วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

บึงสามพัน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.


“จระเข้สามพัน” ลำน้ำโบราณกับนิทานจระเข้ เมืองสุพรรณบุรี
จากแม่น้ำแม่กลองมี “ลำน้ำทวน” แยกซ้ายทะลุที่ราบต่ำขึ้นไปเลาะขอบที่สูงทางเหนือ จากบริเวณปากคลองชลประทานตรงเขื่อนแม่กลอง ในเขตอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี น้ำไหลทวนขึ้นไปทางเหนือ จึงเรียกว่าน้ำทวน ถึงเขาหัวนอน ตัวอำเภอพนมทวน จะเปลี่ยนชื่อไปเรียกว่าลำน้ำ “จรเข้สามพัน/จระเข้สามพัน” ตรงบ้านดอนตาเพชร แล้วไหลผ่านบ้านรางหวาย ผ่านที่ราบที่มีเขาลูกโดดคือ “เขารักษ์” ในเขตตำบลดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจา และ “เขาคลุกคลี” ในเขตตำบลตลาดเขต อำเภอพนมทวน ขนาบทั้งสองฟาก ผ่านวัดปทุมวนาราม ในเขตอำเภออู่ทอง บ้านจระเข้สามพัน แยกออกไปทางตะวันตกตรงคอกช้างดิน เขาคอก/ถ้ำเสือ/เขารางกะบิด ( มีทางน้ำไหลลงมาเติมจากห้วยรวกและห้วยหางนาค ผ่านทางเมืองโบราณ) เขาพระยาแมน บ้านนาลาว เมืองโบราณอู่ทอง บ้านท่าพระยาจักร/ตลาดอู่ทอง บ้านหนองตาสาม แยกคลองบ้านยางยี่แส แยกห้วยคนที บ้านกล้วย ไหลไปบรรจบลำน้ำท่าว้าซึ่งไหลมาจากแม่น้ำด้วน อำเภอสามชุก ที่บ้านไก่หงอย อำเภอสองพี่น้อง แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำสุพรรณบุรีที่ปากคลองสองพี่น้อง ไปรวมกับแม่น้ำสุพรรณบุรีหรือแม่น้ำท่าจีน  
.
เส้นทางลำน้ำทวน/จรเข้สามพัน ที่ต่อมาจากแม่น้ำแควและแม่น้ำแม่กลองทางตะวันตก เป็นเส้นทางการค้าโบราณจากอ่าวเมาะตะมะ ข้ามเทือกเขาตะนาวศรีเข้าช่องด่านเจดีย์สามองค์ มาตามแควใหญ่แควน้อย แยกแม่น้ำแม่กลองผ่านเข้าลำน้ำทวน ต่อมายังลำน้ำจระเข้สามพันเข้าสู่เมืองโบราณอู่ทองออกไปยังแม่น้ำท่าจีน เชื่อมต่อมายังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ปรากฏร่องรอยมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังปรากฏชุมชนโบราณบ้านดอนเพชรและเมืองโบราณอู่ทองในช่วงวัฒนธรรมทวารวดีเรื่อยมาถึงสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา จนได้กลายมาเป็นเส้นทางเดินทัพสำคัญของฝ่ายพม่าจากด่านพระเจดีย์สามองค์ครับ
.
*** ชื่อนาม “บ้านจระเข้สามพัน” ที่เก่าที่สุดปรากฏในลิลิตหม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ เสด็จธุดงค์ ในปี พ.ศ. 2427 ความว่า "...ถึงคามเขตหนึ่งนั้น นามมี ติสหัสกุมภีล์ บอกไว้ แว่นแคว้นสุพรรณบุรี ภิกษุรีบ ถึงนอ สัปปุรุสชวนกันให้ พรักพร้อม ทำบุญ... " ติสหัสกุมภีล์” มีความหมายของบ้านจระเข้สามพัน 
.
*** พ.ศ. 2434 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพเมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้เสด็จมายังเมืองโบราณท้าวอู่ทอง ทรงมีพระนิพนธ์กล่าวถึง “แม่น้ำจระเข้สามพัน” ไว้ในเรื่อง”นิทานโบราณคดี” ว่า “พอตกเย็นก็ถึงบ้านจระเข้สามพัน อันเป็นที่พักแรมอยู่ริมลำน้ำชื่อเดียวกัน ใต้เมืองท้าวอู่ทองลงมาไม่ห่างนัก ...พิเคราะห์ดูลำน้ำจรเข้สามพัน เดิมเห็นจะเป็นแม่น้ำใหญ่ ที่สูงซึ่งสร้างปราการ (เมืองโบราณ) เห็นจะเป็นตลิ่ง ครั้นนานมาเกิดมีช่องทางพาสายน้ำไหลไปเสียทางอื่น แม่น้ำเดิมก็ตื้นเขินแคบเข้าโดยลำดับ จนเกิดแผ่นดินที่ราบมีขึ้นริมตลิ่ง ก็ต้องทำถนนต่อออกไปจากเมืองจนถึงท่าเรือ ความที่ว่านี้เห็นได้ด้วยทีสระขุดขนาดใหญ่ สัณฐานเป็นสี่เหลี่ยมรีอยู่ทั้งสองข้างถนน คงขุดสำหรับขังน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง น่าจะเป็นเพราะเมืองกันดารน้ำหนักขึ้นนั่นเอง ....”
.
*** ชื่อนาม “บ้านจระเข้สามพัน” มาปรากฏในหนังสือ “ไทยรบพม่า”พระนิพนธ์ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในปี พ.ศ. 2460 ตอนไทยรบพม่า ครั้งที่ 10 คราวสมเด็จพระนเรศวรชนช้าง ปีมะโรง ปี พ.ศ. 2135 “...ครั้นถึงวันแรมค่ำ 1 เดือนยี่ พระยาศรีไสยณรงค์บอกมากราบทูลว่า ให้ไปสอดแนมเห็นข้าศึกยกทัพใหญ่พ้นบ้านจรเข้สามพันมาแล้ว จึงมีรับสั่งให้กองทัพทั้งปวงเตรียมตัวรบข้าศึกในวันรุ่งขึ้น แล้วสั่งให้พระยาศรีไสยณรงค์ว่าให้ลาดตระเวนดูเค้าเงื่อนว่ากระบวนข้าศึกยกมาอย่างไร แล้วให้ถอยมา...”
.
*** ชื่อนามของ “จรเข้/จระเข้สามพัน” มาจากนิทานเรื่องเล่าของ “น้องจระเข้” (Crocodiles) สัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ที่เคยปรากฏอยู่เป็นจำนวนมากตามลำน้ำหนองบึงของภูมิภาคที่ราบลุ่มเขตร้อนชื้น ซึ่งก็เคยเป็นสัตว์น้ำพื้นถิ่นที่น่ากลัวในยุคโบราณ ที่เล่ากันว่าเคยมีอยู่อย่างชุกชุมในลำน้ำจระเข้สามพันนี้ ซึ่งในท้องถิ่นก็มีหลายสำนวน บ้างก็เล่าว่า คำว่า “สามพัน” มาจากคำว่า “สามพันธุ์ หรือ สามสายพันธุ์” คือ ในลำน้ำนี้จะมีจระเข้พันธุ์ตีนเป็ด จระเข้พันธุ์ตีนกาและพันธุ์ตีนแร้ง บางสำนวนเล่าว่า ในลำน้ำมีจระเข้พันธุ์ที่มีพังผืดระหว่างนิ้วคล้าย “ตีนเป็ด” พันธุ์ที่มีรอยสีขาวเป็นจุดบนหน้าผากเรียกว่า “หน้าแด่น” และพันธุ์ที่มีก้อนกลมใหญ่เหมือนก้อนหูดติดอยู่บนหัวเรียกว่าพันธุ์ “ก้อนขี้หมา”
.
บางสำนวนเล่าว่า ในยุคสมัยที่เมืองท้าวอู่ทองยังเจริญรุ่งเรืองอยู่นั้น ในแม่น้ำมีจระเข้ออกอาละวาดหากินแย่งกินปลาของชาวบ้านอยู่เป็นจำนวนมาก ท้าวอู่ทองจึงคิดอยากจะจำกัดจำนวนของจระเข้ให้ลดลงจะได้ไม่ก่อความเดือดร้อนให้กับราษฎร จึงมอบหมายให้พระราชโอรสนำขุนทหาร 3 คนไปนับจำนวนจระเข้ในลำน้ำ ขุนทหารแบ่งลำน้ำกันนับเป็นต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ทหารทั้งสามนายนับได้คนละ 1,000 ตัว รวมกันเป็น 3,000 ตัว พอดี จระเข้สามพันตัวนี้จึงกลายมาเป็นชื่อลำน้ำมาโดยตลอดมาจนถึงในปัจจุบัน 
*** หลักฐานเรื่องเล่าจระเข้สามพันที่เก่าที่สุด อาจอยู่ในหนังสือวิทยาจารย์ เล่มที่ 24 พ.ศ. 2466 กล่าวถึงลำน้ำจระเข้สามพันเมื่อครั้งที่ “หลวงวิศาลดรุณกร” ได้เดินทางไปราชการที่อำเภอจระเข้สามพัน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 เล่าว่า “... วันรุ่งขึ้นข้าพเจ้าตื่นตั้งแต่เช้า ได้ลงไปอาบน้ำที่ลำน้ำจระเข้สามพัน ลำน้ำนี้อยู่ตรงที่ว่าการอำเภอออกไปทางทิศตะวันออก ยืนอยู่ที่ว่าการอำเภอพอเห็นลำน้ำได้ ลำน้ำนี้ตื้นและไม่กว้างพอที่จะ เรียกว่าแม่น้ำ แต่ขังน้ำไว้ได้ตลอดปี มีปลาชุมมาก จึงเป็นเหตุให้มาปลูกบ้านเรือนริมฝั่งน้ำนี้เป็นอันมาก เรือนหลังคามุงด้วยแฝก ที่อย่างดีก็มุงด้วยไม้ไผ่ คือผ่าไม้ไผ่ทั้งลำออกเป็นสองซีกแล้ววางมุงเป็นหลังคา หงายสองซีกแล้วคว่ำคร่อมหนึ่งซีก ทำอย่างนี้จนตลอดหลังคา พื้นโดยมากเป็นไม้ไผ่ตลอดทั้งลำ ฝากรุด้วยแฝก เมื่อข้าพเจ้ากลับมาที่พักสนทนาเรื่องราชการกับนายอำเภอเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าจึงพูดกับนายอำเภอต่อไปว่า ตำบลนี้ชื่อจระเข้สามพัน ดูลำน้ำแคบนักไม่สมกับว่าจะมีจระเข้อยู่ได้ตั้งสามพันเลย นายอำเภอตอบว่า เมื่อมาอยู่ที่นี่ ทีแรกก็คิดอย่างข้าพเจ้าเหมือนกัน ภายหลังคนที่อยู่ในตำบลนี้ได้เล่าตำนานให้ฟังว่า 
.
“...เดิมทีมีผัวเมียอยู่คู่หนึ่ง ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ (บางสำนวนเล่าว่า เป็นคหบดีตายาย ชื่อตาอยู่และยายเมี้ยน) ครั้งหนึ่งได้ไปพบชาวประมงเลี้ยงลูกจระเข้ไว้ตัวหนึ่ง (บางสำนวนเล่าว่า พวกมอญตีอวนได้) สองผัวเมียอยากได้ลูกจระเข้ตัวนั้นเป็นอันมาก จึงได้อ้อนวอนขอซื้อลูกจระเข้จากชาวประมงนั้น แล้วได้ตกลงกันเป็นราคาสามพันเบี้ย แล้วผัวเมียได้นำลูกจระเข้นั้นมาเลี้ยงไว้ที่บ่อในบ้าน ภายหลังจระเข้นั้นใหญ่ขึ้น สองผัวเมียไม่สามารถหาเหยื่อมาให้จระเข้กินได้ จึงปล่อยจระเข้ลงในลำน้ำที่หน้าบ้านนั้น เพื่อให้มันไปหาอาหารกินเอง จระเข้นั้นเมื่อไปหาอาหารกินก็กลับมานอนอยู่ใต้ตะพานของผัวเมียคู่นั้นเสมอ จนมันโตสามารถกินคนได้แล้วก็ยังมิได้ไปอยู่ที่อื่น ทั้งนี้เพราะสองผัวเมียมีใจกรุณาต่อจระเข้นั้นมาก หมั่นเอาอาหารไปให้จระเข้นั้นกินอยู่เนือง ๆ 
.
วันหนึ่งจระเข้จะมีความหิวเพราะหาอาหารไม่ได้หรือเพราะอยากกินอย่างไร เมื่อชายผู้ผัวได้ลงไปที่ท่าน้ำนั้น จระเข้ก็คาบเอาชายนั้นไปกินเสีย ฝ่ายภรรยาเมื่อทราบความก็โกรธเคืองจระเข้นั้นเป็นอย่างมาก เปล่งอุทานวาจาว่า “เมื่อกินผัวแล้วจงมากินเมียเสียด้วยเถิดจะได้ตายไปตามกัน” ครั้นเห็นจระเข้กลับมาที่เดิมก็ลงไปด่าว่าจระเข้อยู่ที่ท่าน้ำนั้น จระเข้ก็คาบเอาไปกินเสียอีกคนหนึ่ง ตำนานนี้ตรงกับสุภาษิตที่ว่า “เลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้”...ชื่อจระเข้สามพันจึงหมายถึงราคาของจระเข้สามพันเบี้ยนั้นเอง...ลำน้ำที่จระเข้เคยอยู่อาศัยก็เรียกว่า จระเข้สามพันด้วย...” 
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร