วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564

พุทธปรางค์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พุทธปรางค์ ฐานขาสิงห์ทรงจอมแหในผัง 8 เหลี่ยม” ความนิยมในช่วงปลายอยุธยา

เริ่มจากสมัยพระเจ้าปราสาททอง ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมา ราชสำนักอยุธยาหันกลับมานิยมการสร้าง “เจดีย์ทรงปราสาท” ตามแบบพระปรางค์ทรงงาเนียม ที่พระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม วัดวรโพธิ์ และวัดวรเชษฐาราม และยังได้เริ่มสร้างงานสถาปัตยกรรม “เจดีย์ระฆังยกมุม/ยอมุม/หยักมุม/ย่อมุม” (เลียนแบบแบบการยกเก็จมุมของปราสาท) อย่างเจดีย์ภูเขาทอง วัดใหม่ชุมพล วัดสวนหลวง วัดอุโบสถ วัดญาณเสน ฯ และ“ปราสาททรงเจดีย์” ผสมผสานยอดวิมานปราสาทกับยอดแหลมแบบเจดีย์ แทนที่ยอดทรงงาเนียม/ฝักข้าวโพด อย่างเมรุทิศของวัดไชยวัฒนาราม เพิ่มเติมขึ้นจากรูปแบบพระเจดีย์ที่หลากหลายในยุคก่อนหน้า
.
เจดีย์ทรงปราสาทหรือพระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม มีการยกฐานปัทม์ท้องไม้กว้างคาดแถบลูกฟักและอกไก่ ขึ้นไป 3 ชั้น จนสูงชะลด ทั้งมีการเพิ่มมุม/ยกมุมของส่วนฐานสูงให้สอดรับกับการเพิ่มมุมของเรือนธาตุและมุขซุ้มประตูซ้อน จนทำให้เกิดสันมุมที่เรียกว่า “ย่อมุมไม้” จำนวนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งฐานที่มีมุมเพิ่มขึ้นก็เริ่มถูกนำไปใช้กับฐานพระเจดีย์ทรงระฆังย่อมุม 12 แบบเดิมเป็นครั้งแรกครับ
.
อีกทั้งการประดับฐานพระเจดีย์ด้วย “ขาสิงห์” แบบต้นอยุทธยายังกลับมาได้รับความนิยมจากราชสำนักอีกครั้ง โดยมีการปรับรูปให้ยืดสูง หลังสิงห์วงโค้งต่อเนื่องมาที่แข้งสิงห์ ท้องสิงห์หย่อนโค้ง หัวแข้งมีทั้งแบบมนโค้งและแบบสันคม/บัวหลังสิงห์ ปั้นปูนกระหนกตัวเหงา/บัวรวนเป็นครีบประดับใต้น่อง นมสิงห์เป็นกระหนกรูปกระจังคว่ำ เกิดการประดิษฐ์ลาย “กาบเท้าสิงห์/เล็บกาบสิงห์” รูปกระจังปฏิญาณสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ พวยขึ้นมาที่เชิงของหัวแข้ง  นำมาประดับเข้ากับสันมุมที่มีจำนวนมากขึ้น 
.
เมื่อมีการนำฐานยกมุมเพิ่มซ้อนกันจำนวนมากจากพระปรางค์ใหญ่ย่อลงมาที่ปรางค์ขนาดเล็กลง  จึงได้เกิดการย่อมุม 28 ขึ้น โดยนำมุมจากเรือนธาตุ 3 มุม (มุมหลักและมุมยกเก็จ) มารวมกับมุมของมุขซ้อน 2 ด้าน ๆ ละ 2 มุม รวมเป็น 7 สันมุมในด้านเดียว (คูณด้วย 4 ด้าน) ขึ้นเป็นครั้งแรก ที่ปรางค์บริวารของวัดไชยวัฒนาราม  แต่ในช่วงแรกนั้น มุมหลักยังมีขนาดใหญ่กว่ามุมประกอบ ตัวปราสาทก็ยังมีขนาดใหญ่ ช่องจระนำกว้าง ตั้งบนฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ซ้อนชั้น จึงยังไม่เกิดทรง “จอมแห” และยังไม่มีการประดับ “ขาสิงห์” ที่ฐานครับ
.
ความนิยมการประดับฐานเจดีย์ด้วยขาสิงห์ จากที่เคยประดับฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิ (ในเมรุทิศวัดไชยวัฒนาราม) เริ่มต้นขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่มีการนำศิลปะขาสิงห์มาประดับฐาน อาคารและเจดีย์อย่างกว้างขวาง เจดีย์ทรงปรางค์องค์แรกที่มีการประดับฐานสิงห์ คือพระปรางค์เล็กที่มีซุ้มคูหายาวด้านหน้าทางทิศเหนือของวัดไชยวัฒนาราม โดยฐานเดิมยังคงเป็นฐานปัทม์คาดเส้นลวดลูกแก้วอกไก่ 2 ชั้น ยกมุม 28 ตามแบบปรางค์บริวารสมัยพระเจ้าปราสาททอง แต่มีการปรับขนาดของสันมุมให้เท่ากัน ปรากฏขาสิงห์แบบมีบัวหลังสิงห์ชั้นเดียวตรงเชิงเรือนธาตุ ตัวปรางค์ยังคงมีขนาดใหญ่ แต่เริ่มมีการยืดส่วนเรือนธาตุจนทำให้จระนำซุ้มสูงชะลูดอย่างชัดเจนจนไม่สามารถประดิษฐานพระพุทธรูปได้เป็นครั้งแรก เป็นต้นแบบสำคัญที่นำไปสู่การเกิดพระปรางค์ (ปราสาท) ฐานขาสิงห์ ทรงจอมแหในผัง 8 เหลี่ยมในเวลาต่อมา
.
*** พระปรางค์ยอมุม 28 ฐานประดับขาสิงห์สูง 3 ชั้น ตัวเรือนธาตุชะลูด มุขจระนำแคบ แต่ยังไม่ลดขนาด (จึงยังยังไม่เกิดทรงจอมแห) และเริ่มมีการ “บีบสันมุมที่ซ้อนกันด้านละ 7 มุม ให้มีขนาดเท่ากับขนาดของมุขแต่ละด้าน ในผัง 8 เหลี่ยม” อาจเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่วัดอุทิศขนาดเล็ก ภายในวัดมหาธาตุนอกกำแพงแก้วทางทิศเหนือครับ 
.
พระปรางค์ยอมุม 28 สมัยสมเด็จสมเด็จพระนารายณ์ คือ พระปรางค์เหล็กหล่อที่ตั้งอยู่บนยอดสุดของเจดีย์ทรงหอคอย มุมตะวันออกเฉียงใต้นอกกำแพงแก้ว วัดมหาธาตุ มีฐานสิงห์แบบไม่มีกาบเล็บที่ฐานล่าง ประดับลายใบไม้แบบตะวันตก ยอดเหล็กเดิมคงได้ถูกฟ้าผ่าจนแตกเสียหายจึงต้องปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ด้วยปูนปั้นในสมัยหลัง ซึ่งต่อมาก็คงถูกฟ้าฝ่าซ้ำจนปูนที่ปั้นซ่อมแตกหักเสียหายอีก 
.
*** พระปรางค์แบบยอมุม 28 ฐานปัทม์ใหญ่ลดหลั่นขนาด ประดับขาสิงห์สูง 3 ชั้น ตัวเรือนธาตุชะลูด มุขจระนำแคบ บีบสันย่อมุมเท่ากับผนังมุขจนกลายเป็นผัง 8 เหลี่ยม เริ่มลดขนาดเรือนธาตุทรงชะลูดสูงให้แคบลง จนเกิดเป็นพระปรางค์ทรงจอมแห (ทำยอดปรางค์บีบให้เล็กแบบเจดีย์ยอดแหลม) องค์แรก น่าจะเป็นพระปรางค์วัดบรมพุทธราม ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเพทราชา    
.   
พุทธปรางค์แบบยอมุม 28  แบบสมเด็จพระเพทราชา ยังปรากฏที่วัดพระยาแมน ที่ทรงโปรดให้สร้างถวายพระศรีสัจญานมุนีราชาคณะคามวาสี ที่ถวายพยากรณ์ว่าพระองค์จะได้เสวยราชย์สมบัติ และยังนิยมสืบต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ ดังปรากฏที่วัดโพธิ์ประทับช้าง แขวงเมืองพิจิตร ภูมิสถานที่ประสูติของพระองค์ครับ
.
ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พุทธปรางค์ฐานสิงห์ได้เปลี่ยนมานิยมทำเป็นยอมุม 20 (ด้านละ 5 สันมุม โดยลดมุมของมุขซ้อนออก ฝั่งละ 1 มุม เอาหน้าบันขึ้นไปซ้อนด้านบน) เรือนธาตุชะลูดสูงขึ้นกว่าเดิมบนฐานสิงห์ที่ลดหลั่นขนาดจนเป็นทรงจอมแหอย่างสมบูรณ์แบบ ดัง พระปรางค์คู่วัดสระบัว เมืองเพชรบุรี ประดับปูนปั้นที่งดงาม (วัดไผ่ล้อมในตัวเมือง ที่มีการบูรณะในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระก็น่าจะเคยมีปรางค์ทรงเดียวกันแต่ถูกรุกที่ดินด้านหน้าจนหายไป) พระปรางค์วัดมงกุฎ (ร้าง/ทางเหนือของเกาะเมือง) พระปรางค์รายคู่ด้านหน้าวัดโลกยสุธา พระปรางค์คู่วัดป่าโมก และพระปรางค์เล็ก ริมถนนข้างวัดมหาธาตุ (วัดจันทร์ ?)
.
*** ความนิยมในพุทธปรางค์ทรงจอมแหฐานสิงห์ ลดหายไปช่วงระยะหนึ่งในสมัยพระเจ้าอยู่บรมโกศ จนถึงช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 จนได้รับความนิยมกลับมาอีกครั้งในราชสำนักรัตนโกสินทร์ ที่มีการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมพุทธปรางค์แบบอยุธยาปลายต่อเนื่องมาอีกมากมายครับ 
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ภาพอีโรติก ปริศนาธรรมชาดก

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ภาพอีโรติก” ปริศนาธรรมชาดกที่พระธาตุอิงฮัง   

“พระธาตุอิงฮัง” ตั้งอยู่ที่บ้านธาตุ (บ้านหลวงโพนสิม) นะคอนไกสอน พมวิหาน (เมืองคันทะบุรี) แขวงสะหวันนะเขต ห่างจากตัวเมืองริมแม่น้ำโขงไปตามเส้นทางหมายเลข 13 (ไปเซโน) ประมาณ 12 กิโลเมตร ชื่อนามของพระธาตุในเสียงลาวจะเรียกว่า “อิฮัง” ซึ่งคำว่า “อิงฮัง – อิฮัง” ก็ล้วนมีความหมายว่า “อิงตันรัง" หรือพักอยู่ที่ต้นรัง ตามตำนานอุรังคธาตุ 
.
องค์พระธาตุแต่เดิมนั้นเป็นปราสาทก่ออิฐในช่วงศิลปะแบบกำพงพระ/จามปา ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 14  ต่อมาได้ถูกกลุ่มชนในวัฒนธรรมล้านช้างที่อพยพลงมา ดัดแปลงต่อเติมยอดระฆังทรงดวงปลีและแอวขันแบบลาวไว้ที่เหนือเรือนธาตุด้านบนสุด จนกลายเป็นพระธาตุเจดีย์ในพุทธศาสนาแทนซากปราสาทเดิม ช่วงสมัยพระครูโพนสะเม็ก/พระครูโพนสะเม็ด/ญาครูขี้หอม  ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 23 แล้วมาซ่อมแซมใหญ่อีกครั้งในช่วงอาณานิคมฝรั่งเศส ประมาณปี พ.ศ. 2495 ครับ
.
*** ที่มุขซุ้มประตูด้านหน้าของพระธาตุอิงฮัง แกะสลักผนังด้วยเครื่องไม้ ประตูมีขนาดประมาณ  2 * 1.5 เมตร ด้านบนเป็นปั้นลมสามเหลี่ยม  กรอบ (ปะกนลูกฟัก) ที่สลักลายดอกไม้ต่อเนื่อง ภายในกรอบสลักลายใบขดเป็นเครือเถาปิดทองประดับกระจกแก้ว ล้อมรอบด้วยลายลูกกลม คานบนของกรอบประตูสลักลายดอกซีกดอกซ้อนต่อเนื่อง กรอบข้างเป็นกระหนกใบขดและดอกไม้ต่อเนื่อง  ส่วนบนบานประตูนั้น สลักเป็นลายกระหนกใบขาดเกี่ยวพันแบบเครือเถา  ดอกไม้กลมมีกลีบ (ดอกจอก) วางสับหว่างกันเป็นดอกลาย
.
ที่ข้างประตูเป็นช่องกรอบด้านละ 5 ช่อง ภายในสลักเป็นเรื่องราวที่ยังไม่มีการศึกษาและอธิบายไว้อย่างชัดเจน  ในกรอบด้านบนซ้าย เป็นภาพเทวดาสวมเทริดหน้านางรัดเกล้ายอดแหลม ประทับบนฐานเอวขันแสดงอัญชุลีมีก้านดอกไม้พวยขึ้นไปทั้งสองฝั่ง กรอบฝั่งขวาที่เป็นรูปเทวดานั่งถือดาบครับ
.
*** กรอบที่เหลือ ปรากฏภาพที่มีรูปเชิงสังวาส หรือ “อีโรติก” (Erotic Art) ร่วมอยู่ ซึ่งควรเป็นเรื่องราวในนิทานเรื่อง “จันทโครพ” (Chantakorop) ตามสำนวนลาว ที่มีเนื้อหาดัดแปลงมาจาก “จุลลธนุคคหชาดก” (Culladhanuggaha-Jātaka) โดยเรื่องเริ่มต้นจากช่องทางซ้ายกรอบบนถัดจากเทวดาลงมา เป็นภาพบุคคลก้มลงถือสิ่งของและรูปสตรีที่มีกระหนกตัวเหงาคู่ที่ท้อง หมายถึง จันทโครพ (จุลลธนุคคหบัณฑิต) ถือผอบ กำลังเปิดเนรมิตให้นางโมราที่มีรูปโฉมอันงดงามประดุจนางฟ้า (จึงสลักรูปสตรีสวมเทริด) ออกมา 
.
รูปที่สองกรอบถัดลงมา เป็นภาพจันทโครพกำลังฉุดแขนนางโมราที่เพิ่งออกมาจากผอบ ยังไม่มีเรี่ยวแรง (ยังไม่มีประสบการณ์ชีวิตบนโลก/อ่อนต่อโลก) ภาพที่สาม นางโมรามีเรี่ยวแรงและแสดงท่ายั่วยวน (เกิดความรัก) ต่อจันทโครพ ส่วนภาพสุดท้ายที่เชิงผนังเป็นภาพการเสพเมถุนระหว่างจันทโครบและนางโมรา ที่ต่างก็ตกอยู่ในลุ่มหลงกันและกัน รูปเทวดาด้านบนถือดอกไม้แสดงความหมายความสวยงามแห่งชีวิตรักครับ  
.
กรอบฝั่งด้านขวาถัดจากรูปเทวดาถือดาบลงมา เป็นภาพบุคคลต่อสู้กัน ซึ่งเหมือนว่านางโมรากำลังมีชู้ (ลุ่มหลงชายอื่น) ถูกจันทโครบจับได้คาหนังคาเขา (จับจริง ๆ) แต่นางFมรากลับลุ่มหลงยกมือโบกไล่จันทโครพ สองภาพถัดมาเป็นภาพเทพธิดามีเครื่องประดับและอาวุธ (แตกต่างไปจากรูปนางโมรา) นั่งบนสัตว์ ถ้าพิจารณาจากชาดก จะเป็นปริศนาธรรมในความหมายว่า “สตรีงามที่คบชู้สู่ชายนั้นย่อมเป็นอันตรายต่อสามี เหมือนดังสตรีมีอาวุธร้ายและพร้อมที่จะมีความทะยานอยากประดุจสัตว์ เร็วอย่างม้า กระหายอย่างสิงห์” 
.
ภาพสุดท้ายคือ รูปชู้รัก (โจร) อุ้มนางโมราที่กำลังกระสันอยากในกาม (ตามภาพสลักชัด ๆ ) ออกไปจากจันทโครพ โดยมีภาพกระต่ายซึ่งหมายถึงความกระสันอยู่ด้านล่าง (กระต่ายเป็นสัตว์ที่มีความอยากผสมพันธุ์อันดับหนึ่งของโลก)
.
*** สรุปเนื้อหาตามชาดก จะเป็นคำสอนเรื่องของการละทิ้งเครื่องผูกแห่งมาร ที่จะนำไปสู่ความเสื่อมถอย (นางโมราที่กำลังมีราคะตัณหาครอบงำ เสื่อมไปจากสามี) สอดรับกับภาพเทวดาที่ถือดาบในกรอบบนสุด ที่หมายถึงการตัดกิเลสตัณหาครับ
เครดิต :FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ธงตะแกรง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ธงตะแกรง” เครื่องป้องกันลูกธนูในการสงครามยุคจักรวรรดิบายน
.
.
.
ภาพสลักนูนต่ำบนผนังกำแพงระเบียงคดชั้นนอกด้านทิศตะวันออกปีกทิศใต้ ติดกับมณฑปมุมตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทบายน แสดงเรื่องราวภายหลังการพิชิตกองทัพเรือจามปา ในยุทธนาวีเหนือโตนเลสาบ ช่วงปี พ.ศ. 1724  พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทรงทำสัญญาผูกสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระจักรพรรดิลี้ กาว ตง (Lý Cao Tông) ราชวงศ์ลี้ (Ly Dynasty) แห่งอาณาจักรได่เหวียด (Dai Viet) ภายหลังการครองราชย์ 9 ปี   จนถึงปี พ.ศ. 1733 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทรงเตรียมพร้อมรวมรวมกำลังไพร่พล ฝึกฝนการต่อสู้ในแต่ละรูปแบบ รวมขึ้นเป็นกองทัพใหญ่ เคลื่อนพลออกจากเมืองพระนครศรียโศธระปุระ เดินทางไปเข้าตีเมืองวิชัยปุระ (Vijayapur - ปัจจุบันคือ เมืองกวีเญิน (Qui Nhơn) ในจังหวัดบินห์ดินห์ (Bình Định) ตอนกลางของประเทศเวียดนาม) ราชธานีของอาณาจักรจามปา  
ในขบวนกองทัพ ปรากฏรูปของ “ธงทิว/ธงชัย” (Flag of Victory) ทั้ง “เสาธวัช-ธงชัย” (Dhvajajaya) ที่มีรูปประติมากรรมขนาดเล็กบนยอดเสา อย่างรูปกระบี่ธุช (หนุมาน)/ธงชัยกระบี่ธุช รูปครุฑ/ธงชัยครุฑพ่าห์ หรือรูปเทพเจ้า/ธงชัยเทวะ ธงผ้ารูปทรงยาวแบบตั้งพลิ้วโค้งปลายแหลมที่ด้านบน ธงผ้าผืนใหญ่มีชายสามเหลี่ยมแหลมพลิ้วตามลม 3–5 ชาย ธงผ้ารูปสามเหลี่ยม ธงชัยแต่ละแบบก็มีลวดลายประดับสีสันงดงาม อีกทั้งกลดผ้าสัปทน ที่ล้วนบ่งบอกฐานะของแม่ทัพนายกองผู้ใช้ธงนั้นว่ามีระดับชั้นความสำคัญขนาดไหนในขบวนกองทัพ 
.
ในภาพสลักขบวนกองทัพหลายหมู่ ยังปรากฏรูปธงสี่เหลี่ยมตั้งยาวมีด้ามจับ 1 – 2 ด้าม บนยอดเสาประดับด้วยธงสามเหลี่ยมภายในกรอบสลักเป็นรูปตารางไขว้ข้าวหลามตัด ดูแตกต่างแปลกประหลาดไปจากธงอื่น ๆ ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งไม่ใช่ธงชัย แต่เป็น “ธงตะแกรง” เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการแพนสะบัดปัดป้องลูกธนูจากฝ่ายข้าศึก ไม่ให้ยิงพุ่งเข้ามาถูกบุคคลสำคัญของขบวนทัพ จึงพบรูปธงสลักอยู่ด้านหน้าของผู้นำบนหลังช้างทุกรูป น่าจะเป็นตาข่ายโลหะสำริด มีทั้งแบบด้ามเดี่ยวใช้ปัด และด้ามคู่ขนาดใหญ่กว่าไว้ตั้งขวางหน้าช้าง  
.
*** ลูกธนูที่ยิงมาจากฝ่ายศัตรู จะพุ่งเข้ามาติดช่องตาข่ายของธง ไม่เข้าถึงตัวแม่ทัพนายกองบนหลังช้างครับ  
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy

วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ปรางค์ประธาน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ปรางค์ประธานวัดสมณโกฏฐาราม” ชุมชนเริ่มแรกในเขตตะวันออกของเกาะเมืองอยุทธยา  

“คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” (เอกสารจากหอหลวง) อายุเอกสารในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ได้กล่าวถึง พระมหาธาตุสำคัญ ที่เป็นหลักแห่งกรุงศรีอยุธยาว่ามีจำนวน  5 องค์  “...พระมหาธาตุที่เปนหลักกรุงศรีอยุธยา ๕ องค์ คือ พระมหาธาตุวัดพระราม ๑ พระมหาธาตุวัดมหาธาตุ ๑ พระมหาธาตุวัดราชบูรณ ๑ พระมหาธาตุวัดสมรโกฏ ๑ พระมหาธาตุวัดพุทไธสวริย ๑ ...”
.
*** ถึงแม่ว่าในปัจจุบัน พระปรางค์ (เจดีย์ทรงปราสาท) ประธานวัดสมณโกฏฐารามจะพังทลายลงมาจนหมดแล้ว แต่ภาพหลักฐานถ่ายเก่าในช่วงรัชกาลที่ 5 จากหนังสือฟิล์มกระจกจดหมายเหตุหนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ (กรมศิลปากร 2559) ได้แสดงภาพขององค์ปรางค์มุมทางทิศใต้และทิศตะวันออกที่ยังไม่พังทลายลงมา แสดงให้เห็นตัวเรือนธาตุผังสี่เหลี่ยมกว้างยาวประมาณ 7*7 เมตร บนฐานที่พังทลายไม่มีรูปทรงชัดเจน เรือนธาตุยกเก็จประธานหนาออกมาผนังเรือนเพียงชั้นเดียว เกิดมุมหลักแบบกล่อง 4 เหลี่ยม (Cube) ขนาดใหญ่อย่างเห็นได้ชัด กลางเก็จแต่ละด้านยกมุขเป็นซุ้มประตูซ้อน 2 ชั้น หน้าบันทรงใบหอกซ้อนขึ้นไป 2 ชั้น จนถึงลวดบัวรัดเกล้าของตัวเรือน ติดแนบไปกับผนังเรือนธาตุแบบบาง ๆ ไม่ยื่นเป็นมุขยาวออกมา เป็นแผนผังจัตุรมุขแคบ ๆ ซุ้มประตูด้านตะวันออกยื่นออกมามากกว่าด้านอื่นเล็กน้อย เป็นประตูทางเข้าภายใน ส่วนอีก 3 ด้าน ยังคงเห็นเป็นซุ้มประตูหลอกประดับผนังที่มีทับหลังจำลอง อกเลาและนมเลาอย่างชัดเจนครับ 
.
ฐานบัวเชิงผนังและซุ้มประตูของเรือนธาตุ ก่ออิฐเป็นชุดลวดบัวเชิงอยู่เป็นแผงในระนาบเดียวกัน ส่วนบัวรัดเกล้าด้านบนผนังเดินเส้นลวดขนาดใหญ่ เน้นเส้นและส่วนลวดที่นูนยาวในระนาบเดียวกัน แบบเดียวกับเส้นลวดของบัวเชิงด้านล่าง
.
ชั้นวิมานซ้อนเรือนจำลองขึ้นไป 6 ชั้น ประดับกลีบขนุนที่มุมเริ่มจากชั้นอัสดง ตามแบบปราสาทเขมรละโว้ เอียงสอบโค้งขึ้นไปตามขนาดลดหลั่นของชั้นวิมานจนดูเป็นทรงพุ่ม ด้านบนสุดยังคงเห็นแกนในของส่วนก่ออิฐเป็นจอมโมฬี/บัวกลุ่มยอดปรางค์อย่างชัดเจน รวมความสูงประมาณ 25 เมตร (เทียบอัตราส่วนจากภาพบุคคลที่ปรากฏในภาพถ่ายเก่า) ครับ
.
*** รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของพระปรางค์วัดสมณโกฏฐาราม แตกต่างไปจากปรางค์ปราสาทแบบเขมรละโว้  (อย่างที่วัดนครโกษา ปรางค์บริวารภายในวัดมหาธาตุลพบุรี และปรางค์แบบต้นกรุงศรีอยุธยา (ปรางค์วัดลังกา ปรางค์บริวารวัดมหาธาตุ) ที่มีการยกเก็จซ้อนเพิ่มอีก 1- 2 ชั้นทำให้เกิดการเพิ่มมุมที่ถี่มากขึ้น (จนกลีบขนุนเรียงชิดกัน) และมีสันมุมโค้ง แต่มีการยกเก็จแบบเดียวกับปรางค์เมืองศรีเทพและปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ ที่ยกขึ้นมาเพียงระดับเดียว ทำให้เกิดการเพิ่มมุมเพียงด้านละ 3 มุม มุมหลักมีที่ว่างของผนังกว้าง กลีบขนุนในชั้นต่าง ๆ ของวิมานจึงวางห่างกัน    
.
*** หลังคาทรงวิมานและฐานนั้น อาจได้รับการบูรณะเพิ่มเติมในสมัยหลัง (ประมาณช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21) ที่อาจได้มีการปรับเปลี่ยนผนังเชิงบาตรจากเดิมที่เป็นผนังตรงมาเป็นทรงโค้งรองรับหน้ากระดานในแต่ละชั้น จัดวางกลีบขนุนใหม่ให้สอบโค้งเข้า ส่วนฐานล่างก็ดูเหมือนว่าจะมีการฟอกเสริมครอบฐานยกสูงเดิมจนกลายเป็นฐานประทักษิณมีทางขึ้นด้านหน้าขนาดใหญ่คาดบัวลูกแก้วอกไก่ที่ท้องไม้ รองรับฐานเขียงและฐานปัทม์คาดบัวแถบลูกฟัก 2 ชั้น (ฐานปรางค์ต้นอยุธยา นิยมซ้อนฐานบัวแถบลูกฟักสูงมากกว่า 3 ชั้น)
*** ด้วยเพราะมีเรือนธาตุแบบเดียวกับปรางค์ศรีเทพและปรางค์วัดมหาธาตุอยุธยา แต่มีการจัดชั้นวิมานทรงพุ่มที่ดูทันสมัยกว่า ปรางค์ประธานวัดสมณโกฏฐารามจึงอาจสร้างขึ้นในช่วงกลาง-ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ในสภาพแวดล้อมที่แม่น้ำป่าสักเดิม (คลองหันตรา) ยังคงไหลอ้อมไปทางตะวันออก ก่อนจะมีการขุดคูเมืองตะวันออก (จนขยายกลายมาเป็นแม่น้ำป่าสักในปัจจุบัน) ยังไม่มีเกาะเมือง ผู้คนจากเมืองโบราณศรีเทพได้อพยพลงมามาตั้งถิ่นฐานบนที่ดอน สร้างวัดและพระปรางค์ใหญ่ติดกับคลองกุฏีดาว/คลองมเหยงคณ์ขึ้น มีหนองน้ำอยู่ทางด้านหน้าทางทิศตะวันออก บริเวณวัดท่าบัวและตำหนักเสด็จ ทางใต้ของวัดมเหยงคณ์ในปัจจุบันครับ   
.
พระปรางค์ใหญ่วัดสมณโกฎฐาราม จึงอาจเป็นสิ่งก่อสร้างในคติความเชื่อรุ่นแรกในเขตตะวันออกของเกาะเมือง ที่สร้างขึ้นภายหลังปราสาทปรางค์มหาธาตุอยุธยาฐานชะลูดสูงในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ก่อนหน้าการสถาปนากรุงศรีอยุธยาตามความในพงศาวดารในช่วงปลายสุดของพุทธศตวรรษที่ 19 และก่อนการสร้างพระเจดีย์ช้างล้อมวัดมเหยงคณ์ ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20
.
*** ชุมชนฝั่งตะวันออกของเกาะเมืองที่วัดสมณโกฏฐาราม จึงควรเป็นชุมชนอพยพจากเมืองศรีเทพมาตามเส้นทางแม่น้ำป่าสักกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ราบตะกอนโค้งตวัดของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นกลุ่มแรก ๆ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งต่อมาไม่นานนัก กลุ่มชนตะวันตกจากรัฐสุพรรณภูมิและกลุ่มชนรัฐละโว้ คงได้เข้ามาตั้งบ้านเมืองและชุมชนใหม่กระจายตัวไปตามที่ดอนของดินแดนใหม่ สบน้ำอันอุดมสมบูรณ์และเมืองท่าสำคัญที่กำลังเติบโตขึ้นในช่วงเวลานั้นครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564

เจดีย์ขุนหลวงพระงั่ว

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระเจดีย์ยุคขุนหลวงพ่องั่ว” สุดชายแดนเหนือสุดของรัฐสุพรรณภูมิที่เขาธรรมามูล ชัยนาท

“วัดธรรมามูลวรวิหาร” ตั้งบนเชิงเขาริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาในตำบลธรรมามูล อำเภอเมืองชัยนาท ปรากฏชื่อนามในพระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ 5 คราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ร.ศ. 120 ปี พ.ศ. 2544 ความว่า "....วันนี้เวลาเช้าโมงครึ่ง ออกเรือจากเมืองไชยนาท...เวลาเช้า 3 โมงเศษถึงธรรมามูล ขึ้นเขามีราษฎรมาอยู่มาก พระวิหารหลังใหญ่หลังคาพังทลายลงมาทั้งแถบ จำจะต้องปฏิสังขรณ์ พระเจดีย์ทลายลงมาแถบหนึ่ง เห็นของเดิมทีจะเปนไม้ 12 จะก่อพอกให้กลม แกนนั้นยังดีอยู่ ทลายแต่ที่พอกแถบหนึ่ง พระพุทธรูปเมืองสรรค์ซึ่งพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เชิญมาไว้ในพระอุโบสถพระรัศมีชำรุด...."
.
*** จากภาพถ่ายเก่าของ Robert Larimore Pendleton ปี พ.ศ. 2480 แสดงให้เห็นว่า พระเจดีย์บนเชิงเขายังไม่ได้ล้มลงมา จะมีก็เฉพาะส่วนองค์ระฆังและฐานด้านหน้าพังลงมาแถบหนึ่ง ตามที่รัชกาลที่ 5 เคยทอดพระเนตรเห็นและมีพระราชหัตถเลขาเอาไว้ครับ  
.
ภาพของลาลิมอร์และภาพถ่ายส่วนฐานกลมที่เหลืออยู่ก่อนการบูรณะ ได้แสดงให้เห็นว่า เจดีย์วัดเขาธรรมามูลนั้นเป็นเจดีย์ทรงระฆังลอมฟางสั้น ฐานปัทม์กลมแบบมีเส้นลวดบัวลูกแก้วคาดที่ท้องไม้แยกห่างกัน 2 เส้น  ซึ่งเป็นรูปแบบของเจดีย์ในช่วงปลายยุคของรัฐสุพรรณภูมิ
จากภาพถ่ายเก่าของลาริมอร์ ยังได้เห็นเทคนิคการก่อพระเจดีย์ในยุคปลายรัฐสุพรรณภูมิ ที่มีการก่ออิฐเป็นผนังเพื่อเป็น “แกนเอ็นค้ำยัน” ภายในส่วนฐานล่าง 8 เส้น ส่วนภายในชั้นองค์ระฆังคงเหลือเพียง 4 เส้น แต่อาจมีการใช้โครงไม้ช่วยค้ำโครงยันส่วนองค์ระฆังที่ก่ออิฐเป็นผนังไม่หนามาก ภายในแกนเอ็นทุกชั้นเป็นโพรง ยังคงเห็นผนังของส่วนฐานรองรับองค์ระฆังที่มีแผนผังกลม ก่ออิฐเป็นผนังหนากว่า มีเจดีย์/สถูปิกะ ทั้ง 4 มุม บัลลังก์ด้านบน 8 เหลี่ยม ก้านฉัตรเหมือนถูกพอกจนเต็ม จนมีขนาดเท่ากับบัวฝาละมี ประดับเสาอิงตามมุมหักในความหมายของเสาหานครับ
.
พระเจดีย์เขาธรรมามูล  มีรูปทรงเดียวกับ “เจดีย์วัดชุมนุมสงฆ์” (ฐานจัตุรัส 14*14 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางวงกลม 12 เมตร) และเจดีย์วัดกุฎีสงฆ์ (ฐานจัตุรัส 14.45 *14.45 เมตร ฐานวงกลมประมาณ 14 เมตร) ในเมืองโบราณสุพรรณบุรี  ฐานขององค์เจดีย์ก่อเป็นฐานเขียงผัง 4 เหลี่ยม ขนาด 14*14 เมตร ฐานเขียงกลมแบบ “มาลาสนะ/ตรีมาลา/บุปผาปธาน” (Mālāsana-Trimālā)  (ชั้นล่างที่จมอยู่ในฐานใหม่ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 เมตร) 3 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ (บัวคว่ำ-บัวหงาย) แผนผังกลม 3 ชั้น มีท้องไม้ใหญ่ คาดรัดด้วยเส้นลวดลูกแก้วคู่แบบแยกห่าง เหนือขึ้นไปเป็นฐานชุดมาลัยเถา 3 ชั้น ชั้นบัวปากระฆังรองรับองค์ระฆังทรงลอมฟางแบบสุพรรณภูมิ บัลลังก์แบบบัวปัทม์ 8 เหลี่ยม ก้านฉัตรยังไม่มีเสาหาน บัวฝาละมี ปล้องไฉน/วงแหวน/ฉัตรวลี ซ้อนแบบมีช่องว่างขึ้นไปจนถึงส่วนปลียอด  โดยมีลูกแก้วอยู่ด้านบนสุด 
.
*** การที่พระเจดีย์มาตั้งอยู่นอกเมือง บริเวณเชิงเขาริมแม่น้ำใหญ่ ด้วยเพราะในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 นั้น ชนชั้นนำในรัฐสุพรรณภูมิได้รับอิทธิพลทั้งคติความเชื่อและงานศิลปกรรมมาจากฝ่ายลังกาผ่านเมืองนครพัน (เมาะตะมะ - Martaban) ที่กำลังมีความนิยมในคติรามัญนิกาย/อุทุมพรคีรี โดยเฉพาะคติความเชื่อ “อารัญวาสี-อรัญวาสี” (Āraṇya-vāsī) พระพุทธรูปปางลีลา/จงกรม และสถาปัตยกรรมแบบลังกาหลังยุคโปโลนนารุวะ (Post Polonnaruwa) เมืองคัมโปละ (Gampola) ดังการปรากฏรูปชุดฐานตรีมาลา-มาลัยเถา-องค์ระฆัง-บัลลังก์รองรับก้านฉัตรของพระเจดีย์เป็นครั้งแรกครับ  
.
*** รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของพระเจดีย์เขาธรรมามูล ยังสอดคล้องกับใบเสมาหินทรายแดงแบบสุพรรณภูมิ (ทรงกลีบบัวสูงคอดเอว โครงกรอบลาย (หน้าใบ) หัวจุก/ยอด/หมวก โค้งปีกค้างคาว โก่งคิ้ว (ท้องใบ) โครงสามเหลี่ยมโค้งร่างแห) แกะสลักลวดลายอันวิจิตร จากอิทธิพลงานศิลปะจีนในช่วงปลายราชวงศ์หยวนต่อราชวงศ์หมิง ที่นิยมในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ทั้งลายดอกไม้กลมมีกลีบ (ดอกจอก) ลายตัวโค้ง ลายตัวเหงาหัวกลม หลังมีครีบและไรขน ลายเครือเถา ลายดอกโบตั๋นแย้มกลีบ ลายดอกบัวมีกลีบ ลายดอกเบญจมาศมีกลีบ ลายนกหงส์ ลายเส้นลวดกรอบ ลายเส้นลวดกรอบเกี่ยวพัน ลายหัวหลูอี่ ลายใบเทศ ลายหางไหล ฯ
.
*** เจดีย์วัดเขาธรรมามูลได้รับการบูรณะในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ด้วยการก่ออิฐเป็นฐานปัทม์ 4 เหลี่ยม เสริมคงมั่นคงที่ส่วนฐาน และสร้างเจดีย์ขนาดเล็ก/สถูปิกะ ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นความนิยมในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาจำนวน 4 องค์ บนมุมของฐานใหม่ครับ 
.
*** เมื่อนำองค์หลักฐานมาพิจารณาร่วมกับการปรากฏของพุทธศิลป์ปางลีลา ในรูปแบบพระพิมพ์หลายรูปแบบที่พบจากรุวัดชุมนุมสงฆ์ ที่สะท้อนคติอรัญวาสี/รามัญนิกาย ในรัฐสุพรรณภูมิ รูปแบบของฐานเจดีย์ที่ปรับเปลี่ยนจากฐาน 8 เหลี่ยมนิยม ในยุคพุทธศตวรรษที่ 19 มาเป็นฐานกลมแบบลังกา งานศิลปะจากอิทธิพลจีนบนใบเสมา และการพบพระเจดีย์รูปทรงเดียวกันในเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยังมีกษัตริย์ปกครองอยู่ พระเจดีย์วัดเขาธรรมามูลจึงควรเป็นพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นในช่วงสมัยของ “ขุนหลวงพ่องั่ว/สมเด็จพ่อพระญาศรีอินทราราช/สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1/ซานเลี่ยเจาผีหย่า 參烈昭毗牙สมเด็จเจ้าพ่อพญา”กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งรัฐสุพรรณภูมิ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ที่ทรงครองราชย์ในเมืองสุพรรณบุรีเป็นเวลายาวนานจนมีพระชนมายุถึง 63 พรรษา ทรงเป็นผู้เริ่มขยายอิทธิพลของรัฐสุพรรณภูมิขึ้นไปปะทะกับรัฐสุโขทัยทางเหนือเป็นช่วงแรก ก่อนที่จะทรงย้ายราชสำนักไปครองราชย์/ครอบครอง/ผนวกเมืองท่าอยุทธยา/อโยธยา เมืองใหม่ที่มีชัยภูมิก้าวหน้านานอีก 18 ปี (ประมาณปี พ.ศ. 1913-1931)
.
*** เจดีย์วัดเขาธรรมามูล จึงควรถูกสร้างในช่วงประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 20 บนชัยภูมิเชิงเขาริมแม่น้ำอันเป็นเขตชายแดนทางเหนือสุดของรัฐสุพรรณภูมิ ที่เหนือขึ้นไปยังคงเป็นเขตอิทธิพลของรัฐสุโขทัย ที่มี “เมืองพระบาง” เป็นหน้าด่าน (มีพระเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัยเป็นประธานของเมือง) เหนือขึ้นไปมีเมืองสองแควเป็นเมืองสำคัญทางทิศใต้ของรัฐที่พระมหาธรรมราชาที่ 1/พระญาฦๅไทย/ลือไท/พญาลิไท ต้องย้ายราชสำนักและยกกองทัพใหญ่มาตั้งมั่นรักษาอยู่นานถึง 7 ปี (พ.ศ. 1883-1890) ซึ่งต่อมา เมื่อขุนหลวงพ่องั่วได้ครองอยุทธยาแล้ว จึงได้รวมกองทัพใหญ่ขึ้นมาพิชิตสองแคว ภายหลังการสวรรคตของพญาลิไทประมาณปี พ.ศ. 1917 กำราบรัฐสุโขทัยทางเหนือได้เป็นครั้งแรกครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2564

เมืองศรีเทพ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ทับหลังปราสาท เมืองโบราณศรีเทพ”...ควรได้กลับคืนสู่ท้องถิ่น

กลุ่มปราสาทก่ออิฐ/หินขนาดใหญ่ของเมืองโบราณศรีเทพ ประกอบด้วยปรางค์ศรีเทพ และปรางค์สองพี่น้อง  ตั้งอยู่ภายในเมืองในฝั่งทางตะวันตก หันหน้าไปทางตะวันตก อาจเกี่ยวเนื่องกับ “คติชีวิตหลังความตาย” เทวาลัยพระเมรุมาศเพื่อการเดินทางไปสู่ปรมาตมัน ตามแบบปราสาทนครวัด ตั้งบนฐานบัวลูกฟักก่อด้วยศิลาแลงสูงผังจัตุรมุขสองชั้น  ตัวเรือนผังสี่เหลี่ยมยกเก็จประธานออกมาแคบ ๆ ชิดกับผนังเพียงชั้นเดียว แล้วยกมุขซุ้มประตู ซ้อน มีหน้าบันแบบใบหอกซ้อนสูงทิ้งห่างกัน 2 ชั้น ด้านหน้ายกมุขซุ้มประตูยาวกว่าด้านอื่น เป็นประตูเข้าทางเดียวแต่มีคูหาคั่นระหว่างกรอบประตู 2 ชั้น อีกสามด้านเป็นประตูหลอกประดับผนัง มีหน้าบันสองชั้นติดแนบไปกับผนังเรือนธาตุ เส้นลวดบัวเชิงผนังเรือนธาตุกับซุ้มประตูมีระดับแนวระนาบใกล้เคียงกัน ลวดบัวเชิงเสาตรงซุ้มประตูต่ำกว่าเล็กน้อย  
.
เหนือชั้นเรือนธาตุขึ้นไปเป็นชั้นหลังคาทรงวิมานจำลองซ้อน ที่มีผนังสูงลดหลั่นขึ้นไป 5 ชั้น เหนือหน้ากระดานลวดบัวเชิงบาตรแต่ละชั้นทำคล้ายกับหลังคาลาดของวิมาน ตรงกลางเรือนวิมานจำลองแต่ละด้านทำเป็นซุ้มบัญชรกว้างใหญ่ มีเครื่องปักประดับมุมหลักแบบกลีบขนุน/บัวกาบขนุนทรงชะลูดสูง เหนือมุมของวิมานแต่ละชั้นครับ
.
*** ทับหลังขนาดใหญ่สองแผ่นที่พบจากปรางค์ศรีเทพ รวมถึงเสากรอบประตูและเสารองรับทับหลัง (ที่มีรูปฤๅษีสวดบริกรรมพระเวทในท่าโยคาสนะในซุถ้มที่ฐานล่าง) มีร่องรอยถูกทุบทำลายอย่างยับเยิน ถึงลวดลายของทับหลังจะถูกกะเทาะจนเสียหาย แต่โครงร่างที่เหลือก็แสดงให้เห็นรูปประธานในซุ้มบัญชรตรงกลางคือรูป “พระวรุณทรงหงส์” (Varuṇa/Haṃsa) อันเป็นเทพเจ้าในกลุ่มทิศปาลกะ (Dikpālakas) ผู้รักษาทิศตะวันตกอย่างชัดเจน ประกอบกับขนาดของกรอบประตูปราสาท ทับหลังพระวรุณจึงควรเป็นทับหลังของมุขด้านหน้าสุดของตัวปราสาท  โดยมีทับหลังสลักหินทรายที่แตกหักชำรุดเป็น 2 ชิ้นส่วนอีกแผ่นหนึ่ง ที่ควรเป็นทับหลังของกรอบประตูด้านใน ยังคงเหลือลวดลายท่อนมาลัยและใบไม้ขดม้วน 
.
*** ทับหลังทั้งสองชิ้นนี้ควรมีอายุในช่วงศิลปะนิยมแบบพิมาย ประมาณสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17 ครับ  
.
คงด้วยเพราะในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2527 ยังไม่มีการจัดการพื้นที่ การขุดค้นและจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ทับหลังของปราสาททั้งสองหลังและเสารองทับหลัง/ประดับกรอบประตูบางส่วนที่ถูกพบบนผิวดิน จึงได้ถูกเคลื่อนย้ายนำไปเก็บรักษาและจัดแสดงกลางแจ้งที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย มาจนถึงในปัจจุบันครับ  
.
ต่อมาเมื่อมีการขุดแต่ง ในช่วงปี พ.ศ. 2527 - 2529 จึงได้พบชิ้นส่วนของทับหลังพระวรุณทรงหงส์ที่เดิมมี 2 ชิ้น เพิ่มอีกชิ้นหนึ่งจนครบสมบูรณ์ โดยชิ้นส่วนที่พบได้ถูกนำมาจัดแสดงภายในอาคารสำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพมาจนถึงปัจจุบัน มิได้ถูกนำไปรวมกับ 2 ชิ้นที่พบก่อนหน้า ซึ่งต่อมาได้มีการจำลองทับหลังทั้งสองแผ่นด้วยปูนซีเมนต์มาตั้งแสดง รวมกับชิ้นส่วนหินทรายประกอบ/ประดับปราสาทอื่น ๆ ทางทิศใต้ของปรางค์ศรีเทพ
------------------------------
***  ถึงเวลานี้ ทับหลังที่เป็นหินทรายแกะสลักของจริงจากปราสาทเมืองโบราณศรีเทพทั้งสองแผ่นและเสาประดับกรอบประตูที่ถูกเคลื่อนย้ายออกไปเมื่อนานมาแล้ว ควรได้กลับคืนสู่ท้องถิ่น มาตั้งจัดแสดงที่หน้าตัวปราสาทให้เห็นถึงความงดงามอย่างสมบูรณ์ในอดีตเมื่อได้มาท่องเที่ยวเรียนรู้ โดยสลับของจำลองที่มีอยู่แล้ว กลับไปจัดแสดงแทนในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้งที่พระนครศรีอยุธยาและสุโขทัย ....ดีกว่าไหมครับ ? 
เครดิต :FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy

วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2564

เจดีย์ 16 เหลี่ยม

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“มหาสถูปแห่งศรีสุพรรณภูมิ” พระเจดีย์ 16 เหลี่ยม เพียงองค์เดียวในประเทศไทย ที่วัดสนามชัย สุพรรณบุรี

“อาจารย์บุญครอง คันธฐากูร” ปราชญ์เมืองสุพรรณ ได้เคยเล่าเรื่องราวที่ถ่ายทอดมาจากความทรงจำของผู้คนรอบวัดสนามชัย/วัดสนามไชย ในอดีต ก่อนที่พระเจดีย์ใหญ่จะเริ่มพังลงมาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2467 สรุปความได้ว่า
.
“...วัดสนามชัย อาจมีชื่อนามเก่าเรียกขานกันว่า “สระน้ำชัย” แต่เดิมนั้นอยู่ตำบลโพธิ์หลวง อำเภอท่าพี่เลี้ยง ต่อมาเปลี่ยนเป็นตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง ปัจจุบันแยกตำบลพิหารแดง ตั้งเป็นตำบลสนามชัย จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระเจดีย์แปลกกว่าเจดีย์โดยทั่วไป แทนจะเป็นเจดีย์ตัน กลับเป็นเจดีย์กลวง ตรงกลางเป็นห้องสี่เหลี่ยม เคยพบอัฐิธาตุป่นปนอยู่กับเถ้าถ่านบรรจุอยู่จำนวนมาก....
.
.....ชาวบ้านเล่าว่า แต่ก่อนนั้นเจดีย์สนามไชยสูงใหญ่มองเห็นได้แต่ไกล มีรูปทรงคล้ายโกศ...นายถวิล อายุวัฒน์ เล่าว่า "น่าจะสูงเกิน  ต้นตาล 2 - 3 ต้น" ส่วนครูโปร่ง พลายบุญ เล่าว่า เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ สูงประมาณ 70- 80 เมตร ยอดเป็นปล้องไฉน มีหยาดน้ำค้าง.....ส่วนบนมีเค้าลวดลายปูนปั้น บางท่านว่าลายที่เหลือเป็นพู่ห้อย ดูว่าเป็นเจดีย์สมัยอยุธยา ตอนกลางเรือนเป็นซุ้ม 8 เหลี่ยม หรือ 8 ทิศ.....
.
.....โดยรอบองค์เจดีย์มีการปูพื้นด้วยอิฐอย่างเป็นระเบียบ เป็นลานประทักษิณ กว้าง 48 เมตร ยาว 62 เมตร ส่วนล่างเป็นฐานเจดีย์ 16 เหลี่ยม เส้นผ่าศูนย์กลาง 23 เมตร รอบเจดีย์องค์ใหญ่มีกำแพงแก้วและซุ้มประตู 4 ทิศ มีซากพระปูนปั้นสมัยอยุธยา ทั้ง 4 ทิศ มีเจดีย์บริวารเรียงรายด้านทิศเหนือ/ใต้ อีกประมาณด้านละ 7 องค์  ด้านตะวันตก 4 องค์ แต่ยอดพังลงมาหมดแล้ว....ซากโบสถ์ทางตะวันออก ยังเห็นผนัง มีซากพระพุทธรูปหินทรายจำนวนหนึ่ง มีใบเสมาหินสีแดง (ขาสิงห์) ปรากฏอยู่ ใกล้เคียงกันมีสระน้ำขนาดใหญ่  2 แห่ง....
.
....เคยมีการขุดหาของมีค่าภายในกรุมาก่อนปี พ.ศ. 2500 แล้ว เคยเจอพระกำแพงศอกและพระเครื่องแบบเดียวกับที่วัดมหาธาตุจำนวนมาก....”
.
....ก่อนปี พ.ศ. 2504  มีการขุดสำรวจภายในเจดีย์ที่พังทลาย (ก่อนบูรณะเหลือซากสูงถึงบัวรัดเกล้าของเรือนชั้น 2 ด้านทิศใต้ เพียงประมาณ 18 เมตร) พบอัฐิกระดูกป่นและเถ้าเผาไฟ.... ปี พ.ศ. 2505 มีการเจาะช่องที่ฐานล่างทำเป็นอุโมงค์ทางเดินเข้าไปห้องกรุตรงกลางเพื่อให้คณะของผู้นำรัฐบาลทหารในยุคนั้นเข้าไปข้างในได้โดยสะดวก.... ” 
.
-------------------------
*** การขุดค้นศึกษาทางโบราณวิทยาระหว่างปี พ.ศ. 2511 2515 2528 พ.ศ. 2547–2549 และ พ.ศ. 2549-2551 ได้แสดงให้เห็นว่า มีความตั้งใจจะก่อพระเจดีย์ประธานวัดสนามไชยด้วยแผนผัง 16 เหลี่ยม มาตั้งแต่แรกสร้าง ซึ่งต่อมาได้มีการบูรณะและก่อสร้างอาคารประกอบเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 2 ครั้งครับ
.
----------------------------------
*** เจดีย์วัดสนามชัย จึงไม่ได้มีอายุก่อสร้างขึ้นไปถึงสมัยปลายทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 (หรือก่อนหน้า) และไม่ควรเกี่ยวข้องกับตำนานพระเจ้ากาแต มอญน้อยในพงศาวดารเหนือ ที่เล่าว่าสร้างวัดสนามชัยในปี พ.ศ. 1706 ที่นำมาครอบทับใช้อธิบายกันอยู่ในปัจจุบันครับ
.
-------------------------
*** จากภาพถ่ายเก่า (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง) ก่อนบูรณะครั้งแรกในปี พ.ศ. 2504 ได้แสดงให้เห็นว่า การพังทลายลงมาหลายครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2467 นั้น ได้ทำให้เจดีย์ที่มีความสูงใหญ่ในยุครุ่งเรือง คงเหลือเพียงเนินกองอิฐและดินทับถมขนาดใหญ่ มีผนังเรือนธาตุที่เหลือเสาอิง/บัวหัวเสา ของมุมของเรือนธาตุชั้นแรก 4 มุม (ปัจจุบันเหลือเสา 3 มุม) ส่วนผนังของเรือนธาตุแสดงร่องรอยก่ออิฐของซุ้มจระนำมีหน้าบันโค้งหน้านาง 8 ช่อง สลับกับผนังเรียบ ในรูปแบบของเรือนธาตุทรงปราสาท  
.
ลวดลายปูนปั้นที่เหลืออยู่บนบัวหัวเสาบริเวณมุมของเรือนชั้นที่ 2 ที่เหลืออยู่เพียง 3 เสา แสดงชั้นลวดบัวของหัวเสาที่ยังต่อเนื่องขึ้นไปยังแถบลวดบัวลูกแก้วชั้นบน  ผนังเสาเป็นมุมหักเหลี่ยมล้อไปตามมุมเรือนธาตุ ชั้นบนเป็นบังหงาย/บัวลูกแก้ว ไม่มีปูนปั้นเหลืออยู่ ลงมาเป็นร่องท้องไม้ ผนังร่องปั้นเป็นกรอบช่องกระจกสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ช่อง ล้อมรอบด้วยปูนลายดอกจอกเป็นระยะ ถัดมาเป็นหน้ากระดานยื่น ปั้นลายดอกจอกกลมและดอกสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด 4 กลับ สลับกันต่อเนื่อง (ลายดอกไม้ต่อเนื่อง) ถัดลงมาเป็นแถบประดับดอกไม้กลมนูน (บัวกุมุท) เป็นระยะ ด้านล่างสุดเป็นเฟื่องอุบะมาลัยที่มีลวดลายแตกต่างกัน  โดยเสาแรกมีลายดอกจอกซ้อนเป็นประธาน แตกใบขด/กระหนกตัวหัวกลม แบบม้วนเข้าด้านในมีครีบหยักเกาะหลัง ด้านล่างทิ้งเป็นมาลัยดอกไม้กลมจบด้วยใบเทศ ล้อมรอบด้วยลายบัวรวนโค้งเป็นพวงมาลัย 2 โค้งตามมุมหักครับ 
.
ลวดลายของอีกบัวหัวเสาหนึ่งยังคงใช้ดอกจอกซ้อนดอก ทิ้งมาลัยดอกไม้กลมลงด้านล่าง จบลายด้วยใบเทศ สลับกับดอกไม้ทรงข้าวหลามตัด ในกรอบมาลัยวงโค้ง 2 วง ส่วนอีกเสาหนึ่งที่เหลืออยู่ทางทิศใต้ ทำเส้นลวดเป็นกรอบกระจังหยักหัวกลมวางกลับหัว คล้ายลาย “หัวหยู่อี้” ในอิทธิพลการวางเส้นลวดกรอบแบบจีน เรียงกัน 3 ชุด ภายในกรอบตรงกลางทิ้งอุบะเป็นพวงระหว่างหัวกลม มีดอกจอกซ้อนเป็นประธาน แตกลายขด/เหงาหัวกลม/ตัวโค้งงอออกด้านข้าง มีครีบเกาะหลัง จบด้วยใบเทศแหลม
.
*** ลวดลายปูนปั้นประดับที่เหลืออยู่บริเวณหัวเสาของเรือนธาตุชั้นสองนี้ ล้วนแต่แสดงงานศิลปะแบบรัฐสุพรรณภูมิ ที่ได้รับอิทธิพลศิลปะจีนมาตั้งแต่ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 เช่นเดียวกับลวดลายแกะสลักที่พบบนใบเสมาหินทราย ที่พบจำนวนมากในเขตภาคกลางฝั่งตะวันตกหรือในรัฐสุพรรณภูมิครับ
.
-------------------
*** จากหลักฐานคำบอกเล่าของผู้คนที่เคยพบเห็นก่อนที่เจดีย์จะพังทลายลงมา ว่ามีความสูงถึงประมาณ 70 เมตร มีรูปทรงโกศ มีปล้องไฉน มองเห็นได้แต่ไกล ประกอบกับส่วนฐานที่ยังคงเหลืออยู่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 23 เมตร รูปทรงสถาปัตยกรรมในยุคสุพรรณภูมิที่นิยมสร้างพระเจดีย์ทรงสูงชะลูด และการก่ออิฐผนังข้างโดยรอบที่มีความหนาเป็นพิเศษเพื่อการรองรับน้ำหนักด้านบน เปรียบเทียบกับเจดีย์ในยุคร่วมสมัยรัฐสุพรรณภูมิ อย่างเจดีย์มหาธาตุเมืองสรรค์บุรี ที่มีฐานสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 17*17 เมตร เจดีย์วัดพระแก้วเมืองสรรค์ ฐานสี่เหลี่ยม 10*10 เมตร เจดีย์สูง 37 เมตร รากฐานเจดีย์สี่เหลี่ยมบริวารของวัดมหาธาตุสุพรรณ 11*11 เมตร ฐานปรางค์วัดมหาธาตุสุพรรณ 18 เมตร และฐานเจดีย์ 8 เหลี่ยมขนาดใหญ่ของวัดใหญ่ชัยมงคล (ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมืองอยุทธยา) เฉพาะส่วนฐาน 4 เหลี่ยมที่สร้างต่อเติมในยุคหลังมีขนาด  27*27 เมตร เจดีย์สูงถึง 62 เมตร
.
*** เจดีย์ประธานวัดสนามไชย จึงควรมีความสูงประมาณ ไม่เกิน 55 เมตร เคยเป็น “มหาสถูปเจดีย์” ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในยุครัฐสุพรรณภูมิ  และเป็นพระมหาเจดีย์จากยุคโบราณเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีแผนผัง 16 เหลี่ยมครับ 
.
ด้วยขนาดที่ใหญ่โตของพระมหาเจดีย์ที่สอดรับกับที่ตั้งของวัดทางตะวันออกของแม่น้ำท่าจีน ยังคงปรากฏร่องรอยเส้นทางคลองน้ำเชื่อมต่อไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยาทางเหนือของเกาะเมืองอยุทธยา มหาสถูปแห่งวัดสนามไชยนี้ จึงควรถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็น “พระมหาธาตุ” ศูนย์กลางสำคัญของรัฐสุพรรณภูมิในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 (ก่อนพระเจดีย์ทรงชะลูดสูงแบบสุพรรณภูมิ ประธานวัดมหาธาตุสุพรรณบุรี ที่สร้างขึ้นครั้งแรกประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ช่วงสมัยของขุนหลวงพะงั่ว) สอดรับกับกับหลักฐานของชื่อนาม “ศรีสุพรรณภูมิ” (Śrī Supaṇṇabhūmi) ที่พบในจารึกลานทองวัดส่องคบ 1 อายุประมาณช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาที่พระอินทราชา (นครินทราธิราช) กษัตริย์แห่งรัฐสุพรรณภูมิ ที่มีอิทธิพลเหนือเกาะเมืองอยุทธยา ได้มาบูรณปฏิสังขรณ์ รวมทั้งมีการย้ายอุโบสถจากตะวันตกมาผูกพันธสีมาใหม่ทางตะวันออก และสร้างระเบียงคดล้อมรอบในแผนผังเดียวกับที่วัดมรกต
.
--------------------------
*** รูปแบบสันนิษฐาน/มโนวิทยาจากหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ของพระมหาสถูปเจดีย์แห่งศรีสุพรรณภูมิ เริ่มต้นจากฐานเขียง 16 เหลี่ยม 3 ชั้น ฐานล่างเป็นฐานปัทม์ 16 เหลี่ยม มีคาดเส้นบัวลูกฟักคู่ (รัดท้องไม้) ที่นิยมในช่วงนั้น รองรับเรือนธาตุทรงปราสาท 16 เหลี่ยม มีซุ้มหน้าบันโค้งยื่นล้ำออกมาไม่มากนัก จำนวน 8 ผนัง สลับกับผนังเรียบว่าง (แบบการสลับผนังของเรือนธาตุชันสองของวัดพระแก้วเมืองสรรค์) ด้านบนเป็นบัวหัวเสาและรัดเกล้า (ที่ยังเหลืออยู่ 3 เสาในปัจจุบัน) เหนือขึ้นไปไม่มีหลักฐาน จึงมโน/จินตนาการต่อด้วยชั้นฐานปัทม์ 8 เหลี่ยม มีซุ้มจระนำเตี้ย ๆ ตามตำแหน่งล้อกับซุ้มของเรือนธาตุชั้นล่าง (ตามแบบการซ้อนชั้นของเจดีย์ทรงปราสาท 8 เหลี่ยม ที่วัดพระยาแพรก ที่มีอายุร่วมสมัยกัน) ต่อด้วยเรือนธาตุแบบมีซุ้มจระนำ 8 เหลี่ยม (ตามคำบอกเล่า) ฐานปัทม์ 8 เหลี่ยม 2 ชั้น รองรับองค์ระฆังทรงลอมฟาง (แบบสุพรรณภูมิ จากอิทธิพลพุกาม/ล้านนา/หริภุญชัย) บัลลังก์ 8 เหลี่ยม  ปล้องไฉนเป็นวงมีสันแหลม (ฉัตรวลี) ไม่ชิดกัน ขึ้นไปถึงปลียอด (ตามรูปแบบเจดีย์ 8 เหลี่ยม ของรัฐสุพรรณภูมิ เช่นวัดพระรูป วัดมรกต เจดีย์บริวารวัดมหาธาตุสุพรรณบุรี และคำบอกเล่าเรื่องยอดเจดีย์ที่เคยมีอยู่ในอดีต) รวมความสูงประมาณ 50-55 เมตร ครับ
เครดิต :FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ปรางค์ฤๅษี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ปรางค์ฤๅษี” ปราสาทวิมานที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองโบราณศรีเทพ  

“ปรางค์ฤๅษี /ปรางค์นอก/ปรางค์หลวงพ่อฉาว” ล้วนเป็นชื่อนามที่ตั้งขึ้นใหม่ในยุคปัจจุบัน ไม่ปรากฏชื่อนามในจารึก ร่วมสมัยใด ๆ  โดยครั้งหลังในปี พ.ศ. 2531 ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ปรางค์ฤๅษี”  (Prang Ruesi) โดยมีเหตุผลที่มาของชื่อนามว่า เป็นเทวาลัยที่ตั้งอยู่ในเขตป่ารกชัฏนอกเมือง เหมาะสมกับการบำเพ็ญตบะของพวกดาบสฤๅษี ประกอบกับนิทานพื้นบ้านเมืองศรีเทพเรื่อง “ฤๅษีตาวัว-ฤๅษีตา กับบ่อน้ำเป็น/บ่อน้ำตาย”.
.
ปราสาทปรางค์ฤๅษี ตั้งอยู่บ้านนาน้ำโครม ตําบลนาสนุ่น อําเภอศรีเทพ ทางทิศเหนือ ระยะห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตรจากคูน้ำคันดินกำแพงเมืองโบราณศรีเทพและทางตะวันออกของเขาคลังนอก มีปราสาททรงวิมาน 2 หลัง โดยปรางค์ฤๅษีอยู่ทางทิศเหนือยังคงสภาพชั้นวิมานอยู่ เป็นปราสาทก่ออิฐบนฐานเขียงศิลาแลงแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวประมาณ 7.50 เมตร ตัวเรือนธาตุปราสาทผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 4.6*4.6 เมตร ยกมุขซุ้มประตูซ้อน 2 ระดับ หน้าบันเจาะช่องเป็นซุ้มโค้งติดผนัง  บัวเชิงเรือนธาตุเป็นชุดบัวปัทม์ 3 ชั้น ในระดับเดียวกัน บัวหัวเสาต่อเนื่องทั้งซุ้มประตูและชั้นซ้อน เหนือลวดบัวรัดเกล้า ซ้อนเรือนวิมานเรือนลดหลั่นขนาดขึ้นไป อีก 4 ชั้น (คงเหลือเพียง 1 ชั้นในปัจจุบัน) ยอดปราสาทเป็นหม้อน้ำอมลกะ (Āmālaka) ทรงครึ่งวงกลม (ขุดค้นได้ตรงบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของตัวปราสาท)  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงศิลาแลง ขนาด 33 * 24 เมตรล้อมรอบ ด้านหน้าคงเหลือฐานเขียงศิลาแลงของโคปุระ อาคารบรรณาลัย/พลับพลาพิธีกรรม ชาลาทางเดินยาวชั้นนอกไปยังสระน้ำด้านหน้า  และชาลาทางเดินด้านในปูพื้นด้วยอิฐมาสุดที่ฐานของพลับพลาเครื่องไม้ด้านหน้าปราสาท ติดกับฐานปราสาททางทิศเหนือ ยังมีฐานศิลาแลงเตี้ย ๆ ขนาดเล็ก ที่อาจเกี่ยวเนื่องกับการประกอบยัญกรรมบูชาไฟ “โหมกูณฑ์-โหมกุณฑ์” ครับ
.
โบราณวัตถุที่พบจากการขุดแต่งบูรณะในปี พ.ศ. 2551  พบฐานโยนีสนะบริเวณด้านข้างองค์ปรางค์ประธานทางทิศเหนือ ศิวลึงค์และชิ้นส่วนรูปโคนนทิบริเวณฐานอาคารโคปุระด้านหน้า เป็นหลักฐานที่แสดงว่า ปราสาทปรางค์ฤๅษีเกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อในลัทธิฮินดู โดยเฉพาะไศวะนิกายอย่างชัดเจน
.
*** ถึงแม้ว่า จะมาการค้นพบจารึกบนแผ่นทับหลังจากปราสาทอิฐ (ที่พังทลายหมดแล้ว/ก่อจำลองขึ้นไปใหม่) ทางทิศใต้ของปราสาทปรางค์ฤๅษี จารด้วยอักษรเขมรโบราณ ภาษาเขมรและสันสกฤต  มีข้อความที่ค่อนข้างลบเลือน 19 บรรทัด คงแปลได้เพียงตำแหน่งและชื่อนาม “...เสตงอัญศรี วรปติ...”และ “กมรเตง” โดยกำหนดอายุอยู่ที่กลางพุทธศตวรรษที่ 16 แต่กระนั้น การจารอักษรบนแผ่นทับหลังฝั่งด้านในห้องครรภคฤหะ  เป็นการจารลงบนทับหลังที่ยังมิได้มีการแกะสลักลวดลายใด ๆ ไม่ได้จารบนหินที่ตั้งใจทำเป็นแผ่นจารึกหรือจารข้อความบนกรอบประตูตามขนบแบบแผนนิยม แสดงว่า ปราสาทหลังทางทิศใต้เป็นปราสาทที่ถูกสร้างทิ้งค้างคาไว้มาจากยุคก่อนหน้า แล้วจึงค่อยมาจารข้อความขึ้นในภายหลังเท่านั้น มิได้อยู่ร่วมสมัยกันกับการก่อสร้างตัวปราสาทแต่อย่างใดครับ
.
อีกทั้งหลักฐานรูปแบบสถาปัตยกรรมของตัวปราสาทปรางค์ฤๅษี ทั้งหน้ากระดานล่างที่ยังไม่ยื่นล้ำออกมาจากชุดลวดบัวเชิงมากนัก ชุดบัวเชิงแบบพันธะเวที/ อธิษฺฐานะซ้อน 3 ชั้น ซุ้มหน้าบันแบบเจาะช่องเว้าโค้งเหนือประตูผนังบนไว้สลักรวยนาค ยังไม่นิยมเครื่องปักประดับมุมวิมาน ซึ่งทั้งหมดยังเป็นสถาปัตยกรรมนิยมของปราสาทวิมานแบบก่ออิฐในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15  อย่างที่พบจากปรางค์แขก ปราสาทตำหนักไทร/ทามจาน ปราสาทโดนตวล ปราสาทกระวาน ปราสาทพระนาคบวช ฯ ประกอบกับร่องรอยโบราณวัตถุอย่างทับหลัง ที่มีการสลักโกลนในแบบศิลปะ “แปรรูป” (Pre Rup Style) ที่พบจากเมืองศรีเทพ (จัดแสดงที่ศูนย์ ฯ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ) ล้วนแต่แสดงให้เห็นว่า ปราสาทปรางค์ฤๅษีควรจะถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมัน (Rājendravarman)  ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีหลักฐานการขยายอิทธิพลของอาณาจักรกัมพุชะเทศะขึ้นมาทางเหนืออย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก 
.
*** ปราสาทปรางค์ฤๅษีจึงเป็นร่องรอยหลักฐานการเข้ามามีอิทธิพลของอาณาจักรกัมพุชะเทศะในช่วงแรกที่เมืองโบราณศรีเทพ ต่อเนื่องกับยุคสมัยรัฐศรีจานาศะ (Śrī Cānāśa /Chanasa) ที่กำลังถูกลดบทบาทจนหายไปครับ   
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ตัวมกร

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ถาลาบริวัตร” ศิลปะเริ่มแรกของอนุราชวงศ์ปัลลวะ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ราชวงศ์ปัลลวะ” (Pallava Dynasty) ผู้ปกครองแคว้นอานธระประเทศ (Andhra Pradesh) และทมิฬนาฑู (Tamil Nadu) ในเขตอินเดียใต้ฝั่งตะวันออก เริ่มปรากฏขึ้นอิทธิพลขึ้นครั้งแรกในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 9 เป็นกลุ่มอำนาจแห่งกาญจีปุรัม (Kanchipuram) ที่กำลังเติยใหญ่ขึ้นในท่ามกลางการช่วงชิงอำนาจของกลุ่มราชวงศ์ใหญ่ อย่าง “ราชวงศ์อิกษวากุ/นครนาคารชุนโกณฑะ” (Ikshvaku Dynasty) ที่กำลังเสื่อมถอย “ราชวงศ์จาลุกยะ” (Early Chalukya Dynasty) จากอินเดียตะวันตกที่ขยายอิทธิพลเข้ามา “ราชวงศ์ปาณฑยะ” (Pandya) คู่อริทางใต้สุดของคาบสมทรเดกข่าน ที่เข้ามาช่วงชิงแดนทิมฬนาฑู และราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) จากอินเดียเหนือ ที่ได้แผ่อำนาจเข้ามายึดครองแคว้นอานธระประเทศในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10
.
*** ซึ่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 9 – 10 เป็นช่วงเวลาแรก ๆ ของ กระบวนการ “ภารตะภิวัฒน์/การกลายเป็นวัฒนธรรมอินเดีย” (Indianization) ขึ้นในดินแดนต่าง ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “สุวรรณทวีป-สุวรรณภูมิ (Suvaṇṇabhūmi- Suvarṇadvīpa) ทั้ง “คาบสมุทรมาลายู” (Malay Peninsula) ไปจรดชวาและดินแดนปากแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการเข้ามาของคติความเชื่อและศิลปะในลัทธิภาควัต (Bhāgavata) ไวษณพนิกาย (Vaishnavism –Vishnuism) ที่นิยมในจักรวรรดิคุปตะ พุทธศาสนาทั้งฝ่ายสถวีรวาท/เถรวาท (Sthāvirīya) และมหายาน (Mahāyāna) ในงานศิลปะแบบ “หลังอมราวดี” (Post Amaravati) (อมราวดี/คุปตะ/ลังกา) จากท่าเรือเรือในแค้วนอานธระประเทศ และปากแม่น้ำคงคาในเขตแคว้นกลิงคะครับ  
.
*** ส่วน “ลัทธิฮินดู/ไศวะนิกาย” (Hinduism/Shavisim) จากอิทธิพลอินเดียเหนือและตะวันตก นั้น ดูเหมือนว่าจะเพิ่งได้รับความนิยมในสมัยราชสำนักราชวงศ์ปัลลวะที่เริ่มเข้าครอบครองแคว้นอานธระประเทศ  และอินเดียใต้ ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 11 และได้เริ่มส่งกองเรือข้ามมหาสมุทร นำโดยกลุ่มเชื้อพระวงศ์ในอนุราชวงศ์ นักบวช พ่อค้าวาณิช ช่างฝีมือ เกษตรกร ทหารและกลุ่มผู้แสวงโชค ออกสำรวจดินแดนใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังไม่มีการครอบครองเป็นครั้งแรก 
ในยุคแรกของการสำรวจดินแดนใหม่ กลุ่มอนุวงศ์ปัลลวะกลุ่มแรกได้เดินทางเลาะชายฝั่งทะเลตะวันออก (จังหวัดจันทบุรีไปถึงจังหวัดกัมปอดในปัจจุบัน) สำรวจเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ ส่วนกลุ่มอนุวงศ์ปัลลวะกลุ่มใหญ่ ที่ติดตามเข้ามา เลือกเดินทางอ้อมแหลมดัดมุย (จังหวัดก่าเมา เวียนามในปัจจุบัน) เลาะมาเข้าทางปากแม่น้ำโขง ล่องตามแม่น้ำใหญ่เข้ามาในภูมิภาคแผ่นดิน ตามเส้นทางเดิมที่ “ราชวงศ์สาตวาหนะ” (Satavahana Dynasty) อานธระ/อิกษวากุและคุปตะ และกลุ่มชาวอินเดียทางตะวันตกเคยใช้มาแล้วในช่วงก่อนหน้าครับ 
.
ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 11 กลุ่มสำรวจกลุ่มใหญ่ได้เริ่มตั้งชุมชนเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกที่ “สัมภูปุระ” (Sambhupura) ตั้งแต่สมัยของพระเจ้าศรีสารวะเภามะ (Śrī Sārvabhauma) และขยายขอบเขตมายัง “อีศานปุระ” (Īśānapura) หรือ “สมโปร์ไพรกุก” (Sambor Prei Kuk) โดยมีเจ้าชายจิตรเสนะ (Prince Śrī Citrasena) บุตรของ “ศรีวีรวรมัน” (Śrī Vīra-varman) เป็นผู้นำในการสำรวจเพื่อการขยายดินแดน/อิทธิพลของอนุวงศ์ชาวปัลลวะ ให้ลึกเข้าไปในแผ่นดินตามเส้นทางแม่น้ำโขงและต้นน้ำสาขา
-----------------------  
*** ศิลปะอันโดดเด่นในยุคเริ่มแรกของอนุวงศ์ปัลลวะในลุ่มน้ำโขง/ชายทะเลตะวันออก คือการปรากฏรูป “นักรบนั่งอยู่เหนือตัว ม ก ร (Makara) คู่ อยู่ที่เหนือเสาปลายของซุ้ม หันหน้าเข้าหากัน หางเป็นกระหนกม้วนยาว อ้าปากเห็นเขี้ยวและฟันคายแถบคาดประดับลายลูกปัดอัญมณี (ในความหมายของการสำรอกน้ำศักดิ์สิทธิ์) เข้าหากันแบบสะพาน/วงโค้ง โดยมีพุ่มช่อดอกไม้กลม/วงรีทิ้งอุบะตรงกลาง” เป็นรูปมงคลเหนือซุ้มบัญชร/ซุ้มประตู ที่รับอิทธิพลทางศิลปะมาจากราชวงศ์คุปตะ/ราชวงศ์วากาฏกะ/จาลุกยะ (เช่นที่พบจากหมู่ถ้ำอชันต้าและเอลโรล่า เมืองออรังกาบัด รัฐมหาราษฏระ) ดังปรากฏภาพสลักหินในงานศิลปะราชวงศ์ปัลลวะในอินเดียใต้อย่างที่ “เทวาลัยไกรลาสนาถ” (Kailasanathar temple) เมืองกาญจีปุรัม (Kanchipuram)  “มหิงษาสุรมรรทิณี มณฑาพรัม” (mahishasuramardini mandapam) ในกลุ่มเทวาลัยถ้ำเจาะหิน และ “มณฑปเทราปตีรถะ” (Draupadi Ratha) ใน  “กลุ่มเทวาลัยปัญจปาณฑพรถะ” (Pancha Rathas complex) เมืองมามัลละปุรัม (Mahabalipuram) รัฐทมิฬนาฑู อดีตเมืองท่าสำคัญของราชวงศ์ปัลลวะครับ
.
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศิลปะมกรคายแถบวงโค้งเหนือซุ้มประตูแบบปัลลวะ ได้ถูกนำมาแกะสลักหินเป็นรูปมงคลไว้เหนือซุ้มประตู ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของหินทับหลัง ถูกกำหนดชื่อเรียกศิลปะว่า “ถาลาบริวัตร/ธาราบริวัต ”(Thala Boriwat Style) เริ่มต้นประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 11 ถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 โดยในยุคแรกนิยมใส่รูป “ครุฑยุคนาค” (Khrut yut nak - Garuda holding Nāga) ตามคติ“ความดี (ครุฑ) เหนือความชั่ว (นาค)” ในปกรณัมพื้นถิ่นของอินเดีย รูปสิงห์ หน้ากาล หรือสูริยเทพ ไว้ในช่อดอกไม้กลมตรงกลาง ยังไม่ปรากฏรูปเทพเจ้าอย่างพระวิษณุ พระศิวะหรือพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ (ทิศตะวันออก) ต่อมารูปแถบโค้งได้ยืดออกด้านข้างตามขนาดกรอบประตู เพิ่มช่อดอกไม้คั่นแถบโค้ง ที่พัฒนาขึ้นในท้องถิ่น (ศิลปะสมโบร์ไพรกุก) จึงเริ่มปรากฏรูปของเหล่าเทพเจ้าเข้ามาอยู่ในวงช่อดอกไม้ 
.
--------------------- 
*** รูปศิลปะ “ถาลาบริวัตร” ของอนุราชวงศ์ปัลลวะนี้ จึงมักพบในพื้นที่ที่นักเดินทางสำรวจจากแดนอินเดียใต้ ได้เข้ามาบุกเบิกและยึดครองดินแดนในช่วงแรก ๆ (ก่อนการเป็นเขมร) เริ่มจากชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศไทยและกัมพูชา เลาะเข้ามาทางเส้นทางปากแม่น้ำโขง ขึ้นไปยังกำปงจาม สตรึงเตรง ข้ามสี่พันดอน วัดพู ขึ้นไปยังปากแม่น้ำมูล และบางส่วนอาจพบเห็นลึกเข้าไปเขตอีสานใต้และลาวครับ 
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2564

เจ้าชายจิตรเสน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ร่องรอยเจ้าชายจิตรเสน” ที่เมืองโบราณริมแม่น้ำโขง หน้าปราสาทวัดพู
ใน “La Mission archéologique française et le Vat Phu : recherches sur un site exceptionnel du Laos /The French archaeological mission and Vat Phou :
Research on an exceptional historic site in Laos” ปี พ.ศ. 2551 ได้กล่าวถึงการศึกษาเมืองโบราณวัดหลวงเก่าริมแม่น้ำโขง หน้าเขาภูควายที่ตั้งของปราสาทหินวัดพู สรุปความว่า
.
*** ...ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ได้เริ่มมีการสำรวจพื้นที่และขุดหลุมทดสอบโดยรอบเมืองโบราณที่ไม่มีชื่อปรากฏในงานศึกษาทางจารึก (Epigraphic) เป็นครั้งแรก เมืองโบราณนี้อาจมีชื่อว่า “ลึงคปุระ” (Liṅgapura) หรือ “กุรุเกษตร”(Kurukṣetra) ตามชื่อนามที่พบจากจารึก ตั้งอยู่ตรงสบน้ำของลำห้วยสระหัว ที่ไหลลงมาจากภูเขาทางตะวันตก ลงมาปากน้ำที่บรรจบกับแม่น้ำโขง มีคูขอบน้ำชั้นนอกกว้างยาวประมาณ  2,300 x 1,800 ม. ล้อมรอบทางทิศตะวันตกและทิศใต้ ทางทิศเหนือเป็นลำห้วยสระหัว (Houay Sa Houa) ทางตะวันออกติดกับแม่น้ำโขงได้ถูกกัดเซาะเข้ามาถึง 200 เมตร จนตลิ่งกลายเป็นสันทรายสูง ซึ่งยังได้เคยพบชิ้นส่วนของสิ่งก่อสร้างทั้ง อิฐ ศิลาแลง หินทราย แท่นหินและประติมากรรม ที่ก้นแม่น้ำริมตลิ่ง...
.
....เมืองถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยคันดิน เมืองส่วนทางตะวันออกติดกับแม่น้ำโขง (อาจเป็นเมืองเริ่มแรกที่เก่าแก่ที่สุด ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11) คงเหลือเพียงกรอบคันดินเฉพาะแนวนอนทางใต้ความยาว 665 เมตร (และแนวตั้งทางตะวันตก 782 เมตร) ส่วนทางเหนือติดกับลำห้วยสระหัว เมืองกลางมีร่องรอยแนวกำแพงอิฐบนคันดินที่ถูกไถทำลายจากการเกษตรและการตั้งบ้านเรือนของชุมชนเรียกกันว่า “กำแพงจาม”
.
ร่องรอยสิ่งก่อสร้างฝีมือมนุษย์จำนวนมากกว่า 30 แห่ง ในเมืองโบราณวัดหลวงเก่า ถูกปกคุลมด้วยป่ารกชัฏ ปรากฏชัดเจนจากภาพถ่ายทางอากาศ (Aerial photographs) มี 10 แห่งเป็นบ่อน้ำและอ่างเก็บน้ำ และมี 2 แห่งที่เป็นโบราณสถานที่มีคูน้ำล้อมรอบ
.
....การสำรวจบนผิวดินยังพบองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถาน ทั้งกรอบประตู (Door frames) อัฒจันทร์ (ธรณีประตู บันไดทางเข้าครึ่งพระจันทร์ Half-moon access stairs) เสาขนาดเล็ก คานเสา โดยเฉพาะแผ่นทับหลังที่พบจากทุ่งนาชิ้นหนึ่งทางเหนือใกล้กับห้วยสระหัว ที่แกะสลักอย่างสวยงาม ในงานศิลปะก่อนเมืองพระนคร (ถาลาบริวัตร Thala Boriwat Style ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12) ฐานรูปเคารพ เศษรูปปั้น หลักจารึก (Inscription steles) ที่มีอายุในช่วง พุทธศตวรรษที่ 11 - 13 ... 
.
...เมืองโบราณวัดหลวงเก่า ยังพบชิ้นส่วนแตกหักของเครื่องใช้ประจำวันอย่างภาชนะดินเผา แท่นบดยา ครกหิน ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่ก็ได้ถูกรบกวนจากการขยายตัวของชุมชนยุคใหม่ที่ขยายตัวขึ้นติดกับโบสถ์คาทอลิกทางเหนือของตัวเมือง อีกทั้งถนนสมัยใหม่ที่ตัดผ่านเมือง พื้นที่ราบถูกใช้ในการทำนา ซากกองอิฐถูกขุดค้นปล้นสะดมเพื่อค้นหาวิ่งของมีค่ามานานกว่าหลายปี... 
.
...จากการสำรวจร่องรอยบนพื้นผิว การขุดหลุมทดสอบขนาดเล็ก 2 แห่ง ร่วมกับการศึกษาวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ (Photogrammetric) ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ (GIS) ได้แสดงร่องรอยโบราณสถานก่ออิฐขนาดใหญ่ที่จมอยู่ใต้ดินตะกอน จำนวน 6 เนินในเมืองโบราณ (ดอนไผ่รุม,หนองพระปู่,โฟนธาตุ, ดอนปู่ตา,หนองเวียนและหนองม่วง) โดยเฉพาะที่ดอนปู่ตา ทางเหนือตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองใกล้กับห้วยสระหัว มีเนินดินขนาดใหญ่ รองลงมาคือเนินดินรูปวงกลมของหนองเวียนตรงกลางเมือง... 
.
...หลุมทดสอบบริเวณจุดบรรจบของห้วยสระหัวกับแม่น้ำโขง ที่เรียกว่า “ห้วยสระหัว 2”  (Houay Sa Houa 2)  นั้น มีร่องรอยโบราณวัตถุที่หนาแน่น มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากหลุมทดสอบยังพบก้อนอิฐก่อเป็นจำนวนมาก พื้นที่เต็มไปด้วยเศษซากและร่องรอยของอิฐและหินที่เป็นชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมและวัตถุทางความเชื่อ แท่นหินทรายสองแท่นมีจารึกของเจ้าชายศรีจิตรเสน (Prince Śrī Citrasena) หรือ พระเจ้ามเหนทรวรมัน (Mahendravarman) ที่มีอายุในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 12 ที่มีความสำคัญในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจากยุคสมัยฟู มาสู่เจนละและเขมรโบราณ (ปัจจุบันจารึกทั้งสองหลัก อยู่ในห้องคลังของพิพิธภัณฑ์วัดพู) ...
.
*** ...ในปี พ.ศ. 2536 จึงได้มีการเริ่มต้นโครงการขุดค้นทางโบราณวิทยาขึ้นที่เมืองโบราณวัดหลวงเก่า 
ที่ห้วยสระหัว 2  เป็นครั้งแรก บริเวณนี้เกี่ยวข้องกับจารึกเจ้าชายจิตรทั้งสองหลัก (K.1173 และ K.1174) ที่ถูกขนไปเก็บไว้ที่วัดหลวงเก่า ซึ่งการขุดค้นได้เผยให้เห็นว่าซากอาคารก่ออิฐขนาดใหญ่ความยาวกง่า 14.5 เมตร มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 และอาจถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 10...
.
...การขุดค้นที่ห้วยสระหัว 2 เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในระหว่างปี พ.ศ. 2538-2539  ครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นว่า มีศาสนสถานก่ออิฐสร้างซ้อนทับต่อเนื่องกันมาถึง 3 ยุคสมัย ทั้งยังตั้งอยู่บริเวณดอนปู่ตา ใกล้เคียงกับจุดที่มีการค้นพบฐานของ “จารึกศรีเทวานิกะ” (Śrī Devānīka Inscription K.365/ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดพู)... 
.
...เนินดินข้างดอนปู่ตาถูกขุดปล้นสะดม และถูกไถปรับหน้าดินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 จนเหลือความสูงเพียง 2.5 ม. ส่วนฐานรากของอาคารยังจมอยู่ใต้เนินดิน ซึ่งดูเหมือนว่าจะเกี่ยวข้องกับฐานรูปประติมากรรมวัวนนทิ ที่ถูกย้ายไปยังวัดหลวงเก่าอีกด้วย...
.
...ทางตะวันตกของสิ่งก่อสร้างชั้นแรกถูกซ้อนทับด้วยฐานของอาคารก่ออิฐแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ ประมาณ 14.5*14 เมตร มีผนังก่ออิฐสองชั้นหนาล้อมรอบพื้นที่ว่างตรงกลางขนาด 4.6 x 5.1 ม. ที่น่าจะเป็นห้องครรภคฤหะ หน้าด้านทิศตะวันออกก่อฐานเป็นมุขขนาด 3.5 x 7 ม. มีบันไดขึ้นลงและปูพื้นด้วยอิฐที่จัดเรียงอย่างไม่เป็นระเบียบบนกรวดอัดโดยรอบอาคาร...
.
...ในการขุดค้น ได้มีการพบหินทรายประกอบโครงสร้าง ทั้งคานรองรับที่มีลวดลายประดับ ส่วนบนของยอดปราสาทรูปดอกบัวตูม (หัวหอม) อัฒจันทร์/ธรณีประตู ฐานกรอบวงกบประตู หินทรายแผ่นเล็ก เศษหินทรายแผ่นบาง ๆ หลายชิ้น คล้ายรูปเขาสัตว์ (ใบไหม้แหลม) ที่อาจเป็นส่วนประดับที่ยื่นออกมาจากเรือนวิมานแบบปราสาทจามปา ชิ้นส่วนของรางโสมสูตร (Somasūtra) หรือท่อระบายน้ำ ชิ้นส่วนหินรูปตัว L ซึ่งอาจเป็นชิ้นส่วนยึดเข้ากับผนังก่ออิฐ และชิ้นส่วนแตกหักของแท่นรูปเคารพ รวมทั้งฐานที่อาจเป็นที่ตั้งของรูปประติมากรรมนนทิ...(ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดพู)
.
...ร่องรอยการก่อสร้างที่ซ้อนทับและปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ห้วยสระหัว 2 อาจได้แสดงว่า อาคารเหล่านี้มีอายุเก่าแก่จนถึงช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 11 สนับสนุนสมมติฐานของ ยอร์ช เซเดส์ George Coedès) ที่เชื่อว่า พระเจ้าศรีเทวานิกะในจารึกเป็นกษัตริย์มาจากชายฝั่งทะเลจามปา /ชวา เป็นผู้เริ่มก่อตั้งเมืองโบราณแห่งนี้เป็นครั้งแรกในชื่อนามของท่าน้ำ “มหาตีรถะ” (Mahātīrtha)  แห่ง “กุรุเกษตร” โดยนำความเชื่อเรื่อง “พระภัทเรศวรลึงค์/ศรีลึงคปาวตา”( Bhadreśvara liṅga/Śrī Lingaparvata) เข้ามาด้วย...  
.
---------------------------------
*** จารึกเจ้าชายจิตรเสน/พระเจ้ามเหนทรวรมัน 2 หลัก ทับหลังถาลาบริวัตร รูปประติมากรรมวัวนนทิ ฐานศิวลึงค์ อายุในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 12 ที่พบจากการขุดค้นในปี พ.ศ. 2538-2539 รวมทั้งจากการถูกเคลื่อนย้ายไปรวมไว้ที่วัดหลวงเก่าในอดีต มีความเกี่ยวเนื่องกับโบราณสถานก่ออิฐที่ห้วยสระหัว 2 ที่สร้างซ้อนทับไปบนซากอาคารก่ออิฐที่เก่าแก่กว่าอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งก็อาจเคยเป็นอาคารที่ตั้งของมหาตีรถะริมน้ำห้วยสระหัวและที่ปักตั้งจารึกศรีเทวานิกะ มาตั้งแต่ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 11 ก่อนจะมีการดัดแปลงใหม่ซ้อนทับ ภายหลังจากที่เจ้าชายจิตรเสน/มเหนทรวรมันเข้ามาครับ  
เครดิต FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2564

พระกาฬ ลพบุรี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระกาฬ” พระนารายณ์แห่งเมืองลพบุรี
ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22  มีการรื้อหินทรายและหินศิลาแลงกองทับถมกันจากการพังทลายที่กระจายตัวอยู่โดยรอบศาลสูง/ศาลพระกาฬ มาจัดเรียงเป็นฐานของวิหารด้านตะวันตก ทั้งยังมีการสร้างพระเจดีย์ย่อมุมขึ้นติดมุขด้านทิศใต้ และอาคารวิหารก่ออิฐทางด้านหน้ามุขทิศเหนือ รวมทั้งยังมีการสร้างอาคารวิหารขึ้นบนยอดของฐานศิลาแลงสูงใหญ่ 
.
วิหารบนยอดฐานศิลาแลงของศาลสูง อาจเคยเป็นที่ประดิษฐานรูปประติมากรรมพระนารายณ์ 4 กร เป็นประธานตามคติแบบพราหมณ์ฮินดูที่กำลังเป็นที่นิยมในราชสำนักยุคนั้น สอดรับกับพระนามของสมเด็จพระนารายณ์ ที่กลับเข้ามารื้อฟื้นนครลพบุรีขึ้นใหม่ครับ  

ราวสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ-พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้มีการสร้างวิหารแบบ “ตกท้องสำเภา” ขึ้นแทนอาคารหลังเดิมทางตะวันตก โดยก่อเป็นฐานยกสูง ทำบันไดขึ้นด้านหน้า อาจมีหน้าต่างและประตูมีกรอบซุ้มทรงปราสาทยอดแหลม 
.
*** จนในปี พ.ศ. 2421 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงเล่าถึงการเสด็จประพาสถึงสภาพของศาลพระกาฬ ในพระราชนิพนธ์ ระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา ไว้ว่า
.
“...ออกจากพระปรางค์สามยอดเดินไปสักสองสามเส้น ถึงศาลพระกาล ที่ศาลนั้นมีต้นไทรย้อย รากจดถึงดิน เป็นหลายราก ร่มชิดดี เขาทำแคร่ไว้สำหรับนั่งพัก ที่ศาลพระกาลนั้นเป็นเนินสูงขึ้นไปมาก มีบันใดหลายสิบขั้น ข้างบนเป็นศาลหรือจะว่าวิหารสามห้อง เห็นจะเป็นช่อฟ้า ใบระกา แต่บัดนี้เหลืออยู่เพียงแต่ผนัง ที่แท่นมีรูปพระนารายณ์สูงประมาณ 4 ศอก เป็นเทวรูปโบราณทำด้วยศิลา มีเทวรูปเล็ก ๆ เป็นพระอิศวรกับพระอุมาอีก 2 รูป ...ออกทางหลังศาลมีบันใดขึ้นไปบนเนินสูงอีกชั้นหนึ่ง มีหอเล็กอีกหอหนึ่ง มีแผ่นศิลาเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ มีรูปนารายณ์ประทมสินธุ์แผ่นหนึ่งวางเปะปะ ไม่ได้ตั้งเป็นที่...”
.
*** จากความในพระราชนิพนธ์ระยะประพาสมณฑลอยุธยา เป็นหลักฐานที่แสดงว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น รูปประติมากรรมพระนารายณ์ยังคงประดิษฐานอยู่ในวิหารสมัยอยุธยาบนยอดศาลสูง ที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนเป็น “พระกาฬ” ครับ   

ประมาณปี พ.ศ. 2465 ได้มีการย้ายรูปพระนารายณ์และรูปประติมากรรมอื่น ๆ บนยอดศาลสูง มารวมไว้ในอาคารทางตะวันตก/ศาลพระกาฬในปัจจุบัน ในความหมายของศาลเทพารักษ์
.
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2485 – 2487 รูปประติมากรรมพระนารายณ์บนวิหารศาลสูงคงได้รับผลกระทบจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร ด้วยเพราะตั้งอยู่ใกล้กับทางรถไฟอันเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญ มีเรื่องเล่ากันว่า 
.
“...ในคืนหนึ่งเป็นคืนที่ฝนตกหนัก พลันก็มีเสียงสัญญาณเตือนภัยทางอากาศดังขึ้น ชาวบ้านรีบดับไฟตะเกียงกัน เพื่อไม่ให้นักบินมองลงมาเห็น ชาวบ้านหลายคนวิ่งมาหลบกันที่หลุมหลบภัย/สถานีรถไฟลพบุรีในปัจจุบัน ในคืนนั้นเครื่องบินได้ทิ้งระเบิดลงมาตามทางรถไฟ มีแสงสว่างวาบและเสียงดังสนั่นเป็นที่น่าหวาดกลัว มีชาวบ้านหลายคนเห็นเงาทะมึนรูปร่างสูงใหญ่ยืนอยู่กลางสายฝน ใกล้ ๆ กับอาคารโรงเก็บฟืนของสถานีรถไฟ ซึ่งได้มีระเบิดลูกหนึ่งตกลงมามาบริเวณนั้นพอดี แต่ระเบิดด้าน ไม่ระเบิด พอตอนเช้าชาวบ้านต่างมามุงดูลูกระเบิดที่ด้าน จังหวะเดียวกันได้มีคนขึ้นบนศาลสูง เห็นรูปพระนารายณ์พระกรหักหายไป จึงเล่าลือกันว่า ท่านได้เอามือมาปัดลูกระเบิด ป้องกันคุ้มครองชาวบ้าน...” 
.
รูปประติมากรรมพระนารายณ์คงถูกแรงระเบิด จนพระกรซ้ายแตกหักเสียหาย ส่วนพระเศียรหลุดออกจากพรวรกายแต่ได้รับการบูรณะมาต่อพระศอเข้าใหม่ในช่วงระหว่างสงครามครับ 
.
*** คงด้วยเพราะรูปพระนารายณ์มีสีดำเพราะคราบราดำความชื้นและขาดการดูแลรักษา ประกอบกับเป็นช่วงเวลาวิกฤตของสงคราม จึงอาจเป็นจุดเริ่มต้นของคติความเชื่อเรื่อง “พระกาฬ” ที่คนโบราณมีความกลัวและหวาดหวั่นต่อความตาย (จากสงคราม) จึงพากันมากราบไหว้รูปเคารพสีดำเรียกว่าพระกาฬ (พระกาล/พระกาฬไชยศรี) เพื่อขอให้ปกป้องคุ้มครอง มิให้มาเอาชีวิตของตนไปก่อนเวลาอันควร     
.
ประมาณปี พ.ศ. 2495 จึงได้มีการสร้างศาลพระกาฬ/วิหารฝั่งตะวันตก ขึ้นใหม่แบบในปัจจุบันครับ
.
------------------------
*** เมื่อพิจารณารูปประติมากรรมพระกาฬ/พระนารายณ์ น่าจะเป็นงานศิลปะอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่มีความนิยมในงานศิลปะแบบฮินดู ส่วนพระเศียรขนาดและรูปศิลปะรับกับส่วนพระวรกาย สวมอุณหิส-ศิราภรณ์ เป็นเทริดมงกุฎ ตาบข้าวหลามตัดประดับที่หน้ากระบังสูง ยอดมวยผมที่หายไปอาจเป็นรัดเกล้าทรงกรวยใหญ่เป็นชั้น ๆ แบบกรัณฑมงกุฎ สวมกรอศอ พาหุรัดและกำไลข้อพระกร ต้นพระกรสลักแยกเป็นคู่ไม่ซ้อนกันทำให้พระพาหาดูกว้าง มีสายธุรำ/ยัชโญปวีท (Yajñopavīta) จากพระพาหาซ้ายย้อยลงมาถึงพระอุทร  
.
ส่วนพระวรกายใต้พระอุทรลงมา เมื่อพิจารณาจากภาพเก่าของ EFEO ดูเหมือนจะเป็นชิ้นส่วนเทวรูปอีกองค์หนึ่งที่ถูกนำมาต่อเข้ากันแล้วปั้นปูนแต่ง (ในช่วงสงครามโลก) ด้วยเพราะมีขนาดเล็กกว่าและไม่ปรากฏร่องรอยของสายธุรำต่อโค้งลงมา และจากภาพเก่าอีกภาพหนึ่งยังได้แสดงว่า พระหัตถ์ซ้ายบนที่ถือก้านยาวของปลายหอยสังข์ที่เห็นในปัจจุบัน ถูกสับเปลี่ยนมาจากพระหัตถ์ซ้ายบน ภายหลังรูปประติมากรรมได้รับความเสียหายจากแรงระเบิด จึงย้ายมาต่อไว้ที่ด้านขวา ส่วนพระกรซ้ายนั้นถูกปั้นขึ้นใหม่ทั้งหมดครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร 
EJeab  Academy
*** ขอขอบพระคุณเรื่องเล่าลพบุรีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  พี่ปภาณ วงศ์รัตนาวิน  ครับ     

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2564

พระเจ้าสายน้ำผึ้ง🐝

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
#ประวัติพระเจ้าสายน้ำผึ้งกษัตริย์กรุงอโยธยา 📌
#โศกนาฏกรรมของพระนางสร้อยดอกหมาก 📌
#ที่มาของชื่อวัดพนัญเชิง 📌

...ณ วัดพนัญเชิง จ.อยุธยา 😊😊😊

เรื่องราวระหว่าง #พระเจ้าสายน้ำผึ้ง กับ #พระนางสร้อยดอกหมาก มีบันทึกไว้ในพงศาวดาร นักประวัติศาสตร์ค้นพบว่า "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" เป็นกษัตริย์ที่ครอง "กรุงอโยธยา" มาก่อน "พระเจ้าอู่ทอง" ปฐมกษัตริย์แห่ง "กรุงศรีอยุธยา" 

พระนามของ "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" ปรากฏอยู่ในรายพระนามกษัตริย์แห่ง "กรุงอโยธยา" ซึ่งเป็นเมืองที่ปรากฏชื่ออยู่ในศิลาจารึกของ "กรุงสุโขทัย" และปรากฏชื่อเป็นเมืองแฝดคู่กับ "กรุงละโว้" 

ในพงศาวดารฉบับ "คำให้การของขุนหลวงหาวัด" ได้ระบุรายพระนามกษัตริย์แห่ง "กรุงอโยธยา" ว่ามี 19 พระองค์ "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" เป็นลำดับที่ 12 นักประวัติศาสตร์ยุคใหม่ยังพบว่ากษัตริย์องค์สุดท้ายของ "กรุงอโยธยา" ก็คือ "พระเจ้าอู่ทอง" ซึ่งทรงย้ายราชธานีข้ามฟากแม่น้ำมาสร้าง "กรุงศรีอยุธยา"

นักประวัติศาสตร์พบว่า "คติในการสร้างวัด" ของ "กรุงอโยธยา" นิยมหันหน้าลงแม่น้ำ ส่วนในสมัย "กรุงศรีอยุธยา" นิยมหันหน้าไปทิศตะวันออก 

>>> วัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่สร้างมาตั้งแต่สมัย "กรุงอโยธยา" อย่างเช่น วัดมเหยงค์ / วัดกุฎีดาว / วัดใหญ่ชัยมงคล / และพนัญเชิง ต่างหันหน้าลงแม่น้ำทั้งนั้น 📌

นักประวัติศาสตร์ยังพบอีกว่า "กษัตริย์ของกรุงอโยธยาเปลี่ยนราชวงศ์กันบ่อย" เพราะมีความเชื่อในเรื่อง "กฎแห่งกรร" คือ ผู้ที่เป็นกษัตริย์จะต้องเป็นผู้สะสมบุญบารมีมาตั้งแต่ชาติปางก่อน จึงไม่ถือการสืบราชบัลลังก์ทางสันตติวงศ์ อย่างเช่นการได้ "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" มาเป็นกษัตริย์ 

พงศาวดารเหนือกล่าวว่า.....

"...ครั้นสิ้นกษัตริย์ หามีผู้ใดจะบำรุงพระพุทธศาสนาและอาณาประชาราษฎร์ไม่ พราหมณ์ปุโรหิตคิดกันว่าจะเสี่ยงเรือสุพรรณหงส์เอกไชยกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไป

ครั้นไปถึงตำบลหนึ่ง... พบเด็กเลี้ยงโคอยู่ 47 คน มีเด็กคนหนึ่งขึ้นนั่งบนจอมปลวกเพื่อว่าราชการ แล้วสั่งลงโทษคนที่เล่นเป็นข้าราชการ โดยให้เพชฌฆาตแสดงท่าประหารตามคำสั่งด้วยไม้ขี้ตอก ปรากฏว่าหัวก็ขาดจริง !!

เหล่าพราหมณ์ปุโรหิตที่ออกมาเสี่ยงหาคนไปเป็นกษัตริย์ ผ่านมาถึงตรงนั้นพอดี อีกทั้งเรือสุพรรณหงส์เอกไชยก็หยุดดื้อๆ

เมื่อเห็นว่าเด็กเลี้ยงโคหัวขาดไปด้วยไม้ขี้ตอกอย่างอัศจรรย์ ตามคำประกาศิตของหัวโจกที่นั่งว่าราชการอยู่บนจอมปลวก จึงคิดว่าใช่แน่ ต่างเป่าแตรสังข์ แตรงอน แตรฝรั่งขึ้นพร้อมกัน แล้วรับเอาหัวโจกเด็กเลี้ยงโคผู้นั้นไปครองราชย์สมบัติ..."

>>> ทรงมีพระนามว่า "เจ้าดวงกฤษณราช" ส่วนพระนามว่า "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" พงศาวดารเหนือเล่าไว้เมื่อตอนที่กำลังจะเสด็จไป "เมืองจีน" 📌

ความว่า... จุลศักราช 395 ปีมะเมีย "เจ้าดวงกฤษณราช" ยกพยุหไปทางชลมารคพร้อมด้วยเสนาบดี เสด็จมาถึงแหลมวัดปากคลอง พอน้ำขึ้นจึงประทับเรือพระที่นั่งอยู่หน้าวัด ทอดพระเนตรเห็น "ฝูงผึ้ง" อยู่ที่ใต้ช่อฟ้าหน้าบัน 

จึงทรงพระดำริว่าจะขอนมัสการพระพุทธปฏิมากร ถ้าเดชะบุญญาภิสังขารของเรา จะได้ครองไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์อย่างร่มเย็นแล้วไซร้ ขอให้น้ำผึ้งหยดลงมา เมื่อจบคำอธิษฐาน "น้ำผึ้ง" ก็หยดลงมาจริงๆ

"เจ้าดวงกฤษณราช" ทรงเปลื้องเอาพระภูษาทรง สักการะบูชาพระพุทธปฏิมากรนั้น คณะสงฆ์ได้ถวายพรชัยมงคลว่า "มหาบพิตรพระราชสมภารจะสำเร็จความปรารถนา จะครองไพร่ฟ้าอยู่เย็นเป็นสุขทั่วทุกทิศ" แล้วจึงถวายนามว่า "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง"

ส่วนเรื่องของ "พระนางสร้อยดอกหมาก" ในพงศาวดารเหนือเล่าว่า.....

"...ขณะนั้น "พระเจ้ากรุงจีน" ได้บุตรบุญธรรมที่นำมาเลี้ยงไว้ มีชื่อว่า "นางสร้อยดอกหมาก" ครั้นวัยเจริญขึ้น จึงให้โหรมาทำนายว่า "ลูกกูคนนี้ จะควรคู่ด้วยกษัตริย์เมืองใด" 

โหรพิเคราะห์ดูก็เห็นว่าจะอยู่แห่งใดไม่ เห็นอยู่แต่ทิศตะวันตกกรุงไทย มีบุญญาภิสังขารมากนัก เห็นจะควรกับพระราชธิดา จึงกราบทูลว่า "จะได้กับพระเจ้ากรุงไทยเป็นแน่"

เมื่อโหรชี้ตัวเนื้อคู่ของพระราชธิดามาเช่นนี้ "พระเจ้ากรุงจีน" จึงให้ "ขุนแก้วการเวท" ถือพระราชสาส์นมาถึง "พระเจ้ากรุงไทย" ข้อความในพระราชสาส์นก็แจ้งพระราชประสงค์ไม่อ้อมค้อมว่า

"...ด้วยเราจะยกพระราชธิดาให้เป็นพระอัครมเหสี ให้เสด็จออกมารับโดยเร็ว..."

ตอนนั้น "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" ได้ลูกสาวมอญขายผ้ามาเป็นเอกอัครมเหสีอยู่แล้ว แต่เมื่อ "พระเจ้ากรุงจีน" จะพระราชทานลาภลอยมาเช่นนี้ จะปฏิเสธไปก็ใช่ที่ จึงทรงยกพยุหไปทางชลมารค แล้วแวะอธิษฐานที่หน้าวัด จนได้พระนามว่า "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง"

ด้วยอำนาจพระราชกุศลที่ได้สร้างมาแต่หนหลัง "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" เสด็จไปโดยสะดวกจนถึงเมืองจีน พวกคนจีนเห็นดังนั้นก็แปลกใจ เพราะทรงเสด็จข้ามน้ำข้ามทะเลมาด้วยเรือลำเล็ก ซึ่งเป็นเรือที่ใช้ตามแม่น้ำลำคลองเท่านั้น 

จึงได้นำความขึ้นกราบทูล "พระเจ้ากรุงจีน" เมื่อพระองค์ได้ทราบอิทธิฤทธิ์ของว่าที่พระราชบุตรเขยแล้ว ทรงแปลกพระทัยเช่นกัน จึงส่งเสนาบดีให้ไปจัดที่พักแรมไว้ที่อ่าวนาค 1 คืน อ่าวเสืออีก 1 คืน แล้วให้แอบดูว่ามีบุญญาธิการจริงหรือไม่ประการใด

ทั้ง 2 คืนที่ "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" ประทับแรมอยู่ในเมืองจีนก่อนจะเข้าเฝ้านั้น เสนาบดีผู้ใหญ่ของจีนที่มาแอบดูก็ได้ยินเสียงดนตรีครึกครื้น ด้วยเทพยดาบันดาลขึ้น จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล 

"พระเจ้ากรุงจีน" จึงทรงทราบว่า "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" มีบุญญาธิการแน่ตามที่โหรทำนายไว้ จึงแต่งขบวนมารับเสด็จเข้าวัง และเมื่อจัดการอภิเษก "พระนางสร้อยดอกหมาก" กับ "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" เรียบร้อยแล้ว จึงได้สั่งให้แต่งสำเภา 5 ลำ พร้อมกับบรรทุกเครื่องอุปโภคบริโภค ให้คน 500 คนมาส่งพระราชธิดาถึง "กรุงอโยธยา"

เมื่อกลับมาถึง "กรุงอโยธยา" พระราชาคณะ 150 รูปจึงไปรับเสด็จที่เกาะ ภายหลังจึงเรียกเกาะนั้นว่า "เกาะพระ" แล้วเชิญเสด็จมาจอดเรือที่ท้ายเมืองปากแม่น้ำเบี้ย เหล่าเสนาบดีและพระราชาคณะจึงเชิญเสด็จเข้าวัง

แต่เป็นเพราะว่าทิ้งอัครมเหสีไปเมืองจีนเสียหลายวัน "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" จึงให้ "พระนางสร้อยดอกหมาก" คอยอยู่ในสำเภาก่อน แล้วเสด็จเข้าวังไปเพียงพระองค์เดียว 

เมื่อทรงจัดการธุระต่างๆเรียบร้อยแล้ว วันรุ่งขึ้นจึงส่งเถ้าแก่นำเรือพระที่นั่งมารับ "พระนางสร้อยดอกหมาก" แต่เมื่อไม่เห็นพระสวามีออกมารับด้วยพระองค์เอง จึงเกิดอาการงอน

พระนางรับสั่งกับเถ้าแก่ไปว่าข้ามน้ำข้ามทะเลมาด้วยกันอย่างลำบาก เมื่อถึงบ้านถึงเมืองแล้ว ไม่มารับด้วยพระองค์เอง นางก็จะไม่เข้าไป "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" จึงแต่งขบวนไปรับด้วยพระองค์เอง แต่นางก็ยังทูลว่า "ไม่ไป"

>>> "ไม่ไปก็อยู่ที่นี่แหละ" เมื่อ "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" ตกพระโอษฐ์เช่นนั้น "พระนางสร้อยดอกหมาก" จึงกลั้นใจตายทันที ท่ามกลางความตกตะลึงของพสกนิกร 📌

พงศาวดารเหนือบันทึกไว้ว่า.....

"...จุลศักราช 406 ปีมะโรงศก จึงเชิญพระศพมาพระราชทานเพลิงที่แหลมบางกะจะ สถาปนาเป็นพระอาราม ให้นามชื่อ "วัดพระเจ้าพระนางเชิง" ตั้งแต่นั้นมา..."

"หลวงประเสริฐอักษรนิติ" บันทึกไว้ว่า.....

"...จุลศักราช 696 แรกสถาปนา "พระพุทธเจ้าพแนงเชิง" หมายความว่า "หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง" สร้างหลังจากที่สร้างวัดแล้วถึง 290 ปี..."

เกี่ยวกับ "ชื่อวัด" มีการเรียกเพี้ยนไปต่างๆนานา สมัย "กรุงศรีอยุธยา" เรียกว่า "วัดพระพแนงเชิง" บ้าง "วัดพระเจ้าพแนงเชิง" บ้าง "วัดพระนางเชิง" บ้าง โดยมากเรียกกันสั้นๆว่า "วัดพแนงเชิง"

คำว่า "พแนงเชิง" เป็นคำไทยโบราณ มีความหมายว่า "นั่งขัดสมาธิ" ปัจจุบันมีชาวภาคใต้ยังใช้อยู่บ้าง แต่ก็เพี้ยนไปเป็น "แพงเชิง" ซึ่งหมายถึง "ขัดสมาธิ" เช่นกัน 

>>> "วัดพแนงเชิง" หรือ "วัดพระเจ้าพแนงเชิง" จึงหมายถึง "วัดที่มีพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ" คือ "หลวงพ่อโต" หรือ "พระพุทธไตรรัตนนายก" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ 📌

แต่ก็ยังมีผู้สันนิษฐานอีกว่า "ชื่อวัด" อาจจะมาจากที่ "พระนางสร้อยดอกหมาก" ได้ "นั่งขัดสมาธิกลั้นใจตาย" เพราะผู้หญิงจีนคงไม่นั่งพับเพียบแบบไทย เมื่อเห็นเป็นเรื่องแปลกจึงอาจนำมาเรียกเป็นชื่อวัดก็ได้

>>> ในปี พ.ศ.2417 "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" (รัชกาลที่ 5) ทรงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เรียกเป็น "วัดพนัญเชิง" ชื่อของวัดเลยยุติลงที่ชื่อนี้ 📌

เมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาทุกฉบับบันทึกไว้ตรงกันว่า "ด้วยอายุแผ่นดินของกรุงศรีอยุธยาถึงกาลขาด จึงอาเพศให้เห็นประหลาดเป็นนิมิต พระประธานในวัดพระนางเชิง น้ำพระเนตรไหลลงมาจนถึงพระนาภี..."

ที่มา : โรม บุญนาค

#แก้วเสียงธรรม

วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ฤๅษีสัมพุก

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
สังหารฤๅษีสัมพูก “ผู้มาก่อนกาล” ที่ปราสาทบันทายฉมาร์
ในมหากาพย์รามายณะ (Rāmāyaṇa Sanskrit epic) ภาคเสริมที่เรียกว่า  “อุตตรกัณฑ์” (Uttara Kāṇḍa) ที่อาจถูกแต่งเติมเสริมขึ้นโดยพราหมณ์ในยุคหลังวาลมิกิ (Vālmīki) ได้เล่าถึงเรื่องราว การลงโทษคนวรรณะศูทร/ศุทร์/ศูทฺรŚūdra/Shudra) โดยพระรามว่า
.
“...ครั้งหนึ่งภายหลังจากศึกกรุงลงกา ... มีพราหมณ์ผู้หนึ่งเดินอุ้มศพบุตรชายมาอยู่ที่หน้าประตูพระราชวังอโยธยา พลางปริเทวะร้องไห้คร่ำครวญอย่างทุกข์ระทมว่า ทำไมอยู่ดี ๆ บุตรชายของตนยังอายุไม่ถึง 14 ปี   ต้องมาตายก่อนเวลาอันควร การตายอย่างนี้ไม่เคยบังเกิดขึ้นมาก่อนในราชอาณาจักรมงคลแห่งองค์ศรีราม คงเป็นเพราะพระรามมีมลทินความผิดอะไรสักอย่างที่ทำให้บุตรชายของตนต้องตาย หรือมีผู้กระทำผิดบาปแก่เหล่าพราหมณ์ โดยที่องค์พระรามไม่กำหราบ
.
“...ข้าแต่องค์ศรีรามเจ้า พระองค์จงได้โปรดนำชีวิตบุตรชายของข้าคืนกลับมาด้วย ข้าและบุตรกระทำผิดอันใด...”
.
 การคร่ำครวญด้วยความทุกข์ระทมนั้นยาวนาน  พระรามได้สดับคำของพราหมณ์ด้วยความสลดพระทัย จึงได้นำเรื่องการตายของบุตรฤๅษีไปปรึกษากับเหล่ามหาฤๅษี ประกอบด้วย พระวสิษฏะ พระวามเทพ พระมรรกัณเฑยะ พระเมาทคัลยะ/โมคคัลลานะ พระกัศยปะ พระกาตยายนะ พระชาพาลิ/ชวาลี พระเคาตมะ และพระนารท (นารอด) เหล่ามหาฤๅษีได้กราบทูลพระรามว่า เหตุที่บุตรชายของพราหมณ์ดังกล่าวสิ้นชีวิตโดยไม่มีเหตุผลนั้น ก็เพราะว่ามีคน “วรรณะศูทร” มาบำเพ็ญตบะในอาณาจักรของพระองค์
“...ในกฤดายุคนั้น จะมีแต่คนวรรณะพราหมณ์เท่านั้นที่มีสิทธิบำเพ็ญตบะ ในไตรดายุคจึงอนุญาตให้คนวรรณะกษัตริย์สามารถบำเพ็ญตบะได้อย่างพราหมณ์ ส่วนในทวาปรยุคอันรุ่งเรืองนี้ ก็ได้เพิ่มให้คนวรรณะไวศยะ (Vaishya/แพศย์) สามารถบำเพ็ญตบะได้ แต่ผู้ดำรงวรรณะศูทฺรยังไม่สามารถบำเพ็ญตบะเพื่อการบรรลุได้ แต่เมื่อถึงเขตกลียุคเมื่อไร คนวรรณะศูทฺรจึงจะบำเพ็ญตบะได้อย่างวรรณะอื่น ๆ ...” 
.
มหามุนีกราบทูลให้องค์ศรีรามรีบเสด็จออกค้นหาว่า มีฤๅษีตนใดที่เป็นคนวรรณะศูทร ก็ให้กำจัดเสียอย่าให้เป็นมลทินแห่งทวาปรยุค องค์ศรีรามจึงเสด็จโดยบุษบกออกตามหาฤๅษีวรรณะศูทร จนกระทั่งไปพบฤๅษีคนหนึ่งนามว่า “สัมพูกะ/ศัมพูก” (Shambuka/Śambūka)  กำลังบำเพ็ญเอาหัวยืนต่างเท้า ณ อาศรมใกล้ทะเลสาบ ที่อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาไศวละคีรี/ไศพลคีรี  (Shaivalagiri)
.
องค์ศรีรามรับสั่งถามว่า  “...เจ้าคือใคร เกิดในวรรณะใด...”  ฤๅษีตอบว่า “...ข้ามีชื่อนามว่าสัมพูกะ เกิดในวรรณะศูทฺร” พระรามได้ยินดังนั้น จึงแจ้งเหตุความถึงข้อห้ามอันศักดิ์สิทธิ์อันเป็นกฎหมายที่มวลมนุษย์ต้องพึงปฏิบัติ สัมพูกะทราบถึงเหตุ จึงขอให้องค์ศรีรามได้สังหารตนด้วยสาธุการสำนึก  
.
“...ข้าแต่องค์รามผู้ประเสริฐ ข้านั้นเกิดในวรรณะศูทร และปวารณาตนที่จะไปถึงแดนสวรรค์ด้วยความตายของข้าโดยพระองค์ ผ่านกฎเกณฑ์ (กีดกัน) อันเคร่งครัดเหล่านี้
.
 พระรามจึงได้เอาพระแสงดาบตัดศีรษะสัมพูกะทันที...
.
“...เมื่อเจ้าสำนึกด้วยธรรม ก็ขอจงให้เจ้าได้เป็นมุนีผู้เรืองธรรม ในกาลอันสมควร ภายภาคหน้าเถิด... "
.
เหล่าเทพเจ้า ต่างแซ่ซ้องสรรเสริญฤๅษีสัมพูกะผู้มาก่อนกาล ด้วยบุปผาสวรรค์และน้ำทิพย์ชโลมไปบนร่าง ครั้งแล้วครั้งเล่า ....แล้วพระอินทราเทพก็ได้ชุบชีวิตให้ลูกของพราหมณ์ขึ้น ตามคำขอของพระราม...  
.
-----------------------------
*** ภาพสลักบนหน้าบันด้านนอก ประตูเล็กของผนังหลังมุขซุ้มประตูใหญ่ฝั่งทิศใต้ ในท่ามกลางซากกองหินปรักหักพังของอาคารหอพิธีกรรม/หอรามายณะ /หอนางรำ อาคารขนาดใหญ่ด้านหน้าสุดของหมู่ปราสาทบันทายฉมาร์  มีองค์ประกอบตาม “ประติมานวิทยา” (Iconography) ตรงกันกับเรื่องราวของการสังหารฤๅษีสัมพูกะ จากเรื่องราวในมหากาพย์รามายณะ ภาคอุตตรกัณฑ์ ที่ยังคงเป็นที่รับรู้สืบทอดมาถึงในปัจจุบันอย่างชัดเจน โดยไม่ต้องตีความ/สันนิษฐาน/มโน หรือรอหาข้อความจารึกมาเป็นหลักฐานในการอธิบายครับ 
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy 

พระธรรมบาล

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระธรรมบาล” ยักษ์ร้ายใจดี ที่หายไปจากปรางค์สามยอด เมืองลพบุรี
ถึงแม้ว่าจะปรากฏร่องรอยของคติและงานศิลปะ “ผู้ปกป้องพระพุทธศาสนา/พิทักษ์พระธรรมคำสอน” (Dhamma Guardian/Protector) จากอิทธิพลความเชื่อพุทธศาสนามหายาน (Mahāyāna) ลัทธิ “วัชรยาน” (Vajrayāna Tantric Buddhism) ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ ดังที่ปรากฏรูปศิลปะจากปราสาทหินพิมาย ตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ต่อเนื่องมาถึง “ลัทธิโลเกศวร” (Lokeśvara/เน้นการบูชาอำนาจแห่งพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร) ในยุคความนิยมของราชสำนักบายน ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ก็ตาม 
.
แต่ก็ดูเหมือนว่า งานศิลปะของผู้พิทักษ์ศาสนา ทั้งที่เรียกว่า “ยิดัม” (Yi-Dam) หรือภาคดุร้ายของเหล่าพระโพธิสัตว์และพระธยานิพุทธเจ้า/ ชินพุทธะ 5 พระองค์/พระปัญจสุคต (Dhyāni Buddha/ Paῆca jina Buddhas) ในรูปของผู้เรืองอำนาจ มีใบหน้าดุร้ายแบบยักษ์อสูร (มีพระศักติประจำพระองค์) จะปรากฏเพียง“พระไตรโลกยวิชัย” (Trailokyavijaya) ภาคยิดัมของพระอักโษภยะพุทธเจ้า ประจำอยู่ทางทิศตะวันออก หนึ่งใน “ปัญจมหาวิทยราช” (Paῆca Vidya-raja) หรือพระธรรมบาลของพระธยานิพุทธะทั้ง 5 ในภาคดุร้าย "พระเหวัชระ" (Hevajra) หรือ“พระวัชริน” (Vajrin) เหรุกะของพระอักโษภยะพุทธเจ้า และนาง “โยคิณี” (Yogini) ผู้เป็นธิดาทั้ง 8 รวมทั้ง “พระจักระสังวร” (Cakrasaṃvara) โดยไม่ปรากฏคติและรูปศิลปะของเหล่าพระโพธสัตว์ยิดัมตามแบบวัชรยานในทิเบต ทั้งภาคดุร้ายของปัญจสุคต อีก 4 พระองค์ คือ “พระวัชรยักษ์” (ภาคยิดัมแห่งพระอโมฆสิทธิพุทธเจ้า) “พระกุณฑลี” (ภาคยิดัมแห่งพระรัตนสัมภวะพุทธเจ้า) “ยมานตกะ” (ภาคยิดัมแห่งพระอมิตาภะพุทธเจ้า) “พระอจล” (ภาคยิดัมแห่งพระไวโรจนะพุทธเจ้า) รวมถึงรูปของ คุหยสมาช (Guhyasamāja) มหามายา กาลจักร ชมภล และเหรุกะ (Heruka) อีก 4 พระองค์ เลยครับ
.
อีกทั้งในคติจักวาลแห่งมันดารา” (Mandala Universe) หรือ “พุทธเกษตร” (Buddha Kaset) ในลัทธิวัชรยาน/ตันตระ (ธิเบต/ปาละ) ยังจัดให้มีเหล่าผู้พิทักษ์พุทธศาสนาและพระธรรมคำสอน อีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า “พระธรรมบาล” (Dhammapāla) มีตำแหน่งเทียบเท่ากับพระโพธิสัตว์ เป็นพวกยักษ์กลับใจมาทำหน้าที่ปราบปรามปีศาจและมารที่เป็นศัตรูต่อพุทธศาสนา มีหน้าตาหน้าเกลียดน่ากลัวไม่ต่างจากยิดัม  ใช้ใช้ใบหน้าเปแนอาวุธให้ศัตรูเกรงกลัว แต่มีดวงใจที่ใสบริสุทธิ์ ไม่คิดร้าย
.
*** เรียกได้ว่าเป็น “ยักษ์ร้ายใจดี” นั่นเองครับ
.
ในบางพระสูตรของธิเบตก็ได้กำหนดพระธรรมบาลไว้ 8 พระองค์ คือ ศรีเทวีลหโม (Shri Devi Lhamo) สิตพรหมา (Brahma) เบคตสี (Begtse) พระยม (Yama) กุเวร  (Kúbera) มหากาล (Mahakala) หัยครีพ (Hayagriva) ยมาตกะ (Yamantaka) แต่ในบางพระสูตรก็คงเห็นว่าธรรมบาลมีน้อยไป จึงยกให้ เทพเจ้า (Deva) ครุฑ  (Garuḍa) นาค (Nāga) รวมถึงพวกอมนุษย์ (Half-Man) อย่าง วิทยาธร (Vidyādhara) คนธรรพ์ (Gandharva) สิทธา (Siddha) อัปสร (Apasara) กินนร/กิมปุรุษ (Kiṃnara/Kimpuruṣa)  ยักษ์อสูร (Yakṣa /Asura)  กุมภัณฑ์ (Kumbhāṇḍa) รากษส (Rākṣasa) เรื่อยไปจนถึงภูตผี (Bhūta) ปีศาจ (Piśāca) คุหยกะ (Guhyaka) และ มโหราคะ (Mahorāga) ที่กลับใจมาบูชาพระพุทธศาสนา ทำหน้าที่ดูแลศาสนสถาน พิทักษ์พระธรรมคำสอน ปกป้องผู้ปฏิบัติธรรม ขับไล่ความชั่วร้ายและอุปสรรคที่มาขัดขวางการเข้าสู่พระนิพพาน    
.
“สุวรรณประภาโสตตมราชาสูตร” (Suvarṇaprabhāsottama  Sūtra) ในคติมหายาน/ของฝ่ายจีน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 ได้กล่าวถึง “พระธรรมบาล 24 พระองค์” คือ พระศรีมหาเทวี (พระแม่ลักษมี) พระสุรัสวดี ท้าวมหาพรหม พระอินทร์  ท้าวธฤตราษฎร์  ท้าววิรุฬหก ท้าววิรุฬปักษ์ ท้าวไวศรวณ /กุเวร  เทพคุยหบดี/วัชรปาณี ปัญจิกะยักษา   หาริตียักษิณี นางอาภิรดีเทวี พระมเหศวร/ศิวะ สกันธเทพ/ขันธกุมาร พระปฤถิวี/พระธรณี  โพธิทรุมเทวี เทวีมาริจี  พระสูริยเทพ พระจันทราเทพ พระดารกาเทพ พระไตรตรึงส์เทพ พญายมราช ท้าวสาครนาคราช และกินนรราช /อัคนีเทพ/เทพเตาไฟครับ
.
ในบทที่ 15 “ยักษาศรยรักษาปริวรรต” ของพระสูตร ยังกล่าวถึงการอารักขาผู้ปฏิบัติธรรมโดยเทวดาและยักษ์ ทั้ง พระมหาพรหม มหาเทพในไตรตรึงษ์ พระสรัสวดี พระนางลักษมี ท้าวสักกะเทวราช/อินทรา ท้าวธตรฐ  ท้าววิรุฬหก ท้าววิรุฬปักษ์ ท้าวไวศรวณ/ท้าวกุเวร  สัญชเญยะยักษ์ มณิภัทรยักษ์ ปูรณภัทรยักษ์ กุมภีรยักษ์ อฏาวกยักษ์  ปิงคลยักษ์ พญานาคอนวตัปตะในมหาสมุทร พญานาคมุจลินท์ พญานาคเอลาปัตร พญานาคนันทะ พญานาคอุปนันทะ พญากินนร พญาครุฑ เทพอสูรวลี ราหู นมุจิ เวมจิตร สังวร ประหาทะ พระสกัณธะ/ขันธกุมาร  เทพอสูรอื่นๆ รวมถึงหมู่เทวดาประจำพืชผล เทวดาประจำแผ่นดิน  เทวดาประจำพระอาราม รุกขเทวดา เทวดาประจำพระเจดีย์ เทวดาประจำแม่น้ำ รวมทั้งยักษ์เทพอสูรที่น่าหวาดกลัวของสรรพสัตว์ แต่สำหรับผู้ที่เผยแผ่และผู้ฟังสูตรนี้ จะได้รับการคุ้มครองในรอดพ้นจากภัยอันตรายและความชั่วร้ายทั้งปวง
.
*** แต่ก็ดูเหมือนว่า ลัทธิวัชรยานตันตระ/โลเกศวร ในยุคราชสำนักบายน จะไม่นิยม/ไม่ได้รับอิทธิพลความเชื่อในคติพระโพธิสัตว์-ยิดัมและพระธรรมบาล/ผู้พิทักษ์พุทธศาสนาและพระธรรมคำสอนจากทั้งฝ่ายทิเบต จีนและราชวงศ์ปาละในอินเดียมาทั้งหมด อาจเพราะมีจำนวนมากมายเกินไป อีกทั้งบางพระสูตรยังไปนำเทพเจ้าฮินดูเข้ามาปะปนเป็นจำนวนมาก รูปศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนาในงานศิลปะยุคจักรวรรดิบายน (ที่ราชสำนักโบราณยังคงมีการนับถือลัทธิฮินดูร่วมอยู่ด้วย) จึงปรากฏเฉพาะรูปยักษ์อสูรที่มีหน้าตาดุร้าย (แต่ใจดีตามคติความเชื่อ) หรือ “พระธรรมบาล” โดยไม่ได้กำหนดชื่อนามเจาะจงเอาไว้อย่างชัดเจนครับ  
.
------------------------------
*** รูปศิลปะพระธรรมบาล-ยักษ์ร้ายใจดี ตามคติวัชรยาน/ตันตระ/โลเกศวร แบบรับมาธิเบต/อินเดียอย่างไม่เต็มสูบในยุคจักรวรรดิบายน จึงได้ถูกเลือกมาเป็นงานศิลปะปูนปั้นประดับที่กรวยเชิงเหนือลวดบัวเชิงธาตุของสันมุมหลัก เรือนปราสาทบริวารทั้งสองหลังของปราสาทปรางค์สามยอด อย่างวิจิตรอย่างดงงามทั้งรุปศิลปะและสื่อคติความหมาย
.
เป็นที่น่าเสียดายที่ปูนปั้นพระธรรมบาลผู้ปกป้องพระปรางค์สามยอด พระพุทธศาสนามหายาน/โลเกศวรที่เคยรุ่งเรืองในเมืองละโว้ทยปุระ (Lavodayapura) ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ได้สูญหายไปจนเกือบทั้งหมดแล้ว คงเห็นแต่เพียงภาพถ่ายเก่า (หอจดหมายเหตุสำนักฝรั่งเศสปลายบูรพทิศ/ Archives EFEO) ในปี พ.ศ. 2496 ให้ได้เห็นเพียงเท่านั้นครับ  
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564

กรวยบายศรี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พุทธศิลป์ “หม้อปูรณะฆฏะและกรวยพุ่มบายศรี” บนสันกลีบบัวใบเสมาทวารวดีอีศาน แห่งเดียวในโลกที่แดนอีสาน 

เมื่อพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท/มหาวิหารจากอิทธิพลลังกา (Theravāda /Maha-vihāra) ได้เริ่มเดินทางจากภาคกลางแดนตะวันตกเข้าสู่ดินแดนอีสาน  ได้เกิดการพัฒนางานศิลปะของคติ  "หลักนิมิตหิน /นิมิตฺตํ” (Sīmā Stele boundary markers) หลักหินเพื่อการกำหนดเขตสีมา อาณาเขต/ปริมณฑลศักดิ์สิทธิ์/เขตบริสุทธิ์ในการประกอบสังฆกรรม จากอิทธิพลแนวคิดในการจัดวาง “หินตั้ง/หลักหิน” (Stone Stele) ใน “วัฒนธรรมหินตั้ง” (Megalithic Culture) ตามคติความเชื่อการบูชาอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือ “ผี” (Animism) ในเขตอีสานโบราณ ที่เคยมีการใช้หลักหินตามธรรมชาติมาตั้งปักล้อมรอบเขตแดน/พื้นที่ติดต่อกับผี-อำนาจเหนือธรรมชาติ"  มาตกแต่งตั้งวางเป็นวงล้อม กำหนดพื้นที่ให้เป็นอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์/เขตหวงห้ามของชุมชน มิให้ผู้คนทั่วไปในชุมชนเข้ามารบกวนในระหว่างการเซ่นสรวงบูชา สวดภาวนาอ้อนวอน การสังเวยชีวิตสัตว์ รวมทั้งการเฉลิมฉลองตามฤดูกาลประจำปีของชุมชน 
.
*** อิทธิพลการวางวงล้อมของวัฒนธรรมหินตั้งในอีสาน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการปักหลักหินนิมิตกำหนดเขตแดนศักดิ์สิทธิ์ตามคติพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก ในช่วงต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 14 นี้เองครับ
.
เหล่านักบวชและช่างปฏิมากรผู้ศรัทธาในพุทธศาสนาจากแดนรามัญตะวันตกที่เดินทางเข้าไปสู่อีสาน ไม่นิยมใช้หินที่ไม่มีรูปร่างชัดเจนตามธรรมชาติแบบดั้งเดิม แต่ได้เลือกหินขนาดใหญ่มากะเทาะสลักเสลา ปรับเปลี่ยนรูปเป็น “ดอกบัว” (Lotus) ตามความหมาย “สัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์” ที่เป็นคติความเชื่อสืบต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคอียิปต์ เปอร์เซียจนมาถึงวัฒนธรรมอินเดียโบราณ เปลี่ยนหินธรรมชาติมาเป็นหินรูปทรง “กลีบบัวยอดแหลม” (Mouldings) แบบคอดเอว/พุ่มข้าวบิณฑ์และแบบไม่คอดเอว ทั้งแบบแผ่นแบน/กึ่งแผ่นกึ่งกลม ทรงแท่งเสา 8 เหลี่ยม ยอดกระโจมยอคว่ำในความหมายของบัว 8 กลีบ และแท่งหินยอดแหลมในความหมายของยอดกลีบบัว  
.
ประมาณช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมาได้มีการพัฒนางานพุทธศิลป์บนแผ่นหลักหินนิมิตทรงกลีบบัว แกะสลักเป็นภาพเรื่องราวในวรรณกรรม “พุทธประวัติ” (The Life Story of the Buddha) และ “อรรถกถาชาดก” (Jātakaṭṭhakathā) อันงดงามตามคติฝ่ายเถรวาท ขึ้นเป็นจำนวนมากครับ
.
*** รูปศิลปะบนหลักนิมิตทรงกลีบบัวยอดแหลมแบบแผ่น 2 หน้า ยังได้มีการพัฒนารูปศิลปะบน “สันกลางของกลีบบัว” จากที่เคยเป็นสันมุมเตี้ย ๆ ตรงกลางหรือเป็นแผ่นเรียบ กลายมาเป็นสันนูนตรง สันนูนทรงกรวยชะลูดยอดแหลมตามรูปทรงของแผ่นหิน จนได้กลายมาเป็นรูปศิลปะอันงดงามและมีความหมาย   
.
ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 14 ได้มีการนำคติ “หม้อน้ำบรรจุกอบัวทั้งก้าน ใบและดอก ที่กำลังผลิดอกออกใบ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญงอกงามและความอุดมสมบูรณ์” ที่เรียกว่า “หม้อน้ำแห่งชีวิต /ปุรณะกลศปูรณะฆฏะ/อมฤตฆฏะ/ภัทรฆฏะ (Pūrṇa-Kalaśa /Pūrṇa-ghạta) ตามรูปสัญลักษณ์นิยมในคติพุทธศาสนา ที่ปรากฏในอินเดียและลังกา มาวางรูปศิลปะบนเชิงตีนของสันกลีบบัวกลางใบเสมา อาจวางบนฐานหรือวางเป็นแม่ลายเริ่มต้น แล้วแตกเป็น “พุ่มบายศรีทรงกรวยชะลูดแหลมขึ้นไปเป็นสันตรงถึงยอด”  ในความหมายของดอกบัว/พรรณพฤกษา เช่นเดียวกับรูปศิลปะที่แตกพุ่มใบออกด้านข้างของปากหม้อครับ   
.
รูปศิลปะของรูปกรวยทรงชะลูดที่ได้เข้ามาแทนรูปสันกลีบบัวเดิม มีการแกะสลักลายละเอียดเป็นกระหนกพรรณพฤกษา/ดอกบัว ที่แตกช่อใบตามคติการเจริญงอกงาม (ที่นำไปสู่ความอุดมสมบูรณ์) แต่หลายหลักหินนิมิต (ใบเสมา) ก็มีลูกเล่นทางศิลปะ บางใบวางหม้อน้ำแตกพุ่มเป็นทรงกรวยบายศรีชะลูด บางใบเสมานำหม้อน้ำและพุ่มดอกบัวไปวางไว้ด้านบน บางใบซ้อนชั้นหม้อน้ำทรงเดียวกันขึ้นไปแตกพุ่มเป็นทรงกรวยแหลมบายศรี หรือต่อเป็นหม้อทรงคนโทชะลูดสูง ซ้อนชั้น ไปจบด้วยยอดดอกบัวตูมกรวยแหลมบายศรี 
.
บางใบ (เสมา) ก็ต่อกรวยหม้อน้ำขึ้นจากปากหม้อโดยไม่มีลวดลาย แต่มีลายคั่นเป็นระยะ ต่อขึ้นไปเป็นกรวยบายศรีแหลมด้านบน จนคล้ายคลึงกับรูปสถูปยอดแหลม บนครั้งก็ประดับรูปธรรมจักร (Dhammacakka)  สัญลักษณ์สำคัญของฝ่ายเถรวาทขนาดเล็กที่ส่วนยอดครับ
.
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 รูปหม้อน้ำปูรณะฆฏะที่มียอดเป็นกรวยบายศรีและกลีบบัว (ดอกไม้ทรงกรวย) ขึ้นมาจากปากหม้อ ได้ขยายขนาดจากเส้นสันกลางกลีบบัว กลายมาเป็นรูปประดับขนาดใหญ่ขึ้น และบางใบยังได้มีการเปลี่ยนรูปพุ่มดอกไม้ (กรวยแหลม) มาเป็นรูปพุ่มดอกไม้ล้อมธรรมจักร ในความหมายว่าพระธรรม (จักร) จะนำทางชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง/ความแตกฉานทางปัญญา (พุทธิปัญญา)
.
*** พุทธศิลป์หม้อปูรณะฆฏะและกรวยพุ่มบายศรีบนสันกลีบบัวทรงใบเสมา ตามคติหลักนิมิตของพุทธศาสนาแบบเถรวาท/ทวารวดีอีศาน จะพบได้เฉพาะในเขตภาคอีสาน (ไทย/ลาว/กัมพูชา) เพียงแห่งเดียวในโลกเท่านั้นครับ   
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

พระพุทธรูปยืนแบบบายนที่ปราสาทหินพิมาย

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พุทธศิลป์ “พระพุทธรูปยืนแบบบายน” ประธานแห่งปราสาทหินพิมาย
“จารึกพิมาย 3” (K.397) บนผนังกรอบประตูโคปุระชั้นใน ด้านหน้าฝั่งทิศใต้ของปราสาทหินพิมาย กล่าวว่า ปี 1651 “พระกมรเตงอัญศรีวิเรนทราธิบดีวรมัน” แห่งเมืองโฉกวกุล  (ป่าพิกุล) (Kamarateṇ Añ Śrī Vīrendrādhipativarma of Chok Vakula) ได้สถาปนา “กมรเตงอัญ เสนาบดีไตรโลกยวิชัย” (Kamarateṇ Jagatta Senāpati Trailokyavijaya) ไว้เป็นเสนาบดี (ผู้ดูแล) “พระกมรเตงอัญชคตวิมาย” (Kamarateṇ Jagatta Vimāya)  ทั้งยังกล่าวถึงการขุดตระพัง การถวายข้าพระ ข้าวสาร ถวายกัลปนาที่ดินโดยกำหนดและปักหลักเขตตามทิศต่าง ๆ โดยได้มีการเฉลิมฉลองสมโภชประจำปี “สังวัจฉรปุณณมี” และการถวายข้าพระที่ “ศรีวีเรนทราศรม” (Srī Vīrendrāshram) 
.
ต่อมมาในปี พ.ศ. 1655 ได้มีการถวายสิ่งของ 15 อย่าง รวมทั้งข้าพระ แก่กมรเตงชคตเสนาบดีไตรโลกยวิชัย โดยกมรเตงอัญศรีวีรพรม เพื่ออุทิศถวายแก่ “พระมหากมรเตงอัญศรีธรณินทรวรมเทวะ”  (Śrī Dharaṇīndra Varmadeva) “หรือพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 ครับ
เนื้อความของจารึกที่กรอบประตูนี้ ได้กล่าวถึงการสร้างเมืองวิมายปุระ ไว้ว่า “...ศกขึ้น 5 ค่ำ เดือนยี่ วันพุธ ได้สร้างเมือง ณ ที่ดินอันว่างเปล่า (ที่) ศรีวีเรนทราศรม และได้กั้นรั้วล้อมรอบที่ดินนั้น (ถวาย) ข้าพระ (ใน) บัญชีนี้ด้วย แล้วได้มอบให้คนใช้ของกมรเตงอัญเสนาบดีไตรโลกยวิชัยแบ่งกันทำงานเป็นรายปักษ์ (ณ) ศรีวีเรนทราศรมนั้น ให้ดูแลพิธีการนี้ ฯ...” อาจมีความหมายว่า มีการสร้างอาคารที่ปราสาทหินพิมายเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งอาจหมายถึงการสร้างอาคารโคปุระและกำแพงล้อมรอบนั่นเอง 
.
จากจารึกและรูปแบบคติความเชื่อ/งานศิลปะในไวษณพนิกาย อาจกำหนดอายุเวลาการสร้างปราสาทหินพิมายในส่วนที่รูปแบบของปราสาทประธานเรือนยอดทรงพุ่มแบบวิมานเชื่อมต่อมณฑปบนฐานขนาดใหญ่นี้ว่า ควรสร้างขึ้นในสมัยของ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” (Jayavarmandeva VI) ดังที่ปรากฏภาพสลักในคติความเชื่อความนิยมของฝ่ายไวษณพนิกายเรื่องรามายณะและพระกฤษณะ ครับ
.
ส่วนโคปุระและกำแพงชั้นนอก รวมทั้งโคปุระและระเบียงคดชั้นใน คงจะสร้างขึ้นตามหลักฐานจารึก K. 397 ที่ระบุว่ามีการสร้างเมืองในช่วงของพระเจ้าธรณินทรวรรมะเทวะ ซึ่งคงได้มีการก่อสร้างต่อเนื่องมาจนถึง พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 ก่อนจะชะลอการก่อสร้างออกไประยะหนึ่งด้วยเหตุผลทางการเมืองรวมถึงความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครอง ซึ่งในช่วงการก่อสร้างระยะที่ 2 นี้ มีการใช้หินทรายสีแดงคุณภาพต่ำเขามาแทนที่หินทรายสีขาวแทบทั้งหมด โดยจะใช้หินทรายสีขาวเฉพาะโครงสร้างสำคัญ อย่าง กรอบประตู กรอบหน้าต่าง เสา คานรับน้ำหนัก หน้าบัน เครื่องประดับและรูปประติมากรรม เท่านั้น 
.
*** ข้ามไปจนเมื่อราชสำนักเมืองพระนครเริ่มเสื่อมถอยอำนาจ ราชสำนักอนุวงศ์แห่งเมืองพิมายคงได้ปกครองอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนถึงช่วงปี พ.ศ. 1974 อาณาจักรอยุทธยาทางตะวันตก ได้ยกกองทัพเข้ามาตีเมืองพิมาย ดังปรากฏหลักฐานในข้อความ “จารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ”  (The Khun Sri jayaRajmongkoldep Inscription) สอดรับกับร่องรอยการรื้อทำลายประตูเมืองและกำแพงเมืองในยุควัฒนธรรมเขมรในเมืองพิมาย อีกทั้งสงครามในครั้งปราบเจ้าพิมาย (กรมหมื่นเทพพิพิธ) ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2311 ก็ล้วนแต่จะได้ความเสียหายแก่เมืองพิมายไม่มากก็น้อยครับ
.
------------------------------
*** คงเป็นการยากที่จะอธิบายได้อยากชัดเจนว่า รูปประติมากรรมสำคัญในห้องครรภคฤหะ  (Garbhagṛha) ของปราสาทประธาน ปราสาทหินพิมาย แต่แรกเริ่มก่อสร้างนั้นจะเป็นรูปอะไร แต่หากลองนำมุมมองของ “คติความเชื่อ” มาพิจารณา เริ่มจากลัทธิฮินดู “ไวษณพนิกาย” (Vaishnavism) ช่วงพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 รูปประธานก็ควรเป็นรูปพระวิษณุ (Vishnu/ Viṣṇu) หรือไม่ก็ยังคงเป็นรูปศิวลึงค์บนฐานโยนีแบบตรีมูรติ ดังปรากฏช่องรางน้ำโสมสูตรด้านมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของห้องครรภคฤหะเพื่อใช้ในพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับรูปศิงวลึงค์อยู่
.
แต่ดูเหมือนว่า ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา อนุวงศ์ผู้ปกครองเมืองพิมายได้เปลี่ยนแปลงคติความเชื่อ/ความนิยมมาเป็นพุทธศาสนานิกาย “วัชรยานตันตระ/ตันตระยาน” (Vajrayāna Tantric Buddhism) ได้มีการเปลี่ยนแปลงผังปราสาท รูปบนทับหลังเปลี่ยนมาเป็นพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ (ปัญจสุคต/ศรีฆนะ/พระธยานิพุทธเจ้า/ ฌานิพุทธเจ้า/Dhyāni Buddha) พระพุทธเจ้า 7 พระองค์ (สัปตมานุษิพุทธเจ้า) ตามคติฝ่ายมหายาน ทั้งยังปรากฏรูปศิลปะ/คติของ “พระวัชรสัตว์พุทธะ/อาทิพุทธะ/พระมหาไวโรจนะ” (Vajrasattva - Mahāvairocana) นางโยคิณี (Yogini) พระไตรโลกยวิชัย”  (Trilokyavijaya) / จักรสัมวรมณฑล (Cakrasaṃvara) พระคุหยสมาชอักโษภยวัชรมณฑล ฯ ตามคติฝ่ายวัชรยานตันตระ รูปประธานในห้องครรภคฤหะ จึงอาจถูกเปลี่ยนแปลงเป็นมาเป็นพระพุทธรูปนาคปรก ที่ปรากฏพระนามตามจารึก K. 397 ว่า “พระกมรเตงอัญชคตวิมาย” แต่ก็คงได้ถูกรื้อทำลายออกไปจากปราสาทภายหลังการสิ้นอำนาจของราชสำนักเมืองพระนครครับ
.
*** รูปประติมากรรมประธานของปราสาทหินพิมายตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา อาจเป็น “พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย” ที่มีความงดงามในงานศิลปะแบบบายน ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 องค์หนึ่ง ที่ถูกเคลื่อนย้ายมาจากจุดอื่นเข้ามาตั้งประดิษฐานไว้แทนรูปประธานเดิม (หรืออาจถูกย้ายเข้ามาในภายหลัง) โดยวางหันหน้าไปทางตะวันออกไม่หันไปทางทิศใต้ตามทิศด้านหน้าของปราสาทประธาน ดังปรากฏในภาพถ่ายเก่าของหอจดหมายเหตุสำนักฝรั่งเศสปลายบุรพทิศ (Archives EFEO) ในปี พ.ศ. 2496  เป็นพระพุทธรูปยืนสมภังค์ (Samabhaṅga) ยกพระกรทั้งสองขึ้นตั้งฉาก ซึ่งพระหัตถ์ควรปางประทานอภัย/อภัยมุทรา (Abhaya Mudra) ที่เป็นความนิยมในยุคสมัยนั้น
.
พระพุทธรูปยืนองค์นี้มีพุทธศิลป์ที่งดงามแปลกตา และมีเพียงองค์เดียวในงานศิลปะแบบบายนที่พบในเขตเมืองพิมาย จึงอาจเป็นพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่ง เค้าพระพักตร์ยังคงเป็นใบหน้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ( แบบท้องถิ่น) พระเกศาด้านหน้าทำมวยผมกลมก้นหอยตามแบบศิลปะทวารวดีอีศาน แต่มีไรพระศกแบบเขมร ส่วนด้านหลังพระเศียรสลักเป็นเส้นขีดของพระเกศาเรียบ ๆ แตกต่างจากด้านหน้าอย่างชัดเจน ห่มจีวรคลุมตามแบบพระศากยมุนีของฝ่ายมหายาน นุ่งจีวรทบหน้านางแบบเถรวาทประดับลายบัวรวนบนชั้นของผ้าทบ รัดพระองค์เป็นแถบผ้ามีลวดลายดอกไม้มีอุบะพวงระย้าห้อยเป็นระยะ ปั้นเหน่งกลางเป็นตาบสี่เหลี่ยมลายดอกไม้ 8 กลีบ  ปลายชายทบหน้านางโค้งไปเชื่อมรวมต่อกับชายผ้าจีวร ดูผิดไปจากรูปพระพุทธรูปยืนองค์อื่น ๆ ที่ชายผ้าจีวรจะยกรั้งขึ้นสูงกว่าชายผ้าสบงที่ซ้อนกัน 2 – 3 ชั้น ไม่รวมกันครับ  
.
*** คงเป็นการยากที่จะระบุเวลาของการประดิษฐานพระพุทธรูปยืนที่งดงามด้วยศิลปะแบบบายนอันแปลกตาองค์นี้ ว่าจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อใดในอดีต แต่อย่างน้อย พระพุทธรูปยืนองค์นี้ก็ได้เคยประดิษฐานเป็นประธานในปราสาทหินพิมาย มาก่อนการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2507 ก่อนจะถูกย้ายมาเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จนถึงในปัจจุบันครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564

พระศิวะเล่นกับศกัณฑะกุมาร

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
ประติมากรรม “พระศิวะเล่นกับพระสกัณฑะกุมาร” ได้กลับคืนสู่กัมพูชาแล้ว
เมื่อวันที่  29 กันยายน ที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาโดยกระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญ ได้รับมอบคืนโบราณวัตถุ อันเป็นงานศิลปกรรมชิ้นเอกที่มีความงดงามจำนวน 5 ชิ้น ภายหลังการเจรจากันมานานถึง 3 ปี จากครอบครัวของนายดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas Latchford) นักสะสมโบราณวัตถุชาวอังกฤษที่ได้ล่วงลับไปแล้ว 
.
แลทช์ฟอร์ดถึงแก่กรรมในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สิริรวมอายุได้ 89 ปี เขาได้ตามกว้านซื้อโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ลักลอบนำออกจากประเทศไทยและกัมพูชามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 จนถึงปี พ.ศ. 2503 ครับ   
.
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562  เขาได้ถูกตั้งข้อหาโดยสำนักงานอัยการสหรัฐ ฯ  ในข้อหาปลอมใบกำกับสินค้าและเอกสารอื่น ๆ เพื่อขายโบราณวัตถุให้กับพิพิธภัณฑ์ บริษัทประมูลและผู้ค้างานศิลปะหลายราย ในตลาดการค้าโบราณวัตถุ 
.
*** โบราณวัตถุชิ้นเด่นในการส่งมอบคืนจากครอบครัวแลทช์ฟอร์ดในครั้งแรกนี้ คือ รูปประติมากรรม “พระศิวะเล่นกับพระสกัณฑะกุมาร” (Shiva playing with Skanda) พระราชโอรสของพระองค์ ซึ่งเป็นงานศิลปะลอยตัวอันโดดเด่น จากการปรากฏบนหน้าปกหนังสือ “Adoration and Glory :The Golden Age of Khmer Art”  ที่รวบรวม/เขียนโดย นางเอมม่า ซี บังเกอร์  (Emma C. Bunker) และ ดักลาส แลตช์ฟอร์ด มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547
.
รูปศิลปะแสดงภาพของพระศิวะที่กำลังประทับ (นั่ง) สวดภาวนา (บำเพ็ญตบะ) ได้ถูกพระกุมารน้อยเข้ามาหยอกล้อ ด้วยการจับพระหัตถ์ทั้งสอง จนพระศิวะต้องผ่อนคลายพระหัตถ์และความเคร่งเครียดลงครับ
.
*** รูปประติมากรรมพระศิวะเล่นกับพระสกัณฑะกุมาร ถูกโจรกรรมไปจากปราสาทบริวาร ในกลุ่มปราสาทอิฐ 5 หลังของ “ปราสาทกระจับ” หรือ “ปราสาทกรอจับ” (Prasat Krachap) ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของบารายระฮัล บารายกลางเมือง “โฉกครรกยาร์” (Chok Gargya) หรือเกาะแกร์ (Koh Ker) มีกำแพงล้อมสองชั้น ชั้นในมี "โคปุระรูปกากบาท" ทางด้านหน้าและด้านหลัง ปีกทั้งสองข้างเป็นเสาอาคารรองรับหลังคาโครงสร้างไม้ ปลายของทั้งสองฝั่ง เป็นกำแพงศิลาแลง ด้านบนเป็นหลังคาหน้าจั่วขนาดใหญ่มีช่องสำหรับเข้าไม้คานหลังคา ด้านนอกจั่วสลักเป็นรูป “พระยมทรงกระบือ” เทพประจำทิศใต้ รายล้อมด้วย “ลายก้านขด” และ “ลายก้านขดรัดคู่” อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะเกาะแกร์  
.
ปราสาทกระจับเป็นศาสนสถานสำคัญในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ที่อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการพิธีการประกอบพิธีกรรมสถาปนา “เทวราชา” (Devarāja) ขึ้นเป็นสกลกษัตริย์แห่งอาณาจักรกัมพุชะเทศะ ตามคติไศวะนิกาย (Shivaite) ในปี พ.ศ.1471 (Śaka 850) ตามความที่ปรากฏในจารึก เสามุขหน้าของโคปุระตะวันตก (K.183-1) ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของพระองค์ที่มีสิทธิอันชอบธรรมในการสืบทอดพระราชบัลลังก์มาจากยุคนครหริหราลัย/ร่อรัว (Hariharalaya /Roluos) และกล่าวถึงการถวายข้าทาสกัลปนา จาก “สฺรุกฺ/ชุมชน” (Sruk) จากดินแดนทั่วอาณาจักรกัมพุชะเทศะ แด่ “พระ (ศิวลึงค์) ศรีตรีภูวนาเทวะ/แห่งองค์พระศิวะ” (Śrī Tribhuvanadeva) ผู้เป็นใหญ่ครับ        
.
ปราสาทกระจับ ได้รับสมญานาม “ปราสาทแห่งจารึก” ด้วยเพราะปรากฏจารึกบนเสาและกรอบทั้ง 4 ด้านของอาคารโคปุระ มากถึง 38 หลัก โดยเฉพาะโคปุระฝั่งตะวันตก แต่หลักที่ 2 (K.183-2) จนถึงหลักที่ 38 (K. 183-38) ล้วนแต่แสดงแสดงรายชื่อข้าทาสทำงาน ผู้คนชายหญิงและเด็ก (Gho,Gvāl,Tai,Tai Rat,Lap), จำนวนกว่า 11,000 คน จากสฺรุก/ชุมชนที่ปรากฏชื่อนามในจารึกเป็นจำนวนมาก  มาทำหน้าที่ต่าง ๆ รวมทั้งการถวายปศุสัตว์ สิ่งของ ผลผลิตและที่นา     
.
*** การได้รับรูปประติมากรรมพระศิวะเล่นกับพระสกัณฑะกุมาร จากปราสาทกระจับ เมืองเกาะแกร์ ที่ได้ถูกโจรกรรมออกไปเมื่อนานกว่า 60 ปีที่แล้ว คืนกลับมา จึงเป็นเรื่องที่น่าแสดงความยินดีกับชาวกัมพูชายิ่งนักครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy