วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2564

วัดอาทิต้นแก้ว

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“วัดอาทิต้นแก้ว”  ความขัดแย้งระหว่างนิกายป่าแดงและนิกายสวนดอก ที่เมืองโบราณเชียงแสน
ร่องรอยการกำเนิดของเมืองเชียงแสนโบราณริมฝั่งแม่น้ำโขง ทั้งจากชินกาลมาลีปกรณ์ ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 และตำนานพื้นเมืองเชียงแสน อธิบายได้ว่า ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ได้เริ่มมีการสร้างศาสนสถานทางพุทธศาสนาขึ้นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกในยุคสมัยพระญาแสนพู-พระยาราชแสนภู ที่วัดพระเจดีย์หลวงและวัดป่าสัก ต่อเนื่องมาในสมัยพญากือนา พระญาแสนเมืองมา พญาสามฝั่งแกน พระเจ้าติโลกราช (พระญาติโลกราช) มาจนถึงพระเมืองแก้วในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21  ปรากฏนิกายพุทธศาสนา 3 กลุ่ม ทั้งคณะสงฆ์นิกายป่าแดง-สีหล (วัดแภะป่าทึ – หนป่าแดง) จากอิทธิพลของนิกายสีหลภิกขุ-กัลยาณีภิกขุในลังกา คณะสงฆ์สำนักวัดบุปผาราม (สวนดอก) ในสายพระสุมนเถระ-รามัญนิกาย และคณะสงฆ์พื้นเมืองเดิม (หริภุญชัย-กัมโพช) ในเมืองเชียงแสน
.
ความขัดแย้งระหว่างนิกายป่าแดงและนิกายสวนดอก ใน “ตำนานมูลศาสนา” อาจเริ่มต้นในสมัยพญาสามฝั่งแกน ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อพระสงฆ์กลุ่มหนึ่ง นำโดย “พระญาณคัมภีร์” ได้เดินทางไปศึกษาพระธรรมวินัยและอุปสมบทใหม่ในเรือขนานที่ท่าเรือยาปา แม่น้ำกัลยาณี (Kelaniya River) ทางตะวันตกของเกาะลังกา และได้เดินทางกลับมาเผยแพร่พุทธศาสนาแบบลังกาที่เรียกว่า “นิกายสีหลภิกขุ” หรือ “นิกายกัลยาณีสีมา” เมื่อเดินทางกลับจึงได้ตั้งพระอารามขึ้นใหม่ที่วัดป่าแพะตึง (วัดป่ากวาง) เชิงดอยสุเทพ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดรัตตวนาราม เกิดนิกาย “ป่าแดง” ที่เน้นการประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด  ส่วนนิกายสวนดอก ที่นิยมในยุคก่อนหน้านั้น สืบทอดมาจากฝ่ายรามัญนิกาย-อรัญวาสีเดิม เน้นการบูชาวัตถุรูปเคารพและการสร้างพระอารามครับ   
.
นิกายป่าแดง (ใหม่) มองว่า รามัญนิกายของฝ่ายสวนดอกล้าหลัง พระวินัยหย่อนยาน สวดภาษาบาลีผิดเพี้ยน เน้นการสร้างศาสนวัตถุ กราบแต่พระพุทธปฏิมา แต่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอันบริสุทธิ์ ความขัดแย้งระหว่างพระสงฆ์รุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ ได้ทวีความรุนแรง ต่างฝ่ายต่างไม่กระทำสังฆกรรมร่วมในอุโบสถเดียวกัน เกิดการโต้เถียงในพระธรรมวินัยจนเลยเถิดไปในเรื่องอื่น ๆ ถึงขั้นลงไม้ลงมือ เกิดการทำลายพระพุทธรูปฝ่ายสวนดอกในเมืองเชียงใหม่ 
ถึงพญาสามฝั่งแก่น จะทรงโปรดนิกายป่าแดง และการประลองความรู้-พระธรรมวินัยที่ฝ่ายป่าแดงเหนือกว่าฝ่ายสวนดอกในทุกด้าน แต่กระนั้นผู้คนในเมืองเชียงใหม่จำนวนมากยังคงให้ความนิยมและศรัทธาในนิกายสวนดอกกำลังรวบรวมผู้คน ซึ่งจะเป็นภัยร้ายแก่ผู้ศรัทธานิกายป่าแดงจนถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมือง พญาสามฝั่งแก่นจึงขอให้ฝ่ายนิกายป่าแดงที่มีจำนวนน้อยกว่าย้ายออกไปจากเมืองเชียงใหม่ กระจายตัวไปตามหัวเมืองล้านนา ทั้งเชียงราย พะเยา ลำปาง ขึ้นไปถึงเมืองเชียงตุง โดยมีคณะนิกายป่าแดงกลุ่มหนึ่งได้เข้ามาปักหลักที่เมืองเชียงแสนครับ  
.
ปลายพุทธศตวรรษที่ 20 พระญาติโลกราช ที่ทรงโปรดนิกายป่าแดง-กัลยาณีภิกขุ ได้ใช้กุศโลบาย สร้างความประนีประนอม ลดความขัดแย้งบาดหมางในอดีตระหว่างสองนิกาย ด้วยการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นที่วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด)  บังคับให้ทั้งสองนิกายกลับมาร่วมทำสังฆกรรมตามพระธรรมวินัยที่ได้ชำระขึ้นใหม่ร่วมกัน
 .
------------------------------
*** วัดอาทิต้นแก้ว ตั้งอยู่ภายในเมืองโบราณเชียงแสน เจดีย์ประธานมีเรือนทรงปราสาทแบบพุกาม-ล้านนา    รองรับองค์ระฆังเป็นชุดฐานบัว ผังแปดเหลี่ยม 2 ชั้น แต่ละชั้นมีท้องไม้กว้าง คาดเส้นลวดลูกแก้วไก่ 2 เส้น รัดด้านบนและล่าง รองรับองค์ระฆัง ซึ่งเป็นรูปแบบเจดีย์ล้านนาที่นิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ครับ
ในพงศาวดารโยนกกล่าวว่า วัดอาทิต้นแก้วสร้างในสมัยพระเมืองแก้ว เมื่อจุลศักราช 877 (พ.ศ.2058) “....เริ่มลงมือขุดรากในวันศุกร์ เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุนถึง ณ วันศุกร์ เดือน 5 แรม 1 ค่ำ ก่อฐานเจดีย์กว้าง 15 วา สูง 1 เส้น 5 วา แล้วให้ผูกเรือขนานในแม่น้ำของ (โขง) ชุมนุมพระสงฆ์ 108 รูป มีพระราชาคณะวัดโพธารามเมืองเชียงใหม่เป็นประธานกระทำสังฆกรรม แล้วบวชภิกษุอื่นอีกต่อไป รวมเป็นภิกษุบวชใหม่ 1,010 รูป แล้วเสด็จจากเมืองเชียงแสนมาประทับเมืองเชียงราย....”   
.
ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 ก็ยังปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับวัดอาทิต้นแก้วว่า “...พระเมืองแก้วลูกพระเมืองยอด ได้กินเมืองเชียงใหม่ได้ 2 แล้ว ท่านก็เสด็จขึ้นมาอยู่กระทำบุญให้ทานยังเมืองเงินยางเชียงแสนที่นี้แล ท่านก็มีปราสาทสัทธาในบวรพุทธศาสนามากนัก ...ศักราชได้ 876 ตัวปีกาบเสด (พ.ศ.2057) ท่านสร้างวัดหลังหนึ่งในเวียงเชียงแสนที่นั้น วิหารกว้าง 7 วา สูง 9 วา สร้างเจดีย์กว้าง 4 วา สูง 12 วา บรรจุธาตุย่อย 868 พระองค์ สร้างธรรมปิฏก 84,000 พระธรรมขันธ์สำเร็จแล้วบริบูรณ์ จึงใส่ชื่อวัดอาทิตย์แก้วนั้นแล...”
.
เจดีย์ประธานเรือนปราสาทล้านนาในยุคพระเมืองแก้ว ก่อครอบเจดีย์ประธานองค์เดิมทรงเรือนปราสาทแบบเดียวกัน แต่มีขนาดเล็กกว่า ยกเชิงบาตรแบบยอดวิมานปราสาทขึ้นไป 2 ชั้น มียอดเป็นหม้อน้ำ “กัลปลตา” หรืออมลกะ ที่สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20  ตามอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมแบบเจดีย์ยอดดอกบัวตูมของรัฐสุโขทัย ในคติรามัญนิกายที่นิยมในราชสำนักสุโขทัยในยุคพญาลิไท (ฦๅไทย-ลิเทยฺย)  ซึ่งพระญากือนา ได้อาราธนาพระมหาสุมนเถระจากกรุงสุโขทัย มาเผยแพร่พุทธศาสนฝ่ายรามัญนิกาย จนเกิดนิกายสวนดอกขึ้นในเมืองเชียงใหม่ครับ
.
เจดีย์องค์เดิมของวัดอาทิต้นแก้ว จึงถูกสร้างขึ้นในนิกายสวนดอก ยุคพระเจ้ากือนา  ซึ่งต่อมาราชสำนักล้านนาเปลี่ยนไปนิยมในนิกายป่าแดง จนได้มีการสังคยานาพระธรรมวินัยขึ้นใหม่ในยุคพระญาติโลกราช และเมื่อพระเมืองแก้ว ได้นำนิกายมหาโพธาราม ที่เกิดขึ้นหลังจากการสังคยานา แต่ยังคงรายละเอียดตามแบบสีหลภิกขุ – ป่าแดงเป็นส่วนใหญ่ มาใช้ปกครองคณะสงฆ์ในเมืองเชียงแสน  
.
*** คติมหาโพธารามแห่งอาณาจักร ที่เกิดขึ้นจากการตกลงระหว่างนิกายในการสังคยานาครั้งใหม่ แต่ยังคงมีกลิ่นอายแห่งนิกายสีหลภิกขุ-ป่าแดง อย่างเข้มข้น จึงได้ถูกนำมาสร้างเป็นพระเจดีย์ทรงล้านนาครอบทับเจดีย์ประธานองค์เดิมของฝ่ายรามัญนิกาย-นิกายสวนดอก สิ้นสุดความขัดแย้งระหว่างสองนิกายที่เมืองเชียงแสนครับ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2564

ปราสาทตาพรหม

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาสุคตและพระชิโนรส” กลุ่มรูปประติมากรรมประธานของปราสาทอาโรคยศาลา
“จารึกปราสาทตาพรหม” (K.273) บทที่ 117  กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ว่า  “...พระองค์ได้ทรงสถาปนาอาโรคยศาลา (ĀrogyaŚālā)  ในทุก ๆ วิษัย และภายในบริเวณศาสนสถานตาพรหม ...เมื่อมีผู้คนมีความเจ็บป่วยก็มีการดูแลเยียวยาดูแลรักษา...” และใน “จารึกปราสาทพระขรรค์” (K.908) ด้านที่ 3 บรรทัดที่ 55 ยังกล่าวว่า พระองค์ได้โปรดให้สถาปนา “วลภิปฺราสาท” (Valabhi prāsādā) หรือ ปราสาทหินอาโรคยศาลาขึ้นจำนวน 102 แห่ง
.
“จารึกประจำอโรคยศาลา” (ĀrogyaŚālā Stele) เป็นจารึกที่พบเฉพาะปราสาทแบบอาโรคยศาลาทุกแห่ง มีรูปทรงสี่เหลี่ยมกว้างยาวประมาณ 25 – 30 เซนติเมตร ความสูง 50 เซนติเมตร (ขนาดไม่เท่ากันทุกจารึก) ยอดทรงกระโจมหรือทรงยอคว่ำ สลักขึ้นจากหินทราย จารด้วยอักษรเขมร  ประพันธ์เป็นบทฉันท์ลักษณ์ในภาษาสันสกฤต จำนวนของฉันท์แต่ละโศลก (บท) ของจารึกแต่ละหลักไม่เท่ากัน บางหลักก็ไม่ได้จารอักษรครบทุกหน้า บางหลักมีข้อความที่แตกต่างไปบ้าง แต่ทุกหลักก็มีใจความสำคัญที่บ่งบอกถึงรูปประติมากรรมประธานแห่งปราสาทอาโรคยศาลาว่า
“...ข้าพเจ้า (พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ) ขอนมัสการพระชินะผู้พิชิต คือพระไภษัชยคุรุไวฑูรยะประภาราชา (Bhaiṣajyaguru  Vaidūryaprabha rāja) ด้วยเพราะพระองค์ จึงทำเกิดความสุขและความไม่มีโรคแก่ประชาชนผู้ได้สดับแม้เพียงชื่อพระนาม อีกทั้ง... พระศรีสูรยะไวโรจนจันทราโรจิ (Śrī -sūrya-vairocana-caṇḍa-rociḥ) และพระศรีจันรไวโรจนโรหิณีศะ (Śrī -candra-vairocana-rohiṇīśaḥ) ผู้ขจัดความมืด อันได้แก่โรคร้ายของประชาชน ผู้ชนะที่อยู่เคียงเขาข้างพระสุเมรุแห่งผู้ปฏิบัติ... 
...โรคทางร่างกายของประชาชนนี้ เป็นโรคทางใจที่เจ็บปวดยิ่ง เพราะว่าความทุกข์ของราษฎร แม้มิใช่ความทุกข์ของพระองค์ แต่เป็นความทุกข์ของผู้ปกครอง ...พระองค์พร้อมด้วยแพทย์ทั้งหลาย ผู้เชี่ยวชาญและชำนาญในการอายุรเวท (Āyurveda)  และ อัษฏเวท (Āṣṭraveda) ได้ใช้เภสัชอาวุธ (Bheṣajayudhaiḥ) ฆ่าศัตรู อันได้แก่โรคร้ายของประชาชน..... 
.
...พระองค์ได้สร้างโรงพยาบาลและรูปพระโพธิสัตว์ไภษัชยสุคต (Bhaiṣajya Saugata) พร้อมด้วยรูปพระชิโนรสทั้งสองที่อาโรคยศาลา เพื่อความปราศจากโรคของประชาชนตลอดไป...
.
...พระองค์ได้สถาปนาอโรคยศาลาหลังนี้ พร้อมด้วยวิหารของ “พระสุคตาลัย – ลยมะ” (Sugatālayam) ประดิษฐานรูปพระไภษัชยสุคตนี้ ไว้ในปีศักราช ดวงจันทร์ พระหฤทัย ท้องฟ้าและพระวรกาย (Dehāmvara-hṛd-indunā - มหาศักราช (Śaka) 1108 เทียบเป็นปี พ.ศ.1729) ...  
.
...พระองค์ให้สร้างรูปพระชิโนรสทั้ง 2 คือพระสูรยะไวโรจนะและพระจันทราไวโรจนะอันงดงามนี้ ให้เป็นผู้พิชิตโรคร้ายของประชาชน ผู้มีโรคทั้งหลายในที่นี้...”
.
------------------------------
*** รูปประติมากรรมประธานที่ประดิษฐานอยู่ภายในปราสาทประธาน (สุคตาลัย) แห่งอาโรคยศาลานั้น จึงได้แก่ “พระพุทธเจ้าไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาสุคต” และพระชิโนรสทั้งสองที่มีพระนามว่า “พระศรีสูริยไวโรจนะจันทโรจิ” และ “พระศรีจันทรไวโรจนโรหิณีศะ” ประทับอยู่ด้านข้าง ตามชื่อนามที่ปรากฏในจารึกและคัมภีร์ฝ่ายวัชรยานครับ
.
*** ปราสาทสุคตาลัยแห่งอโรคยศาลา เป็นปราสาทหินแบบหนึ่งที่สร้างขึ้นเฉพาะในเขตวิษัยนคร-สฺรุก-ปุระ (Visaye-Sruk-Pura) หรือ “ชุมชน (Communities)”หรือ “เมือง (Town)” ในพระราชอาณาจักรของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเมืองแต่ละแห่งจะมีชื่อปรากฏในจารึกประจำอโรคยศาลา (หากจารึกไม่สูญหายหรือโดนทำลายไปแล้ว) เช่น ชื่อเมืองวิเรนทรปุระ (ปราสาทโคกงิ้ว อำเภอปะคำ) นครอวัธยปุระ – สังโวก (เมืองศรีมโหสถ จังหวัดสระแก้ว) ซึ่งพบปราสาทแบบอาโรคยศาลาจำนวน 5 แห่งอยู่ในเขตเมืองพระนครศรียโสธรปุระ ส่วนที่เหลือจะกระจายตัวไปตามชุมชนทั่วทุกภูมิภาคทั้งในกัมพูชา ภาคกลางของประเทศไทย ภาคอีสานเวียดนามและลาวใต้ ที่อาจได้แสดงอิทธิพลของ “ระบบจักรวรรดิ” (Empire) ขนาดใหญ่ ที่มีนครรัฐขนาดเล็กมารวมภายใต้ศูนย์กลางอำนาจเพียงแห่งเดียวกันที่ราชสำนักเมืองพระนครธม
.
ภายในห้องครรภคฤหะ-ครรภธาตุ ของปราสาทประธาน-สุคตาลัยแห่งอาโรคยศาลา ทุกแห่งจะพบฐานรูปเคารพรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีช่องเสียบเดือย 3 ช่อง ประดิษฐานรูปประติมากรรม 3 องค์ วางเรียงรูปวิภัติ 3 เพศ (ลิงค์) ในภาษาสันสกฤต คือ ปุงลิงค์ (บุรุษ), อิตถีลิงค์ (สตรี-ศักติ) และนปุงสกลิงค์ (เพศกลางที่มีความเกี่ยวข้อง) หรือการ “วาง 3 รูปวิภัติ (Trinity) เรียงบนระนาบฐานเดียวกัน เป็นประติมากรรมการเพื่อแสดงความหมายผ่านการสร้างภาพลักษณ์ (มโนภาพ) ในมุมมอง “บุคลาธิษฐาน” (Personification) ตามคติ“ตันตระ” (Tantra-Tantric) โดยรูปกลางนั้น เป็นรูปประติมากรรมของพระพุทธเจ้าไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาสุคต ในรูปการแสดงท่า “วัชร หุมกะระมุทรา” (Vajrahumkara-mudrā  ยกพระกรขึ้นในระดับพระอุระ พระหัตถ์ขวาถือ “วัชระ” (Vajra) อยู่ด้านบน พระหัตถ์ซ้ายถือ “วัชระกระดิ่ง-วัชระฆัณฏา” (Vajra-Ghaṇṭā)  ซึ่งตามแนวคิดบุคลาธิษฐานในรูปศิลปะของพระวัชรธร (Vajradhara) มีความหมายถึงการใช้ปัญญาและอุบายเพื่อการบรรลุ (การปฏิบัติ,การรักษา) โดยมีเป้าหมายให้หายจากโรค ผ่านการสวดภาวนามนตราธาริณี เพื่อการบรรลุได้โดยเร็ว (ฉับพลันดั่งสายฟ้า) ครับ
.
ตามคติรูปวิภัติ  ทางด้านขวาของรูปประธานจะเป็นเพศชาย และตามคตินิยมในงานศิลปะ จะกำหนดให้ “พระศรีสูรยไวโรจนจันทโรจิ” เป็นปุงลิงค์ (บุรุษ) ผู้เป็นพระชิโนรส-ผู้ช่วย ยกพระกรขึ้นในระดับพระอุระ พระหัตถ์ทั้งสองประคองม้วนคัมภีร์ขนาดเล็ก ซึ่งในความหมายเชิงบุคลาธิษฐาน จะหมายถึงตำรายา-ตำราอายุรเวช ด้านซ้ายของรูปประธานเป็นอิตถีลิงค์ คือ “พระศรีจันทรไวโรจนโรหิณีศะ” ยกพระกรขึ้นในระดับพระอุระ พระหัตถ์ทั้งสองประคองหม้อน้ำกลม (หม้อน้ำโสมะ-หม้อยา-อมฤต) ซึ่งในความหมายเชิงบุคลาธิษฐาน จะหมายถึงยา-ทิพยเภสัช-อัษฏเวท ที่ประดุจดั่งอาวุธสำคัญในการพิชิตโรคร้าย
.
รูปประติมากรรมทั้งสามมีรูปแบบทางศิลปะที่คล้ายคลึงกัน คือทรงมงกุฎรัดเกล้ารูปกรวยครอบอุษณีษะ สวมกระบังหน้าแบบเครื่องกษัตริย์ ไม่สวนเครื่องประดับ ประทับนั่งขัดสมาธิบนฐานบัวคว่ำ รูปประธานตรงกลางจะมีฐานและขนาดที่ใหญ่กว่ารูปด้านข้างเล็กน้อยครับ
.
ฐานสนานโทริณี “สนานโทรณี” (Sanandorini) ของรูปประติมากรรมประธานแห่งอาโรคยศาลา มีช่องเสียบสามรูเดือยอยู่บนฐานเดียวกัน มีทั้งแบบหน้ากระดานของฐานเรียบเสมอกันและแบบยกเก็จเฉพาะตรงกลางให้มีขนาดใหญ่กว่าส่วนฐานของรูปด้านข้างเล็กน้อย
.
*** เมื่อสิ้นอำนาจแห่งจักรวรรดิ รูปประติมากรรมประธานแห่งอาโรคยศาลาทั้งหมดในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ถูกทุบทำลายรื้อถอนเคลื่อนย้ายออกมาโยนทิ้งนอกปราสาท หรือกองทิ้งชิ้นส่วนกระจายอยู่กับพื้นโดยรอบนอก ไม่ก็ถูกโจรกรรมรูปเคารพออกไปในยุคหลัง การขุดแต่งปราสาทอาโรคยศาลาทุกแห่งจึงยังไม่เคยพบรูปประติมากรรมประธานทั้งสามเหลือรอดตั้งอยู่บนฐานภายในปราสาทเลยแม้แต่ชิ้นเดียวครับ    
เครดิต ;FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆 
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.

วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564

แท่นหินวิมานสูริยจักร

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“แท่นหินวิมานสูริยจักร" รองพระธรรมจักร-สตัมภะ  
และจารึกพระคาถา “เย ธมฺมา” ที่ไม่เคยถูกล่าวถึง
ในบรรดาวัตถุโบราณในยุควัฒนธรรมทวารวดี ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มีแท่นหินชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่งจัดแสดงอยู่มาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งจากภาพถ่ายเก่าหนึ่งได้แสดงให้เห็นว่า แท่นหินนี้ เดิมในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ยังตั้งประกอบชิ้นส่วนแตกหักอยู่บนลานประทักษิณขององค์พระปฐมเจดีย์ ปะปนร่วมกับชิ้นส่วนโบราณวัตถุอีกเป็นจำนวนมาก 
.
ชิ้นส่วนและรูปประติมากรรมที่วางอยู่รายรอบนี้ ถูกเคลื่อนย้ายมาจากซากสิ่งก่อสร้างโบราณในยุคสมัย “ภารตะภิวัฒน์” (Indianization) ต้นทางวัฒนธรรมทวารวดี จนมาถึงยุคลูกครึ่งท้องถิ่นอย่างวัฒนธรรมทวารวดี   ที่เคยปรากฏอยู่เป็นจำนวนมากก่อนถูกทำลาย รื้อถอนหายสาบสูญไปหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดนครปฐมครับ
.
นับตั้งแต่การสร้างองค์พระปฐมเจดีย์ครอบซากสถูปเจดีย์โบราณ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ตั้งแต่ปี 2396 เป็นต้นมา ปรากฏหลักฐานว่า ได้เคยมีซากโบราณสถานเป็นจำนวนมากในเมืองนครปฐมโบราณ ดังที่มีการกล่าวถึงไว้ในบันทึกการสร้างพระราชวังปฐมนคร ว่า  “มีพระเจดีย์จำนวนมาก ติดเนื่องกันไปไม่ขาดระยะยิ่งกว่ากรุงเก่า ...มีฐานปราสาทพระราชวัง โบสถ์พราหมณ์ สระน้ำและกำแพงวัง อยู่ทางด้านตะวันตกขององค์พระปฐมเจดีย์...”
.
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศ วริยากรณ์ เคยมีพระนิพนธ์ว่า ที่เมืองโบราณนครปฐมนั้น เคยมีโบราณสถาน รวมทั้งยังพบพระพิมพ์ดินเผาและธรรมจักรศิลาอยู่เป็นจำนวนมาก    “...แผ่นดินในเมืองนั้นก็หนาสูงขึ้นมาก วัดวิหารเจดียสถานหักพังจมลงอยู่ใต้ดินมีมาก หลายแห่ง หลายตำบล เขาเล่าว่าสองศอกบ้าง สามศอกบ้าง สามศอกเศษบ้างต่างๆ กัน...”
.
ในระหว่างการสร้างพระปฐมเจดีย์ ในสมัยรัชกาลที่ 4  ได้มีการค้นพบจารึกพระคาถา เย ธมฺมา บริเวณซากพระปทม (พระปฐมเจดีย์องค์เดิม)  ซึ่งนั่นก็อาจเป็นการค้นพบจารึกในยุคสมัยวัฒนธรรมทวารวดีอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกครับ 
.
จนมาถึงช่วงรัชกาลที่ 5  ได้มีการรวบรวมโบราณวัตถุในเขตเมืองโบราณนครปฐมและมณฑลนครไชยศรี โดยครั้งที่สมเด็จฯ กรมพระยาดารงราชานุภาพ ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จมาตรวจราชการที่มณฑลนครไชยศรีในปี พ.ศ. 2441  ทรงมีรับสั่งถึงโบราณวัตถุพบที่เมืองนครไชยศรีว่า
.
“...มาพระปฐมคราวนี้ ได้เอาเปนธุระสืบค้นของโบราณได้พระพิมพ์หลายรูป พิเคราะห์ดูรูปพระพิมพ์เปนทานองฮินดูคล้ายกับที่ได้ในแหลมมลายู แลได้ไปพิจารณาดูศิลาจาหลักที่ตั้งไว้ในลานพระปฐม ท่วงทีฝีมือคล้ายกับที่มีในเกาะชะวา ดูพอเปนพยานในความสันนิถานได้อย่างหนึ่งว่า พระปฐมเจดีย์นี้ชาวมัชฌิมประเทศ คงจะเปนผู้สร้างหรือเปนครูให้สร้าง แต่เทวรูปที่ขุดได้เปนเทวรูปอย่างเดียวกับขอม เหมือนกับที่มีในเมืองสรรค์ เมืองสิงห์ แลเมืองนครราชสีมา ตลอดจนเมืองขอม..”
.
“... ได้พบของสาคัญในคราวนี้อย่างหนึ่ง คือ เงินเหรียญโบราณ พวกจีนขุดได้ทางคลองพระปโทน จีนพุกผู้ใหญ่บ้านนามาให้ดูตราเปนทำนองปราสาทมีรูปปลาอยู่ใต้นั้นด้านหนึ่ง เปนอุณาโลมกับลายรูปอะไรไม่รู้อีก ด้านหนึ่ง ไม่เคยเห็นเงินอย่างนี้มาแต่ก่อน...”  
.
การรวบรวมวัตถุโบราณ เกิดขึ้นในช่วงหลังการสร้างทางรถไฟ ในปี 2443 ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดารงราชานุภาพ ในฐานะนายกราชบัณฑิตยสภา มีรับสั่งว่า “...มีเรื่องที่ข้าพเจ้ายังไม่หายเสียดายอยู่เรื่องหนึ่ง คือเมื่อเริ่มสร้างรถไฟสายใต้ใน พ.ศ. 2443 เวลานั้นท้องที่รอบพระปฐมเจดีย์ยังเป็น ป่าเปลี่ยวอยู่โดยมาก ในป่าเหล่านั้นมีซากพระเจดีย์โบราณขนาดใหญ่ ๆ ซึ่งสร้างทันสมัยพระปฐมเจดีย์อยู่หลายองค์ พวกรับเหมาทาทางรถไฟไปรื้อเอาอิฐพระเจดีย์เก่ามาถมเป็นอับเฉากลางรางรถไฟ ได้อิฐพอถมตั้งแต่สถานีบางกอกน้อยไปตลอดระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร ขอให้คิดดูก็จะได้เห็นว่ารื้อ พระเจดีย์ที่เป็นของควรสงวนเสียสักกี่องค์ ...”
.
“...เมื่อย้ายที่ว่าการมณฑลจากริมแม่น้ำขึ้นไปตั้ง ณ ตำบลพระปฐมเจดีย์ซึ่งรื้อกันเสียหมดแล้ว ก็ได้แต่เก็บศิลาเครื่องประดับพระเจดีย์เก่าเหล่านั้นมารวบรวมรักษาไว้ ยังปรากฏอยู่รอบพระระเบียงพระปฐมเจดีย์บัดนี้ ถ้ามีราชบัณฑิตยสภาอยู่ในเวลานั้น ก็จะหาเป็นเช่นนั้นไม่ ...”
.
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพรับสั่งให้เจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ ซึ่งดำรงตาแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรี เป็นผู้รวบรวมโบราณวัตถุ เจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์จึงได้มอบให้หลวงพุทธเกษตรานุรักษ์ (จร จรณี) ซึ่งเป็นผู้มีนิสัยชอบเสาะแสวงหาโบราณวัตถุกับหลวงไชยราษฎร์รักษา (โพธิ์ เคหะนันท์) (ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระพุทธเกษตรานุรักษ์) เป็นผู้ช่วยรวบรวมโบราณวัตถุนามาเก็บรักษาให้เป็นระเบียบที่ระเบียงคดและลานรอบองค์พระปฐมเจดีย์  ก่อนจะน้ำโบราณวัตถุส่วนใหญ่มาไว้ในอาคารซึ่งจัดสร้างเป็น “พระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน” หรือพิพิธภัณฑ์ขององค์พระปฐมเจดีย์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 ครับ (สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง : โบราณคดีเมืองนครปฐม 2557)
.
-------------------------------
*** แท่นหินขนาดใหญ่ 2 ชิ้น อยู่ในสภาพแตกหักเพราะถูกทุบทำลายทั้งคู่ ถูกสลักขึ้นในยุคสมัยเดียวกัน เพื่อใช้เป็น “แท่นรองพระธรรมจักรแบบตั้งเสา” หรือ “พระธรรมจักรสตัมภะ” (Dhamma-chakra Stambha – สดมภ์ แปลว่าเสาตั้ง) รูปประติมากรรมธรรมจักรแบบตั้งไว้บนบนเสาสูง (Pillar) ธรรมจักรสตัมภะนี้ อาจเคยตั้งตระหง่านที่ด้านหน้าและด้านหลังของพระสถูปใหญ่ในยุครุ่งเรือง เช่นเดียวกับความนิยมในการตั้งเสาธรรมจักรหน้าสถูป ยุคอมราวดี-นาคารชุณโกณฑะ ของแคว้นอานธระในยุคสมัยก่อนหน้า
.  
โดยแท่นหินชิ้นหนึ่งสลักเป็นภาพพุทธประวัติตอนปฐมเทศนา ในวาระ “อาสาฬหปูรณมีบูชา”ตามคตินิยมในนิกายสถวีรวาท-เถรวาท (ราชวงศ์ปัลลวะ-คติลังกามหาวิหาร) ที่นิยมในแคว้นอานธระ อินเดียใต้ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ครับ 
.
แท่นหินรองธรรมจักรอีกชิ้นหนึ่งจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร สัณฐานสี่เหลี่ยมขยายออกช่วงบน หน้ากระดานด้านบนสุดสลักเป็นลายลูกปัดอัญมณี ขนาบลายร้อยมาลัยดอกไม้ต่อเนื่องแบบที่นิยมในงานศิลปะอินเดียเหนือ ตัวเรือนสลักเป็นเรือนวิมานบัญชรซ้อนชั้นที่มีการจัดลวด “บัวรวน” (กลีบใบไม้ใหญ่ ม้วนที่ยอดใบ วางเรียงต่อเนื่อง) และ “กลีบบัวสับหว่าง” วางเป็นชั้นบัวหงายรองรับหน้ากระดาน (ลายสังวาลสี่เหลี่ยมต่อเนื่อง) ปรากฏรูป  "พระสูรฺยเทพ" (Surya Deva) ถือดอกบัวขาบในซุ้มวงโค้ง (กุฑุ) อยู่ภายในซุ้มบัญชรชั้นบนสุดของเก็จประธานในแต่ละด้าน 
.
*** รูปศิลปะประติมานของแท่นรองพระธรรมจักรรูปเรือนวิมานนี้ อาจได้สะท้อนคติ “สูริยจักร” (Surya Chakra) ที่เปรียบรูปศิลปะพระธรรมจักร คือ “พระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร” (Dhammacakkappavattana Sutta)  ที่จะส่องแสงสว่างอันแรงกล้าไม่มีวันสิ้นสุดในทิศทั้ง 4 ผ่านไปยังโลกทั้งสาม ทั้งแผ่นดิน อากาศและท้องฟ้า ประดุจดั่งการโคจรแห่งพระสูริยะในสกลจักรวาลครับ
.
บริเวณมุมทั้งสี่ด้านบนสุดของแท่นวิมานสูริยจักร ทำเป็นฐานบัวลูกแก้วและฐานช่องขื่อปลอม ตรงกลางของแท่นเจาะเป็นช่องเข้าเดือย ซึ่งน่าจะเคยมีรูปสถูปประดับที่มุมทั้ง 4  มุม
.
ส่วนตรงกลางนั้นเจาะสกัดเป็นช่องสี่เหลี่ยมใหญ่ ที่ส่วนบนมีหินคั่นกันเพื่อรับปลายยอดเสาอยู่ทั้งสองฝั่ง แสดงว่ามีช่องสำหรับเสียบเข้าเดือยและล็อคเดือยไว้ก่อนทะลุขึ้นไปด้านบน แท่นหินวิมานสูริยจักรนี้จึงเป็นชิ้นส่วนของแท่นส่วนยอดบนสุด โดยมีเสาหินขนาดใหญ่ ที่สลักด้านบนเป็นรูปประดับของเครื่องถนิมพิพาภรณ์และช่ออุบะดอกไม้ย้อยเป็นพวงลงมาที่เรียกว่า “เสาสตัมภะ” (สดมภ์ – เสา) ตั้งรองรับอยู่ด้านล่าง
.
------------------------------
*** บนสุดของชิ้นส่วนเสาหินที่เหลืออยู่ มีจารึกสลักอยู่บนผิวยอดเป็นอักษรแบบปัลลวะ ภาษาบาลี อายุอักษรอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 เขียนว่า “...สญฺจ โย นิโรโธ” อันเป็นส่วนหนึ่งใน 4 บาท ของบทพระคาถา “เย ธมฺมา” ที่นิยมในยุคสมัยต้นของวัฒนธรรมอินเดีย-ทวารวดี จึงอนุมานว่าด้านที่แตกหายไปก็จะสลักด้านละบาท เป็น “พระคาถาหัวใจของพระพุทธศาสนา” ที่มีความเต็มว่า
.
“...เย ธมฺมาเหตุปฺปภวา  เตสัง เหตุ ตถาคโต อาห  ...เตสญฺจ โย นิโรโธ ...เอวังวาที มหาสมโณ”
“...พระมหาสมณะจะตรัสอยู่เสมอว่า ธรรมะทั้งหลายของพระองค์นั้น ล้วนเกิดขึ้นมาด้วยเพราะเหตุแห่งความเป็นทุกข์  พระตถาคตจึงได้ทรงสั่งสอนพระธรรมอันบริสุทธิ์ เพื่อนำไปสู่ความดับทุกข์จากเหตุเหล่านั้น ...”  
.
*** จารึกพระคาถา “เย ธมฺมา” บนยอดเสาสตัมภะของแท่นวิมานสูริยจักรนี้ ยังไม่เคยถูกกล่าวถึงหรือปรากฏในงานศึกษา เอกสารหรือทะเบียนและฐานข้อมูลจารึก ใด ๆ ของยุคสมัยวัฒนธรรมทวารวดีมาก่อนเลยครับ  (ลองค้นหาดูนะครับ ถ้ามีก็ช่วยบอกด้วย)  
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2564

เมืองฝ้าย บุรีรัมย์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“เมืองฝ้าย” บุรีรัมย์ ร่องรอยมหายานครั้งแรกในแดนอีสานใต้  
เมืองโบราณ “เมืองฝ้าย” ตั้งอยู่ในเขตตำบลเมืองฝ้าย อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเมืองโบราณรูปวงกลมขนาดใหญ่ ในลุ่มน้ำห้วยลึกที่ไหลขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือลงสู่ลำปลายมาศ ประกอบด้วย บ้านฝ้าย หมู่ 1 บ้านปราสาททอง หมู่ 9 และบ้านคูเมือง หมู่ 10  
.
เมืองฝ้ายเป็นเนินโคกเมืองขนาดใหญ่ที่ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัย  ซ้อนทับ 4 ยุค เริ่มตั้งแต่ “ชุมชนยุคเหล็ก” ที่มีอายุประมาณ 2,000 – 2,300 ปี  “วัฒนธรรมหินตั้ง” ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 5 - 9  ที่พบการจัดวางหินล้อมรอบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บนเนินสูงหลายแห่ง ช่วง “วัฒนธรรมภารตะภิวัฒน์-ทวารวดี” ราวพุทธศตวรรษที่ 10 – 14  ที่มีการเมืองรูปวงกลมที่มีคันดินและคูน้ำ 3  ชั้น แต่ละชั้นห่างกันประมาณ 50 – 60 เมตร ความกว้างแนวเหนือใต้ชั้นนอก ประมาณ 900 x 800 เมตร ชั้นในสุด 400 x 450 เมตร และช่วงวัฒนธรรมแบบรัฐศรีจานาศะ-มหายาน ราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 ที่มีการขยายตัวเมืองออกมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นแนวกำแพงดิน (คั้นผันน้ำ) ยาวแนวเหนือใต้ ความยาวประมาณ  600 เมตร รื้อคันดิน (กำแพง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ออกไปบางส่วน ขยายแนวคูเมืองชั้นนอก ออกมาประมาณ 150 – 200 เมตรจากแนวเดิม รวมทั้งมีร่องรอยของการขุดคูน้ำและคันเมืองขยายออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากแนวกำแพงชั้นนอกประมาณ 700 เมตรครับ
.
บริเวณเมืองฝ้ายโบราณ ปรากฏร่องรอยสิ่งก่อสร้างทางความเชื่อศาสนาที่ถูกทำลายไปในหลายยุคสมัย เริ่มจากกลุ่มหินตั้ง ที่จัดวางหินในรูปแบบต่าง ๆ ล้อมรอบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บนเนินดินสูงอย่างน้อย 4 กลุ่ม สถูปหรือปราสาทเจ็ดได ฐานอาคารศาสนสถานก่อด้วยอิฐ 4 – 5 แห่ง ปราสาทคูตะน๊อบ -คูกันน๊อบ ปราสาท (สถูป ?) คูตะบึ้ง และแนวถนนโบราณหรือคันผันน้ำ  
.
งานพุทธศิลป์ชิ้นเอกที่พบจากเมืองฝ้าย คือพระพุทธรูปปางสมาธินาคปรก ในคติ “พระสมณโคดมพุทธเจ้า” (Samaná Gautama” ของฝ่ายสถวีรวาท-เถรวาท อายุทางศิลปะในราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 ในพุทะศิลปะแบบแคว้นอานธระ ในอิทธิพลของงานศิลปะคุปตะ ที่เล่ากันว่าขุดพบได้ที่บริเวณซากกองอิฐในป่าไผ่ด้านทิศตะวันตกของเมืองฝ้าย แล้วถูกย้ายไปประดิษฐานซ่อนไว้ที่ศาลปู่ตากลางหมู่บ้าน ที่เรียกว่า “ปราสาทกลางบ้าน” หรือ “ปราสาทเจ็ดได” ที่เป็นซากเนินดินขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของเมืองโบราณ ต่อมาในปลายเดือนมิถุนายน  ปี พ.ศ. 2507 จึงได้ถูกโจรกรรม ขนย้ายด้วยเกวียนจากบ้านฝ้ายไปถึงบ้านหินดาด ที่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 26 กิโลเมตร เพื่อนำไปขายให้กับพ่อค้านายหน้าที่จะนำไปส่งต่อผู้สั่งซื้อที่ปลายทางจากกรุงเทพมหานคร ในราคา 7,000 บาท  แต่เกิดการทะเลาะวิวาทเพราะเรื่องแบ่งเงินได้ไม่เท่ากัน ชาวบ้านที่หินดาดเห็นเป็นพิรุธจากเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทชกต่อย จึงแจ้งตำรวจที่สถานีตำรวจภูธร กิ่งอำเภอห้วยแถลง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำกำลังไปดักจับ พบรถหกล้อและคนแปลกหน้าจำนวนหนึ่งที่ใกล้สระน้ำ ในที่ดินของ นายอุดลย์และนางทองมี ค้าดี และทราบเรื่องจากคนขายคนหนึ่งที่ปริปากออกมาอย่างไม่ตั้งรู้ประสีประสาว่า “ขนพระเก่ามาจากบ้านฝ้าย ไม่มีของผิดกฎหมายเด้อ” ความจึงแตกขึ้นมาครับ
.
ชาวบ้านหินดาดเมื่อรู้เรื่อง จึงช่วยกันออกค้นหาพระจนกระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 นายมีได้พบพระพุทธรูปในสระน้ำ ตำรวจจึงกลับไปที่รถหกล้ออีกครั้ง ปรากฏว่าคนร้ายรู้ตัวขับรถหนีออกไปก่อน จับได้เฉพาะชาวบ้านที่รับจ้างขนพระมาจากเมืองฝ้ายเท่านั้น (แต่ก็ปล่อยตัวไปภายหลัง)
.
ชาวบ้านหินดาด จึงอัญเชิญพระพุทธรูปโบราณจากเมืองฝ้ายไปประดิษฐานไว้ที่วัดอุทัยมัคคาราม เรียกว่า "หลวงพ่อศรี" เพื่อเป็นสิริมงคล พระครูอาทรนวกิจ เจ้าอาวาส จึงถวายพระนามใหม่ว่า "พระพุทธศรีพิทักษ์ชน" มาจนถึงในปัจจุบันครับ
.
----------------------------- 
*** ต่อมาในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2513 เมื่อชุมชนได้เริ่มขยายตัวหักร้างถากพงภายในโคกเมืองมากขึ้น นายลับ ขุนนาม ได้ขุดพบพระพุทธรูปหินทรายแสดงพระหัตถ์วิตรรกะมุทราทั้งสองพระหัตถ์ (พระหัตถ์ซ้ายหักหายไป) ความสูงประมาณ 1 เมตร ซึ่งเป็นงานพุทธศิลป์ของรูป “พระฌานิพุทธอมิตาภะ” (Amitābha Dhyāni Buddha) ตามคตินิกาย“สุขาวดี” (Sukhāvatī) ของฝ่ายมหายาน ที่นิยมในวัฒนธรรมทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 – 14  ชาวบ้านได้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านฝ้าย ต่อมาถูกโจรกรรมแต่ก็ตามจับคืนมาได้ ปัจจุบันไปเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร  
.
เมื่อชุมชนขยายตัวจับจองแผ้วถางที่ดินไปทั่วเกาะเมือง ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2514 นายเสนอ นาคินทร์ชาติและนางอารมณ์ นาคินทร์ชาติ ได้ขุดพบพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์สำริดจำนวน 3 องค์ ซึ่งเล่ากันว่า พบที่บริเวณข้างถนนดินทางทิศใต้ภายในเกาะเมืองชั้นใน ในระหว่างที่ฝนตกหนัก น้ำจากกลางเนินเกาะเมืองได้ไหลชะล้างหน้าดินตามถนนจนรูปประติมากรรมสำริดลอยขึ้นมาครับ 
.
ชาวบ้านในยุคนั้นจะเรียกรูปประติมากรรมสำริดสามองค์ที่พบว่า “พระสามพี่น้อง” เล่ากันว่า มีร่องรอยการถูกเคลื่อนย้ายออกมามาจากซากศาสนสถานรอบเมืองฝ้าย นำมาซ่อนไว้โดยฝังรวมกันไว้ในหลุมเดียวกัน ซึ่งก็อยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2507 ที่มีการค้นหารูปประติมากรรมโบราณจากเขตอีสานใต้เพื่อการโจรกรรมออกไปขาย รูปสำริดทั้งสามองค์จึงมีรูปแบบของศิลปะงานช่างที่แตกต่างกันออกไป และยากที่จะหาที่มาได้อย่างชัดเจน 
.
พระพุทธรูปสำริดที่พบจากเมืองฝ้ายโบราณ เป็นพระพุทธรูปประทับยืนตรงแบบ “สมภังค์” (Samabhaṅga) ความสูง 1.10 เมตร  รูปประติมานแสดงว่าเป็น “พระฌานิพุทธอมิตาภะ” ของฝ่ายมหายาน พุทธศิลป์ในวัฒนธรรมทวารวดี ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 13 พระกรทั้งสองข้างยื่นออกไปข้างหน้า พระกรขวาอยู่ในท่าแสดงธรรมหรือวิตรรกะมุทรา พระกรซ้ายนิ้วพระหัตถ์หักหายไปแต่ก็อย่าในรูปแสดงวิตรรกะมุทรา พระเมาลีเป็นรูปกรวย เม็ดพระศกเป็นรูปก้นหอย พระขนงโก่งต่อกันคล้ายปีกกา มีอูรณาหรืออุณาโลม (Unalome) อยู่ตรงกลางพระนลาฏ ห่มจีวรคลุมบางแนบพระองค์ ส่วนที่ชำรุดและซ่อมแล้วคือ พระเศียรหักตรงพระศอ พระอังสา พระหัตถ์ซ้ายและข้อพระบาท ด้านหลังมีรอยซ่อมด้วยปูน 
.
พระพุทธรูปยืนที่พบจากเมืองฝ้าย ถือเป็นพระพุทธรูปสำริดในงานพุทธศิลป์ช่วงวัฒนรรมทวารวดีที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยพบในประเทศไทยครับ       
.
----------------------------------------
*** องค์ที่สอง คือ “พระโพธิสัตว์ไมเตรยะ”  (Bodhisattva Maitreya) สำริด 4 กร ประทับยืนในท่าสัมภังค์ สูง  1.37 เมตร พระกรหน้าทั้งสองข้างยื่นไปข้างหน้าแสดงท่าคล้ายวิตรรกะมุทรา พระกรซ้ายล่าง ซ้ายบน และขวาล่างยกขึ้นพระกรแสดงท่ามุทราถือสิ่งของ ส่วนพระกรขวาบนหักตรงข้อศอก มุ่นมวยผมทรงชฏามงกุฏ พระเกศาทำเป็นวงซ้อนกันสี่ชั้น ทรงภูษาสั้นบางแนบพระองค์ มีเข็มขัดเส้นเล็กคาดเอว ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของงานศิลปะแบบไพรกเมง (Prei Kmeng) ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 ที่สอดรับกับคติความนิยมในพระโพธิสัตว์ไมเตรยะอนาคตพุทธะจากเมืองศรีเทพ เมืองใหญ่ทางเหนือของกลุ่มรัฐศรีจานาศะ
.
*** องค์ที่สาม เป็นพระโพธิสัตว์ไมเตรยะสำริด 2 กร ประทับยืนในท่า “ตริภังค์” (Tribhaṅga) หรือเอียงสะโพก มีความสูงประมาณ 70 เซนติเมตร มุ่นมวยผมทรง “ชฏามุกุฏ” (Jaṭāmukuṭa) ทรงภูษาสั้น มีเข็มขัดผ้า (รัดพระองค์) เส้นเล็ก ๆ คาดทับอยู่เหนือพระโสณีและผูกเป็นโบที่ด้านหน้า ชายผ้าห้อยอยู่ทางด้านขวาและริ้วชายผ้าทำเป็นเส้นบางๆ พระกรหักตรงข้อศอกทั้งสองข้าง พระชงหักตรงพระชานุ (ซ่อมต่อขึ้นใหม่) ศิลปะแบบไพรกเมง (Prei Kmeng) ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13
.
ความนิยมในคติพระพุทธเจ้าไมเตรยะในนิกายมหายาน (Mahāyāna Buddhism) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มีรากฐานความนิยมมาจากยุคราชวงศ์กุษาณะ ในแคว้นคันธาระ ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษ 7 และในช่วงราชวงศ์คุปตะ ในอินเดียเหนือ ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 9 ที่ได้ส่งอิทธิพลทั้งคติและงานศิลปะพระโพธิสัตว์ไมเตรยะ ลงมาทางใต้ในยุค “ราชวงศ์วากาฏกะ” (Vākāṭaka  Dynasty) กลางพุทธศตวรรษที่ 11 ต่อเนื่องมาถึงยุค “ราชวงศ์จาลุกยะ” (Early Chalukya Dynasty) ราชสำนักฮินดูที่ให้การสนับสนุนนิกายมหายานฝ่ายวัชรยาน-ตันตระ ที่เข้าครอบครองแคว้นอานธระ-อินเดียใต้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12
.
*** รูปงานศิลปะพระโพธิสัตว์ไมเตรยะ (พระพุทธเจ้าอนาคตของฝ่ายมหายาน) จากแคว้นอานธระ ปรากฏหลักฐานในช่วงเวลาสั้น ๆ ในเขตรัฐศรีจานาศะ ตั้งแต่เมืองศรีเทพลงมาถึงเขตอีสานใต้อย่างที่เมืองฝ้าย ลงไปถึงเขตเขมรล่างกลุ่มรัฐทางเหนือของโตนเลสาบ เฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏความนิยมอีกเลยครับ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.



นารายณ์ตรีวิกรม

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“นารายณ์ตรีวิกรม-วามนาวตาร” ที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง 
ทับหลังเหนือกรอบประตูชั้นในของอาคาร “อรรธมณฑป” (Ardhamandapa) มุขตะวันออก ด้านหน้าปราสาทประธานเขาพนมรุ้ง หลังจากซุ้มประตูที่มีทับหลัง “วิษณุอนัตศายินปัทมนาภา” หรือ “นารายณ์บรรทมสินธุ์” อันเลื่องชื่อประดับอยู่หน้าซุ้มประตู บอกเล่าเรื่องราวของพระวิษณุในภาค“วามนาวตาร” (Vamana Avatar) หรือ “พระวิษณุตรีวิกรม” (Vishnu Trivikrama) 
.
พระวิษณุในภาคนี้ อวตารลงมาเป็นพราหมณ์เตี้ยตัวเล็ก นามว่า “วามน-วามนะ” ที่ดูอ่อนแอและด้อยความสามารถ ด้วยรูปลักษณ์ภายนอก เพื่อล่อลวง “อสูรพลี-มหาพาลี” (Bali Asura-Mahabali) ผู้แกร่งกล้า เพื่อปลดปล่อยโลกทั้งสามที่ตกอยู่ในอำนาจของอสูรให้เป็นอิสระครับ
.
พระวิษณุอวตารลงมาเป็นบุตรของฤๅษีกัศยปะและนางอทิติ (ผู้ให้กำเนิดพระสุริยะและพระจันทรา) เพื่อปราบอสูรพลี หลานของ “ท้าวประหลาด” โอรสของ “หิรัญยกศิปุ” ที่ถูกพระวิษณุสังหารไปในครั้ง “นรสิงหาวตาร” พระอวตารภาคที่แล้ว
.
ภาพสลักบนทับหลัง ได้แสดงเรื่องราวหลักของวรรณกรรมแยกออกเป็นสามส่วน โดยภาพส่วนทางซ้ายสุด เป็นภาพของ “พลับพลาปรัมพิธีไหว้ครู – สรงน้ำ” บุคคลในอาคาทางซ้ายสุด อาจหมายถึง “พระศุกรจารย์ (Sukracarya)” ผู้เป็นพระคุรุอาจารย์แห่งเหล่าอสูร (หรืออาจเป็น “มหาฤาษีนาคุลิสะ” มหาคุรุฤๅษีแห่งสวรรค์) เป็นประธานในพิธีสถาปนามหาราชาแห่งสามโลก แวดล้อมด้วยเหล่าพราหมณ์ฤๅษีพร้อมเครื่องหอมน้ำอบ ฤๅษีในพลับพลาสองคนกำลังสรงน้ำที่มือลงบนแท่นดอกไม้ (ฐานบัวคว่ำบัวหงาย) เพื่อการสักการบูชาอาจารย์ ในขณะคุรุฤๅษีประธานในพิธี กำลังยก “วัชระ” เพื่อการประสาทพรอันเป็นมงคลครับ
.
ซึ่งในพิธีอัศวเมธ (อภิเษกให้เป็นใหญ่) ของอสูรพลีครั้งสุดท้ายนี้ พราหมณ์แคระวามน ได้หาโอกาสเข้ามาร่วมงานได้สำเร็จ 
.
ภาพสลักส่วนกลาง เป็นเรื่องต่อเนื่องจากภาพทางซ้าย เป็นภาพของมหาพลีในอาคารพลับพลา ในท่านั่ง “มหาราชาลีลาสนะ” กำลังต้อนรับเหล่าฤๅษีพราหมณ์จากทั่วชมพูทวีป (ภาพสลักฤๅษีพราหมณ์เรียงแถวอยู่ด้านข้างขวาของพลับพลา กำลังเดินทางเข้ามาหาร่วมพิธีทางซ้าย) ในพิธีกรรมเพื่อการประกาศความเป็นใหญ่เหนือสามโลก ที่มหาพลีจะต้องนำน้ำมาล้างเท้าให้พราหมณ์ผู้มาร่วมพิธี แล้วรองน้ำที่ชำระเท้าของพราหมณ์นั้นมารดที่ศีรษะของตนเพื่อให้เกิดสิริมงคล ก่อนที่จะทำการบริจาคทานแก่พราหมณ์เพื่อเป็นการแสดงความยิ่งใหญ่ครับ 
.
----------------------
*** ในคัมภีร์ภาควัตปุราณะกล่าวว่า “น้ำที่อสูรพลีชำระล้างพระบาทแห่งพระวิษณุ (พราหมณ์เตี้ยวามน) นั้น “เปรียบประดุจน้ำที่พระศิริศะ – (พระศิวะ) ผู้ทรงทัดจันทราเป็นปิ่นพระเกศา ได้ทรงรองรับไว้เหนือพระเศียรด้วยความเคารพศรัทธาอย่างสูงสุด”
.
ท้าวพลีได้เอ่ยปากถามพราหมณ์เตี้ยว่าปารถนาสิ่งใด พราหมณ์วามนะจึงกล่าวตอบว่า 
.
"....มหาราชาผู้ยิ่งใหญ่ ตัวข้านั้นเตี้ยแคระ คงมิปรารถนาสิ่งใดมากไปกว่าแผ่นดินสามย่างก้าว เพื่อมาเป็นที่อยู่อาศัยแก่สรรพสัตว์ทั้งมวล ก็คงเพียงพอแล้ว..."
.
อสูรพลีมองพิจารณาดูร่างอันเตี้ยแคระของพราหมณ์วามนก็เกิดความคิดอันหลงไปในรูปลักษณ์สังขาร “แผ่นดินสามย่างก้าว มันจะเท่าไหร่กันเชียว .....เอาไปเลยท่านพราหมณ์เตี้ยเอ๋ย ข้าให้สัตย์ ถ วา .... ยยยย ...” 
.
ยังมิทันเอ่ยสิ้นคำสัตย์ “พระศุกราจารย์” คุรุผู้ทรงปัญญาจึงรีบเข้าขัดขวาง และพยายามอธิบายแก่อสูรพลีว่า พราหมณ์เตี้ยนั้นเป็นเพียงภาพมายา แท้จริงแล้วเป็นพระวิษณุเจ้าที่จำแลงอวตารลงมา แต่กระนั้นมหาพลีผู้ลุ่มหลงในอำนาจเหนือเหล่าเทพเจ้า ผสมกับมนตร์สะกดแห่งพระวิษณุ จึงไม่ได้สนใจในคำตักเตือนครั้งสำคัญของคุรุอันควรเคารพเชื่อฟัง
.
*** ภาพสลักตรงกลางของทับหลัง ได้แสดงเรื่องราวตอนที่อสูรพลีจึงเอ่ยวาจาสัตย์แห่งมหาราชา ประทานแผ่นดินให้ 3 ก้าว แล้วยกคนโทน้ำหลั่งทักษิโณทกลงบนมือพราหมณ์วามน ที่สลักเป็นบุคคลรูปร่างเตี้ยเล็กด้านขวาของพลับพลาครับ 
-
เมื่อเตือนให้มีสติไม่ได้ พระศุกราจารย์จึงรีบแปลงร่างเป็น “ฝาจุก” ไปอุดคนโทน้ำเอาไว้ ไม่ให้คำกล่าวอุทิศบริจาคอันบริสุทธิ์ผ่านลงสู่ธรณี ฤๅษีวามนรู้แก่การณ์ จึงเอาใบ “หญ้าคา” อันแหลมคม แทงทะลุฝาจุก (พระศุกร์แปลง) เข้าไป โดนตาของพระศุกร์จนทนไม่ได้ ไหลหลุดออกมา น้ำจึงหลั่งผ่านมือลงสู่พื้น
.

*** ภาพสลักส่วนที่สามทางด้านขวาสุดของทับหลัง เป็นเหตุการณ์ภายหลังที่น้ำอุทิศไหลลงสู่ธรณี พราหมณ์เตี้ย คืนกลับร่างเป็นพระวิษณุ 4 กร ร่างขยายใหญ่มหึมา ก้าวข้ามมหาสมุทรแห่งดอกบัว (ในความหมายของจักรวาล) ก้าวขาแรกก็เอาสวรรค์คืนไว้ได้ทั้งหมด ก้าวขาครั้งที่สองก็เอาโลกมนุษย์ไว้ทั้งหมด และก้าวขาครั้งที่สามเอาบาดาลไว้ทั้งหมดครับ 
.
ภาพสลักทางขวาสุดเป็นรูปเทวสตรีถือพานรองรับพระบาท อันหมายความถึง “พระภูมิเทวี” (พระมเหสี มารดาแห่งโลก) แวดล้อมด้วยเหล่าสัตว์ร้าย อย่างลิง ฝูงนกบิน ปลาและจระเข้ ที่หลายถึงเหล่าพลพรรคในกองทัพของอสูรพลี พยายามเข้าต่อสู้ขัดขวางการ “ย่างสามขุม - ตรีวิกรม” เพื่อคืนแผ่นดิน แต่ก็แตกกระจายพ่ายแพ้ ปรากฏเป็นภาพสลัก สัตว์กำลังแสดงการหนีออกจากพระวิษณุด้านขวาสุดของทับหลัง
.
*** เป็นที่น่าเสียดายที่ภาพสลักอันงดงามได้ถูกกะเทาะทุบทำลายไปจนยากจะกลับคืน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการขนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ลงมา ซึ่งก็คงได้แต่ใช้ภาพเชิงซ้อนกับภาพถ่ายเก่าในการฟื้นคืน เรื่องราวอันศักดิ์สิทธิ์แห่ง “นารายณ์ตรีวิกรม-วามนาวตาร” ที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง กลับคืนมา
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2564

เมืองโบราณกลอนโด

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“เมืองโบราณกลอนโด” ป้อมปราการบายน ที่แม่น้ำแควน้อย
ตามเส้นทางแม่น้ำแม่กลองจากแยกปากแพรก จุดบรรจบของแม่น้ำแควใหญ่และแม่น้ำแควน้อยที่ตัวเมืองกาญจนบุรี ขึ้นไปตามถนนทางทิศตะวันตกประมาณ 30 กิโลเมตร เลาะไปตามสายน้ำแควน้อยอันคดเคี้ยว บริเวณริมฝั่งน้ำใกล้กับ “เดอะ เลกาซี ริเวอร์แคว รีสอร์ท” เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนเขมรโบราณ ที่อาจเป็น “เมืองป้อมค่าย” (Fortress Barrack) เพื่อการควบคุมเส้นทางเครือข่ายลุ่มน้ำแม่กลอง-แควน้อย จากศรีชยปุระ-นครปฐม ศัมพูกปัฏฏนะ ไปจรดชุมชนใหญ่ไกลสุดของอำนาจแห่งจักรวรรดิบายน ที่ “เมืองสิงห์”หรือ “ศรีชยสิงหปุระ” (Śrí Jaya-Siṃhapurí) วิษัยนครบายนที่ตั้งอยู่ไกลสุดขึ้นไปตามสายน้ำแควน้อยไปอีกประมาณ  35 กิโลเมตร
.
เมืองโบราณกลอนโด หรือ “กลอนโกร” ตั้งอยู่ริมน้ำแควน้อยฝั่งทางทิศใต้ ในเขตตำบลกลอนโด อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเมืองที่มีคันดินล้อมรอบ ความสูงประมาณ 2-4 เมตร ค้นกว้างประมาณ 12 - 13 เมตร  ล้อมรอบตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีความกว้างยาวประมาณ 250 x 260 เมตร เป็นเมืองขนาดไม่ใหญ่นัก เมื่อเทียบกับ “เมืองครุฑ” ทางทิศตะวันออกของเมืองสิงห์ ที่มีขนาดใหญ่กว่า (520 x 340 เมตร) เคยมีร่องรอยของคูน้ำล้อมรอบ แต่ในปัจจุบันถูกไถทำการเพาะปลูก เกลี่ยดินถมคูน้ำไปจนหมดแล้ว ภายในมีพื้นที่ประมาณ 35 ไร่ ตรงกลางเป็นเนินสูงกว่าโดยรอบเล็กน้อย ปัจจุบันใช้เป็นที่เพาะปลูกพืชไร่อย่างอ้อยหรือข้าวโพด ทางทิศตะวันตกภายในคันดินเมือง มีบ้านเรือนตั้งอยู่ 2 – 3 หลังครับ 
.
กลางคันดิน (กำแพง) ทางทิศตะวันตกและตะวันออก มีร่องรอยของช่องประตูอย่างละ 1 ช่อง ส่วนทางทิศใต้เป็นช่องที่เจาะแนวคันดินขึ้นใหม่เพื่อตัดถนนในยุคหลัง 2 ช่อง กลางคันดินฝั่งตะวันตกเคยมีแนวคันดินยาวที่น่าจะเป็นแนวถนนต่อยาวจากช่องประตูออกไปทางแม่น้ำประมาณ 500 เมตร  ติดกับแนวกำแพงทางทิศเหนือเยื้องไปทางทิศตะวันออกมี “บาราย” (Baray) แบบชุมชนเขมรโบราณ ขนาดประมาณ 120 x 90 เมตร ตั้งในตำแหน่งเดียวกับบารายโกสินารายณ์ของเมืองศัมพูกปัฏฏนะ รับน้ำมาจากคลองตะเคียนที่ไหลมาจากตะวันตกไปไหลลงลำน้ำแควน้อยเก่าทางทิศตะวันออก
.
*** ชื่อนามของเมือง “กลอนโด” เป็นชื่อที่มาจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง “ท้าวเวชสุวรรณโณกับท้าวอู่ทอง” เล่ากันว่ามาจากคำว่า “กลอนโด่” ที่ท้าวอู่ทองมาสร้างไว้ แต่ยังสร้างเมืองไม่เสร็จ ท้าวเวสสุวรรณโณตามมาทัน ท้าวอู่ทองจึงทิ้งเมืองไว้เหลือเพียงแต่กลอนประตูตั้ง “โด่เด่” อยู่ สอดรับกับเรื่องเล่าของชาวบ้านพื้นถิ่นที่เล่ากันว่า เคยมีผู้พบชิ้นส่วนของกลอนประตูและร่องรอยของอาคารอิฐ (ดินเผา) ที่มีรูเสาตั้งอยู่บริเวณกลางเมือง แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปจนหมดแล้ว
.
ในอีกความหมายหนึ่ง ชื่อของเมือง “กลอนโด” เดิมเคยมีการเรียกกันว่า “กลอนโก” นั้น อาจมาจากชื่อในภาษาเขมรโบราณว่า “เกราโก-กรอลโก” (Krol ko) ที่มีความหมายถึง “คอกเลี้ยงวัว” แต่ก็เพี้ยนเสียงมาเป็นกลอนโด่ ผสมผสานกับนิทานเรื่องเล่าพื้นบ้าน กลายมาเป็นกลอนโดในปัจจุบันครับ 
.
*** การขุดค้นทางโบราณคดีในช่วงปี พ.ศ. 2548  และเศษเครื่องถ้วยที่ชาวบ้านเก็บไว้ พบเครื่องเซรามิคเคลือบขาวแบบจีน (ชิงไป๋) (Chinese Glaze Stoneware) ที่ผลิตจากเตาในมณฑลฟูเจี้ยน เครื่องเคลือบดินเผาเขมรโบราณ (Khmer Glaze Stoneware) แบบเตาราชวงศ์มหิธระปุระ อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 แตกหักทับถมอยู่ทั่วบริเวณเมืองเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังพบเครื่องประดับตะกั่ว เงิน รูปประติมากรรมสำริดแบบเขมร รูปเคารพหินทรายเทวสตรีที่แตกหัก อาวุธเหล็กและ “ก้อนดินเผา” ที่มีร่องรอยการกดประทับพิมพ์ของโครงสร้างอาคารไม้ ทั้งเป็นรอยโค้งนูน  รอยเว้า เรียบแบน คล้ายแผ่นไม้ไผ่สานขัดเป็นผนังโครงสร้าง และรอยพิมพ์ของเศษเยื่อไผ่ติดอยู่กับก้อนดินเผาเป็นจำนวนมาก
.
ที่คันดินกำแพงเมืองยังพบก้อนดินเผากองพูนทับถมกันอย่างหนาแน่น คันกำแพงดินทางทิศตะวันตกมีร่องรอยการจัดเรียงก้อนดินเผาทำเป็นผนังกำแพงด้านนอก ด้านในกุด้วยดินอัดเป็นแกนกำแพงและเชิงเทิน อีกทั้งยังมีร่องรอยของเพลิงไหม้ ปรากฏบนก้อนดินเผาเป็นบริเวณกว้างครับ
.
จากหลักฐานก้อนดินเผาที่พบเป็นจำนวนมากอาจแสดงให้เห็นว่า ในครั้งเริ่มแรกเมืองกลอนโด มีการสร้างแนวกำแพงคันดินที่มีการปักไม้ไผ่ไว้บนยอดสันกำแพงเป็นเชิงเทิน ด้านนอกคันดิน อาจมีการสุมไฟเพื่อเปลี่ยนหน้าดินอ่อนให้แข็งเป็นดินเผา เพื่อความแข็งแรงทนทาน ไม่ให้ศัตรูที่เข้ามาประชิดขุดทำลายฐานกำแพงได้โดยง่าย
.
*** เมืองโบราณกลอนโดเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็น “ขั้นตอน”การขยายอิทธิพลทางการเมืองและคติความเชื่อในยุค “จักรวรรดิบายน” (Bayon Empire) สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (Jayavarman 7) ที่ได้ขยายอิทธิพลเข้ามาสู่แดนตะวันตก จากฐานที่มั่นใหญ่ของราชวงศ์ “มหิธระปุระ” ที่เมืองลวะปุระหรือจังหวัดลพบุรีตามที่ปรากฏใน  “จารึกปราสาทตอว์” (K.692) ที่กล่าวว่า “...พระองค์ทรงมีชัยชนะเหนือจามปา …และเหล่าพระราชาในแดนตะวันตก (King of the west- inam aparaṃ) ...” (โศลกที่ 35, 45) ครับ
.
ด้วยเพราะเมืองกลอนโด มีลักษณะการอยู่อาศัยของชุมชนในชั่วระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 50-80 ปี (ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 – กลางพุทธศตวรรษที่ 19) เมืองโบราณริมแม่น้ำดแควน้อยแห่งนี้จึงน่าจะเป็นป้อมปราการ (Fortress ) หรือ “ค่ายทหาร” (Barracks) ของจักรวรรดิบายน ที่รุกเข้ามาสู่ดินแดนตะวันตกตามแนวลำน้ำแม่กลองเข้าสู่ลำน้ำแควน้อย
อีกทั้งหลักฐานภาชนะที่พบทั้งเครื่องดินเผา เครื่องเคลือบแบบเขมรและแบบจีน ที่มีรูปร่างรูปแบบคล้ายคลึงกัน ที่ดูเป็นแบบแผน ไม่มีความหลากหลาย และร่องรอยการสร้างอาคารเรือนพักที่ใช้โครงสร้างไม้และไม้ไผ่ที่มีการนำดินโคลนมาพอกทับ ล้วนแสดงให้เห็นความเป็นอยู่ของกลุ่มคนที่มีรูปแบบของการอยู่อาศัย รวมทั้งหน้าที่ที่เหมือนกัน ซึ่งนั่นก็อาจหมายถึง ชุมชนที่ตั้งมั่นอยู่ในเมืองกลอนโด ก็คือกลุ่มทหารหรือคาราวานกองทัพ-ผู้คนเขมรโบราณ ที่เข้ามาตั้ง “ฐานทัพ” แรก บนลุ่มแม่น้ำแควน้อย เพื่อขยายตัวเข้าสู่แดนตะวันตกในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา และได้พัฒนาชุมชนขึ้นเป็น “ป้อมค่าย” เมืองรูปสี่เหลี่ยมเพื่อการควบคุมอำนาจเหนือเส้นทางน้ำ ลำลเยงของป่าและทรัพยากรออกไปสู่เมืองสำคัญของลุ่มแม่น้ำแม่กลองครับ    
.
ร่องรอยหลักฐานยังได้แสดงให้เห็นว่า มีการ “เผาทำลาย” หรือ  “เกิดเพลิงไหม้” ครั้งใหญ่ จนดินที่พอกไม้ แนวดินหรือพื้นดินที่รองรับโครงสร้างไม้ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเรือนพักและเชิงเทิน ต่างก็ถูกความร้อน เผาไหม้จนกลายเป็นดินสุก (แข็ง) บ้าง ไม่สุกบ้าง ที่มีร่องรอยของพิมพ์ไม้ประทับติดอยู่ แตกกระจายไปทั่วบริเวณเมือง
.
ซึ่งเหตุผลสำคัญของเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ ก็อาจจะมาจาก “การสงครามครั้งสุดท้าย” ที่ “เหล่าพระราชาตะวันตก” ในจารึก อาจได้กลับเข้ามาปลดแอกอำนาจที่อ่อนแอลงของผู้คนจากแดนโตนเลสาบ นำทหารเข้าโจมตี ทำลายป้อมค่ายกลอนโด ตัดเส้นทางเชื่อมต่อสำคัญไปยังเมืองสิงห์และเมืองครุฑ จนถึงการเข้าทำลาย “ศัมพูกปัฏฏนะ”(จอมปราสาท-สระโกสินารายณ์ อำเภอบ้านโป่ง) ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19  รื้อถอนปราสาทและทุบทำลายรูปเคารพแห่ง “อานุภาพ” จนย่อยยับไปทั่วแคว้นแดนตะวันตกครับ
.
*** หลังจากร้างราไปกว่าร้อยปี ผู้คนในยุคหลัง (ช่วงกรุงศรีอยุธยา) คงได้ย้อนกลับเข้าไปใช้เมืองกลอนโด เพื่อเป็นจุดพักแรมระหว่างเดินทางตามเส้นทางน้ำแควน้อย หรือตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อทำการเพาะปลูก จึงปรากฏร่องรอยของการบูรณะเมืองกลอนโด โดยการนำเศษก้อนดินเผาที่แตกกระจัดกระจายพูนถมกลับขึ้นไป ทำเป็นแนวคันกำแพงดินขึ้นใหม่อีกครั้ง
.
และก็ร้างลงไปอีกนับร้อยปี จนถึงในปัจจุบันครับ
เครดิต ;
วรณัย พงศาชลากร          
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564

นางฑากิณี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“นางฑากิณี-แหกขายกสูง” ร่องรอยคติตันตระ ที่ปราสาทเนินทางพระ สุพรรณบุรี
.
ที่บ้านสระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เคยมีซากปราสาทในวัฒนธรรมเขมรโบราณหลังหนึ่ง แต่เดิมนั้นชาวบ้านจะเรียกซากเก่าแก่ที่พบว่า “ดอนถ้ำพระ – เนินทางพระ” ซึ่งเคยมีแนวกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ 2 ชั้น ชั้นนอกกว้างยาวประมาณ 150 เมตร ชั้นในประมาณ 50 เมตร  มีซากกองอิฐและศิลาแลงที่เคยเป็นปราสาทหินเป็นประธานอยู่ตรงกลางค่อนไปทางตะวันตก  มีสระน้ำติดกำแพงบริเวณด้านทิศเหนือเยื้องฝั่งตะวันออก
.
บริเวณนี้เคยเป็นชุมชนโบราณที่ตั้งถิ่นฐานในลุ่มขนาดใหญ่ของแม่น้ำท่าว้า-ท่าคอย ซากของปราสาทหินที่เนินทางพระผ่านการถูกทำลายมาแล้วหลายครั้งในอดีต เหมือนว่าตัวปราสาทจะถูกรื้อถอนจนพังทลายลงทับถมเป็นเนินดอนใหญ่ ต่อมาในยุคประมาณ 60 -70 ปีที่แล้ว เริ่มมีการขุดหาเศษซากวัตถุโบราณอย่างพระเครื่องและรูปประติมากรรมโลหะนำออกไปขายเป็นจำนวนมาก จนถึงปี พ.ศ. 2522 จึงเริ่มมีการขุดค้นศึกษาทางวิชาการเป็นครั้งแรก  จึงได้พบซากของปราสาทหินก่ออิฐผสมศิลาแลงแกนดินอัดด้วยดินและอิฐตรงกลาง แต่ด้วยเพราะถูกลักลอบขุดทำลายอย่างละเอียดไปก่อนหน้าแล้ว จึงยากที่จะทำการศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมได้อย่างชัดเจน คงพบชิ้นส่วนบัวกลุ่มยอดปราสาทและเครื่องปักบรรพแถลง กลีบขนุนประดับเรือนยอดแตกหักกระจายอยู่จำนวนหนึ่งครับ
.
วัตถุโบราณที่ขุดพบในครั้งนั้น มีทั้งรูปประติมากรรมหินทรายพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร เศียรทวารบาลหินทราย นนทิเกศวร-มหากาล พระพิมพ์เนื้อดินเผาและโลหะ รวมทั้งชิ้นส่วนประติมากรรมปูนปั้นประดับปราสาทที่เหลือรอดจากการลักลอบขุดหาวัตถุโบราณจำนวนหนึ่ง อย่างรูปพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุ พระวิษณุในอวตารตรีวิกรม พระคเณศ พระโพธิสัตว์ เทพยดา รูปบุคคลสตรี อัปสรา ครุฑยุดงวงช้าง อสูรา มกร หน้ากาลและรูปสัตว์ เต่า ลิง ช้าง รวมทั้งลวดลายพรรณพฤกษาอย่างลายดอกซีกดอกซ้อน ลายกลีบบัวเชิงในขนบการจัดวางลวดลายประดับปราสาทแบบเขมรโบราณ 
.
แต่รูปประติมากรรมลอยตัวหินทราย ที่เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกขนาดใหญ่หลายชิ้นนั้น ได้ถูกขุด/ขนย้ายหายไป ก่อนปี พ.ศ. 2520 ทั้งหมดแล้วครับ
.
รูปประติมากรรมที่พบจากเนินทางพระ แทบทั้งหมดล้วนสะท้อนคติความเชื่อในพุทธศาสนานิกายมหายานแบบเขมร หรือที่เรียกว่า “วัชรยาน” (Vajrayāna Buddhism) “พุทธตันตระ” (Tantric Buddhism) หรือ “มหายานตันตระ” (Mahāyāna -Tantra) ที่มีการผสมผสานความเชื่อและศิลปะนิยมกับคติฮินดู-ไวษณพนิกายได้อย่างลงตัวมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17  โดยเฉพาะการปรากฏรูปของเทพีในคติ “ศักติ” Goddess Śakti – พลังศักดิ์สิทธิ์แห่งเพศหญิง Divine feminine power) อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของฝ่ายตันตระ ที่ถูกผนวกคติความเชื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานแบบเขมรในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ก็ได้ส่งอิทธิพลมายังงานศิลปะที่พบจากปราสาทเนินทางพระอย่างชัดเจน
.
รูปประติมากรรมปูนปั้นบุคคลสตรีหลายชิ้นจากเนินทางพระ แสดงท่าทางในลักษณะแยกขายกสูงขึ้นมาเหนือศีรษะ เป็นลักษณะเด่นชัดของรูปประติมาน “นางฑากิณี” (ḍākinī - Dakini) บุคลาธิษฐานแห่งผู้เป็นพลังอำนาจ ความรู้แจ้งและพลังแห่งเครื่องเพศ นางมีสมญานามจากคัมภีร์สันสกฤต ว่า “ผู้เต้นรำบนท้องฟ้า" หรือ “ผู้เฉิดฉายบนนภากาศ” แสดงถึงความสมดุลแห่งเสรีภาพที่สมบูรณ์ นางเป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิดพลังแห่งพุทธะครับ
.
นางฑากิณีในคติวัชรยานตันตระ คือพลังเพื่อการปกปักษ์รักษาเหล่าสิทธะ (นักบวชตันตระ) เช่นเดียวกับยิดัม  (Yi-Dam The Guardian) นางฑากิณีมีหลายองค์ มีทั้งรูปปกติและรูปดุร้าย รูปปกติมี 5 องค์ตามตระกูลพระพุทธเจ้า“พุทธฑากิณี” (Buddhaḍākinī วรรณะกายขาว-ไวโรจนะ) “วัชรฑากิณี” (สุขสิทถี Sukhasiddhi- Vajraḍākinī วรรณะกายฟ้า-อักโษภยะ) “รัตนฑากิณี” (Ratnaḍākinī วรรณะกายเหลือง-รัตนสัมภาวะ) “ปัทมฑากิณี” (Padmaḍākinī วรรณะกายแดง-อมิตาภะ) “กรรมฑากิณี” (Karmaḍākinī วรรณะกายเขียว-อโมฆสิทธิ)  รูปลักษณ์ในภาคดุร้ายคือ “สรวพุทธฑากิณี (Sarva Buddha Dakini) สิงหวักตรา(Simhavaktra) มกรวักตรา (Makaravaktra) วัชรวราหิ (Vajravārāhī)” และมีนางฑากิณีประจำฤดูกาล อีก 4 องค์คือ “วสันตเทวี คิมหันตเทวี ศรัทเทวี และเหมันตเทวี” 
.
ในหนังสือ “ลัทธิของเพื่อน” ปี 2500 ของท่านเสถียรโกเศศ  กล่าวว่า นางฑากิณีในลัทธิลามะธิเบตนั้นเป็นชายาของธรรมบาล ซึ่งชั้นเดิมเป็นพวกยักษ์และนาถ มีจำนวน 8 นาง มีนามว่า “สาสยา” ผิวขาวถือกระจก “มาลา” ผิวเหลืองถือพวงลูกประคำ “คีตา” ผิวแดงถือพิณ “ครรม” ผิวเขียว ร่ายรำ “บุษปา” ผิวขาวถือดอกไม้ “ธูปา” ผิวเหลืองถือหม้อน้ำ “ทีปา” ผิวแดงถือโคม “คินธา” ผิวเขียวถือแจกันน้ำหอมครับ  
.
ในคัมภีร์จักระสังวรฝ่ายตันตระ นางฑากิณีไม่ใช่ “นางโยคินี” (Yogini) ธิดาแห่งเหวัชระทั้ง 8 อันได้แก่นางเคารี (Gauri) นางเฉารี (Chauri) นางเวตาลี (Vetali) นางฆษมารี (Ghasmari) นางปุกกาสี (Pukkasi) นางชาพารี (Shabari) นางฉนฑลี (Chandali) และนางโทมพี (Dombi) ที่นิยมนำมาสร้างเป็นรูปบุคคลสตรีร่ายรำในท่า “ยินดีปรีดาในชัยชนะ” (อรรธปรยังกะ-Ardhaparyaṅka) เหนือซากศพแห่งอวิชชาทั้ง 8 (พระศิวะ พระพรหม พระอินทร์ พระวิษณุ พระยม ท้าวกุเวร พระนิรฤติ และเทพอสูรวิมาสิตริน)  ซึ่งท่ารำแหกขาแบบนางโยคินี/ตันตระนี้ ยังปรากฏเป็นรูปประติมากรรมปูนปั้นชิ้นหนึ่งจากเนินทางพระด้วยเช่นกัน
.  
รูปประติมากรรม “แหก-ยกขาสูง” (เพื่อแสดงพลังแห่งเครื่องเพศอันบริสุทธิ์ ปกปักษ์พุทธะ/พลังแห่งโลกทุกทิวาราตรี) ที่ปรากฏความนิยมในรูปศิลปะของนางสุขสิทถี-วัชรฑากิณี ยังคงปรากฏเฉพาะที่ประสาทเนินทางพระเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าพบรูปประติมานแบบเดียวกันนี้ในงานศิลปะเขมรโบราณที่อื่น ๆ ในประเทศไทยเลยครับ  
.
------------------------------------
*** การปรากฏตัวของรูปนางฑากิณีแหกยกขาและนางโยคิณีร่ายรำในงานศิลปะตามคติแบบวัชรยานตันตระ (ที่ไม่ใช่มหายาน – เพราะมหายานไม่มีศักติ) ที่ปราสาทเนินทางพระ อาจได้สะท้อนคติความเชื่อจากอินเดียในยุคพุทธศตวรรษที่ 17 – 18  ที่เพิ่งเข้ามาผสมผสานกับงานศิลปะที่ได้ถูกดัดแปลงผสมผสานจนกลายมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะภูมิภาคของกลุ่มรัฐ “สุวรรณปุระ” ในฝั่งตะวันตกของลุ่มเจ้าพระยา 
.
รัฐสุวรรณปุระ เป็นจุดปะทะสำคัญทั้งศิลปะและคติความเชื่อระหว่างปาละ - พุกาม (ตันตระ-มหายาน-เถรวาท) ลังกา (เถรวาทลังกาวงศ์) ละโว้ (กัมโพชสงฆ์ปักขะ) และเขมร (วัชรยานตันตระ – ฮินดู) จนมีความโดดเด่นในเฉพาะภูมิภาคลุ่มเจ้าพระยายุคหลังบายน ก่อนจะพัฒนามาเป็นศิลปะต้นอยุธยาโดยแท้จริงในเวลาต่อมาครับ
.
น่าเสียดายที่โบราณสถานส่วนใหญ่ของรัฐสุวรรณปุระ ได้ถูกทำลายอย่างย่อยยับภาพหลังการล่มสลายของกลุ่มอำนาจลูกผสม และการพัฒนาไปเป็นรัฐสุพรรณภูมิใหม่ของกลุ่มคนผู้ปกครองใหม่ที่นิยมคติเถรวาทและการทำลายในยุคร่วมสมัยปัจจุบัน 
.
งานศึกษาทางวิชาการของกลุ่มรัฐสุวรรณปุระจึงยังมีไม่มาก หลายเรื่องติดหล่มวนเวียนอยู่กับการตีความในมุมมองข้อมูลเดิม ๆ ที่อ้างอิงต่อกันมาไว้ ถึงดินแดนบริเวณแถบนี้จะดูเป็นโซนแรก ๆ ที่มีการเขียนและพูดถึงกันไว้อย่างกว้างขวาง แต่ทั้งหลายนั้นก็กลับมากลายเป็นกรอบความคิดที่แปลกประหลาด เพราะเหมือนมีอะไรมากมายและกลับไม่มีอะไรให้เห็นเลย หลายสิ่งหลายอย่างในยุคเริ่มก่อตัวเป็นอยุธยา กลับถูกยกเอาไปเป็นงานศิลปะเขมร ยกไปเป็นศิลปะอยุธยา-อู่ทอง อโยธยา หรือยกไปเป็นศิลปะลพบุรี (ละโว้) ทั้งหมด
.
ภาพปูนปั้นนางฑากิณีแหกขาที่ปราสาทเนินทางพระ จึงอาจช่วยลดอคติความคิด เอาคติความนิยมมาทำความเข้าใจในคติความเชื่อแบบวัชรยานตันตระที่แตกต่างไปจากมหายาน และยังเป็นร่องรอยสำคัญของผู้คนที่เคยครอบครองดินแดนสุวรรณปุระ ที่มีความคิดความเชื่อในคติตันตระแบบเดียวกับเมืองพระนครธมในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนพัฒนาตัวเองกลายมาเป็นรัฐใหญ่นาม “สุพรรณภูมิ” ริมแม่น้ำท่าจีนในเวลาสืบเนื่องต่อมาครับ
เครดิต ;
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


จูลประโทนเจดีย์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“จุลประโทนเจดีย์” สถูปเจดีย์ที่ (อาจ) เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
“...สถูปคันธาระ น่าจะเป็นต้นแบบของเจดีย์จุลประโทน อำเภอเมืองจังหวัดนครปฐม ทั้งนี้เพราะสถูปองค์นี้มีฐานประทักษิณสี่เหลี่ยมและบันไดขึ้นทั้ง 4 ด้าน ตกแต่งด้วยเครื่องประดับทางสถาปัตยกรรมเช่น เสาอิง และซุ้ม อันเป็นลักษณะเด่นของสถูปที่แคว้นคันธาระ ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นศูนย์กลางของนิกายสรรวาสติวาท ...การตกแต่งสถูปด้วยเส้นลวดบัวด้วยสีแดงและสีดำ เช่นที่เจดีย์จุลประโทน ก็ยังเป็นคตินิยมของนิกายนี้...” (พิริยะ ไกรฤกษ์ : 2544)
สถูปจุลประโทนเจดีย์ ตั้งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกของพระประโทณเจดีย์ ประมาณ 400 เมตร หรือหากนับจากถนนเพชรเกษม ปากทางเข้าข้างเทคนิคนครปฐมไปตามถนนเทศบาล 1 ประมาณ 250 เมตร มีขนาดฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวประมาณ 20 * 20 เมตร ครับ 
ในปี พ.ศ. 2483 มีการขุดลอกหน้าดินเนินทับถม โดย “ปิแอร์ ดูปองต์” (Pierre Dupont) จาก “สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ “ (École française d'Extrême-Orient - EFEO) ร่วมกับกรมศิลปากร ภายใต้การนำของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ได้ตั้งชื่อซากสถูปที่พบนี้ขึ้นใหม่ว่า “จุลประโทน” เพื่อมิให้ไปสับสนกับ “พระประโทณเจดีย์” (ที่มีขนาดใหญ่กว่า) ต่อมายังมีการขุดค้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2511 จึงทำให้รู้ว่า เจดีย์จุลประโทนนั้นมีการก่อสร้าง บูรณะและปรับปรุงต่อเติมมาต่อเนื่องมาถึง 3 สมัย เริ่มมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 ถึงพุทธศตวรรษที่ 13 และยังได้มีการบูรณะครั้งสุดท้ายในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18
--------------------
*** จุลประโทนเจดีย์ สร้างในครั้งแรกราวกลางพุทธศตวรรษที่ 12  ในคติ “สรวาสติวาท” (Sarvāstivāda) อันเป็นนิกายหนึ่งของนิกาย“สถวีรวาท-เถรวาท” (Sthāvirīya -Theravāda) ในอินเดียเหนือ แต่ใช้คัมภีร์ภาษาสันสกฤต ปฏิเสธปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ตามแบบนิกายมหาสังฆิกะ-มหายาน (Mahāsāṃghika - Mahāyāna)  ซึ่งในยุคแรกสร้างนั้น มีฐานแผนผังรูปจัตุรัส รูปแบบของชั้นฐานประทักษิณ 1 ชั้น (ปัจจุบันจมอยู่ใต้ดิน ที่เห็นอยู่เป็นชั้นต่อเติมในสมัย 2 – 3 ) ที่หน้ากระดานตกแต่งเป็นเสาอิง/เสาคั่นแบบคันธาระ เกิดเป็นช่องว่างระหว่างกลางเพื่อประดับรูป “ประติมากรรมดินเผา” (Terracotta plaques) ที่เล่าเรื่อง ชาดก (ชาตกะ-Jātaka) วรรณกรรม “อวทานะ - อวทานศตกะ – ทิวยาวทานะ” (Avadānas – Avadānashataka - Divyāvadāna) เป็นตัวอย่างการกระทำคุณงามความดีและกุศลบารมีโดยพระโพธิสัตว์และบุคคลหลากชนชั้น ที่จะได้บรรลุเป็นพระมานุษิโพธิสัตว์ในอนาคต ภาพมงคลรูปบุคคลและสัตว์ มีบันไดทางขึ้นตรงกลางทั้ง 4 ด้าน ทำราวบันไดเป็นรูปลิ้นที่แลบออกมาจากปากสิงห์ ส่วนเชิงบันไดทางขึ้นทำเป็นรูปอัฒจันทร์วงโค้ง ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของศิลปะแบบคุปตะในอินเดียเหนือและแคว้นอานธระในอินเดียใต้ครับ
ถัดขึ้นไปเป็นชั้นฐานที่มีการเพิ่มมุมยกเก็จซ้อนชั้น เพื่อรองรับซุ้มอาคารจำลองที่มีซุ้มหน้าบัญชร เป็นมุขยื่นออกมาจากฐานสี่เหลี่ยมแบบเดิม ประดับชั้นฐานของมุขด้วยลวดบัวผูกเป็นชั้น “เวทีพันธะ/อธิษฐาน” “เวทีพันธะ – อธิษฺฐานะ” (Vedībandha - Adhiṣṭhaāna)  ประกอบด้วย “ขื่อปลอม” (Dentils) คล้ายซี่ฟันเฟือง ทำเป็นหัวไม้ที่เหลาปลายยื่นออกมาในท้องไม้ด้านล่าง รองรับชั้นบัวลูกแก้วหรือ“บัววลัย” (Bua Valai) โค้ง ซึ่งนิยมทั้งในอินเดียเหนือและอินเดียใต้ แบบเดียวอย่างชุดฐานวิหาร “พระมูลคันธกุฏี-วิหาร” (Mulgandha kuti – vihar) ที่สังฆารามสารนาถ ในศิลปะแบบปลายราชวงศ์คุปตะ ราวพุทธศตวรรษที่ 11-  12 และชุดฐานของมหาสถูปนาลันทา (Nalanda) ในรัฐพิหาร ในงานศิลปะแบบราชวงศ์ปาละ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-14 
ชุดลวดบัวของชั้นซ้อนในครั้งแรกสร้าง ทำเป็นฐานชุดหน้าบัวคว่ำ ท้องไม้ชั้นล่างทำเป็นรูปขื่อปลอม ถัดขึ้นมาเป็นชั้นบัววลัย หน้ากระดานท้องไม้แคบมีเสาแบ่งเป็นช่อง ๆ ทำเป็นลายตารางหมากรุกคล้ายหน้าต่าง ตามแบบสถูปคันธาระ – กุษาณะ สิ้นสุดที่ชั้นคานหลังคาปลอม (กโปตะ-Kapota) บัวเชิงรองรับผนังอาคารยกเก็จที่มีการประดับตกแต่งด้วยเสาอิงและซุ้มอาคารวิมาน ประดิษฐานประติมากรรมเช่นพระพุทธรูปยืนอยู่ภายในซุ้ม เหนือชั้นฐานยกเก็จประดับซุ้มอาจซ้อนด้วยเนินโดมอัญฑะหรือองค์ระฆังด้านบนทแต่ได้พังทลายลงมาทั้งหมดครับ  
*** จนถึงในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 ได้มีการต่อเติมชั้นฐานให้สูงขึ้นจนกลายเป็นกำแพงสูง ด้วยลวดบัววลัยขนาดใหญ่ (ทำหน้าที่บัวเชิงไปในตัว) ต่อด้วยชุดของหน้ากระดานที่มีเสาอิง (ติดผนัง) เรียบ ๆ ไม่มีลวดลาย รองรับชั้นคานหลังคาปลอม (กโปตะ) ปิดทับส่วนฐานของชั้นย่อเก็จชั้นแรกที่สร้างในยุคก่อนไปจนหมด แต่ยังคงรักษาบันได ทั้งยังมีการซ่อมแซมรูปดินเผาเดิม รวมทั้งปั้นเติมส่วนที่แตกหักออกไปใหม่ด้วย “ปูนปั้น” (Stucco figures) เป็นเรื่องราวชาดกในคติเถรวาท

*** ต่อมาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 13 - ต้นพุทธศตวรรษที่14 จึงมีการสร้างฐานประทักษิณขึ้นใหม่ ทำเป็นฐานยกเก็จ 8 กระเปาะ ที่บริเวณมุมและตรงกลาง ทับฐานจัตุรัสเดิมในยุคก่อนหน้าทั้งหมด ตามแบบความนิยมในยุคศิลปะทวารวดี ที่มีชุดของลวดบัววลัยในชั้นของลวดบัวหน้ากระดาน ขื่อปลอมที่จมลงไปในท้องไม้ สลับกับเสาติดผนังแบ่งเป็นช่องขนาดเล็กประดับรูปยักษ์แบก ทำให้ลานประทักษิณมีความสูงกลายเป็นฐานขนาดใหญ่ ที่มุมทั้ง 4 ด้าน ทำเป็นสถูปบริวาร
รูปประติมากรรมภายในซุ้มบัญชร อาจได้ถูกปรับเปลี่ยนจากพระพุทธรูปยืนปางวิตรรกะ (ที่นิยมในยุคก่อนหน้า) มาเป็นพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทแบบกรีก (ปรัมภปาทาสนะ) และพระพุทธรูปนาคปรก ตามแบบคติเถรวาทลังกา–อานธระในช่วงเวลานี้   
ต่อมาในยุควัฒนธรรมบายน – ขอมเจ้าพระยา ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ก็ยังพบหลักฐานการเข้ามาใช้ประโยชน์ที่เจดีย์จุลประโทนอีกครั้ง โดยพบรูปปูนปั้นประดับอาคารรูปบุคคล รวมทั้งพระพิมพ์อีกเป็นจำนวนมากครับ
*** ถ้าไม่นับพระปฐมเจดีย์ ที่ถูกสร้างครอบไว้จนยากจะรู้ว่า พระเจดีย์ใหญ่ที่อยู่ภายในนั้นมีความเก่าแก่ขนาดไหน จุลประโทนเจดีย์จึงนับว่าเป็นสถูปเจดีย์ในงานสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะคุปตะ-อานธระ ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ที่สร้างขึ้นครั้งแรกในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12 ครับ 
เครดิต FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.

วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564

ปางประทานอภัย

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
วันนี้ วันพระ 
“อภยะมุทรา” ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก 
“อภัยมุทรา-อภย (ะ) มุทรา” (Abhaya-mudrā) ปรากฏในงานพุทธศิลป์รูป “พระศากยมุนี” ครั้งแรก ในช่วงปลายสุดของราชวงศ์กุษาณะ (Kushana) แห่งมถุรา (Mathura) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 ซึ่งในยุคก่อนหน้านั้น การแสดงท่ากรีดนิ้วในพระหัตถ์ขวาที่แบบออกนี้จะหมายถึง “การเทศนาธรรม” (Teaching) เท่านั้น ต่อมานักบวชและช่างศิลปะในแคว้นคันธาราฐ – คันธาระ (Gandhara) ได้แยกออกเป็นมุทราเทศนาธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก โดยทำให้พระหัตถ์ทั้งสองมาประสานกันที่ใต้พระอุระ พระหัตถ์ขวาค่อมนิ้วพระหัตถ์ซ้ายที่หงายขึ้น นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือมาชนกัน (ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นธรรมจักรมุทราและวิตรรกะมุทรา) และได้ใช้รูปแบบพระหัตถ์ขวาที่ตั้งแบบออกที่เคยเป็นมุทราเทศนาธรรมเดิม กลายมาเป็นอภัยมุทราแทน
.
การเปลี่ยนแปลงรูปพุทธศิลป์ที่คันธาระ ได้ส่งต่อคติความนิยมมายังงานศิลปะแบบมถุรา จนเมื่อราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) เข้ายึดครองมถุราจากชาวกุษาณะได้ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 9 พุทธศิลป์ของของพระพุทธรูปปางอภัยมุทราในมถุราที่นิยมทำเป็นรูปประทับนั่ง ได้ถูกพัฒนารูปแบบจนกลายมาเป็นพระพุทธรูปยืน ยกพระหัตถ์ขวาตั้งแบออกครับ  
.
ความหมายเริ่มแรกของคติอภยมุทรา คือการสั่งสอนให้ “ไม่ต้องเกรงกลัวต่อภัยอันตราย” (อ – ภย) ไม่ได้มีความหมายถึงการให้อภัย ที่เกิดขึ้นจากการนำพุทธประวัติตอนต่าง ๆ มาใส่ความหมายให้กับพระพุทธรูป จนความหมายเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด เฉพาะของฝ่ายไทยในยุคหลัง 
.
คติอภัยมุทราในงานพุทธศิลป์โบราณของฝ่ายอินเดียและในวัฒนธรรมภารตะภิวัฒน์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมสร้างทั้งรูปยืนและนั่ง ยกพระหัตถ์แบออกด้านขวาด้านเดียว หรือยกขึ้นแบออกทั้งสองพระหัตถ์ในระดับพระอุระ ไม่เจาะจงว่าเป็นพุทธประวัติตอนใด พระหัตถ์ที่ยกขึ้นแบออก หมายถึงการห้ามมิให้เกิดภัย -ประทานความไม่เกิดภัย-ไม่ให้เกิดภัยร้าย-ประทานความไม่เกรงกลัว หรือประทานพระธรรมเพื่อให้ผู้สดับรู้ ไม่ต้องหวั่นไหวเกรงกลัวต่อทุกข์ ที่เป็นภัยร้ายที่สุดแห่งมนุษย์ครับ 
ประติมานในคติอภยมุทรา-ความไม่ต้องเกรงกลัวภัยร้ายในงานพุทธศิลป์ อาจได้สะท้อนถึงพุทธปรัชญา ที่สื่อถึงการเดินทางสู่พระนิพพานด้วยความไม่กลัวในทุกข์ หรือปราศจากความกลัวต่อความทุกข์นั่นเอง  
.
ในเวลาต่อมา ความนิยมพุทธศิลป์จากคติอภยมุทรา ได้ถูกแปรเปลี่ยนความหมายไปเป็น “การให้อภัย” หรือ “ปางประทานอภัย” ตามเสียง “อภย” โดยได้นำพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าทรงให้อภัยหรือยกโทษให้พระเจ้าอชาตศัตรูที่สารภาพบาปเพราะสำนึกผิดที่ได้กระทำปิตุฆาตพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดา เป็นพระพุทธรูปทั้งแบบประทับนั่งขัดสมาธิราบและยืน โดยกำหนดเป็นการยกฝ่าพระหัตถ์ แบหันออกเสมอพระอุระ ทั้งแบบพระหัตถ์ขวาแบออกเพียงฝั่งเดียวและสองพระหัตถ์ รวมทั้ง ปางห้ามพยาธิ ปางห้ามสมุทร ปางโปรดสัตว์ ปางห้ามพระญาติ ปางห้ามแก่นจันทน์ ที่ถูกกำหนดรูปพุทธศิลป์ขึ้นใหม่ ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา
.
พระพุทธยืนยกสองพระกรขึ้น แบฝ่าพระหัตถ์ออกตั้งตรง ในยุคก่อนปลายกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นพระพุทธรูปตามคติอภัยมุทราในความหมายของ การประทานพรมิให้กลัวภัยร้าย หรือความไม่เกรงกลัวภัยร้ายจากทุกข์ทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวข้องกับปางประทานอภัย ปางห้ามสมุทร ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคหลังที่เริ่มนิยมการสร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ตามพุทธประวัติของฝ่ายเถรวาทครับ
-----------------------------------------
*** ภาพพระพุทธรูปแสดงอภยมุทราในยุคแรก จัดแสดงในพิพิธภัณฑแห่งรัฐอุตตรประเทศ เมืองมถุรา ศิลปะแบบราชวงศ์กุษาณะ หมวดมถุรา อายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 9 – 10 เป็นรูปพุทธศิลป์ที่ยังคงรักษาขนบแบบแผนพระพุทธรูปตามแบบราชวงศ์กุษาณะยุคแรก ๆ ที่นิยมทำเป็นรูปประทับนั่ง แต่ได้ปรับท่ามือไปตามแบบศิลปะคันธาระและผสมผสานงานพุทธศิลป์แบบคุปตะแล้ว 
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ปูทอง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.

ปูทอง (สุวรรณกักกฏกชาดก)
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภหญิงชาวเมืองผู้ปกป้องสามีจากพวกโจรคนหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีบึงใหญ่ใกล้ป่าหิมพานต์อยู่บึงหนึ่ง ในบึงนั้นมีปูทองตัวขนาดเท่าลานนวดข้าวตัวหนึ่งอาศัยอยู่ มันสามารถจับช้างที่มาดื่มน้ำในบึงเป็นอาหารได้ ฝูงช้างเพราะกลัวปูทองนั่นเองจึงไม่กล้าลงดื่มน้ำในบึงนั้น
สมัยนั้น พระโพธิสัตว์ได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของช้างพังเชือกหนึ่ง เพื่อป้องกันอันตรายจากปูทอง ช้างพังนั้นได้หนีไปอยู่ที่ภูเขาลูกหนึ่ง จนพระโพธิสัตว์เติบโตมีช้างพังเชือกหนึ่งเป็นภรรยาแล้วถึงได้กลับมายังถิ่นที่อยู่เดิม
วันหนึ่ง ช้างโพธิสัตว์ได้เข้าไปพูดกับพญาช้างผู้เป็นบิดาว่า
" พ่อ ฉันจักจับปูทอง "
พญาช้างห้ามไว้ไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายทนคำอ้อนวอนของลูกช้างไม่ได้ก็ต้องใจอ่อน ช้างโพธิสัตว์ได้เรียกประชุมฝูงช้างแล้วเดินไปใกล้บึงนั้นถามว่า
" ท่านทั้งหลาย ปูทองจะจับช้างในเวลาลงไปหรือเวลาขึ้นจากน้ำ "
ได้ฟังว่าปูทองมักจะจับช้างในเวลาขึ้นจากน้ำเท่านั้น จึงบอกช้างทุกตัวลงไปในบึงดื่มน้ำให้อิ่มแล้วค่อยขึ้นมา ส่วนตนจะตามขึ้นมาทีหลัง ช้างทุกตัวได้ลงไปดื่มน้ำในบึงแบบกล้า ๆ กลัว ๆ
ขณะที่ช้างโพธิสัตว์กำลังจะขึ้นจากน้ำตามหลังฝูงช้างนั่นเองก็ถูกปูทองหนีบ ๒ เท้าหลังไว้แน่น ช้างพังผู้ภรรยาไม่ทอดทิ้งสามีได้ยืนดื่มน้ำอยู่เป็นเพื่อนใกล้ ๆ นั่นเอง ช้างโพธิสัตว์พยายามดึงปูทองแต่ปูก็ไม่ขยับเขยื้อน กลับถูกปูดึงไปไว้ตรงปากพร้อมที่จะกิน
ช้างโพธิสัตว์กลัวตายจึงร้องขึ้นสุดเสียงว่า " ข้าพเจ้าขึ้นไม่ได้ ติดก้ามปูแล้ว "
เท่านั้นเองฝูงช้างต่างร้องแตกตื่นวิ่งขี้เยี่ยวราดเข้าป่าไปอย่างรวดเร็ว ช้างพังผู้ภรรยาก็กลัวตายกำลังจะวิ่งหนีไปด้วยเช่นกัน ถูกสามีอ้อนวอนว่า
" น้องรัก ปูทองมีนัยน์ตายาว มีหนังเป็นกระดูก ไม่มีขน ได้หนีบพี่ไว้แล้ว น้องอย่าทิ้งพี่ไปนะ "
นางช้างจึงหันมาปลอบใจสามีว่า
" พี่ ฉันไม่ละทิ้งพี่ไปหรอก พี่มีกำลังมากกว่าใคร ๆต้องเอาชนะปูได้แน่ พี่เป็นที่รักของฉันยิ่งกว่าแผ่นดินแผ่นฟ้า "
แล้วหันมาพูดอ้อนวอนปูทองเป็นคาถาว่า
" ท่านเป็นสัตว์น้ำที่ประเสริฐกว่าปูทั้งหลายในสมุทร
ในแม่น้ำคงคา และในแม่น้ำยมุนา ขอท่านจงปล่อยสามีของฉันผู้ร้องไห้อยู่เถิด "
ปูทองได้ฟังนางช้างพังแล้วใจอ่อนยอมปล่อยเท้าช้างโพธิสัตว์ แต่หารู้ไม่ว่ากระดองของตนเองได้ถูกช้างโพธิสัตว์กระทืบจนพังทลายและเสียชีวิตไปเวลาต่อมา ช้างโพธิสัตว์ได้ลากปูทองขึ้นไปบนฝั่งเรียกฝูงช้างมาประชุมกันแล้วช่วยกันกระทืบปูทองจนละเอียดเป็นจุณในที่สุด
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : ภรรยาที่ดีควรอยู่เคียงข้างสามีจนตราบเท่าชีวิต ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ใด ๆก็ตาม
เครดิต ; www.dhammathai.org
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.......................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2564

ยักษ์แคระวัดมหาธาตุสุโขทัย

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ยักษ์แคระ-คุหยกะ” วัดมหาธาตุกรุงสุโขทัย  

รูปศิลปะงานปูนปั้น“คนแคระ-ยักษ์แคระ-คุหยกะ” (Dwarf Yaksa-Guhyaka) บริเวณรั้วกำแพงแก้วเตี้ย ๆ ล้อมพระเจดีย์พระมหาธรรมราชาลิไท (หรือ พระศรีสัทธาราชจุฬามุนีรัตนลังกาทีปมหาสามี ?) เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม ทางฝั่งทิศใต้ของวัดมหาธาตุสุโขทัย เป็นคติความเชื่อและงานศิลปะในช่วงวัฒนธรรมทางพุทธศาสนายุค “โปโลนนารุวะ” (Polonnaruwa) และ “คัมโปละ”  (Gampola) จากเกาะลังกา มาตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19  
.
ปกรณัมเริ่มแรกที่บอกเล่าเรื่องราวของ “ยักษ์แคระ” น่าจะเริ่มต้นตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 7 – 8 ในช่วงราชวงศ์คุปตะของอินเดียเหนือ โดยเล่าว่าคนแคระนั้นก็คือบริวารของเทพเจ้าฮินดูพระนามว่า “ท้าวกุเวร” (Kúbera) ราชาแห่งเหล่ายักษา ที่มีรูปร่างอวบอ้วนพุงพลุ้ย พระพักตร์กลม พระหัตถ์ถือผลมะนาวและพังพอน มักมีหม้อเงินหม้อทองอยู่ด้านข้างครับ 
.
ท้าวกุเวรเป็นเทพ “ทิศปาลกะ” (Dikpālas -Dikpālakas)  ผู้รักษาทิศเหนือ เล่ากันว่า เป็นราชาแห่งยักษ์ที่ได้บำเพ็ญตบะญาณเป็นเวลาหลายพันปี จนพระพรหมทรงเมตตาโปรดให้เป็นเทพแห่งความร่ำรวยมั่งคั่ง เป็นผู้รักษาครอบครองทรัพย์ทั้งมวล แต่ในคติทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน/วัชรยาน ท้าวกุเวรได้กลายมาเป็น “ชมภละ” (ชุมพล-Jumbhala) และ “ท้าวปัญจิกะยักษา” (Pañcika) ทำหน้าที่เป็นพระโพธิสัตว์ธรรมบาล คอยปราบปรามปีศาจและยักษ์มารต่าง ๆ ซึ่งเป็นศัตรูต่อพุทธศาสนา ต่อมาได้กลายมาเป็นพระโลกบาลมีชื่อว่า “เวสสุวัณ (เวสสุวรรณ)” “ท้าวไพศรพณ์” หรือ “ไวศรวัณ” (Vessavana-Vaiśravaṇa) ทำหน้าที่ปกป้องเขาพระสุเมรุทางทิศเหนือ และคอยเฝ้าดูแลทางเข้าสวรรค์ดินแดนสุขาวดี
.
ราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 วัฒนธรรมพุทธศาสนา“คณะมหาวิหาร” (Maha-vihāra) ยุค “อนุราธปุระ” (Anuradhapura) ในลังกา ได้นำเอารูปของท้าวกุเวร (จากฝ่ายฮินดู) และคนแคระ-คุหยกะผู้เป็นบริวาร มาใช้เป็น “พระทวารบาล” (Dvarapala The Guardian) ของศาสนสถาน โดยประดับรูปไว้ตรงปากบันไดหรือทับหลังประตู โดยมีนัยยะถึงการอำนวยพรโชคลาภสักการะ ความร่ำรวยและมั่งคั่งแก่สาธุชนที่มากระทำบุญแก่ศาสนสถาน โดยใช้รูปของท้าวกุเวร ถือมะนาวและพังพอนเป็นประธาน โดยได้สร้างรูปศิลปะของคนแคระ-คุหยกะ บุตรแห่งทางกุเวรขึ้น มีนามว่า “มหาปัทมนิธิ” (MahāpadmaNidhi) สวมหมวกทางดอกบัวอยู่ทางซ้าย และ “สังขนิธิ” (Śaṅkha Nidhi – นิธิแปลว่าทรัพย์สินเงินทอง) สวมหมวกหอยสังข์อยู่ทางด้านขวาครับ  
.
ต่อมาในช่วงวัฒนธรรมทางพุทธศาสนายุคโปโลนนารุวะ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 รูปศิลปะของท้าวกุเวรหมดความนิยมหายไป คงเหลือแต่รูปศิลปะของคุหยกะ-ยักษ์แคระผู้เป็นบุตรที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ทั้งสอง ถูกนำมาใช้เป็นพระทวารบาลประดับทางเข้าศาสนสถาน ทำหน้าที่ปกป้องและค้ำจุนพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังทำหน้าที่อวยพรโชคลาภสักการะ ความอุดมสมบูรณ์และความมั่งคั่งแก่ผู้มาบูชาศาสนสถาน แทนที่ท้าวกุเวร (ฮินดู) พระชมภละ (สรวาทสติวาท) และท้าวปัญจิกะ (มหายาน) 
.
ในคติลังกา คนแคระ-ยักษ์แคระ ผู้แบกยกในท่าร่าเริงสนุกสนาน นอกเหนือจากบริวารของท้าวกุเวร – ชมภละ แล้วคนแคระ-ยักษ์แคระ-คุหยกะทั้งหลายก็คือ “ผู้กระทำผิดบาปในชาติที่แล้ว” แต่ได้ปวรณาตนขอชดใช้บาปกรรมของตนด้วยความสำนึกและบริสุทธิ์ใจ จึงได้เกิดเป็นยักษ์แคระที่มีรูปร่างอ้วนไม่สวยงาม แต่ก็มากมีด้วยสมบัติ อาภรณ์และ “ความสุขสนุกสนาน” (รูปคนแคระใส่เครื่องประดับ - มีแต่รอยยิ้ม) คนแคระตามคตินี้ ได้ถูกนำมาใช้สร้างงานศิลปะแบกยก บนชุดลวดบัวของฐานศาสนสถาน อยู่เหนือรูปสิงห์และช้าง หรือขั้นบันไดทางขึ้นครับ
.
---------------------
*** รูปศิลปะและคติยักษ์แคระผู้ชดใช้บาปจากยุคโปโลนนารุวะจนถึงยุคคัมโปละในลังกาได้ส่งอิทธิพลเข้ามายังกรุงสุโขทัยในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ตามร่องรอยหลักฐานที่ “พระศรีสัทธาราชจุฬามุนีรัตนลังกาทีปมหาสามี” (หลวงพ่อศรีศรัทธาราชจุฬามุนี) และคณะพระสงฆ์จากหลายแคว้นทางเหนือ ได้ร่วมกันเดินทางไปจาริกแสวงบุญที่เกาะลังกา และได้นำช่างลังกากลับมายังกรุงสุโขทัย  
.
ศิลปะ “ยักษ์แคระผู้ชดใช้บาปกรรมด้วยการแบก” ในคติลังกา คงพบเห็นได้เฉพาะที่ผนังกำแพงแก้ว กลุ่มเจดีย์ด้านทิศใต้ของวัดมหาธาตุสุโขทัย (ที่ควรเป็นเจดีย์ของมหาเถระศรีศรัทธาฯ มากกว่า) สลับกับรูปช้างและสิงห์ในท่าทางที่แปลกตา แต่ยังคงเค้ากลิ่นอายของศิลปะลังกาผสมผสานศิลปะสุโขทัยพื้นถิ่นในอดีต ที่ยังรักษา “ขนบแบบแผนเก่าแก่” ด้วยอาการแบกยกที่มีรอยยิ้มสนุกสนาน (เพราะได้ทำความดีชดใช้กรรม) หันหน้าไปเล่นกับเพื่อนคนแคระด้านข้างแล้ว ยังแต่งอาภรณ์ประดับประดา แต่ยังถูกพันเชือกรัดพันธนาการด้วยเพราะเป็น “ผู้ถูกลงทัณฑ์” ให้ชดใช้บาปกรรม
.
*** คงเหลือร่องรอยความสัมพันธ์ สุโขทัย-ลังกา ในงานศิลปะจากโลกยุคโบราณมาจนถึงในปัจจุบัน เพียงแห่งเดียวที่วัดมหาธาตุสุโขทัยนี้ครับ 
เครดิต; FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


เขาพระนารายณ์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“เขาพระนารายณ์-เขาศรีวิชัย” เขาศักดิ์สิทธิ์แห่งศรีโพธิ-ศรีวิชัย
เมื่อผู้คนหลากหลายจากแผ่นดินโพ้นทะเลเดินทางข้ามมหาสมุทรอินเดียมายัง “อินเดียน้อย” ดินแดน “คาบสมุทรมาลายู” (Malay Peninsula) “สุวรรณทวีป” (Suvarṇadvīpa) และ “ยวาทวีป” (Yavadvīpa) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามกระบวนการ “อินเดีย-ภารตะภิวัฒน์” (Indianization) ได้เรียกขานชื่อนามดินแดนนี้ว่า “ไครเส เคอโซเนอโซส” (Chrysḗ Chersónēsos - Chryse Chersonese) ในภาษากรีก ที่หมายถึง “ดินแดนแห่งทองคำทางตะวันออก” และชื่อนาม “สุวรรณภูมิ” (Suvaṇṇabhūmi)  หรือ “สุวรรณทวีป” (Suvarṇadvīpa ) จากคัมภีร์ปุราณะหลายฉบับของฮินดู มหากาพย์รามายณะ คัมภีร์ของศาสนาเชน วรรณกรรมในพุทธศาสนาเรื่อง มิลินทปัญหาและพระมหาชนกชาดก 
.
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 8 – 9 ยุค “ราชวงศ์อิกษวากุ” (Ikshvaku Dynasty) ผู้ปกครองแคว้น “อานธระประเทศ” (Andhra pradesh)  อินเดียใต้ตอนบน ได้ส่งเสริมให้มีการค้าทางทะเล เดินทางข้ามมายังสุวรรณทวีป เพื่อการแลกเปลี่ยนสินค้า นำเข้าทรัพยากรและความมั่งคั่งจากสุวรรณทวีปกลับมาสู่แผ่นดินแม่ เหล่านักสำรวจและพ่อค้าวาณิชผู้เชี่ยวชาญ อาจได้ค้นพบเส้นข้ามคาบสมุทรที่เหมาะสมกับอิทธิพลของกลุ่มการค้าราชสำนักอิกษวากุเป็นครั้งแรก ๆ จากเมืองท่าสถานีการค้าชายฝั่งทะเลอันดามันที่เกาะพระทอง หรือ “ตักโกลา” (Takola) ชื่อนามแรกของเมืองท่าสุวรรณภูมิ-ไครเส เคอโซเนอโซส  ในจดหมายเหตุภูมิศาสตร์ของ “คลอดิอุส ปโตเลมี” (Claudius Ptolemy’s Geography) ที่เขียนขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 8 และนามกลุ่มนคร “เมวิลิมบันกัม” (MeviỊmbaṅgam) ที่ปรากฏนามใน "จารึกตัณจาวูร์" (Thanjavur Inscription) ครับ
.
“เส้นทางข้ามคาบสมุทรเขาสก” ข้ามสันปันน้ำเข้าสู่คลองพระแสง ลำน้ำพุมตวง ลงไปสู่เครือข่ายทางน้ำปากแม่น้ำตาปี-ลำน้ำพุนพิน ลงสู่อ่าวบ้านดอน ที่อาจหมายถึงกลุ่มนคร “ศรีวิชัย” (Śri-Vijaya - Shih-li-fo-shih) ที่ปรากฏนามในจารึกตัณจาวูร์ และ ศรีวิชัยในจารึกเสมาเมือง (หลักที่ 23) จึงได้กลายมาเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่ได้รับความนิยม เพราะมีระยะทางข้ามไปสู่อ่าวบ้านดอนไม่ไกลนักและเดินทางสะดวกกว่าเมื่อเทียบกับเส้นทางอื่น ๆ 
.
ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 9 ได้เริ่มมีการนำรูปประติมากรรมในคติความเชื่อทางศาสนายุคแรก ๆ  จากอานธระประเทศ ขนย้ายติดตัวเข้ามาบนคาบสมุทรเป็นช่วงแรก เป็นรูปประติมากรรมพระวาสุเทพกฤษณะในนิกายภาควัต ลัทธิไวษณพ ที่นิยมในราชวงศ์คุปตะ มาจนถึงในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 10 เมื่อ “ราชวงศ์ปัลลวะ” (Pallava Dynasty)  เข้าปกครองแคว้นอานธระประเทศ ก็ยังคงดำเนินนโนบายการค้าทางทะเลเชื่อมโยงโลกให้กว้างไกลขึ้นกว่าแต่ก่อน การค้าทางทะเลขยายตัวลึกเข้ามาภายในภูมิภาคไกลออกไปมากขึ้นกว่าเดิม เกิดเส้นทางการค้าและเมืองเริ่มแรกที่เคยเป็นชุมทางการค้า/ตลาดบนเส้นทางบก ในช่วงนี้ได้มีการนำรูปประติมากรรมพระวิษณุตามคติไวษณพนิกาย เข้ามาสู่สุวรรณภูมิเป็นครั้งแรก ๆ ครับ 
.
อิทธิพลการค้าตามเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากตักโกลา-เขาสก-บ้านดอน คติฮินดูทั้งไวษณพนิกาย(Vaishnavism –Vishnuism) และความเชื่อเรื่องเขาไกรลาสขององค์พระศิวะของฝ่ายไศวะนิกาย (Shaivism) ที่กำลังได้รับความนิยมในยุคแรกของราชวงศ์ปัลลวะ-อินเดียใต้ ผู้คนและนักบวชบนเส้นทางข้ามคาบสมุทรจึงได้เลือกภูเขาโดดลูกหนึ่งที่ยาวขนานไปตามลำน้ำพุนพิน เป็นภูเขาลูกสุดท้ายทางตะวันออกที่ตั้งอยู่ใกล้กับแนวชายฝั่งมากที่สุด มีความสูงพอจะเป็น “จุดสังเกตสำคัญ” (Land Mark) บนเส้นทางการค้าที่สามารถมองเห็นได้จากระยะไกลเมื่อเดินทางล่องเข้ามาจากชายฝั่งอ่าวบ้านดอนในยุคโบราณ 
.
ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 11 จึงได้เริ่มมีการสร้างเทวาลัยในคติฮินดูไศวะนิกายบนแนวสันเขาศรีวิชัยขึ้นเป็นครั้งแรกบริเวณโบราณสถานหมายเลข 1 (ทางตะวันตกสุด) หมายเลข 2 (ตะพักเนินถัดขึ้นมา) และโบราณสถานหมายเลข 3 ดังปรากฏร่องรอยของการใช้หินสลักเป็นกรอบวงกบประตูและส่วนรับน้ำหนัก รูปประติมากรรมฐานโยนี-ศิวลึงค์ และเตาอิฐรูปวงกลมเพื่อการบูชาไฟศักดิ์สิทธิ์ของนักบวชพราหมณ์ครับ
.
ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ราชสำนักของพระเจ้านรสิงหวรมันที่ 1 (Narasimhavarman 1) แห่งราชวงศ์ ปัลลวะหันมาให้ความนิยมในคติไวษณพนิกาย ภายหลังจากที่พระองค์ได้รับชัยชนะเหนืออาณาจักรจาลุกยะ (Chalukya) ในช่วงใกล้เคียงกันนี้ จึงอาจได้มีการสร้างเทวาลัยเพิ่มขึ้นบนสันเขาศรีวิชัย (ซึ่งอาจเป็นโบราณสถานหมายเลข 6 และ หมายเลข 17) เพื่อประดิษฐานรูปพระวิษณุจตุรภุช 4 พระกร สวมหมวกกระบอกกิรีฏมุกุฎไม่มีลวดลาย นุ่งผ้าโธฏียาวและคาดผ้ากฏิสูตรเป็นเส้นตรงและเส้นเฉียงตัด และรูปประติมากรรมตามแบบศิลปะราชวงศ์ปัลลวะขึ้นจำนวนหนึ่ง
.
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 อิทธิพลของงานพุทธศิลป์ตามคติความเชื่อของนิกายมหายาน  (Mahāyāna Buddhism) จากราชวงศ์จาลุกยะ (Early Chalukya Dynasty) ในแคว้นอานธระประเทศ  พุทธศาสนาในนิกาย “วัชรยาน” (Vajrayāna) “มหายานตันตระ” (Mahāyāna –Tantra)  รวมทั้งอิทธิพลทางการเมือง-การค้าเศรษฐกิจของ “ราชวงศ์ปาละ”  (Pala Dynasty) ในแคว้นพิหาร – เบงกอล (อินเดียเหนือ-ตะวันออก) ได้เข้ามาสู่ภูมิภาคคาบสมุทรยวาทวีปอย่างสมบูรณ์ ขยายอิทธิพลทางการเมืองและคติความเชื่อลงมายังหมู่เกาะทางใต้จากสุมาตราไปจนถึงเกาะชวา ที่เคยอยู่ในอิทธิพลของกลุ่มราชวงศ์สัญชัย (Sanjaya) ที่นิยมคติฮินดูในยุคก่อนหน้า เกิดเป็นกลุ่มนครรัฐศรีวิชัย–ศรีโพธิ์ขึ้นครั้งแรก ตามเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรเขาสกที่สถานีการค้าในกลุ่มอ่าวบ้านดอน ภายใต้การปกครองของ “ราชวงศ์ไศเลนทรา”  (Śailendra Dynasty) ดังที่ปรากฏพระนาม “...พระเจ้าศรีมหาราชา ....พระราชาผู้เป็นเจ้าแห่งกรุงศรีวิชัย ผู้อยู่เหนือเหล่าพระราชาของแคว้นโดยรอบทั้งหมดบนพื้นพิภพ...” ในจารึกเสมาเมืองช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 14 ครับ
.
------------------------------
*** ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา ความนิยมในคติฮินดูบนเส้นทางข้ามคาบสมุทรเขาสกคงได้ลดน้อยลง คติมหายาน-วัชรยานและงานศิลปะทางความเชื่อจากกลุ่มอำนาจราชวงศ์ปาละ – ศรีวิชัย ได้เข้ามาควบคุมเส้นทางข้ามคาบสมุทรทั้งหมด ในช่วงนี้คงได้มีการสร้างหมู่พระอาราม-สังฆารามขึ้นบนสันเขาศรีวิชัยอีกหลายแห่ง โดยเริ่มต้นจากโบราณสถานหมายเลข 4 และ 5 บนยอดเขา ในคติความหมาย “เขาพระสุเมรุ” ที่สถิตของพระพุทธเจ้ามหาไวโรจนะ (Mahāvairocana)  ศูนย์กลางของมณฑลจักรวาลมันดารา-มัณฑละ (Mandala Universe) หรือ “พุทธเกษตร” (Buddha Kaset) ตามคติของฝ่ายมหายานแทนที่คติเขาไกรลาสของฝ่ายฮินดูเดิม มีการสร้างจันทิ (Candi) หรือ “กุฎี” รูปทรงปราสาทหลังเดี่ยว แผนผังรูปกากบาท ตั้งบนฐานประทักษิณแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส เรือนธาตุเป็นมีผังรูปกล่องสี่เหลี่ยม (Cella) ขนาดไม่ใหญ่นัก ก่อด้วยอิฐ ตามสถาปัตยกรรมนิยมของราชวงศ์ไศเลนทราขึ้นหลายแห่ง   
.
ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14  จึงได้มีการสร้างจันทิทรงปราสาทก่ออิฐขนาดใหญ่ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีมุขยื่นออกมาทำเป็นบันไดทางขึ้นที่ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเพียงด้านเดียว (โบราณสถานหมายเลข 7 ) ที่บริเวณสันเขาทางเหนือสุด มีอาคารมุงเครื่องไม้ล้อมรอบ ทำบันไดตรงบริเวณชั้นตระพักเชื่อมต่อลงไปยังลานกลุ่มอาคารสังฆารามหน้าเขา (โบราณสถานหมายเลข 20 – 21) ครับ
.
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 – 15 ศูนย์กลางราชสำนักไศเลนทราเริ่มย้ายไปอยู่บนเกาะชวา การค้าทางทะเลได้เปลี่ยนไปยังช่องแคบมะละกา เส้นทางข้ามคาบสมุทรทางบกเริ่มลดความนิยมลง แต่ก็ปรากฏการสร้างอาคารศาสนสถานขนาดเล็กเพิ่มขึ้นที่เชิงเขาด้านตะวันตก (โบราณสถานหมายเลข 12 และ 13)  และกลุ่มเชิงเขาทางตะวันออก (โบราณสถานหมายเลข 15 16 และ 18) ตามความนิยมในคติวัชรยาน-ตันตระ
.
--------------------------- 
*** ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ราชสำนักไศเลนทราคงได้ย้ายศูนย์กลางอำนาจกลับจากเกาะชวามาที่เมือง “คาฑารัม” (Kaḍarām) หรือเมืองเกดะห์-เคด้าห์ ในประเทศมาเลเซียเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนถูกโจมตีและทำลายโดยกองทัพเรือของพระเจ้าราเชนทราที่ 1 (Rājendra) แห่งจักรวรรดิโจฬะ (Chola Empire) ในช่วงปี พ.ศ.1568 ตามข้อความที่ปรากฏในจารึกตัณจาวูร์ นำไปสู่การสิ้นสุดของราชวงศ์ไศเลนทราที่นิยมในนิกายวัชรยาน  พร้อมกับเมืองศรีโพธิ์-ศรีวิชัย กลุ่มชนในเขตอ่าวบ้านดอนและเขาศรีวิชัยก็คงได้ถูกเซตซีโร่ด้วยการทำลายล้างจนยับเยิน ดังปรากฏร่องรอยของซากศาสนสถานในสภาพถูกทำลายอย่างยับเยินและร่องรอยการถูกทิ้งร้างที่ยาวนาน ชุมชนบนเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรเขาสกได้ยุติลงอย่างถาวรครับ
.
“.. ทรงพิชิตประตูอัญมณีแห่งนครศรีวิชัย ที่ประดับดาประดาด้วยอัญมณีอันงดงามตระการตา....”    
.
 -------------------------- 
*** เขาพระนารายณ์ หรือ เขาศรีวิชัย ตั้งอยู่ในเขตหมู่ 1 บ้านหัวเขา ตำบลศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีลักษณะเป็นภูเขาลูกโดด มีระดับความสูงจากพื้นราบประมาณ 30 เมตร กว้าง 100 เมตร ยาว 650 เมตร ทอดตัวตามแนวทิศเหนือเฉียงตะวันออก-ทิศใต้เฉียงตะวันตก มีคลองพุนพินขนานอยู่ทางด้านตะวันออก ไหลลงสู่อ่าวไทยที่อ่าวบ้านดอนระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร พื้นที่บนเขาศรีวิชัยในปัจจุบันเป็นป่าโปร่ง มีต้นงิ้ว ขี้เหล็ก ขี้แรด โมกมัน ยางนา ตะแบกและไผ่ เป็นพืชพรรณท้องถิ่นของภาคใต้ ชาวบ้านในชุมชนโดยรอบนิยมขึ้นไปเก็บสมุนไพรบนเขาศรีวิชัยเพื่อมาทำเป็นยารักษาโรค ส่วนพื้นที่บริเวณโดยรอบเขา ชุมชนนิยมปลูกพืชทางเศรษฐกิจ ทั้ง ปาล์มน้ามัน ยางพาราและมะพร้าว นอกนั้นเป็นไม้ผล เช่นกล้วยและทุเรียน
.
*** เขาศรีวิชัยปรากฏซากโบราณสถานในคติความเชื่อฮินดู พุทธมหายานและวัชรยานบนแนวสันเขา 8 กลุ่ม เชิงเขาด้านทิศตะวันออก 3 กลุ่ม และเชิงเขาด้านทิศตะวันตก 8 กลุ่ม มีอายุการก่อสร้างและศิลปะมาตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 11 มาสิ้นสุดที่ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ครับ
เครดิต ;
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ละโว้

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พิชิตละโว้และยึดครองแดนตะวันตก ในจารึก “ศรีลักษมีปติวรมัน”
ในปี พ.ศ. 2537 จารึกสำคัญหลักหนึ่งสลักขึ้นจากหินทรายเป็นแผ่นกว้าง มีความสูงประมาณ 150 เซนติเมตร ได้ถูกโจรกรรม ขนย้ายมายังชายแดนเพื่อส่งเข้ามายังประเทศไทยตรงด่านช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ แต่ถูกตำรวจกัมพูชาจับได้ที่ด่านโอเสม็ด จังหวัดอุดดอเมียนเจย ถูกกำหนดทะเบียนให้เป็นจารึกโอเสม็ด (O Smach Inscription)  K.1198  หรือ Ka.18 ปรากฏข้อความจำนวน 2 ด้าน ด้าน A  มี 59 บรรทัด ด้าน B มี 57 บรรทัด จารึกเป็นอักษรเขมรโบราณ ภาษาเขมรโบราณและสันสกฤต 
.
จารึกถูกทำขึ้นโดย “มรตาญศรีวีเรนทรวัลลภะ” กล่าวถึงเรื่องราวในระหว่างปี พ.ศ. 1552 – 1557 ของบิดา ท่าน “ศรีลักษมีปติวรมัน” (Śrī   lakṣmīpativarmmaṇā) ขุนศึกคนสำคัญของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 (Suryavarman I) โดยในหน้า A  นั้น มีกรอบหน้าบรรพสามเหลี่ยมด้านบน สลักเป็นรูปพระศิวะถือตรีศูลทรงโคนนทิ ประกอบรูปพระทวารบาลถือพระขรรค์ ขนาบข้างด้วยรูปพระพรหมและพระวิษณุทรงครุฑ ริมสุดด้านซ้ายเป็นพระสูริยะทรงราชรถ ด้านขวาสุดเป็นรูปพระจันทราเทพครับ   
.
ด้านล่างเป็นข้อความจารึก 3 บรรทัดแรกเป็นภาษาเขมรโบราณ กล่าว่าถึง.มหาศักราช 931 (พ.ศ.1552) สิทฺธิ สวสฺติ ชย ไอศูรฺยฺย มีลาภ ตราบเท่าที่ยังมีพระจันทร์และพระอาทิตย์ยังคงส่องสว่าง จากนั้นกล่าวถึงการบูชารูปเคารพสำคัญของสายตระกูลท่านศรีลักษมีปติวรมัน เริ่มจากพระกัมรเตงอัญศรีลักษมิปติวรเมศวร พระกัมรเตงอัญศรีลักษมิปติวรมสวามี พระกัมรเตงอัญศรีลักษมิปติวรไมกนาถ พระกัมรเตงอัญศรีลักษมิปติวรเมศวร พระกัมรเตงอัญศรีลักษมิปติวรมชนนี พระกัมรเตงอัญเคารีปตีศวร พระกัมรเตงอัญนารตเกศวร 
.
บรรทัดที่ 4-19 เป็นภาษาสันสกฤต แต่งเป็นฉันทลักษณ์-โศลก กล่าวบูชาพระศิวะ พระวิษณุ และพระนางลักษมี เกียรติยศอันยิ่งใหญ่แห่งพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 บรรทัดที่ 20 กล่าวถึงเรื่องราวของท่านศรีลักษมีปติวรมัน โดยในบรรทัดที่ 23-24 กล่าวว่า
“...นักรบ (ผู้เก่งกล้า) คนนี้ได้รับพระราชโองการจากกษัตริย์ (พระเจ้าสูริยวรมันที่ 1) ให้เข้าปกครองพวกรามัญ (Rāmaṇya) ที่อาศัยอยู่ทางตะวันตก....ท่านขุนศึกได้ใช้ยุทธวิธีอันชาญฉลาด เข้าปราบปรามและยึดครองตามพระราชประสงค์เป็นผลสำเร็จ ได้รับผลประโยชน์กลับมาเป็นจำนวนมาก...”
.
บรรทัดที่ 28 “ ...ท่านได้สร้างอาศรม สร้างปราสาท สร้างรูปเคารพต่าง ๆ ไว้ที่ “ปฤถุปรฺวต” หรือ “ปฤถุบรรพต” ... (อาจหมายถึงปรางค์น้อย บนเขาพนมรุ้ง)  
.
บรรทัดที่ 37 – 38 เป็นภาษาเขมรโบราณ กล่าวว่า “...ลวะปุระ (lavapūr) เกิดกลียุค (Kaliyuga) บ้านเมืองถูกทำลายจนสูญเสียความงดงามไปทั้งหมด กลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าดุร้ายเช่นเสือ และยังน่าสะพรึงกลัวดุจป่าช้า  กษัตริย์จึงมีพระราชโองการให้ท่านศรีลักษมีปติวรมัน เข้าไปฟื้นฟูดินแดน-วิษัย (Viṣaya) ทางตะวันตก ที่ถูกทอดทิ้งและเสื่อมโทรมจนกลายเป็นป่ารกชัฏมาเป็นเวลายาวนานในช่วงกลียุค ..เมื่อก่อนเป็นอย่างไรก็ให้ทำเต็มที่ เพื่อให้กลับมาสู่ความเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง....”
.
บรรทัดที่ 39-59  กล่าวถึงรายชื่อข้าทาสชายหญิงและทรัพย์สมบัติ ที่ถวายกัลปนาแด่เทพเจ้า
.
*** ส่วนด้าน B นั้น เป็นเรื่องราวของท่านศรีลักมีปติวรมัน ในช่วงตั้งแต่มหาศักราช 931 หรือ พ.ศ.1552 ไปจนถึง พ.ศ. 1557  (ปีที่ทำจารึก) ครับ
.
--------------------------
*** จารึกศรีลักษมีปติวรมัน หรือ K.1198 เป็นร่องรอยหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นกระบวนการเข้ายึดครองเมืองละโว้ (ลวปุระ) และการเข้าครอบครองดินแดนของชาวรามัญในเขตเจ้าพระยาตะวันตก ในวัฒนธรรมทวารวดีเดิมเป็นครั้งแรกโดยพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 ที่ต่อเนื่องมาจากการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างพระองค์กับพระเจ้าชัยวีรวรมัน กษัตริย์องค์เดิมของอาณาจักร มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1545 พระองค์สามารถเข้ายึดครองเมืองพระนครศรียโสธระปุระไว้ได้ในปี พ.ศ. 1549  ซึ่งพระเจ้าชัยวีรวรมันได้ถอยร่นผู้คนในการปกครองขึ้นมาทางพระตะบองเข้ามาตั้งมั่นในเขตทางเหนือ ในดินแดนติดกับวิมายปุระและลวะปุระได้ในระยะหนึ่ง  จนพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 ได้นำกองทัพติดตามขึ้นมาไล่บดขยี้เสี้ยนหนามในราชสมบัติของพระองค์ และขยายอิทธิพลต่อเข้ามาจนถึงเมืองลวปุระได้ในอีก 8 ปีต่อมา ซึ่งเหตุการณ์สงครามระหว่างพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 กับพระเจ้าชัยวีรวรมัน อาจเป็นเหตุให้เมืองลวปุระ-ละโว้ ตกอยู่ในสภาพเสียหายทรุดโทรมในกลียุค (ของการสงคราม) อย่างที่ถูกกล่าวถึงในจารึก
.
ซึ่งในช่วงของชัยชนะ พระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 ยังได้ส่งท่านศรีลักษมีปติวรมัน ขุนศึกของพระองค์ นำกองทัพเข้ายึดครองดินแดนตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (อาจมาจนถึงเมืองนครปฐม – อู่ทอง) ที่เป็นกลุ่มชนรามัญในวัฒนธรรมทวารวดีไปพร้อมกันครับ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564

นกกระจาบเจ้าปัญญา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.

นกกระจาบเจ้าปัญญา (วัฏฏกชาดก)
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภบุตรของอุตตรเศรษฐี ผู้ออกบวชเพราะเห็นความทุกข์และโทษของการครองเรือน ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกกระจาบ วันหนึ่งออกไปหากินได้ติดข่ายของนายพราน ในขณะที่ถูกจับขังไว้ที่บ้านเพื่อขาย จึงคิดหาวิธีเอาชีวิตรอดได้อย่างหนึ่งว่า
" ถ้าเรากินอาหาร เราก็จะถูกขาย ถ้าเราไม่กินอาหาร ก็คงซูบซอม คนก็จะไม่ซื้อเรา เราก็จะปลอดภัย "
แต่นั้นมาก็ไม่กินอาหาร นกกระจาบนั้น จึงซูบผอมมีแต่หนังหุ้มกระดูก ผู้คนก็จะไม่ซื้อไปเป็นอาหาร นายพราน พอเหลือเพียงนกกระจาบโพธิสัตว์ตัวเดียว ก็จับมันออกมาจากกรง ดูว่ามันเป็นอะไรพอนายพรานเผลอเท่านั้น นกกระจาบก็บินหนีกลับไปที่อยู่ของตน เมื่อฝูงนกกระจาบซักถาม ก็ได้บอกเรื่องราวให้ทราบ แล้วกล่าวคาถาว่า
" คนเมื่อไม่คิดก็ไม่ได้บรรลุคุณธรรมพิเศษ ท่านจงดูผลอุบายที่เราคิดแล้ว
เราพ้นจากการถูกฆ่าและจองจำ ก็ด้วยอุบายนั้น "
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : เกิดเป็นคนควรคิดแต่สิ่งที่ดีไว้ สามารถเอาตัวรอดในยามคับขันได้
เครดิต ; www.dhammathai.org
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไก่ขันไม่เป็นเวลา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.

ไก่ขันไม่เป็นเวลา (อกาลราวิชาดก)
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้ท่องบ่นไม่เป็นเวลารูปหนึ่ง สร้างความรำคาญและความเดือดร้อนแก่หมู่ภิกษุ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ บอกศิลปะแก่มานพประมาณ ๕๐๐ คน พวกมานพอาศัยไก่ขันยามตัวหนึ่ง ในการลุกขึ้นศึกษาศิลปะ ต่อมามันได้ตายไป พวกเขาจึงแสวงหาไก่ตัวอื่นแทนมัน
วันหนึ่ง มีมานพคนหนึ่งเข้าไปหักฟืนในป่า ได้ไก่ป่าตัวหนึ่งมาเลี้ยงไว้ ไก่ตัวนี้ไม่รู้จักเวลาขัน เพราะเติบโตขึ้นในป่า บางวันก็ขันดึกเกินไป บางวันก็ขันอรุณขึ้น พวกมานพพากันตื่นมาศึกษาศิลปะในเวลาดึกเกินไป ไม่อาจศึกษาได้จนอรุณขึ้น ก็พากันนอนหลับไป ในเวลาสว่างแล้วก็ไม่ได้ท่องบ่นเลย
พวกเขาจึงพากันพูดว่า " เดี๋ยวมันขันดึกไป เดี๋ยวมันขันสายไป อาศัยไก่ตัวนี้ พวกเราคงศึกษาศิลปะไม่สำเร็จหรอก " จึงนำมันไปแกงเป็นอาหารแล้วบอกเรื่องนั้นแก่อาจารย์
อาจารย์จึงกล่าวคาถาว่า
" ไก่ตัวนี้ ไม่ได้เติบโตอยู่กับพ่อแม่
ไม่ได้อยู่ศึกษาในสำนักอาจารย์
จึงไม่รู้เวลาที่ควรขันและไม่ควรขัน "
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : เกิดเป็นคนต้องรู้จักเวลาที่เหมาะสมว่า อะไรควรไม่ควร
เครดิต ; www.dhammathai.org
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


หนูถูกหลอก

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.

หนูถูกหลอก (มูสิชาดก)
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้หลอกลวงรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นหนู มีตัวโตขนาดลูกหมู มีบริวาร ๕๐๐ ตัว อาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง มีหมาจิ้งจอกตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ใกล้กับที่อยู่ของหนู คิดจะลวงกินหนู ในวันหนึ่ง มันจึงทำทียืนด้วยขาข้างเดียว อ้าปาก แหงนมอง จ้องดูดวงอาทิตย์อยู่
หนูพระโพธิสัตว์ เห็นมันแล้วคิดว่า " หมาจิ้งจอกตัวนี้คงจะเป็นผู้ทรงศีล " จึงเดินเข้าไปใกล้ไต่ถามดูว่า
"ท่านชื่ออะไร ? "
หมาจิ้งจอกตอบว่า " เราชื่อธรรมิกะ (ผู้ทรงธรรม)"
หนู " ทำไมท่านยืนเท้าเดียว ไม่ยืนทั้ง ๔ เท้า ? "
หมาจิ้งจอก " ถ้าเรายืน ๔ เท้า แผ่นดินจะไหว จึงยืนเท้าเดียว "
หนู " ทำไมท่านยืนอ้าปาก ? "
หมาจิ้งจอก " เราไม่กินอย่างอื่น กินลมเป็นอาหาร"
หนู " ทำไมท่านจ้องดูดวงอาทิตย์ ? "
หมาจิ้งจอก " เรานอบน้อมพระอาทิตย์ "
หนูเชื่อว่าหมาจิ้งจอกว่าเป็นผู้ทรงศีล จึงพากันบำรุงมันอยู่ ฝ่ายหมาจิ้งจอกก็จับหนูตัวสุดท้ายกินเป็นอาหารทุกวัน กินเสร็จก็เช็ดปากยืนต่อ เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนหนูลดน้อยลง
วันหนึ่ง หนูโพธิสัตว์คิดจะตรวจดูว่าหนูบริวารหายไปไหน จึงไปบำรุงหมาจิ้งจอกเป็นตัวสุดท้าย พอได้โอกาสหมาจิ้งจอกก็จับหนูโพธิสัตว์ไว้เพื่อจะกิน หนูรู้เรื่องราวทั้งปวง จึงกล่าวคาถาว่า
" ผู้ใด กล่าวเชิดชูธรรมให้เป็นธงชัย
ล่อลวง ให้สัตว์ทั้งหลายตายใจแล้วซ่อนตนประพฤติชั่ว
ความประพฤติของผู้นั้น ชื่อว่า เป็นความประพฤติของแมว "
หนูพูดพลางก็กระโดดเกาะคอหมาจิ้งจอกกัดที่ซอกคอมันตายทันที ฝูงหนูได้กลับมากัดกินหมาจิ้งจอกเป็นอาหาร และอยู่สุขสบายสืบมา
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : เล่ห์เหลี่ยมของคนมีมาก ก่อนจะเชื่อใครควรศึกษาให้ถ่องแท้
เครดิต ; www.dhammathai.org
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ฤๅษีกินเฮี้ย

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.

ฤาษีกินเหี้ย (โคธชาดก)
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้หลอกลวงรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีดาบสผู้มีตบะกล้าตนหนึ่ง เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้าน จึงได้สร้างศาลาไว้ให้ที่ชายป่าแห่งหนึ่งใกล้บ้าน ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นเหี้ยตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ที่จอมปลวกแห่งหนึ่ง ใกล้ที่จงกรมของดาบสนั้น มันจะไปหาดาบสวันละสามครั้งเป็นประจำทุกวัน เพื่อฟังธรรม ไหว้ดาบสแล้ว จึงกลับไปอยู่ที่อยู่ของตน
ต่อมาไม่นาน ดาบสนั้น ได้อำลาชาวบ้านไปที่อื่น ได้มีดาบสโกงตนหนึ่ง เข้ามาอาศัยในศาลานั้นแทน เหี้ยพระโพธิสัตว์ก็คิดว่า แม้ท่านผู้นี้ก็ทรงศีลเหมือนกัน จึงไปหาดาบสนั้นเช่นเดิม
อยู่มาวันหนึ่ง ฝนได้ตกมาในฤดูแล้ง ฝูงแมลงเม่าได้พากันบินออกจากจอมปลวกเป็นจำนวนมาก ฝูงเหี้ยก็ได้ออกมากินแมลงเม่าเหล่านั้น พวกชาวบ้านพากันออกมาจับเหี้ยแล้วปรุงเป็นอาหาร รสอร่อยนำมาถวายดาบส ดาบสได้ฉันเนื้อนั้นแล้วติดใจในรส เมื่อทราบว่าเป็นเนื้อเหี้ย จึงคิดได้ว่า
" มีเหี้ยใหญ่ตัวหนึ่งมาหาเราเป็นประจำ เราจะฆ่ามันกินเนื้อ "
จึงให้ชาวบ้านเอาเครื่องปรุงมาไว้ให้ ได้นั่งถือค้อนห่มคลุมผ้าอยู่ที่ประตูศาลา
เย็นวันนั้น เหี้ยโพธิสัตว์ ได้ไปหาดาบสตามปกติ ได้เห็นท่านั่งที่แปลกของดาบส คิดว่า
" วันนี้ดาบส นั่งท่าที่ไม่เหมือนวันก่อน นั่งชำเลืองเราเป็นประจำ "
จึงไปยืนดูอยู่ใต้ทิศทางลม ได้กลิ่นเนื้อเหี้ย จึงทราบว่า
" ดาบสโกงนี้ คงฉันเนื้อเหี้ย ติดใจในรสแล้ว คราวนี้ หวังจะตีเรา เอาเนื้อไปแกงเป็นอาหารแน่ๆ "
จึงไม่ยอมเข้าไปใกล้ ถอยกลับแล้ววิ่งหนีไป
ฝ่ายดาบสโกงทราบว่าเหี้ยรู้ตัวไม่ยอมมาแล้ว จึงลุกขึ้นขว้างค้อนตามหลังไป ค้อนได้ถูกเพียงหางเหี้ยเท่านั้น เหี้ยได้หลบเข้าไปในจอมปลวกอย่างรวดเร็ว โผล่เพียงศีรษะออกมาเท่านั้น กล่าวติเตียนดาบสด้วยคาถานี้ว่า
" นี่เจ้าผู้โง่เขลา จะมีประโยชน์อะไรแก่เจ้า ด้วยชฎาและการนุ่งห่มหนังเสือเหลือง
ภายในของเจ้าแสนจะรกรุงรัง เจ้าดีแต่ขัดสีภายนอกเท่านั้น "
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : อำนาจของความอยาก ทำให้คนลืมตัว
เครดิต ; www.dhammathai.org
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


สุนัขจิ้งจอกอยากเป็นผู้นำ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.

สุนัขจิ้งจอกอยากเป็นผู้นำ (วิโรจนชาดก)
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ ทรงปรารภพระเทวทัต ผู้แสดงท่าทางอย่างพระองค์ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นราชสีห์ อาศัยอยู่ในถ้ำทองในป่าหิมพานต์
วันหนึ่ง ออกจากถ้ำทองไปหาอาหารได้กระบือใหญ่ตัวหนึ่ง กินเนื้อแล้วไปดื่มน้ำที่สระแห่งหนึ่ง ในขณะที่เดินกลับถ้ำ ได้พบสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งในระหว่างทาง สุนัขจิ้งจอกจึงขออาสาเป็นผู้รับใช้ราชสีห์ด้วยความกลัวตาย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาสุนัขจิ้งจอกก็ได้กินเนื้อเดนราชสีห์อย่างอิ่มหนำสำราญ มันมีหน้าที่ขึ้นยอดเขาไปดูสัตว์ที่จะเป็นอาหาร แล้วกลับลงมาบอกพระยาราชสีห์ว่า
" ข้าพเจ้า อยากกินเนื้ออย่างโน้น นายท่าน จงแผดเสียงเถิด "
พระยาราชสีห์ก็จะไปจับสัตว์ตัวนั้นมาเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเนื้อนานาชนิดหรือแม้กระทั่งช้าง
ครั้นเวลาผ่านไปหลายปี สุนัขจิ้งจอก ชักกำเริบเกิดความคิดว่า " แม้ตัวเรา ก็เป็นสัตว์ มี ๔ เท้าเหมือนกัน เหตุใด จะให้ผู้อื่นเลี้ยงอยู่ทุกวันเล่า นับแต่นี้เป็นต้นไป เราจะฆ่าช้างเป็นอาหารกินเนื้อเอง แม้แต่ ราชสีห์ก็เพราะอาศัยเราบอกว่านายขอรับ เชิญท่านแผดเสียงเถิด เท่านั้น ก็จึงฆ่าสัตว์ต่างๆได้ ต่อแต่นี้ เราจะให้ราชสีห์พูดกับเราบ้าง " ได้เข้าไปหาราชสีห์แล้วบอกเรื่องนั้น
แม้ถูกพระยาราชสีห์พูดเยาะเย้ยว่า " เป็นไปไม่ได้ " ก็ตามคงเซ้าซี้อยู่นั่นเอง พระราชสีห์เมื่อไม่อาจห้ามมันได้ ก็รับคำให้สุนัขจิ้งจอกนอนในที่นอนของตน แล้วไปคอยดูช้างตกมันที่เชิงเขาพบแล้ว ก็กลับเข้ามาบอกสุนัขจิ้งจอกว่า " จิ้งจอกเอ๋ย เชิญแผดเสียงเถิด "
สุนัขจิ้งจอก ออกจากถ้ำทอง สลัดกาย มองทิศทั้ง ๔ หอนขึ้นสามคาบ วิ่งกระโดดเข้างับช้างหวังที่ก้านคอช้าง กลับพลาดไปตกที่ใกล้เท้าช้าง ช้างจึงยกเท้าขวาขึ้นไปเหยียบหัวจิ้งจอก จนหัวกะโหลกแตกเป็นจุน แล้วเอาเท้าคลึงร่างของมันทำเป็นกองไว้แล้วเยี่ยวรดข้างบน ร้องกัมปนาทเข้าป่าไป พญาราชสีห์เห็นเช่นนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถานี้ว่า
" มันสมองของเจ้าทะลักออกมา กระหม่อมของเจ้าก็ถูกทำลาย
ซี่โครงของเจ้า ก็หักหมดแล้ว วันนี้ เจ้าช่างรุ่งโรจน์เหลือเกิน "
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : อย่าคิดทำอะไร เกินกำลังความสามารถของตัวเอง
เครดิต ; www.dhammathai.org
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


พระราชกุมารผู้อัจฉริยะ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.

พระราชกุมารผู้อัจฉริยะ (คามณิจันทชาดก)
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภการสรรเสริญปัญญาพระองค์ของพวกภิกษุ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นราชกุมารของพระเจ้าชนสันธะ ผู้ครองเมืองพาราณสี มีหน้าตาสดใสงดงามมากจึงถูกขนานนามว่าอาทาสมุขกุมาร พอมีอายุได้ ๗ ขวบเท่านั้นพระชนกก็สวรรคต พวกอำมาตย์เห็นว่าพระกุมารยังไม่อยู่ในฐานะจะครองเมืองได้ จึงจะทดสอบภูมิปัญญาของพระกุมารดู
ในวันหนึ่ง ได้ตกแต่งพระนครใหม่ จัดตั้งสถานวินิจฉัย( ศาล )เสร็จแล้ว ได้มอบให้พระกุมารขึ้นตัดสินคดีความ พอพระกุมารประทับบนบัลลังก์แล้วก็ให้เอาลิงตัวหนึ่งซึ่งสามารถเดิน ๒ เท้าได้แต่งตัวเป็นอาจารย์ผู้รู้วิชาดูที่ แล้วถวายรายงานพระราชกุมารว่า
" ขอเดชะ นี่คืออาจารย์ผู้รู้วิชาดูที่ สมัยของพระชนก ขอพระองค์จงสงเคราะห์ชายผู้นี้ แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาด้วยเถิด"
พระราชกุมารแลดูผู้นั้นแล้วทราบว่าเป็นลิงมิใช่มนุษย์จึงตรัสว่า
" สัตว์ตัวนี้ไม่ฉลาดทำบ้านเรือน หลุกหลิก หนังหน้าย่น รู้แต่จะทำลายสิ่งที่เขาทำไว้แล้วเท่านั้น จะให้เป็นที่ปรึกษาไม่ได้ "
พวกอำมาตย์รับคำแล้วนำลิงนั้นกลับไป อีกสองวันต่อมาก็นำลิงตัวนั้นมาถวายรายงานอีกว่า
" ขอเดชะ นี่คืออำมาตย์ผู้วินิจฉัยคดี สมัยพระชนก ขอพระองค์โปรดแต่งตั้งไว้เป็นที่ปรึกษาเถิด "
พระราชกุมาร แลดูก็ทราบว่ามนุษย์ไม่มีขนมากขนาดนี้ จึงตรัสว่า
"สัตว์ที่มีความคิด ขนไม่มากขนาดนี้ ลิงตัวนี้ไม่มีความคิด ไม่รู้จักเหตุผล ทำการวินิจฉัยคดีไม่ได้หรอก "
พวกอำมาตย์รับคำแล้วก็นำลิงนั้นกลับไป อีกสองวันถัดมาก็นำลิงตัวนั้นมาถวายรายงานอีกว่า
"ขอเดชะ ชายผู้นี้ในสมัยพระชนก ได้บำรุงเลี้ยงบิดามารดาเป็นชายกตัญญู ขอพระองค์โปรดอนุเคราะห์เขาด้วยเถิด "
พระราชกุมาร แลดูลิงนั้นแล้วตรัสว่า
" สัตว์เช่นนี้จะเลี้ยงดูบิดามารดาไม่ได้ มีจิตใจกลับกลอก บิดาเราสอนไว้อย่างนี้ "
พวกอำมาตย์ทราบว่าพระกุมารเป็นบัณฑิตแล้วจึงอภิเษกให้ขึ้นครองราชตั้งแต่บัดนั้น ความอัจฉริยะของพระราชกุมาร ๑๔ เรื่องจึงเกิดขึ้น คือ
ในสมัยนั้น มีชายแก่คนหนึ่งชื่อคามณิจันท์เคยเป็นทาสรับใช้ของพระเจ้าชนสันธะ เมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าชนสันธะแล้วได้ปลีกตัวออกไปประกอบอาชีพกสิกรรมอยู่บ้านนอกหมู่บ้านหนึ่ง แต่เขาไม่มีโคทำนา เมื่อฝนตกในฤดูทำนาจึงไปยืมโค ๒ ตัวจากเพื่อนบ้านมาไถนาทั้งวัน ตกเย็นได้นำโคไปคืนเจ้าของที่บ้าน เห็นเจ้าของโคกำลังนั่งกินข้าวอยู่กลางบ้าน เกรงว่าเขาจะชวนกินข้าวด้วย นายคามณิจันท์จึงปล่อยแต่โคเข้าไปในคอก ส่วนตัวเองเดินกลับบ้านไป ตกกลางคืนมีโจรมาลักโคเหล่านั้นไปหมด เจ้าของโคถึงแม้รู้อยู่ว่าโคถูกขโมยไป ก็ไปทวงโคกับนายคามณีจันท์พร้อมกับปรับสินไหมนำไปแจ้งความที่เมืองหลวง
ในขณะเดินทางไปเมืองหลวง นายคามณิจันท์หิวข้าวจึงขอแวะบ้านเพื่อนที่หมู่บ้านหนึ่งก่อน ปรากฏว่าเพื่อนไม่อยู่บ้าน อยู่แต่ภรรยาที่ท้องได้ ๗ เดือน นางดีใจที่นายคามณิจันท์มาเยี่ยม แต่ข้าวสุกไม่มี จึงต้องขึ้นไปเอาข้าวที่ฉาง นางได้พลัดตกลงมาที่พื้นดินทำให้นางแท้งลูก พอสามีกลับมาถึงบ้านทราบเรื่องจึงตั้งข้อหานายคามณิจันท์ฆ่าลูก ชายทั้ง ๓ คนจึงต้องเดินทางเข้าเมืองหลวงด้วยกัน
เมื่อเดินทางมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง คนเลี้ยงม้าคนหนึ่งกำลังต้อนม้าให้กลับบ้าน มีม้าตัวหนึ่งพยศไม่ยอมไป เขาจึงร้องบอกให้นายคามณิจันท์เอาอะไรขวางม้าให้กลับเข้าบ้านที นายคามณิจันท์เอาก้อนหินขว้างไปถูกขาม้าหัก คนเลี้ยงม้าจึงตั้งข้อหาเขาทำให้ขาม้าหัก เป็นเหตุชายทั้ง ๔ คนต้องเดินทางเข้าเมืองหลวงไปด้วยกัน
ในขณะเดินทาง นายคามณิจันท์คิดน้อยใจอยู่คนเดียวว่า " ช่างโชคร้ายนักเรา เมื่อถึงเมืองหลวง เงินสักบาทจะจ่ายค่าโคก็ไม่มี อีกทั้งค่าลูก ค่าม้า ขอตายเสียดีกว่า "
ในระหว่างทางต้องเดินผ่านภูเขามีผาชันลูกหนึ่ง เขาจึงตัดสินใจกระโดดลงในเหวไปตาย แต่บังเอิญมี ๒ พ่อลูกนั่งสานเสื่อลำแพนอยู่ที่เชิงเขานั้น นายคามณิจันท์จึงตกลงไปทับช่างสานผู้พ่อเสียชีวิตส่วนตัวเขารอดชีวิต เป็นเหตุให้ลูกชายช่างสานตั้งข้อหาฆ่าพ่อของเขา ชายทั้ง ๕ คนจึงเดินทางเข้าเมืองหลวงไปด้วยกัน
ในระหว่างทาง มีทั้งคนและสัตว์ได้ฝากสาส์นกับนายคามณิจันท์ไปถวายพระราชาอีก ๑๐ เรื่อง เมื่อถึงเมืองหลวงแล้ว วันนั้นพระราชกุมารขึ้นประทับบัลลังก์ตัดสินคดีเอง พอเห็นหน้านายคามณิจันท์ก็จำได้ จึงตรัสถามว่า
" ลุงคามณิจันท์ ท่านไปอยู่ที่ไหนมา "
นายคามณีจันท์กราบทูลว่า " ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า ข้าพระองค์ไปอยู่บ้านนอกทำกสิกรรมพระเจ้าข้า จึงได้เกิดคดีโคกับท่านนี้ขึ้น"
พระราชกุมารจึงไตร่สวนจนทราบความแล้วตรัสถามเจ้าของโคว่า
" เมื่อโคเข้าบ้าน ท่านเห็นหรือไม่ "
เจ้าของโคทูลว่า
" ไม่เห็น พระเจ้าข้า "
พระองค์จึงตรัสถามย้ำอีกว่า " ไม่เห็นแน่นะ "
เขาจึงทูลใหม่ว่า " เห็นอยู่พระเจ้าข้า "
พระองค์จึงตัดสินคดีว่า " ลุงคามณิจันท์ เพราะท่านไม่เอ่ยปากมอบโคแก่เจ้าของ จึงปรับสินไหมท่าน ๒๔ กหาปณะ แต่ชายคนนี้พูดมุสา ทั้งที่เห็นอยู่กลับบอกว่าไม่เห็น ท่านจงควักนัยน์ตาของพวกเขาสองผัวเมียเสีย "
ชายเจ้าของโครีบกรูเข้าไปหมอบลงแทบเท้านายคามณิจันท์พูดว่า
" ท่านลุง เงินค่าโคขอยกให้ท่านก็แล้วกัน และเงินเหล่านี้ขอมอบให้ท่านอีก ขออย่าได้ควักนัยน์ตาของพวกข้าพเจ้าเลย " มอบเงินให้แล้วก็กลับบ้านไป
คดีที่ ๒ พระราชกุมารทราบเรื่องแล้วตรัสถามว่า " เมื่อนายคามณิจันท์ไม่ได้ฆ่าลูกของท่าน ท่านจะทำอย่างไรละ"
ชายคนนั้นจึงทูลว่า " ข้าพระองค์ต้องการลูกคืนเท่านั้นแหละ พระเจ้าข้า "
พระองค์จึงตัดสินคดีว่า "ถ้าเช่นนั้น ลุงคามณิจันท์จงนำภรรยาของเขาไปอยู่ด้วย เมื่อมีลูกแล้วค่อยคืนเขาไปก็แล้วกัน"
ชายคนนั้นก็หมอบลงแทบเท้าของนายคามณิจันท์อ้อนวอนว่า
" ท่านลุง…อย่าได้ทำลายครอบครัวผมเลยนะครับ " มอบเงินให้แล้วก็กลับบ้านไป
คดีที่ ๓ พระราชกุมารทราบเรื่องแล้วตรัสถามว่า
" ท่านเป็นคนบอกให้นายคามณิจันท์ขว้างม้าใช่หรือไม่ "
ครั้งแรกเขาบอกปฏิเสธเมื่อพระองค์ตรัสถามเป็นครั้งที่สองจึงทูลความจริง พระองค์จึงตัดสินคดีว่า
" ชายคนนี้พูดมุสา ลุงคามณิจันท์จงตัดลิ้นของเขาเสีย แล้วจ่ายค่าขาม้าเขาไป ๑,๐๐๐ กหาปณะ"
ชายเจ้าของม้าหมอบลงแทบเท้านายคามณิจันณ์ขอชีวิตพร้อมมอบเงินให้แล้วก็กลับบ้านไป
คดีที่ ๔ เมื่อพระราชกุมารทราบเรื่องแล้วตรัสถามว่า
" เมื่อเขาตกลงมาทับบิดาของท่านตายโดยไม่เจตนาเช่นนี้ ท่านจะให้ทำอย่างไรละ "
ลูกชายช่างสานจึงทูลว่า "ข้าพระองค์ขอเพียงบิดาคืนมาเท่านั้น พระเจ้าข้า "
พระองค์จึงตัดสินคดีว่า " ลุงคามณิจันท์ เมื่อเขาต้องการบิดาของเขาคืน คนตายไปแล้วย่อมฟื้นคืนมาไม่ได้ ท่านจงรับมารดาของเขามาเป็นภรรยาก็แล้วกัน "
บุตรช่างสานจึงหมอบลงแทบเท้าของนายคามณิจันท์อ้อนวอนว่า
" ท่านลุง…อย่าได้ทำลายครอบครัวผมเลยนะครับ " มอบเงินให้แล้วก็กลับบ้านไป
นายคามณิจันท์ชนะคดีความจึงมีความยินดีเบิกบานใจกราบทูลว่า
" ขอเดชะ ยังมีสาส์นฝากมาถวายพระองค์อีก ๑๐ เรื่อง พระเจ้าข้า "
พระราชกุมารจึงรับสั่งให้บอกสาส์นนั้นมาทีละเรื่อง
สาส์นที่ ๑ นายบ้านส่วยคนหนึ่งทูลถามว่า " เดิมทีเขาเป็นคนรูปงาม มีทรัพย์สมบัติมาก ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน แต่บัดนี้เป็นคนทุกข์ยาก ซูบผอมเป็นโรค เป็นเพราะเหตุไร พระเจ้าข้า "
พระราชกุมารตรัสว่า " นายบ้านส่วยคนนั้นเดิมเป็นคนมีศีลธรรม ตัดสินคดีโดยธรรม จึงเป็นที่รักของทุกคน เขาจึงมีทรัพย์สมบัติมาก ต่อมาเขาเห็นแก่สินบน ตัดสินคดีโดยไม่เป็นธรรม จึงเป็นคนทุกข์ยากเข็ญใจ มีโรคภัยเบียดเบียน บอกให้เขากลับมาเป็นคนมีศีลธรรมอีก เขาก็จะเป็นคนมั่งมีเหมือนเดิม "
สาส์นที่ ๒ หญิงคณิกานางหนึ่งทูลถามว่า " เมื่อก่อนได้ค่าจ้างมาก แต่มาบัดนี้ไม่ได้แม้แต่หมากพลูมวนเดียว ไม่มีใครมาเที่ยวเลยเป็นเพราะเหตุไร "
พระราชกุมารตรัสว่า " เมื่อก่อนนางรับค่าจ้างจากชายคนหนึ่งแล้วจะไม่รับจากคนอื่นอีก (เป็นไปตามลำดับ) นางจึงมีค่าจ้างมาก บัดนี้นางรับค่าจ้างจากคนแรกแล้วกลับไปนอนกับคนหลัง ค่าจ้างจึงไม่ค่อยจะมี ถ้านางกลับไปปฏิบัติตามเดิมไม่เห็นแก่ได้ นางก็จะเป็นคนมีค่าจ้างเหมือนเดิม "
สาส์นที่ ๓ หญิงสาวนางหนึ่งทูลถามว่า " นางไม่สามารถอยู่ในบ้านของสามีและบิดามารดาได้ เป็นเพราะเหตุไร "
พระราชกุมารตรัสว่า " ในระหว่างบ้านของสามีและบิดามารดาของสาวนางนั้น มีบ้านของชายคนรักของเธออยู่หลังหนึ่ง เธอจึงไม่สามารถอยู่ในบ้านสามีได้ บอกสามีว่าจะกลับไปเยี่ยมบิดามารดาก็แอบไปอยู่บ้านชายชู้ ๒-๓ วัน ไปบ้านบิดามารดาก็บอกว่าจะไปบ้านสามี แล้วก็แอบอยู่บ้านชายชู้ ๒-๓ วัน ท่านลุงคามณิจันท์จงบอกให้เธอทราบว่า พระราชกำหนดกฎหมายมีอยู่ ถ้าเธอไม่อยู่ที่บ้านสามีอีกชีวิตเธอก็จะไม่มีเช่นกัน "
สาส์นที่ ๔ งูตัวหนึ่งอยู่ที่จอมปลวกใกล้ทางใหญ่ทูลถามว่า "ในเวลาออกหากินร่างกายผอมกลับคับปล่องทางออกจะออกจากจอมปลวกยากลำบาก เมื่อกินอิ่มแล้วร่างกายอ้วนพีกลับเข้าปล่องง่าย ร่างกายไม่กระทบแม้กระทั่งข้างปล่องเลย เป็นเพราะเหตุไร "
พระราชกุมารตรัสว่า " ภายใต้จอมปลวกมีขุมทรัพย์หม้อใหญ่ฝังอยู่ งูนั้นเฝ้าหม้อทรัพย์นั้นอยู่ จึงทำให้ร่างกายหย่อนติดนั่นติดนี่เวลาออกจึงยากลำบาก เมื่อกินอิ่มแล้วไม่ติดขัดรีบเข้าไปโดยเร็วเพราะติดอยู่ในทรัพย์ ท่านลุงคามณิจันท์จงไปขุดเอาทรัพย์นั่นเสียเถอะ "
สาส์นที่ ๕ เนื้อตัวหนึ่งทูลถามว่า " ข้าพเจ้าไม่อาจไปกินหญ้าที่อื่นได้ กินอยู่ที่โคนต้นไม้แห่งเดียวเท่านั้น เป็นเพราะเหตุไร "
พระราชกุมารตรัสว่า "ที่ต้นไม้นั้นมีรวงผึ้งใหญ่ เนื้อตัวนั้นติดอยู่ในหญ้าที่เปื้อนน้ำผึ้ง จึงไม่ไปไหน ท่านลุงคามณิจันท์ จงไปนำน้ำผึ้งนั้นมาให้เรา ที่เหลือยกให้ท่าน"
สาสน์ที่ ๖ นกกระทาตัวหนึ่งทูลถามว่า " ข้าพเจ้าจับอยู่ที่จอมปลวกเท่านั้นจึงอยู่ได้สบาย อยู่ที่อื่นไม่ได้เลย เป็นเพราะเหตุไร "
พระราชกุมารตรัสว่า " นกกระทาจับที่จอมปลวกจึงขันอย่างอิ่มเอิบใจ และภายใต้จอมปลวกนั้น มีหม้อขุมทรัพย์ ท่านลุงคามณิจันท์จงไปขุดเอาหม้อขุมทรัพย์นั้นเถิด "
สาส์นที่ ๗ รุกขเทวดาตนหนึ่งทูลถามว่า " เมื่อก่อนเคยได้ลาภสักการะมาก บัดนี้ไม่ได้แม้แต่ใบไม้อ่อนกำมือหนึ่ง เป็นเพราะเหตุไร "
พระราชกุมารตรัสว่า " เมื่อก่อนรุกขเทวดานั้น รักษาพวกมนุษย์ผู้เดินทางไปในดง จึงได้เครื่องสักการะที่เขาทำพลีกรรม บัดนี้ไม่ได้รักษา พวกมนุษย์จึงไม่ได้ทำพลีกรรม ถ้ากลับไปรักษาพวกมนุษย์อีก ก็จะได้ลาภสักการะเหมือนเดิม"
สาส์นที่ ๘ พญานาคตัวหนึ่งทูลถามว่า " เมื่อก่อนน้ำในสระใสสะอาดมีสีเหมือนแก้วมณี บัดนี้กลับขุ่นมัวมีแหนปกคลุม เป็นเพราะเหตุไร"
พระราชกุมารตรัสว่า " พญานาคทะเลาะกัน น้ำจึงขุ่นมัว ถ้าพญานาคกลับมาสมานสามัคคีกัน น้ำในสระก็จะใสสะอาดเหมือนเดิม"
สาส์นที่ ๙ พวกดาบสที่อยู่ใกล้เมืองนี้ทูลถามว่า " เมื่อก่อนผลไม้ในอารามอร่อยมาก บัดนี้กลับมาเฝื่อนฝาดไม่อร่อย เป็นเพราะเหตุไร "
พระราชกุมารตรัสว่า " เมื่อก่อนพวกดาบสพากันปฏิบัติสมณธรรม เป็นผู้ขวานขวายในการบริกรรมกสิณ บัดนี้พากันละทิ้งไม่ปฏิบัติธรรมประกอบในกิจที่ไม่ควรทำ ให้ผลไม้ที่เกิดในอารามแก่พวกโยมอุปัฎฐาก เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ เพราะเหตุนี้ผลไม้ของพวกดาบสจึงไม่อร่อย ถ้าพวกดาบสพากันปฏิบัติธรรมเหมือนเดิม ผลไม้ก็จะอร่อยเหมือนเดิม "
สาส์นที่ ๑๐ พราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งที่ศาลาใกล้ประตูเมืองทูลถามว่า " เมื่อก่อนเรียนหนังสือท่องจำได้ดี แต่บัดนี้เรียนเท่าไหร่ก็ไม่จำ เป็นเพราะเหตุไร "
พระราชกุมารตรัสว่า "เมื่อก่อนมีไก่ขันบอกเวลา พวกพราหมณ์หนุ่มจึงเรียนได้จำดี แต่บัดนี้ไก่ขันไม่เป็นเวลา จึงทำให้พวกเขาเรียนหนังสือไม่ได้ และจำไม่ได้"
พระราชกุมารครั้นพยากรณ์ปัญหาหมดแล้ว ก็พระราชทานทรัพย์มากมายและบ้านให้นายคามณิจันท์ เขาได้เดินทางกลับไปส่งสาส์นตามที่พระราชาประทานแก่คนเหล่านั้น และทำตามคำแนะนำของพระราชาทุกประการ
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : แข่งเรือแข่งพายแข่งกันได้ แต่แข่งบุญวาสนาแข่งกันไม่ได้ เป็นเรื่องของบุญกุศลที่เคยทำมาก่อน ใครทำไว้มากย่อมได้มากตามยถากรรม
เครดิต ; www.dhammathai.org
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.