วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2565

วันพระเจ้าเปิดโลก

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พุทธศิลป์ “เสด็จลีลาลงจากดาวดึงส์/เทโวโรหณะ” เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ที่วัดตระพังทองหลาง กรุงสุโขทัย

พุทธประวัติตอน “พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์”  (Buddha Descending from Tāvatiṃsa /Trāyastriṃśa) หรือสวรรค์ “ไตรตรึงษ์/ตฺรายสฺตฺริศ) เป็นปรารภเหตุของคติ “วันมหาปวารณา/เทโวโรหนะ” ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11  
.
*** คำว่า “เทโวโรหณะ” หมายถึง “เทว–โอโรหณะ” แปลความว่า “การลงจากเทวโลก” ครับ
.
ในพุทธประวัติแบบเถรวาท/ลังกาวงศ์ จะเล่าว่า ก่อนวันออกพรรษาในพรรษาที่ 7 นับแต่วันตรัสรู้ ภายหลังจากทรงแสดง “ยมกปาฏิหาริย์” (Yamaka-pātihāriya /Twin Miracles) กำราบพวกเดียรถีย์ ที่เมืองศราวัสตี/สาวัตถี  (Śrāvastī Miracles)  พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศนาธรรมโปรดพุทธมารดา เพื่อเป็นการสนองพระคุณ ซึ่งพระนางสิริมหามายาได้ไปจุติเป็นเทพบุตรอยู่ในชั้นดุสิต (สวรรค์ชั้นที่ 4) เสด็จลงมาฟังธรรมที่ชั้นดาวดึงส์ (สวรรค์ชั้นที่ 2) พระองค์ได้เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดาจนบรรลุโสดาปัตติผล ในช่วงเข้าพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน 
.
ครั้นถึงวันออกพรรษา พระพุทธเจ้าจึงเสด็จลงจากเทวโลกลงสู่โลกมนุษย์ ได้เกิดอัศจรรย์เป็นเนินใหญ่เชื่อมพรหมโลก อเวจีมหานรก โลกมนุษย์และจักรวาลหลายแสนเป็นเนื้อเดียวกัน เทพยดาจึงได้แลเห็นพวกมนุษย์ มนุษย์ได้เห็นเทพยดา สัตว์นรกได้เห็นมนุษย์และเทพยดา เรียกว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก” ครับ
.
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระอินทร์ได้เนรมิตบันไดแก้วมณี บันไดทอง และบันไดเงินขึ้น โดยบันไดทองอยู่ด้านขวาสำหรับหมู่เทพยดาตามเสด็จ บันไดเงินอยู่ด้านซ้ายสำหรับท้าวมหาพรหมถือเศวตฉัตรกั้น บันไดแก้วมณีอยู่ตรงกลางเป็นทางเสด็จพุทธดำเนินสำหรับพระพุทธเจ้า โดยมีพระอินทร์อุ้มบาตรนำเสด็จ หัวบันไดแต่ละอันพาดที่เขาสิเนรุ (พระสุเมรุ) เชิงบันไดทอดลงยังประตูเมืองสังกัสสะ (Saṅkassa)   พรั่งพร้อมด้วยเทพยดา ปัญจสิงขรคนธรรพ์เทพบุตรบรรเลงพิณ มาตุลีเทพบุตรถือพานดอกไม้สวรรค์ “มณฑารพ/มันทาระ/มนฺทาร/มนฺทารว” (Mandāra) โปรยปรายตลอดเส้นทางเสด็จ
.
*** ถึงแม้ว่าจะปรากฏรูปพุทธศิลป์ในประเทศไทยตั้งแต่ยุควัฒนธรรมทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 ที่อธิบายว่า เป็นภาพพระพุทธเจ้าตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์  แต่กระนั้น เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบทางศิลปะ ก็ยังไม่ชัดเจนว่ารูปพระพุทธรูปยืนแสดงวิตรรกะ (เทศนาธรรม) นั้น คือ พุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ แต่อย่างใดครับ
.
*** พุทธศิลป์ของการเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แบบเถรวาท/หีนยาน จะประกอบไปด้วยรูปพระอินทร์ พระพรหมถือฉัตร บันได 1–3 ช่อง ภาพของเหล่าเทพยดาแสดงการแซ่ซ้องสาธุการ และที่สำคัญก็คือ พระพุทธรูปประธานจะอยู่ในอากัปกิริยาการเดินหรือ ปาง “ลีลา” ที่ได้รับอิทธิพลจากคติเถรวาท/รามัญนิกาย ผ่านรูปศิลปะมาจากฝ่ายพุกาม “ที่แสดงท่าเดินอย่างชัดเจน” ตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17  
.
*** พุทธศิลป์ตามพุทธประวัติเสด็จลงจากดาวดึงส์/เทโวโรหนะแบบลีลาที่ชัดเจน จึงเพิ่งเพิ่งปรากฏครั้งแรกในงานศิลปะของรัฐสุโขทัยที่วัดตระพังทองหลางครับ
.
*** วัดตระพังทองหลาง ตั้งอยู่ทางตะวันออกนอกเมืองโบราณสุโขทัย ห่างจากประตูเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร บนเกาะกลางน้ำของตระพังทองหลางที่ได้ตื้นเขินไปมากแล้ว จึงทำให้ดูเหมือนว่าเป็นเพียงแค่คูน้ำล้อมรอบ ซากอาคารที่เหลืออยู่มีวิหารผนังโปร่งด้านหน้า มีเจติยะประธานรูปทรงมณฑปเรือนกล่องสี่เหลี่ยม (Cella – Cube) ไม่ลดสันมุม ภายในมีซากโกลนศิลาแลงพระพุทธรูปปางมารวิชัยนั่งเต็มพื้นที่ระหว่างผนัง 
.
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 ราชสำนักสุโขทัยเกิดความนิยมในสถาปัตยกรรมเรือนปราสาทผังสี่เหลี่ยม ที่มียอดหลังคาก่ออิฐหน้าจั่วป้านลม/หลังคาลาด แทรกเข้าไประหว่างกลางตัววิหารและพระเจดีย์ที่เป็นประธานของวัด รวมทั้งมณฑปหลังคาทรงกรวยเหลี่ยม ซ้อนชั้นด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องยอดแหลมเดี่ยวแบบกุฎาคาร และยอดแบบพระเจดีย์อย่างที่เรือนวัดศรีชุม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเต็มพื้นที่จนดูคับแคบตามคติ “พระคันธกุฏี” (Gandha kuti) ที่ประทับของพระพุทธเจ้า จากอิทธิพลของงานสถาปัตยกรรมพุกาม/ล้านนา ผสมผสานงานประดับจากศิลปะสุโขทัยเดิม ที่มีอิทธิพลของฝ่ายเขมรและเถรวาท-ลังกา จากยุคโปโลนนารุวะครับ
.
*** เจติยะทรงมณฑป เรือนธาตุทรงปราสาทที่วัดตระพังทองหลาง ตั้งบนฐานบัว ลวดลูกฟักเหลี่ยมแคบคาดที่ท้องไม้ ด้านหน้าทำเป็นมุขอาคารยื่นออกมาเล็กน้อย ซ้อนชั้นด้วยซุ้มประตูชั้นลด ยอดซุ้มประตูโค้งแหลม (Arch) แบบใบหอก กลางผนังเรือนอีก 3 ด้าน ยกซุ้มแคบ ๆ ออกมาจากผนัง ในระดับต่ำกว่าซุ้มประตู โดยไม่ยกเก็จประธานที่ฐาน ซ้อนด้วยจระนำซุ้มเป็นชั้นลด ยอดซุ้มโค้งหน้านางในงานศิลปะลังกา ตรงกลางเป็นหน้ากาลคายมาลัยที่ปลายเป็นรูปกินร/กินรี ตวัดกระหนกหางเป็นกระหนกพุ่มใหญ่ ตามอิทธิพลของงานศิลปะลังกา ในขณะที่ปลายซุ้มมุขด้านบนยังคงนิยมทำเป็นหัวนาคปลายหน้าบันตามงานศิลปะสุโขทัย-เขมรเดิม    ภายในช่องปั้นปูนประดับเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติที่เกี่ยวเนื่องกับกับกระทำปาฏิหาริย์/อภินิหารของพระพุทธเจ้าเจ้าจากคติอัษฏมหาปาฏิหาริย์ ที่เป็นคติความนิยมจากอิทธิพลฝ่ายปาละผ่านมาทางพุกาม 
.
ซุ้มฝั่งตะวันออกด้านหน้าเป็นซุ้มประตูใหญ่เข้าสู่เรือนธาตุ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยหรือภูมิสปรศมุทรา ตามพุทธประวัติ ตอนผจญมาร (Assualt of Mara)  ที่ทรงกระทำปาฏิหาริย์ แสดงพลังอำนาจกำราบกองทัพพญามารท้าววสวัตตีจนพ่ายแพ้ ซุ้มฝั่งทิศตะวันตกปั้นปูนเป็นรูปพระพุทธเจ้าและพระอัครสาวก ในพุทธประวัติตอนโปรดช้างนาฬาคีรี (Nalagiri Elephant) ที่กรุงราชคฤห์ (Rajgriha) พระพุทธเจ้ายืนในปางประทานอภัยหรืออภยมุทรา (Abhaya Mudra) ซุ้มทางฝั่งทิศใต้ ปั้นปูนเป็นรูปพระพุทธเจ้าปางลีลา ในพุทธประวัติตอน “มหาปาฏิหาริย์” (Mahā Pāṭihāriya)  ที่เมืองสาวัตถี (Sravasti) ตอนที่พระพุทธเจ้าได้แสดงมหาปาฏิหาริย์ปลูก “ต้นคัณฑามพฤกษ์” จากเมล็ด แล้วจึงลีลา (เดิน) ออกจากคันธกุฏีไปยังต้นคัณฑามพฤกษ์เพื่อแสดง “ยมกปาฏิหาริย์” (Yamaka- Pāṭihāriya) กำราบพวกเดียรถีย์ที่ต้นคัณฑามพฤกษ์นี้ครับ
.
*** ซุ้มฝั่งทิศใต้ แสดงเรื่องราวพุทธประวัติตอนเสด็จลีลาลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์/เทโวโรหนะ” หรือเรียกในจารึกยุคสุโขทัยว่า “พระเจ้าหย่อนตีน” มีภาพของพระอินทร์ (ซ้าย) พระพรหม 4 พักตร์ (ขวา) ถือเศวตรฉัตรกั้น เหล่าเทพยดาตามเสด็จและส่งเสด็จแสดงอัญชุลี พระพุทธรูปแสดงท่าก้าวเดินลีลาอันงดงามลงจากดาวดึงส์เหนือบันไดแก้วมณี (เส้นขวางในภาพปูนปั้นคือบันได) อันเป็นองค์ประกอบตามพุทธประวัติการเสด็จลงจากดาวดึงส์ที่สมบูรณ์แบบ  
.
*** ภาพประติมากรรมปูนปั้นที่วัดตระพังทองหลาง กรุงสุโขทัย จึงเป็นงานพุทธศิลป์จากพุทธประวัติตอนเสด็จลีลาลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์/เทโวโรหนะ ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยครับ
เครดิต FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2565

พระอินทร์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
คติและงานศิลปะ “พระอินทร์” (และเทพมารุต) ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

“พระอินทร์” หรือ “อินทราเทพ” (Indra Deva) เป็นเทพเจ้าที่ได้รับการยกย่องในยุคพระเวท ให้เป็นเทพเจ้าสูงสุดผู้ปกครองสวรรค์ (Svarga) ดังปรากฏปรากฏพระนามครั้งแรกในบทสวดสรรเสริญคัมภีร์ “ฤคเวท” (Rigveda) ที่ถือว่าเป็นคัมภีร์เก่าแก่ที่สุดในบรรดาวรรณคดีสันสกฤต อายุประมาณ 3,500 ปี ที่กล่าวถึงเรื่องรราวพระอินทร์ทรงช้างไอราวตะ/เอราวัณ (Airavata - Airāvana) 3 เศียร ปราบอสูรงูยักษ์ “วฤตระ” (Vritra/Vṛtrāsura/อสูรผู้เป็นอุสรรค) ที่ใช้หางยาวมหึมากวาดแม่น้ำทั้ง 7 สาย รวมทั้งสัตว์เลี้ยงและดวงอาทิตย์ ไปเก็บไว้ใต้ยมโลก ทำให้โลกเกิดความแห้งแล้ว พระองค์ได้ใช้ “วัชระ” (Vajra) อาวุธคู่กายที่ทำขึ้นจากกระดูกสะโพกของฤษีทธีจิ (Dadhīci) เข้าสังหารอสูร เมื่อได้รับชัยชนะพระอินทร์ได้แหวกท้องอสูร เพื่อนำน้ำกลับคืนมา  “...ช้างผู้ยิ่งใหญ่ได้ใช้งวง ยื่นลงไปดูดน้ำจากยมโลกกลับขึ้นมา และได้ก็พ่นน้ำขึ้นไป ทำให้เกิดเป็นเมฆบนท้องฟ้า พระอินทร์ทรงใช้วัชระเป็นสายฟ้าบันดาลให้เกิดลมฝนและพายุ น้ำฝนฉ่ำเย็นโปรยปรายลงมาจากนภา เกิดเป็นแม่น้ำหล่อเลี้ยงแผ่นดิน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับโลก....” 
.
คติพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ จึงหมายถึงเป็นเทพเจ้าผู้พิชิตความแห้งแล้ง เทพเจ้าผู้สร้างเมฆฝนและเทพเจ้าแห่งความสมบูรณ์ ส่วนช้างไอราวตตะในยุคโบราณ หมายถึง “ช้าง (ผู้เป็น) เมฆฝน” (Elephant of the clouds)  พระอินทร์ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพผู้กล้าหาญในการสงครามกับอสูร ผู้ผ่าฟันอุปสรรค เป็นผู้บันดาลความอุดมสมบูรณ์  ผู้สร้างเมฆพายุฝนฟ้าคะนอง สายฝนก่อกำเนิดแม่น้ำครับ  
*** ในยุคหลังพระเวท วรรณกรรมในคติฮินดูเริ่มปรากฏเทพเจ้าตรีมูรติ (พระศิวะ พระวิษณุ พระพรหม) ขึ้นมาเป็นใหญ่ พระอินทร์ได้ถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงตัวประกอบ อีกทั้งสร้างภาพลักษณ์ของความหื่นในกามารมณ์ ความพ่ายแพ้เมื่อต้องสู้กับอสูรที่ได้รับพรจากมหาเทพ และการลดขั้นลงมาเป็นเพียงชั้นรองประจำทิศตะวันออกของสวรรค์เท่านั้น   
.
ในคัมภีร์ฤคเวท ยังกล่าวถึงผู้ช่วยของพระอินทร์ในการต่อสู้กับอสูรวฤตระ ในชื่อนามของกลุ่ม “มารุต” หรือ “มารุตคณะ” (Maruts/ Marutagaṇa) เทพเจ้าสายฟ้าและพายุหนุ่มกระเตาะวัยคะนอง ทั้ง 49 องค์  ที่มีนิสัยรุนแรงและก้าวร้าว เป็นบุตรที่เกิดจาก “พระกัศยปเทพ” (Kashyapa) กับ “นางทิติ” (Diti) ผู้เป็นมารดาของเหล่า “แทตย์” (Daityas/อสูรจำพวกหนึ่ง) บุตรของนางถูกพระอินทร์และเทวดาเข่นฆ่าอยู่หลายครั้ง ทำให้นางโกรธ จึงครุ่นคิดจะแก้แค้นสังหารพระอินทร์ พระกัศยปเทพผู้เป็นสามี จึงแนะนำให้นางบำเพ็ญตบะ 1,000 ปี เพื่อขอบุตรที่มีพลังเก่งกล้ากว่าพระอินทร์และเหล่าเทวดา  
.
“เจ้าต้องบำเพ็ญปุมศวานะ (Pumsvana) ตลอดเวลา บุตรที่เกิดในตอนนั้นจะต้องเป็นผู้สังหารพระอินทร์และนำพี่น้องไปสู่ชัยชนะ”
.
“...ในช่วงบำเพ็ญตบะญาณนี้ เจ้าต้องสวมเสื้อผ้าที่สะอาดอยู่เสมอ ไม่ตัดเล็บหรือผม ไม่อาบน้ำโดยการแช่ตัวในน้ำ ห้ามพูดโกหก  ไม่กล่าวคำผรุสวาท ไม่สาปแช่งผู้ใด ไม่พูดกับบุคคลที่ไม่คู่ควร  ควบคุมมิให้มีความโกรธ ห้ามแตะต้องสิ่งอัปมงคล ไม่ทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตใด ๆ กินอาหารง่าย ๆ ตามปกติ ห้ามกินเนื้อสัตว์โดยเด็ดขาด ห้ามดื่มน้ำโดยยกมือขึ้น  ไม่ออกไปข้างนอกตอนรุ่งสางหรือพลบค่ำ เมื่ออกจากบ้านต้องแต่งผมอย่างเหมาะสม ห้ามนอนหันหัวไปทางทิศเหนือหรือทิศตะวันตก ห้ามนอนโดยไม่ล้างเท้า ห้ามนอนขณะที่ขาเปียก ต้องนอนคนเดียวโดยตลอด  ต้องไม่นอนทั้งเช้าและเย็น ต้องบูชาวัว  พราหมณ์และพระลักษมีก่อนรับประทานอาหารเช้า  ต้องบูชาเหล่าสตรีที่สามียังมีชีวิตอยู่ และสุดท้าย...เจ้าต้องบูชาข้าผู้เป็นสามีของเจ้าด้วย...” (นั่นว่ามาซะยาว ก็จบตรงนี้แหละที่สำคัญ)
.  
นางทิติได้ตั้งท้องเป็นบุตรชายตามที่ต้องการ  แต่ “นางอทิติ” (Aditi) ผู้เป็นมารดาของพระอินทร์และเหล่าเทวดา ภริยาอีกคนหนึ่งของพระกัศยปเทพ นำความไปแจ้งแก่พระอินทร์ จึงวางแผนให้พระอินทร์ปลอมตัวมาเป็นข้ารับใช้ เพื่อทำให้นางทิติละเมิดข้อห้ามในพิธีกรรม ซึ่งพระอินทร์ก็เนียนเป็นข้ารับใช้ที่ซื่อสัตย์ ทำงานหนักอย่างทุ่มเทจนนางทิติไว้วางใจ จนวันหนึ่งนางเผลอเข้านอนโดยไม่ได้ล้างเท้า (ข้ารับใช้ก็แกล้งลืมไม่เตือน)  ทำให้พิธีเสื่อมอำนาจ พระอินทร์จึงใช้โอกาสนี้แทรกเข้าไปในครรภ์ แบ่งทารกออกเป็นเจ็ดส่วน แต่ทารกทั้ง 7 ได้เริ่มร้องไห้ส่งเสียงดัง พระอินทร์จึงพูดว่า “มา รุทะ (Ma Ruda) แปลว่า “หยุดร้องไห้ บัดเดี๋ยวนี้นะ” แต่ทารกก็ยังคงร้องต่อไม่หยุด พระอินทร์จึงแยกทารกออกเป็น 49 ส่วน เสียงจะได้เบาลงครับ
.
นางทิติดีใจมากที่ให้กำเนิดบุตรชายถึง 49 คน แทนที่จะมีเพียงคนเดียว พวกเขาถูกเรียกว่ามารุตตามเสียงที่พระอินทร์พูดไว้ในครรภ์ แต่ด้วยเพราะนางล้มเหลวในการบำเพ็ญปุมศวานะ เหล่ามารุตทั้งหมดจึงไม่ได้เป็นศัตรูของพระอินทร์ อีกทั้งยังกลายเป็นมาเป็นสหายและบริวารร่วมสงครามกับพระอินทร์อีกด้วย
.
*** เหล่ามารุตคณะจะสวมหมวกเสื้อเกราะสีทอง มีขวานทองเพื่อแยกเมฆ (เป็นฟ้าผ่า) ให้ฝนตกลงมา มีสายฟ้าเสียงฟ้าคำรามประดุจสิงโต สามารถเขย่าภูเขาและทำลายป่า ขี่รถม้าศึกสีทองเทียมด้วยม้าสีแดงก่ำครับ
.
----------------
*** รูปศิลปะจากคติเทพเจ้าสายฟ้ามารุต/มารุตคณะ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทยและกัมพูชา) ปรากฏความนิยมอยู่เพียงระยะสั้น ๆ  ด้วยเพราะมีวรรณกรรมในคติไศวะนิกาย(บูชาพระศิวะ) ที่ได้ลดบทบาทของพระอินทร์ลงมาเป็นเพียงเทพเจ้าชั้นรองประจำทิศตะวันออก ซึ่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 อาจเป็นช่วงสุดท้ายที่ปรากฏเรื่องราวของพระอินทร์ร่วมกับเหล่าเทพมารุตจากคัมภีร์ฤคเวทอยู่ ดังปรากฏรูปศิลปะของพระอินทร์ร่วมกับเทพมารุตในยุครัฐ “อีศานปุระ” (Īśānapura) บนทับหลังในงานศิลปะแบบปราสาท “สมโปร์ไพรกุก” (Sambor Prei Kuk) ตั้งแต่ช่วงกลาง- ปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ที่มีการจัดวางองค์ประกอบคล้ายคลึงกัน โดยมีรูปนักรบนั่งบนตัว ม ก ร ชูงวง อ้าปากเห็นเขี้ยวและฟัน มีหางเป็นกระหนกใบขดห้อยสองม้วน ยืนบนแท่นฐาน/ยกเก็จ เหมือนกันทั้งสองด้านของทับหลัง คายแถบเส้นคาดออกมาเป็นวงโค้งเข้าหากัน 4 ขยัก ในความหมายของการสำรอกน้ำศักดิ์สิทธิ์ สะพานสายรุ้ง/ความอุดมสมบูรณ์ ประดับลายลูกปัดอัญมณีและดอกไม้  โดยมีพุ่มช่อดอกไม้ประดับลายลูกปัดอัญมณีในเส้นลวดกลมรี 3 ช่อ ตรงตำแหน่งจุดขยัก ช่อตรงกลางเป็นรูป “พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ”  รูปม้าในกรอบด้านข้างทั้งสองฝั่งหมายความถึง เทพสายฟ้า  "มารุตคณะ” ขี่ม้า  ด้านบนเป็นรูปดอกไม้แตกพุ่มกระหนกกับดอกไม้ 8 กลีบ วางสลับห่างกัน  ใต้แถบเส้นแถบโค้งแกะสลักเป็นอุบะมาลัยสลับกระหนกใบห้อยทิ้งยอดแหลมลงมา ตรงกลางเป็นพวงมาลัยใหญ่มีพุ่มแผ่ออกที่ปลาย คอสอง/ท้องไม้ด้านล่างยุบเข้าไปสลักเป็นลายกระหนกใบขดสลับลายดอกไม้ 
.
*** ในประเทศไทยพบรูปศิลปะจากคติเทพมารุตจากวรรณกรรมเก่าแก่ บนทับหลัง 2 แผ่น จากปราสาทเขาน้อยสีชมพู ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ปัจจุบันตั้งจัดแสดงอย่างสวยงามที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรีครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565

ประติมากรรมสิงห์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ประติมากรรมสิงห์” ใหญ่ที่สุดในยุควัฒนธรรมทวารวดี ที่วัดไก่จ้น เมืองลพบุรี
.
.
.
ทางฝั่งตะวันออกนอกคูน้ำคันดินรูปกลมติดริมแม่น้ำลพบุรี บริเวณหน้าที่ทำการไปรษณีย์กลางในตัวเมืองลพบุรี เคยมีพระสถูปก่ออิฐขนาดใหญ่กว่าสถูปที่วัดนครโกษา มหาธาตุแห่งนครเขตคามวาสี ในยุควัฒนธรรมทวารวดี/ภารตะภิวัฒน์ /Indianization ที่อยู่ภายในตัวเมืองโบราณ เรียกกันว่า “วัดละโว้” หรือ “วัดไก่จ้น” ที่น่าจะเป็นเจดีย์ประธานของเขตอรัญวาสี แต่เมื่อราวปี พ.ศ. 2480 วัดและพระสถูปใหญ่องค์นี้ได้ถูกรื้อทำลายไปทั้งหมด เมื่อกรมยุทธโยธาทหารได้ตัดถนนประชาธิปัตย์ หรือถนนนารายณ์มหาราชในปัจจุบัน  
.  
ชิ้นส่วนรูปประติมากรรมปูนปั้นประดับสถูปจำนวนมากถูกนำมากองรวมไว้ในขณะที่มีการรื้อทำลาย ในนั้นปรากฏรูปประติมากรรมสิงห์ปูนปั้นขนาดใหญ่ 4 รูป ในท่ามกลางชิ้นส่วนปูนปั้นพระพุทธรูป รูปสิงห์ขนาดเล็กและชิ้นส่วนลวดลายประดับซุ้มบัญชรของพระสถูป เป็นรูปสิงห์ในคติ “ทวารบาล” (Dvārapāla) ที่จะตั้งวางเป็นคู่ไว้ตรงทางขึ้นพระสถูปทางด้านตะวันออกและตะวันตกครับ
สิงห์ทวารบาล เฝ้าทางเข้าประตูศาสนสถานตามคติพุทธศาสนา หมายถึง “สิงโต” หรือ “ราชสีห์”(lion) ในวัฒนธรรมอินเดียโบราณที่รับต่อมาจากอารยธรรมเมโสโปเตเมีย เป็นสัตว์ทรงพลังอำนาจ สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าจักรพรรดิหรือพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ใช้รูปสิงห์เป็นสัญลักษณ์สำคัญบน “เสาอโศก” (Ashoka's Pillar) หรือ “สิงหสตัมภะ” (Lions Capital) ทั้งแบบจตุรทิศ (หันหน้าไป 4 ทิศ) และแบบสิงห์เดี่ยวแสดงท่า “คำราม” ประกาศพระสุรเสียงแห่งพระราชอำนาจที่องอาจดุจพญาราชสีห์ แผดเสียงก้องกังวานไปทั่วสารทิศ
.
รูปศิลปะสิงห์/ราชสีห์คำรามที่มีขนแผงคอเป็นลอนได้ถูกนำมาใช้เป็นสิงห์ทวารบาลเฝ้าศาสนสถานในท่านั่งแบบยืนขาหน้า นั่งขาหลัง หางม้วนขึ้นบนหลังอย่างสง่างาม โดยมีรูปศิลปะสิงห์ทะยานและสิงห์กระโจนร่วมอยู่ในงานประดับจากอินเดียและลังกา ส่งอิทธิพลคติและงานศิลปะต่อมายังวัฒนธรรมทวารวดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครับ       
.
ประติมากรรมสิงห์ปูนปั้นจากสถูปทวารดีที่วัดไก่จ้น เป็นรูปสิงห์คำราม นั่งขาหลังแบบเฝ้าทางเข้าสถูปในคติสิงห์ทวารบาล มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 เช่นเดียวกับรูปประติมากกรรมสิงห์ทวารบาล/สิงห์คำรามขนาดเล็กที่พบในคราวเดียวกันและสิงห์คู่หนึ่งที่พบจากมหาวิหารทวารวดีแห่งทุ่งพระเมรุ เมืองโบราณนครปฐม    
.
***  เป็นรูปประติมากรรมสิงห์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุควัฒนธรรมทวารวดี ที่พบในประเทศไทยอีกด้วย 
.
*** ปัจจุบันประติมากรรมสิงห์ทวารบาลและปูนปั้นสถูปวัดไก่จ้น ถูกย้ายมาจัดแสดงอยู่ที่หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นล่าง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy