วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

พระพุทธรูปยืน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระพุทธรูปยืน” พุทธศิลป์ทวารวดีที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์

*** เช่นเดียวกับพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ที่สุดในยุควัฒนธรรมทวารวดี ที่ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ชั้นสองของอาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ...ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ก็ได้มีการรีโนเวทห้องจัดแสดงขึ้นใหม่ โดยได้มีการย้ายพระพุทธรูปยืนองค์สำคัญของเมืองนครปฐม มาประดิษฐาน/จัดแสดงขึ้นใหม่จนดูโดดเด่นยิ่งกว่าเดิม   
.
พระพุทธรูปยืนองค์นี้ มีขนาดความสูงประมาณ 2.5 เมตร น้อยกว่าพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ สลักขึ้นจากหินตะกอนประเภทหินปูนสีเข้ม (Limestone) มีพุทธศิลป์และเทคนิคการประกอบแบบเดียวกัน จึงน่าจะถูกแกะสลักขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 13 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นพระพุทธรูปแบบยืนตรง “สมภังค์”  (Samabhaṅga) ประกอบเป็นชิ้นส่วน 4 ชิ้น ชิ้นส่วนล่างของพระวรกายกลางพระอูรุ (ต้นขา) ลงไปถึงฐานบัวคว่ำบัวหงาย ชิ้นส่วนบนเริ่มจากกลางพระอูรุขึ้นไปสุดที่พระเศียร เจาะเนื้อหินเป็นช่องวางเหล็กรูปตัวไอเชื่อมต่อกันที่ด้านหลัง ชิ้นส่วนพระกรและพระหัตถ์อีกด้านละหนึ่งชิ้น เชื่อมต่อเข้ากับพระวรกายด้วยการเข้าเดือย (มีรูกลม) ตรงส่วนพระกะโประ (ศอก) แต่ก็หายไปทั้งสองข้างครับ  
.
พระพักตร์รูปทรงเหลี่ยมป้านมุม  มีรูปศิลปะแบบเดียวกับพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ แต่ดูฝีมือหย่อนกว่า พระพระนลาฏ (หน้าผาก) แบนแคบ พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปนเหลือบต่ำ (แบบตา นก นอน) สลักเส้นพระกาฬเนตรที่กลางพระเนตร พระนาสิกเป็นสัน (แตกหัก) พระโอษฐ์หนาดูบึ้งตึง พระหนุ (คาง) โปนเล็กน้อย พระกรรณยาว ขมวดพระเกศาเป็นก้นหอยใหญ่วางตัวสับหว่างเรียงต่อขึ้นไป อุษณีษะต่อจากส่วนกะโหลก โปนขึ้นเล็กน้อยยังไม่แยกออกไปชัดเจน พระรัศมี (ยอดพระเจ้า) เป็นดอกบัวตูมเตี้ย ๆ  พระศออ้วนกว้าง  
.
องค์พระพุทธรูปห่มผ้าจีวรแบบห่มคลุมเรียบแนบเนื้อ ยกพระหัตถ์ขึ้นสองข้างในระดับเดียวกัน แสดงวิตรรกะมุทรา (แสดงธรรม) อันเป็นความนิยมในยุคสมัยนั้น การห่มคลุมของจีวรแบบสมมาตรทำให้เกิดการรั้งจีวรขึ้นทั้งสองข้างเป็นสันผ้าตรงจากข้อพระหัตถ์ลงมาเท่ากัน ปลายผ้าจีวรแยกเป็นริ้วทบ ชายจีวรด้านหน้าถูกรั้งขึ้นสูงกว่าชายผ้าด้านหลัง ทำให้เกิดเส้นโค้งด้านหน้าพระชงฆ์เป็นรูปตัว U ทับอยู่บนชั้นผ้าสบง โดยมีผ้าจีวรที่ทบกันปิดด้านหลังอีกทีหนึ่ง ส่วนพระชงฆ์ใต้พระชานุกลม (หัวเข่า) สลักเป็นสันคมลงมาถึงข้อพระบาท อันเป็นลักษณะเด่นของช่างศิลปะเมืองนครชยศรีโบราณ พระโสณีคาดแถบรัดประคด มีชายผ้าจีวรนูนขึ้นมาตรงกลางแล้วยุบลงระหว่างพระเพลา ฐานเป็นกลีบบัวคว่ำบัวหงาย (สภาพแตกหัก) ครับ  
 
.
ด้วยเพราะนุ่งจีวรแบบห่มคลุมตามพุทธศิลป์ของฝ่าย “มหายาน” (Mahāyāna)  พระพุทธรูปยืนองค์นี้จึงเป็น “พระอมิตาภะพุทธเจ้า”  (Amitābha Buddha) พระพุทธเจ้าผู้ลงมาโปรดรับดวงวิญญาณมนุษย์ ขึ้นไปยังแดนสุขาวดี แสดงวิตรรกะมุทราทั้งสองพระหัตถ์ ตามคติฝ่ายมหายาน/สุขาวดี ที่นิยมในงานศิลปะทวารวดีตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 13 เช่นเดียวกับพระยืนองค์ใหญ่ 
.
***และด้วยเพราะมีขนาดใหญ่โตกว่าพระพุทธรูปยืนในงานศิลปะทวารวดีโดยทั่วไป พระพุทธรูปยืนองค์นี้จึงน่าจะเคยเป็นพระประธานในศาสนสถานแห่งใดแห่งหนึ่งในอดีตของเมืองโบราณนครชยศรี ที่ปัจจุบันอาจได้ถูกเสื่อมสภาพไปแล้วครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น