วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ยมกปาฏิหาริย์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ยมกปาฏิหาริย์”  มหาปาฏิหาริย์แห่งพระพุทธเจ้าบนพระพิมพ์ดินเผาทวารวดี

พุทธประวัติตอน “ยมกปาฏิหาริย์” (ยะมะกะ – เป็นคู่) (Yamaka-pātihāriya /Twin Miracles)  ที่เมืองศราวัสตี/สาวัตถี  (Śrāvastī Miracles)  ปรากฏเรื่องราวและรูปงานศิลปะในพระสูตรภาษาสันสกฤต “ปาฏิหาริย์สูตร” (Prātihārya-sūtra) ใน “คัมภีร์ทิวยาวทาน” Divyāvadāna ของนิกายสรรวาสติวาส  (Sarvāstivāda) ที่นิยมในช่วงราชวงศ์กุษาณะ (Kushana Dynasty) ในแคว้นคันธาระและมถุรา ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 7-8 โดยเป็นการแสดงมหาปาฏิหาริย์เป็นพระพุทธนิมิต ปรากฏเป็นพระพุทธเจ้าคู่ในอิริยาบถต่าง ๆ มากมายนับไม่ถ้วน บางองค์มีสายน้ำออกมาจากพระบาท บางองค์มีเปลวเพลิงออกมาจากพระอังสะ บางองค์แผ่ฉัพพรรณรังสีสว่างไปทั่วจักรวาล ทั้งพระพุทธเจ้า เทวดาและพระโพธิสัตว์ต่างได้สนทนา/วิสัชนาถามตอบพระธรรมระหว่างกัน ซึ่งการแสดงมหาปาฏิหาริย์ในพระสูตรภาษาสันสกฤตนี้ นิยมต่อเนื่องมาในวรรณกรรมของฝ่ายมหายาน (Mahāyāna Buddhism)  
.  
ส่วนพุทธประวัติยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี ในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทอย่างเช่น “ธมฺมปทฏฐกถา”  (Dhammapadattakathā อรรถคาถาธรรมบท ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย) และ “ชาตกัฏฐกถา” (Jātakaṭṭhakathā อรรถกถาชาดก ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย) ปรากฏครั้งแรกในคติฝ่ายคณะมหาวิหารลังกา ช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 แสดงเรื่องราวการแสดงมหาปาฏิหาริย์ของ “พระสมณโคตม” (Gautama Buddha) ในตอนปลูกต้นมะม่วงคัณฑคามพฤกษ์ และตอนกำราบพวกเดียรถีย์ (tīrthika  พวกนอกศาสนาทั้ง 6) ประกอบด้วย ปูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล สัญชัยเวลัฏฐบุตร ปกุทธกัจจายะ และนิครนถ์นาฏบุตร (มหาวีระ/เชน) จนพ่ายแพ้ไปใน วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 
.
*** ดูเหมือนว่า พุทธประวัติมหาปาฏิหาริย์/ยมกปาฏิหาริย์ (แบบมีต้นมะม่วงคัณฑคามพฤกษ์) ของฝ่ายมหาวิหาร (เถรวาท) ลังกานั้น จะรับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมในอินเดียเหนือ (พระพุทธเจ้ามากมายแสดงอิทธิฤทธิ์เป็นคู่) โดยมีการดัดแปลง แต่งเนื้อความขึ้นใหม่ครับ
.
----------------------------------
*** คติการเป็น “ผู้อยู่เหนือมนุษย์” (Miracles/Superhuman Powers) ด้วยการแสดงมหาปาฏิหาริย์ (Mahā Pāṭihāriya) ของพระพุทธเจ้า ปรากฏครั้งแรกใน “นิกายมหาสังฆิกะ” (Mahāsāṃghika) /อาจาริยวาท  ที่มีแนวคิดว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา แต่มีพุทธภาวะเป็นโลกุตระ มีกายทิพย์ มีอานุภาพเหนือสามัญชน มีเป้าหมายตามปณิธานแห่งพระโพธิสัตว์และการปฏิบัติโพธิญาณบารมี  แต่แสดงองค์ เป็นมนุษย์โดยมายาเพื่อช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ ซึ่งแนวคิดนี้ได้เข้าไปผสมผสานกับนิกายวรสาสติวาส  ช่วงราชวงศ์กุษาณะ มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7-8  นิกายนี้ได้รับความนิยมในแคว้นอานธระประเทศ (Andhra Pradesh)  ภายใต้การอุปถัมภ์ของราชวงศ์ศาตวาหนะ (Satavahana Dynasty)  และราชวงศ์อิกษวากุ (Ikshvaku Dynasty)  โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอมราวดีและเมืองนาคารชุนโกณฑะ มาจนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 10
.
ในพุทธศตวรรษที่ 6-7 คติความเชื่อพระพุทธเจ้าผู้มีอำนาจ (วิเศษ) เหนือมนุษย์ของนิกายมหาสังฆิกะ พัฒนาไปอยู่ใน “นิกายมหายาน” ที่ได้รับความนิยมในเขตแคว้นอานธระประเทศ  ผสมผสานปรัชญาและวิถีปฏิบัติที่เด่นชัดของแต่ละนิกายในพระพุทธศาสนารวมกับปรัชญาของฝ่ายพราหมณ์ครับ
.
ราวพุทธศตวรรษที่ 8-9  ปรัชญาฝ่ายมหายาน นิกายมาธยมิกะ(Mādhyamika)  ที่ได้ส่งอิทธิพลเข้าไปสู่แนวคิดของนิกาย “สถวีรวาท” (Sthāvirīya วิภัชยวาทิน หินยาน/เถรวาท) นิกายย่อยสางมิตียะ (Samitīya) ในอินเดียเหนือช่วงราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) เกิดเป็นพุทธศาสนาแบบผสมผสาน ที่อาจเรียกว่า “นิกายคุปตะ” ขึ้น
.
เรื่องราวพุทธประวัติของพระสมณโคตมแบบสถวีรวาท/เถรวาท (ไม่มีอิทธิฤทธิ์อำนาจ) จึงได้ถูกคติมหาปาฏิหาริย์ของฝ่ายมหายานเข้ามาผสมผสาน เกิดเป็นเรื่องราวมหาปฏิหาริย์ทั้ง 8  หรือ “อัษฏมหาปาฏิหาริย์ ” (Aṣṭa Mahā Prātihārya) ขึ้นในยุคราชวงศ์คุปตะเป็นครั้งแรกครับ
 
ซึ่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 ราชวงศ์คุปตะ ได้แผ่อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจเข้ามาปกครองแคว้นอานธระประเทศ ยาวนานกว่า 100 ปี  ทำให้เกิดการฟื้นฟูคติและงานพุทธศิลป์แบบอมราวดีขึ้นใหม่  ในคติผสมผสานระหว่างมหายานเดิมกับเถรวาท-หีนยาน (Theravāda - Hīnayāna)  จากคณะมหาวิหาร (Maha-vihāra) ในศิลปะแบบอนุราธปุระ (Anuradhapura)  มีพระภิกษุและผู้ศรัทธาจากเกาะลังกาเดินทางเข้ามาจาริกแสวงบุญ เพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนาในแคว้นอานธระประเทศ  เกิดเป็นคติและงานพุทธศิลป์แบบ “หลังอมราวดี” (Post Amaravati) ทั้งแบบศิลปะอมราวดีเดิมผสมผสานมหาวิหารลังกา และแบบอมราวดีเดิมผสมผสานศิลปะคุปตะ(สารนาถ) ซึ่งเป็นรูปแบบคติและงานพุทธศิลป์ช่วงเวลาสำคัญ ที่ส่งอิทธิพลเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก โดยเฉพาะวัฒนธรรมภารตภิวัฒน์/ทวารวดี
 .
----------------------------
*** คติมหาปาฏิหาริย์ ความเป็นเหนือมนุษย์ (เหนือโลกุตระ) มีอำนาจ สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ของพระพุทธเจ้าศากยมุนี ตามความเชื่อฝ่ายมหายาน/มาธยมิกะ ที่มาผนวกเข้ากับพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าสมณโคตมของฝ่ายสถวีรวาท/สางมิตียะช่วงราชวงศ์คุปตะ ในแคว้นอานธระประเทศ ได้กลายมาเป็นเรื่องราวยมกปาฏิหาริย์ในวรรณกรรมของฝ่ายเถรวาทลังกาครับ 
.
*** ร่องรอยคติมหาปาฏิหาริย์/ยมกปาฏิหาริย์ แบบคณะมหาวิหารลังกา จากอิทธิพลคุปตะในแคว้นอานธระประเทศ ปรากฏในวัฒนธรรมทวารวดีช่วงแรก ๆ ประมาณ ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 โดยมีจุดเด่นอยู่ที่รูปศิลปะของต้นมะม่วงคัณฑคามพฤกษ์และรูปของเหล่าเดียรถีย์ประกอบร่วมในการแสดงมหาปาฏิหาริย์   
.
*** “พระพิมพ์ดินเผา” ที่แสดงเรื่องราวพุทธประวัติมหาปาฏิหาริย์/ยมกปาฏิหาริย์ที่เก่าแก่ที่สุด  พบในเขตจังหวัดนครปฐม อาจเป็นพระพิมพ์ดินเผาที่ถูกทำขึ้นโดยกดประทับลงในแม่พิมพ์ (Mould Seals) ชิ้นเดียวกัน กลุ่มคนเดียวกันในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ดูเหมือนว่าจะเป็นงานพุทธศิลป์ที่สะท้อนคติของฝ่ายมหาวิหาร/เถรวาทลังกาที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาคุปตะในแคว้นอานธระ มีรูปแบบพระโพธิสัตว์มหายานถือแซ่จามรเข้ามาประกอบครับ     
.
พระพิมพ์ดินเผามีความกว้างประมาณ  8 เซนติเมตร สูง 12 เซยติเมตร หนา 1.1 เซนติเมตร เผาขึ้นในท้องถิ่นนครปฐม มีรูปศิลปะพระพุทธเจ้าประทับในท่า “วัชรปรยังกะสนะ” (Vajraparyaṅkasana ไขว้ข้อพระบาทตามแบบคุปตะ) บนภัทรบิฐ /รัตนบัลลังก์ ยกพระหัตถ์แสดงธรรม (วิตรรกะมุทรา) มีประภามณฑลโค้งล้อมรอบ ประกอบเครื่องสูงอย่างฉัตรและแซ่จามร ขนาบข้างด้วยเจดีย์ในความหมายของอดีตพระพุทธเจ้า ซ้อนด้วยรูปเทวดาบริวารถือแซ่จามร ตามแบบมหายาน
.
ด้านล่างเป็นรูปบุคคลชายหญิง 4 คนพร้อมสักการบูชาเป็นพานพุ่ม 3 ชุด ตั้งอยู่บนฐาน หมายถึงผู้คนชาวสาวัตถีที่เข้ามาร่วมในการแสดงมหาปาฏิหาริย์ มุมล่างขวาเป็นรูปบุคคลเดินเข้า อาจเป็นภาพศิลปะตัวแทนของพวกเดียรถีย์ที่เข้ามาท้าทาย ส่วนมุมซ้ายล่างเป็นภาพบุคคลเดินออก ที่อาจหมายถึงการหลบหนีของพวกเดียรถีย์ครับ
.
ด้านบนเป็นรูปศิลปะต้นไม้วางตัวแบบสมมาตร หมายถึงต้นมะม่วงคัณฑคามพฤกษ์ มีรูปพุทธนิมิตคู่ (ยมก) ของพระพุทธเจ้าปรากฏในอิริยาบถต่าง ๆ ตามความที่ปรากฏในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาท 
.
“...ท่อไฟและสายน้ำพุ่งออกจากส่วนต่าง ๆ ของพระวรกายเป็นคู่ ๆ ได้แก่ พระวรกายเบื้องบนกับพระวรกายเบื้องล่าง พระเนตรทั้งสอง ช่องพระกรรณทั้งสอง ช่องพระนาสิกทั้งสอง พระอังสาทั้งสอง พระหัตถ์ทั้งสอง พระปรัศว์ทั้งสอง พระบาททั้งสอง พระองคุลีกับระหว่างพระองคุลี และพระโลมากับขุมพระโลมา มีฉัพพรรณสังสีแผ่ซ่านออกจากพระวรกาย 6 สีสลับกัน เมื่อกระทบกับสายน้ำมีแสงสะท้อนสวยงามมาก พระพุทธองค์ทรงบันดาลให้ปรากฏพระพุทธนิรมิตในอิริยาบถต่าง ๆ ที่ต่างไปจากพระองค์ เช่นหากพระพุทธองค์เสด็จจงกรม พระพุทธนิรมิตจะประทับยืน ประทับนั่ง หรือไสยาสน์ หากพระพุทธองค์ประทับยืน พระพุทธนิรมิตจะเสด็จจงกรม ประทับนั่งหรือไสยาสน์...เมื่อทรงตั้งปัญหาปุจฉาพระพุทธนิรมิต ก็ตรัสวิสัชนาแก้สลับกันไป...”  
.
ริมสุดด้านบนเป็นรูปบบุคลในวงกลม หมายถึง “พระอาทิตย์” (ขวา) และ “พระจันทร์ (ซ้าย) ดังปรากฏความว่า “พระพุทธนิมิต เอื้อมพระหัตถ์ไปสัมผัสพระอาทิตย์และพระจันทร์...” 
.
*** ด้านล่างสุดเป็นรูปพิมพ์อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ข้อความแก่นหัวใจพระพุทธศาสนา “.....เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา.....” จากอิทธิพลของนิกายคุปตะ รูปอักษรนิยมในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 ครับ  
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พระพิมพ์ดินเผา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระพิมพ์ดินเผา” รุ่นแรกของโลก
.
“พระพิมพ์ดินเผา” (Terracotta Votive Tablet/Votive Plaque) ในความหมายของรูปสัญลักษณ์ (Symbol Images) ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ทั้งรูปศิลปะและอักษร/ภาษาจารึก (Art/Script) ในกรอบวงเดียว เป็นงานประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกแบบเดียวกับ “ตราประทับดินเผา” (Terracotta sealing)  ที่เกิดจากกระบวนการการกดประทับดินแผ่นกับ “แม่พิมพ์กดประทับ” (Mould Seals) ที่ทำขึ้นจากโลหะ หิน หินกึ่งอัญมณีหรือดินเผาเนื้อแกร่ง แล้วนำมาเผาไฟในอุณหภูมิที่มากกว่า 500 องศา (C)  
.
ความหมายในครั้งแรกของการสร้างพระพิมพ์ดินเผา อาจเริ่มต้นมาจากช่วงพุทธศตวรรษที่ 7 จากคติของนิกายมหาสังฆิกะ/ไจตยกะ (Mahāsāṃghika /Chaitayaka)  ในแคว้นอานธระประเทศ  ที่เริ่มชี้นำการ “สร้างบุญกุศล” ว่า “...การสร้างเจดีย์ ประดับประดาและบูชาพระเจดีย์ การถวายดอกไม้ เครื่องประดับเครื่องหอม ล้วนแต่เป็นบ่อเกิดแห่งบุญกุศลอันยิ่งใหญ่...”   
.
เมื่อนิกายมหาสังฆิกะ ได้พัฒนามาเป็น “ลัทธิมหายาน” (Mahāyāna Buddhism)  ราวพุทธศตวรรษที่ 8-9 คติการทำบุญกุศลเป็นพุทธบูชาและปรัชญานิกายมาธยมิกะ(Mādhyamika)  ที่เน้นทางสายกลาง “ปฏิจจสมุทปบาท” (Pratītyasamutpāda) ได้ส่งอิทธิพลเข้าไปสู่แนวคิดของนิกาย “สถวีรวาท” (Sthāvirīya วิภัชยวาทิน หินยาน/เถรวาท) นิกายย่อยสางมิตียะ (Samitīya  เน้นแนวคิด “อนันตา”)  ที่นิยมในอินเดียเหนือช่วงราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) เกิดเป็นความเชื่อแบบผสมผสานในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 - 11 ครับ
.
พุทธศาสนิกชนในยุครุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนาจึงได้มีโอกาสถวายส่งของมงคลเป็นพุทธบูชาเพื่อสร้างบุญกุศลให้กับตนเอง (คติฝ่ายหีนยาน) และเผื่อแผ่ให้แก่ผู้อื่น (คติฝ่ายมหายาน)  โดยผู้คนที่มีทุนทรัพย์น้อยหรือฐานะยากจน ก็จะนิยมสร้างรูปสถูปจำลองและพระพิมพ์ดินเผาขนาดพอเหมาะ ได้นำไปประดับและบูชาพระสถูปเจดีย์เมื่อเดินทางไปทำบุญใหญ่หรือเดินทางไปจาริกแสวงบุญยังสังเวชนียสถาน 
.
ปรัชญาทางสายกลาง “ปฏิจจสมุทปบาท” ที่มีพระคาถา “เย ธมฺมา” เป็นมนตราธารณี (Dhāraṇī) ความย่อของนิกายมาธยมิกะ ฝ่ายมหายาน  จึงได้ถูกนำอธิบายว่าเป็นพระคาถาอันเป็นแก่นแท้ /หัวใจแห่งพระพุทธศาสนา” นำข้อความพระคาถามาใช้ประกอบร่วมกับ “อุเทสิกเจติยะ/อุเทสิกเจดีย์”  (Uthesik/Object Chaityas) แบบต่าง ๆ ทั้งในภาษาสันสกฤต บาลี และปรากฤต (Prakrit) ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 8-9 เป็นต้นมาครับ  
.
------------------------
*** พระพิมพ์ดินเผารุ่นแรกของโลก อาจเพิ่งเกิดขึ้นช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 10 เมื่อคติศาสนาของฝ่ายมหายาน( มหาสังฆิกะ/ มาธยมิกะ) ได้เขาผสมผสานกับแนวคิดปรัชญาของฝ่ายสถวีรวาทจนเป็นที่ยอมรับกันในช่วงราชวงศ์คุปตะ ซึ่งพระพิมพ์ดินเผาที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่พบในปัจจุบัน อาจเป็นตราประทับดินเผา (Terracotta Sealing) ที่พบจากเขตสังฆารามนาลันทา รัฐพิหาร อินเดีย/เบงกอลตะวันออก  ปรากฏรูปของพระศากยมุนี (Shakyamuni)  มีประภามณฑลวงกลมรอบพระเศียร วางพระหัตถ์ขวาสูงกว่าพระหัตถ์ซ้ายตามแบบ “ธรรมจักรมุทรา/ธรฺมจกฺร-ปฺรวรฺตน-มุทรา” (Dharmacakra Pravartana Mudrā) หรือ “การหมุนวงล้อ-พระธรรมจักร” (Turning of the wheel) ประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ บนปัทมะบัลลังก์ที่มีก้านขึ้นมาจากเส้นลวดสองเส้นที่อาจหมายถึงน้ำ/มหาสมุทร  มีรูปของตัวมกร (Makara) ที่ปลายคานพนักพิงทั้งสองฝั่ง  ซึ่งเป็นรูปแบบงานพุทธศิลป์ที่นิยมในคติฝ่ายมหายาน ในช่วงราชวงศ์คุปตะ/วากาฏกะ พุทธศตวรรษที่ 10 – 11  
.
ส่วนด้านล่างนั้น พิมพ์ “อักษรพฺราหฺมีแบบหัวเหลี่ยม” (Box-Headed Brahmi) ภาษาสันสกฤต จารึกพระคาถา “.....เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ ...” รูปแบบอักษร นิยมในเขตอินเดียตะวันออก ช่วงกลางถึงปลายยุคราชวงศ์คุปตะ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 10 – 11 ครับ
.
*** พระพิมพ์ดินเผาในรูปแบบตราประทับที่เก่าแก่ที่สุดอีกองค์หนึ่ง พบในเขตรัฐอุตตรประเทศ (อินเดียเหนือ) ศูนย์กลางของราชวงศ์คุปตะ เป็นภาพของพระศากยมุนีประทับบนปัทมะบัลลังก์ แสดงธรรมจักรมุทรา ในวิมานตรงกลาง ล้อมรอบด้วยพระมหาโพธิสัตว์ในกรอบเส้นลวดเป็นตาราง 8 องค์ หรือ อัษฏมหาโพธิสัตว์ (Aṣṭamahābodhisatavas /8 Great Bodhisattvas) ที่ประกอบด้วย  “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์ไมเตรย พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์วัชรปาณี พระโพธิสัตว์สรรวนิสรณวิษกัมภิณ พระมัญชูศรีโพธิสัตว์ พระอากาศครรภโพธิสัตว์ และพระกษิติครรภโพธิสัตว์” ที่ต่างกำลังแสดงท่าสดับฟังพระธรรมเทศนาอยู่ครับ
.
คติของพระพิมพ์นี้ อาจหมายถึง “เทศนาพระสัทธรรมปุณฑริกสูตร” (Saddharmapuṇḍarīka Sūtra) บนยอดเขาคิชกูฏ (เขาแร้งใกล้กรุงราชคฤห์) ตามพระสูตรของฝ่ายมหายาน  ที่พระพุทธเจ้าศากยุมนีโปรดแสดงพระธรรมขั้นสูงแก่เหล่าพระโพธิสัตว์ 80,000 องค์ ทั่วพุทธเกษตร โดยมีรูปศิลปะของพระมหาโพธิสัตว์ทั้ง 8 เป็นตัวแทน   
.
พระพิมพ์นี้ ยังคงมีรูปแบบพุทธศิลป์ตามแบบราชวงศ์คุปตะ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 10-11 แต่กระนั้นการปรากฏคติของกลุ่ม “อัษฏมหาโพธิสัตว์” ที่กำลังพัฒนาไปสู่ความเป็น “นิกายวัชรยาน” (Vajrayāna)  ก็อาจได้แสดงว่าพระพิมพ์องค์นี้ มีอายุของคติความเชื่ออยู่ในช่วงกลาง-ปลายพุทธศตวรรษที่ 11 หรือช่วงปลายของสมัยราชวงศ์คุปตะแล้วครับ   
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พระพิมพ์ทราวดี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
จาริกแสวงบุญ การกระทำบุญเป็นพุทธบูชา ใน “พระพิมพ์ทวารวดี”

ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12  “พระตรีปิฎกธราจารย์เหี้ยนจั๋ง-ฮวนซัง” (Hsuan tsang) ซานจั๋ง (Sānzàng)  หรือพระถังซัมจั๋ง ได้บันทึกไว้ใน “ไซอิ๋วกี่/บันทึกการเดินทางไปตะวันตก” ว่า “...ผู้จาริกแสวงบุญในอินเดีย ที่เดินทางไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา จะนิยมสร้างพระธาตุเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และนิยมสร้างอุเทสิกเจดีย์หรือสถูปจำลองซึ่งเป็นสถูปขนาดเล็ก ด้วยหิน ดินเผา หรือโลหะถวายแด่สถานที่นั้น ๆ เพื่อเป็นการอุทิศถวายให้พุทธศาสนา...” 
.
“...ชาวพุทธที่ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน จะแสดงถึงความศรัทธาเลื่อมใสที่ตนมีต่อพระพุทธศาสนา โดยการสร้างวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้เป็นที่ระลึก สำหรับคนรวยจะสร้างสถูปจำลอง ส่วนคนจนนั้น จะนิยมทำเป็นรูปแผ่นดินเผา (พระพิมพ์) จารึกด้านหลังด้วยคาถาเย ธมฺมา...”
.
--------------------
*** “พระพิมพ์” (Terracotta Votive Tablet) เป็นงานประดิษฐ์แบบเดียวกับ “ตราประทับดินเผา” (Terracotta sealing)  ที่เกิดจาก“แม่พิมพ์กดประทับ” (Mould Seals) ที่ทำจากโลหะ หิน หินกึ่งอัญมณีและดินเผาเนื้อแกร่ง จัดวางองค์ประกอบ “รูปสัญลักษณ์เชิงศิลปะ” (Art Symbol Images) และอักษร/ภาษา (Script) ในกรอบรูปเดียว มีคติและความหมายเป็นที่รับรู้กันในสังคม มาใช้เป็นสื่อกลางเพื่อการติดต่อสื่อสารระหว่างราชสำนัก ผู้นำทางจิตวิญญาณ/ศาสนา การเมืองและการค้าขาย  จากอิทธิพลของวัฒนธรรมเฮเลนิสติก (Hellenistic) /กรีก และอาคีเมนิด (Achaemenid)/เปอร์เซีย ที่ส่งอิทธิพลเข้ามาสู่อินเดีย ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 3 เป็นต้นมาครับ
.
เมื่อพระพุทธศาสนาได้รับความนิยมเป็นที่เคารพนับถือในอินเดีย เกิดคำสอนหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำบุญเพื่อเป็นพุทธบูชา  อย่างนิกายมหาสังฆิกะ/ไจตยกะ (Mahāsāṃghika /Chaitayaka)  ในแคว้นอานธระ (ลุ่มแม่น้ำกฤษณา-โคทาวรี)  ที่ชี้นำว่า “...การสร้างเจดีย์ การประดับเจดีย์และการบูชาเจดีย์ การถวายดอกไม้ เครื่องประดับจะเป็นบ่อเกิดแห่งบุญกุศลอันยิ่งใหญ่...”  
.
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 7  นิกายมหาสังฆิกะ ได้ผสมผสานกับคติ “บารมี 6 ประการแห่งพระโพธิสัตว์” กับนิกายสรวาสติวาท (Sarvāstivāda) พัฒนามาเป็น “นิกายมหายาน” (Mahāyāna Buddhism)  จึงเกิดคติความเชื่อและวรรณกรรมเรื่องพระอนาคต/พระอดีตพระพุทธเจ้า ทั้งในฝ่ายมหายานและสถวีรวาท (Sthāvirīya หินยาน/เถรวาท) ในช่วงราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) ราวพุทธศตวรรษที่ 9 เป็นต้นมา พุทธศาสนาที่รุ่งเรืองในช่วงเวลานี้ ได้นำไปสู่การสร้างรูปพระพิมพ์ดินเผาขนาดกลางและเล็กขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้ผู้ศรัทธาได้นำไปประดับและบูชาพระสถูปเจดีย์ตามคติของฝ่ายมหาสังฆิกะ/มหายาน  ที่ชี้ว่า การอุทิศถวายประดับประดาเพื่อเป็นพุทธบูชา จะได้บุญกุศลอันใหญ่หลวงครับ  
.
บันทึกของหลวงจีนฟาเหี้ยน เหี้ยนจังและอี้จิง อาจสรุปได้ว่า ชาวพุทธในอินเดียเหนือช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 – 13 ที่เดินทางไปจาริกแสวงบุญยังสังเวชนียสถาน นิยมจารึก พระคาถา “เย ธมฺมา” (เย ธมฺมา เหตุปปฺภวา เตสัง เหตุ ตถาคโต อาห เตสญฺจ โย นิโรโธ  เอวังวาที มหาสมโณ) อันเป็นความย่อของหลักธรรม “ปฏิจจสมุปบาท” (Pratītyasamutpāda) หรือ “อิทัปปัจจยตา” (Idappaccayatā)  แก่นแท้ของพระพุทธศาสนาไว้ที่หลังแผ่นพระพิมพ์ดินเผา  (รวมทั้งบนพระธรรมจักร ฐานพระพุทธรูป บนสถูปจำลอง บนบาตรพระ บนแท่งหิน บนแผ่นอิฐ หรือบนผนังถ้ำ)
.
*** พระพิมพ์ดินเผาในครั้งแรกนั้น นิยมสร้างรูปพุทธศิลป์ตามเรื่องราวพุทธประวัติ “ตอนเทศนาธรรมสัทธรรมปุณฑริกสูตร” (Saddharmapuṇḍarīka Sūtra) บนยอดเขาคิชกูฏ มาสร้างสรรค์เป็นรูปสัญลักษณ์ ในความหมายของการแสดง “พระธรรมขั้นสูงสุดแห่งพระศากยมุนี ที่จะทรงสอนให้แก่พระโพธิสัตว์เท่านั้น”  ตามคติของฝ่ายมหายาน ซึ่งในช่วงราชวงศ์คุปตะ ยังคงมีเพียงฝ่ายมหายานเท่านั้นที่สร้างพระพิมพ์ดินเผาขึ้น จากการตีความในเรื่องบุญกุศลที่สามารถอุทิศ/ส่งต่อเผื่อแผ่ให้แก่ผู้อื่นได้ครับ   
.
พระพิมพ์ดินเผาจึงได้กลายมาเป็น “เครื่องอุทิศถวาย” ในการพุทธบูชา โดยเฉพาะผู้คนที่ศรัทธาในพุทธศาสนาแต่มีฐานะยากไร้ เมื่อได้มีโอกาสเดินทางไปจาริกแสวงบุญ ก็จะนำพระพิมพ์ที่ได้กดพิมพ์เผาไว้ (หรือซื้อหามา) ไปประดับวางไว้บนส่วนต่าง ๆของพระสถูปเจดีย์ แต่กระนั้น เมื่อสังเวชนียสถานในอินเดียถูกทำลาย โดยกลุ่มชน “เฮฟทาไลต์/ฮันขาว” (Hephthalite/White Hun) กลุ่มชนผู้บูชาไฟที่ขยายอิทธิพลลงมาจากทางเหนือในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 10 รวมถึงความขัดแย้งระหว่างแว่นแคว้นและความแตกต่างทางความเชื่อระหว่างพุทธกับฮินดู การเดินทางไปจาริกแสวงบุญในอินเดียเหนือจึงสิ้นสุดลง 
.
*** แต่การกระทำบุญอุทิศถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา ยังคงเป็นวิถีปฏิบัติของชาวพุทธในวัฒนธรรมทวารวดี  ช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 – 12 สืบต่อมาจากยุคหลังคุปตะ-อานธระ มีสร้างพระพิมพ์ตามแบบรูปศิลปะมหายาน/สถวีรวาทเดิม รวมทั้งการสร้างพระพิมพ์ในคติใหม่ที่ได้พุทธศิลป์มาจากพุทธประวัติฝ่ายมหาวิหารลังกา (เถรวาท)ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 จนมาถึงช่วงรับอิทธิพลจากราชวงศ์ปาละและสุขาวดีจากราชวงศ์ถังในจีน ช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 – 15 พุทธศิลป์อันงดงามของพระพิมพ์ได้กลายมาเป็นเครื่องอุทิศถวายสำคัญในการพุทธบูชา ทั้งมีการจารึกข้อความพระธรรมคำสอนจากพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาทมากขึ้น
.
*** การจาริกแสวงบุญไปตามพระสถูปเจดีย์ในสมัยวัฒนธรรมทวารวดี ในช่วงแรกนั้น ยังคงนิยมจารึกพระคาถาเย ธมฺมา ตามแบบหลังราชวงศ์คุปตะ/อานธระ แต่ต่อมาในช่วงอิทธิพลราชวงศ์ปาละ พระภิกษุและผู้แสวงบุญ เริ่มนิยมจารึกชื่อนามของตนเอง เพื่อเป็นพยานในการกระทำบุญอุทิศถวายเป็นการพุทธบูชา เพื่อระลึกถึงในวาระต่าง ๆ รวมถึงเป็นการแสดงตนว่าได้เดินทางจาริกแสวงบุญมาเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในดินแดนที่ห่างไกลอย่างที่ตั้งหวังไว้ โดยสมบูรณ์แล้วครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ทำดีต่อผู้คิดร้ายเรา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
#ตอนทำดีกับคนที่ไม่ดีกับเรา ตอนที่ ๓

มีครั้งหนึ่งที่พระพุททธเจ้าท่านตรัสว่า...
#ท่านรักราหุลเช่นไรท่านก็มีเมตตาต่อพระเทวทัตเช่นนั้น!! คือ ราหุลนี่เป็นลูกของท่าน ความรักของความเป็นพ่อหนึ่งที่ต้องรักลูกนี่มันต้องมีอยู่แล้วนะ รักจนขนาดให้มาบวช คืออยากให้ลูกนี่ได้ประโยชน์สูงสุด

นางพิมพายโสธรา ส่งให้ราหุลนี่เป็นขอสมบัติจากพระราชบิดา คือพระพุทธเจ้านี่ พระพุทธเจ้าก็ทรงมองว่าถ้าให้ราหุลนี่เป็นกษัตริย์ต่อ ก็จะได้รับความทุกข์จากความเป็นกษัตริย์ ถึงแม้จะมีเกียรติมียศเป็นกษัตริย์ แต่ชีวิตก็ต้องเกี่ยวข้องกับการปกครอง เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ แล้วอาจจะเป็นบาปกรรมได้

สมบัติทางโลกนี่จึงไม่ใช่สมบัติที่ประเสริฐ คือไม่ใช่สมบัติที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง และที่สุดท้ายตายแล้วก็เอาสมบัตินั้นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสกับพระสารีบุตรและทรงให้พระสารีบุตรนี่บวชราหุล

พอพระเจ้าสุทโธทนะทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงบวชให้กับราหุลนี่ "โอ้ย...เสียใจมาก" จะว่าไม่พอใจก็ว่าใช่ แต่พูดอะไรทำอะไรไม่ได้ ก็เลยไปกราบทูลสอบถามว่า..."ทำไมถึงบวชให้ราหุล ?"

ราหุลมาทูลขอสมบัติ แต่พระองค์ก็คิดว่าสมบัติภายนอกนี่ มันไม่ใช่สมบัติที่ประเสริฐ พระองค์ก็ทรงมอบสมบัติที่ประเสริฐให้...คืออะไร คือการบวช ก็ทรงบวชให้ราหุลเป็นสามเณร พระเจ้าสุทโธทนะทราบข่าวก็มาสอบถาม จนทราบว่าบวชแล้ว จนได้ขอตั้งแต่วันนั้นมาว่า ถ้าพระองค์จะบวชใคร ขอให้สอบถามถึงพ่อแม่ว่าเขาอนุญาตไหม (แต่จะว่าท่านผิดท่านก็ไม่ผิดนะ เพราะว่าท่านเป็นพ่อแต่ว่าไม่ได้ขออนุญาตแม่เท่านั้น)

อันนี้คือความรักของพ่อที่ท่านมีให้ อันนี้สมบัติคืออยากให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด จนสามารถที่จะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ความรักที่มีต่อราหุลซึ่งถือว่าเป็นความรักที่อยากจะให้สิ่งที่ประเสริฐที่สุด

"เรารักราหุลเช่นไรเราก็รักพระเทวทัตเช่นนั้น"
ทั้งที่พระเทวทัตนี่ก็เป็นญาติได่ ว่าเป็นพี่ชายของนางพิมพายโสธราเป็นญาติกัน แต่ว่าด้วยความมักใหญ่ อยากปกครองสงฆ์ ด้วยความโกรธ ด้วยการเป็นคู่กรรมคู่เวรกันมาด้วย ก็เลยคิดจะทำลายพระพุทธเจ้า ก็เลยไปคบกับพระเจ้าอชาตศัตรู หลอกให้พระเจ้าอชาตศัตรูนี่ศรัทธาด้วยฤทธิ์ แล้วก็ให้ปล่อยช้างนาฬาคีรีที่เมาเหล้า คือเมาแล้วมันก็เหมือนกับช้างตกมัน แต่ด้วยพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้าก็ปราบช้างนาฬาคีรี ไปจ้างนายขมังธนู

จนสุดท้ายตัวเองลงมือเอง ด้วยการขึ้นไปบนเขาคิชฌกูฏ แล้วก็ไปกลิ้งหินเพื่อหวังว่าจะให้หินนั้นลงมาทับพระศาสดา แต่ด้วยพุทธบารมีของพระพุทธเจ้า หินนั้นมันกลิ้งลงมาโดนกับหินอีกก้อนหนึ่งกระเด็นแตกไป มีสะเก็ดเล็กๆที่กระเด็นไปโดนนิ้วพระศาสดาห้อพระโลหิต อันนั้นก็เป็นกรรมของพระองค์เด้นะ ถึงขนาดนั้นนะพระองค์ก็ยังทรงให้อภัยพระเทวทัตได้นะ

แต่ด้วยกรรมของพระเทวทัตเอง สุดท้ายก็ไม่สามารถที่จะพ้นจากนรกได้ ว่ากันว่าโดนแผ่นดินสูบ ในวาระสุดท้ายท่านก็ได้ขอขมาต่อพระศาสดา แล้วก็มีเรื่องเล่าต่อว่า พระเทวทัตจะบรรลุธรรม คือหมดกรรมจากการไปตกนรกแล้ว หรือว่าไปเป็นเปรตแล้ว ก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้า

แต่ว่าไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าในแบบพระพุทธเจ้าของเรา คือเป็น "พระปัจเจกพุทธเจ้า"องค์หนึ่งในอนาคตข้างหน้า (เป็นพระพุทธเจ้าประเภทหนึ่ง ที่ตรัสรู้เฉพาะตัว มิได้ประกาศพระพุทธศาสนา )

ไม่ธรรมดาเด้พระเทวทัตนี่ พญามารก็เหมือนกัน (ท้าววสวัตตี) ก็จะไปเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง พระเทวทัตนี่ก็จะไปเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง

ฉะนั้นคนที่ทำบาปทำกรรมมา ทำอะไรไม่ดีนี่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ดีตลอดเด้ ถ้าเกิดว่าเขาคิดได้ อย่างพระเทวทัตนี่วาระสุดท้ายคิดได้ กราบขอขมาต่อพระศาสดาและก็ถูกธรณีสูบลงไปสู่นรก ด้วยบาปด้วยกรรมอันหนัก แม้แต่พื้นแผ่นดินนี่ก็ไม่สามารถจะรองรับพระเทวทัตได้ ต้องร่วงไปสู่นรก แต่พระพุทธเจ้าก็ยังมีความเมตตาต่อพระเทวทัตเหมือนกับราหุลเน๊าะ

ถอดจากเทปโอวาทคำสอน
พระอาจารย์จรัน อนังคโณ ประธานสงฆ์สำนักปฏิบัติธรรมอุทยานธรรมดงยาง ตำบลคลีกลิ้ง อำเภอศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ ในค่ำคืนวันที่ 21 ก.ค.62

(พระอาจารย์จรัญ อนงฺคโณ ท่านเป็นลูกศิษย์ของ ท่านพระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ ประธานสงฆ์แห่งวัดไตรสิกขาทลามลตาราม และวัดนิพเพธพลาราม ต.บ้านแพด อ.คำตากล้า จ.สกลนคร)

ถอดเทป/เรียบเรียง : นรินทร์ ศรีสุทธิ์
ภาพโดย : ตากล้อง ข้างธรรมาสน์

วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พระพุทธเจ้าหมอยา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พุทธศิลป์ “พระพุทธเจ้าหมอยา/พระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุ ” ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ?
ถึงแม้จะปรากฏวรรณกรรมที่กล่าวถึง “พระพุทธเจ้าหมอยา” (Medicine Buddha)  ใน “พระสูตรลลิตวิสตระ” (Lalitavistara Sūtra)  ที่ได้กล่าวสรรเสริญ “พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นราชาแห่งโอสถ”  (King of Medicines)  ผู้สามารถปลดเปลื้องความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานของมวลมนุษย์ นำทางไปสู่พระนิพพาน “...พระองค์เป็นแพทย์ที่ประทานพระโอสถอันได้แก่น้ำอมฤต ทรงเป็นผู้นำ และเป็นผู้ชี้ทางสู่สวรรค์...” มาตั้งแต่ช่วงต้นราชวงศ์คุปตะ ราวพุทธศตวรรษที่ 9 
.
*** มาจนถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12  ปรากฏพระพุทธเจ้าหมอยาในชื่อพระนาม “พระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุไวทูรยประภาสุคต” (Bhaiṣajyaguru Vaidūryaprabha rāja -Sugata) “พระไภษัชยคุรุตถาคต” (Bhaiṣajyaguru Tathagata) (มหาแพทยราชาพุทธะ – มหาไภษัชยราชพุทธเจ้า)  ในพระสูตร   “ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตปูรวปณิธานสูตร” (Bhaiṣajya-guru-vaiḍūrya-prabhāsa-tathāgata-pūrva-praṇidhāna Sūtra) ที่ลิขิตโดยพระตรีปิฎกธราจารย์เฮี้ยนจั๋ง (ซาน จั๋งเสวียนจั้ง พระถังซำจั้ง) ในคติพุทธศาสนามหายาน (Mahāyāna  Buddhism) ความว่า 
“...เมื่อครั้งที่พระศากยมุนีเจ้า ได้ทรงจาริกไปถึงเมืองเวศาลี ทรงประทับอยู่ใต้ร่มพฤกษชาติที่มีเสียงดนตรีของลมและใบไม้ ครั้งนั้นมีพระภิกษุจำนวน 8,000 รูป พระมหาโพธิสัตว์จำนวน 36,000 องค์ แล้วพระโพธิสัตว์มัญชุศรี  (โพธิสัตว์แห่ง ปัญญา) ได้มาร่วมชุมชนและกราบทูลอาราธนาให้พระศากยมุนี ตรัสถึงพระนามของเหล่าพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ และพระปณิธาน รวมทั้งอานิสงส์ของการบูชาพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ๆ  
.
พระศากยมุนีจึงทรงตรัสเล่าว่า “...นับจากโลกธาตุแห่งนี้ไปทางด้านบูรพาทิศ (ตรงข้ามกับแดนสุขาวดี) ผ่านโลกธาตุและดินแดนต่าง ๆ ไปมากมายเท่ากับจำนวนเมล็ดทรายในแม่น้ำคงคา 10 สายรวมกัน ยังมีโลกธาตุแห่งหนึ่งนามว่า “ศุทธิไวฑูรย์” มีพระพุทธเจ้าพระนามว่า “ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา” ประทับอยู่...”
.
“... พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เมื่อครั้งยังเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ตั้งจิตมหาปณิธานไว้ 12 ประการ เพื่อช่วยเหล่าสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ที่เกิดจากโรคทางกายและทางใจและมีชีวิตยืนยาว ...”
.
*** มาจนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 13  ปรากฏพระนามของพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุตถาคต  ในพระสูตร “ไภษชฺยคุรุไวฑูรฺยประภาสปฺตพุทฺธปูรฺวปรฺณิธานวิเศษวิสตฺรสูตร”  (Bhaiṣajya guru vaiḍūrya prabhā Sapta Buddha pūrva praṇidhāna viśeṣa vistāra Sūtra) ที่ลิขิตเป็นภาษาจีนโดยพระอี้จิง (I-Tsing) อธิบายว่า “...พระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุไวทูรยประภาสุคตทรงเป็นประธานของกลุ่มพระไภษัชยตถาคต 7 พระองค์ มหาปณิธานและชื่อโลกธาตุของพระพุทธเจ้าไภสัชยคุรุที่มีจำนวนมหาปณิธานไม่เท่ากัน แต่มีมหาปณิธาน 12 ประการแบบเดียวกัน แต่ละองค์ประทับอยู่ที่พุทธเกษตรศุทธิไวฑูรย์ ทางแดนตะวันออก....” 
.
*** แต่กระนั้น ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 ก็ยังไม่เคยปรากฏรูปพุทธศิลป์ของพระพุทธเจ้าหมอยาราชาแห่งโอสถ/พระไภษัชยคุรุ อย่างชัดเจนครับ
------------------------
*** ดูเหมือนว่า คติและรูปพุทธศิลป์ของพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุจะไม่ได้รับความนิยมในวัฒนธรรมอินเดียมาก่อน แต่เริ่มได้รับความนิยมในช่วงของวัฒนธรรมทิเบตและจีน อาจด้วยเพราะในอินเดียช่วงราชวงศ์ปาละ (Pala Dynasty) ราวพุทธศตวรรษที่ 14 ที่มีความเชื่อในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน/วัชรยาน/ตันตระ (Vajrayāna -Tantric Buddhism) ยังคงนิยมใน “พระโพธิสัตว์ผู้บริบาลรักษาโรคภัย” ทั้ง พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระปัญจรักษาอิตถีโพธิสัตว์ (Pañcarakṣā) ประจำพระฌานิพุทธเจ้าทั้ง 5 องค์  ที่มีธาริณี/มนตรา ป้องกันภัยร้ายแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะ “พระมหาประติสราอิตถีโพธิสัตว์” (Mahāpratisarā) สายตระกูลพระธยานิพุทธะรัตนสัมภาวะ (Ratnasambhava) บุคลาธิษฐานรูปเทวีของพระสูตร  “มหาปฺรติสรา-วิทฺยาราชฺญี” (Mahāpratisarā Vidyārājñī Dhāraṇī Sūtra) เพื่อการปกป้องมนุษย์จากวิญญาณชั่วร้าย บาปเคราะห์ โรคร้าย ความเจ็บป่วย การคลอดลูก ความอดอยากและอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์  
.
---------------------------
*** แต่มีรูปประติมากรรมสำริดชิ้นหนึ่ง จัดแสดงที่ Arthur M. Sackler Gallery  (ภาพจาก วิกิมีเดีย) ระบุในคำอธิบายของสถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institution) ว่าเป็นพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุ /พระพุทธเจ้าหมอยา ได้มาจากชวากลาง ประมาณอายุที่พุทธศตวรรษที่ 14   ซึ่งเป็นช่วงอิทธิพลของราชวงศ์ไศเลนทรา (Śailendra Dynasty-ศรีวิชัย) โดยรับคติเรื่องพระพุทธเจ้าหมอยาจากทิเบต ผสมผสานงานศิลปะแบบราชวงศ์ปาละครับ
.
รูปสำริดที่ระบุว่าเป็นพระไภษัชยคุรุ  มีพุทธลักษณะตามแบบศิลปะชวา/ศรีวิชัย ประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิเพชร/ขัดไขว้ข้อพระบาท (วัชรปรยังกะ/Vajraparyaṅka) บนปัทมสนะ/บัลลังก์ (padmāsana) ด้านหลังเป็นแผงประภาวลีกลม มีเปลวเพลิงอานุภาพแหลมเรียงเว้นเป็นช่วง มีรูปดอกไม้สวรรค์เรียงอยู่บนแผง ด้านบนเป็นฉัตร (Chattra) ก้านฉัตรเป็นพุ่มดอกไม้ พระหัตถ์ซ้ายถือผลสมอไทย (Myrobalan fruit) ในท่าแบพระหัตถ์ประทานพร (มอบให้) พระหัตถ์ขวาถือม้วน “พระมนูสูตร”  (Manuscript) หรือผ้าห่อยา
.
รูปศิลปะการถือผลสมอ น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากฝ่ายเถรวาท (Theravāda) ลังกา ที่ในพุทธประวัติอธิบายว่า พระอินทร์ได้ถวายผลสมอ ในความหมายของ “ทิพย์โอสถ” เพื่อเป็นยาระบาย แก่พระพุทธองค์ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของประทับเสวยวิมุติสุขครับ
หากรูปสำริดจากชวากลางองค์นี้ คือ พระพุทธเจ้าหมอยา/พระไภษัชยคุรุ ก็อาจอธิบายได้ว่า รูปพุทธศิลป์ของพระไภษัชยคุรุในยุคแรก ช่วงราชวงศ์ปาละ-ชวา/ศรีวิชัย จะฉลองพระองค์แบบพระภิกษุไม่สวมเครื่องประดับ  มีลักษณะของมหาบุรุษเช่นเดียวกับ “พระพุทธเจ้าอมิตาภะ” (Amitabha Dhyāni Buddha) แต่ยังไม่นิยมวางรูปสิ่งของมงคล ทั้งหม้อยาโอสถ ผลสมอ บาตร (บรรจุทิพยโอสถ) และรัตนเจดีย์ ตามแบบศิลปะทิเบตและจีน ในพระหัตถ์ขวา รวมทั้งยังรับคติผลสมอโอสถทิพย์จากฝ่ายเถรวาทมาผสมผสานในรูปงานพุทธศิลป์อีกด้วย
.
พระพุทธรูปสำริด  ศิลปะในพุทธศตวรรษที่ 14 จากชวากลางองค์นี้ จึงเป็นงานพุทธศิลป์ในคติพระพุทธเจ้าหม้อยา/พระไภษัชยคุรุรุ่นแรก ที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจเป็นรุ่นแรก ๆ ของโลกไปพร้อมกัน ก่อนจะเกิดความนิยมรูปศิลปะพระไภษัชยคุรุ ที่ถือหม้อยา/บาตรในพระหัตถ์ครับ
.
--------------------------------------
*** ในคติความเชื่อของมหายานและวัชรยาน/ตันตระ เหล่าสรรพสัตว์ที่ทนทุกข์ทรมานด้วยโรคภัย หากเพียงได้ยิน รำลึกถึงหรือกล่าวพระนามของพระพุทธเจ้าไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาสุคต ก็จะพ้นจากโรคภัยทั้งหลาย มีร่างกายสมบูรณ์ ประกอบด้วยสติปัญญา มีทรัพย์มหาศาล ผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคทางกายและทางใจ จะสามารถพ้นจากโรคภัยได้ ด้วยการถวายเครื่องบูชาแก่รูปบุคลาธิษฐานของพระไภษัชยคุรุ สวดพระธาริณี-มนตราประจำพระองค์ กล่าวเสียงและตั้งจิตเป็นกสิณรำลึกถึงพระนามของพระองค์
.
เหล่าผู้ศรัทธาจะนิยมสาธยายจารึก คัดลอกพระนาม สวดธาริณี-มนตรา (dhāraṇī) ตามพระสูตร วาดภาพพระบฏ สร้างงานพุทธศิลป์ของพระไภษัชยคุรุ  ตามอรรถในพระสูตรที่กล่าวว่า “หากได้ปรากฏพระนามจากพระธาริณี-มนตรา พระสูตร รูปภาพและรูปพระปฏิมาของพระไภษัชยคุรุสถิตหรือปรากฏอยู่ ณ แห่งใด โรคอาพาธร้ายแรง อาถรรพ์ชั่วร้ายทั้งปวง การเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุ ก็จะสิ้นไปจากที่แห่งนั้น ด้วยอำนาจแห่งพระองค์...”
.
“...หากสาธุชนหญิงชายใดๆ จดจำพระนามได้และภาวนาอ่านท่องพระสูตร พระธาริณี และพระนามของพระไภษัชยคุรุโดยสม่ำเสมอ  ผู้นั้นจะปราศจากโรคภัยร้ายแรงทั้งปวง  ไม่เป็นผู้พิกลพิการ ไม่ยากจนข้นแค้น จักมีอายุขัยที่ยืนยาว และเมื่อสิ้นชีวิตลงก็จะได้ไปจุติยังศุทธิไวฑูรย์พุทธเกษตร...”
.
“...โอม ไภษัชเย ไภษัชเย มะหาไภษัชเย ไภษัชยะราเช สะมุทคะเต สวาหา...”
.
*** สวดพระธาริณีนี้ เพื่อกล่าวระลึกถึงพระนามต่อหน้ารูปแทนพระองค์  
.
“...นะโม ภาคะวะเต ไภษัชเย คุรุไพฑูรยะ ประภา ราชายะ ตถาคตายะ อรหัตเต สัมมาสัมพุทธายะ ตัทยาถา โอม ไภษัชเย ไภษัชยเย มหาไภษัชเย ราชา สมุทคะเต สวาหา...”
.
ขออำนาจแห่งพระไภษัชยคุรุ ได้ช่วยปกป้องคุ้มครองทุกท่าน ให้พ้นจากภัยพิบัติจากโรคร้ายทั้งทางกายและจิตใจ ขอให้ประสพความปลอดภัย สุขสมหวังและมีสุขภาพที่แข็งแรง
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“มูรติทั้ง 8”  มหาอานุภาพบารมีแห่งพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่ปราสาทบันทายฉมาร์

รูปสลักนูนต่ำบริเวณผนังระเบียงคดชั้นนอกฝั่งทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกลุ่มปราสาทราชวิหารแห่งบันทายฉมาร์  เป็นงานศิลปะที่สะท้อนให้เห็นคติความเชื่อพุทธศาสนานิกาย “วัชรยาน/ตันตระ” (Vajrayana/Tantra Buddhism) ของเหล่าผู้ศรัทธาในลัทธิ “พระโลเกศวร/อวโลกิเตศวร” (Lokeśvara /Bodhisattva Avalokiteshvara - โลเกศวรเป็นพระนามที่ปรากฏในจารึก)  ผู้ทรงอานุภาพเหนือสกลจักรวาล รวมทั้งรูปของเหล่าโพธิสัตว์ “ยิดัม” (Yi-Dam) พุทธเทวะผู้ปกป้องพระพุทธศาสนา ปฏิปักษ์โดยตรงกับฝ่ายฮินดูและเหล่าเทพเจ้า ที่ถูกลดระดับลงมาเป็นเพียงบริวารผู้ศรัทธาในพระโลเกศวรเท่านั้น
*** ผนังกำแพงของอาคารระเบียงคดแบบกึ่งโปร่ง ที่มีการก่อเรียงกำแพงเป็นผนังทึบฝั่งด้านใน ฝั่งด้านนอกโปร่งมีเสา 2 ระดับ รองรับชั้นหลังคาหินที่ปัจจุบันได้พังทลายลงมาทั้งหมด (กำลังบูรณะ) เป็นภาพเล่าเรื่องในคติความเชื่อของ “พระโลเกศวร/พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรผู้ทรงด้วยอานุภาพบารมี” เรียงรายบนผนังทั้งหมด 8 รูป อาจเรียกว่า “มูรติทั้ง 8” หรือ “มหาอานุภาพทั้ง 8”  ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีการบูรณะผนังระเบียงคดฝั่งนี้จนสมบูรณ์ เหลือรูปสลักอยู่ 4 รูป อีก 2 รูป ที่ได้คืนจากการโจรกรรม นำไปจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพนมเปญ ส่วนอีก 2 รูปยังคงหายสาบสูญไร้ร่องรอยอยู่ครับ
.
*** ซึ่งจนถึงในปัจจุบัน ก็ยังไม่เคยมีการพบเห็นรูปศิลปะพระโลเกศวรผู้ทรงอานุภาพในคติวัชรยาน/ตันตระอันมีความเด่นชัด 8 ประการ เช่นนี้ในปราสาทหลังอื่น ๆ ในยุคสมัยของความนิยม นอกจากที่ปราสาทบันทายฉมาร์แห่งนี้เท่านั้น
.
รูปของพระโลเกศวร ทั้ง 8 ภาพ เป็นการแสดง “อานุภาพบารมีทั้ง 8 ” แบบเดียวกับพลังมูรติทั้ง 8 แห่งพระศิวะของฝ่ายฮินดู  สลักรูปศิลปะออกมาในลักษณะที่แตกต่างกัน จัดวางองค์ประกอบของภาพจากพระสูตรคัมภีร์ของฝ่ายวัชรยาน ที่มีเค้าโครงวิถีศาสตร์ตามคติแบบฮินดูตันตระเข้ามาผสมผสานครับ
.
-----------------------------
*** ภาพสลักแรก อยู่บนผนังข้างประตูเล็ก ด้านซ้ายสุดของระเบียงฝั่งเดียวกับโคปุระตะวันตก เป็นภาพของ "พระโลเกศวร 22 พระกร” มีรูปเทพเจ้าถือมาลัยในกรอบวงกลม 10 วง รายล้อมรอบรูปประธาน  อาจมีความหมายในมูรติ/อานุภาพบารมีว่า “ผู้ให้กำเนิดจักรวาล” ทรงเป็นศูนย์กลางผู้ให้กำเนิดแห่งสกลจักรวาล  ให้กำเนิดเหล่าเทพเจ้าและดวงดาว ซึ่งตามคัมภีร์ “การันฑวยูหสูตร” (Karandavyūha Sūtra) กล่าวว่า “...ทรงเปล่งรัศมีอันประกอบด้วยสีต่างๆ แต่ละขุมขนของพระองค์มีโลกอยู่ภายในมีเทพเจ้า 12 องค์ กำเนิดออกมาจากพระองค์ ทั้งพระพรหมกำเนิดขึ้นจากพระพาหา พระนารายณ์ พระมหาเทพ (พระศิวะ) และพระอินทร์ กำเนิดขึ้นจากรากพระเกศา ,พระวรุณกำเนิดขึ้นจากพระอุทร ,พระพายกำเนิดขึ้นจากลมพระโอษฐ์ ,พระยม พระอาทิตย์ พระจันทร์ กำเนิดขึ้นจากพระเนตร ,พระนางปฤถิวี (พระนางภูมิเทวี) กำเนิดขึ้นพระบาท ,พระนางสุรัสวดี กำเนิดจากพระทนต์, พระนางลักษมี กำเนิดขึ้นจากพระชานุทั้งสอง...”   
.
คัมภีร์ “อมิตายุสพุทธานุสัมฤติสูตร” (มหายาน) กล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นเจ้าแห่งจักรวาล พระเกศาของพระองค์เป็นที่สถิตของพระพุทธเจ้าซึ่งมีขนาดสูงถึง 25 โยชน์ ทุกส่วนของพระองค์คือ “จักรวาล” 1 จักรวาล พระนลาฏเป็นที่บังเกิดแห่ง “พระมเหศวร” พระเนตรเป็นที่กำเนิดแห่ง “พระสูริยา” และ “พระจันทรา” พระอังสาเป็นที่กำเนิดแห่ง “พระมหาพรหม” พระหทัยเป็นที่กำเนิดแห่ง “พระวิษณุ” พระอุทรเป็นที่กำเนิดแห่ง “พระวรุณ” พระโอษฐ์เป็นที่กำเนิดแห่ง “พระพาย” พระทนต์เป็นที่กำเนิดแห่ง “พระสุรัสวดี” และแผ่นดินคือ “พระบาท”
.
*** รูปสลักลำดับที่สองอยู่อีกฝั่งหนึ่งของประตูเล็ก เรียงไปทางใต้ของระเบียงคด เป็นภาพของ "พระโลเกศวร  32 พระกร” สวมมงกุฏ ทรงเครื่องจักรพรรดิ์  อาจความหมายถึงมูรติ “ผู้เป็นใหญ่เหนือเหล่ากษัตรา” ในพระหัตถ์ขวาด้านหน้าสุดมีพระมานุษิโพธิสัตว์ประทับ พระหัตถ์ซ้ายด้านหน้าถือหม้อน้ำอมฤต แสดงมุทราแห่งอำนาจบารมี โดยมีเหล่ากษัตริย์และมหาราชาประทับนั่งในซุ้มปราสาทกำลังถวายการนมัสการ 
.
*** ถัดไปรูปที่ 3 เป็นภาพ “พระโลเกศวร 10 พระกร” ล้อมรอบด้วยรูปบุคคล อาจเป็นมูรติ “ผู้เป็นที่พึ่งของมวลมนุษย์” เหล่าผู้มีบุญบารมีลงไปจนถึงผู้มีบาปกรรมในโลกต่างกำลังถวายสาธุการ  “....พระองค์เป็นประหนึ่งวิญญาณของจักรวาลที่ได้เปล่งประกายสารัตถะแห่งการช่วยเหลือสัตว์โลกให้หลุดพ้นจากภาวะทั้งปวง และความรอบรู้ชั้นสูงสุดยอดที่จะเผยแผ่ให้คงอยู่ได้ยาวนานตลอดไปด้วยจำนวนมากมายที่มีอยู่ของบรรดาพระพุทธองค์ทั้งหลายอันอยู่รอบพระวรกาย...” 
.
“คัมภีร์สัทธรรมปุณฑริก” ”(Saddharma Puṇḍarīka Sūtra)  กล่าวสรรเสริญพระองค์ในฐานะผู้พิทักษ์ภัยอันตรายให้สรรพสัตว์ โดยมีภาวะอยู่ทุกหนแห่ง มีอานุภาพบันดาลให้ประสบผลสำเร็จในกิจกรรมต่าง ๆ เชื่อกันว่าเพียงหากได้สวดธาริณี (dhāraṇī - มนตรา)  เอ่ยพระนามของพระองค์ ด้วยมนตรา 6 พยางค์  (Six Syllables) “โอมฺ มณิ ปทฺเม หูมฺ” (โอม-ม-ณี-ปทฺ-เม-หูม Oṃ - Auṃ maṇi padme hūṃ) ที่มีความหมายว่า “ดวงแก้วมณี (แสงสว่างเจิดจรัส) ได้อุบัติขึ้นจากดอกบัว” ก็จะได้บุญกุศลเท่ากับการถวายความเคารพบรรดาพระพุทธเจ้าซึ่งมีจำนวนหกสิบสองเท่าของเม็ดทรายในแม่น้ำคงคามาตลอดชีวิต เหล่าพระตถาคต พระมานุษิพุทธเจ้าและมานุษิพระโพธิสัตว์ ก็ล้วนแต่สวดมนตรานี้ทั้งสิ้นก็จะได้บุญกุศลเท่ากับการถวายความเคารพบรรดาพระพุทธเจ้าซึ่งมีจำนวนหกสิบสองเท่าของเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา พระองค์ยังสามารถเนรมิตให้มีพระเศียรและพระกรจำนวนมากเพื่อให้ช่วยเหลือสรรพสัตว์ได้มากขึ้น
.
ภาพนี้ถูกโจรกรรมออกไปช่วงหลังปี พ.ศ. 2543 และโดนจับได้ในฝั่งไทย รัฐบาลไทยได้ส่งมอบคืนแก่กัมพูชา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญครับ
.
*** ภาพที่สี่ เป็นภาพ “พระโลเกศวร 6 กร”  ในมุทราความหมายของมูรติ  “ผู้ให้กำเนิดและปกป้องเหล่าตถาคต/พระโพธิสัตว์” ซึ่งในคัมภีร์การันฑวยูหสูตร กล่าวไว้ว่า “....ด้วยเพียงพระโลมา 1 เส้นของพระองค์ก็มีอานุภาพมากกว่าพระพุทธเจ้า 62 เท่าของจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา นอกจากนั้นในขุมพระโลมาแต่ละขุมของพระองค์ ยังมีคนธรรพ์อยู่เป็นจำนวนพัน อีกขุมหนึ่งมีฤๅษีอยู่เป็นจำนวนล้าน ผู้ที่ออกมาจากพระโพธิสัตว์เปล่งรัศมีจึงมีทั้งเทวดา คนธรรพ์ ฤๅษี และพระพุทธเจ้าอีกมากมาย...” 
.
ในคัมภีร์อมิตายูรธยานสูตร (Amitāyurdhyāna Sūtra) กล่าวว่า ประภามณฑลที่ล้อมรอบพระเศียรพระโพธิสัตว์โลเกศวรประกอบด้วยพระพุทธเจ้า 500 พระองค์ แต่ละองค์แวดล้อมด้วยพระโพธิสัตว์ 500 พระองค์ และพระโพธิสัตว์แต่ละองค์ก็ยังแวดล้อมด้วยเหล่าเทวดาอีกเป็นจำนวนมาก
.
ทางด้านซ้ายล่างอาจเป็นภาพพระวัชริน (เหวัชระ) ทางขวาเป็นภาพเป็นเทวีปรัชญาปารมิตา ศักติของพระอวโลกิเตศวร และพระไตรโลกยวิชัย ในฐานะบริวารผู้พิทักษ์  มีหน้าที่ในการปราบภูตผีปิศาจสิ่งชั่วร้าย (เทพฮินดู) ต่าง ๆ ไม่ให้ทำอันตรายหรือมอมเมาอวิชชาแก่มนุษย์  โดยมีรูปอัปสราและเหล่านางฟ้าบนสรวงสวรรค์กำลังถวายสาธุการ
.
รูปสลักนูนต่ำนี้ ก็ถูกรื้อขโมยออกไปพร้อมกับภาพที่ 3 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญเช่นกันครับ
.
*** ภาพสลักที่ห้าเป็นภาพสลักของ “พระโลเกศวร 8 กร” อาจมีความหมายถึงมูรติ “ผู้ดูแลมวลมนุษย์ด้วยเมตตาบารมี” เป็นที่พึ่งของเหล่ามวลมนุษย์ ในคัมภีร์อมิตายุสพุทธานุสัมฤติสูตรได้กล่าวว่า พระองค์ประทับอยู่เบื้องขวาของพระพุทธเจ้าอมิตาภะพุทธะ โดยมีพระโพธิสัตว์มหาสถามปราปตะอยู่เบื้องซ้าย คัมภีร์นี้ยังกล่าวถึงพระนามพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรว่าหมายถึง “แสงสว่างอันไม่มีที่สิ้นสุด” เปรียบเสมือนปัญญาส่องทางแก่สรรพสัตว์ให้รอดพ้นจากนรกภูมิทั้งหลาย ใน “คัมภีร์โลเกศวรศตกะ” (Lokeśvaraśataka) กล่าว ว่า “...พระองค์เป็นผู้เป็นใหญ่ในโลก ทรงเป็นแสงสว่างอันมั่นคง แสงของพระองค์อยู่คงที่ตลอดกาล ได้กำจัดความมืดมนอันหนาแน่นแห่งอวิชชาอันเกิดจากสังสารวัฏ...” ปัจจุบันภาพสลักนี้ยังหายสาบสูญอยู่
.
*** ภาพสลักที่หก เป็นภาพ “พระโลเกศวร 8 กร” ถือ วัชระ อังกุศ หนังสือ สังข์ จักร ลูกประคำ หม้อน้ำอมฤตและดาบ ในความหมายของมูรติ “ผู้เป็นใหญ่เหนือไกรลาสปติ” ทรงมีอำนาจเหนือพระศิวะมหาเทพและพระนางปารวตี เทพเจ้าและมหาฤๅษีทั้งหลายบนสรวงสวรรค์ไกรลาส ต่างล้วนแสดงสาธุการด้วยมาลัยดอกไม้หอม
.
ภาพสลักที่หกนี้ ก็ยังคงหายสาบสูญอยู่เช่นกันครับ
.
*** ภาพสลักที่เจ็ดและแปดที่ปลายของผนัง ในวันนี้ได้รับการบูรณะจนเสร็จสิ้นแล้ว ภายหลังจากที่เคยถล่มลงเป็นกองหินจากสงคราม ภาพที่เจ็ด อาจหมายถึงมูรติแห่ง “ผู้ทรงบริบาลโรคา” ทรงรักษาความทุกข์และโรคร้ายทั้งทางกายและจิตใจ เป็นภาพของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร พระหัตถ์ถือ ดอกบัวปัทมะ (Padma) คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร ลูกปะคำของนักบวช (Rudraksha Mala) และอมฤตกุมภ์ (กมัลฑลุ) (Amritakumbha) รายล้อมด้วยการเฉลิมฉลองด้วยความสุข ความยินดีของเหล่ากษัตริย์ในมหาปราสาท ผู้คนและอสูร และการร่ายรำของเหล่าเทพธิดาอัปสราในท่า “อรรธปรยังก์” (Ardhaparyaṅka) ด้วยความยินดีในชัยชนะเหนือโรคร้ายและความทุกข์
.
*** ภาพสุดท้าย ในมูรติ/อานุภาพบารมีทั้ง 8 เป็นภาพของมูรติ “ผู้ทรงอานุภาพบารมีเหนือ 3 โลก เป็นนิรันดร์กาล” เป็นภาพ “พระโลเกศวร 16 กร 9 พระพักตร์ (?)” ในท่ามกลางเหล่าเทพเจ้าและกษัตริย์ ประนมหัตถ์นมัสการแซ่ซ้องสาธุการ ด้านบนเป็นพระอาทิตย์และพระจันทร์ ในความหมายแห่งนิรันดร์กาล “ตราบที่สูริยะและจันทรายังคงไม่สิ้นแสง” เหล่านางฟ้าแห่งสรวงสวรรค์กำลังเหาะเหิน โปรยปรายเครื่องหอมและบุปผามาลัยถวายการบูชาสักการะ 
.
ที่รอบพระวรกาย ปรากฏภาพของเหล่าเทพเจ้ากำลังแสดงอัญชลี แสดงการกำเนิดของพระศิวะถือตรีศูลที่บริเวณพระเศียรฝั่งซ้าย ซึ่งในพระสูตรกล่าว่า กำเนิดขึ้นจากรากพระเกศาหรือพระนลาฏ  ภาพพระนางสุรัสวดี กำเนิดจากพระทนต์ ที่ฝั่งขวาของพระเศียร ภาพพระวิษณุกำเนิดจากพระหทัย พระพรหมกำเนิดจากพระพาหาหรือพระอังสา (ไหล่) ภาพพระวรุณที่พระอุทร และภาพของพระนางปฤถิวีหรือพระนางลักษมี ที่บริเวณพระบาทด้านขวาครับ
.
***
ผู้เป็นใหญ่เหนือจักรวาล
ผู้เป็นใหญ่เหนือเหล่ากษัตรา
ผู้เป็นที่พึ่งแห่งมวลมนุษย์
ผู้ให้กำเนิดและปกป้องเหล่าตถาคต/พระโพธิสัตว์
ผู้ดูแลมวลมนุษย์ด้วยเมตตาบารมี 
ผู้เป็นใหญ่เหนือไกรลาสปติ
ผู้ทรงบริบาลแห่งโรคา
ผู้ทรงอานุภาพบารมีเหนือ 3 โลก เป็นนิรันดร์กาล

*** โอม มณี ปัทเม หูม
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy

วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พุทธศิลป์ปางป่าลิไลยก์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พุทธศิลป์ “ปางป่าลิไลยก์” เกิดขึ้นครั้งแรกในยุควัฒนธรรมทวารวดี 

พุทธศิลป์ “ปางป่าลิไลยก์” (Palileyaka) ที่มีรูปช้าง (Elephant) และลิง (Monkey) ประกอบอยู่ร่วมพร้อมกันนั้น อาจเริ่มต้นครั้งแรกในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี/รามัญ ดังปรากฏหลักฐานจากพระพิมพ์ดินเผา (Terracotta Votive Tablet) ที่มีขนาดใหญ่ (23 * 11 เซนติเมตร) พบจากริมน้ำตรงข้ามวัดคุ้งสำเภาล่ม อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นรูปของพระพทุธเจ้าสมณโคตมประทับบนบัลลังก์ แสดงวิตรรกะมุทราที่พระหัตถ์ขวา (ปางแสดงธรรม) มีภาพต้นไม้ (ป่า) ที่มีลิงกำลังยกสิ่งของถวายและภาพช้างประกอบอยู่ที่ส่วนล่างอย่างชัดเจน
.
คติเรื่อง “ปางป่าลิไลยก์” มีพัฒนาการมา 2 สาย คือสายอินเดียเหนือและสายลังกา โดยงานพุทธศิลป์ของฝ่ายสถวีรวาท/ศราวกยาน (Sthāvirīya) ในอินเดียเหนือตั้งแต่ช่วงราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) ราวพุทธศตวรรษที่ 9-10 จนถึงราชวงศ์ปาละ (Pala Dynasty) ในอินเดียตะวันออก ช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 - 17 จะปรากฏพุทธประวัติตอน “การโปรดสั่งสอน-ทรมานพญาวานร” ที่นครเวสาลี (Vaishali) หนึ่งใน “อัษฏมหาปาฏิหาริย์/อัฐฏมหาปาฏิหาริย์” (Aṣṭa Mahā Prātihārya) หรือพุทธประวัติตอนแสดงมหาปาฏิหาริย์ 8 เหตุการณ์ ในสถานสำคัญที่ควรระลึกถึงพระพุทธเจ้า 8 แห่ง ที่เรียกว่า “อัษฏมหาสถาน” (Aṣṭa Mahastan) ครับ 
.
“การโปรดสั่งสอน-ทรมานพญาวานร” เป็นเรื่องราวของพญาวารนร ใน “ป่ามหาวัน” (Mahāwan) ที่นครเวสาลี (Vaiśālī) ที่ได้นำรวงผึ้งใหญ่ (Honeycomb) มาถวายแก่พระพุทธองค์ จนในที่สุด พญาลิงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรบนสรวงสวรรค์ไตรตรึงษ์ (Trāyastriṃśa) 
.
*** พุทธศิลป์ฝ่ายอินเดียเหนือในยุคราชวงศ์คุปตะจนมาถึงราชวงศ์ปาละ จะปรากฏเพียงรูปลิง/พญาวานรถวายรวงผึ้งแก่พระพุทธเจ้าในป่า “มหาวัน” โดยไม่ปรากฏรูปช้างร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วยครับ 
.
---------------------------------
*** ส่วนในคติเถรวาทฝ่ายลังกาวงศ์ (Theravāda) กลับไม่ปรากฏเรื่องราวของพญาวานรถวายรวงผึ้งที่เมืองเวสาลีตามแบบอินเดียเหนือ แต่มีพุทธประวัติตอน “พญาช้างปาลิเลยะ/ปาเลไลยกะ” (Pārileyya/ Pārileyyaka) และโขลงช้างบริวารใน “ป่ารักขิตวันสัญธะ” (Rakkhitavanasanda Forest) ทางใต้ของนครโกสัมพี (Kosambhi) ในแคว้นเจตี (Cedi) ที่คอยปรนนิบัติถวายภัตตาหารทั้งน้ำสะอาดและผลไม้ ในครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จหลีกออกมาจากความวุ่นวายจากการทะเลาะวิวาท ขาดความสามัคคีของคณะสงฆ์วัดโฆสิตาราม จนเมื่อการทะเลาะเบาะแว้งเริ่มสงบลง พระพุทธองค์ได้เสด็จกลับมายังพระเชตะวันมหาวิหาร ทรงเทศนาธรรมแห่งความสามัคคี โดยทรงชี้ไปที่พญาช้างปาลิเลยะและโขลงช้างบริวารแห่งป่ารักขิตวันสัญธะ เป็นตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขครับ 
.   
*** แต่ก็ยังไม่เคยปรากฏหลักฐานงานพุทธศิลป์ปางป่าลิไลยก์ที่ชัดเจนในงานศิลปะแบบลังกา แล้วปางป่าลิไลยก์ที่มีช้างอยู่พร้อมกับลิงนั้น เริ่มต้นจากที่ไหนกันแน่ ? 
.
*** จากหลักฐานพระพิมพ์ดินเผาที่พบจากจังหวัดสุพรรณบุรี อาจอธิบายได้ว่า พุทธประวัติเรื่อง “พญาวานรถวายรวงผึ้ง ที่ป่ามหาวัน นครเวสาลี” จากคตินิยมช่วงราชวงศ์ปาละ และเรื่อง “พญาช้างปาลิเลยะและโขลงช้างปรนนิบัติพระพุทธเจ้า ที่ป่ารักขิตวันสัญธะ เมืองโกสัมพี” จากคติความนิยมของฝ่ายเถรวาท
อาจได้เข้ามาผสมผสานกันครั้งแรกในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา โดยพิจารณาช่วงเวลาจากงานพุทธศิลป์ในพระพิมพ์ ที่นุ่งห่มดอง/เฉียงแบบเถรวาท แสดงวิตรรกะมุทราที่พระหัตถ์ขวาเพียงพระหัตถ์เดียว โดยอีกพระหัตถ์วางบนหน้าพระเพลาอันเป็นลักษณะเด่นของคติเถรวาทฝ่ายคณะมหาวิหาร (Maha-vihāra) จากลังกา ที่เป็นความนิยมในวัฒนธรรมทวารวดีช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 ส่วนการประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ขัดไขว้ข้อพระบาทแบบท่านั่งโยคาสนะ “โยคาสนะ” (Yogāsana) ก็เป็นลักษณะเด่นของพระพุทธรูปตามคติฝ่ายมหายาน รวมไปถึงซุ้มโค้งประภามณฑลตามรูปศิลปะแผ่นหลัง “ประภาวลี” (Altarpiece) ที่นิยมในศิลปะแบบราชวงศ์ปาละ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 – 16 ครับ
.
เรื่อง “ช้างถวายของ” จึงอาจเพิ่งแต่งขึ้นใหม่ในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี/รามัญนิกาย โดยรับอิทธิพลมาจากฝ่ายเถรวาทลังกา (ทั้งมหาวิหารและอภัยคีรีวิหาร/Abhayagiri-vihāra) และรูป “ลิงถวายรวงผึ้ง” จากคติและงานศิลปะฝ่ายราชวงศ์ปาละ จึงได้มาอยู่รวมกันเป็นครั้งแรกในชื่อนาม “ปางป่าลิไลยก์” ตามชื่อนามพญาช้างที่กลายมาเป็นชื่อป่าในเวลาต่อมา  
.
พุทธศิลป์ปางป่าเลไลยก์ที่ปรากฏรูปช้างถวายผลไม้และลิงถวายรวงผึ้ง (The elephant bringing fruit and the monkey bringing a honeycomb) ในวัฒนธรรมรามัญ/ทวารวดี ยังส่งอิทธิพลไปยังงานศิลปะแบบพุกาม (Bagan Art) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากท่านั่งขัดตะหมาดไปเป็นท่านั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ภัทรบิฐ (เก้าอี้นั่งมีพนักพิง) แบบกรีกหรือแบบยุโรป (Seated Buddha on a throne -The Buddha sits in “Greek – European Posture” on a Emperor throne) หรือที่เรียกว่า “ปรลัมพปาทาสนะ” (Pralambapa – dasana posture) ทำพระหัตถ์ทั้งสองข้างประคองบาตรถือบาตรบนพระเพลา ทั้งแบบนั่งห้อยขาบนภัทรบิฐหรือนั่งสมาธิเพชรแบบขัดตะหมาด ซึ่งก็เป็นเปลี่ยนแปลงรูปจากท่านั่งเดิมเป็นเป็นครั้งแรกครับ
.
คติและรูปพุทธศิลป์ปางป่าเลไลยก์ในคติพุทธศาสนาสายรามัญนิกาย คงได้เข้าไปสู่เมืองพระนครผ่านไปจากเมืองละโว้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ดังปรากฏภาพสลักบนหน้าบันที่ “ปราสาทบันเตียกะเดย” (Banteay Kdei) ทางตะวันออกของเมืองนครธม และที่ “ปราสาทพระป่าลิไลยก์” (Preah Palilay) วัดทางพุทธศาสนาแบบเถรวาท ทางเหนือของพระราชวังหลวงภายในตัวเมืองพระนครหลวงศรียโศธรปุระ ที่ยังคงรักษารูปแบบประทับ (นั่ง) ขัดตะหมาดบนภัทรบัลลังก์ตามแบบศิลปะทวารวดีอยู่ 
.
*** คติและพุทธศิลป์ปางป่าเลไลยก์จากรามัญ ได้เลี้ยวกลับเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาประมาณช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 โดยนิยมทำเป็นพระพุทธรูปแบบนั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ตามแบบศิลปะปาละและพุกาม แต่ได้เปลี่ยนแปลงการวางพระหัตถ์ขึ้นใหม่ โดยวางปลายพระกรขวาและซ้ายแนบไปบนพระเพลา หงายพระหัตถ์ขวาขึ้นเหนือพระชานุขวา ส่วนพระหัตถ์ซ้ายเหนือพระชานุวางคว่ำลงครับ  
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ” ที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.

อินเดียเหนือในช่วงราชวงศ์คุปตะ ราวพุทธศตวรรษที่ 8 – 9  ยังคงนิยมในคติฮินดูนิกาย “ภาควัต” (Bhagavata) บูชาพระกฤษณะ (Krishna) และพระวาสุเทพ (Vasudeva) โดยมีวรรณกรรมสำคัญคือ “ภาควัตปุราณะ” (Bhāgavata Purāṇa) ที่เล่าเรื่องราวชีวประวัติของพระกฤษณะ (Krishnacaritra)    
.
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 9  เริ่มปรากฏนิกาย “ปาญจราตระ”  (Pāñcarātras) ที่ให้ความศรัทธาใน “พระนารายณ์” (Narayana ผู้ที่เคลื่อนเหนือน้ำ-เกษียรสมุทร) มีคัมภีร์สำคัญคือ “ปัทมปุราณะ” (Padma Purāṇa)  เน้นการปฏิบัติศาสนพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 5 ในรอบวัน ถือว่าพระนารายณ์ ผู้เป็นกำเนิดพลังแห่งจักรวาลและทุกสรรพชีวิต ดับยุคเข็ญด้วยการอวตาร จึงเกิดคติ “พระอวตาร” แห่งพระนารายณ์ (Avatar) โดยได้รวมเอาพระกฤษณะจากนิกายภาควัตเข้ามาเป็นหนึ่งในพระอวตารด้วยครับ
.
จนถึงช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 10 นิกายภาควัตและปาญจราตะได้ถูกผนวกรวมกันเข้ากับลัทธิโบราณที่บูชาพระวิษณุ (Vishnu) ในฐานะของเทพแห่งแสงสว่างที่เจิดจรัสและการบรรลุในจิตวิญญาณมาตั้งแต่ยุคพระเวทที่เก่าแก่ กลายมาเป็น “ไวษณพนิกาย” (Vaishnavism) พระนามของพระกฤษณะและพระนารายณ์ จึงได้กลายมาเป็นพระนามเดียวกับพระวิษณุ เกิดวรรณกรรมพระทศอวตาร (Dashavatara)  และการรวบรวมวรรณกรรมผู้นำจิตวิญญาณในท้องถิ่นต่าง ๆ มาสร้างเป็นพระอวตารรวม 39 ครั้ง เกิดพระนามใหม่ คัมภีร์ปุราณะและรูปศิลปะแห่งพระวิษณุ/นารายณ์ขึ้นอย่างมากมาย
.
*** งานศิลปะรูปพระวิษณุ จากแคว้นอานธระประเทศเริ่มเข้ามาสู่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บริเวณดินแดนคาบสมุทรครั้งแรก ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 9 เป็นรูปประติมากรรมพระวาสุเทพกฤษณะในนิกายภาควัต พบจากวัดศาลาทึง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี จนมาถึงในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 10   จึงได้เริ่มปรากฏรูปศิลปะพระวิษณุในคติไวษณพนิกายขึ้นในภูมิภาคเป็นครั้งแรกครับ 
.
 *** งานศิลปะรูป “พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ/โควรรธนะธารณ” (Govardhanadhāraṇa /Krishna Lifting Mount Govardhan) จากเรื่องราวในวัยเด็ก ที่กฤษณะกุมารใช้พละกำลังอันมหาศาลของตนยกภูเขาโควรรธนะให้เป็นที่พักพิง ช่วยเหลือเหล่าโคปาล-โคปี (Gopalaka-Gopis) และฝูงวัวจากความพิโรธของพระอินทร์จากเหตุที่ผู้คนเลี้ยงโคไม่บูชายัญวัวเซ่นสรวงบูชาพระองค์ จึงบันดาลฝนตกหนัก 7 วัน 7 คืน มีงานศิลปะเป็นรูปบุคคลเอียงพระวรกาย ชูพระกรข้างหนึ่งเหยียดขึ้นสุดในความหมายของการยกเขาโควรรธนะ โดยรูปศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียวันออกเฉียงใต้ ปรากฏครั้งแรกในเขตดินแดนปากแม่น้ำโขง (เวียดนามตอนใต้และทางตะวันออกเฉียงใต้ของกัมพูชา) ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นรูปประติมากรรมในคติฝ่ายไวษณพนิกายที่พบภายในถ้ำหน้าเขาบาพนม (Ba Phnum) ทางใต้ของเมืองโบราณอังกอร์โบเรย (Angkor Borei) หรือนครโกกโธลก (Kôk Thlok) (นครต้นหมัน) ในเขตจังหวัดตาแก้ว (Takeo) ซึ่งมีรูปลักษณ์ทางศิลปะแบบราชวงศ์คุปตะหมวดแคว้นอานธระ และยังพบรูปประติมากรรมลอยตัวของพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะจากเมืองโบราณศรีเทพในงานศิลปะช่วงเวลาเดียวกัน 
.
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 รูปศิลปะของพระวิษณุและพระกฤษณะในคติไวษณพนิกาย จะเปลี่ยนแปลงความนิยมไปตามงานศิลปะของราชวงศ์ปัลลวะที่เข้ามาปกครองแคว้นอานธระ นิยมสลักรูปร่างตามแบบสรีระทางกายวิภาคจริงของมนุษย์ สวมหมวกกระบอกกิรีฏมุกุฎทรงสูงไม่มีลวดลาย พระเกศาด้านหลังหมวกเป็นลอนหยิกยาว รูปพระวิษณุนุ่งผ้าโธฏียาวและคาดผ้ากฏิสูตรเป็นเส้นตรงและเส้นเฉียงตัด ส่วนรูปพระกฤษณะจะนุ่งผ้าภูษาสมพตสั้นแนบเนื้อไม่มีลวดลาย ไม่คาดเข็มขัดผ้ากฏิสูตร 
.
** รูปประติมากรรมพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 นี้ ยังพบจากเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์อีกด้วย
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

มกร สัตว์ในจินตนาการ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
รู้จัก “มกร-มอม” สัตว์จินตการเฝ้าพุทธสถาน
 
มกร (อ่านว่า มะ-กอน หรือ มะ-กะ-ระ) เป็นสัตว์ที่อยู่ในจินตนาการ เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ ลักษณะจะผสมกันระหว่างจระเข้กับพญานาค คือ มีลำตัวยาวเหยียดคล้ายกับพญานาค แต่มีขายื่นออกมาจากลำตัว และส่วนหัวที่คายพญานาคออกมานั้นเป็นปากจระเข้ คนโบราณจึงมักนำไปเฝ้าอยู่ตามเชิงบันไดวัด ภาคกลางเป็นราวบันไดนาค แต่ทางเหนือส่วนใหญ่จะเป็นราวบันไดรูป "มกรคายนาค"
...........
“ตัวมอม” สัตว์หิมพานต์ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะโดดเด่น มักปรากฏคู่กับวัดและวิถีชีวิตของชาวล้านนา ตัวมอมเป็นสัตว์ในจินตนาการที่ช่างหรือสล่าล้านนาใช้เรียกสัตว์ในอุดมคติที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง ปรากฏอยู่เฉพาะในคติความเชื่อของชาวบ้าน และงานศิลปกรรมล้านนา มักปรากฏอยู่ในลักษณะของงานประติมากรรมประดับตามวัดทางภาคเหนือตอนบนเท่านั้น โดยเฉพาะวัดในจังหวัดเชียงใหม่ที่อดีตเป็นศูนย์กลางความรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนา “ตัวมอม” มีลักษณะคล้ายคลึงกับสัตว์หลายชนิดผสมกัน ทั้ง สุนัข แมว ตุ๊กแก กิ่งก่า ลิง เสือ ฯลฯ มีแขนยาว ลำตัวยาวยืดคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน มีใบหู และสีตัวจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับฝีมือของช่าง ประติมากรรมรูปตัวมอมจะประดับอยู่บริเวณราวบันได ตามหน้าแหนบ รอยต่อคอสอง บนเครื่องหลังคา หน้าบัน ซุ้มประตูโขง ซุ้มวิหาร ซุ้มประตูทางเข้า บานประตูท้องไม้ โก่งคิ้ว ต้นเสา และบริเวณภายในของวิหาร อุโบสถ เจดีย์ อาคารอื่นภายในวัด

ป้อมเมืองลิกอร์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
เมืองป้อมปืนใหญ่แบบฝรั่งเศส ที่เมืองลิกอร์ นครศรีธรรมราช

*** สงครามแย่งชิงอำนาจในเมืองนคร (น่คอร/ณคอร ในสมุดภาพไตรภูมิ ลิกอร์/Ligor ในภาษาโปรตุเกส Singor/ภาษาฝรั่งเศส) เมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาบนคาบสมุทรมาลายู ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2173 – 2174 ระหว่างกลุ่มชาวญี่ปุ่นด้วยกันเอง กลุ่มชาวญี่ปุ่นกับข้าราชการในท้องถิ่นและคนพื้นเมือง ได้ทำให้เมืองนครพินาศเสียหายจนกลายเป็นเมืองร้าง มีแต่ซากปรักหักพังและศพของผู้คนนอนตายกันอย่างเกลื่อนกลาดไปทั่วเมือง 
.
แต่เมื่ออำนาจของชาวญี่ปุ่นหมดลง เหล่าข้าราชการและชาวเมืองเชื้อสายชาวใต้-มาลายู ที่อพยพกลับมา ต่างนำพรรคพวกเข้าแย่งชิงอำนาจกันเอง จนถึงขั้นเตรียมสถาปนากษัตริย์ขึ้นเองโดยไม่ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา แยกกลับเป็นอาณาจักรตามพรลิงค์ดังเดิม จนพระเจ้าปราสาททองได้โปรด ฯ ให้ ออกพระสุพรรณพล ออกญาท้ายน้ำ กองทัพใหญ่ ออกญานคร (คนใหม่) นำไพร่พลกว่า 10,000 คน ลงไปปราบกบฏเมืองนครจนพ่ายแพ้ บ้านเมืองลิกอร์ที่ถูกทำลายเสียหายหลายครั้ง จึงได้เริ่มถูกฟื้นฟูบูรณะขึ้นใหม่ครับ
.
จนมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชโอรสในพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาเริ่มมีความสัมพันธ์กับราชสำนักฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก เมื่อสังฆราชแห่งเฮลิโอโปลิส ได้นำพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และศุภอักษรแห่งสันตะปาปาคลีเมนท์ที่ 9 มาเข้าเฝ้าถวายสมเด็จพระนารายณ์ในปี พ.ศ. 2216 ซึ่งต่อมาก็ทำให้เกิดการขยายทางการค้านานาชาติ โดยบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสได้เข้ามาตั้งสถานีการค้าขึ้นในกรุงศรีอยุธยา  
.
ต่อมาในปี พ.ศ. 2228 คณะทูตที่นำโดย “มองสิเออร์ เลอ เชอร์วาเลีย เดอ โชมอง" (Chevalier de Chaumont) เป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มาเข้าเฝ้าอีกครั้ง มีการเจรจาลงนามในอนุสัญญาการค้าระหว่างราชสำนักกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ รวมทั้งความช่วยเหลือสนับสนุนในภูมิปัญญาความรู้ในแขนงต่าง ๆ จากตะวันตก โดยเฉพาะด้านอาวุธและการสงคราม ซึ่งในคณะ มี “เมอร์ซิเออร์ เดอ ลามาร์” (De Lamare) วิศวกรและสถาปนิกในราชสำนักฝรั่งเศสร่วมในคณะมาด้วย ซึ่งมองสิเออร์ คอนสตันซ์ (Constance Phaulkon - คอนสแตนติน ฟอลคอล Constantine Phaulkon) ที่รับราชการในตำแหน่ง พระฤทธิกำแหงศรีสุเรนทรเสนา/ออกญาวิชาเยนทร์ เป็นข้าราชการชาวต่างประเทศคนแรกของราชสำนักกรุงศรีอยุธยาที่ได้รับความไว้วางพระทัยจากสมเด็จพระนารายณ์มากที่สุดในเวลานั้น ได้ทูลขอให้ทรงจ้าง เดอ ลามาร์ เอาไว้ เพื่อให้เป็นผู้ช่วยออกแบบงานก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ในกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะการสร้างกำแพงป้อมในยุคที่การต่อสู้ด้วยปืนใหญ่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมากแล้วในเวลานั้นครับ
.
ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ก็ได้โปรด ฯ ให้ฟอลคอน เป็นแม่กองสำรวจหัวเมืองที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในพระราชอาณาจักรที่จำเป็นจะต้องมีการก่อสร้างกำแพงเป็นป้อมปืนใหญ่แบบฝรั่ง ซึ่งฟอลคอนได้นำแผนผังเมืองต่าง ๆ ที่จะปรับปรุงสร้างเป็นเมืองป้อมขึ้นทูลเกล้า ทั้งป้อมรูปดาว (Star fort) บริเวณปากคลองบางหลวง หัวโค้งเลี้ยวสองฝั่งแม่น้ำที่บางกอก ที่เดอ ลามาร์ เป็นผู้ออกแบบในปี พ.ศ. 2228 (ฝั่งตะวันออกคือ “ป้อมวิไชยเยนทร์” ป้อม 8 แฉกขนาดใหญ่ และทางฝั่งตะวันตกคือ “ป้อมวิไชยประสิทธิ์” 5 แฉก) ซึ่งในช่วงนั้นคงได้มีการออกแบบและก่อสร้างเมืองป้อมปืนใหญ่ขึ้นหลายแห่ง ทั้งที่กรุงศรีอยุธยา เมืองศรีสัชนาลัย (รับศึกล้านนา) เมืองกำแพงเพชร (รับศึกพม่า) เมืองสุพรรณบุรี (ตะวันตก/รับศึกพม่า) เมืองโคราช (ตะวันออก/รับศึกเขมร) 
.
*** ส่วนทางภาคใต้ของพระราชอาณาจักรนั้น ฟอลคอนและลามาร์ได้ออกแบบและก่อสร้างเมืองป้อมลิกอร์ (นคร) ขึ้น ในปี พ.ศ. 2230 พร้อมกับการสร้างป้อมเมืองละโว้ครับ
.
เมืองป้อมปืนใหญ่ลิกอร์ (นครศรีธรรมราช) สร้างขึ้นตามแบบกำแพง/ป้อมปืนใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา ขุดคูน้ำวางเป็นแนวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 2240 * 460 เมตร ตามแนวศาสนสถานสำคัญที่เคยมีอยู่ แล้วก่ออิฐเป็นผนังหนาเรียงอัดแน่นแบบตะวันตกด้านนอกที่เรียกว่า “ชาโตว์ ” (château) ด้านบนมีใบบังรูปกลีบบัว/เสมา และใบเหลี่ยมใหญ่ (แบบป้อมกำแพงเพชร) มีรูเล็กบนผนังเรียงใต้ใบบังสำหรับปืนเล็ก ด้านหลังกำแพงอัดดินเพื่อขยายเป็นเชิงเทินสำหรับการลำเลียงขนย้ายยุทโธปกรณ์ วางปืนใหญ่จุกช่องและให้ทหารขึ้นไปบนกำแพง  
.
จากแบบแปลนของลามาร์แสดงว่า ในครั้งแรกนั้น มีความตั้งใจจะสร้างกำแพงเมืองลิกอร์ให้มีป้อมปืนยื่นออกมาจากแนวกำแพงสลับกับประตูเป็นระยะโดยรอบ ประตูใหญ่ทางทิศเหนือและใต้ที่เป็นจุดอ่อนสำคัญของกำแพงทั้งหมดจะมีป้อมปืนขนาดใหญ่ล้อมไว้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งในการก่อสร้างจริงนั้นประตูทิศเหนือคือประตูชัยสิทธิ์และประตูทิศใต้คือประตูชัยศักดิ์มีการสร้างป้อมใหญ่ป้องกันประตูตามแบบแปลน กำแพงด้านข้างทางทิศตะวันออกมีประตูเล็ก 4 ประตู คือ ประตูลัก ประตูโพธิ์ ประตูลอด ประตูสะพานยม ส่วนทางทิศตะวันตกคือ ประตูนางงาม/หลังพระธาตุ ประตูท่าม้า ประตูท้ายวัง ประตูท่าชี ไม่มีการสร้างป้อมปืนใหญ่ระหว่างแนวกำแพงแต่อย่างใด แต่มีป้อมปืนผังสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่อยู่ที่ 4 มุมเมือง
.
*** กำแพงและป้อมเมืองลิกอร์ (นคร-ศรีธรรมราช) ถูกรื้อทิ้งไปในแต่ละยุคสมัยจนเกือบหมด คงเหลือเพียงแนวกำแพงด้านทิศเหนือริมคลองหน้าเมืองประมาณ 100 เมตร ที่ได้การบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในปีพ.ศ.2530-2533 ครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

พระสังกัจจายน์ วัดสาขลา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พระสังกัจจายน์ วัดสาขลา จ.สมุทรปราการ
.
พระสังกัจจายน์องค์นี้มีขนาดใหญ่และวิจิตรงดงาม ประดิษฐานอยู่บริเวณลานหน้าวัดสาขลา
วัดสาขลา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2325 สันนิษฐานว่าชาวบ้านช่วยกันสร้างเมื่อคราวรบชนะพม่า แต่เดิมชุมชนบ้านสาขลา เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เมื่อเกิดสงคราม 9 ทัพ รัชกาลที่ 1 ให้ผู้ชายไปเป็นทหาร เหลือแต่ผู้หญิงและคนชรา เมื่อทหารพม่าเดินทัพผ่านมา ชาวบ้านที่เหลือร่วมมือกันสู้พม่าอย่างกล้าหาญจนชนะ หมู่บ้านแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “หมู่บ้านสาวกล้า” ก่อนจะเพี้ยนมาเป็น “หมู่บ้านสาขลา” ตามที่เรียกกันในปัจจุบัน และวัดสาขลาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณ พ.ศ. 2375
วัดสาขลา ตั้งอยู่ใน ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ 

วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พระร่วง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระร่วง” มหาไวโรจนะ/ศากยมุนีในนิกายกัมโพช พุทธศิลป์ลูกผสมแห่งลุ่มเจ้าพระยา 

ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ภายหลังการสิ้นอำนาจของจักรวรรดิบายน รวมถึงอำนาจจากราชสำนักเมืองพระนครจากเครือข่ายพระญาติที่ยังคงมีอยู่ในช่วงระยะหนึ่ง ราชสำนักใหม่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (รัฐขอมเจ้าพระยา รัฐลูกครึ่งเขมร-รามัญ ละโว้/ลโวทยปุระ(หลอหู่) สุวรรณปุระ (เสียน กั๋ว กวั่น) ศรีชยเกษมปุรี(ซั่งสุ่ยสูกูตี่ - สุโขทัย) ต่างได้ลดความสัมพันธ์เชิงอำนาจและเศรษฐกิจกับราชสำนักในเมืองพระนคร เกิดรัฐและระบบการปกครองขึ้นในแต่ละภูมิภาค 
.
ซึ่งในช่วง “ยุคหลังบายน”(Post-Bayon Period) นี้ กลุ่มรัฐขอมเจ้าพระยาได้รับอิทธิพลคติความเชื่อและงานพุทธศิลป์จากลังกา ปาละ พุกาม รามัญ/มอญ/หริภุญชัย เกิดพัฒนาการในคติความเชื่อที่นำไปสู่การสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์อันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองขึ้นใหม่ครับ
.
คติและงานพุทธศิลป์จากฝ่ายเถรวาท (Theravāda) ลังกาวงศ์และรามัญนิกาย และมหายาน (Mahāyāna Buddhism) จากราชวงศ์ปาละและจีน เข้ามาผสมผสานกับคติและพุทธศิลป์แบบวัชรยานตันตระ (Vajrayāna /Tantric Buddhism ) เดิมจากยุคจักรวรรดิบายนช่วงก่อนหน้า เกิดขึ้นเป็นนิกาย “อริยารหันตปักขะภิกขุสงฆ์” (Ariyā rahantapakkha bhikkhu sangha) มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองลพบุรี (ละโว้) นิยมเรียกพุทธศิลป์ที่พบในนิกายนี้ว่า “กัมโพชสงฆ์ปักขะ” (Kambojsanghapakkha) ตามความหมายในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ที่เรียกเมืองละโว้ว่า “กัมโพช” หรือ “นิกาย/ศิลปะละโว้” นิกายลูกผสมในกลุ่มรัฐเจ้าพระยา ที่เน้นคติความเชื่อไปทางเถรวาทแต่ยังรักษารูปงานศิลปะแบบวัชรยานจากยุคบายน มีพุทธศิลป์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา (รวมทั้งท่าจีน แม่กลอง เพชรบุรี ยม) ที่ไม่ปรากฏความนิยมในราชสำนักกัมพุชเทศะในช่วงเวลาเดียวกัน 
.
คณะกัมโพชสงฆ์ปักขะเป็นนิกายใหม่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ที่ได้รับเอาคติความเชื่อพิธีกรรมและการปฏิบัติธรรมจากนิกายเถรวาทมหาวิหารเดิม (ทวารวดี-มอญ-พุกาม) มาผสมกับขนบแบบแผนทางบาลีของรามัญนิกาย มหายาน (ปาละเสนะ-จีน) วัชรยาน (ตันตระยาน – บายน) เกิดเป็นงานพุทธศิลป์ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของยุคหลังบายนก่อนเกิดกรุงศรีอยุธยาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ครับ
.
----------------------
*** พระเครื่องที่เรียกกันตามความนยิมในปัจจุบันว่า “พระร่วง” ก็คืองานพุทธศิลป์แบบ “กัมโพชสงฆ์ปักขะ/ศิลปะละโว้” ในช่วงหลังยุคบายน คือ “พระอาทิพุทธ/พระวัชรสัตว์/พระมหาไวโรจนะ” ( Ādi/Vajrasattva /Mahāvairocana) ในคติฝ่ายมหายาน เป็นพระพุทธเจ้าในพุทธภาวะ “ธรรมกาย” (Dharma-kāya) อันถือเป็นพุทธภาวะสูงสุดแห่งพุทธะ ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดชินพุทธะ(ผู้ชนะ)/ปัญจสุคต/ปัญจชินะ/ศรีฆณะ/พระธยานิพุทธเจ้า/ฌานิพุทธเจ้า” หรือ “พระพุทธเจ้า 5 พระองค์” ทรงสั่งสอนเหล่าพระพุทธเจ้าและตถาคตทั้งมวล ทรงกำเนิดขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของโลก คือเมื่อโลกเกิดเป็นรูปร่าง อาทิพุทธะก็ปรากฏพระกายในแสงสว่างประดุจเปลวเพลิง ไม่เห็นเบื้องต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด ทรงเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยพระมหาปัญญาอันสูงสุด เป็นองค์ปฐมมูลฐานของทุกสรรพสิ่ง ที่ปัจจุบันนิยมเรียกว่า “องค์ปฐม”
.
*** ทรงแบ่งภาคในพุทธภาวะ “นิรมาณกาย” (Nirmāṇakāya) หรือกายมนุษย์ (กายเนื้อ) เป็น “พระศากยมุนี” (Shakyamuni) /พระโพธิสัตว์สิทธัตถะ (Siddhartha) เพื่อโปรดสรรพสัตว์ในโลกกัลป์ปัจจุบัน
.
**** พุทธศิลป์ของพระร่วง คือพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ในฐานะของราชาแห่งเหล่าตถาคต สวมศิราภรณ์ทรงเทริด รัดเกล้าเป็นกรวยมงกุฎ ตามแบบศิลปะเขมรโบราณ ยังคงนิยมทำเค้าพระพักตร์เหลี่ยมแบบบายนที่มีพระขนงเชื่อมกันเป็นเส้นตรง ครองจีวรห่มคลุม ชายจีวรเป็นแถบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชายผ้าเป็นแถบใหญ่ ขอบสบงด้านบนคาดด้วยรัดพระองค์เป็นแถบคาดประดับลวดลาย สบงมีแถบพับหน้านางซ้อนตรงกลางแบบเรียบและแบบมีลวดลายประดับ ยกพระหัตถ์ขวาแสดงท่าปางประทานอภัย (อภยมุทรา/Abhaya Mudra) ทิ้งพระกรซ้ายแนบพระวรกาย แบพระหัตถ์หันออกในท่าปางประทานพร (วารทมุทรา/Vāraḍa Mudra) ในรูปลักษณ์ “พระสองปางในองค์เดียวกัน” ซึ่งเป็นอิทธิพลเด่นของงานพุทธศิลป์ฝ่ายมหายานจากราชวงศ์ปาละที่ส่งอิทธิพลผ่านมาทางพุกาม-หริภุญชัยครับ
.
*** ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ช่างศิลปะในนิกายกัมโพช/ละโว้ ได้ตั้งใจปรับเปลี่ยนรูปศิลปะ “พระร่วง” พระมหาไวโรจนะที่เคยทรงเครื่องกษัตริย์ห่มจีวรคลุมแบบบายน ในคติฝ่ายวัชรยาน มาเป็น พระพุทธเจ้าศากยมุนี (กายเนื้อของพระมหาไวโรจนะ) ที่มีพุทธศิลป์/และพุทธประวัติแบบเดียวกับ “พระสมณโคตม” (Samaná Gautama) ของฝ่ายเถรวาท ครองจีวรแบบห่มดอง/เฉียง มีผ้าสังฆาฏิพาดพระอังสะ ไม่ทรงเครื่องกษัตริย์ (ไม่สวมเทริดมงกุฏ (รวบพระเกศาและมวยผมอุษณีษะ) แต่ยังคงรักษารูปสองปางในองค์เดียวและลวดลายประดับทั้งที่รัดพระองค์และผ้าทบหน้านางของผ้าสบงตามแบบมหายานเดิมเอาไว้ 
.
*** งานพุทธศิลป์ลูกผสมจากอิทธิพลระหว่างฝ่ายมหายานจากปาละผ่านหริภุญชัย วัชรยานตันตระจากจักรวรรดิบายนและฝ่ายเถรวาทลังกาวงศ์/รามัญนิกาย ที่กำลังได้รับความนิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ได้กลายมางานศิลปะในยุคเริ่มแรกของกลุ่มรัฐเจ้าพระยา ทั้งละโว้ สุพรรณภูมิ เพชรบุรีและสุโขทัย ที่ต่อมาได้พัฒนามาเป็นงานศิลปะต้นทางของรัฐอยุทธยานั่นเองครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy