วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564

ปางประทานอภัย

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
วันนี้ วันพระ 
“อภยะมุทรา” ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก 
“อภัยมุทรา-อภย (ะ) มุทรา” (Abhaya-mudrā) ปรากฏในงานพุทธศิลป์รูป “พระศากยมุนี” ครั้งแรก ในช่วงปลายสุดของราชวงศ์กุษาณะ (Kushana) แห่งมถุรา (Mathura) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 ซึ่งในยุคก่อนหน้านั้น การแสดงท่ากรีดนิ้วในพระหัตถ์ขวาที่แบบออกนี้จะหมายถึง “การเทศนาธรรม” (Teaching) เท่านั้น ต่อมานักบวชและช่างศิลปะในแคว้นคันธาราฐ – คันธาระ (Gandhara) ได้แยกออกเป็นมุทราเทศนาธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก โดยทำให้พระหัตถ์ทั้งสองมาประสานกันที่ใต้พระอุระ พระหัตถ์ขวาค่อมนิ้วพระหัตถ์ซ้ายที่หงายขึ้น นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือมาชนกัน (ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นธรรมจักรมุทราและวิตรรกะมุทรา) และได้ใช้รูปแบบพระหัตถ์ขวาที่ตั้งแบบออกที่เคยเป็นมุทราเทศนาธรรมเดิม กลายมาเป็นอภัยมุทราแทน
.
การเปลี่ยนแปลงรูปพุทธศิลป์ที่คันธาระ ได้ส่งต่อคติความนิยมมายังงานศิลปะแบบมถุรา จนเมื่อราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) เข้ายึดครองมถุราจากชาวกุษาณะได้ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 9 พุทธศิลป์ของของพระพุทธรูปปางอภัยมุทราในมถุราที่นิยมทำเป็นรูปประทับนั่ง ได้ถูกพัฒนารูปแบบจนกลายมาเป็นพระพุทธรูปยืน ยกพระหัตถ์ขวาตั้งแบออกครับ  
.
ความหมายเริ่มแรกของคติอภยมุทรา คือการสั่งสอนให้ “ไม่ต้องเกรงกลัวต่อภัยอันตราย” (อ – ภย) ไม่ได้มีความหมายถึงการให้อภัย ที่เกิดขึ้นจากการนำพุทธประวัติตอนต่าง ๆ มาใส่ความหมายให้กับพระพุทธรูป จนความหมายเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด เฉพาะของฝ่ายไทยในยุคหลัง 
.
คติอภัยมุทราในงานพุทธศิลป์โบราณของฝ่ายอินเดียและในวัฒนธรรมภารตะภิวัฒน์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมสร้างทั้งรูปยืนและนั่ง ยกพระหัตถ์แบออกด้านขวาด้านเดียว หรือยกขึ้นแบออกทั้งสองพระหัตถ์ในระดับพระอุระ ไม่เจาะจงว่าเป็นพุทธประวัติตอนใด พระหัตถ์ที่ยกขึ้นแบออก หมายถึงการห้ามมิให้เกิดภัย -ประทานความไม่เกิดภัย-ไม่ให้เกิดภัยร้าย-ประทานความไม่เกรงกลัว หรือประทานพระธรรมเพื่อให้ผู้สดับรู้ ไม่ต้องหวั่นไหวเกรงกลัวต่อทุกข์ ที่เป็นภัยร้ายที่สุดแห่งมนุษย์ครับ 
ประติมานในคติอภยมุทรา-ความไม่ต้องเกรงกลัวภัยร้ายในงานพุทธศิลป์ อาจได้สะท้อนถึงพุทธปรัชญา ที่สื่อถึงการเดินทางสู่พระนิพพานด้วยความไม่กลัวในทุกข์ หรือปราศจากความกลัวต่อความทุกข์นั่นเอง  
.
ในเวลาต่อมา ความนิยมพุทธศิลป์จากคติอภยมุทรา ได้ถูกแปรเปลี่ยนความหมายไปเป็น “การให้อภัย” หรือ “ปางประทานอภัย” ตามเสียง “อภย” โดยได้นำพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าทรงให้อภัยหรือยกโทษให้พระเจ้าอชาตศัตรูที่สารภาพบาปเพราะสำนึกผิดที่ได้กระทำปิตุฆาตพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดา เป็นพระพุทธรูปทั้งแบบประทับนั่งขัดสมาธิราบและยืน โดยกำหนดเป็นการยกฝ่าพระหัตถ์ แบหันออกเสมอพระอุระ ทั้งแบบพระหัตถ์ขวาแบออกเพียงฝั่งเดียวและสองพระหัตถ์ รวมทั้ง ปางห้ามพยาธิ ปางห้ามสมุทร ปางโปรดสัตว์ ปางห้ามพระญาติ ปางห้ามแก่นจันทน์ ที่ถูกกำหนดรูปพุทธศิลป์ขึ้นใหม่ ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา
.
พระพุทธยืนยกสองพระกรขึ้น แบฝ่าพระหัตถ์ออกตั้งตรง ในยุคก่อนปลายกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นพระพุทธรูปตามคติอภัยมุทราในความหมายของ การประทานพรมิให้กลัวภัยร้าย หรือความไม่เกรงกลัวภัยร้ายจากทุกข์ทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวข้องกับปางประทานอภัย ปางห้ามสมุทร ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคหลังที่เริ่มนิยมการสร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ตามพุทธประวัติของฝ่ายเถรวาทครับ
-----------------------------------------
*** ภาพพระพุทธรูปแสดงอภยมุทราในยุคแรก จัดแสดงในพิพิธภัณฑแห่งรัฐอุตตรประเทศ เมืองมถุรา ศิลปะแบบราชวงศ์กุษาณะ หมวดมถุรา อายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 9 – 10 เป็นรูปพุทธศิลป์ที่ยังคงรักษาขนบแบบแผนพระพุทธรูปตามแบบราชวงศ์กุษาณะยุคแรก ๆ ที่นิยมทำเป็นรูปประทับนั่ง แต่ได้ปรับท่ามือไปตามแบบศิลปะคันธาระและผสมผสานงานพุทธศิลป์แบบคุปตะแล้ว 
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น