยพมาปักหลักจากหลากหลายชาติพันธุ์ หลายกระแส และหลายระลอก ซึ่งก็ส่งอิทธิพลทับซ้อนระหว่างกัน การเข้ามาของพวกอารยัน(Aryan)หรือกลุ่มอินโด-ยุโรเปียนจากตะวันตกพร้อมกับความเชื่อแบบพระเวทครั้งสำคัญเกิดขึ้นประมาณ 1,500 ปีก่อนค.ศ. พวกนี้ได้กลมกลืนและขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมและภาษาเหนือชนพื้นเมืองซึ่งร่นลงใต้ เป็นการก่อรูปสภาพสังคมอินเดีย  กลุ่มอารยันที่อพยพเข้ามาทางตะวันออกก็ยิ่งปะปนชนพื้นเมืองมากขึ้น แต่พวกที่อยู่ทางตะวันตกและทางเหนือนั้นยังรักษาสายเลือดและประเพณีเดิมมากกว่า ลัทธิพราหมณ์ก็สะพรัดมาจากทางตะวันตกเช่นกัน  

"อารยะ" หรือ อารยัน เป็นคำที่ใช้เรียกตนเองโดยกลุ่มอินโด-อิราเนียน (Indo-Iranian) หรือบรรพบุรุษร่วมกันระหว่างชาวอิหร่านและอินเดียซึ่งต่อมาได้แยกเป็นหลายกลุ่มหลายชนเผ่ากระจายตัวออกไป  พวกอิราเนียนสายตะวันออกดูจะเป็นเผ่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในจำนวนนั้นมีกลุ่มเผ่าเร่ร่อนในทุ่งหญ้าแห่งเอเชียกลาง เช่น พวกศกะ(ไซเธียน), อัศวกะ, ฤษิกะ ฯลฯ ซึ่งคงเป็นพวกเดียวกับที่ปรากฏในบันทึกจีนโบราณ และนอกจากนั้นก็มีพวกที่เริ่มสร้างบ้านแปงเมือง เช่น ภัลลิกะ/พาหลิกะ (แบกเตรีย)

ในสมัยมหาชนบท ใกล้เคียงยุคพุทธกาล แว่นแคว้นที่สันนิษฐานกันว่ามีเชื้อสายอิราเนียน ได้แก่ แคว้นที่อยู่บนเส้นทางการค้าสายเหนือหรืออุตตราปถ ทางชายแดนทางตะวันตก ถูกมองว่าเป็นแคว้นชายแดน(อปรันตกชนบท) นอกไปจากเขตแดนกลาง(มัชฌิมชนบท)
• กัมโพชะ 
• คันธาระ
• มัทระ หรือ มัททะ
• กุรุ

นอกจากนั้นแม้แต่ชาติภูมิของพระพุทธองค์เองคือ ศากยะ ก็อาจจะมีที่มาจากพวกอิราเนียนเผ่าศกะที่อพยพเข้าไปในอินเดียไม่เกิน 500 ปีก่อนพุทธกาล และอาจจะมีความสัมพันธ์กับแดนแคว้นอื่นๆที่ปกครองแบบสาธารณรัฐ เช่น โกลิยะ,วัชชี(ลิจฉวี), มัลละ, วิเทหะ, โมริยะ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นพวกอิราเนียน 

ในสมัยพุทธกาล ไม่ปรากฏหลักฐานในพระคัมภีร์ดั้งเดิมว่าพระพุทธเจ้าเสด็จไปห่างไกลเกินมัชฌิมชนบท และเขตแดนตะวันตกที่สุดที่เสด็จไปก็เพียงแค่แคว้นกุรุ แต่กระนั้นดูเหมือนว่าพระธรรมคำสอนของพระองค์จะขจรขจายไปไกลกว่านั้นด้วยพระสาวกและผู้ศรัทธาที่เป็นพ่อค้าวาณิชซึ่งนำข่าวประเสริฐไปประกาศแจ้งในแดนไกลผ่านเส้นทางการค้านั่นเอง ในจำนวนนี้มีผู้ออกบวชที่มาจากแว่นแคว้นตะวันตกซึ่งน่าจะมีเชื้อสายอิราเนียนรวมอยู่ด้วย
___________________________

• พระมหากัปปินะ (Mahākapphina) หรือในภาษาสันสกฤตเรียกว่า มหากัปผิณะ (Mahākapphiṇa) เป็นพระอรหันต์จากอุตตราปถ หรือเส้นทางการค้าสายเหนือ มีการอ้างถึงท่านในพระสูตรดั้งเดิมเช่นสังยุตตนิกาย (กัปปินสูตร, สหายสูตร) อังคุตตรนิกาย เถรคาถาแห่งขุททกนิกาย พระวินัยปิฎก และยังพบในชาดก อรรถกถาธรรมบท มโนรถปูรณี สารัตถปกาสินี วิสุทธิมรรค รวมทั้งอวทานศตกะในภาษาสันสกฤต และสัทธรรมปุณฑรีกสูตรของมหายาน  ชาติภูมิและลักษณะทางกายภาพของท่านปรากฏในคัมภีร์สื่อว่าท่านเป็นชาวอารยัน อาจจะเป็นเชื้อสายอิราเนียนที่มาจากทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย

กัปปินสูตร (สังยุตตนิกาย 21.11) พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระมหากัปปินะว่า " เป็นผู้ขาว(โอทาตกํ) สูงโปร่ง (ตนุกํ) จมูกโด่ง (ตุงฺคนาสิกํ)" โดยทรงชี้ลักษณะพิเศษนี้ให้พระรูปอื่นเห็นและตรัสชมว่าท่านเป็นผู้มีอานุภาพมาก บรรลุธรรมขั้นสูงสุด ลักษณะทางกายภาพนี้ดูจะเป็นแบบเฉพาะพิเศษของเผ่าอารยันทั้งสีผิว ส่วนสูง และจมูกโด่งซึ่งยังคงปรากฏในกลุ่มคนทางเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย เช่นเดียวกับพวกกัมโพชะและคันธาระโบราณ
https://suttacentral.net/sn21.11/th/siam_rath

ปกรณ์บาลีระบุว่า พระมหากัปปินะเกิดในเมืองกุกกุฏะ หรือกุกกุฏวดี (Kukkutavatī) พระราชอาณาจักรมีขนาด300 โยชน์ และเป็นประเทศปลายแดน (อปรันตชนบท) ตั้งอยู่ใกล้หิมวันตประเทศ(หิมาลัย) สืบราชสมบัติต่อจากพระบิดาและมีพระมเหสีนามว่า อโนชา (Anojā) เป็นเจ้าหญิงจากเมืองสาคละ แคว้นมัททะ  หลังจากขึ้นครองราชย์ไม่นาน พระองค์ทรงสนใจในพุทธศาสนาด้วยได้ยินพ่อค้าที่เดินทางมาจากสาวัตถีและประกาศข่าวการเกิดขึ้นของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ในโลกนี้ ทรงเดินทางไปพร้อมข้าราชบริพารและพระมเหสีด้วยรถม้า ทำสัจจกิริยา "ถ้าศาสดาท่านนี้เป็นสัมมาสัมพุทธะจริง ขออย่าให้แม้แต่กีบเท้าม้าเหล่านี้เปียกเลย" และเสด็จข้ามแม่น้ำ 3 สายคือ อรวัจฉา(Aravacchā) นีลวาหนะ(Nīlavāhana) และจันทภาคา(Chandabhāgā)  พระพุทธเจ้าทรงเห็นด้วยทิพยจักษุและเสด็จไปยังริมฝั่งแม่น้ำจันทภาคา ประทับใต้ต้นไทรใหญ่ คณะของพระราชาก้มกราบนมัสการและฟังธรรมจนบรรลุอรหัตผลและขอบวชเข้าในคณะสงฆ์  หลังจากออกบวชท่านมักจะอุทานในที่วิเวกว่า "โอ สุขหนอ! โอ สุขหนอ!" (อโห สุขํ อโห สุขํ)  ทำให้พระรูปอื่นเข้าใจผิดว่าท่านคิดถึงความสุขในราชสมบัติ แต่พระพุทธเจ้ารับรองว่าท่านกำลังเอ่ยถึงความสุขแห่งนิพพาน

* แม่น้ำจันทภาคา ปัจจุบันได้แก่ แม่น้ำเจนาบ Chenab (ฤคเวทเรียก อสฺกินี/ ภายหลังเรียก อิสฺกิมตี/ มหาภารตะเรียก จนฺทรภาค)
* นีลวาหนะ ปัจจุบันคือ แม่น้ำสินธุ Indus (นีลาบ-Nilab)
* อรวัจฉา สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแม่น้ำสวาต Swat
* กุกกุฏะ หรือกุกกุฏวดีตาม จึงน่าจะตั้งอยู่ทางชายแดนตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ปัจจุบันคือปากีสถาน
* กุกกุฏคิริ อ้างถึงโดยปาณินิ ดูเหมือนว่าเป็นยอดเขาต่ำๆอันหนึ่งในเทือกเขาฮินดูกูชในอัฟกานิสถาน ปัจจุบันจึงน่าจะตั้งอยู่ในอัฟกานิสถาน ส่วนที่เป็นชาวแดนติดกับปากีสถาน

มีข้อสันนิษฐานว่าชื่อ "กัปปินะ" หรือ "กัปผินะ" อาจจะสัมพันธ์กับศัพท์จีนว่า 罽賓 กิปิน(Kipin)หรือ จี้ปิน และ โกเฟเน (Kophene) ชื่อในเอกสารกรีก (พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเคยตั้งค่ายรบ) ระบุถึงสถานที่ในแถบสวาต ชายแดนตะวันตกของปากีสถานปัจจุบัน ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า "กุภา" (Kubha)คือกาบุล หรืออาจจะเป็นคำว่า กปิศะ(Kapisa) 

ปาณินิกล่าวว่า พระเจ้ากัมโพชะเป็นพระนามเดียวกับอาณาจักรของพระองค์ ดั้งนั้นกัปปินะจึงอาจเป็นไปได้ว่าไม่ใช่พระนามส่วนพระองค์แต่เป็นพระนามตามอาณาจักร จดหมายเหตุสมัยฮั่นตอนปลาย(後漢書) กล่าวว่า กิปินเป็นเขตแดนที่ถูกปกครองต่อมาโดยพวกกรีก ศกะ ปาร์เธียน และกุษาณ (หลังสมัยศตวรรษที่ 3 ดูเหมือนจะมีการถ่ายโอนความหมายของกิปินในเอกสารจีนจากที่เคยใช้เรียกแดนกุภา/กปิศะในอัฟกานิสถาน ไปใช้เรียกแคว้นกัศมีระ/แคชเมียร์ในอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือแทน อาจด้วยเพราะในอดีตกัศมีระเป็นส่วนหนึ่งของกิปินมาก่อนและต่อมามีบทบาทมากในจีนด้วยพระธรรมทูตของนิกายสรรวาสติวาท)

ดังนั้นพระเจ้ากัปปินะจะต้องเสด็จมาจากทางตะวันตกเฉียงเหนือแน่นอน และทรงเป็นราชาผู้ครองอาณาจักรทรงอำนาจที่ตั้งอยู่ใกล้กับกาบุล (กุภา)ในอัฟกานิสถาน-ปากีสถานในปัจจุบัน โดยอาจจะเป็นส่วนใหญ่ของแคว้นกัมโพชะ และอาจจะมีส่วนหนึ่งของคันธาระรวมอยู่ด้วย  โดยน่าจะทรงเป็นเผ่า "อัศวกะ" अश्वक(-คนขี่ม้า อาจจะเป็นพวกเดียวกับเผ่าอู่ซุนแห่งเอเชียกลางในบันทึกจีนโบราณ) ที่เป็นอิราเนียนสายหลักของกัมโพชะ 

* หลักฐานในตำนานของพระมหากัปปินะ ดูเหมือนจะกำหนดจุดของเมืองกุกกุฏวดีใกล้กับ ปุกขลวตี หรือ มัษกวตี(Maṣkavati) ทางตะวันตกเฉียงเหนือ 
เรายังพบเจอนครต่างๆที่มีชื่อลงท้ายคล้ายๆกัน เช่น อุตปลาวตี, หังสวตี, โอฆวตี, โปกขรวตี(ปุษกลาวดี) และมัษกวตี ในตำราของปาณินิ (คล้ายคลึงกับชื่อ Massaga ในบันทึกกรีกของอาร์เรียน) 
* ทิวยาวทานระบุว่า อุตปลาวตีตั้งอยู่บนอุตตราปถ และว่ากันว่านี่เป็นชื่อเก่าของโปกขรวตี ซึ่งต่อมาจะโด่งดังในนามของ ปุษกลาวดี/ปุษกราวตี (पुष्कलावती) ในฐานะเมืองหลวงของจักรวรรดิกุษาณ ปัจจุบันคือ Charsadda ตอนเหนือของเมืองเปษวาร์(Peshwar)ในปากีสถาน ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสวาตและแม่น้ำกาบุล 
* รูปวตฺยาวทาน (เรื่องของนางรูปาวดี) ระบุว่าอุตปลวตีเป็นอันเดียวกับปุษกลวตี 

กุกกุฏวดีจึงน่าจะอยู่ที่ไหนสักแห่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานหรือตะวันออกเฉียงเหนือของอัฟกานิสถาน ในดินแดนของพวกอัศวกะ-กัมโพชะ และการแต่งงานระหว่างพระเจ้ากัปปินะกับพระนางอโนชาจากแคว้นมัททะก็เหมือนจะรับรองเรื่องนี้เช่นกัน
__________________________

• พระเจ้าปุกกุสาติ (Pukkusāti) พระราชาแห่งแคว้นคันธาระ-กัสมีระ ได้ทราบข่าวการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าจากพระสหายที่ไม่เคยพบหน้าในแดนไกลคือ พระเจ้าพิมพิสาร ก็เสด็จอธิษฐานออกผนวชเองและเดินทางไปหาพระพุทธเจ้าที่เมืองสาวัตถี แต่ระหว่างทางที่เมืองราชคฤห์ได้สนทนากับพระองค์ทั้งคืนจนรุ่งสางจึงสำนึกได้ว่ากำลังสนทนากับพระศาสดาของตน และขอออกบวชแต่ถูกโคบ้าขวิดสิ้นชีพเสียก่อน อรรถกถาธาตุวิภังคสูตรระบุว่าท่านมาจากเมืองตักกสิลา ซึ่งน่าจะเป็นเมืองหลวงของคันธาระในสมัยนั้น  *ในปกรณ์สันสกฤตเรียกพระองค์ว่า ปุษกรสาริน
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8748&Z=9019
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=673
*คันธาระมีความสัมพันธ์ชิดใกล้กับกัมโพชะ และพาหลิกะ(แบกเตรีย) เช่นเดียวกับแว่นแคว้นตอนเหนือ และน่าจะมีอิทธิพลแบบอิหร่านโบราณอยู่เช่นกัน  สมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ในบันทึกของกรีกกล่าวว่าเมืองตักกสิลา(Taxila) มีประเพณีการทำศพโดยวางไว้กลางแจ้งและเฉือนให้แร้งกิน ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับพวกมาซเดียนทางอิหร่านที่ไม่ใช้ไฟเผา
*การเสด็จออกผนวชของพระเจ้าปุกกุสาตินอกจากความศรัทธาในวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณ ก็อาจจะเกิดจากแรงกดดันด้วยความผันผวนของสภาพการเมืองในคันธาระสมัยนั้นซึ่งตกเป็นรัฐบรรณาการของอาณาจักรเปอร์เซียอาเคมินิด (Achaemenid) ตั้งแต่สมัยพระเจ้าไซรัสมหาราช
__________________________

• พระนางอโนชา (Anojā) ชื่อของพระนางแปลว่า "ดอกอังกาบ" (ดอกไม้ท้องถิ่นอินเดียมีขนาดเล็กสีม่วง) ชาติภูมิเป็นเจ้าหญิงจากสาคละ เมืองหลวงของแคว้นมัททะ (มัทระ) ซึ่งน่าจะมีที่มาจากกลุ่มชนอิราเนียน ดังที่มีความสัมพันธ์ฉันเครือญาติกับแคว้นกัมโพชะ และเมืองกุกกุฏวดี  พระนางได้โดยเสด็จพระสวามีบนรถม้าในการข้ามแม่น้ำเพื่อเสด็จไปหาพระพุทธองค์ (รถม้าเป็นสัญลักษณ์สำคัญของกลุ่มชนอิราเนียนและอารยันเช่นกัน) พระนางได้ทำสัจจกิริยาว่า "พระพุทธะอุบัติในโลกมิใช่เพื่อประโยชน์แก่บุรุษเท่านั้น แต่เพื่อสตรีเช่นกัน" เมื่อพระนางพบพระพุทธเจ้าและฟังธรรมก็ได้บรรลุโสดาบัน และออกบวชเป็นภิกษุณีในสำนักพระอุบลวรรณาเถรี (อรรถกถาอังคุตตรนิกาย/สังยุตตนิกาย) 
__________________________

• พระนางเขมา (Khemā) ชาติภูมิเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงมัททะ จึงอาจจะเป็นพระภคินีหรือเป็นพระญาติกับพระนางอโนชา ได้ถูกยกให้เป็นพระมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ และต่อมาก็ได้ออกบวชเป็นภิกษุณีและบรรลุอรหันต์ ถูกยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นอัครสาวิกา นำหน้าภิกษุณีท่านอื่นๆในฐานะผู้เป็นเลิศด้านปัญญา  ในเขมาสูตร พระนางได้อธิบายให้พระเจ้าปเสนทิว่าไม่อาจระบุว่าพระตถาคตมีหรือไม่มีอยู่หลังจากตายแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเคารพนับถือและชื่นชมพระนางเป็นอย่างมากต่อความสามารถทางปัญญาที่ไม่แพ้บุรุษเพศ

__________________________
*ในมหาภารตะ ซึ่งเป็นวรรณกรรมรุ่นหลังพุทธกาลอย่างน้อย 5 ศตวรรษได้กล่าวถึงชนเผ่าต่างๆที่ร่วมเข้ารบ และชนเผ่าที่มีลักษณะแบบอินโด-อิราเนียน ได้แก่ อัศวกะ ศกะ กัมโพชะ พาหลิกะ มัทระ ศัลวะ ทรทะ(ดาร์ดิก) ปาห์ลวะ   *พาหลิกะ (แบกเตรีย) ระบุว่าเป็นพวกพื้นเมืองทางตะวันตกแดนหนาว ต้องใช้ผ้าห่ม เลี้ยงวัวและดื่มนมวัว มีการใช้อูฐและม้าพันธุ์ดีที่ถูกส่งไปใช้รบในอารยวรรต(อินเดีย)

*ตามบันทึกกรีกระบุนามกลุ่มชนเผ่าที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เจอในแถบหุบเขาแห่งปากีสถานและอัฟกานิสถาน ซึ่งในกลุ่มนี้น่าจะมีเชื้อสายอิราเนียนรวมอยู่ด้วย
-Aspasioi แห่งหุบเขากุณาร์ (Kunar valleys) = *อัศวกะ
-Guraeans แห่งหุบเขา Guraeus (Panjkora) ปัจจุบันคือแถบไคเบอร์ ปากีสถานตะวันตกเฉียงเหนือ  ใกล้จักดารา มีจุดบรรจบกับแม่น้ำสวาต 
-Assakenoi แห่งหุบเขาสวาตและบูเนร์ ทางไคเบอร์ ปากีสถานตะวันตกเฉียงเหนือ =*อัศวกยาน พวกนี้มีเค้าว่าเป็นอิราเนียนตะวันออกพวกเดียวกับไซเธียน
-Hastin (Astes) หัวหน้าเผ่า Ilastinayana (Astakenoi /Astanenoi) ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่ Peukelaotis =ปุษกลาวตี 
-Massaga เป็นชื่อเมืองของพวกอัศวกยาน ซึ่งนำทัพโดยราชินี (ลักษณะคล้ายพวกไซเธียนที่สตรีร่วมออกรบ) =*มัษกวตี
-Malli (Malloi) แถบแม่น้ำเฌลุมและเจนาบในปัญจาบ =*มัลละ / *มาลวะแห่งมัธยประเทศ (เช่นนี้เผ่ามัลละอาจมีเชื้อมาทางอิราเนียน?)
-Oxydraci  แถบแม่น้ำเฌลุมและเจนาบในปัญจาบ

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.