วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

จารึกปราสาทเมืองสิงห์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
ชื่อพระนามกษัตริย์แห่งศรีชยสิงหปุรีองค์สุดท้าย ใน “จารึกปราสาทเมืองสิงห์” ?

บนฐานรูปเคารพสนานโทรณีหินทรายขนาดกลางชิ้นหนึ่ง ที่พบในระหว่างการขุดแต่งปราสาทประธาน ปราสาทเมืองสิงห์ ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2521 (ปัจจุบันจัดแสดงที่อาคารจัดแสดง อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์) ปรากฏข้อความจารอยู่บนขอบนูนด้านบน หันหัวออกจากแกนกลาง อ่านข้อความได้จากมุขรางสรงน้ำด้านหน้า เป็นชื่อนามสั้น ๆ ว่า “พรฺญาไชยกร”     
.
*** จารึกบนฐานรูปเคารพนี้ ยังคงเป็นจารึกเดียวที่พบจากปราสาทเมืองสิงห์ในปัจจุบัน และถือได้ว่าเป็นจารึกในรูปแบบอักษรและออกเสียงภาษาเขมรโบราณ ที่พบอยู่ไกลสุดจากศูนย์กลางอำนาจเมืองพระนครธม (ศรียโสธระปุระ) ทางตะวันตกครับ  
.
ชื่อนามที่พบในจารึกไม่ใช่ชื่อนามของรูปเคารพ ด้วยเพราะตามขนบแบบแผนและคติเขมรโบราณ นิยมใช้คำว่า “กมฺรเตงฺชคต” (Kamarateṇ Jagatta ผู้เป็นใหญ่เหนือสัตว์โลก) นำหน้าชื่อนามศักดิ์สิทธิ์ของรูปเคารพ ส่วนชื่อนามของกษัตริย์จะใช้คำนำหน้าพระนามว่า “วฺระ ปาท/ธุลี วฺระปาท/ธุลีเชงฺ (Vraḥ pāda) นำหน้า “กมฺรเตงฺ อญฺ” (Kamarateṇ Añ) ตามด้วย “ศรี” (Śrī) ชื่อพระนาม ลงท้ายด้วย “วรฺมฺม/วรมัน” (Varmma) และ “เทวะ” (Deva) ปิดท้ายชื่อพระนาม  
.
หากเป็นเชื้อพระวงศ์ ผู้ปกครองนครในอาณาจักร/จักรวรรดิและบุคคลสำคัญ จะมีคำนำหน้าเพียง “วฺระกมฺรเตงฺ อญฺ /พระกมรเตงอัญ” ศรีและชื่อนาม และลงท้ายด้วยลงท้ายด้วย “วรฺมฺม/วรมัน” ไม่มีคำว่าเทวะครับ  
.
ตำแหน่งผู้ปกครองวิษัยนครและสฺรุกชุมชน อาจใช้เพียงคำหน้า “กมฺรเตงฺอญฺ /กมรเตงอัญ” ส่วนตำแหน่งต่าง ๆ นั้น ไล่ลงมาจาก “อมฺรเตงฺ/อมรเตง” “มฺรเตงฺ/มฺรตาญ”  “กํเสฺตงฺ อัญฺ” (กำเสตงอัญ) “เสฺตงฺ อญฺ” (สเตงอัญ) “เสฺตงฺ”  “เตงฺตฺวนฺ” โดยมีตำหน่ง “เตงฺ” ในลำดับท้ายสุด
.
*** อีกทั้งยังมีตำแหน่งของผู้ตัดสินคุณโทษหรือผู้พิพากษา จะเรียกว่า “สภาปติ” (Sabhāpati)  จะมีนาม “ศรี” นำหน้าชื่อ มีคำว่า “ปณฺฑิตฺ/บัณฑิต” (Paṇḍita) ปิดท้าย และคำว่า “วฺระกมฺรเตงฺ อญฺ คุรุ” ที่หมายถึงตำแหน่งพระอาจารย์คนสำคัญในราชสำนัก ครับ
.
------------------------
*** ชื่อตำแหน่ง “พรฺญา” ในจารึกปราสาทเมืองสิงห์ จึงไม่ใช่ชื่อตำแหน่งตามแบบเมืองพระนคร แต่เป็นคำที่นิยมใช้ในกลุ่มรัฐขอมเจ้าพระยาและลุ่มน้ำสาขาตอนบนทางตะวันตกช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 18 โดยนำเสียงในภาษารามัญ/ทวารวดี (Rāmaṇya) มาใช้ในรูปอักษร/ภาษาเขมรโบราณ มีความหมายถึง “กษัตริย์/ผู้เป็นใหญ่” หรือผู้ปกครองนคร/รัฐ ดังชื่อพระนามกษัตริย์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 พรฺญาฦๅไทย/พรฺญาไสฦๅ (ไทย)/พรฺญามังราย/พรฺญางำ ฯ ทั้งยังส่งอิทธิพลจากราชสำนักอยทธยากลับไปยังราชสำนักเขมรหลังยุคเมืองพระนครในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 อย่าง “พญาคำขัด/พญายาต(ญาติ)” อีกด้วย 
.
*** ส่วนคำว่า “เจ้าพระยา/พระยา” ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นชื่อตำแหน่งที่เกิดขึ้นภายหลังคำว่า “พรฺญา/พญา” อาจจะมาจากคำว่า “พระ+ออกญา/อาญา/อาชญา” ในความหมายของผู้มีอำนาจอย่างกว้างขวาง/ขุนนางระดับสูง ไม่ใช่หมายถึงกษัตริย์ผู้ปกครองครับ
.
ถึงแม้ว่าอักษรและเสียงภาษาในจารึกปราสาทเมืองสิงห์ อาจมีอายุอักษรเก่าแก่ขึ้นไปถึงช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 แต่จากบริบทของความหมายของคำว่า “พรฺญา” ที่นิยมในเขตรัฐเจ้าพระยาช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 การพัฒนารูปอักษรที่ทันสมัยแตกต่างไปจากเดิม ฐานรูปประติมากรรมที่พบในเขตสำคัญที่สุดของปราสาทและร่องรอยหลักฐานการสิ้นสุดความเป็นเมืองจนทิ้งร้างที่สอดรับเวลากับการเติบโตขึ้นของรัฐสุพรรณภูมิ จากขั้วอำนาจกลุ่มชนลูกผสมรามัญทวารวดีเดิมในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ที่ได้รุกกลับเข้ามาทวงคืนดินแดนตะวันตก (Inam aparaṃ) คืนจากจักรวรรดิบายนที่มีอายุสั้นเพียงประมาณ 30 ปี 
.
*** ชื่อพระนาม “พรฺญาไชยกร” ในจารึกปราสาทเมืองสิงห์ จึงควรเป็นชื่อนามของกษัตริย์แห่งนครศรีชยสิงหปุรี (Śrí Jaya-Siṃhapuri) พระองค์สุดท้ายในดินแดนที่เคยอยู่ในอิทธิพลของชาวกัมพุชะเทศะจากเมืองพระนครธม ที่ได้ถูกหลงลืมและละทิ้งไว้ในแดนตะวันตก ได้เพียงเท่านั้นครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น