วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564

รอยพระพุทธบาท วัดพุทไธสวรรย์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“รอยพระพุทธบาทเขาสุมนกูฎ” ที่ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธศวรรย์ 

ในคติพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท กล่าวถึงเรื่องราวของรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า (Buddha’s Footprint) 5 แห่ง ที่ถือว่ามีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์  คือ รอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนรรมทา (Nammadā) รอยพระพุทธบาทที่สัจพันธบรรพต-สัจจพันธ์คีรี หรือ สุวรรณบรรพต (Suwaṇṇa) รอยพระพุทธบาทที่โยนกปุระ (Yonakapura) รอยพระพุทธบาทที่ยอดเขาสุวัณณมาลิกบนยอดเขาอภัยคีรี (Suwaṇṇamālika) และรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฎ (ศรีปาทะ) ที่เกาะลังกา
.
รอยพระพุทธบาทเขาสุมนกูฎ (Sumanakūta) ตั้งอยู่บนยอดเขาอดัมส์พีค (Adam's Peak) ในเขตจังหวัดซาบารากามูวา ตอนกลางของประเทศศรีลังกา เป็นอุเทสิกเจดีย์ที่ได้รับความนิยม เคารพนับถือมากที่สุดในรัฐสุโขทัยและอยุทธยา ตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19  จากอิทธิพลพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทลังกาวงศ์ ซึ่งใน “คัมภีร์มหาวงศ์” (Mahāvaṃśa) ได้กล่าวว่า  
.
“...ภายหลังที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ได้ 8 พรรษา ในวันเพ็ญเดือน 6 พระพุทธเจ้าและพระภิกษุอีก 500 รูป เสด็จไปยังแม่น้ำกัลยาณี พญามณีอักขิกนาคราชผู้ปกครอง จึงได้ถวายพระแท่นมณฑปแก้ว และทิพยชัชโภชนาหาร พญานาคพร้อมบริวารทั้งปวงได้ฟังพระธรรมเทศนา จนอิ่มเอิบเป็นสุโขประโยชน์ พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปบนยอดเขาสุมณกูฏบรรพต ประทับรอยพระบาทเจติยะไว้...”
.
พระภิกษุและผู้แสวงบุญ จะนิยมเดินทางข้ามทะเลเพื่อไปนมัสการสักการบูชารอยพระพุทธบาทสุมนกูฏที่เกาะลังกากันอย่างต่อเนื่อง ด้วยเพราะเชื่อถือว่าเป็นรอยพระบาทแห่งพระพุทธองค์โดยแท้จริง การเดินทางแสวงบุญที่ยาวไกลและประสบความยากลำบากจะนำมาซึ่งอานิสงส์ผลบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต ดังปรากฏคำอธิบายการเดินทางขึ้นเขาในบันทึกการเดินทางในแต่ละยุคสมัยตรงกันว่า 
.
“...ความสูงจากเชิงเขาขึ้นไปจนถึงพระบาทลังกานั้น 428 เส้นกับ 6 วา ทางขึ้นเป็นทางกันดาร ภูเขาเป็นชะง่อนผาแหลมคม มีถ้ำเป็นที่หลบลมแรง ตรงหน้าผาสูงชั้นจะมีสายโซ่ห่วงเหล็ก (บันไดสายโซ่) สำหรับปีนเหนี่ยวขึ้นไป...”  
.
“...เส้นทางขึ้นเขากันดาร มีชะง่อนแง่งหินแหลม พื้นลื่นเพราะตะไคร้น้ำ ทางขึ้นเป็นหน้าผาสูงชัน ต้องทุลักทุเลปีนเหนี่ยวสายโซ่ซึ่งที่ยาวกว่า 6 เมตรไต่ขึ้นไปถึงตัวพระพุทธบาทที่อยู่บนยอดเขา...”
.
---------------------------------
*** เรื่องราวของการเดินทางอันยากลำบากเพื่อขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุมนกูฎที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เป็นภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง (Mural painting) บนผนังตะวันออกของตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธศวรรย์ ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อใช้เป็นศาลาการเปรียญสำหรับวัดพุทไธศวรรย์ที่ถูกฟื้นฟูบูรณะขึ้นใหม่ ถวายแด่พระพุทธโฆษาจารย์วัดเดิม สมเด็จพระเถระผู้เป็นพระอาจารย์ของพระองค์ครับ
.
ตำหนักพระพุทโฆษาจารย์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ช่องหน้าต่างชั้นล่างทำเป็นโค้งยอดแหลมตามสมัยนิยมตะวันตก ภายในชั้นบนของอาคารมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง  เป็นภาพเขียนสีฝุ่นแบบสีพหุรงค์  กระจายภาพเรื่องราวต่าง ๆ ไปทั่วทุกผนัง ไม่เรียงตามลำดับเหตุการณ์ แต่จัดภาพเป็นกลุ่มตามเรื่องโดยใช้เส้นสินเทาในการแบ่งภาพ 
.
ภาพเขียนถูกเขียนขึ้น 3 ครั้ง จึงมีความแตกต่างกันไปตามฝีมือช่าง ที่เก่าแก่สุดก็คงเป็นภาพวาดผนังทิศเหนือ  
เรื่องไตรภูมิโลกสัณฐาน ตรงผนังผนังหุ้มกลองหรือผนังสกัด (ผนังหลังหน้าบันด้านใน) ที่มีภาพพระอินทร์และหมู่เทวดาประทับในเรือนวิมานเหนือยอดเขาพระสุเมรุ ส่วนผนังด้านล่างเป็นภาพป่าหิมพานต์ ภาพสระอโนดาต
ผนังสกัดด้านทิศใต้วาดเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารวิชัย ใต้ลงมาเป็นภาพพระสาวก ผนังด้านล่างเป็นภาพเรื่องรามเกียรติ์ (แต่ลบเลือนไปมาก) ผนังอาคารทิศตะวันตกเขียนภาพเรื่องมหานิบาตชาดก ด้านล่างของผนังเป็นภาพขุมนรก
ผนังด้านทิศตะวันออก เขียนขึ้นในช่วงสุดท้าย เป็นภาพรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฎ รอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนรรมทา รอยพระพุทธบาทที่สัจพันธบรรพต  ภาพขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเพื่อเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท พระมาลัยโปรดสัตว์ และภาพ “พุทโฆสะนิทาน” ตอนพระพุทธโฆสะลงเรือสำเภา เดินทางไปกรุงลังกาและได้พบกับพระพุทธทัตตเถระกลางทะเลครับ        
.
หลังบานประตูและหน้าต่าง เป็นภาพเขียนสีรูปทวารบาลชาวต่างประเทศสลับกับรูปเทพยดา 
.
*** ภาพวาดได้แสดงรูปพระพุทธบาทสีทองมีรัศมีพวยพุ่งขึ้นเป็นกระหนกตัวเหงา ภายในมณฑปสูงใหญ่บนยอดเขาสุมนกูฏ ด้านบนภายในซุ้มเป็นโคมกลีบบัวมีพู่ห้อยทั้งสามเรือน โดยมีเหล่าพุทธบริษัทแสดงอัญชลีวันทาและสาธุการอยู่ในช่องสินเทาด้านล่างครับ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น