วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564

พระศิวะเล่นกับศกัณฑะกุมาร

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
ประติมากรรม “พระศิวะเล่นกับพระสกัณฑะกุมาร” ได้กลับคืนสู่กัมพูชาแล้ว
เมื่อวันที่  29 กันยายน ที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาโดยกระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญ ได้รับมอบคืนโบราณวัตถุ อันเป็นงานศิลปกรรมชิ้นเอกที่มีความงดงามจำนวน 5 ชิ้น ภายหลังการเจรจากันมานานถึง 3 ปี จากครอบครัวของนายดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas Latchford) นักสะสมโบราณวัตถุชาวอังกฤษที่ได้ล่วงลับไปแล้ว 
.
แลทช์ฟอร์ดถึงแก่กรรมในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สิริรวมอายุได้ 89 ปี เขาได้ตามกว้านซื้อโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ลักลอบนำออกจากประเทศไทยและกัมพูชามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 จนถึงปี พ.ศ. 2503 ครับ   
.
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562  เขาได้ถูกตั้งข้อหาโดยสำนักงานอัยการสหรัฐ ฯ  ในข้อหาปลอมใบกำกับสินค้าและเอกสารอื่น ๆ เพื่อขายโบราณวัตถุให้กับพิพิธภัณฑ์ บริษัทประมูลและผู้ค้างานศิลปะหลายราย ในตลาดการค้าโบราณวัตถุ 
.
*** โบราณวัตถุชิ้นเด่นในการส่งมอบคืนจากครอบครัวแลทช์ฟอร์ดในครั้งแรกนี้ คือ รูปประติมากรรม “พระศิวะเล่นกับพระสกัณฑะกุมาร” (Shiva playing with Skanda) พระราชโอรสของพระองค์ ซึ่งเป็นงานศิลปะลอยตัวอันโดดเด่น จากการปรากฏบนหน้าปกหนังสือ “Adoration and Glory :The Golden Age of Khmer Art”  ที่รวบรวม/เขียนโดย นางเอมม่า ซี บังเกอร์  (Emma C. Bunker) และ ดักลาส แลตช์ฟอร์ด มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547
.
รูปศิลปะแสดงภาพของพระศิวะที่กำลังประทับ (นั่ง) สวดภาวนา (บำเพ็ญตบะ) ได้ถูกพระกุมารน้อยเข้ามาหยอกล้อ ด้วยการจับพระหัตถ์ทั้งสอง จนพระศิวะต้องผ่อนคลายพระหัตถ์และความเคร่งเครียดลงครับ
.
*** รูปประติมากรรมพระศิวะเล่นกับพระสกัณฑะกุมาร ถูกโจรกรรมไปจากปราสาทบริวาร ในกลุ่มปราสาทอิฐ 5 หลังของ “ปราสาทกระจับ” หรือ “ปราสาทกรอจับ” (Prasat Krachap) ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของบารายระฮัล บารายกลางเมือง “โฉกครรกยาร์” (Chok Gargya) หรือเกาะแกร์ (Koh Ker) มีกำแพงล้อมสองชั้น ชั้นในมี "โคปุระรูปกากบาท" ทางด้านหน้าและด้านหลัง ปีกทั้งสองข้างเป็นเสาอาคารรองรับหลังคาโครงสร้างไม้ ปลายของทั้งสองฝั่ง เป็นกำแพงศิลาแลง ด้านบนเป็นหลังคาหน้าจั่วขนาดใหญ่มีช่องสำหรับเข้าไม้คานหลังคา ด้านนอกจั่วสลักเป็นรูป “พระยมทรงกระบือ” เทพประจำทิศใต้ รายล้อมด้วย “ลายก้านขด” และ “ลายก้านขดรัดคู่” อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะเกาะแกร์  
.
ปราสาทกระจับเป็นศาสนสถานสำคัญในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ที่อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการพิธีการประกอบพิธีกรรมสถาปนา “เทวราชา” (Devarāja) ขึ้นเป็นสกลกษัตริย์แห่งอาณาจักรกัมพุชะเทศะ ตามคติไศวะนิกาย (Shivaite) ในปี พ.ศ.1471 (Śaka 850) ตามความที่ปรากฏในจารึก เสามุขหน้าของโคปุระตะวันตก (K.183-1) ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของพระองค์ที่มีสิทธิอันชอบธรรมในการสืบทอดพระราชบัลลังก์มาจากยุคนครหริหราลัย/ร่อรัว (Hariharalaya /Roluos) และกล่าวถึงการถวายข้าทาสกัลปนา จาก “สฺรุกฺ/ชุมชน” (Sruk) จากดินแดนทั่วอาณาจักรกัมพุชะเทศะ แด่ “พระ (ศิวลึงค์) ศรีตรีภูวนาเทวะ/แห่งองค์พระศิวะ” (Śrī Tribhuvanadeva) ผู้เป็นใหญ่ครับ        
.
ปราสาทกระจับ ได้รับสมญานาม “ปราสาทแห่งจารึก” ด้วยเพราะปรากฏจารึกบนเสาและกรอบทั้ง 4 ด้านของอาคารโคปุระ มากถึง 38 หลัก โดยเฉพาะโคปุระฝั่งตะวันตก แต่หลักที่ 2 (K.183-2) จนถึงหลักที่ 38 (K. 183-38) ล้วนแต่แสดงแสดงรายชื่อข้าทาสทำงาน ผู้คนชายหญิงและเด็ก (Gho,Gvāl,Tai,Tai Rat,Lap), จำนวนกว่า 11,000 คน จากสฺรุก/ชุมชนที่ปรากฏชื่อนามในจารึกเป็นจำนวนมาก  มาทำหน้าที่ต่าง ๆ รวมทั้งการถวายปศุสัตว์ สิ่งของ ผลผลิตและที่นา     
.
*** การได้รับรูปประติมากรรมพระศิวะเล่นกับพระสกัณฑะกุมาร จากปราสาทกระจับ เมืองเกาะแกร์ ที่ได้ถูกโจรกรรมออกไปเมื่อนานกว่า 60 ปีที่แล้ว คืนกลับมา จึงเป็นเรื่องที่น่าแสดงความยินดีกับชาวกัมพูชายิ่งนักครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น