วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564

กรวยบายศรี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พุทธศิลป์ “หม้อปูรณะฆฏะและกรวยพุ่มบายศรี” บนสันกลีบบัวใบเสมาทวารวดีอีศาน แห่งเดียวในโลกที่แดนอีสาน 

เมื่อพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท/มหาวิหารจากอิทธิพลลังกา (Theravāda /Maha-vihāra) ได้เริ่มเดินทางจากภาคกลางแดนตะวันตกเข้าสู่ดินแดนอีสาน  ได้เกิดการพัฒนางานศิลปะของคติ  "หลักนิมิตหิน /นิมิตฺตํ” (Sīmā Stele boundary markers) หลักหินเพื่อการกำหนดเขตสีมา อาณาเขต/ปริมณฑลศักดิ์สิทธิ์/เขตบริสุทธิ์ในการประกอบสังฆกรรม จากอิทธิพลแนวคิดในการจัดวาง “หินตั้ง/หลักหิน” (Stone Stele) ใน “วัฒนธรรมหินตั้ง” (Megalithic Culture) ตามคติความเชื่อการบูชาอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือ “ผี” (Animism) ในเขตอีสานโบราณ ที่เคยมีการใช้หลักหินตามธรรมชาติมาตั้งปักล้อมรอบเขตแดน/พื้นที่ติดต่อกับผี-อำนาจเหนือธรรมชาติ"  มาตกแต่งตั้งวางเป็นวงล้อม กำหนดพื้นที่ให้เป็นอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์/เขตหวงห้ามของชุมชน มิให้ผู้คนทั่วไปในชุมชนเข้ามารบกวนในระหว่างการเซ่นสรวงบูชา สวดภาวนาอ้อนวอน การสังเวยชีวิตสัตว์ รวมทั้งการเฉลิมฉลองตามฤดูกาลประจำปีของชุมชน 
.
*** อิทธิพลการวางวงล้อมของวัฒนธรรมหินตั้งในอีสาน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการปักหลักหินนิมิตกำหนดเขตแดนศักดิ์สิทธิ์ตามคติพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก ในช่วงต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 14 นี้เองครับ
.
เหล่านักบวชและช่างปฏิมากรผู้ศรัทธาในพุทธศาสนาจากแดนรามัญตะวันตกที่เดินทางเข้าไปสู่อีสาน ไม่นิยมใช้หินที่ไม่มีรูปร่างชัดเจนตามธรรมชาติแบบดั้งเดิม แต่ได้เลือกหินขนาดใหญ่มากะเทาะสลักเสลา ปรับเปลี่ยนรูปเป็น “ดอกบัว” (Lotus) ตามความหมาย “สัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์” ที่เป็นคติความเชื่อสืบต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคอียิปต์ เปอร์เซียจนมาถึงวัฒนธรรมอินเดียโบราณ เปลี่ยนหินธรรมชาติมาเป็นหินรูปทรง “กลีบบัวยอดแหลม” (Mouldings) แบบคอดเอว/พุ่มข้าวบิณฑ์และแบบไม่คอดเอว ทั้งแบบแผ่นแบน/กึ่งแผ่นกึ่งกลม ทรงแท่งเสา 8 เหลี่ยม ยอดกระโจมยอคว่ำในความหมายของบัว 8 กลีบ และแท่งหินยอดแหลมในความหมายของยอดกลีบบัว  
.
ประมาณช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมาได้มีการพัฒนางานพุทธศิลป์บนแผ่นหลักหินนิมิตทรงกลีบบัว แกะสลักเป็นภาพเรื่องราวในวรรณกรรม “พุทธประวัติ” (The Life Story of the Buddha) และ “อรรถกถาชาดก” (Jātakaṭṭhakathā) อันงดงามตามคติฝ่ายเถรวาท ขึ้นเป็นจำนวนมากครับ
.
*** รูปศิลปะบนหลักนิมิตทรงกลีบบัวยอดแหลมแบบแผ่น 2 หน้า ยังได้มีการพัฒนารูปศิลปะบน “สันกลางของกลีบบัว” จากที่เคยเป็นสันมุมเตี้ย ๆ ตรงกลางหรือเป็นแผ่นเรียบ กลายมาเป็นสันนูนตรง สันนูนทรงกรวยชะลูดยอดแหลมตามรูปทรงของแผ่นหิน จนได้กลายมาเป็นรูปศิลปะอันงดงามและมีความหมาย   
.
ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 14 ได้มีการนำคติ “หม้อน้ำบรรจุกอบัวทั้งก้าน ใบและดอก ที่กำลังผลิดอกออกใบ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญงอกงามและความอุดมสมบูรณ์” ที่เรียกว่า “หม้อน้ำแห่งชีวิต /ปุรณะกลศปูรณะฆฏะ/อมฤตฆฏะ/ภัทรฆฏะ (Pūrṇa-Kalaśa /Pūrṇa-ghạta) ตามรูปสัญลักษณ์นิยมในคติพุทธศาสนา ที่ปรากฏในอินเดียและลังกา มาวางรูปศิลปะบนเชิงตีนของสันกลีบบัวกลางใบเสมา อาจวางบนฐานหรือวางเป็นแม่ลายเริ่มต้น แล้วแตกเป็น “พุ่มบายศรีทรงกรวยชะลูดแหลมขึ้นไปเป็นสันตรงถึงยอด”  ในความหมายของดอกบัว/พรรณพฤกษา เช่นเดียวกับรูปศิลปะที่แตกพุ่มใบออกด้านข้างของปากหม้อครับ   
.
รูปศิลปะของรูปกรวยทรงชะลูดที่ได้เข้ามาแทนรูปสันกลีบบัวเดิม มีการแกะสลักลายละเอียดเป็นกระหนกพรรณพฤกษา/ดอกบัว ที่แตกช่อใบตามคติการเจริญงอกงาม (ที่นำไปสู่ความอุดมสมบูรณ์) แต่หลายหลักหินนิมิต (ใบเสมา) ก็มีลูกเล่นทางศิลปะ บางใบวางหม้อน้ำแตกพุ่มเป็นทรงกรวยบายศรีชะลูด บางใบเสมานำหม้อน้ำและพุ่มดอกบัวไปวางไว้ด้านบน บางใบซ้อนชั้นหม้อน้ำทรงเดียวกันขึ้นไปแตกพุ่มเป็นทรงกรวยแหลมบายศรี หรือต่อเป็นหม้อทรงคนโทชะลูดสูง ซ้อนชั้น ไปจบด้วยยอดดอกบัวตูมกรวยแหลมบายศรี 
.
บางใบ (เสมา) ก็ต่อกรวยหม้อน้ำขึ้นจากปากหม้อโดยไม่มีลวดลาย แต่มีลายคั่นเป็นระยะ ต่อขึ้นไปเป็นกรวยบายศรีแหลมด้านบน จนคล้ายคลึงกับรูปสถูปยอดแหลม บนครั้งก็ประดับรูปธรรมจักร (Dhammacakka)  สัญลักษณ์สำคัญของฝ่ายเถรวาทขนาดเล็กที่ส่วนยอดครับ
.
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 รูปหม้อน้ำปูรณะฆฏะที่มียอดเป็นกรวยบายศรีและกลีบบัว (ดอกไม้ทรงกรวย) ขึ้นมาจากปากหม้อ ได้ขยายขนาดจากเส้นสันกลางกลีบบัว กลายมาเป็นรูปประดับขนาดใหญ่ขึ้น และบางใบยังได้มีการเปลี่ยนรูปพุ่มดอกไม้ (กรวยแหลม) มาเป็นรูปพุ่มดอกไม้ล้อมธรรมจักร ในความหมายว่าพระธรรม (จักร) จะนำทางชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง/ความแตกฉานทางปัญญา (พุทธิปัญญา)
.
*** พุทธศิลป์หม้อปูรณะฆฏะและกรวยพุ่มบายศรีบนสันกลีบบัวทรงใบเสมา ตามคติหลักนิมิตของพุทธศาสนาแบบเถรวาท/ทวารวดีอีศาน จะพบได้เฉพาะในเขตภาคอีสาน (ไทย/ลาว/กัมพูชา) เพียงแห่งเดียวในโลกเท่านั้นครับ   
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น