วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

พระบรมสารีริกธาตุ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระบรมสารีริกธาตุ” ประดิษฐานในสถูปเจติยะสถาน เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ที่เมืองโบราณคูบัว

คติการประดิษฐาน “พระบรมสารีริกธาตุแห่งพระพุทธเจ้า” (Buddha’s Śarīra /Buddha's Relic) บรรจุในห้องกรุ (Chamber) ของสถูปเจติยะสถาน อาจเริ่มต้นมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ดังปรากฏความในวรรณกรรม/คัมภีร์/พุทธประวัติเรื่องการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุภายหลังการถวายเพลิงพระบรมศพพุทธสรีระองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เมืองกุสินารานคร โดยโทณพราหมณ์ ผู้เป็นทิศาปาโมกข์อาจารย์ของเหล่ากษัตริย์เป็นผู้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุมอบให้แก่ทั้ง 8 แว่นแคว้น    
.
ซึ่งในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 3 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชา ได้มีการขุดพระบรมสารีริกธาตุจากพระสถูปเจติยะ (Chaitya) เดิมในแต่ละแคว้นที่ชำรุดทรุดโทรม ขาดการทำนุบำรุง มาสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุกรุขึ้นใหม่พร้อมสิ่งของมีค่า/มงคล เพื่อเป็นการพุทธบูชา อีกทั้งยังได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุบางส่วนจากที่ขุดได้ จัดสรรไปประดิษฐาน/บรรจุไว้ในพระสถูปที่สร้างขึ้นใหม่ในเขตจักรวรรดิของพระองค์ครับ
.
จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ 10 – 11 เมื่อปรากฏอิทธิพลวัฒนธรรมพุทธศาสนาจากแคว้นอานธระประเทศ (Andhra Pradesh) ในเอเชียตะวันออกเฉียงอย่างเป็นรูปธรรม ได้มีการสร้างพระสถูปเจติยะสถาน (เจดีย์) ขึ้นเป็นศูนย์กลางของชุมชน/เมืองโบราณหลายแห่ง ตามคติ “มหาธาตุ” มีการบรรจุ/ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในตำแหน่งกึ่งกลาง ของพระสถูปในระดับเดียวกับจากพื้นโดยรอบหรืออาจสูงกว่าและลึกกว่าเล็กน้อย โดยนิยมทำเป็นห้องกรุขนาดเล็ก พร้อมบรรจุสิ่งของมีค่าในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นการพุทธบูชาลงไปในกรุพร้อมกันด้วย    
.
แต่กระนั้นสถูปเจติยะจำนวนมากในยุคเริ่มแรกช่วงต้นวัฒนธรรมทวารวดี ก็ได้ถูกขุดค้นหาสมบัติมีค่า ทำให้พระบรมสารีริกธาตุที่ถูกประดิษฐานไว้ในห้องกรุสูญหายไปเป็นจำนวนมากครับ
.
*** ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2504 – 2056 กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดสำรวจที่กึ่งกลางโบราณสถานทั้ง 44 แห่ง ในเขตเมืองโบราณคูบัว ที่เป็นเมืองโบราณในช่วงวัฒนธรรมทวารวดีขนาดใหญ่ ทางทิศใต้ของตัวเมืองราชบุรี ได้พบห้องกรุที่ประดิษฐานผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุกลางเจดีย์หมายเลข 1 (โคกนายใหญ่) ริมห้วยคูบัว มุมตะวันตกเฉียงเหนือ นอกแนวคันดินและคูน้ำฝั่งตรงข้ามทางรถไฟของเมือง ซึ่งเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก แผนผังจัตุรัสกว้างยาวประมาณ 6 * 6 เมตร ฐานล่างสูง 1 เมตร ชุดฐานเวทีพันธะ – อธิษฺฐานะ” (Vedībandha - Adhiṣṭhaāna) หน้ากระดาน เป็นบัววลัย/บัวลูกแก้วใหญ่ (Bua Valai) ท้องไม้แบ่งเป็นช่องด้วยเสาอิง คั่นกลางด้วยแถบลูกพักแบ่งท้องไม้เป็น 2 ชั้น ยกเก็จ 8 กระเปาะ เก็จประธานยกเก็จซ้อน 2 ชั้น ด้านบนพังทลายแต่ก็ควรเป็นส่วนขององค์ระฆัง รูปทรงอัญฑะ/ฟองน้ำ 
.
กรุตรงกลางเจดีย์หมายเลข 1 อยู่ในตำแหน่งสูงกว่าระดับพื้นดินด้านข้างเล็กน้อย เป็นตาราง 9 ช่อง แบบการวางทิศมงคลทั้ง 8 หรือ “ยันตรคละ” (Yantragaḷa)  ช่องกลางประดิษฐานผอบบรรจุพระบรมรีริกธาตุ ซ้อนกัน 3 ชั้น ชั้นนอกเป็นผอบสำริด ชั้นกลางเป็นผอบเงิน ฝาทรงกลีบดอกบัวซ้อน 2 ชั้น ชั้นในสุดเป็นผอบทองคำ มีเส้นฝ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร ยอดทรงกระบอกประดับแก้วควอทซ์ที่ส่วนปลาย ภายในมีพระบรมสารีริกธาตุ  5 พระองค์ สัณฐานคล้ายเมล็ดผักกาด ลูกปัดแก้วสีน้ำเงิน ก้อนทองคำบริสุทธิ์ ควอทซ์และก้อนดินครับ
.
เหนือช่องกลางที่บรรจุผอบถูกปิดด้วยแผ่นหินปูนขนาดเล็ก แกะสลักเป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิแบบไขว้ข้อพระบาทตามอิทธิพลของพุทะศิลป์แคว้นอานธระ มีสัญลักษณ์มงคลเป็นรูปพระสถูปหม้อน้ำและพระธรรมจักรสตัมภะแผ่รัศมี ตามคติแบบสถวีรวาทจากแคว้นอานธระประเทศ/อินเดียใต้ฝั่งตะวันออก 
.
*** เมื่อพิจารณารูปงานศิลปะของแผ่นหินแกะสลัก ที่ยังปรากฏคติพุทธศาสนาแบบอานธรนะประเทศ ทั้งธรรมจักรตั้งเสาและการไขว้ข้อพระบาท พระสถูปเจติยะสถานหมายเลข 1 นี้ จึงควรมีอายุการสร้างในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 13  
.
*** และเมื่อพิจารณาเทียบกับพระบรมสารีริกธาตุ ที่ขุดพบทางโบราณวิทยาจากพระธาตุนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ที่มีอายุอยู่ในช่วงประมาณต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 14 พระบรมสารีริกธาตุที่พบจากเจดีย์หมายเลข 1 เมืองโบราณคูบัว จึงได้ครองอันดับหนึ่ง ที่ถือได้ว่ามีความเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย (ที่ขุดพบจากงานโบราณวิทยา) ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้องวัฒนธรรมทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรีครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

พระพุทธรูปปางลีลา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระพุทธรูปลีลา/ประทานพร” ศิลปะราชวงศ์คุปตะ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

*** บันทึกของหลวงจีนฟาเหี้ยน (Faxian ,Fa-Hien) พระภิกษุในยุคราชวงศ์จิ้นตะวันออก ที่ได้เดินทางไปไปนมัสการสังเวชนียสถานที่สารนาถในปี พ.ศ. 945 ในยุคของพระเจ้าจันทรคุปตะที่ 2 วิกรมาทิตย์ (Chandragupta II Vikramaditya) แห่งราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 10 เขียนไว้ว่า  
.
“....คณะของเราออกเดินทางไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของแม่น้ำวรุณาประมาณ 10 ลี้ ได้มาถึงสังฆารามสารนาถ (อารามมฤคทายวัน) อันใหญ่กว้าง บริเวณฆาราวาสแย่งออกเป็น 8 ส่วน มีกำแพงล้อมอยู่โดยรอบแยกเป็นสัดส่วนจากพระภิกษุสงฆ์ แต่ละส่วนทำเป็นชั้นต่อกันขึ้นไปยื่นออกไปด้วยระเบียงทางเดินยาว นายช่างผู้ออกแบบได้แสดงฝีมือการก่อสร้างที่หาเปรียบไม่ได้ ขณะไปถึง มีพระภิกษุสงฆ์อาศัยอยู่ในบริเวณสังฆารามแห่งนี้ประมาณ 1,500 รูป เป็นสงฆ์ในนิกายสางมิตียะอันเป็นสาขาหนึ่งแห่งนิกายหินยาน...”
.
-------------------
*** “พระพุทธรูปยืนตริภังค์” (Tribhaṅga/เอียงสามส่วน) ปางประทาน/ลีลา มีแผ่นหลังเป็นประภามณฑล ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับถวายมาจากรัฐบาลอินเดีย/อังกฤษในครั้งเสด็จเยือนในปี พ.ศ. 2434 ดังปรากฏความใน “นิทานโบราณคดี” (พ.ศ. 2487) เรื่องที่ 7 ตอน “สืบพระศาสนาในอินเดีย” ความว่า
.
“...เวลาฉันเสาะหาของโบราณ ที่เนื่องด้วยพระพุทธศาสนา เจ้าพนักงานกรมตรวจโบราณคดีของรัฐบาลอินเดียเขาสงเคราะห์มาก ของโบราณเช่นพระพุทธรูปเป็นต้น ที่ยังไม่ได้ส่งเข้าพิพิธภัณฑสถานฉันไปพบสิ่งใด อยากได้เขาก็ให้ แต่เราก็ต้องเกรงใจเขา เลือกเอามาบ้างแต่พอสมควร ฉันได้พระพุทธรูปปางลีลาแบบสมัยคุปตะ ราว พ.ศ. ๑,๐๐๐ มาจากมฤคทายวันองค์หนึ่ง และมาได้รอยพระพุทธบาที่กล่าวมาแล้ว กับทั้งพระพุทธรูปและพระสถูปขนาดน้อยที่พุทธคยาอีกหลายสิ่ง ของเหล่านั้นฉันเอามาถวายพระเจ้าอยู่หัว เดิมโปรดให้ไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังย้ายเอาไปไว้ในพิพิธภัณฑสถาน ยังอยู่ที่นั่นทั้งนั้น...” 
.
*** พระพุทธรูปยืนปางประทานพร ศิลปะแบบคุปตะ ที่ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครองค์นี้ เป็นงานพุทธศิลป์แบบ “สกุลช่างสารนาถ” (Sārnāth Art) (“สารงฺค+นารถ – สารังคนาถ” /ที่พักพิงของหมู่กวาง) /ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (Isipatana Migadava) ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 10 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 11 สลักขึ้นจากหินทรายชูนาร์ (Chunar sandstone) สีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง กระหม่อมอุษณีษะกลมไม่โหนกสูง ไม่มียอดพระเจ้า มวยพระเกศาหยิกแบบก้นหอย ครองผ้าจีวรและสังฆาฏิแบบห่มคลุม ผ้าบางแนบพระวรกายแบบผ้าเปียกน้ำ ไม่มีรอยริ้วผ้า (ซึ่งอาจหมายผ้าไหมกาสี (Kashi Silk) เนื้อบางละเอียด มีความงดงาม มีคุณค่าและคงทน เป็นผ้าชั้นสูงที่นิยมของราชสำนักเมืองพาราณาสีมาแต่ยุคโบราณ) แต่ยังปรากฏลายเส้นผ้าย่น ลายเส้นจีบทบ ลายเส้นรัดประคดผ้าสบงแบบผูกปมปล่อยสายห้อย ผ้าสังฆาฏิจากข้อพระกรทั้งสองลงมาที่พระชงฆ์ ปลายรั้งขึ้นเหนือกว่าผ้าสบง พระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานพรแบบทิ้งพระกรฝั่งขวาตามแนวพระวรกาย แล้วแบพระหัตถ์หงายออก แยกพระกนิษฐา (นิ้วก้อย) ออกมาเป็นสัญลักษณ์ พระหัตถ์ซ้าย ชักรั้งผ้าขึ้นมากำลูกบวบ (หักหายไป) ที่แสดงถึงท่าเดิน (ลีลา)
.
พระพุทธรูปองค์นี้ เป็น “พระพุทธเจ้าสมณโคตม” ในนิกาย“สถวีรวาท”(Sthāvirīya) หรือนิกายหินยาน นิกายย่อย “สางมิตียะ/วาตสิปตรีย/วาตสิปุรียสางมิตียะ” (Samitīya) ผสมผสานกับคติมหาบุรุษ/เทพเจ้าของฝ่ายฮินดู (รูปลักษณ์แบบตริภังค์) ที่อาจเรียกว่า “นิกายคุปตะ” (ราชสำนักคุปตะนับถือ/นิยมลัทธิฝ่ายฮินดูแทบทุกสมัย) ใช้คัมภีร์เป็นภาษาสันสกฤต  เน้นคำสอนเรื่อง ขันธ์ 5 ในการเวียนว่ายตายเกิด เชื่อว่าทุกสิ่งเป็นอนัตตาไม่มีตัวตน ถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาไม่ใช่เทวดาหรือพระเจ้าแต่อย่างใด เพียงแต่มีคุณสมบัติบางประการเหนือมนุษย์สามัญเท่านั้น 
.
.
*** พรุ่งนี้ เราจะได้ไปเรียนรู้แบบชัด ๆ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กันครับ 
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร 
EJeab  Academy

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

พุดตานด้านซ่อน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พุดตาน ก้านขดม้วน เครือเถา ช่อหางและใบอะแคนตัส” พุทธศิลป์งามในพระพุทธบาทแห่งวัดพุทไธศวรรย์ 

“...ตรงกลางของจัตุรัสมีพระปรางค์ใหญ่ปิดทอง มี 4 ประตู ...มีบันไดศิลาปิดทอง... มหาธาตุนั้นประดิษฐานอยู่ภายในคูหาของพระปรางค์ ห้องนี้สร้างขึ้นเพื่อให้สามารถเดินประทักษิณได้โดยรอบพระมหาธาตุโดยไม่ต้องเข้าไปใกล้... ภายในพระปรางค์ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองปิดทองอีกด้วย...” (บันทึกคณะทูตชาวสิงหล ที่ได้มาเยือนวัดพุทธิสุวรรณ ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปี พ.ศ. 2239)
.
*** บริเวณช่องริมผนังภายในคูหาตรีมุขด้านหน้า ติดกับเรือนธาตุปราสาทของพระปรางค์ประธานวัดพุทไธศวรรย์ ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาทจำลอง” สลักขึ้นจากหินทราย ทั้งฝั่งทิศเหนือและฝั่งทิศใต้ โดยฝั่งทิศใต้ยังคงมีความสมบูรณ์ครบถ้วนกว่าฝั่งทางทิศเหนือ  
.
ในครั้งแรกสร้างนั้น พระพุทธบาทจำลองทั้งสองฝั่งน่าจะมีรูปแบบของการประดับและฐานขาสิงห์แบบเดียวกัน แต่พระพุทธบาทผนังฝั่งทางทิศเหนือถูกเจาะและทุบทำลายจนสิ้นสภาพ คงเหลือเพียงแต่ส่วนพระพุทธบาทที่แกะสลักจากหินทรายอยู่เท่านั้นครับ ในขณะที่ฝั่งทิศมีร่องรอยถูกเจาะบางส่วนครับ   
.
ถึงแม้ว่า รูปงานศิลปะของพระพุทธบาทสลักหินทรายทั้งสองจะแตกต่างกัน โดยพระพุทธบาทฝั่งทิศเหนือ สลักความยาวนิ้วไม่เท่ากัน ส่วนพระอังคุฐ (หัวแม่เท้า) ใหญ่กว่านิ้วอื่น ๆ ทำให้รู้ว่าเป็นพระบาทเบื้องขวา (พระพุทธบาททางฝั่งทิศใต้ ความยาวของนิ้วเท่ากัน) อีกทั้งยังสลักช่วงข้อนิ้วบุ๋มลงไปตามแบบนิ้วเท้าจริงของมนุษย์ (ทางทิศใต้ เป็นแผ่น 3 ปล้อง ปั้นรักเป็นลายม้วนก้นหอย) แต่ด้วยการจัดวางรูปแบบตะแคงตั้งขวางเพื่อประดิษฐานแบบวางพิง (ผนัง) วางสัญลักษณ์มงคล 108 ประการ (อัฏฐุตรสตมงคล) ในกรอบเส้นลวดแบบตารางไปจนสุดส้นพระบาท (พระบาททิศใต้ เว้นปลายเป็นช่องใหญ่) ไม่ได้จัดเรียงลำดับมิติสุคติภูมิอย่างชัดเจน ตามแบบแผนโบราณ (ลบเลือนไปมาก) พระองคุลีบาททั้ง 5 (พระอังคุฐ พระดัชนี พระมัชฌิมา พระอนามิกา พระกนิษฐา) หันไปทางซ้ายและร่องรอยของรูปทรงกลมของดอกบัวบานแบบซ้อนดอก ที่ล้วนมีลักษณะทางศิลปะร่วมกัน ประกอบกับลวดลายประดับปั้นรัก ปั้นปูน ลงรักปิดทองประดับกระจกเกรียบที่เหลืออยู่เกือบสมบูรณ์ของพระพุทธบาทฝั่งทิศใต้ ก็สอดรับกับลายประดับพระเจดีย์ทรงปราสาท ประธานภายในคูหาของพระปรางค์ รวมถึงลายประดับของฐานพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ที่ประดิษฐานในคูหามุขฝั่งทิศตะวันตก 
.
*** พระพุทธบาทจำลองทั้งสององค์นี้ จึงมีรูปแบบการจัดวาง ความตั้งใจสร้างเพื่อประดิษฐานในคูหาและงานพุทธศิลป์อยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ครับ
.
ลวดลายประดับของซุ้มพระพุทธบาททางฝั่งทิศใต้ ได้สะท้อนพัฒนาการของศิลปะอยุธยาที่รับอิทธิพลจากตะวันตกในช่วงเวลานี้ได้เป็นอย่างดี  เริ่มต้นจากการจัดวางฐานขาสิงห์ล่างสุด ที่ส่วนหลังสิงห์กลายมาเป็นลาดหลังคาหรือบัวคว่ำ จนเกิดเป็นสันคมระหว่างหลังสิงห์เเละท้องสิงห์ที่เรียกว่า “บัวหลังสิงห์” น่องสิงห์โค้งมีคิ้วประดับ กาบเท้าสิงห์ ครีบน่อง ครีบท้องเเละนมสิงห์ มีการใช้กระหนกรูปทรงกระจังเข้ามาประกอบ เหนือฐานสิงห์ประดับกระจังตาอ้อยและกระจังเจิม ต่อด้วยท้องไม้รองรับชั้นกลีบบัวหงายสอดไส้กระจังคว่ำ หน้ากระดานดอกไม้ต่อเนื่องแบบช่องกระจกกลม (ประดับกระจกเกรียบ) สลับดอกไม้กลีบ (ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นลายช่องกระจกแบบยาวสลับก้ามปูในช่วงอยุธยาตอนปลาย) ด้านบนปั้นปูนเป็นกระจังตาอ้อยวางตัวถี่ 2 ระดับ ฐานท้องไม้รองรับบัวลูกแก้วที่ปั้นปูนประดับเป็นบัวกลุ่ม วางกลีบบัวซ้อนแบบบัวคลุ่มสับหว่าง 4 ชั้น 
.
ด้านบนทำเป็นโครงหน้าบันสามเหลี่ยม ขอบลำยองคาดเส้นลูกปัดอัญมณี 2 เส้นคู่ ตรงกลางประดับกระจก ส่วนโค้งมีหยัก (นาค) สะดุ้ง ขอบนอกปั้นเป็นกระจังบัวรวนเรียงเฉียงต่อเนื่องขึ้นไปจนถึงยอด มุมขอบล่างทั้งสองฝั่งปั้นปูนเป็นกระจังกาบใหญ่ซ้อนชั้น วางลวดลายปูนปั้นแบบลงรักปิดทองบนพื้นรักดำที่เคยประดับกระจกเกรียบ พื้นที่ด้านล่างส้นพระบาทปั้นปูนเป็นก้านขดม้วน แตกใบฝรั่ง/อะแคนตัส (Acanthus) แบบหน้าบันวิหารวัดเตว็ด ไปตามก้านเครือเถาแบบอิทธิพลจีนครับ
.
ลวดลายประดับของกรอบสามเหลี่ยมหน้าบัน เป็นการผสมผสานศิลปะแบบอยุธยา/จีนและตะวันตก จัดวางรูปประธานกลางภาพเป็นดอกพุดตานแตกใบดอกโบตั๋นในรูปใบฝรั่งประดิษฐ์ แตกเถาเป็นก้านขดวง ก้านม้วนแบบเครือเถาไม้เลื้อย แตกใบเป็นกระหนกเปลว กระหนกตัวเหงา ต่อก้านด้านบนเป็นดอกพุดตานเล็กแตกใบ ก้านโค้งแตกเป็นใบฝรั่งม้วนเข้ามาด้านใน จบลายที่ปลายก้านเป็นช่อหางรูปพุ่มข้าวบิณฑ์และกระหนกสามตัว  ขอบล่างตรงกลางเป็นดอกไม้มีกลีบครึ่งดอกแบบลายจีนแต่ใช้รูปดอกไม้ตะวันตก
.
ดูเหมือนว่ารูปศิลปะของลวดลายกระหนกแบบผสมผสานอยุธยา/จีน/ตะวันตกจะพบได้เฉพาะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เท่านั้น เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจราชสำนักในเวลาต่อมา รูปศิลปะของใบอะแคนตัสได้หายไป ก้านจะเริ่มมีขนาดใหญ่ไม่แตกใบเป็นเถาแบบจีน แต่ยังคงลายนิยมลายก้านขดเป็นวง นิยมจบลายด้วยพุ่มช่อหาง
.
*** ลวดลายประดับของพระพุทธบาทในคูหามุขหน้าของปรางค์ประธานวัดพุทไธศวรรย์นี้ เรียกได้ว่า เป็นลายกระหนกแบบอยุธยาผสมผสานรูปศิลปะตะวันตกในโครงร้างการแตกพุ่มใบในงานสิลปะจีน ที่นิยมมาตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยาในยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่ยังคงมีความสมบูรณ์ หาชมความงดงามเช่นนี้ได้ยากแล้วครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

พระอวโลกิเตศวร

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” เมืองไชยา งามเมตตากรุณาที่สุดในประเทศไทย 
.
.
คติความเชื่อเรื่อง “พระโพธิสัตว์” (Bodhisatava) นั้น อาจเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 7  จากแนวคิดของ “พระอัศวโฆษ(Aśvaghoṣa)  ผู้รจนา “มหายานศรัทโธทปาทศาสตร์” (Mahayanasraddhotpatti) และ “พุทธจริต” (Buddhacarita)  อันถือเป็นคัมภีร์เล่มแรก ๆ ของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน (Mahāyāna Buddhism) ซึ่งต่อมาไม่นานนัก “ท่านนาคารชุนนะ” (Nāgārjuna) ได้รจนา “มาธยมิกศาสตร์” (Madhyamakakārikā) ผสมปรัชญาและวิถีปฏิบัติที่เด่นชัดของแต่ละนิกายในพระพุทธศาสนารวมเข้ากับปรัชญาโยคะของฝ่ายพราหมณ์มาอธิบายเป็น “ปรัชญาศูนยตาวาทิน” (Śūnyatā) จนเกิดเป็นนิกายมหายานขึ้นอย่างชัดเจน 
.
นิกายมหายาน แบ่งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ออกเป็นสามระดับที่เรียกว่า “ตรีกาย” (Tri-kāya) โดยระดับพุทะภาวะสูงสุดเรียกว่า “ธรรมกาย” (Dharma-kāya)  มี “พระอาทิพุทธ” ( Ādi) “พระวัชรสัตว์ – พระมหาไวโรจนะ” (Vajrasattva - Mahāvairocana) เป็นผู้กำเนิดพระธรรมและพระธยานิพุทธเจ้า 5 พระองค์ รองลงมาคือ  “สัมโภคกาย” (Sambhoga-kāya) คือ กายทิพย์ หมายถึงระดับของพระธยานิพุทธเจ้าและพระธยานิโพธิสัตว์ และ “นิรมาณกาย” (Nirmāṇakāya) หรือกายเนื้อ อันหมายถึงพระมานุษิพุทธเจ้าและพระมานุษิโพธิสัตว์ ที่จะบังเกิดเป็นกายมนุษย์ขึ้นบนโลกมนุษย์ครับ
.
ในคติมหายาน ผู้บำเพ็ญ “โพธิสัตว์บารมี” (Bodhisatava Pāramīs) อันได้แก่ ทาน (Dāna) ศีล (Sīla)  ขันติ (Kṣānti) วิริยะ (Viriya) ปัญญา (Prajñā) ญาณ (Dhyāna) ได้ถึง 6 ประการแล้ว จะบังเกิดเป็นพระเทวโพธิสัตว์ ที่มีพลังอำนาจสามารถแสดงปาฏิหาริย์และช่วยเหลือเหล่าสรรพสัตว์ได้ตามปณิธาน และหากบำเพ็ญ  พละ (Bala) ชญาณ (Jñāna) ปณิธาน  (Praṇidhāna) อุบายะ(Upāya) รวม 10 ประการ จะบรรลุสู่การตรัสรู้และนิพพาน
.
นิกายมหายาน ผู้บูชาพระพุทธเจ้าตรีกาย พระโพธิสัตว์และการปฏิบัติโพธิญาณบารมี ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ในราชสำนักและพระราชนิยมของเหล่ากษัตริย์และพระจักรพรรดิในแว่นแคว้นต่าง ๆ ของอินเดีย ส่งอิทธิพลความนิยมทั้งคติความเชื่อและงานศิลปะออกไปยังดินแดนต่าง ๆ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มต้นจากยุคราชวงศ์คุปตะ/อนุวงศ์แห่งแคว้นอานธระ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 – 11 จนมาถึงยุคของราชวงศ์ปาละในอินเดียตะวันออก ที่ได้แผ่อิทธิพลลงมาครอบครองคาบสมุทรมาลายู (Malay Peninsula)  สุวรรณทวีป (Suvarṇadvīpa) และยวาทวีป (Yavadvīpa –หมู่เกาะชวา) ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13     
 
*** พุทธศิลป์ของพระโพธิสัตว์ในครั้งแรกเริ่มนั้น นิยมทำเป็นรูป “พระโพธิสัตว์ถือบัวปัทมะ” (พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี / Padmapāṇi Bodhisattva) หมายถึงผู้ถือดอกบัวอันเป็นความรู้แจ้ง/บริสุทธิ์ ซึ่งในนิกายสุขาวดีจะนิยมสร้างรูป “พระโพธิสัตว์ปัทมะปาณี” คู่กับ “พระโพธิสัตว์มหาสถามปราปตะ” /Mahāsthāmaprāpta) หรือ “พระโพธิสัตว์วัชรปาณี” (Vajrapāṇi Bodhisattva) ในนิกายอภิรตี (ผู้ศรัทธาในพระพุทธเจ้าอักโษภยะ) ซึ่งต่อมาในยุคราชวงศ์คุปตะ-วากาฏกะช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา จึงได้เกิดความนิยมในพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่กำเนิดขึ้นจากพระอมิตาภะ และเปลี่ยนจากพระโพธิสัตว์วัชรปาณี มาเป็น “พระโพธิสัตว์ไมเตรยะ” (Bodhisattva Maitreya) ที่ประทับอยู่บนสวรรค์ รอการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า (กายเนื้อ) ในอนาคต ลงมาเป็นผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือนำพามวลมนุษย์สู่พระนิพพานแทนครับ   
.
ต่อมาคติพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ได้รับความนิยม ยกย่องนับถือและสรรเสริญมากกว่าพระอมิตาภะ (พระผู้ช่วยให้รอด) จนเกิดเป็นลัทธิของผู้บูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่เรียกว่า “โลเกศวร” ขึ้น เกิดการสร้างวรรณกรรมเพื่ออธิบายถึงอานุภาพแห่งมหากรุณาเพื่อปัดเป่าภัยร้ายของมนุษย์ 8 ประการ อันได้แก่ ภัยร้ายจากสัตว์ใหญ่ ภัยร้ายจากสัตว์มีเขี้ยว ภัยร้ายจากอมนุษย์ ภัยร้ายจากเรืออับปาง ภัยร้ายจากไฟ ภัยร้ายจากงู ภัยร้ายจากโจรและภัยร้ายจากภูตผีปีศาจ ต่อมายังเพิ่มเติมมหากรุณาที่ทรงโปรดคุ้มครองสรรพสัตว์ในโลกบาดาลและโปรดคุ้มครองแก่นักบวชผู้บำเพ็ญโพธิญาณบารมี
.
พระโพธิสัตว์ในคติมหายาน คือ สัตว์ที่แสวงหาโพธิญาณและอุทิศบุญกุศลที่สะสมไว้ให้แก่ผู้อื่น เปี่ยมไปด้วยพระเมตตากรุณาอันไพศาลต่อสรรพสัตว์อันเป็นหัวใจของคติมหายาน สละแล้วซึ่งโลกียะ ไม่ประสงค์เอาบุญกุศลของตนไปใช้เพื่อการสู่แดนพระนิพพานเพียงคนเดียว แต่ตั้งปณิธานที่จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ เพื่อช่วยเหลือมวลมนุษย์ให้พ้นทุกข์ นำทางไปสู่แดนสุขาวดีและพระนิพพาน 
.
 “เราจะเป็นที่พึ่งพิงของมวลมนุษย์ ...เป็นทางดำเนินเพื่อการหลุดพ้นจากห้วงทุกข์แห่งโลก”
.
--------------------
*** พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรยืนแบบตริภังค์ (Tribhaṅga) หักเหลือพระวรกายส่วนบนเหนือพระนาภี เหลือความสูง 64 เซนติเมตร พระกรขวาหักหายไปทั้งหมด พระกรซ้ายคงเหลือส่วนต้นพาหา มวยพระเกศา “ชฏามุกุฏ” ที่มีรูปพระอมิตาภะพุทธเจ้าด้านหน้าหักหายไป คงเหลือแต่อุณหิส (เทริด/กระบัง) สวมเครื่องประดับนิรมิต/ทิพย์ ทั้งมงกุฎ ลูกปัด กรอศอและพาหุรัด ประดับตาบอัญมณี คล้องสายมงคล “ยัชโญปวีท” (Yajñopavīta) ในรูปสร้อยสังวาล ทับอยู่บนผ้าหนังสัตว์มีรูปหัวเลียงผา/กวาง/แอนติโลป อันเป็นสัญลักษณ์ของนักบวชที่สละแล้วจากทางโลก ห่มเฉียงลงมาจากพระอังสะซ้าย  เป็นงานศิลปะแบบราชวงศ์ปาละ/อนุวงศ์คาบสมุทร/ศรีวิชัย/ราชวงศ์ไศเลนทรา ในคติมหายาน/วัชรยาน ในช่วงต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 14 พบที่วัดพระบรมธาตุไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อ พ.ศ. 2448 
.
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรองค์สำคัญจากเมืองไชยา ที่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครนี้ ได้แสดงเชิงช่างศิลปะที่สะท้อนให้เห็นความเมตตากรุณาที่เปี่ยมล้นอันเป็นคติสำคัญผ่านพระพักตร์อวบอิ่มอันแสนงดงาม มีพระอุณาโลมกลางพระนลาฏ พระขนงโก่งนูนโค้ง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เล็กเป็นกระจับ พระหนุนูนกลม พระเนตรมองเหลือบมองต่ำด้วยความอ่อนโยนครับ
.
.
*** โอมฺ มณิ ปทฺเม หูมฺ” (โอม-ม-ณี-ปทฺ-เม-หูม Oṃ - Auṃ maṇi padme hūṃ) 
“ดวงแก้วมณี (แสงสว่างเจิดจรัส) ได้อุบัติขึ้นจากดอกบัวแล้ว”.
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

พระพุทธรูปยืน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระพุทธรูปยืน” พุทธศิลป์ทวารวดีที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์

*** เช่นเดียวกับพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ที่สุดในยุควัฒนธรรมทวารวดี ที่ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ชั้นสองของอาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ...ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ก็ได้มีการรีโนเวทห้องจัดแสดงขึ้นใหม่ โดยได้มีการย้ายพระพุทธรูปยืนองค์สำคัญของเมืองนครปฐม มาประดิษฐาน/จัดแสดงขึ้นใหม่จนดูโดดเด่นยิ่งกว่าเดิม   
.
พระพุทธรูปยืนองค์นี้ มีขนาดความสูงประมาณ 2.5 เมตร น้อยกว่าพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ สลักขึ้นจากหินตะกอนประเภทหินปูนสีเข้ม (Limestone) มีพุทธศิลป์และเทคนิคการประกอบแบบเดียวกัน จึงน่าจะถูกแกะสลักขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 13 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นพระพุทธรูปแบบยืนตรง “สมภังค์”  (Samabhaṅga) ประกอบเป็นชิ้นส่วน 4 ชิ้น ชิ้นส่วนล่างของพระวรกายกลางพระอูรุ (ต้นขา) ลงไปถึงฐานบัวคว่ำบัวหงาย ชิ้นส่วนบนเริ่มจากกลางพระอูรุขึ้นไปสุดที่พระเศียร เจาะเนื้อหินเป็นช่องวางเหล็กรูปตัวไอเชื่อมต่อกันที่ด้านหลัง ชิ้นส่วนพระกรและพระหัตถ์อีกด้านละหนึ่งชิ้น เชื่อมต่อเข้ากับพระวรกายด้วยการเข้าเดือย (มีรูกลม) ตรงส่วนพระกะโประ (ศอก) แต่ก็หายไปทั้งสองข้างครับ  
.
พระพักตร์รูปทรงเหลี่ยมป้านมุม  มีรูปศิลปะแบบเดียวกับพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ แต่ดูฝีมือหย่อนกว่า พระพระนลาฏ (หน้าผาก) แบนแคบ พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปนเหลือบต่ำ (แบบตา นก นอน) สลักเส้นพระกาฬเนตรที่กลางพระเนตร พระนาสิกเป็นสัน (แตกหัก) พระโอษฐ์หนาดูบึ้งตึง พระหนุ (คาง) โปนเล็กน้อย พระกรรณยาว ขมวดพระเกศาเป็นก้นหอยใหญ่วางตัวสับหว่างเรียงต่อขึ้นไป อุษณีษะต่อจากส่วนกะโหลก โปนขึ้นเล็กน้อยยังไม่แยกออกไปชัดเจน พระรัศมี (ยอดพระเจ้า) เป็นดอกบัวตูมเตี้ย ๆ  พระศออ้วนกว้าง  
.
องค์พระพุทธรูปห่มผ้าจีวรแบบห่มคลุมเรียบแนบเนื้อ ยกพระหัตถ์ขึ้นสองข้างในระดับเดียวกัน แสดงวิตรรกะมุทรา (แสดงธรรม) อันเป็นความนิยมในยุคสมัยนั้น การห่มคลุมของจีวรแบบสมมาตรทำให้เกิดการรั้งจีวรขึ้นทั้งสองข้างเป็นสันผ้าตรงจากข้อพระหัตถ์ลงมาเท่ากัน ปลายผ้าจีวรแยกเป็นริ้วทบ ชายจีวรด้านหน้าถูกรั้งขึ้นสูงกว่าชายผ้าด้านหลัง ทำให้เกิดเส้นโค้งด้านหน้าพระชงฆ์เป็นรูปตัว U ทับอยู่บนชั้นผ้าสบง โดยมีผ้าจีวรที่ทบกันปิดด้านหลังอีกทีหนึ่ง ส่วนพระชงฆ์ใต้พระชานุกลม (หัวเข่า) สลักเป็นสันคมลงมาถึงข้อพระบาท อันเป็นลักษณะเด่นของช่างศิลปะเมืองนครชยศรีโบราณ พระโสณีคาดแถบรัดประคด มีชายผ้าจีวรนูนขึ้นมาตรงกลางแล้วยุบลงระหว่างพระเพลา ฐานเป็นกลีบบัวคว่ำบัวหงาย (สภาพแตกหัก) ครับ  
 
.
ด้วยเพราะนุ่งจีวรแบบห่มคลุมตามพุทธศิลป์ของฝ่าย “มหายาน” (Mahāyāna)  พระพุทธรูปยืนองค์นี้จึงเป็น “พระอมิตาภะพุทธเจ้า”  (Amitābha Buddha) พระพุทธเจ้าผู้ลงมาโปรดรับดวงวิญญาณมนุษย์ ขึ้นไปยังแดนสุขาวดี แสดงวิตรรกะมุทราทั้งสองพระหัตถ์ ตามคติฝ่ายมหายาน/สุขาวดี ที่นิยมในงานศิลปะทวารวดีตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 13 เช่นเดียวกับพระยืนองค์ใหญ่ 
.
***และด้วยเพราะมีขนาดใหญ่โตกว่าพระพุทธรูปยืนในงานศิลปะทวารวดีโดยทั่วไป พระพุทธรูปยืนองค์นี้จึงน่าจะเคยเป็นพระประธานในศาสนสถานแห่งใดแห่งหนึ่งในอดีตของเมืองโบราณนครชยศรี ที่ปัจจุบันอาจได้ถูกเสื่อมสภาพไปแล้วครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” วัดศรีสวาย ศิลปะเขมรรุ่นสุดท้ายในรัฐสุโขทัย ไกลสุดจากเมืองศรียโศธระปุระ 

งานศึกษาทางโบราณคดีในปี พ.ศ. 2556 (ภาณุวัฒน์ : 2556) กล่าวถึงทับหลังจากวัดศรีสวายไว้ว่า “...ทับหลังรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ศิลาทราย มีขนาด 29 x 141 เซนติเมตรพบที่ปราสาทหลังกลาง สลักภาพพระนารายณ์หรือพระวิษณุ บรรทมเหนือพญาอนันตนาคราชแผ่พังพานเจ็ดเศียร มีก้านบัวผุดจากพระนาภี เหนือก้านบัวเป็นรูปพระพรหมนั่งประนมหัตถ์ปลายพระบาทมีพระลักษมีประคองพระชงฆ์ และถัดไปเป็นรูปโยคีนั่งประนมหัตถ์ ในการกำหนดอายุสมัยของนักวิชาการยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันไปกล่าวคือ หากพิจารณาจากรูปแบบทางศิลปะ พระนารายณ์มีลักษณะการบรรทมราบ และรูปโยคีนั่งมีสายโยคปัฏฏะรัด อาจมีอายุเก่าแก่สุดร่วมสมัยศิลปะเขมรแบบบาแค็ง (พ.ศ. 1426 – 1468) จนถึงศิลปะเขมรแบบบาปวน (พ.ศ. 1553 –1623) หรืออาจเป็นฝีมือของช่างพื้นเมืองที่เลียนแบบศิลปะรุ่นเก่า กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18...” 
.
การขุดตรวจชั้นดินข้างกำแพงชั้นในฝั่งตะวันตกติดกับอาคารวิหารน้อย ได้แสดงว่า ปราสาทวัดศรีสวายเป็นปราสาทที่มีอายุน้อยที่สุดในบรรดาปราสาทยอดวิมานแบบเขมรที่สร้างขึ้นในเขตเมืองสุโขทัย คือมีอายุการก่อสร้างในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ตรงกับช่วงยุคสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ที่เมืองพระนคร และสมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ศรีอินทรบดินทราทิตย์-พ่อขุนบางกลางหาว) จนถึง พญารามราช/พ่อขุนรามคำแหง (พระบาทกมรเตงอัญศรีรามราช) ในช่วงต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 19 ครับ
.
หินที่ใช้ในการก่อสร้างปราสาททั้งหมดคือ “หินศิลาแลง” (Laterite) อันเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น แต่เลยชั้นเรือนธาตุขึ้นไปเป็นการก่ออิฐทั้งหมดซึ่งเป็นการก่อสร้างยอดใหม่ในสมัยอยุทธยา รูปแบบการก่อสร้างเดิมเป็นงานสถาปัตยกรรมทรงปราสาทยอดศิขระวิมาน ปราสาทวัดศรีสวายในครั้งแรกสร้างยังคงเป็นปราสาทสามยอดในคติวัชรยาน ที่เป็นความนิยมของราชสำนักผู้ปกครองสุโขทัยเดิมในจักรวรรดิบายน ตามแบบปราสาทพระพายหลวง ดังที่มีการพบรูปเคารพสำริด พระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืนปางแสดงธรรม (พระวัชรสัตว์ /อาทิพุทธ) ภายในปราสาท     
แต่กระนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองครั้งใหญ่ทั้งในเมืองพระนครและในสุโขทัยในยุคปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ที่ดูเหมือนว่ากลุ่มอำนาจใหม่ของทั้งสองรัฐ (พ่อขุนศรีอินทราทิตย์/สุโขทัย และพระเจ้าชัยวรมันที่ 8) จะมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ และมีความนิยมในคติความเชื่อแบบลัทธิฮินดูเดียวกัน ดังพระนาม “อินทรา” ที่หมายถึงพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ พระนาม “รามราช” ที่แสดงถึงพระนามพระอวตารแห่งองค์พระวิษณุ ปราสาทวัดพระพายหลวงจึงอาจได้ถูกเปลี่ยนแปลงมาเป็นเทวาลัย 3 หลัง ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นเวลาที่ได้มีการประดับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์/วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ ที่ปราสาทหลังกลางครับ   
*** ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่พบจากปรางค์ปราสาทวัดศรีสวาย สลักขึ้นตามขนบแบบแผนงานศิลปะแบบเขมรโบราณ ในคติ “ตรีมูรติ” (Trimurti) ดังปรากฏภาพของ “พระศิวะ” (Shiva) ในรูปของฤๅษี ประทับ (นั่ง) ในท่าโยคาสนะ (Yogāsana) แบบชันเข่าและไขว้ข้อเท้าทั้งสองข้าง (อุตกูฎิกาสนะ) มีสายนาคเป็น “สายโยคปัฏฏะ” (Yogapaṭṭa) รัดพระชงฆ์ทั้งสองข้าง (การทรมานเพื่อบำเพ็ญตบะของฝ่ายไศวะนิกาย) ด้านหลังเป็นวงรัศมีและรอยสึกกร่อนแบบแนวของใบไม้ ซึ่งควรหมายถึงต้นไทรที่ประกอบในพระภาคโยคะทักษิณามูรติขององค์พระศิวะ ตรงกลางเป็น “พระวิษณุ” (Viṣṇu) 4 กร และพระนางลักษมีกำลังปรนิบัติ ตามคติการสร้างโลกใหม่ มีรูปนาค 7 เศียร สวมมงกุฎเล็ก และกลีบบัวเกสรเรียงแถวตั้งตรงปิดขอบด้านซ้ายอยู่เหนือพระเศียร ด้านบนมีรูปโค้งต่อเนื่องคล้ายคลื่นน้ำ ?  มีรูป “พระพรหม” (Brahmā) ขนาดเล็ก แสดงอัญชลีบนดอกบัว ขนาบข้างด้วยเครื่องสูง "พัดโบก/วาลวิชนี” (แบบหางนกยูง)" รูปตัว V มีแกนกลาง ที่แผ่ใบออกเป็นลายขนนกซ้อน 3 เล่ม   
.
*** เมื่อพิจารณาขนาดของหิน การจัดวางตำแหน่งของภาพสลักและการเข้าหินด้านข้าง ได้แสดงให้เห็นว่า หินทรายที่นำมาใช้มีความกว้าง*ยาวเท่ากับผนังคานบนของช่องประตูปราสาทประธาน แกะสลักภาพตรงกลางแบบสมมาตรตามขนาดประตู (ประมาณ 1.1 เมตร) โดยเว้นปลายหินทั้งสองข้างด้านละประมาณ 15 เซนติเมตร ให้เป็นพื้นที่เดือยหิน เพื่อสอดเข้ากับช่องรูของผนังกำแพงด้านข้างอย่างพอดิบพอดีครับ
.
ทับหลังนี้ แกะสลักขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกับการสร้างปราสาทเป็นเทวาลัย ช่วงประมาณปลายสุดของพุทธศตวรรษที่ 18   
.
*** ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากวัดศรีสวาย จึงเป็นงานศิลปะตามขนบแบบแผนเขมรโบราณเพื่อประกอบเข้ากับกรอบประตูปราสาทเทวาลัยรุ่นสุดท้ายในรัฐสุโขทัย และยังเป็น “ทับหลัง” ที่ปรากฏอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางอาณาจักรกัมพุชะเทศะที่เมืองศรียโศธระปุระมากที่สุดอีกด้วยครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy

พระแม่ธรณีบิดมวยผม

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พุทธศิลป์และคติ “พระแม่ธรณี” ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกและในประเทศไทย   

ชื่อนาม “พระแม่ภูมิเทวี” (Bhūmi Devi ) (พระแม่แห่งแผ่นดิน - Goddess Earth - Mother Earth - Mother goddess ) “พระปฤธวีเทวี” (Pṛthivī  Devi Goddess/พระแม่แห่งโลก) “พระแม่วสุธา” (พสุธา/Vasudha) “พระแม่เอลร่า” (Ella) “พระแม่เอลลาวาติ” (Elavaani) “พระแม่วสุนธรา” (Vasundharā) “พระแม่ธรติ” (Dharti) “พระกษิติ” (Kṣiti)/ “พระกษิติครรภะโพธิสัตว์” (Kṣitigarbha Bodhisatava) มหาโพธิสัตว์แห่งปัฐพีและเจ้าแห่งนรก จนมาถึงชื่อนามของ “พระแม่ธรณี” (Dharaṇī) “พระแม่ธรณี” (Phra Mae Thorani) ล้วนแต่เป็นชื่อนามของเทพีแห่งโลก มารดาผู้ให้กำเนิด/หล่อเลี้ยงโลกและแผ่นดิน (Earth Deity) เทวีแห่งแผ่นดินผู้อำนวยความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง ค้ำจุนสิ่งมีชีวิตทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์ ซึ่งในคติวรรณกรรมและงานศิลปะทางพุทธศาสนาช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 17 ยังไม่เคยปรากฏเรื่องราวการ “พระแม่ธรณีบิดมวยผม” (Hair-wringing)  ร่วมอยู่ในพุทธประวัติตอน “ผจญมาร/มารวิชัย” (Assault of Māra/Māravijaya) มาก่อน
.
ร่องรอยเก่าแก่ที่สุดในเรื่องพระแม่ธรณี/วสุนธรา ตามวรรณกรรมพุทธประวัติ ปรากฏใน “มหาวัสดุอวทาน” (Mahāvastu Avadāna) และ“ลลิตวิสตระสูตร” (Lalitavistara Sūtra) คัมภีร์พุทธประวัติที่มีเรื่องราวอำนาจปาฏิหาริย์ของพระมหาโพธิสัตว์-พระศากยุมนี ปรากฏครั้งแรกในแคว้นคันธาระ (Gandhara) ช่วงพุทธศตวรรษที่ 5-6 เริ่มต้นมาจาก “มหานิทานไวปุลยสูตร” (Vaipulya Sutra) ที่เป็นพุทธประวัติของนิกายสรวาสติวาท (Sarvāstivāda) ซึ่งในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 7  “นิกายมหายาน” (Mahayana) ที่ได้พัฒนาแนวคิดขึ้นมาจาก “นิกายมหาสังฆิกะ” (Mahāsāṃghika) ผสมผสานกับคติ “บารมี 6 ประการแห่งพระโพธิสัตว์” ของฝ่ายนิกายสรวาสติวาท ได้นำลลิตวิสตระสูตรมาใช้จนกลายเป็นพุทธประวัติของฝ่ายมหายานครับ 
.
งานพุทธศิลป์พระแม่ธรณี/วสุนธรา ในวรรณกรรมพุทธประวัติตอนผจญมารที่เก่าแก่ที่สุด ปรากฏอยู่บนคานกลาง ฝั่งด้านในซุ้มประตูโตรณะฝั่งทิศใต้ของสถูปสาญจี (Sanchi Stupa) สร้างขึ้นประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 5 ช่วงราชวงศ์สาตวาหนะ (Sātavāhana) เป็นภาพของพระธรณี ในรูปแบบ “สตรีถือหม้อน้ำ “กลศ/ปูรณฆฏะ/ปูรณกลศะ”(Pūrṇa-ghạta/Pūrṇa-Kalaśa) ตามความหมายของ “เทวีแห่งความอุดมสมบูรณ์/มารดาผู้ให้กำเนิดหล่อเลี้ยงโลกและแผ่นดิน” เป็นพยานในสิทธิการประทับบนโพธิบัลลังก์อันเป็นแก่นกลางแห่งโลก เพื่อการตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ/อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า ตามที่ทรงมีพระคาถา (Gāthā) ร้องขอให้มีสักขีพยาน (Witness) ยืนยันแก่พญามาร โดยแสดง “ภูมิสปรรศมุทรา” (Bhūmiśparṣa Mudrā) หรือ “ปางโลกสัมผัส” (Earth-touching) หย่อนพระหัตถ์ขวาจากพระเพลาลงต่ำ ให้พระมัชฌิลงแตะสู่พื้นปฐพี  ซึ่งพระแม่ธรณีได้ใช้น้ำ (จากหม้อน้ำกลศ) ชโลมใจที่บอบช้ำในความพ่ายแพ้ของพญามาร ดังปรากฏความใน “พุทธจริต” (Buddhacarita) ที่รจนาโดยพระอัศวโฆษ (Aśvaghoṣa) ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 7 ความว่า 
.
 “...แล้วแผ่นดินก็สั่นไหว แผดเสียงดังกึกก้องกัมปนาท จนเจ้าแห่งความมืด (Lord of Darkness) และกองทัพอันเกรียงไกรล้มลงบนพื้น เขาหวาดกลัว หยาดเหงื่อท่วมกาย ความสง่างามทั้งหมดของเขามลายหายไป เขาเห็นใบหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นความแก่ชรา (ไม่ยั่งยืน) เขาทุบหน้าอกและร้องไห้ออกมา .... กองทัพของเขาพ่ายแพ้แตกกระเจิงหนีออกไปทุกทิศทาง ...เทพีแห่งต้นไม้อันทรงปัญญา (หมายถึงพระแม่ธรณี) บังเกิดเป็นความสมเพชเวทนา จึงเอาน้ำทิพย์โปรยปรายให้แก่กัลยาณมิตรแห่งความมืด แล้วกล่าวว่า ...จงลุกขึ้นเถิดพญามาร แล้วจงถอยกลับออกไป ยอมพ่ายแพ้แก่พระธรรมคำสอนเถิด....”
.
*** พุทธศิลป์ของพระแม่ธรณี/วสุนธรา ถือหม้อน้ำ (อาจปรากฏคู่กับรูปพญามารแสดงความเศร้าโศก) ใต้รูป ภูมิสปรรศมุทรา นิยมต่อเนื่องมาในงานศิลปะแบบคันธาระในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7-9 ราชวงศ์คุปตะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 9-11 ราชวงศ์ปาละช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-16 ราชวงศ์ไศเลนทรา/ศรีวิชัย/ปาละแห่งคาบสมุทรช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-16 และอาณาจักรพุกามช่วงพุทธศตวรรษที่ 16–19 ครับ 
.
แต่กระนั้น จนถึงพุทธศตวรรษที่ 17 ก็ยังไม่เคยปรากฏวรรณกรรมและศิลปะ “พระแม่ธรณีบิด/บีบมวยผม  ให้เกิดเป็นน้ำประดุจมหาสมุทร ขับไล่กองทัพพญามาร” (Winging the waters of detachment out of her hair to drown Mara) แต่อย่างไร  
.
เมื่อพุทธประวัติฝ่ายมหายานในภาษาสันสกฤต (Sanskrit Script) และปรากฤต (Prakrit Script) จากอินเดีย/อานธระประเทศ ได้เริ่มส่งอิทธิพลเข้าสู่เกาะลังกา/สิงหล วรรณกรรมพุทธศาสนาถูกเปลี่ยนเป็นภาษาบาลี (PāIi) ผสมผสานเข้ากับคติพุทธประวัตินิกายเถรวาท (Theravāda) แบบดั้งเดิม เรื่องราวของพระแม่ธรณีจึงได้เข้ามาสู่วรรณกรรมพุทธประวัติแบบลังกาเป็นครั้งแรก โดยปรากฏความ “....การร่ายรำของพระแม่ธรณีในท่ามกลางมหาสมุทรที่ล้อมรอบโพธิบัลลังก์ เกิดคลื่นใหญ่อันมโหฬาร โลกสั่นสะเทือนเหวี่ยงหมุนรอบทิศ” ขึ้น
.
*** การใช้น้ำพรมกองทัพพญามารจากพุทธจริตมหายาน ประกอบกับเรื่องราวอานุภาพของพระแม่ธรณีประดุจมหาสมุทรจากลังกา การหลั่งน้ำทักษิโณทกเพื่ออุทิศผล หรือเป็นสักขีพยานในคำปฏิญาณ และรูปศิลปะที่แสดงความงดงามของสตรีแบบสาวงามเล่นมวยผม อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การเกิดรูป“พระแม่ธรณีแบบบิดมวยผม” ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปรากฏในวรรณกรรมของฝ่ายพุกาม รูปศิลปะของอารกัน/ยะไข่ ศิลปะเขมรโบราณที่พบในประเทศกัมพูชาและไทยครับ
.
พุทธศิลป์ในพุทธประวัติตอนมารผจญที่ปรากฏภาพของพระแม่ธรณีที่สำคัญในงานศิลปะเขมร คือภาพสลักนูนสูงข้างซุ้มประตูด้านนอกปีกทิศเหนือ โคปุระตะวันออกของปราสาทตาพรหม และทับหลังเหนือซุ้มประตูที่อยู่ติดกัน แสดงภาพพระแม่ธรณีในแบบ “สาวงาม (อัปสรา) เล่นมวยผม” ผุดขึ้นจากดอกบัว ใต้ภาพพระพุทธเจ้าใต้ซุ้มต้นโพธิ์ที่ถูกสกัดทำลาย ฐานะผู้เป็นสักขีพยาน ไม่บิดมวยผม ไม่ปรากฏศิลปะคลื่นน้ำหรือมหาสมุทรประกอบ เช่นเดียวกับทับหลังซุ้มประตูทางตะวันตกของปราสาท ที่แสดงภาพของพระแม่ธรณี ยกแขนชูปัทมบัลลังก์ ( ภาพพระพุทธเจ้าถูกสกัดออก) ในฐานะสักขีพยาน อีกทั้งหน้าบันภายในปราสาทบันทายกุฎี (บันเตียกะเดย) ได้แสดงภาพพระแม่ธรณีแบบนางอัปสราถือดอกบัว และภาพสลักพระแม่ธรณีเล่นมวยผมบนหลักหินจากปราสาทพระป่าลิไลย ทั้งหมดแสดงภาพพระแม่ธรณีในฐานะสักขีพยาน ไม่ปรากฏภาพศิลปะการบิดน้ำออกจากมวยผมเพื่อขับไล่กองทัพพญามารแต่อย่างใด
.
--------------------------------
*** ส่วนในประเทศไทย พระแม่ธรณีบิดมวยผมที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุประมาณช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 19  อาจเป็นรูปโขนราชยานคานหามสำริดที่จัดแสดงอยู่ที่ Cleveland Museum of Art สหรัฐอเมริกา ที่ควรพบจากจังหวัดสุพรรณบุรี (สุวรรณปุระ) แสดงรูปสตรีร่ายรำแบบ “นางฑากิณี” (ḍākinī - Dakini) (มีเชือกคล้องไขว้ที่หน้าอก /ยักษิณี)  พลังเพื่อการปกปักษ์รักษานักบวชในคติวัชรยานตันตระใต้รูปพระศากยมุนีแสดงภูมิสปรรศมุทรา แสดงท่าจับมวยผมบิดทั้งสองมืออย่างชัดเจน ขนาบข้างด้วยรูปมารถือโล่และกระบอง ซึ่งไม่ปรากฏรูปศิลปะนางฑากิณีบิดเส้นผมด้วยสองมือ (ให้เกิดน้ำ) เช่นนี้ ในเขตเมืองพระนครครับ 
.
รูปพระแม่ธรณี ที่น่าจะพบจากสุพรรณบุรีอีก 2 รูป จัดแสดงอยู่ที่ Metropolitan Museum of Art สหรัฐอเมริกา เป็นภาพพญามาร “วัสวัตตี” (Vasavatti) และช้างศึก “คีรีเมขลา” (Girimekhalā) เคลื่อนไปทางขวาของภาพ ปรากฏรูปพระแม่ธรณีผุดขึ้นจากดอกบัวแสดงอัญชลีอยู่ที่หน้างวงช้าง อีกชิ้นหนึ่งเป็นภาพพญามารแสดงอัญชลียอมพ่ายแพ้ รูปช้างที่แสดงท่าก้มศิโรราบเดินออกไปทางขวา โดยปรากฏรูปของพระแม่ธรณียกแขนทั้งสองบิดมวยผม (เพื่อให้เกิดน้ำ) อยู่ที่ด้านหลังของช้าง
.
รูปแบบการจัดวางให้พญามารไสช้างเข้าและขี่ช้างออกไปอีกด้านหนึ่งด้วยความพ่ายแพ้ ก็ไม่ปรากฏความนิยมในงานศิลปะเขมรทั้งในยุคศิลปะบายนและศิลปะเถรวาทในเขตกัมพูชา ปรากฏเฉพาะภาพการไสช้างของกองทัพมารจากสองด้านเข้าหาจุดศูนย์กลาง (รูปพระพุทธเจ้า) อย่างเช่นบนหน้าบันวัดเทพประนัม (Tep Pranam Temple) ที่มีอายุประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ครับ
.
*** พุทธศิลป์พระแม่ธรณีบิดมวยผม ยังพบเห็นจากกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี ในเว็บไซต์ของ มูลนิธิ The Norton Simon Foundation เป็นส่วนฐานพระพุทธรูปสำริดแบบประกบหลายชิ้นของรัฐสุวรรณปุระ หล่อฉลุลวดลายที่ท้องไม้เป็นภาพของพระแม่ธรณีบิดมวยผม โดยมีภาพกองทัพพญามาร แสดงความฮึกเหิมเข้ามาจากด้านซ้ายและยอมศิโรราบออกไปทางด้านขวา เช่นเดียวรูปแผ่นสำริด 2 ชิ้นของ MET 
.
ถึงแม้พุทธศิลป์พระแม่ธรณีบีบมวยผม จะพบเห็นในงานศิลปะแบบพุกามและเขมร จากอิทธิพลวรรณกรรมพุทธศาสนาลังกาวงศ์ ตั้งแต่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 แต่กระนั้นก็ยังไม่ได้แสดงคติ “พระแม่ธรณีบีบมวยผม ให้เกิดเป็นน้ำหลากประดุจมหาสมุทร เพื่อขับไล่กองทัพพญามาร” อย่างชัดเจน นอกจากคติสาวงาม (นางอัปสรา) เล่นมวยผมยาว คติผู้เป็นสักขีพยานและผู้ปกป้องในพุทธประวิติตอนผจญมารตามวรรณกรรมฝ่ายลังกาเท่านั้นครับ
.
*** แต่งานพุทธศิลป์ในคติเถรวาทลังกาวงศ์แบบรามัญนิกาย/กัมโพชสงฆ์ปักขะ ที่นิยมในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ในรัฐสุวรรณปุระและรัฐละโว้ ที่ยังคงรักษารูปศิลปะแบบยุคพระปิถุ (หลังบายน) ได้แสดงอิทธิพลคติของฝ่ายพุกามและรามัญที่ผสมผสานเข้ากับคติผู้ปกปักษ์พระพุทธศาสนาของฝ่ายวัชรยาน ในคณะกัมโพชสงฆ์ปักขะ ได้นำไปสู่การสร้างเรื่องราววรรณกรรม “พระแม่ธรณีบิดมวยผม เกิดน้ำหลากเป็นมหาสมุทร ขับไล่กองทัพพญามาร” ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก ที่ต่อมาได้ส่งอิทธิพลย้อนกลับไปยังเกาะลังกา รัฐล้านนา รัฐสุพรรณภูมิ/อยุทธยา พม่าและเขมร 
.
*** นำไปสู่การสร้างวรรณกรรมพระแม่ธรณีบีบมวยผมเกิดเป็นน้ำหลากประกอบร่วมในความของพุทธประวัติ “ปฐมสมโพธิ” (Paṭhamasambodhi) และ “ชินมหานิทาน” (Chinmahānitān) ที่นิยมใช้มาจนถึงในปัจจุบันครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

อัษฎางกะ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“อัษฎางกะ”การกราบไหว้ด้วยความศรัทธาอย่างสูงสุด ในวิถีแห่งวัชรยาน ที่ปราสาทหินพิมาย

“ อัษฎางกะ” เป็นท่าการกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แบบ 8 ส่วน (Aṣṭāṅga Prostration) ในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดคำเฉพาะตายตัว แต่นิยมใช้คำว่า “อัษฎางคประดิษฐ์” (Aṣṭāṅga Pratiṣṭhā) หรือ “อัษฎางคประณาม” (Aṣṭāṅga praṇāma) หรือ “อัษฎางคประณต” (Aṣṭāṅga Praṇata) “อัษฎางคสังการะ” (Aṣṭāṅga Satkāra) “อัษฎางคอัญชลี” (Aṣṭāṅga Añjalī) “อัญฎางคนมัสการ” (Aṣṭāṅga Namaskāra) ที่ล้วนหมายถึง ท่ากราบไหว้อันแสดงถึงความเคารพอย่างสูงสุด ด้วยวิธีนอนคว่ำ แขนและเท้าเหยียดออกไปจนสุด กำหนดให้อวัยวะทั้ง 8 คือ หน้าผาก ฝ่ามือทั้งสอง หน้าอก เข่าทั้งสอง และปลายเท้าทั้งสอง แนบจรดพื้นพสุธา 
.
การกราบไหว้แบบอัษฎางกะนี้ ยังคงมีการปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงในปัจจุบัน ในกลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธนิกายวัชรยานในประเทศอินเดีย ภูฏาน ทิเบต เนปาล การกราบไหว้แบบนี้เรียกในภาษาทิเบตว่า “ชากเซล” (Chag Tsel) โดยคำว่า “ชาก” (chag) หมายถึง “กายอันศักดิ์สิทธิ์ วาจาอันศักดิ์สิทธิ์และจิตอันศักดิ์สิทธิ์ แห่งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย” ส่วนคำว่า “เซล” (tsel) หมายถึง “ความตั้งใจแน่วแน่ในการปฏิบัติแห่งตน” ที่หวังจะบรรลุสู่ความเป็นพระโพธิสัตว์หรือพระมานุษิพุทธเจ้าของผู้แสดงการกราบไหว้ครับ
.
*** วิธีการกราบไหว้แบบอัษฎางกะ จะเริ่มด้วยการยืนตัวตรง ประนมมือที่ระดับหน้าอก โดยให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ภายในอุ้งมือเป็นรูปดอกบัว แล้วจึงเคลื่อนมือไปยังตำแหน่งกลางกระหม่อม หน้าผาก ลำคอ และหน้าอก อันเป็นตำแหน่งที่ตั้งของ “จุดจักระ” (Chakra) ที่สำคัญในร่างกาย จากนั้นจึงเหยียดแขนออกไปข้างหน้า ย่อเข่าลงพร้อมกับโน้มเอียงตัวไปข้างหน้าจนลำตัวเหยียดตรง นอนราบลงกับพื้น แต่ก็ต้องระวังไม่ให้หัวเข่าแตะพื้นก่อนที่ลำตัวจะเหยียดออกไป 
.
จากนั้นจึงเคลื่อนลำแขนทั้งสองข้างไปด้านข้างของลำตัวตามแนวโค้งของวงกลมพร้อมกับค่อย ๆ ชันตัวขึ้นบนเข่า ยืดตัวขึ้นกลับมาสู่ท่ายืนตรงอย่างตอนเริ่มต้นครับ
.
*** ในการจาริกแสวงบุญแบบวัชรยาน สาธุชนผู้ศรัทธาจะเดินไปข้างหน้าแล้วหยุด เปลี่ยนท่ามาก้มลงกราบแบบไถตัวเองไปกับพื้น เดินต่อ 3 ก้าว แล้วกราบแบบอัษฎางกะที่พื้นหนึ่งครั้ง ตลอดระยะทางขึ้นสู่ศาสนสถาน หรือกราบเพื่อการเดินจงกรมไปรอบเจติยะสถานสำคัญ
.
-----------------------
*** การกราบไหว้แบบ 8 ส่วน หรืออัษฎางกะ เป็นรูปแบบการเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนานิกายวัชรยาน/ตันตระ (Vajrayāna/Tantric Buddhism) ที่มีต้นกำเนิดมาจากการผสมผสานระหว่างตันตระยานกับมหายานในแคว้นพิหาร อินเดียตะวันออก ตั้งแต่ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 12  แล้วจึงแพร่หลายรูปแบบวิธีการไหว้เข้าไปสู่ ชวา กัมพุชะเทศะ เวียดนาม ส่วนทางเหนือ ก็ส่งอิทธิพลไปตามเส้นทางการค้าโบราณเข้าสู่ทิเบต เนปาล ภูฏาน จีนและญี่ปุ่น ในช่วงระยะเวลาที่ต่อเนื่องกัน 
.
แต่กระนั้น การกราบไหว้แบบอัษฎางกะนี้ กลับไม่ปรากฏชัดในหลักฐานของฝ่ายฮินดูในอินเดีย จึงน่าเชื่อได้ว่า การกราบไหว้รูปแบบนี้ เป็นเอกลักษณ์สำคัญเพียงเฉพาะคติความเชื่อแบบวัชรยาน/ตันตระมาตั้งแต่ในยุคโบราณเท่านั้นครับ
.
*** เมื่ออิทธิพลของพุทธศาสนาวัชรยานแบบตันตระ เข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในวัฒนธรรมแบบเขมรโบราณ ตามคติมหายาน/วัชรยานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 วัชรยานแบบตันตระช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17 ที่พิมาย และเริ่มเด่นชัดในลัทธิ “โลเกศวร” (Lokeśvara) ตั้งแต่ช่วงยุคของจักรวรรดิบายน  กลางพุทธศตวรรษที่ 18 
.
ภาพศิลปะการกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยความศรัทธาอย่างสูงสุดแบบอัษฎางกะที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่บนทับหลังชิ้นหนึ่งจากปราสาทหินพิมาย ที่แสดงภาพของบุคคลกำลังแสดงการกราบไหว้ด้วยท่าอัษฎางกะ ถวายเครื่องบรวงสรวงบูชา (เทียน/เชิงเทียน กุณฑีหม้อปากหงส์) แด่พระพุทธรูป “กัมรเตงชคตวิมาย” (Kamarateṇ Jagatta Vimāya) ตามชื่อนามที่ปรากฏในจารึกกรอบวงกบประตูโคปุระ (K.397) ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17   โดยรูปบุคคลที่กำลังแสดงการกราบไหว้นี้ ควรเป็น “พระกมรเตงอัญศรีวิเรนทราธิบดีวรมัน” (Kamarateṇ Añ Śrī Vīrendrādhipativarma) แห่งเมืองโฉกวกุล  (Chok Vakula/ป่าพิกุล) หรือเมืองวิมาย ที่มีปราสาทหินพิมาย หรือ “ศรีวเรนทราศรม” (Srī Vīrendrāshram) ตามชื่อนามในจารึก เป็นอาศรม (ศาสนาสถานศูนย์กลาง) ของเมืองครับ 
.
ภาพศิลปะการกราบไหว้แบบ 8 ส่วนหรือ อัษฎางกะ ยังปรากฏงานศิลปะในเขตเมืองพระนครศรียโสธรปุระ หลายแห่ง อย่างผนังระเบียงคดชั้น 2 ด้านทิศใต้ ของปราสาทบายนแสดงภาพของกษัตริย์และพระมเหสีทั้ง 2 พระองค์กำลังแสดงการกราบไหว้ (ถวายพุ่มดอกไม้) แด่รูปพระวิษณุ 4 กร  ภาพของบุคคลนี้ ควรเป็นภาพของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สถาปนาปราสาทบายน กำลังแสดงความเคารพรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร แต่ต่อมาในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ได้ถูกแกะสลักดัดแปลงให้เป็นรูปพระวิษณุ และผนังด้านอื่น ๆที่แสดงภาพของกษัตริย์แสดงการกราบไหว้แบบอัษฎางกะกับรูปฤๅษี (พระศิวะ) ที่ถูกสลักขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 
.
*** ภาพสลักการกราบไหว้แบบอัษฎางกะที่สวยงามรูปหนึ่งในช่วงยุคจักรวรรดิบายน ที่เหลือรอดจากการทำลายขูดลบรูปพระพุทธเจ้าออกหรือดัดแปลงรูปในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ปรากฏบนหน้าบันปราสาทประธานของปราสาทบันทายฉมาร์ ส่วนซุ้มของมุขที่ยื่นเข้ามาชนกับปราสาทบริวารฝั่งทิศเหนือ อาจเป็นภาพของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 พระโอรสในชุดเครื่องทรงกษัตริย์ กำลังแสดงความเคารพแบบอัษฎางกะ ต่อรูป “พระมานุษิพุทธเจ้า” ( พระปางนาคปรก สวมเสื้อ ประดับสังวาลเฉียง) ในความหมายของ “มหาบรมสุคตบท” พระนามหลังสวรรคตพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระราชบิดาของพระองค์ครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

พระบรมสารีริกธาตุเมืองแพรก

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระบรมสารีริกธาตุเมืองแพรก” วัดมหาธาตุสรรคบุรี ชัยนาท 
พระมหาธาตุเจดีย์องค์แรกแห่งรัฐสุพรรณภูมิ 

พระมหาธาตุเจดีย์เมืองแพรก วัดมหาธาตุสรรคบุรี ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่าหน้าพระลาน ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน้อยหรือแม่น้ำสรรค์ตรงโค้งหักไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้าของวัดบางส่วนขนานไปตามลำน้ำ เดิมเรียกว่า “วัดหัวเมือง” หรือ “ศีรษะเมือง” สร้างขึ้นช่วงแรกในกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งต่อมา คงได้มีการสถาปนาพระมหาธาตุเจดีย์ขึ้นเป็นศูนย์กลางใหม่ ภายหลังการสถาปนา “รัฐสุพรรณภูมิ” ในช่วงต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 19 และได้มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุตามคติ “พระมหาธาตุ” ศูนย์กลางแห่งนคร   
.
“เมืองแพรก/ศรีราชา” เป็นเมืองแนวปะทะทางศิลปะและอำนาจจากรัฐเหนือและใต้  จึงเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นก่อนชุมชนอื่น ๆ ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำน้อย พบหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่สมัยทวารดี มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมไม่สม่ำเสมอขนาดประมาณ 1,450 x 1,400 เมตร มีแม่น้ำน้อยเป็นคูเมืองทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออกและทิศใต้มีร่องรอยคูน้าคันดินแยกออกจากลาแม่น้ำน้อยขนานไปกับแม่น้ำน้อยและลำน้ำเก่าซึ่งผ่านทางตอนใต้ของเมืองไปบรรจบกับคูเมืองด้านทิศตะวันตก มีคลองใต้กับคลองลำน้ำไหลมาจากทิศตะวันตกมาบรรจบกัน โดยภายในตัวเมืองด้านทิศเหนือเป็นที่ตั้งของวัดโตนดหลาย ตัวเมืองทิศใต้มีขนาด 2,200 x 800 เมตร มีร่องรอยคูน้าคันดินสูงราว 3-4 เมตร กว้าง 5-6 เมตร ในเขตบ้านหัวเมือง เป็นที่ตั้งของวัดมหาธาตุ วัดพระยาแพรก วัดสองพี่น้อง ตลอดจนโคกเนินเจดีย์กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณตัวเมืองกว่า 189 แห่ง ใช้แม่น้ำเก่าเป็นคูเมืองทิศเหนือ ลำแม่น้ำน้อยเป็นคูเมืองด้านตะวันออก ด้านทิศตะวันตกและใต้มีคูน้ำคันดิน กำแพงและคูเมืองเริ่มตั้งแต่ริมน้ำเก่า ตอนกลางเป็นคลองควายผ่านคันชลประทานไปจดบริเวณหน้าวัดพระแก้วแล้ววกขึ้นเหนือไปบรรจบกับแม่น้ำน้อยครับ
.
ชื่อนาม “แพรก” หมายถึงทางแยกของลำน้ำ (แม่น้ำน้อย/แม่น้ำเจ้าพระยา) ปรากฏครั้งแรกในจารึกสุโขทัย หลักที่ 1 ที่มีอายุในช่วงประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ความว่า  “...เบื้องหัวนอน  รอดคณฑี  พระบาง  แพรก  สุพรรณภูมิ  ราชบุรี  เพชรบุรี  ศรีธรรมราช  ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว...” และยังพบชื่อนาม “แพรกศรีราชาธิราช” ในเอกสารกฎหมายลักษณะลักพา ประมาณปี พ.ศ. 1898 อีกด้วย 
.
ชื่อนามแพรกศรีราชายังปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน ชำระในช่วงต้นรัตนโกสินทร์  ความว่า “...แล้วจึงให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าอ้ายพระยาครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พระยาครองเมืองแพรกศรีราชา เจ้าสามพระยาครองเมืองชัยนาท (พิษณุโลก)...” และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ตอนแผ่นดินสมเด็จพระอินทราราชาธิราชที่ 1 ความว่า “... พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จกลับพระนคร แล้วจึงให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าอ้ายพระยากินเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่กินเมืองแพรกศรีราชา คือ เมืองสรรค์ เจ้าสามพระยากินเมืองชัยนาท” อีกครับ
.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีกของหอพระสมุดวชิรญาณ (ชำระใหม่) ช่วงปี พ.ศ.1984  ในสมัย พระบรมราชาธิราชที่ 2  ปรากฏนาม “เจ้าพระยาแพรก” หรือสมเด็จเจ้าพระยาแพรกศรีราชา  ในเหตุการณ์ตอนทรงยกทัพไปตีเมืองพระนครหลวงหรือเมืองยโสธรปุระได้สำเร็จ แล้วให้เจ้านครอินทร์ พระราชโอรสไปปกครอง แต่พระนครอินทร์ประชวรและสวรรคตในที่สุด จึงโปรดเกล้าฯ ให้ “พระยาแพรก” ไปปกครองแทน
.
ส่วนชื่อนามเมือง “สรรคบุรี” อันหมายถึงแพรกศรีราชาเดิมนั้น อาจเริ่มปรากฏครั้งแรกในสมัยอยุธยาตอนกลาง ดังความในพระราชพงศาวดารความเก่าฉบับหลวง ชำระขึ้นใหม่ในสมัยกรุงธนบุรี แต่งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ กล่าวถึงเรื่องราวตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  ในปี พ.ศ.2111 ว่า เมื่อครั้งที่พระเจ้าหงสาวดีหรือพระเจ้าบุเรงนอง ยกทัพมาตีพระนครศรีอยุธยา พระเจ้าช้างเผือกและสมเด็จพระมหินทราธิราชเกณฑ์ประชาชนเมืองชัยนาท เมืองสุพรรณบุรีเมืองลพบุรี เมืองอินทบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองนครนายก เมืองสระบุรี เมืองพรหมบุรี เมืองสรรคบุรี เมืองสิงห์บุรี เมืองนครชัยศรี เมืองธนบุรี และเมืองมะริดเข้าร่วมศึกครั้งนี้ด้วย
.
และความในเอกสารกฎหมายตราสามดวง ปี พ.ศ.2302 ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ยังได้กล่าวถึงชื่อนามเมืองชัยนาท มโนรมย์ และเมืองแพรก เรียกนามว่า “เมืองไชยนาฏบุรีย มะโนรม และเมืองสรรค์บุรีย” ครับ
.
--------------------
*** เมื่อกลุ่มชนรามัญ/ทวารวดีเดิม ได้ทำสงครามเข้าช่วงชิงอำนาจคืนจากกลุ่มราชสำนักลูกครึ่งเขมร/บายน-พระปิถุ ที่มีอิทธิพลในภาคกลางและตะวันตกจนถึงประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นการเริ่มต้นรัฐสุพรรณภูมิ ราชสำนักเชื้อสายทวารวดีเดิมที่นิยมในคติพุทธศาสนาแบบเถรวาทลังกาวงศ์/รามัญนิกาย ขึ้นเป็นครั้งแรก (ก่อนขยายอิทธิพลลงไปทางใต้ เข้าโจมตีทำลายเมืองสุวรรณปุระและเมืองในจักรวรรดิบายนเดิมไปจนถึงเมืองเพชรบุรี) พระมหาธาตุเจดีย์แห่งเมืองแพรกจึงได้ถูกสร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมนิยมแบบรัฐสุพรรณภูมิ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากรัฐมอญหริภุญชัย/พุกาม เป็นศูนย์กลางนคร (คามวาสี) แห่งแรกของรัฐสุพรรณภูมิ โดยมีเจดีย์วัดพระแก้วเมืองสรรค์ เป็นพระมหาธาตุศูนย์กลางของเขตอรัญวาสีทางทิศใต้นอกตัวเมือง
พระมหาธาตุเจดีย์เมืองแพรก วัดมหาธาตุสรรค์บุรี มีฐานล่างสุดเป็นผังแผนสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานบัวลูกฟัก 2 เส้นที่ท้องไม้ ฐานชั้นที่สองเริ่มจากฐานเขียง 2 ชั้นรองรับท้องไม้คาดด้วยลูกแก้วอกไก่ 2 เส้น ระหว่างลูกแก้วประดับด้วยปูนปั้นรูปสี่เหลี่ยม 22 ช่อง มุมของฐานชั้นสองทำย่อมุมทั้ง 4 มุมครับ
.
จากภาพถ่ายเก่าได้แสดงให้เห็นว่า เหนือชั้นฐานขึ้นไปเป็นชั้นเรือนธาตุผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสทรง “ปราสาท” แบบเดียวกับวัดพระแก้วเมืองสรรค์ มีซุ้มใหญ่ด้านหน้า ประดับซุ้มพระพุทธรูปยืนมีหน้าบันเกือกม้า ด้านบนสุดเป็นทรงระฆังชะลูด ซากที่พังทลายก่อนบูรณะได้แสดงแสดงให้เห็นแกนก่ออิฐเป็นเอ็นรูปกากบาท 8 เส้น ด้านทิศตะวันออกมีการก่อบันไดลาดชันจากพื้นขึ้นไปถึงส่วนด้านบน (ซึ่งอาจเป็นการก่อขึ้นใหม่ภายหลัง) ครับ
.
-----------------------
*** ประมาณปี พ.ศ. 2533 ได้มีการขุดพบ “พระบรมสารีริกธาตุ” ภายในกรุของพระมหาธาตุเจดีย์แห่งเมืองแพรกศรีราชา ถูกบรรจุไว้ในองค์เจดีย์ทองคำจำลองขนาดเล็ก ร่วมกับหินกึ่งอัญมณี ใส่ไว้ในช่องรูกลมของกล่องหินทรายมีฝาปิด ลักษณะเป็นพระบรมสารีริกธาตุ (สมมุติ) ขนาดเม็ดข้าวสาร สีใสแบบควอทซ์และพลอยดอกตะแบก นับได้ 24 พระองค์ ทางวัดได้นำมาประดิษฐานไว้ในโถแก้ว ภายในบุษบกตู้กระจก ชั้นสองของอาคารพิพิธภัณฑ์ของวัด 
.
*** พระเจดีย์ทองคำทรงลอมฟาง ไม่มีบัลลังก์และปล้องไฉน ตามแบบอิทธิพลของเจดีย์พุกาม มีอายุทางศิลปะประมาณต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 19  สอดรับกับพระเครื่องที่บรรจุร่วมในกรุ ทั้งพระปางลีลาแบบรามัญนิกาย พระหูยาน และพระร่วงนั่งซุ้ม แบบนิกายกัมโพช (ละโว้) ที่มีอายุเวลาร่วมสมัยกันครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

พระศิลาขาว

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระศิลาขาว” ปางปฐมเทศนาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร  

ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท/คณะมหาวิหาร/ลังกา ที่กำลังรุ่งเรืองในเมืองนครชยศรี เริ่มได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจากราชวงศ์ปาละ/อินเดียตะวันออก เป็นครั้งแรก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงคตินิยมในช่วงเวลานี้ของวัฒนธรรมทวารวดี ได้นำไปสู่การสร้างมหาวิหารแห่งทุ่งพระเมรุ (Phra Meru Monastery) วิหารจัตุรมุข/จัตุรทิศขนาดใหญ่ ที่มีแผนผังเดียวกับ “พระมูลคันธกุฏีวิหาร” (Mulagandha Kuti Vīhāra) ภายในสังฆารามสารนาถ (Sarnath Monastery) ที่ถือกันว่าเป็นสถานที่ แสดงปฐมเทศนา “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นครั้งแรก” (First Sermon Dhammacakkappavattana Sutta - Dharmacakra Pravartana Sūtra) เมืองพาราณาสี รัฐอุตตรประเทศ
.
มหาวิหารขนาดใหญ่ที่ทุ่งพระเมรุ จึงเปรียบเสมือน “สังเวชนียสถาน (สมมุติ) แห่งการปฐมเทศนา” 1 ใน 8 อัษฎมหาสถาน” (Aṣṭa Mahā Sathan/The Eight Great Places of pilgrimage) เพื่อการจาริกแสวงบุญ ตามคติพุทธศาสนาในยุควัฒนธรรมทวารวดีครับ 
.
พระพุทธรูปนั่งขนาดใหญ่ปาง “ปรลัมพปาทาสนะ” (Pralambapadasana) หรือท่านั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ภัทรบิฐ (เก้าอี้นั่งมีพนักพิง) แบบกรีกหรือแบบยุโรป (Seated Buddha on a throne -The Buddha sits in “Greek – European Posture” on a Emperor throne) พระหัตถ์ขวาทำท่ามุทรา (กรีดนิ้ว) แสดงธรรม – สั่งสอน (วิตรรกมุทรา – Teaching) พระหัตถ์ซ้ายทำมุทราประทานพร (วรทมุทรา) สลักขึ้นจาก“หินควอร์ตไซต์” (Quartzite) จำนวน 4 องค์ จึงได้ถูกแกะสลักขึ้น แบบเป็นชิ้นส่วนต่อเชื่อมกันด้วยเดือย 7 – 8 ชิ้น ต่อองค์ ไม่ได้แกะสลักจะหินก้อนเดียวทั้งองค์ เป็นพระพุทธรูปสลักหินปางปฐมเทศนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และอาจที่สุดในโลก/ที่เหลืออยู่) มาประดิษฐานไว้ภายในมุขจระนำซุ้มแต่ละด้านของแกนกลาง (สถูป) มหาวิหาร หันหน้าออกทั้ง 4 ทิศ ในคติ “พระจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ประทับนั่งบนบัลลังก์” ของฝ่ายมหายาน และเพื่อเป็นสถานแห่งการระลึกถึง (เจติยะสถาน) ใน “การประกาศพระธรรมด้วยพระสุรเสียงไปทั่วทุกทิศทั้ง 4 (จักรวาล) /การปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” เป็นครั้งแรกของพระพุทธองค์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน   
.
*** พระพุทธรูปใหญ่หรือ “พระศิลาขาว” ทั้ง 4 องค์ น่าจะถูกแกะสลักขึ้นโดยมีพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทองค์เล็กแกะสลักจากหินปูนเขียว (Bluish Limestone) ที่มีอายุทางศิลปะเก่าแก่กว่า ปัจจุบันประดิษฐานในวิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุ พระนครศรีอยุธยา เป็น “ต้นแบบ” สำคัญครับ
.
------------------
*** จนเมื่อเมืองนครปฐมโบราณร้างลงในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา วิหารแห่งทุ่งพระเมรุขาดการดูแลรักษาเป็นเวลายาวนานจนพังทลายลงมา พระศิลาขาวหลายองค์แตกหักออกจากกัน หลายชิ้นมีสภาพถูกทุบทำลาย คณะพระสงฆ์ของกรุงศรีอยุธยาที่ได้เดินทางมาจาริกแสวงบุญ จึงเกิดความสังเวชใจ ได้เก็บชิ้นส่วนแตกหักนำกลับมาปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ตามคติการกระทำบุญกุศลอันเป็นพุทธบูชาสืบพระพุทธศาสนา แต่เก็บมาได้ไม่ครบทั้งหมด หลายชิ้นส่วนยังคงถูกทิ้งค้างไว้ ชิ้นส่วนพระศิลาขาว 3 องค์ ถูกนำไปไว้ที่วัดพระยางกงและวัดขุนพรหม นอกเกาะเมืองอยุธยาทางทิศใต้ ส่วนพระนั่งห้อยพระบาทองค์เล็กถูกนำไปปฏิสังขรณ์ประดิษฐานไว้ที่วัดมหาธาตุ กรุงศรีอยุธยา ถูกเรียกพระนามว่า “พระคันธาราฐ – พระสรรเพชญ”
.
ชิ้นส่วนพระศิลาขาว ทั้ง 4 องค์ ถูกแยกกระจัดกระจายออกจากกันมาเป็นเวลายาวนาน จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ประมาณปี พ.ศ. 2404 จึงได้มีการนำพระศิลาขาวสภาพเกือบสมบูรณ์องค์หนึ่งจากซากวิหาร มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ต่อมาเมื่อการขุดค้นในปี พ.ศ. 2481 โดย “หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์” และ “นายปิแอร์ ดูปองต์ (Pierre Dupont)” จาก “สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ” École française d'Extrême-Orient (EFEO) ได้พบชิ้นส่วนพระใหญ่ที่ตรงแกนกลางซากมหาวิหารจำนวนมาก ได้นำมาเก็บรักษาที่วิหารระเบียงวัดพระปฐมเจดีย์ครับ  
.
จนถึงปี พ.ศ. 2501 ได้พบชิ้นส่วนของพระศิลาขาวที่วัดพระยากง และตามพบพระเศียร 2 องค์ จากร้านขายโบราณวัตถุย่านเวิ้งนครเกษม ปี พ.ศ. 2506 กรมศิลปากรได้ย้ายพระศิลาขาวองค์หนึ่งที่ซ่อมต่อไว้แบบผสมชิ้นส่วนหลายองค์จากวัดขุนพรหม มาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา และนำชิ้นส่วน (พระเพลาและพระบาท) จากระเบียงวัดพระปฐมเจดีย์มาแยกประกอบใหม่
.
*** ชิ้นส่วนพระเศียรและพระวรกายที่พบจากวัดพระยากง วัดขุนพรหม รวมกับชิ้นส่วนที่ขุดพบจากซากมหาวิหาร (วิหารระเบียงวัดพระปฐมเจดีย์) จึงได้ถูกรวบรวมนำมาซ่อมแซมประกอบชิ้นส่วนขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2507-2510 นำไปประดิษฐานที่ลานชั้น 2 บันไดทางขึ้นฝั่งทิศใต้ และอีกองค์หนึ่งนำมาประดิษฐานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จนมาถึงในปัจจุบัน
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

เจดีย์ทรงระฆัง วัดไชยวัฒนาราม

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
เจดีย์ทรงระฆังวัดไชยวัฒนาราม ...“สมเด็จพระไชยราชาธิราช” ? 

บนฐานไพทีใหญ่ ยกระดับสูงจากระดับพื้นเดิม (ระดับเดียวกับเจดีย์ใหญ่ย่อมุมไม้สิบสองด้านหน้า ริมแม่น้ำ) ประมาณ 1.2 เมตร เป็นฐานสูงก่อเอ็นอัดดินบดรองรับกลุ่มอาคารปรางค์ประธาน เมรุราย เมรุทิศ ระเบียงคด โบสถ์ ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง โดยมีกลุ่มเจดีย์อุทิศขนาดเล็ก 4 องค์ ตั้งอยู่มุมตะวันออกเฉียงเหนือของฐาน ซึ่งในปัจจุบันคงเหลือแต่เจดีย์ทรงระฆังองค์หนึ่งตั้งอยู่เท่านั้น
.
ฐานปัทม์ผังสี่เหลี่ยมที่คาดเส้นลวดบัว “ลูกแก้วอกไก่”กลางท้องไม้ ของเจดีย์ทรงระฆัง ฝังจมลงไปภายในฐานใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวัดไชยวัฒนารามในยุคหลัง คงลอยขึ้นมาบนพื้นเพียงชั้นบัวหงายและหน้ากระดานบน ส่วนท้องไม้และเส้นลวดนูนแบบสันแหลมอกไก่นั้น หลายส่วนจมอยู่ใต้ดิน สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน จนดูเหมือนว่าเจดีย์เป็นฐานเตี้ยครับ 
.
ส่วนล่างของฐานปัทม์ (ท้องไม้ ลวดบัวคว่ำและหน้ากระดานล่าง) รวมฐานเขียงอีก 1-2 ชั้น ที่เคยตั้งอยู่บนระดับพื้นดินเดิม จมอยู่ภายในฐานไพทีใหญ่ (ที่ยกขึ้นสูง) แสดงให้เห็นว่าเจดีย์ทั้ง 4 องค์ ( 3 องค์เหลือแต่ฐาน) นี้ เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นมาก่อนการสร้างวัดไชยวัฒนารามในปี พ.ศ. 2173 
.
*** กลุ่มเจดีย์อุทิศนี้ สร้างมาตั้งแต่เมื่อใด มีความสำคัญอย่างไร จึงไม่ถูกรื้อเมื่อมีการสร้างวัดซ้อนทับแบบยกฐานไพทีสูง แต่ยังคงเว้นเจดีย์กลุ่มนี้ฝังคาลงไว้ในฐานเท่านั้น ? 
.
เมื่อพิจารณาตามรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์ที่มีฐานล่างผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานเขียงผังกลม 3 ชั้น  แบบ “ตรีมาลา” (Trimālā) ฐานปัทม์ผังกลมที่มีท้องไม้ใหญ่ คาดแถบบัวลูกฟักซ้อนลูกแก้วสันคม (อกไก่) ซ้อนด้วยชั้นฐานเขียงกลมแบบตรีมาลาแคบ 3 ชั้น รองรับฐานชั้นมาลัยเถา (บัวลูกแก้ว) 3 วง ฐานบัวปัทม์/ปากระฆัง คาดเส้นลวดอกไก่ตรงกลางไม่มีผนังท้องไม้รองรับระฆังทรงชะลูด ปากผายออกเล็กน้อย บนยอดระฆังเป็นบัลลังก์ผังสี่เหลี่ยมยอมุม 12 กลม มีท้องไม้ใหญ่คาดแถบบัวลูกฟักซ้อนลูกแก้วสันคม ก้านฉัตรใหญ่ ใต้บัวฝาละมี ต่อด้วยปล้องไฉน (บัวลูกแก้วกลม/ฉัตรวรี) เว้นระยะห่างระหว่างปล้องวง ขึ้นไปจบที่ปลียอด ( หักหายไป) ครับ
.
***  ฐานตรีมาลา ฐานปัทม์ผังกลมที่มีท้องไม้ใหญ่ ชั้นมาลัยเถา บัวปากระฆังและปล้องไฉนซ้อนเว้นระยะห่างระหว่างวง เป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญของเจดีย์ทรงลังกาในงานศิลปะแบบอยุธยาในยุคสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 
.
*** แต่ทรวดทรงของเจดีย์กลับชะลูดเพรียวสูง เหมือนกับองค์ระฆังแบบลอมฟางของรัฐสุพรรณภูมิ แตกต่างจากระฆังของเจดีย์ลังกาในยุคสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ที่จะอ้วนป้อมและสั้นกว่า อย่างเจดีย์ประธานวัดนางพญา ที่มีรูปทรงเดียวกับเจดีย์ประธานวัดพระศรีสรรเพชญ  
.
ปูนปั้นบัวปากระฆังปั้นเป็นลายกลีบบัวซ้อนสับหว่างอย่างงดงาม 3 ชั้น ทั้งลาดบัวคว่ำและหงาย บัลลังก์เหนือองค์ระฆังที่เป็นฐานปัทม์แผนผัง 4 เหลี่ยม ยอมุม เป็นรูปแบบที่พบจากเจดีย์เมืองโบราณกำแพงเพชร หรือ อยุธยาหมวดกำแพงเพชร ที่รับอิทธิพลจากเจดีย์แบบล้านนา มีอายุความนิยมเริ่มต้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาครับ    
.
*** เจดีย์ทรงระฆังที่วัดไชยวัฒนาราม มีการยืดทรงลังกาเดิมจนชะลูดสูงและรับอิทธิพลรูปแบบเจดีย์ล้านนาจากเมืองกำแพงเพชรแล้ว จึงควรมีอายุการสร้างประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 21 เกี่ยวเนื่องกับช่วงสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชที่ทรงปกครองเมืองพิษณุโลกในฐานะพระมหาอุปราชา ทำสงครามกับรัฐล้านนาที่เชียงไกร/เชียงกราน (เขตแดนเมืองตาก) ตีลำพูนและปราบกบฏที่เมืองกำแพงเพชร
.
---------------------------
*** ก่อนหน้าการสร้างวัดไชยวัฒนารามในสมัยพระเจ้าปราสาททอง บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของวัดเก่าที่อาจเคยมีการใช้ชื่อนาม “วัดชัยวัฒนาราม/วัดไชยวัดธนาราม" (พงศาวดารพันจันทนุมาศ ตอนเสียกรุง/กฎหมายตราสามดวง หมวดมรดก) ตามพระนามสมเด็จพระไชยราชา ? มาก่อนแล้ว เมื่อมีการสร้างวัดซ้อนทับวัด (ขยายวัด) จึงได้มีการนำชื่อนามวัดที่เป็นนามมงคลเดิมมาใช้ ซึ่งกลุ่มเจดีย์รายนี้จะต้องมีความสำคัญมากในความทรงจำของราชสำนักอยุธยา จึงไม่ได้ถูกรื้อถอนออกไปทั้งหมด เช่นเดียวกับสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ของวัด ทั้งโบสถ์ วิหารและเจดีย์ประธานครับ
.
มโนหนักอีกนิด หรือพระเจดีย์อุทิศในวัดไชยเก่านี้ จะเกี่ยวข้องกับการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ในปี พ.ศ. 2089 หลังจากเสด็จกลับมาจากศึกเมืองเชียงใหม่ ?
.
คงต้องให้เป็นหน้าที่ของสายมูเท่านั้น ที่จะหาคำตอบได้ครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ศรนาคบาศ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“Garuda Man” ฮีโร่ผู้พิชิตศรนาคบาศ   

ในวรรณกรรม “มหากาพย์รามายณะ” (Rāmāyaṇa) ภาค “ยุทธกัณฑ์หรือลงกาภัณฑ์” (Lanka Kanda) ได้เล่าถึงช่วง “ศึกอินทรชิต” ว่า
.
...เมื่อ “นละ” (Nala)  และ "นีละ”(Nila) นำไพร่พลวานรขุดหินภูเขามาจองถนน ข้ามมหาสมุทรไปจนถึงฝั่งกรุงลงกา ได้พบกับ “พิเภก/วิภีษณะ” (Vibhishana)  พระอนุชาของท้าวราพณ์ (ราวาณะ) เข้ามาร่วมทัพ ได้เริ่มเข้าสัประยุทธ์กับกองทัพรากษส/ยักษ์กันครั้งแรก จนทัพฝ่ายลงกาพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ท้าวราพณ์จึงให้ “อินทรชิต” (Indrajit) หรือ “เมฆานาถ” (Meghanāda) พระราชโอรสผู้มีสุรเสียงประดุจฟ้าคำราม นำกองทัพเข้าต่อสู้ขับไล่ผู้รุกรานในทันที 
ในวันแรกของการต่อสู้ อินทราชิตผู้เคยพิชิตพระอินทรา ได้เข้าจู่โจมกองทัพขององค์รามอย่างรวดเร็ว แต่ก็พ่ายแพ้ต่อ “องคต” (Aṅgada) จนต้องล่าถอย เมื่อรวมทัพกลับขึ้นใหม่ได้ อินทรชิตสามารถเอาชนะพลวานรของพญาสุครีพ (Sugriva) จนแตกพ่าย ... 
.
...อินทรชิตประกาศท้าทายด้วยเสียงฟ้าคำราม ให้องค์รามและองค์ลักษมัณออกมารบด้วยตนเอง ด้วยเพราะอยากแก้แค้นให้กับลุงและพี่น้องของเขา เมื่อองค์รามและองค์ลักษมัณนำกองทัพมาถึง อินทรชิตได้บังคับเมฆให้เข้าบดบังแสงอาทิตย์ และล่องหนด้วยมนตราวิเศษ ฝ่ายองค์รามก็ให้เหล่าขุนทัพวานรผู้เก่งกล้าขึ้นไปตามหา แต่ก็หาไม่พบ เมื่อได้จังหวะอินทรชิตจึงแผลง “ศรนาคบาศ” (Nāgapāśa) อันเกรียงไกร แผ่เป็นร่างแหของงูนับล้านเต็มท้องฟ้าเข้าใส่พลวานร พุ่งเข้ามัดตรึงร่างขององค์รามและองค์ลักษมัณจนล้มลงบนปัฐพีประดุจดังสิ้นชีวิตในทันที...
.
...เหล่าวานรต่างรู้สึกตกใจ ท้อแท้และเศร้าโศกเสียใจ ส่วนอินทรชิตก็คิดว่าองค์รามและองค์ลักษมัณได้สิ้นชีวิตแล้ว จึงกลับกรุงลงกา แจ้งข่าวชัยชนะแก่ท้าวราพณ์ จึงได้ให้นางตรีชฎา (Trijata) พานางสีดา ขึ้นบุษบกวิมาน(Pushpaka Vimana) เหาะมาดูความตายขององค์รามและองค์ลักษมัณ นางสีดาสำคัญว่าพระรามตายจริง กำลังจะโศกเศร้า แต่นางตรีชฎาได้ปลอบนางสีดาโดยชี้แจงว่า ถ้าหญิงที่ผัวตายแล้วขึ้นบุษบกวิมานจะไม่ลอยขึ้น... 
.
...หนุนามได้เหาะขึ้นไปสวดภาวนาแก่พญาครุฑ พระพาหนะของพระวิษณุ ผู้เป็นลุงของ “นกสดายุ” (Jatayu) และ “นกสัมพาที” (Sampati) พญาครุฑจึงได้บินลงมายังสนามรบ เข้ากินบ่วงนาคราชที่รัดอยู่ เหล่าศรนาคที่เหลือก็พากันตกใจเลื้อยหนีไปทั้งหมด องค์รามและองค์ลักษมัณรวมทั้งเหล่าวานรจึงเป็นอิสระและได้ขอบคุณพญาครุฑอย่างจริงใจในความช่วยเหลือครั้งสำคัญนี้...
.
...เมื่ออินทรชิตได้ยินว่าองค์รามและองค์ลักษมัณหลุดรอดจากพิษศรนาคบาศก็โกรธจัด ด้วยก้าวย่างอันโกรธเกรี้ยว เขาเดินทางกลับไปที่สนามรบ ส่งเสียงคำรามท้าทายองคร์รามและองค์ลักษมันอีกครั้ง...
.
-----------------
*** “ปราสาทกุกเขว็ด” (Kuk/Kok Khvat) ทางเหนือของแพรกแม่น้ำโขงกับแม่น้ำโตนเลสาบ เหนือกรุงพนมเปญ ในเขตจังหวัดกำปงจาม เป็นปราสาทก่อศิลาแลงแบบหลังเดี่ยวบนเนินสูง ที่ถูกสร้างขึ้นมาในยุคพระวิหาร ช่วงประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 16 แต่ยังสร้างทิ้งค้างคาไว้ไม่แล้วเสร็จ เพิ่งถูกแกะสลักลวดลายขึ้นใหม่เฉพาะส่วนทับหลังและเชิงเสาประดับกรอบประตูในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นภาพแกะสลักอันวิจิตรที่แสดงความสำคัญของพญาครุฑในศึกอินทรชิต/ศรนาคบาศอันโดดเด่น ตามแบบวรรณกรรมรามายณะ
.
*** โดยทางฝั่งซ้ายแสดงภาพของ“พิเภก/วิภีษณะ”กำลังประคองพระเศียรขององค์รามและองค์ลักษมัณ ที่ต้องศรนาคบาศด้วยกันทั้งสองพระองค์ ในท่ามกลางความแตกตื่นและเศร้าโศกเสียใจของเหล่าพลวานร พญาหนุมานเหาะขึ้นไปวิงวอนขอให้พญาครุฑผู้เป็นศัตรูของนาคลงมาช่วย ตรงกลางแสดงภาพของพญาครุฑ ประดุจฮีโร่คนสำคัญ ล้อมรอบด้วยเหล่าเทพยดานางฟ้า โดยมีองค์รามและองค์ลักษมัณนั่งแสดงอัญชุลีขอบคุณอย่างจริงใจ พิเภกยกมือกุมไว้ที่หน้าอกเพื่อแสดงความเคารพ ภาพด้านขวาเป็นกลุ่มพลวานรกำลังร้องรำทำเพลงแสดงความดีใจครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

สิงห์ทวารบาล วัดธรรมิกราช

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“สิงห์ทวารบาล/สิงหปราการ” ล้อมรอบฐานพระเจดีย์องค์แรกของโลก ที่วัดธรรมิกราช 

ประมาณช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 สมัย “สมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์)” ปกครองอาณาจักรอยุทธยา พุทธศาสนาฝ่ายลังกาวงศ์/รามัญนิกาย ที่ผ่านเข้ามาในรัฐสุพรรณภูมิ ได้ส่งอิทธิพลต่อเนื่องไปยังเมืองท่าอยุทธยา อาณาจักรใหม่ที่เพิ่งเกิดราชสำนักกษัตริย์ผู้ปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไม่นานนัก รูปแบบเจดีย์ทรงระฆังเตี้ย (ฟองน้ำ) แบบลังกา ที่มีฐานตรีมาลาและฐานปัทม์ท้องไม้ในแผนผังกลม และมาลัยเถา/บัวลูกแก้วสามชั้นรองรับฐานบัวปากระฆัง ได้ถูกผสมผสานเข้ากับเจดีย์แบบสุพรรณภูมิ ทรงสูงเพรียวมีเรือนธาตุก่อเป็นผนังสูงผัง 8 เหลี่ยมซ้อนกัน 3 ชั้น รองรับองค์ระฆังแบบลอมฟางเป็นครั้งแรก 
.
*** เจดีย์ประธานวัดธรรมิกราช ทางเหนือของเกาะเมืองอยุธยา อาจเป็นตัวอย่างอันดีของการผสมผสานเจดีย์แบบลังกาฐานปัทม์มีท้องไม้ในผังกลม องค์ระฆังเตี้ยป้อม กับเรือนธาตุแบบ 8 เหลี่ยมของรัฐสุพรรณภูมิ โดยเปลี่ยนฐานเขียง/ตรีมาลา/บุปผาปธาน” (Mālāsana-Trimālā) แบบผังกลม 3 ชั้น มาเป็นแบบ 8 เหลี่ยม 3 ชั้น ฐานปัทม์ชุดบัวคว่ำ/ท้องไม้/บัวหงาย จากผังกลมแบบลังกา ถูกเปลี่ยนเป็นฐานปัทม์ผัง 8 เหลี่ยมที่ยืดชั้นท้องไม้ให้กว้าง คาดลวดบัวลูกฟัก ลูกแก้วหรืออกไก่ 2 เส้น ห่างกัน ซ้อนขึ้นไป 3 ชั้น กว่าเดิมเลียนแบบเรือนธาตุเจดีย์สุพรรณภูมิ ที่เหมือนถูกกดชั้นเรือนธาตุให้เตี้ยลงครับ
.
ส่วนขององค์ระฆังยังคงเป็นผังกลม อาจมีทั้งแบบลอมฟาง (ชะลูดสูงแบบพุกาม) และแบบฟองน้ำ (เตี้ยป้อมแบบลังกา) แต่ไม่มีมาลัยเถา (บัวลูกแก้วเป็นวงแหวน 3 ชั้น) ตามแบบสุพรรณภูมิ มีบัวปากระฆังทรงกลมรองรับองค์ระฆัง  
*** เหนือองค์ระฆัง เป็นฐานบัลลังก์แบบฐานปัทม์ ที่ถูกเปลี่ยนรูปบัลลังก์ผัง 4 เหลี่ยมใหญ่ มาเป็น “บัลลังก์ผัง 8 เหลี่ยม” อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของเจดีย์แบบรัฐสุพรรณภูมิในช่วงเวลาแรกของการเข้าครอบครองเมืองท่าใหม่แห่งนี้ครับ 
.
ถัดขึ้นไปเป็นก้านฉัตรที่มีขนาดกลมใหญ่ บัวฝาละมีที่มีพื้นใต้ล่างโค้งงอนขึ้นไปรับกับลาดบัวโค้งด้านบน แตกต่างจากพื้นล่างของแบบบัวฝาละมีแบบลังกา ต่อด้วยปล้องไฉนกลมที่เว้นช่องว่างเป็นท้องไม้ ส่วนปลียอดและลูกแก้วยอดสุดของพระเจดีย์  
.
*** เจดีย์ลูกผสมแบบลังกาและสุพรรณภูมิ จึงเกิดขึ้นครั้งแรก ๆ ที่วัดธรรมิกราชนี้เองครับ
.

*** ต่อมาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 คติลังกาวงศ์แบบสีหลภิกขุ/กัลยาณีภิกขุ จากลังกาและสุโขทัยได้ส่งอิทธิพลเข้ามาอีกระลอก เกิดการสร้างพระเจดีย์ทรงระฆังอ้วนป้อมประดับฐานมาลัยเถา ฐานเตี้ยแบบลังกา  อย่างเจดีย์ประธานวัดมเหยงคณ์  ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ตามแบบสถูป“มหิยังคณะสถูป” พระมหาเจดีย์องค์สำคัญในลังกา  
.
ในรัชกาลเดียวกัน เมื่ออาณาจักรอยุทธยาพิชิตเมืองพระนครศรียโศธระปุระได้ในปี พ.ศ. 1974 มีการนำรูปประติมากรรม “สิงห์” ที่เคยประดับเป็นคู่บริเวณหน้าบันไดทางเข้าสู่ศาสนสถานแบบเขมรโบราณ ในความหมายของ “ทวารบาล” และคติการวางฐานประทักษิณยกพื้นแบบ “หัตถีปราการ” (Hatthī-Prākāra) ของลังกา อย่างวัดช้าง วัดมเหยงคณ์และวัดหัสดาวาส ที่มีการประดับรูปช้างล้อม/ช้างรอบ มาเสริมฐานประทักษิณแบบลานกว้างแบบเดียวกับวัดมเหยงคณ์ ล้อมประกบรอบเจดีย์ 8 เหลี่ยมองค์เดิมที่สร้างขึ้นในยุคพระราชบิดา โดยวางรูปสิงห์ล้อมรอบที่หมายถึง “ผู้ปกป้องพระสถูปเจดีย์” แทนรูปช้างล้อม/ช้างรอบ ที่หมายถึงการค้ำจุนพระพุทธศาสนาตามคติความหมายของฝ่ายลังกาครับ   
.
*** พระเจดีย์ 8 เหลี่ยมที่วัดธรรมิกราช จึงได้มีกลายมาเป็นพระเจดีย์ที่มีฐานประทักษิณแบบ “สิงห์ล้อม” (สิงหปราการ /Siṃha-Prākāra) เป็นองค์แรกของของโลก (?) ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการประดับรูปสิงห์ทวารบาลล้อมฐานเจดีย์วัดสามปลื้มและวัดสามวิหาร  
.
ประติมากรรมปูนปั้นสิงห์ล้อมฐานประทักษิณเจดีย์ประธานวัดธรรมิกราช มีจำนวนด้านละ 12 ตัวและตรงมุมทั้ง  4 ทิศ รวมเป็น 52 ตัว ผนังฐานด้านหลังตัวสิงห์ทำเป็นเสาอิงแบ่งเป็นช่องตามจำนวน (ไม่ชัดเจนว่ามีหลังคาซุ้มหรือไม่) เป็นสิงห์คำราม (อ้าปากไม่มาก แยกให้เห็นเขี้ยวแหลมคล้ายว่ากำลังขู่ให้กลัว) ปั้นปูนประดับรายละเอียดตามแบบงานแกะสลักหินทรายรูปสิงห์ทวารบาลที่พบงานศิลปะเขมรโบราณและละโว้  สองขาหน้าเหยียดตรง ขาหลังนั่งยองไม่ติดพื้นในความหมายของการเตรียมพร้อมกระโจนเข้าใส่ แผงขนส่วนหัวถูกประยุกต์เป็นลายกระหนกจนดูเป็นเทริดหรือกระบังหน้า แผงขนส่วนหน้าอกและส่วนอื่น ๆ ก็ทำเป็นลายกระหนก ลำตัวสวมกรอศอ กุณฑลและรัดข้อเท้าด้วยกำไลพาหุรัด แบบเดียวกับเครื่องประดับของรูปบุคคล ส่วนหางปั้นโค้งลู่แนบขึ้นมากับกลางแผ่นหลัง (จะได้ไม่หักง่าย) ครับ
.
ตรงกลางของฐานประทักษิณในแต่ละด้านทำเป็นบันไดทางขึ้นลานด้านบนตามแบบแผนผังเจดีย์ประธานวัดมเหยงค์ ประดับด้วยพญานาคหัวราวบันได 5 เศียร ตามคติบันไดนาคแบบเขมร ซึ่งในการบูรณะช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ได้มีการปั้นปูนเพิ่มยักษ์แบกเพิ่มเข้าไปที่ส่วนฐานของหัวพญานาค 
.
*** ปูนปั้นรูปสิงห์คงชำรุดเสียหายจนต้องมีการซ่อมแซม ใส่ลวดลายประดิษฐ์ใหม่ปั้นปูนพอกทับปูนเก่า จนถึงขั้นปั้นเป็นรูปสิงห์ทั้งตัวเลียนแบบของเดิมขึ้นใหม่มาวางแทนที่ จนดูเหมือนว่าสิงห์แต่ละตัวนั้นมีรายละเอียดของลวดลายแตกต่างกันไปไม่ได้เหมือนกันทุกตัวครับ
เครดิต : :FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เจดีย์วัดจงกรม สุพรรณบุรี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระเจดีย์วัดจงกรม” ชะลูดสูงแบบสุพรรณภูมิ ครอบเจดีย์ทรงลังกาองค์แรกในอยุทธยา

ตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 18 อิทธิพลในคติความเชื่อและงานศิลปะของพุทธศาสนาแบบ “ลังกาวงศ์” ได้เริ่มเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากร่องรอยหลักฐานที่กล่าวถึงพระราหุลเถระชาวลังกาและพระฉปัฏเถระชาวพุกาม พระเถระอีก 4 รูป และคณะพระสงฆ์อีกหลายคณะได้เดินทางไปศึกษาพระธรรมวินัยยังเกาะลังกา และชักชวนพระสงฆ์ชาวลังกากลับมาที่พุกามและนครศรีธรรมราช จนราชสำนักตามพรลิงค์/ศรีวิชัยเดิม (จันทรภาณุ/ปทุมวงศ์) ที่เคยนิยมในนิกายมหายาน เกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงได้เกิดมีการสร้างพระสถูปเจดีย์ทรงโอคว่ำ (ฟองน้ำ) แบบเจดีย์ลังกาบนฐานประทักษิณสี่เหลี่ยม มีชุดฐานเริ่มจากฐานปัทม์ (มีท้องไม้) สัณฐานกลม 3 ชั้น รองรับส่วนอัณฑะ (ระฆัง) บัลลังก์ด้านบนผังสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับพระเจดีย์ฉปัฏในอาณาจักรพุกาม พระมหาธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช จึงเป็นพระเจดีย์ในคติ “มหาธาตุ” ของฝ่ายลังกาวงศ์องค์แรกในประเทศไทยครับ
.
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ยังมีคณะพระสงฆ์จากสุโขทัย เดินทางผ่านเมืองรามัญไปยังลังกา ดังความในชินกาลมาลีปกรณ์ว่า “...พระสุมนเถระชาวเมืองสุโขทัยไปเมืองอโยชชปุระ (หริภุญชัย ?) แล้วเล่าเรียนพระธรรมในสำนักครูหลายครูแล้วกลับมาเมืองสุโขทัยอีก ครั้งนั้นพระมหาสามีชื่ออุทุมพรมาจากลังกาทวีปสู่รัมมนะ (รามัญ) ประเทศ พระสุมนเถระทราบข่าวนั้นแล้วจึงไปรัมมนะประเทศกับพระภิกษุผู้เป็นสหาย (พระอโนมทัสสี) ได้บวชอีกครั้งหนึ่งในสำนักของพระอุทุมพรมหาสามีแล้วเล่าเรียนพระธรรม (ที่เมืองพัน/เมาะตะมะ - Martaban)...”
.
ในช่วงปลายสุดของพุทธศตวรรษที่ 19 คณะพระสงฆ์ฝ่ายรามัญนิกายในอิทธิพลพุกาม/ลังกาวงศ์ จากกรุงสุโขทัยเดินทางลงมาเผยแพร่พุทธศาสนาในกรุงศรีอยุธยา และได้รับการยอมรับจากราชสำนักและผู้คนในเขตรัฐอยุธยา ยกย่องให้เป็นมหาสวามีองค์สำคัญ  
.
เจดีย์ทรงระฆังแบบลังกา/รามัญนิกายจึงเกิดขึ้นในกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรกครับ
*** เจดีย์สุโขทัย มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับเจดีย์ในลังกาแต่รับอิทธิพลผสมผสานมาจากพุกาม มีลักษณะเด่นคือ ส่วนฐานล่างสุดนิยมทำเป็นผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานเขียง 2 – 3 ชั้นรองรับฐานตรีมาลากลม ฐานบัวคว่ำแบบมีท้องไม้คั่นคล้ายปลายฉัตรหรือลาดหลังคา ที่เรียกว่า“บัวถลา” 3 ชั้น
.    
ใต้องค์ระฆังทำเป็น “บัวปากระฆัง” ทำเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายแบบไม่มีช่องท้องไม้ ใต้องค์ระฆังทรงโอคว่ำขนาดใหญ่ อ้วนป้อม (ทรงฟองน้ำ) ตามแบบลังกา ไม่นิยมทำปากผาย บัลลังก์เหนือองค์ระฆังเป็นฐานปัทม์ผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีเส้นลวด 2 เส้นคาดที่ท้องไม้ เหนือขึ้นไปเป็นก้านฉัตรผังกลมใหญ่ รองรับปล้องไฉน (ฉัตรวลี) มีบัวฝาละมี ปล้องไฉนและปลียอดครับ 
.
ซึ่งชุดประดับฐานเรือนอัญฑะอย่างบัวถลา บัวปากระฆัง ระฆังทรงโอคว่ำไม่ผายปากและฐานบัลลังก์ใหญ่มีเส้นลวด คือลักษณะเด่นของเจดีย์ทรงระฆังแบบลังกา/รามัญนิกาย ที่เป็นงานศิลปะนิยมจากรัฐสุโขทัยโดยตรง 
.
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึง ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เจดีย์ประธานในศาสนสถานของเขตเกาะเมืองใหม่ ยังคงนิยมเจดีย์ทรงปราสาทแบบรัฐละโว้/ศรีเทพ เจดีย์ 8 เหลี่ยม/ระฆังทรงลอมฟาง (ไม่มีบัลลังก์) แบบรัฐสุพรรณภูมิ ยังไม่ปรากฏความนิยมในการสร้างเจดีย์ทรงระฆังขึ้นแต่อย่างใดครับ 
.
--------------------------
*** “วัดจงกรม” ตั้งอยู่ในเขตชุมชนโบราณคลองสระบัว ทางตอนเหนือนอกเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยา เจดีย์ประธานของวัดเป็นเจดีย์ทรงเพรียวชะลูด ก่ออิฐสอดิน สูงถึงยอดลูกแก้วประมาณ 30 เมตร ฐานล่างเป็นฐานเขียง ผัง 8 เหลี่ยม 3 ชั้น (ตรีมาลา)  เรือนธาตุใหญ่ผังแปดเหลี่ยมท้องไม้กว้าง 2 ชั้น รองรับฐานปัทม์กลมที่มีการเสริมจระนำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป (ในยุคหลัง) เหนือขึ้นไปเป็นชั้นมาลัยเถา (บัวลูกแก้ววางห่าง) รองรับองค์ระฆังทรงชะลูดสูง (แบบลอมฟาง/สุพรรณภูมิ) ฐานบัลลังก์แปดเหลี่ยมสูง (ท้องกว้าง) ก้านฉัตรใหญ่ (มีการเพิ่มเสาหานเข้ามาจากการปฏิสังขรณ์ในยุคหลัง) 
.
โครงสร้างเจดีย์ก่ออิฐแบบทิ้งน้ำหนักลงผนัง ช่องว่างภายในเรือนธาตุชั้นแรกเป็นรูปกลม เรือนธาตุชั้นบนขึ้นไปเป็นรูปสี่เหลี่ยมผนังสอบเข้าหากันจนถึงส่วนระฆัง ใช้ขื่อไม้ใหญ่ค้ำทแยงตรงค้ำยันผนังอิฐจากภายในขึ้นไปหลายจุด  ห้องคูหามีการเสริมผนังทำเป็นช่องโค้งประดิษฐานพระพุทธรูป 7 ช่อง (เว้นช่องประตู) ครับ
.
*** การขุดแต่งในปี พ.ศ. 2542 - 2544 แสดงให้เห็นว่า เจดีย์ประธานวัดจงกรมนี้ อาจสร้างขึ้นมาตั้งแต่ในช่วงกลาง-ปลายพุทธศตวรรษที่ 20 และมีการก่อพอกปฏิสังขรณ์ต่อเติมหลายครั้ง
.
*** เจดีย์ประธานทรงสูงที่เห็นอยู่ จึงควรถูกสร้างขึ้นในสมัยของสมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์/จากเมืองสุพรรณบุรี/สุพรรณภูมิ) หรือในช่วงต้นสมัยของพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา/จากเมืองสุพรรณบุรี) ก่อนเกิดความนิยมเจดีย์ทรงปราสาทในช่วงหลังครับ
.
แต่พระเจดีย์ประธานของวัดจงกรมที่เห็นอยู่ในปัจจุบันก็สร้างครอบทับเจดีย์ขนาดเล็กองค์หนึ่ง ปรากฏช่องทางเข้าไปภายในองค์เจดีย์เป็นซุ้มโค้งยอดแหลม (ก่ออิฐแบบเหลือมซ้อน) ที่ผนังทางด้านตะวันออก ภายในห้องคูหาแคบ ๆ มีเจดีย์ทรงระฆัง ส่วนฐานล่าง (ห้องกรุ) ถูกฝังจมลงไปในพื้นของฐานเจดีย์ใหญ่ที่ก่อส่วนฐานขึ้นมาประสานจนเจดีย์เล็กได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างฐานใหม่ ส่วนที่ลอยอยู่เหนือพื้นในคูหาเป็นเจดีย์ขนาดไม่ใหญ่นัก ฐานประดับลวดบัวถลาแบบสุโขทัย 2 ชั้น บัวปากระฆัง องค์ระฆังแบบฟองน้ำลังกาไม่ผายปาก ฐานบัลลังก์ใหญ่คาดลวดซ้อน (อกไก่บนลูกฟัก) 2 เส้น ส่วนยอดหักพังทลาย (จากโครงขื่อไม้ด้านบนที่ค้ำทรงเจดีย์ใหญ่จากภายในที่ผุพังลงมา) ซึ่งเป็นเจดีย์ในศิลปะนิยมแบบรัฐสุโขทัย  
.
*** เจดีย์เล็กภายในเจดีย์ใหญ่วัดจงกรม เป็นเจดีย์ทรงระฆังลังกาจากอิทธิพลคติความเชื่อแบบรามัญนิกายและงานสถาปัตยกรรมแบบรัฐสุโขทัยองค์แรกของอยุทธยา สอดรับกับช่วงเวลาที่พระปิยทัสสีเดินทางลงมาเผยแพร่พุทธศาสนาลังกาวงศ์/รามัญนิกายในกรุงศรีอยุธยา ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 –ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 และยังได้มีการเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัยในคติเดียวกันขนาดไม่ใหญ่นักที่วัดสมณโกฏฐาราม ทางตะวันออกของเกาะเมือง ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

มหาธาตุเชลียง ศรีสัชนาลัย

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ซุ้มประตูยอดปราสาทเฟื้อง” มหาธาตุเชลียง ศรีสัชนาลัย ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหน้าบายน
“ซุ้มประตูยอดปราสาทเฟื้อง” วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง/วัดพระปรางค์หรือวัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง  ทางตะวันออกของเมืองโบราณศรีสัชนาลัย/เชียงชื่น เป็นซุ้มประตูศิลาแลงที่ดูแปลกตาแตกต่างไปจากซุ้มประตูวัดโบราณอื่น ๆ ที่พบในรัฐสุโขทัย ด้วยเพราะมีการใช้แท่งหินศิลาแลงขนาดใหญ่ 2  ชิ้นยกขึ้นวางเป็นคานระหว่างเสาศิลาแลงขนาดใหญ่ 3 ต้น ดูจากการบากแต่งหินแล้วคงต้องใจทำเป็นหลังคาวิหาร โดยบากเป็นหน้าบันสามเหลี่ยมแบบซ้อนชั้นจำลองตามรูปหลังคาเครื่องไม้ ปลายหินที่สลักเป็นรูปสามเหลี่ยมเคยมีการวางหิน “ป้านลมที่มียอดแหลมชะลูด” ปั้นปูนประดับเป็นรูปราหูอมจันทร์ (อย่างที่คงเหลืออยู่ชิ้นหนึ่งทางทิศใต้ในปัจจุบัน) วางประกบทับอยู่ทั้ง 4 หน้าบัน ตรงกลางวางหินฐานสามเหลี่ยมจั่วขนาดใหญ่ครอบประกบเข้ากับสันหลังคาจำลอง ทิ้งน้ำหนักทับบนคานทั้ง 2 เพื่อกดล็อคตรงรอยต่อระหว่างคานหินกับเสารองรับด้านล่าง โดยด้านบนทำเป็นเรือนยอดทรงปราสาท
.
รั้วกำแพงของวัด (ส่วนตะวันออก) ยังใช้แท่งหินศิลาแลงทรงกระบอกขนาดใหญ่ปักเรียงชนกัน โดยวางหินทรงลาดหลังคาทับหลังอยู่ด้านบน รวมความสูงประมาณ 2 เมตร ซึ่งการสร้างซุ้มประตูและกำแพงรั้วด้วยหินศิลาแลงขนาดใหญ่ที่มีความหนาและแข็งแรงนี้ อาจมีเหตุผลเพื่อการป้องกันต้นไม้ใหญ่และเศษสวะที่ไหลมาในช่วงฤดูน้ำหลาก (รุนแรง) ไม่ให้หลุดเข้าไปกระแทกกับสิ่งก่อสร้างภายในกำแพงครับ 
.
*** ชื่อนาม “ปราสาทเฟื้อง” มาจากคำเรียกเครื่องบนประดับตกแต่งหลังคาในงานสถาปัตยกรรมล้านนา  หมายถึง “ปราสาทย่อขนาด/ปราสาทขนาดเล็ก/ปราสาทจำลอง/ช่อฟ้า” ที่นิยมตั้งประดับอยู่กลางสันหลังคาวิหาร ในความหมายของเขาพระสุเมรุหรือปราสาทไพชยนต์ อันเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลในคติพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท   
.
รูปแบบสถาปัตยกรรมของปราสาทเฟื้อง อาจพิจารณาได้จากซุ้มประตูด้านตะวันตกที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็น “เจดีย์แบบเรือนธาตุยอดบัวตูม” ตามความนิยมของรัฐสุโขทัย ที่เริ่มต้นในสมัยพญาฦๅไทย/ลิไท ตามอิทธิพลรูปทรงเจดีย์แบบนิกายละโว้/กัมโพชสงฆ์ปักขะ  มุม 4 ด้านประดับด้วยบัวกาบ (กลีบขนุน) แบบเตี้ย   ยอดปราสาทเฟื้องฝั่งตะวันออก ยกเก็จซุ้มบัญชรเฉพาะชั้นเรือนธาตุ มีรูปบุคคลสวมเครื่องประดับ พระหัตถ์ทั้งสองวางลงบนพระเพลา (ไม่ใช่ปางสมาธิหรือมารวิชัย) เหนือขึ้นไปหน้ากระดานไม่ยกเก็จ โกลนเป็นรูปดอกบัวตูมแบบเดียวกับฝั่งตะวันตก ไม่ใช่ทรงยอดวิมานแบบปราสาท ปูนปั้นประดับทั้งที่หน้าบันและกาบล่าง /บัวกาบ/กลีบขนุน แสดงลวดลายตามแบบล้านนา (โดยเฉพาะลายเม็ดอัญมณี มีรูตรงกลาง วางห่างไม่ติดกัน) สลับกับลายดอกซีกดอกซ้อน/ประจำยาม และ รูปหน้าบุคคลขนาดใหญ่ 4 ด้าน ตามศิลปะแบบสุโขทัย (อิทธิพลงานช่างเขมรในรัฐสุโขทัยเดิม) ครับ
.
*** ความหมายของรูปบุคคล 4 หน้าบนยอดบัวตูม หมายถึงสวรรค์ชั้นชั้นโสฬสพรหมและอรูปภูมิ ที่อยู่ยอดบนสุดตามวรรณกรรม “เตภูมิกถา/ไตรภูมิกถา/ไตรภูมิโลกวินิจฉัย/ไตรภูมิโลกสัณฐาน” รูปบุคคลนั่งในซุ้มบัญชร คือ “พระจตุโลกบาล/จตุมหาราชิกา (Cātum-Lokapala /Cātummahārājika) บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาซึ่งเป็นชั้นแรกของแดนเทวภูมิ เรียกว่า “ชั้นฉกามาพจร/จาตุม” ที่มีอยู่ 6 ชั้น ตั้งอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ/สิเนรุราช ประกอบด้วยท้าวธตรฐราช มีบริวารเป็นคนธรรพ์ เมืองตะวันตกมีท้าววิรูปักษ์ ปกครองเหล่าครุฑและนาค เมืองทิศใต้มีท้าววิรุฬหกราช ปกครองเหล่ายักษ์กุมภัณฑ์ (เป็นยักษ์ท้องใหญ่มีอัญฑะเหมือนหม้อ) เมืองทางทิศเหนือ มีท้าวไพศรพณ์มหาราช ปกครองเหล่ายักษ์และรากษส 
.
ฐานล่างประดับปูนปั้นด้วยรูปเทวดาแสดงอัญชุลี และนางฟ้าแสดงการร่ายรำ หมายถึงชั้นเทวภูมิ/ฉกามาพจรเดียวกับพระจตุโลกบาล ที่อยู่ของเหล่าเทวดาและนางฟ้า เหนือแดน “มนุสสภูมิ/มนุษยภูมิ” และ “อบายมุขภูมิ” ครับ
.
*** รูปแบบสถาปัตยกรรมและงานศิลปะของปราสาทเฟื้อง จึงสอดรับกับคติ “ไตรภูมิกถา” ในช่วงยุคพรฺญาฦๅไทย/พรฺญาลิไท อย่างชัดเจน มิได้เกี่ยวข้องกับยอดวิมานที่มีพระพัตร์ 4 ด้านแบบบายน ถึงจะมีความคล้ายคลึงกันทางศิลปะก็ตามครับ
.
เมื่อพิจารณาลวดลายปูนปั้นประดับรูปราหูอมจันทร์เหนือรวยตัวนาคกลางจั่วและแท่งสอบแหลม แสดงให้เห็นรูปแบบการประดับซุ้มบัญชรชั้นซ้อนของเจดีย์วัดป่าสัก เมืองโบราณเชียงแสน ที่วางรูปราหูอมจันทร์ไว้กลางหน้าจั่ว โดยมี  “ใบเพกากลีบยาว” หรือ “ซุ้มเคล็ก” (Clec) แบบพุกาม ประดับเป็นยอดแหลมอยู่ด้านบนไม่แตกต่างกัน ในขณะที่รัฐสุโขทัยจะนิยมหน้ากาล/เกียรติมุขคายมาลัยแบบลังกา
.
การวางปราสาทเฟื้องกลางสันหลังคาวิหาร เครื่องแต่งกายและรัศมีของรูปเทพพนม นางฟ้าร่ายรำ รูปเทวดาประดับหัวเสา ลายกรอบกลมหยักใน (กรอบกระจก)และลายกรอบสามเหลี่ยมแบบ“หัวหยู่อี้” บนเฟื่องอุบะ ลวดลายปูนปั้นและรูปทรงของกลีบขนุนแบบกาบประดับมุม ก็ล้วนแต่แสดงรูปแบบงานศิลปะนิยมแบบล้านนาที่ผสมผสานเข้ามาครับ
.
ประกอบกับความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างรัฐสุโขทัยและรัฐล้านนาในสมัยมหาธรรมราชาฦๅไทย/พรฺญาลิไท กับ พรฺญากือนา ที่เชื่อมความสัมพันธ์ด้วยการส่งพระสุมนเถระขึ้นไปเผยแพร่พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์/รามัญนิกาย จนเกิดเป็นวัดและนิกายสวนดอกขึ้นในเชียงใหม่
.
*** ซุ้มประตูยอดปราสาทเฟื้อง มหาธาตุเชลียง จึงควรอาจมีอายุการสร้างอยู่ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นงานสถาปัตยกรรมเจดีย์ยอดดอกบัวตูมแบบสุโขทัยที่สอดรับกับคติไตรภูมิกถา โดยได้รับอิทธิพลจากคติและงานศิลปะแบบล้านนา (พุกามและจีน) เข้ามาผสมผสานอย่างชัดเจนครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

มหานิบาตชาดก

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“มหานิบาตชาดก”ลังกาวงศ์เริ่มแรกในจักรวรรดิบายน

ความแตกแยกระหว่างนิกายต่าง ๆ ในลังกาที่ยาวนานกว่า 500 ปี จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 จึงได้เกิดการปฏิรูปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกาครั้งใหญ่ ในสมัยของพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช ทรงโปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก กำหนดพระธรรมวินัยขึ้นใหม่จนเกิดพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบ “ลังกาวงศ์” (Theravāda/Lankavong Buddhism) ขึ้นเป็นครั้งแรก 
.
คติลังกาวงศ์ ได้เริ่มส่งอิทธิพลเข้ามายังเมืองตามพรลิงค์/ตมฺลิงคะ (Tamlinga)/นครศรีธรรมราช ผ่านต่อไปยังเมืองพระนครศรียโสธรปุระตามเส้นทางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนัก ดังปรากฏหลักจากจารึก “พระเจ้านิสสังกมัลละ” (Nissanka Malla) แห่งนครโปโลนนารุวะ ที่ระบุว่าอาณาจักรสิงหลได้มีไมตรีกับรามัญเทศะและกัมโพชเทศะ ทั้งยังได้ส่งคณะสงฆ์เข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาลังกาวงศ์ในอาณาจักรทั้งสอง ซึ่งในอาณาจักรกัมพุชเทศะจะตรงกับช่วงแรกของสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ครับ
.
นิกายลังกาวงศ์ในยุคแรกที่เข้าไปสู่รามัญเทศะ ได้พัฒนาไปเป็น “รามัญนิกาย” หรือ นิกายอรัญวาสี /อุทุมพรคีรี/ทิมพลุคละ” (Āraṇya-vāsī/Udumbaragiri Dimbulagala) หรือ “ลังกาวงศ์ยุคที่ 2” มีศูนย์กลางเมืองนครพัน/พะอัน/เมาะตะมะ (Pa-an /Martaban) ส่งต่ออิทธิพลมาไปยังกลุ่มรัฐต่าง ๆ ทางตะวันออก ทั้งในเขตล้านนา สุโขทัย สุพรรณภูมิ ละโว้ เข้าไปยังราชสำนักเมืองพระนคร ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19
.
*** ถึงแม้ว่าในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ราชสำนักบายนให้ความนิยมในคติความเชื่อนิกายมหายาน/วัชรยานตันตระ  (Mahāyāna/Vajrayāna Tantric Buddhism) เน้นหนักไปที่ลัทธิ “โลเกศวร” (Lokeśvara) ก็ตาม แต่อิทธิพลของพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์รุ่นแรกที่ยังไม่ได้รับความนิยม ยังได้แทรกเข้าไปสู่ราชสำนักเมืองพระนครธมเช่นเดียวกัน อย่างการปรากฏเจดีย์แบบลังกา/โปโลนนารุวะ องค์ระฆังเตี้ยอ้วนป้อม ฐานปัทม์สามชั้น บัลลังก์ใหญ่ ประดิษฐานภายในปราสาทประธานของปราสาทพระขรรค์ (Jayaśrí) ปราสาทที่ถูกสถาปนาขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระราชบิดา บริเวณที่ได้รับชัยชนะต่อกองทัพเรือจามปาครับ   
.
โดยเฉพาะการปรากฏรูปงานศิลปะที่แสดงเรื่องราว “มหานิบาตชาดก/ทศชาติชาดก”” (Mahānipāta jātaka) อันเป็นชาดกเรื่องใหญ่ 10 พระชาติสุดท้ายจาก “อรรถกถาชาดก”(Jātakatthavaṇṇanā) ในภาษาบาลีทั้งหมด 547 (550) เรื่อง เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติบำเพ็ญบารมีธรรมของพระโพธิสัตว์ในแต่ละภพชาติก่อนจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงการกระทำความดีและความชั่วผ่านเรื่องเล่าแบบนิทาน อันเป็นคตินิยมของฝ่ายเถรวาทโดยตรง 
.
*** ภาพสลักเรื่องราวในมหานิบาตชาดก ที่พบในช่วงจักรวรรดิบายน เป็นเรื่อง  “พระเวสสันดร” (Vessantara Jātaka) ที่ปราสาทตาพรหม ปราสาทพระขรรค์ ปราสาทตาพรหมแห่งโตนเลบาตี ปราสาทตาไนย ปราสาทบันเตียสำเหร่  นิยมสลักเป็นภาพตอนที่พระเวสสันดรพระราชทานกัญหาและชาลีให้กับชูชก และตอนพระราชทานช้างแก้วปัจจัยนาเคนทร์ ให้แก่พราหมณ์ทั้ง 8 จากเมืองกลิงครัฐครับ 

เรื่อง “สุวรรณสาม” (Sāma Jātaka) พบที่ปราสาทบายน  เป็นภาพตอนที่สุวรรณสามออกมาตักน้ำที่แม่น้ำมิคสัมมตาให้กับบิดามารดาที่ตาบอดเพราะพิษงู แต่ถูกพระเจ้ากบิลยักขราช แผลงศรมาสังหาร เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นร่างแปลงของนาคป่า เทพยาแห่งป่าหิมวันต์
.
พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในราชสำนักบายน ยังได้ปรากฏความนิยมในการสร้างพระพุทธรูป ที่เปลี่ยนรูปแบบจากการนั่งไขว้ข้อพระชงฆ์ประสานขัดสมาธิเพชร แบบการปฏิบัติโยคะที่เรียกว่า “วัชราสนะ” (Vajrāsana) ตามศิลปะนิยมของฝ่ายมหายาน จากอิทธิพลศิลปะราชวงศ์ปาละ มาเป็นการนั่งแบบขัดสมาธิราบ “วีราสนะ/ปรยังกาสนะ” (Vīrāsana /Paryaṅkasana) ตามแบบลังกา โปโลนนารุวะทั้งหมด
.
*** พระพุทธรูปในงานสิลปะแบบบายนที่ควรนั่งขัดสมาธิเพชรตามศิลปะฝ่ายมหายาน/วัชรยาน กลับนิยมสลักเป็นรูปนั่งสมาธิราบตามแบบลังกาวงส์ทั้งหมดครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy 

วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

จารึกปราสาทเมืองสิงห์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
ชื่อพระนามกษัตริย์แห่งศรีชยสิงหปุรีองค์สุดท้าย ใน “จารึกปราสาทเมืองสิงห์” ?

บนฐานรูปเคารพสนานโทรณีหินทรายขนาดกลางชิ้นหนึ่ง ที่พบในระหว่างการขุดแต่งปราสาทประธาน ปราสาทเมืองสิงห์ ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2521 (ปัจจุบันจัดแสดงที่อาคารจัดแสดง อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์) ปรากฏข้อความจารอยู่บนขอบนูนด้านบน หันหัวออกจากแกนกลาง อ่านข้อความได้จากมุขรางสรงน้ำด้านหน้า เป็นชื่อนามสั้น ๆ ว่า “พรฺญาไชยกร”     
.
*** จารึกบนฐานรูปเคารพนี้ ยังคงเป็นจารึกเดียวที่พบจากปราสาทเมืองสิงห์ในปัจจุบัน และถือได้ว่าเป็นจารึกในรูปแบบอักษรและออกเสียงภาษาเขมรโบราณ ที่พบอยู่ไกลสุดจากศูนย์กลางอำนาจเมืองพระนครธม (ศรียโสธระปุระ) ทางตะวันตกครับ  
.
ชื่อนามที่พบในจารึกไม่ใช่ชื่อนามของรูปเคารพ ด้วยเพราะตามขนบแบบแผนและคติเขมรโบราณ นิยมใช้คำว่า “กมฺรเตงฺชคต” (Kamarateṇ Jagatta ผู้เป็นใหญ่เหนือสัตว์โลก) นำหน้าชื่อนามศักดิ์สิทธิ์ของรูปเคารพ ส่วนชื่อนามของกษัตริย์จะใช้คำนำหน้าพระนามว่า “วฺระ ปาท/ธุลี วฺระปาท/ธุลีเชงฺ (Vraḥ pāda) นำหน้า “กมฺรเตงฺ อญฺ” (Kamarateṇ Añ) ตามด้วย “ศรี” (Śrī) ชื่อพระนาม ลงท้ายด้วย “วรฺมฺม/วรมัน” (Varmma) และ “เทวะ” (Deva) ปิดท้ายชื่อพระนาม  
.
หากเป็นเชื้อพระวงศ์ ผู้ปกครองนครในอาณาจักร/จักรวรรดิและบุคคลสำคัญ จะมีคำนำหน้าเพียง “วฺระกมฺรเตงฺ อญฺ /พระกมรเตงอัญ” ศรีและชื่อนาม และลงท้ายด้วยลงท้ายด้วย “วรฺมฺม/วรมัน” ไม่มีคำว่าเทวะครับ  
.
ตำแหน่งผู้ปกครองวิษัยนครและสฺรุกชุมชน อาจใช้เพียงคำหน้า “กมฺรเตงฺอญฺ /กมรเตงอัญ” ส่วนตำแหน่งต่าง ๆ นั้น ไล่ลงมาจาก “อมฺรเตงฺ/อมรเตง” “มฺรเตงฺ/มฺรตาญ”  “กํเสฺตงฺ อัญฺ” (กำเสตงอัญ) “เสฺตงฺ อญฺ” (สเตงอัญ) “เสฺตงฺ”  “เตงฺตฺวนฺ” โดยมีตำหน่ง “เตงฺ” ในลำดับท้ายสุด
.
*** อีกทั้งยังมีตำแหน่งของผู้ตัดสินคุณโทษหรือผู้พิพากษา จะเรียกว่า “สภาปติ” (Sabhāpati)  จะมีนาม “ศรี” นำหน้าชื่อ มีคำว่า “ปณฺฑิตฺ/บัณฑิต” (Paṇḍita) ปิดท้าย และคำว่า “วฺระกมฺรเตงฺ อญฺ คุรุ” ที่หมายถึงตำแหน่งพระอาจารย์คนสำคัญในราชสำนัก ครับ
.
------------------------
*** ชื่อตำแหน่ง “พรฺญา” ในจารึกปราสาทเมืองสิงห์ จึงไม่ใช่ชื่อตำแหน่งตามแบบเมืองพระนคร แต่เป็นคำที่นิยมใช้ในกลุ่มรัฐขอมเจ้าพระยาและลุ่มน้ำสาขาตอนบนทางตะวันตกช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 18 โดยนำเสียงในภาษารามัญ/ทวารวดี (Rāmaṇya) มาใช้ในรูปอักษร/ภาษาเขมรโบราณ มีความหมายถึง “กษัตริย์/ผู้เป็นใหญ่” หรือผู้ปกครองนคร/รัฐ ดังชื่อพระนามกษัตริย์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 พรฺญาฦๅไทย/พรฺญาไสฦๅ (ไทย)/พรฺญามังราย/พรฺญางำ ฯ ทั้งยังส่งอิทธิพลจากราชสำนักอยทธยากลับไปยังราชสำนักเขมรหลังยุคเมืองพระนครในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 อย่าง “พญาคำขัด/พญายาต(ญาติ)” อีกด้วย 
.
*** ส่วนคำว่า “เจ้าพระยา/พระยา” ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นชื่อตำแหน่งที่เกิดขึ้นภายหลังคำว่า “พรฺญา/พญา” อาจจะมาจากคำว่า “พระ+ออกญา/อาญา/อาชญา” ในความหมายของผู้มีอำนาจอย่างกว้างขวาง/ขุนนางระดับสูง ไม่ใช่หมายถึงกษัตริย์ผู้ปกครองครับ
.
ถึงแม้ว่าอักษรและเสียงภาษาในจารึกปราสาทเมืองสิงห์ อาจมีอายุอักษรเก่าแก่ขึ้นไปถึงช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 แต่จากบริบทของความหมายของคำว่า “พรฺญา” ที่นิยมในเขตรัฐเจ้าพระยาช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 การพัฒนารูปอักษรที่ทันสมัยแตกต่างไปจากเดิม ฐานรูปประติมากรรมที่พบในเขตสำคัญที่สุดของปราสาทและร่องรอยหลักฐานการสิ้นสุดความเป็นเมืองจนทิ้งร้างที่สอดรับเวลากับการเติบโตขึ้นของรัฐสุพรรณภูมิ จากขั้วอำนาจกลุ่มชนลูกผสมรามัญทวารวดีเดิมในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ที่ได้รุกกลับเข้ามาทวงคืนดินแดนตะวันตก (Inam aparaṃ) คืนจากจักรวรรดิบายนที่มีอายุสั้นเพียงประมาณ 30 ปี 
.
*** ชื่อพระนาม “พรฺญาไชยกร” ในจารึกปราสาทเมืองสิงห์ จึงควรเป็นชื่อนามของกษัตริย์แห่งนครศรีชยสิงหปุรี (Śrí Jaya-Siṃhapuri) พระองค์สุดท้ายในดินแดนที่เคยอยู่ในอิทธิพลของชาวกัมพุชะเทศะจากเมืองพระนครธม ที่ได้ถูกหลงลืมและละทิ้งไว้ในแดนตะวันตก ได้เพียงเท่านั้นครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy