วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2564

นารายณ์ตรีวิกรม

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“นารายณ์ตรีวิกรม-วามนาวตาร” ที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง 
ทับหลังเหนือกรอบประตูชั้นในของอาคาร “อรรธมณฑป” (Ardhamandapa) มุขตะวันออก ด้านหน้าปราสาทประธานเขาพนมรุ้ง หลังจากซุ้มประตูที่มีทับหลัง “วิษณุอนัตศายินปัทมนาภา” หรือ “นารายณ์บรรทมสินธุ์” อันเลื่องชื่อประดับอยู่หน้าซุ้มประตู บอกเล่าเรื่องราวของพระวิษณุในภาค“วามนาวตาร” (Vamana Avatar) หรือ “พระวิษณุตรีวิกรม” (Vishnu Trivikrama) 
.
พระวิษณุในภาคนี้ อวตารลงมาเป็นพราหมณ์เตี้ยตัวเล็ก นามว่า “วามน-วามนะ” ที่ดูอ่อนแอและด้อยความสามารถ ด้วยรูปลักษณ์ภายนอก เพื่อล่อลวง “อสูรพลี-มหาพาลี” (Bali Asura-Mahabali) ผู้แกร่งกล้า เพื่อปลดปล่อยโลกทั้งสามที่ตกอยู่ในอำนาจของอสูรให้เป็นอิสระครับ
.
พระวิษณุอวตารลงมาเป็นบุตรของฤๅษีกัศยปะและนางอทิติ (ผู้ให้กำเนิดพระสุริยะและพระจันทรา) เพื่อปราบอสูรพลี หลานของ “ท้าวประหลาด” โอรสของ “หิรัญยกศิปุ” ที่ถูกพระวิษณุสังหารไปในครั้ง “นรสิงหาวตาร” พระอวตารภาคที่แล้ว
.
ภาพสลักบนทับหลัง ได้แสดงเรื่องราวหลักของวรรณกรรมแยกออกเป็นสามส่วน โดยภาพส่วนทางซ้ายสุด เป็นภาพของ “พลับพลาปรัมพิธีไหว้ครู – สรงน้ำ” บุคคลในอาคาทางซ้ายสุด อาจหมายถึง “พระศุกรจารย์ (Sukracarya)” ผู้เป็นพระคุรุอาจารย์แห่งเหล่าอสูร (หรืออาจเป็น “มหาฤาษีนาคุลิสะ” มหาคุรุฤๅษีแห่งสวรรค์) เป็นประธานในพิธีสถาปนามหาราชาแห่งสามโลก แวดล้อมด้วยเหล่าพราหมณ์ฤๅษีพร้อมเครื่องหอมน้ำอบ ฤๅษีในพลับพลาสองคนกำลังสรงน้ำที่มือลงบนแท่นดอกไม้ (ฐานบัวคว่ำบัวหงาย) เพื่อการสักการบูชาอาจารย์ ในขณะคุรุฤๅษีประธานในพิธี กำลังยก “วัชระ” เพื่อการประสาทพรอันเป็นมงคลครับ
.
ซึ่งในพิธีอัศวเมธ (อภิเษกให้เป็นใหญ่) ของอสูรพลีครั้งสุดท้ายนี้ พราหมณ์แคระวามน ได้หาโอกาสเข้ามาร่วมงานได้สำเร็จ 
.
ภาพสลักส่วนกลาง เป็นเรื่องต่อเนื่องจากภาพทางซ้าย เป็นภาพของมหาพลีในอาคารพลับพลา ในท่านั่ง “มหาราชาลีลาสนะ” กำลังต้อนรับเหล่าฤๅษีพราหมณ์จากทั่วชมพูทวีป (ภาพสลักฤๅษีพราหมณ์เรียงแถวอยู่ด้านข้างขวาของพลับพลา กำลังเดินทางเข้ามาหาร่วมพิธีทางซ้าย) ในพิธีกรรมเพื่อการประกาศความเป็นใหญ่เหนือสามโลก ที่มหาพลีจะต้องนำน้ำมาล้างเท้าให้พราหมณ์ผู้มาร่วมพิธี แล้วรองน้ำที่ชำระเท้าของพราหมณ์นั้นมารดที่ศีรษะของตนเพื่อให้เกิดสิริมงคล ก่อนที่จะทำการบริจาคทานแก่พราหมณ์เพื่อเป็นการแสดงความยิ่งใหญ่ครับ 
.
----------------------
*** ในคัมภีร์ภาควัตปุราณะกล่าวว่า “น้ำที่อสูรพลีชำระล้างพระบาทแห่งพระวิษณุ (พราหมณ์เตี้ยวามน) นั้น “เปรียบประดุจน้ำที่พระศิริศะ – (พระศิวะ) ผู้ทรงทัดจันทราเป็นปิ่นพระเกศา ได้ทรงรองรับไว้เหนือพระเศียรด้วยความเคารพศรัทธาอย่างสูงสุด”
.
ท้าวพลีได้เอ่ยปากถามพราหมณ์เตี้ยว่าปารถนาสิ่งใด พราหมณ์วามนะจึงกล่าวตอบว่า 
.
"....มหาราชาผู้ยิ่งใหญ่ ตัวข้านั้นเตี้ยแคระ คงมิปรารถนาสิ่งใดมากไปกว่าแผ่นดินสามย่างก้าว เพื่อมาเป็นที่อยู่อาศัยแก่สรรพสัตว์ทั้งมวล ก็คงเพียงพอแล้ว..."
.
อสูรพลีมองพิจารณาดูร่างอันเตี้ยแคระของพราหมณ์วามนก็เกิดความคิดอันหลงไปในรูปลักษณ์สังขาร “แผ่นดินสามย่างก้าว มันจะเท่าไหร่กันเชียว .....เอาไปเลยท่านพราหมณ์เตี้ยเอ๋ย ข้าให้สัตย์ ถ วา .... ยยยย ...” 
.
ยังมิทันเอ่ยสิ้นคำสัตย์ “พระศุกราจารย์” คุรุผู้ทรงปัญญาจึงรีบเข้าขัดขวาง และพยายามอธิบายแก่อสูรพลีว่า พราหมณ์เตี้ยนั้นเป็นเพียงภาพมายา แท้จริงแล้วเป็นพระวิษณุเจ้าที่จำแลงอวตารลงมา แต่กระนั้นมหาพลีผู้ลุ่มหลงในอำนาจเหนือเหล่าเทพเจ้า ผสมกับมนตร์สะกดแห่งพระวิษณุ จึงไม่ได้สนใจในคำตักเตือนครั้งสำคัญของคุรุอันควรเคารพเชื่อฟัง
.
*** ภาพสลักตรงกลางของทับหลัง ได้แสดงเรื่องราวตอนที่อสูรพลีจึงเอ่ยวาจาสัตย์แห่งมหาราชา ประทานแผ่นดินให้ 3 ก้าว แล้วยกคนโทน้ำหลั่งทักษิโณทกลงบนมือพราหมณ์วามน ที่สลักเป็นบุคคลรูปร่างเตี้ยเล็กด้านขวาของพลับพลาครับ 
-
เมื่อเตือนให้มีสติไม่ได้ พระศุกราจารย์จึงรีบแปลงร่างเป็น “ฝาจุก” ไปอุดคนโทน้ำเอาไว้ ไม่ให้คำกล่าวอุทิศบริจาคอันบริสุทธิ์ผ่านลงสู่ธรณี ฤๅษีวามนรู้แก่การณ์ จึงเอาใบ “หญ้าคา” อันแหลมคม แทงทะลุฝาจุก (พระศุกร์แปลง) เข้าไป โดนตาของพระศุกร์จนทนไม่ได้ ไหลหลุดออกมา น้ำจึงหลั่งผ่านมือลงสู่พื้น
.

*** ภาพสลักส่วนที่สามทางด้านขวาสุดของทับหลัง เป็นเหตุการณ์ภายหลังที่น้ำอุทิศไหลลงสู่ธรณี พราหมณ์เตี้ย คืนกลับร่างเป็นพระวิษณุ 4 กร ร่างขยายใหญ่มหึมา ก้าวข้ามมหาสมุทรแห่งดอกบัว (ในความหมายของจักรวาล) ก้าวขาแรกก็เอาสวรรค์คืนไว้ได้ทั้งหมด ก้าวขาครั้งที่สองก็เอาโลกมนุษย์ไว้ทั้งหมด และก้าวขาครั้งที่สามเอาบาดาลไว้ทั้งหมดครับ 
.
ภาพสลักทางขวาสุดเป็นรูปเทวสตรีถือพานรองรับพระบาท อันหมายความถึง “พระภูมิเทวี” (พระมเหสี มารดาแห่งโลก) แวดล้อมด้วยเหล่าสัตว์ร้าย อย่างลิง ฝูงนกบิน ปลาและจระเข้ ที่หลายถึงเหล่าพลพรรคในกองทัพของอสูรพลี พยายามเข้าต่อสู้ขัดขวางการ “ย่างสามขุม - ตรีวิกรม” เพื่อคืนแผ่นดิน แต่ก็แตกกระจายพ่ายแพ้ ปรากฏเป็นภาพสลัก สัตว์กำลังแสดงการหนีออกจากพระวิษณุด้านขวาสุดของทับหลัง
.
*** เป็นที่น่าเสียดายที่ภาพสลักอันงดงามได้ถูกกะเทาะทุบทำลายไปจนยากจะกลับคืน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการขนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ลงมา ซึ่งก็คงได้แต่ใช้ภาพเชิงซ้อนกับภาพถ่ายเก่าในการฟื้นคืน เรื่องราวอันศักดิ์สิทธิ์แห่ง “นารายณ์ตรีวิกรม-วามนาวตาร” ที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง กลับคืนมา
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น