วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2564

พระนาคปรกบายน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระพุทธรูปนาคปรกศิลปะบายน” ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ไม่เกี่ยวข้องกับตำนานจามเทวี 

หากไม่นำ “นิทาน/ตำนาน/เรื่องเล่า” ประวัติการสร้างเมืองในอาณาจักรล้านนา ที่ได้รับอิทธิพลมาจาก“ชินกาลมาลีปกรณ์” (Jinakālamālī) และ "จามเทวีวงศ์" (Jamadeviwong) วรรณกรรมพุทธศาสนาที่เพิ่งถูกรจนาขึ้นโดยพระเถระในช่วงต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 ในยุครุ่งโรจน์ของอาณาจักร สมัยพระเจ้าติโลกราชถึงสมัยพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิราช (พญาแก้วหรือพระเมืองแก้ว) มาใช้อธิบายแล้ว “วัดพระธาตุลำปางหลวง” จะถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 โดยผู้ปกครองเมืองลำปาง ตามข้อความใน “จารึกเจ้าหมื่นคำเพชร” (ลป.1) อักษรฝักขาม ภาษาไทย ระบุปีจุลศักราช 838 ( พ.ศ.2019) กล่าวว่า  “...ปุนัพสุเจ้าหมื่นคําเพชรมาครองเมืองนคร มาเลิกศาสนาพระธาตุเจ้าในลําพาง ให้ก่อกําแพงแปลงวิหาร แล้วเสร็จ ให้รจนารูปพระพุทธตนหนึ่งมีประมาณแสนหยิบหมื่นนํ้าทอง แล้วจัดงานเฉลิมฉลอง ถวายข้าทาส4 ครัวเรือน เพื่อให้ดูแลรักษาศาลากับนํ้าบ่อ แผ้วทางต่อพระเจดีย์ศรีรัตนชินธาตุ ถวายที่นา 15 ไร่ ข้าว 200 และข้าพระไว้ให้ทำนา...”
.
ในจารึกวัดพระธาตุลำปางหลวง (ลป.2) อักษรฝักขาม ภาษาไทย ระบุปีจุลศักราช 858 – 886 (พ.ศ. 2039 – พ.ศ. 2049) ระบุว่า “....เจ้าเมืองนครสีทัตถมหาสุรมนตรี (สีทัตถะ) ได้ขึ้นครองเมืองนครนี้มาแล้ว 6 เดือน จึงได้ร่วมกับพระสงฆ์ เจ้าหมื่น เจ้าพันและนักบุญทั้งหลาย ก่อสร้างวิหารวัดพระธาตุลำปางหลวง หล่อพระเจ้าล้านทอง และก่อพระเจดีย์ตั้งแต่เริ่มวางรากฐานจนถึงหุ้มทองกว้าง 12 วา สูง 19 วาจนแล้วเสร็จ...” ในจารึกหลักนี้ยังปรากฏวงดวงทักษิณา 3 วง ระบุเวลาของการก่อสร้างเจติยะสถานแต่ละอย่างไว้อย่างชัดเจนครับ 
.
เมื่อพิจารณารูปแบบศิลปะ/งานสถาปัตยกรรมของซุ้มประตูโขง มังกรคายนาค มณฑปโขงทรงปราสาทยอด (กุฎาคาร) และพระธาตุเจดีย์ทรงล้านนาเรือนฐาน 4 เหลี่ยมยกเก็จขยาย ฐานบัวลูกแก้ว “บัวถลา” แบบสุโขทัยรองรับองค์ระฆังไม่มีบัลลังก์ ก็สอดรับกับช่วงเวลาที่มีการก่อสร้างวัดพระธาตุลำปางหลวงตามจารึกในสมัยพระเมืองแก้วอย่างชัดเจน     
.
*** ภายหลังการสร้างวัดพระธาตุลำปางหลวงเพียงไม่กี่ปี อาณาจักรล้านนาได้เกิดสงครามกับอาณาจักรอยุทธยาในสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2  ในปี พ.ศ. 2050 สงครามยืดเยื้อจนถึงปี พ.ศ. 2058 กองทัพฝ่ายอยุทธยาสามารถยึดครองเมืองลำปาง อันเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญทางใต้ของอาณาจักรล้านนาได้ ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ว่า “....ศักราช 877 กุนศก วัน 3 15 ค่ำ เดือน 11  เพลารุ่งแล้ว 8 ชั้น 3 ฤกษ์ 9 ฤกษ์ สมเด็จพระรามาธิบดี เสด็จไปเมืองนครลำภางได้เมือง...” แต่ก็ได้คืนเมืองลำปางแก่ล้านนาภายหลังการเจรจาสงบศึก ตกลงเป็นไมตรีกันในปี พ.ศ. 2065 ครับ 
.
*** “ตำนานจามเทวี” ที่เริ่มจากวรรณกรรมชินกาลมาลีปกรณ์ และจามเทวีวงศ์ ที่ถูกนำมาใช้สวมทับ เล่าประวัติความเป็นมาวัดพระธาตุลำปางหลวงและหลาย ๆ ที่ในเมืองหริภุญชัยและเชียงใหม่กันอย่างกว้างขวางในยุคร่วมสมัยปัจจุบัน ยังไม่ได้ถูกรจนาขึ้นหรือยังไม่แพร่หลายเป็นที่รู้จัก 
.
พูดง่าย ๆ ก็คือ ตำนานจามเทวีที่ชอบนำมาฟุ้ง มาวิเคราะห์ปริศนากันอย่างสนุกสนานในปัจจุบัน...ยังไม่ได้เป็นที่รับรู้กันในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 ในยุคที่มีการสร้างวัดพระธาตุลำปางหลวงเลยนะครับ    
.
---------------------------
*** “วิหารละโว้/วิหารพระเจ้าศิลา/วิหารจามเทวี อันเป็นอาคารโถงไม่มีผนังทางด้านตะวันตก (ด้านหลัง) ขององค์พระธาตุ มีพระพุทธรูปนาคปรกองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ภายในมณฑปยอดปราสาท (กุฎาคาร)   (มีข้อความอธิบายไปตามตำนานหริภุญชัยจากชินกาลมาลีปกรณ์ ยกให้ไปเป็น “...พระพุทธรูปเก่าแก่ที่สุดในกรุงละโว้สมัยนั้น ครั้งเมื่อ พ.ศ. 1215 พระราชบิดาของพระนางจามเทวี มอบให้มาประดิษฐานไว้ ณ ที่นี้..” หรือใช้จากตำนานพระธาตุลำปางหลวงที่แต่งใหม่ในยุคหลังโดยได้รับอิทธิพลจากตำนานจามเทวี ที่ระบุว่า  "...วิหารด้านวันตกไว้พระสิลาเจ้า ตนอันพระญาละโว้พ่อนางจามเทวีหื้อมาไว้เปนที่ไหว้แก่อนันตยศอันเปนหลานตนอันยังอยู่กินเมืองนครนั้นแล...”) มีพุทธศิลป์แบบพระนาคปรกในงานศิลปะเขมรแบบบายน ที่น่าจะถูกนำขึ้นไปจากเมืองศรีสัชนาลัย/สุโขทัย (สุโขทัยพบพระพุทธรูปนาคปรกศิลปะนาคแผ่พังพานลู่เฉียงแบบบายนหลายองค์) ในช่วงที่พระเมืองแก้วนำกองทัพใหญ่ลงมาตีกรุงสุโขทัยในปี พ.ศ. 2056 ด้วยเพราะอาจเคยเป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของรัฐสุโขทัยในยุคจักรวรรดิเขมร (ปราค์วัดเจ้าจันทร์ ?) ไม่น่าเกี่ยวข้องไกลไปถึงเมืองละโว้ในตำนานและชื่อนามที่แต่งเติมกันเอาไปครอบทับเล่ากันในภายหลังแต่อย่างใด
.
องค์พระนาคปรกปรากฏร่องรอยแตกหักชำรุดไม่สมบูรณ์หลายแห่ง มีการซ่อมแซมส่วนพระเศียร โดยการปั้นพระพักตร์และพระเกศาขึ้นใหม่ด้วยปูนปั้น ขยายส่วนพระวรกายให้อวบอ้วนตามแบบคติ “พระสีหลปฏิมา/พระสิงห์” แบบล้านนาจากอิทธิพลศิลปะปาละ ปั้นจีวรห่มเฉียงผิดรูปเข้ามามุดใต้ผ้าสังฆาฏิสั้นปลายผ้าทบสองแฉก (ไม่เป็นเขียวตะขาบ) ส่วนฐานปั้นกลีบบัวและเกสรคลุมขึ้นมาถึงขนดนาคท่อนกลาง ตามแบบฐานพระพุทธรูปศิลปะล้านนานิยมครับ
.
และเมื่อพิจารณาส่วนฐานกลีบบัวที่ประกบเข้ากับตัวอาคารมณฑปทรงปราสาทยอดแบบล้านนา ที่ปรากฏ “บัวงอนสะบัดปลาย” และการแอ่นโค้งของสันมุมเรือนธาตุ อันเป็นอิทธิพลของงานสถาปัตยกรรมแบบล้านช้าง ทั้งยังไม่ประดับกาบแบบประตูโขงและมณฑปปราสาทยอดพระเจ้าล้านทอง พระพุทธรูปนาคปรกศิลปะบายนองค์นี้ จึงอาจเพิ่งถูกซ่อมแซม นำมาประดิษฐานพร้อมสร้างมณฑปภายหลังสมัยพระเมืองแก้วไปแล้ว ซึ่งอาจเป็นสมัยของพระเกษเกล้า/พระนางจิรประภาเทวี จนถึงสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ที่ปรากฏอิทธิพลศิลปะล้านช้างในล้านนา   
.
*** มิควรได้เกี่ยวข้องอะไรกับเมืองละโว้ในตำนานจามเทวี แต่อย่างใดเลยครับ 
เครดิต :FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2564

เจดีย์ช้างล้อม

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“เจดีย์ช้างล้อม/วัดปรัมปีลเวง”  สัญลักษณ์อำนาจอาณาจักรอยุทธยา เหนือศรียโศธระปุระ

ในปี พ.ศ. 1974  สมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพญา-สามพระยา) นำกองทัพอยุทธยาบุกไปพิชิตเมืองพระนครศรียโสธระปุระ ศูนย์กลางราชสำนักอาณาจักรเขมรโบราณจนพ่ายแพ้  ทรงส่งพระราชโอรส “เจ้าพรญาพรณครอินทร-เจ้าพญาพระนครอินทร์” หรือ “เจ้านครอินทร์” ยุวราชผู้ปกครองรัฐสุพรรณภูมิ ให้ไปเป็นกษัตริย์ (พระเจ้ากรุงยโศธร-สมเด็จพญาพระนครหลวง) ปกครองเมืองกัมพูชา
.
พงศาวดารเขมรฉบับนักองค์เอง (พงศาวดารเมืองละแวก) บันทึกว่า “...แลข่าวการผลัดแผ่นดินนั้นขจรไปถึง สมเด็จพระบรมราชาธิราชผู้พานพระนครศรีอยุทธยา (Samtec Braḥ Parama rājādhirāja)  จึงได้โปรด ฯ ให้เตรียมช้างม้ารี้พลเสด็จยกกองทัพออกมาล้อมเมืองพระนครหลวงไว้ได้ประมาณเจ็ดเดือน พระบาเจ้าศรีธรรมโศกราช (Braḥ cau śrī dharmāśokaraja) จึงนิมนต์พระสังฆราชาคณะสององค์ ๆ หนึ่งชื่อพระธรรมกิจ อีกองค์หนึ่งชื่อพระสุคนธ์ กับขุนมโนรศ ขุนมงคล ออกไปยอมแพ้ ถวายพระนครแก่พระบรมราชาธิราช แล้วพระบาเจ้าศรีธรรมโศกราชได้เสด็จสวรรคต พระบรมราชาธิราชให้แต่งการพระศพ เมื่อพระราชทานเพลิงแล้ว ให้สร้าง“วัดพระเชตุพน” (Jetavana)  ถวายพระธรรมกิจ ในเมืองพิศนุโลก (นครวัด/Bisnuloka/viṣṇuloka) สร้าง “วัดน้อย” (Noi) ถวายพระสุคนธ์  แล้วโปรดให้เจ้าพญาแพรดผู้เปนราชบุตรอยู่ครองเมืองพระนครหลวง ทรงพระนามว่า “พระอินทราชา” แล้วกวาดครัวอพยพได้ประมาณ 4 หมื่น ยกกลับไปพระนครศรีอยุทธยา...”
.
*** จารึก K. 489 พบจากวัดปรัมปีลเวง ? (Pram pi lveng/Buddhist Terrace No.1) พระอารามพุทธศาสนาเถรวาททางตะวันออกของสนามชัย หน้าลานพระราชวังหลวงและปราสาทสุออร์ปรัต ภายในกำแพงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างยาวประมาณ 35 * 125 เมตร อายุจารึกประมาณช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ปรากฏชื่อนามสำคัญในจารึกด้านหนึ่งว่า  “ธรรมมิกราชาธิราช” (Dharmmikarājādhirāja) และ “ราชาธิปติราช” (Rājādhipatirāja) ส่วนอีกด้านหนึ่งมีคำอธิษฐานของพระภิกษุเพื่อขอความสมหวังหลายประการ ซึ่งหากพิจารณาชื่อนามราชาธิปติ จากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ พงศาวดารฉบับวันวลิตและเอกสารหมิงสื่อลู่ จะหมายถึงสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพญา-สามพระยา) ผู้พิชิตเมืองพระนครหลวงนั่นเองครับ
.
*** วัดปรัมปีลเวง ที่ตั้งของพระพุทธรูปประธานปราสาทบายนขนาดใหญ่ ที่อาจมีพระนามว่า “พระกัมพุเชศวร” (Kambujeśvara)  จากจารึก K. 293 บนผนังกำแพงที่ปราสาทบายน ที่ถูกขนย้ายมาประดิษฐานในภายหลัง (พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์มุนีวงศ์ (เจ้ามณีวงศ์) กษัตริย์แห่งกัมพูชาได้โปรดให้เคลื่อนย้ายรูปประติมากรรมพระนาคปรกที่ซ่อมแซมแล้ว มาไว้ในมณฑปที่วัดจนถึงในปัจจุบัน) จึงอาจเป็น “วัดน้อย” ที่ถูกกล่าวถึงในพงศาวดารละแวก ที่ถูกสร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยา ภายหลังที่ได้ทรงพิชิตเมืองพระนครศรียโศธระปุระแล้ว โดยที่วัดพระเชตุพนในเขตนครวัด (ตามพงศาวดาร) ยังคงปรากฏใบเสมาในคติและศิลปะแบบรัฐสุพรรณภูมิเป็นหลักฐานอยู่ 
.
อีกหลักฐานสำคัญที่สามารถยืนยันความเป็นวัดน้อย ในยุคการครอบครองเมืองพระนครหลวงในสมัยของเจ้าสามพระยา คือ เจดีย์ประธานประธานของวัดปรัมปีลเวง ด้านหลังมณฑป ที่ปรากฏรูปสลักโกลนขาช้างคู่อยู่ล้อมรอบ เหนือฐานประทักษิณเวที (Pradakshina platform) ของเจดีย์ผังสี่เหลี่ยม ตามรูปแบบ “ช้างล้อม/หัตถีปราการ” (Hatthī-Prākāra) ในความหมายของกำแพงแห่งคชสาร สถาปัตยกรรมนิยมแบบมหิยังคณะมหาเจดีย์ (Mahiyangana) และสถูปรุวันเวลิ (Ruwanweli) ในคติเถรวาทลังกาวงศ์ ที่เมืองอนุราธปุระบนเกาะลังกา  ที่เริ่มปรากฏความนิยมในรัฐสุโขทัยมาตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 และที่วัดมเหยงค์ในรัฐอยุทธยา ที่สร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 1981 ครับ  
.
เจดีย์ช้างล้อมที่วัดน้อย/ปรัมปีลเวง ตามสถาปัตยกรรมนิยมช้างล้อมแบบอยุทธยา เป็นเจดีย์ช้างล้อมเพียงองค์เดียวที่พบในเมืองพระนคร  สอดรับกับพงศาวดารเมืองละแวก ชื่อพระนามที่กล่าวถึงในจารึก K. 489 อีกทั้งรูปแบบการปักใบเสมาคู่ในคติสีมันตริกรอบอุโบสถแบบรัฐสุพรรณภูมิ วัดปรัมปีลเวงจึงควรเป็นวัดน้อย ที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยา สร้างถวายพระราชาคณะเมืองพระนครตามพงศาวดาร
.
*** แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง การสร้างเจดีย์ช้างล้อมที่เมืองพระนคร มีลักษณะเช่นเดียวกับการสร้างพระปรางค์วัดจุฬามณี ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 1981 จนถึงปี พ.ศ. 1991 ที่เมืองพิษณุโลก ให้เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของอาณาจักรอยุทธยา ที่สามารถครอบครองดินแดนที่อยู่ทางเหนือสุด (ในช่วงเวลานั้น) ของอยุทธยาได้เป็นครั้งแรกครับ
.
เจดีย์ช้างล้อมวัดปรัมปีลเวง จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของรัฐอยุทธยาที่สามารถพิชิตและครอบครองอาณาจักรเขมรโบราณอันยิ่งใหญ่ได้อย่างแท้จริง เช่นเดียวกัน
.
-----------------
*** แต่กระนั้น การแย่งชิงอำนาจในราชสำนักเมืองพระนครก็ยังคงดำเนินต่อไป อยุทธยาปกครองเมืองศรียโสธระปุระได้ประมาณ 11 ปี จึงเกิดกบฏเจ้าพระยาญาติ-เจ้ายาด –เจ้าพญาคามยาต ผู้สืบเชื้อสายกษัตริย์เมืองพระนครเดิม ที่เจ้าสามพญาได้ส่งให้ไปปกครองหัวเมืองจัตุรมุข (พนมเปญ) ขึ้นในปี พ.ศ. 1986 เกิดสงครามใหญ่ไปจนถึงเมืองจัตุมุขทางใต้ของโตนเลสาบ ซึ่งในพงศาดารฝ่ายเขมรให้รายละเอียดว่า ในสงครามปราบพญายาดที่เมืองจัตุมุขนี้ อยุธยาได้กวาดต้อนเชลยศึกเป็นจำนวนถึง 120,000 คนกลับไปพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจำนวนผู้คนชาวเขมรมากที่สุด ยิ่งกว่าในยุคปี พ.ศ. 1974 ที่เจ้าสามพญามาพิชิตเมืองพระนครได้เสียอีกครับ 
.
แต่ในปีเดียวกัน เจ้าพญาพระนครอินทร์-พระเจ้ากรุงยโศธระได้เสด็จสวรรคต  พญาแพรกศรีราชา ที่คุมกองทัพจึงได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงกัมพูชาสืบต่อจากพระเชษฐาได้อีกประมาณกว่า 1 ปี จนถึงประมาณปี พ.ศ. 1987-1988 พญายาดที่มีพรรคพวกในราชสำนักเมืองพระนครจำนวนมากได้กลับมาลักลอบปลงพระชนม์พญาแพรกได้เป็นผลสำเร็จ ข้าราชการและขุนนางเมืองพระนครที่ส่วนใหญ่เป็นชาวเขมรในราชสำนักพระบาศรีธรรมโศกราชเดิมจึงได้ร่วมกันแข็งข้อขับไล่ขุนนาง ทหารและชาวอยุทธยากลับไป ยกให้พญายาดขึ้นเป็นกษัตริย์เมืองพระนคร พระนามว่า “พระบาพญายาด/สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีศรีธรรมมิกราช” 
.
*** เจดีย์ช้างล้อม ที่วัดน้อย/ปรัมปีลเวง สัญลักษณ์แห่งชัยชนะของอาณาจักรอยุทธยาในสมัยเจ้าสามพระยา ที่อาจยังก่อสร้างไม่เสร็จเรียบร้อยดี จึงอาจได้ถูกรื้อทำลายลงในช่วงเวลานี้ครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2564

พุทธศิลป์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พุทธศิลป์ “ปางลีลา” ที่ปราสาทโต๊ปตะวันตกในเมืองพระนคร  
ช่วงพุทธศตวรรษที่ 19  พุทธศาสนาเถรวาท นิกายอรัญวาสี /อุมทุมพรคีรี/ทิมพลุคละ (Āraṇya-vāsī/Udumbaragiri Dimbulagala) ที่กำลังได้รับความนิยมจากราชสำนักในเกาะลังกา ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นในเขตชายฝั่งเบงกอล เรียกว่า นิกายอุทุมพรคีรี ตามแบบลังกา หรือรามัญ/รัมมนะนิกาย มีศูนย์กลางเมืองนครพัน/พะอัน/เมาะตะมะ (Pa-an /Martaban) ได้ส่งต่ออิทธิพลในคติความเชื่อและงานพุทธศิลป์ไปยังกลุ่มรัฐต่าง ๆ ทางตะวันออก ทั้งในเขตล้านนา สุโขทัย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไปจนถึงราชสำนักเมืองพระนคร
.
นิกายอรัญวาสี สายรามัญนิกายที่เมืองพัน อาจเป็นจุดเริ่มต้นของงาน “พุทธศิลป์ปางลีลา” (Walking Buddha) ยกพระหัตถ์ขวาแสดงประทานอภัยเป็นครั้งแรก  ตามความหมายการเดินจงกรมที่ “รัตนจงกรมเจดีย์”ของพระพุทธองค์ในช่วงเสวยวิมุตติสุข การเดินจงกรมเพื่อการฝึกปฏิบัติ/เจริญวิปัสสนากรรมฐานด้วยอนุสติ  และการเดินประทักษิณ (Pradakṣiṇā /Circumambulation) บูชา แบบเดินเวียนขวารอบเจติยะสถาน
.
*** พระพุทธรูปปางลีลา จึงไม่ใช่พุทธศิลป์ที่เริ่มต้นในงานศิลปะแบบสุโขทัย แต่เป็นงานศิลปะของนิกายอรัญวาสีฝ่ายรามัญนิกายจากเมืองพัน ที่ส่งอิทธิพลให้แก่รัฐสุโขทัยและรัฐสุพรรณภูมิในช่วงเวลาเดียวกัน ตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 19 ครับ
.
---------------------
*** ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19  พระเจ้าศรีนทรวรมัน/อินทรวรมันที่ 3” (Srindravarman) พระชามาดา (ลูกเขย) ได้เข้าชิงบัลลังก์จากพระเจ้าชัยวรมันที่ 8  (jayavarman VIII) ราชสำนักใหม่ของเมืองพระนครได้หันไปเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาเถรวาทจากเกาะลังกา (Theravāda) ที่ผ่านมาจากแดนตะวันตก ทั้งนิกายกัมโพชสงฆ์ปักขะ (Kambojsanghapakkha) ตามแบบรัฐละโว้ และนิกายอรัญวาสี/รามัญนิกาย จากรัฐสุพรรณภูมิ
.
*** พุทธศิลป์ปางลีลาแบบพระบาทเดินเฉียงข้าง เวียนขวา พระหัตถ์ขวาแสดงประทานอภัย พบเป็นภาพสลักบนผนังประตูหลอกซุ้มประตูฝั่งทิศเหนือ ปราสาทบริวารหลังทิศเหนือของ“ปราสาทโต๊ปตะวันตก” (Western Prasat Tob/Top Temple /Monument 486) ในคติการเดินประทักษิณาวัตรเช่นเดียวกับที่พบจากสุโขทัยและสุพรรณภูมิครับ
.
ปราสาทโต๊ปตะวันตก  เป็นปราสาทหลังเดี่ยวแบบปราสาทยกฐานสูงในคติฮินดูไศวะนิกาย สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ที่ได้ไปรื้อถอนทับหลังจากปราสาทอิฐในยุคศิลปะบันทายสรีช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 มาใช้งานใหม่  แต่การก่อสร้างคงไม่เสร็จสมบูรณ์ ต่อมาได้ถูกเสริมฐานและก่อปราสาทบริวารขนาบข้าง จนกลายเป็นปราสาทสามหลังในสมัยพระเจ้าศรีนทรวรมัน หรือในสมัยของพระโอรส “พระเจ้าศรีนทรชัยวรมัน (Srindrajayavarman) มีการแปลงปราสาทด้วยการปัก “หลักนิมิต/ใบสีมาคู่” (Sīmā – Double-slab marker stones- Stone boundary markers) ตามคติ “สีมันตริก” ของฝ่ายรามัญนิกาย/สุพรรณภูมิ  ให้กลายมาเป็นวัดและเจติยะสถานในคติเถรวาท มีการแกะสลักหน้าบันปราสาทบริวาร รูปพระพุทธเจ้าปางมารวิชัยใต้ต้นโพธิ์ภายในกรอบรวยนาคสามเหลี่ยม รวมทั้งภาพสลักพระพุทธรูปปางลีลาเวียนซ้ายและพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยนุ่งห่มจีวรแบบเถรวาทบนผนังประตูหลอกภายในซุ้มประตู
.
*** ถึงแม้ว่าจะมีการอธิบายจากเอกสารของฝ่ายกัมพูชาว่า ปราสาทบริวารทั้งสองหลังของปราสาทโต๊ปตะวันตก ถูกสร้างขึ้นในยุคนักองค์จันหรือพญาจันทราชา กษัตริย์พระองค์สำคัญในยุคเมืองละแวก ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ก็ตาม แต่จากหลักฐานของลวดลายการสลักที่ยังคงรักษาโครงร่างหน้าบันแบบมีปลายกรอบเป็นนาค 5 เศียร ตามขนบแบบแผนปราสาทหินยุคก่อนหน้า มีรายละเอียดของลวดลายและรูปสลักพระพุทธเจ้าปางมารวิชัยใต้ต้นโพธิ์ตามแบบพุทธศิลป์ของปราสาทพระป่าลิไลย ที่สร้างขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19  ทั้งในยุคของนักองค์จันก็มิได้มีความนิยมในการสร้างวัด ในสถาปัตยกรรมปราสาทหินตามแบบยุคเมืองพระนคร อีกทั้งในยุคนักองค์จันก็ไม่พบความนิยมพุทธศิลป์ปางลีลาในการบูรณะปราสาทนครวัดและวัดในเมืองพระนครแต่อย่างใดครับ 
.
พุทธศิลป์ของพระยืนและปางลีลาในซุ้มประตูหลอกของปราสาทโต๊ปตะวันตก แตกต่างไปจากพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปในยุคนักองค์จัน แต่มีรูปศิลปะที่สอดรับกับคติปางลีลาและศิลปะของพระเกตุมาลาเปลวเพลิงแบบลังกา ที่ปรากฏในงานศิลปะสุโขทัยและสุพรรณภูมิ ทั้งยังมีพระพักตร์ตามแบบศิลปะบายนเดิมในยุคก่อนหน้า
.
*** พุทธศิลป์พระพุทธรูปเดินลีลาอ่อนช้อยที่พบจากปราสาทโต๊ปตะวันตกในเมืองพระนคร จึงควรถูกสลักขึ้นจากในคติฝ่ายเถรวาทรามัญนิกาย/อรัญวาสี ที่ได้รับอิทธิพลจากรัฐสุพรรณภูมิไปในช่วงกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ครับ
เครดิต :FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
*** ขอบคุณภาพ จาก 
Ea TaingKea 
Kimhong 
Srisovannkubera Khmer

วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2564

ปราสาทตาพรหม

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
เรื่องเล่าที่ปลายก้านม้วนของปราสาทตาพรหม ไม่ได้มีแค่ “สเตโกซอรัส”นะจ๊ะ

ในช่วงศิลปะแห่งจักรวรรดิบายน (กลางพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 – พระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 พระโอรส) ศิลปะเขมรยุคเมืองพระนครธม (ชยศรี) นิยมแกะสลักลวดลายดอกไม้เละสิ่งมงคลประดับผนังตัวอาคารหินในส่วนต่าง ๆ แต่ได้เพิ่มเรื่องราววรรณกรรมทางคติความเชื่อศาสนาจากยุคก่อนหน้า ที่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายฮินดูหรือพุทธ รวมทั้งคติชน วีถีชีวิตตามยุคสมัยผสมเข้าไปในลวดลายด้วย
.
ผนังเรือนของอาคารปราสาทหินหลายแห่งในยุคสมัยนี้ จึงนิยมสลักผนังกำแพงขัดเรียบเปลี่ยนให้เป็นลวดลายหลายอย่าง ทั้งลายดอกพิกุล/ดอกพุด/ดอกลำดวนแบบต่อเนื่อง ลายก้านต่อก้าน ลายก้านขดสลับต่อก้าน ลายพวงดอกไม้เฟื่องอุบะ แบ่งแยกลวดลายด้วยกรอบเส้นลวดและลายสร้อยลูกปัดกลม โดยมีการแทรก “เรื่องราว “ (Story) จากวรรณกรรมความเชื่อในความนิยมยุคก่อนเข้าร่วมไว้ในลวดลายประดับ โดยมีความนิยมในการเล่าเรื่องราว แทรกเข้าไว้ที่ปลายลายลายก้านขด/ผักกูด/ใบไม้ขดม้วน (ที่มีก้านต่อเนื่องไปยังขดถัดไป) บนผนังหน้ากระดานของเสา เพิ่มมุมหรือเสาอิงประดับซุ้ม บางเสาก็เป็นวางรูปสัตว์เทพอย่างหงส์ในวงใบขด เทวดาขี่หงส์ นาค โดยมีลายสิงห์คายท่อนมาลัย หน้ากาลคายท่อนมาลัยและครุฑอยู่ที่โคนเสาครับ
.
ดูเหมือนว่า “เรื่องราวและเรื่องเล่า” ที่นำมาสลักเสลาในปลายขดแต่ละวงที่ต่อเนื่องกัน ไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์ตายตัวว่าจะต้องมีเนื้อหาต่อเนื่องสอบรับกันไป แต่เป็นเรื่องเฉพาะแยกจากกันไปคนละเรื่องในแต่ละขดแต่ละวง แต่บางชุดก็ดูเหมือนว่าจะสลักเป็นเรื่องราวต่อเนื่อง ...ตามใจช่างเลยละกัน
.
----------------------
*** ตัวอย่างอันดีของเรื่องเล่าที่ปลายลายใบขดม้วน คือภาพสลัก “สัตว์ประลาด” อันเป็นที่รู้จักกันดีของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ในลายก้านขดวงหนึ่ง บริเวณเพิ่มมุมรักแร้ของมุมซุ้มโคปุระด้านในฝั่งตะวันตก ที่เล่ากันว่าเหมือนไดโนเสาร์พันธุ์ “สเตโกซอรัส” (Stegosaurus) เป็นหนึ่งในลวดลายที่เป็นเพียงภาพสวยงามจากจินตนาการ หรือภาพสัตว์ตามธรรมชาติในยุคสมัยนั้น ที่ช่างแกะสลักแทรกเข้ามาไว้ในกลางวงก้านขดหนึ่ง แต่ดันประกอบพื้นที่ว่างอยู่ด้วยลายพุ่มใบไม้ที่ดูเหมือนครีบหลังของไดโนเสาร์พันธุ์นี้ไปครับ 
.
จึงกลายมาเป็นจินตนาการไดโนเสาร์จากนักท่องเที่ยวที่ได้มาเยือนกันไปซะงั้น 
.

**** ก้านขดต่อเนื่องในชุดเดียวกับสเตโกซอรัส  มีลวดลายเริ่มต้นจากสิงห์คายก้านขดที่เชิงภาพ ถัดขึ้นมาเป็นวงขดของหัวนาค/งู/หัวนก/ไก่ ?ในพุ่มใบไม้ วงขดของภาพระมาด/กระซู่/แรด/หมูป่า/ชะมด/ตัวนิ่ม ? ในพุ่มไม้ ต่อด้วยวงขดภาพกวางหรือเมกาโรซอรัสในพุ่มไม้ ทั้งสามภาพแสดงความหมายของป่าและสัตว์ป่า ต่อเนื่องด้วยภาพบุคคล (อรชุนในมหาภารตะ ?) กำลังภาวนาในถ้ำ ภาพการให้พรแก่อรชุนโดยพระศิวะ ? ภาพภีษมะนอนบนธนูดอกเห็ด และภาพบุคคลชายกำลังฉุดบุคคลหญิง (ทุหศาสัน-นางเทรปตี ? ในมหาภารตะ) ประกอบร่วมในชุดลายขดม้วนต่อเนื่องเดียวกันครับ
.
*** เรื่องเล่าในลายใบขดม้วนที่ปราสาทตาพรหมนี้ ยังมีให้เห็นอีกหลายเรื่อง ทั้งที่พอตีความ (มโน) ได้ หนือบางทีก็ไม่รู้จะมั่วไปเป็นเรื่องอะไร อย่างเช่นที่ซุ้มมุขโคปุระฝั่งทิศตะวันตกของกลุ่มอาคารด้านทิศใต้ ก็เป็นตัวอย่างอันดีของลวดลายประดับผนังอาคารที่มีรูปแบบของลวดลายก้านขดต่อลายที่มีการแทรกวรรณกรรมทั้งพุทธและฮินดูเข้าไปด้วยอีกกลุ่มหนึ่ง 
.
ด้านบนสุดเป็นภาพพระโพธิสัตว์กำลังถูกยักษ์เลื่อยแบ่งพระวรกาย จากนิทานอวทานศตกเรื่อง “ศรีเสนาวทาน” หรือชาดกนอกนิบาตเรื่อง “สิริจุฑามณีชาดก” ถัดลงมา ขดวงด้านบนเป็นเรื่องของ พระราม (ถือคันศรธนู) พระลักษณ์ ออกเดินดงในมหากาพย์รามายณะ วงที่สองเป็นเรื่อง พาลีรบสุครีพ ในมหากาพย์รามายณะเช่นเดียวกันครับ
.
ก้านขดวงที่สามถัดลงมาเป็นรูปบุคคลสองคนกับสัตว์ เหมือนจะกำลังต่อสู้กับสิงห์ อาจหมายถึงเรื่องพระกฤษณะประลองกำลัง โดยมีพระพลรามอยู่ใกล้ ๆ หรืออาจเป็นพระราม พระลักษณ์ ต่อสู้กับมารีศในรามายณะ 
.
*** ไล่ลงมาถึงก้านขดวงที่สี่เป็นภาพบุคคลถืออาวุธด้านมือขวา กำลังขี่ม้า อาจหมายถึงเรื่องราวในวรรณกรรมประเภทชาดก ตามคติพุทธศาสนาเรื่อง “โภชาชานียชาดก” ที่พระมหาโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นม้าศึก สินธพ/อาชาไนย ชื่อว่า " โภชาชานียะ"  
.
ภาพสลักไม่ได้มีรายละเอียดชัด ก็คงต้องมโน เล่าเป็นตุเป็นตะกันไปครับ
.
*** ส่วนก้านขดวงสุดท้ายด้านล่าง เป็นภาพของบุคคล งูเห่า (มีแม่เบี้ย) และพังพอน ซึ่งควรจะหมายถึง “นกุลชาดก” ที่เล่าเรื่องราวของฤๅษี งูเห่าและพังพอน ที่เนื้อความโดยย่อว่า 
.
“.…ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ครั้นเจริญวัยได้เรียนศิลปะทุกแขนง ในกรุงตักสิลา พอศึกษาเล่าเรียนจบแล้วก็ออกบวชเป็นฤๅษี ยังอภิญญาและสมบัติให้เกิด กินรากไม้ในป่าเป็นอาหาร โดยการเที่ยวแสวงหาที่อยู่อาศัยในป่าหิมพานต์
.
ที่อาศรมของพระฤๅษี สุดท้ายพระฤๅษีก็ใช้จอมปลวกแห่งหนึ่งเป็นที่พักอาศัย ใกล้จอมปลวกนั้นมีงูอาศัยอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง งูและพังพอนทั้งสองทะเลาะกันเป็นเรื่องปกติ พระฤๅษีจึงเจริญเมตตาให้สัตว์ทั้งสองรู้ผลที่จะได้รับจากการกระทำ แล้วสอนว่าเจ้าไม่ควรทะเลากัน ควรอยู่กันด้วยความสามัคคี ได้ทำให้สัตว์ทั้งสองนั้นสามัคคีกัน
.
ครั้นถึงเวลาที่งูออกไปข้างนอก พังพอนก็นอนอ้าปากหันหัวไปทางช่องโพลงจอมปลวกท้ายอาศรมแล้วหายใจเข้าออกหลับไป พระฤๅษีเห็นพังพอนนั้นนอนหลับ เมื่อจะถามว่าภัยอะไรเกิดขึ้นแก่เจ้า "พังพอน ท่านได้ทำมิตรภาพกับงูผู้เป็นศัตรู ไฉนจึงยังนอนแยกเคี้ยวอยู่อีกเล่า ภัยที่ไหนจะมาถึงแก่ท่านอีก" 
.
พระโพธิสัตว์กล่าวอย่างนี้แล้ว พังพอนจึงบอกว่า "พระคุณเจ้า ขึ้นชื่อว่าศัตรูไม่ควรดูหมิ่น ควรระแวงไว้เสมอ" แล้วได้กล่าวต่อว่า 
.
"บุคคลพึงระแวงภัยในศัตรูไว้ แม้ในมิตรก็ไม่ควรวางใจ ภัยเกิดขึ้นแล้วจากมิตร ย่อมตัดมูลรากทั้งหลายเสีย" 
.
ด้านล่างของชุดก้านขดที่เชิงภาพเป็นภาพครุฑยุคนาคในศิลปะที่งดงามครับ
  --------------------- 
*** การแทรกเรื่องราวและเรื่องเล่าจากวรรณกรรม คำสอนเรื่องมงคลและความดีงามในทุกคติความเชื่อในยุคก่อนหน้า รวมทั้งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมตามยุคสมัยร่วมลงไปในลวดลายประดับเล็ก ๆ อย่างกระหนกใบขด  ปรากฏความนิยมอยู่ทั่วไปทุกหนแห่งในปริมณฑลของหมู่ปราสาทตาพรหมและปราสาทราชวิหารขนาดใหญ่ในยุคสมัยจักรวรรดิบายน ได้ช่วยสร้างความศักดิ์สิทธิ์และมนตร์ขลังอันแยบยลให้กับศาสนาสถานอันควรค่าแก่การเคารพบูชาได้เป็นอย่างดีครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy 

วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2564

พระนาคปรกวัดปู่บัว สุพรรณบุรี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระพุทธรูปนาคปรก” องค์ที่งดงามที่สุดจากกรุวัดปู่บัว สุพรรณบุรี

“พระพุทธรูปนาคปรก” (Buddha Sheltered by a Naga) กลางห้องศาสนศิลป์สุพรรณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี ถูกพบครั้งแรกที่วัดผักบัว/ปู่บัว ดังปรากฏในเอกสารกราบทูลของพระยาพิศาลเกษตร ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี  ลงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2473  ถวายแก่ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าเจดีย์เก่าที่วัดปู่บัว ตำบลพิหารแดง จังหวัดสุพรรณบุรีได้หักพังลง จึงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ในระหว่างการดำเนินการได้พบจารึกลานทองและพระพุทธรูปนาคปรก สลักขึ้นจากหินทรายขาวจำนวน 31 องค์ 
.
พระพุทธรูปนาคปรกจากกรุวัดปู่บัวองค์สำคัญที่สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพิจารณาจากภาพถ่ายที่พระยาพิศาลเกษตรส่งมาให้ทอดพระเนตรพร้อมกับเอกสารกราบบังคมทูล  จึงได้มีรับสั่งให้ทางสุพรรณบุรีส่งพระพุทธรูปที่ทรงเห็นว่า “มีความงดงาม ” จากทั้ง 31 องค์ มาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครก่อน ด้วยเพราะเวลานั้น เมืองสุพรรณยังไม่มีการจัดพิพิธภัณฑสถาน  ซึ่งต่อมาเมื่อมีการจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทองขึ้น ในปี พ.ศ. 2509  จึงได้มีการจัดส่งพระพุทธรูปนาคปรกของกรุวัดปู่บัวมาจัดแสดงไว้ครับ
.
จนถึงปี พ.ศ. 2544  เมื่อมีการเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณขึ้น จึงได้ย้ายพระพุทธรูปนาคปรกองค์ที่งามที่สุดของกรุวัดปู่บัว มาจัดแสดงไว้จนถึงในปัจจุบัน (ชมรมนักโบราณคดี(สมัครเล่น)เมืองสุพรรณ)
.
-------------
*** แต่ผู้คนในพื้นที่วัดปู่บัว เล่าต่างกันไปว่า ครั้งที่พระอาจารย์ใยเป็นเจ้าอาวาส ในปี พ.ศ. 2473 ได้มีการขุดรื้อเนินดินทางเหนือของกุฏิ เพื่อปราบพื้นที่เป็นทางเดินราบไปยังศาลาการเปรียญ เมื่อขุดลงไปได้พบกับชั้นทรายอัดหนา เมื่อโกยทรายขึ้นจึงพบแผ่นหินปิดปากกรุหลายแผ่น ภายในกรุพบพระพุทธรูปนาคปรกสลักจากหินทราย ความสูงประมาณ 1.5 เมตร ตั้งอยู่ตรงกลางกรุเพียงองค์เดียว ล้อมรอบด้วยพระพุทธรูปนาคปรกขนาดเล็กอีกประมาณ 30 องค์ ในกรุยังมีไหใบหนึ่งบรรจุพระเครื่องเนื้อชินตะกั่วสนิมแดงกว่า 100 องค์ ปางประทานพรและประทานอภัย (สองปางในองค์เดียว)  เรียกกันว่าพระร่วงยืนพิมพ์เศียรโตและพิมพ์รัศมี
.
จากข้อมูลในท้องถิ่น พระพุทธรูปนาคปรกขนาดใหญ่ที่พบจากวัดปู่บัว จึงไม่ได้ขุดพบมาจากเจดีย์ที่เพิ่งสร้างขึ้นในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ แต่ขุดพบจากกรุของซากเนิน (เจดีย ?) องค์หนึ่งที่พังทลายลงมานานแล้ว และเป็นพระพุทธรูปนาคปรกหินทรายขนาดใหญ่ที่พบเพียงองค์เดียว ไม่ได้พบมากถึง 30 องค์ครับ
.
*** พระพุทธรูปนาคปรกที่พบจากกรุวัดปู่บัว เป็นงานพุทธศิลป์เดิมของกลุ่ม “รัฐสุวรรณปุระ” (Svarṇapura) ในคติมหายาน/วัชรยานแบบจักรวรรดิบายน ช่วงกลาง-ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ที่อาจเคยมีศาสนสถานในยุคจักรวรรดิบายนอยู่ในบริเวณวัดปู่บัวและบริเวณใกล้เคียงตัวเมืองสุพรรณบุรี  ต่อมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่ออิทธิพลของราชสำนักกัมพุชะเทศะหมดไปจากลุถ่มน้ำเจ้าพระยา ราชสำนักใหม่ลูกครึ่งรามัญทวารวดีเดิมกลับเข้ามาปกครอง  หันมานิยมงานศิลปะและคติความเชื่อแบบเถรวาทรามัญนิกาย แบบลูกผสมวัรชยานเดิมที่เรียกว่า “กัมโพชสงฆ์ปักขะ”    
.
ถึงจะมีการเปลี่ยนแปลงคติความเชื่อของราชสำนักผู้ปกครองและเหล่าสาธุชนผู้ศรัทธา แต่ในครั้งเริ่มแกะสลัก พระพุทธรูปนาคปรกกรุวัดปู่บัว ช่างแกะสลักยังคงใช้งานศิลปะและคติพระพุทธเจ้าอมิตาภะนุ่งขาสั้นแบบบายนเดิม ที่นิยมสลักให้พระพุทธรูปนุ่งภูษาสมพต (แบบกางเกงขาสั้น) พระวรกายไม่ห่มจีวร ในรูปแบบพุทธศิลป์ปางนาคปรกนั่งขัดสมาธิราบ แสดงธยานมุทราแบบมหายานครับ 
.
แต่ระหว่างการแกะสลัก ดูเหมือนว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปศิลปะ โดยช่างแกะสลักได้ถูกสั่งให้แก้ไข โดยให้สลักเส้นจีวรและผ้าสังฆาฏิแบบเถรวาทจากอิทธิพลคติกัมโพช/เถรวาทเข้ามาสวมใส่ ไม่เจาะช่องแขนด้านซ้ายตามแบบพระพุทธรูปนาคปรกแบบบายนเดิม ที่ไม่นุ่งจีวรจึงเกิดช่องแขนว่างเพราะไม่มีผ้าจีวรลงมาปิด สลักชายผ้าสังฆาฏิ ที่คลุมบนอังสาซ้าย เป็นเส้นลงมาคลุมพระกรซ้าย พระหัตถ์ประสานเอานิ้วหัวแม่มือ (พระอังคุฐ) ชนกัน ไม่ซ้อนทั้งพระหัตถ์กันตามแบบเดิม  สลักเส้นชายผ้าที่พระชงฆ์แสดงการนุ่งห่มผ้าสงบแบบพระภิกษุเถรวาท       
.
*** คงด้วยเพราะในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงจะหมดยุคจักรรวรรดิบายนไปแล้วระยะหนึ่ง แต่ช่างแกะสลักพระพุทธรูปในรัฐสุวรรณปุระ/ละโว้ ที่ยังคงนิยมงานศิลปะแบบบายนเดิม ได้แกะสลักพระพุทธรูปในคติใหม่แบบนุ่งห่มจีวร ไม่สวมกุณฑล แต่ด้วยความเคยชิน จึงไม่ได้แก้ไขเอาผ้าโจงภูษาสมพต (กางเกงขาสั้น) ที่ดูเหมือนกางนุ่งทับซ้อนผ้าสงบแบบเถรวาท รวมทั้งรูปขนดและนาคปรกแบบบายนออก 
.
*** พระพุทธรูปนาคปรกกรุปู่บัว จึงเป็นงานพุทธศิลป์ของรัฐสุวรรณภูมิในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงในยุคหลังบายน (Post-Bayon Period) ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ราชสำนักใหม่ที่กำลังเปลี่ยนมานิยมในคติกัมโพชสงฆปักขะ/เถรวาท ตามแบบรามัญทวารวดีเดิม และเป็นช่วงแรกของการพัฒนามาเป็น “รัฐสุพรรณภูมิ” (Sbarṇa Bhūmi) แห่งแดนตะวันตก รากฐานกำเนิดสำคัญของความเป็นอาณาจักรอยุทธยาในอีก 100 ปี ต่อมาครับ 
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy