วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564

พระพุทธรูปยืนแบบบายนที่ปราสาทหินพิมาย

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พุทธศิลป์ “พระพุทธรูปยืนแบบบายน” ประธานแห่งปราสาทหินพิมาย
“จารึกพิมาย 3” (K.397) บนผนังกรอบประตูโคปุระชั้นใน ด้านหน้าฝั่งทิศใต้ของปราสาทหินพิมาย กล่าวว่า ปี 1651 “พระกมรเตงอัญศรีวิเรนทราธิบดีวรมัน” แห่งเมืองโฉกวกุล  (ป่าพิกุล) (Kamarateṇ Añ Śrī Vīrendrādhipativarma of Chok Vakula) ได้สถาปนา “กมรเตงอัญ เสนาบดีไตรโลกยวิชัย” (Kamarateṇ Jagatta Senāpati Trailokyavijaya) ไว้เป็นเสนาบดี (ผู้ดูแล) “พระกมรเตงอัญชคตวิมาย” (Kamarateṇ Jagatta Vimāya)  ทั้งยังกล่าวถึงการขุดตระพัง การถวายข้าพระ ข้าวสาร ถวายกัลปนาที่ดินโดยกำหนดและปักหลักเขตตามทิศต่าง ๆ โดยได้มีการเฉลิมฉลองสมโภชประจำปี “สังวัจฉรปุณณมี” และการถวายข้าพระที่ “ศรีวีเรนทราศรม” (Srī Vīrendrāshram) 
.
ต่อมมาในปี พ.ศ. 1655 ได้มีการถวายสิ่งของ 15 อย่าง รวมทั้งข้าพระ แก่กมรเตงชคตเสนาบดีไตรโลกยวิชัย โดยกมรเตงอัญศรีวีรพรม เพื่ออุทิศถวายแก่ “พระมหากมรเตงอัญศรีธรณินทรวรมเทวะ”  (Śrī Dharaṇīndra Varmadeva) “หรือพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 ครับ
เนื้อความของจารึกที่กรอบประตูนี้ ได้กล่าวถึงการสร้างเมืองวิมายปุระ ไว้ว่า “...ศกขึ้น 5 ค่ำ เดือนยี่ วันพุธ ได้สร้างเมือง ณ ที่ดินอันว่างเปล่า (ที่) ศรีวีเรนทราศรม และได้กั้นรั้วล้อมรอบที่ดินนั้น (ถวาย) ข้าพระ (ใน) บัญชีนี้ด้วย แล้วได้มอบให้คนใช้ของกมรเตงอัญเสนาบดีไตรโลกยวิชัยแบ่งกันทำงานเป็นรายปักษ์ (ณ) ศรีวีเรนทราศรมนั้น ให้ดูแลพิธีการนี้ ฯ...” อาจมีความหมายว่า มีการสร้างอาคารที่ปราสาทหินพิมายเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งอาจหมายถึงการสร้างอาคารโคปุระและกำแพงล้อมรอบนั่นเอง 
.
จากจารึกและรูปแบบคติความเชื่อ/งานศิลปะในไวษณพนิกาย อาจกำหนดอายุเวลาการสร้างปราสาทหินพิมายในส่วนที่รูปแบบของปราสาทประธานเรือนยอดทรงพุ่มแบบวิมานเชื่อมต่อมณฑปบนฐานขนาดใหญ่นี้ว่า ควรสร้างขึ้นในสมัยของ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” (Jayavarmandeva VI) ดังที่ปรากฏภาพสลักในคติความเชื่อความนิยมของฝ่ายไวษณพนิกายเรื่องรามายณะและพระกฤษณะ ครับ
.
ส่วนโคปุระและกำแพงชั้นนอก รวมทั้งโคปุระและระเบียงคดชั้นใน คงจะสร้างขึ้นตามหลักฐานจารึก K. 397 ที่ระบุว่ามีการสร้างเมืองในช่วงของพระเจ้าธรณินทรวรรมะเทวะ ซึ่งคงได้มีการก่อสร้างต่อเนื่องมาจนถึง พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 ก่อนจะชะลอการก่อสร้างออกไประยะหนึ่งด้วยเหตุผลทางการเมืองรวมถึงความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครอง ซึ่งในช่วงการก่อสร้างระยะที่ 2 นี้ มีการใช้หินทรายสีแดงคุณภาพต่ำเขามาแทนที่หินทรายสีขาวแทบทั้งหมด โดยจะใช้หินทรายสีขาวเฉพาะโครงสร้างสำคัญ อย่าง กรอบประตู กรอบหน้าต่าง เสา คานรับน้ำหนัก หน้าบัน เครื่องประดับและรูปประติมากรรม เท่านั้น 
.
*** ข้ามไปจนเมื่อราชสำนักเมืองพระนครเริ่มเสื่อมถอยอำนาจ ราชสำนักอนุวงศ์แห่งเมืองพิมายคงได้ปกครองอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนถึงช่วงปี พ.ศ. 1974 อาณาจักรอยุทธยาทางตะวันตก ได้ยกกองทัพเข้ามาตีเมืองพิมาย ดังปรากฏหลักฐานในข้อความ “จารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ”  (The Khun Sri jayaRajmongkoldep Inscription) สอดรับกับร่องรอยการรื้อทำลายประตูเมืองและกำแพงเมืองในยุควัฒนธรรมเขมรในเมืองพิมาย อีกทั้งสงครามในครั้งปราบเจ้าพิมาย (กรมหมื่นเทพพิพิธ) ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2311 ก็ล้วนแต่จะได้ความเสียหายแก่เมืองพิมายไม่มากก็น้อยครับ
.
------------------------------
*** คงเป็นการยากที่จะอธิบายได้อยากชัดเจนว่า รูปประติมากรรมสำคัญในห้องครรภคฤหะ  (Garbhagṛha) ของปราสาทประธาน ปราสาทหินพิมาย แต่แรกเริ่มก่อสร้างนั้นจะเป็นรูปอะไร แต่หากลองนำมุมมองของ “คติความเชื่อ” มาพิจารณา เริ่มจากลัทธิฮินดู “ไวษณพนิกาย” (Vaishnavism) ช่วงพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 รูปประธานก็ควรเป็นรูปพระวิษณุ (Vishnu/ Viṣṇu) หรือไม่ก็ยังคงเป็นรูปศิวลึงค์บนฐานโยนีแบบตรีมูรติ ดังปรากฏช่องรางน้ำโสมสูตรด้านมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของห้องครรภคฤหะเพื่อใช้ในพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับรูปศิงวลึงค์อยู่
.
แต่ดูเหมือนว่า ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา อนุวงศ์ผู้ปกครองเมืองพิมายได้เปลี่ยนแปลงคติความเชื่อ/ความนิยมมาเป็นพุทธศาสนานิกาย “วัชรยานตันตระ/ตันตระยาน” (Vajrayāna Tantric Buddhism) ได้มีการเปลี่ยนแปลงผังปราสาท รูปบนทับหลังเปลี่ยนมาเป็นพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ (ปัญจสุคต/ศรีฆนะ/พระธยานิพุทธเจ้า/ ฌานิพุทธเจ้า/Dhyāni Buddha) พระพุทธเจ้า 7 พระองค์ (สัปตมานุษิพุทธเจ้า) ตามคติฝ่ายมหายาน ทั้งยังปรากฏรูปศิลปะ/คติของ “พระวัชรสัตว์พุทธะ/อาทิพุทธะ/พระมหาไวโรจนะ” (Vajrasattva - Mahāvairocana) นางโยคิณี (Yogini) พระไตรโลกยวิชัย”  (Trilokyavijaya) / จักรสัมวรมณฑล (Cakrasaṃvara) พระคุหยสมาชอักโษภยวัชรมณฑล ฯ ตามคติฝ่ายวัชรยานตันตระ รูปประธานในห้องครรภคฤหะ จึงอาจถูกเปลี่ยนแปลงเป็นมาเป็นพระพุทธรูปนาคปรก ที่ปรากฏพระนามตามจารึก K. 397 ว่า “พระกมรเตงอัญชคตวิมาย” แต่ก็คงได้ถูกรื้อทำลายออกไปจากปราสาทภายหลังการสิ้นอำนาจของราชสำนักเมืองพระนครครับ
.
*** รูปประติมากรรมประธานของปราสาทหินพิมายตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา อาจเป็น “พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย” ที่มีความงดงามในงานศิลปะแบบบายน ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 องค์หนึ่ง ที่ถูกเคลื่อนย้ายมาจากจุดอื่นเข้ามาตั้งประดิษฐานไว้แทนรูปประธานเดิม (หรืออาจถูกย้ายเข้ามาในภายหลัง) โดยวางหันหน้าไปทางตะวันออกไม่หันไปทางทิศใต้ตามทิศด้านหน้าของปราสาทประธาน ดังปรากฏในภาพถ่ายเก่าของหอจดหมายเหตุสำนักฝรั่งเศสปลายบุรพทิศ (Archives EFEO) ในปี พ.ศ. 2496  เป็นพระพุทธรูปยืนสมภังค์ (Samabhaṅga) ยกพระกรทั้งสองขึ้นตั้งฉาก ซึ่งพระหัตถ์ควรปางประทานอภัย/อภัยมุทรา (Abhaya Mudra) ที่เป็นความนิยมในยุคสมัยนั้น
.
พระพุทธรูปยืนองค์นี้มีพุทธศิลป์ที่งดงามแปลกตา และมีเพียงองค์เดียวในงานศิลปะแบบบายนที่พบในเขตเมืองพิมาย จึงอาจเป็นพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่ง เค้าพระพักตร์ยังคงเป็นใบหน้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ( แบบท้องถิ่น) พระเกศาด้านหน้าทำมวยผมกลมก้นหอยตามแบบศิลปะทวารวดีอีศาน แต่มีไรพระศกแบบเขมร ส่วนด้านหลังพระเศียรสลักเป็นเส้นขีดของพระเกศาเรียบ ๆ แตกต่างจากด้านหน้าอย่างชัดเจน ห่มจีวรคลุมตามแบบพระศากยมุนีของฝ่ายมหายาน นุ่งจีวรทบหน้านางแบบเถรวาทประดับลายบัวรวนบนชั้นของผ้าทบ รัดพระองค์เป็นแถบผ้ามีลวดลายดอกไม้มีอุบะพวงระย้าห้อยเป็นระยะ ปั้นเหน่งกลางเป็นตาบสี่เหลี่ยมลายดอกไม้ 8 กลีบ  ปลายชายทบหน้านางโค้งไปเชื่อมรวมต่อกับชายผ้าจีวร ดูผิดไปจากรูปพระพุทธรูปยืนองค์อื่น ๆ ที่ชายผ้าจีวรจะยกรั้งขึ้นสูงกว่าชายผ้าสบงที่ซ้อนกัน 2 – 3 ชั้น ไม่รวมกันครับ  
.
*** คงเป็นการยากที่จะระบุเวลาของการประดิษฐานพระพุทธรูปยืนที่งดงามด้วยศิลปะแบบบายนอันแปลกตาองค์นี้ ว่าจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อใดในอดีต แต่อย่างน้อย พระพุทธรูปยืนองค์นี้ก็ได้เคยประดิษฐานเป็นประธานในปราสาทหินพิมาย มาก่อนการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2507 ก่อนจะถูกย้ายมาเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จนถึงในปัจจุบันครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น