วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2564

พระตรีกาย

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พุทธศิลป์ “พระตรีกาย” มหายานผสมเถรวาท ยุคหลังเขมรในลุ่มน้ำเจ้าพระยา   
.
.
.
ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ก่อนนครอยุทธยาจะเกิดขึ้นเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรใหม่ กลุ่มรัฐในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและสาขาตอนบน รวมไปถึงลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเพชรบุรี  ที่ประกอบด้วย ลโวทยปุระ สุวรรณปุระ ศรีชยวัชรปุรีและศรีชยเกษมปุรี ที่ยังคงปกครองโดยราชสำนักขอม เจ้าพระยา  ที่เคยนิยมในคติมหายาน/วัชรยาน/บายน ในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ต่อเนื่องมาเป็นคติฮินดูไศวนิกายยุคฟื้นฟู สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 8  ในขณะที่ชนท้องถิ่นลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงความนิยมในคติเถรวาทรามัญ/สถวีรวาท (Theravāda) อยู่แต่เดิม  จึงนำไปสู่การเกิดขึ้นของคติความเชื่อและงานพุทธศิลป์แบบ “ลูกผสม” มหายาน-เถรวาทรามัญ-วัชรยานบายน ที่เรียกว่า “คณะกัมโพชสงฆ์ปักขะ” (Kambojsanghapakkha)  หรือ “นิกายละโว้” ที่เน้นคติความเชื่อตามคัมภีร์และการปฏิบัติไปทางฝ่ายเถรวาทรามัญนิกายเดิม รักษารูปงานศิลปะแบบวัชรยานจากยุคบายน แต่รับอิทธิพลคติและงานศิลปะจากและ ผ่านรัฐหริภุญชัย มีศูนย์กลางศาสนจักรอยู่ที่เมืองละโว้และเมืองสุวรรณปุระ ในภาคกลางของประเทศไทย   
.
พุทธศิลป์ลูกผสมคณะกัมโพช/ละโว้ ในกลุ่มรัฐขอมเจ้าพระยาหลังยุคเขมร ตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 นิยมการหล่อสำริดเป็นรูปประติมากรรม “พระพุทธรูปมีแผ่นหลังประภาวลี/ซุ้มเรือนแก้ว” (Altarpiece with Buddha) ที่มีทั้งแบบหล่อชิ้นเดียวขนาดไม่ใหญ่นัก และแบบต่อจิ๊กซอร์ (Jigsaw) ประกอบหลายชิ้นส่วนโดยมีฐานล่างแยกออกจากชิ้นส่วนพระพุทธรูป ส่วนแผ่นหลังเป็นซุ้มเรือนแก้ว/ปรกโพธิ์ บางองค์มีชิ้นส่วนประดับเพิ่มเติม ออกแบบต่อเชื่อมด้วยการเข้าเดือยติดกัน ซึ่งรูปประติมากรรมสำริดแบบนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าแบบหล่อชิ้นเดียว รวมทั้งยังมีรายละเอียดงานศิลปะที่งดงามกว่าครับ
.
*** พระพุทธรูปนั่งเรียง 3 รูป บนฐานเดียวกัน สวมอุณหิสกลีบบัว (Crowned Buddha) แบบปาละ/หริภุญชัย ปางมารวิชัย นุ่งห่มจีวรเฉวียง ผ้าสังฆาฏิพาดเรียบตัดตรง ประทับบนอาสนะ 3 ท่อน ประดับแผ่นหลังประภาวลีเป็นซุ้มเรือนแก้วปรกโพธิ์ ความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร  พบในหีบไม้จากวัดหนองพังค่า ตำบลหนองพังค่า อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ซึ่งน่าจะถูกขุดได้จากกลุ่มบ้านเมืองในรัฐสุวรรณปุระ/เมืองโบราณหนองแจง ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี  นั่งเรียงตามแบบคติตันตระรูปวิภัติ 3 องค์ (Triad-Trinity) บนแนวระนาบเดียวกัน มาจากอิทธิพลรูปศิลปะเขมรในคติวัชรยาน/มหายาน/บายน การนุ่งจีวรแบบห่มเฉวียง มีผ้าสังฆาฏิตัดตรง มาจากอิทธิพลรูปศิลปะจาคติเถรวาทรามัญ 
.
ฐานล่างสุดทำเป็นขาแบบขาตั่งนั่งเครื่องไม้ (ปีฐะ- ปีฐกะ) รองรับชั้นบัลลังก์ปัทมะ ยกเก็จบัลลังก์ 1 ชั้น  ท้องไม้ตกแต่งลวดลายเป็นรูปดอกไม้กลม 8 กลีบ ลาดบัวลายบัวรวนรูปกระจัง ดอกไม้ 4 กลีบ ทรงข้าวหลามตัดเป็นกาบประดับตรงกลางและมุมของหน้ากระดาน เป็นงานผสมระหว่างฐานขาตั่งแบบจีน/หริภัญชัยกับงานศิลปะฐานบัลลังก์แบบเขมรบายน แต่ประยุกต์ลวดลายตามแบบขอมเจ้าพระยาครับ  
.
พระพุทธรูปองค์กลางมีพระเนตรที่พระนลาฏตามคติแบบมหายาน/ตันตระ ทั้งสามองค์สวมอุณหิสเป็นเครื่องประดับศิราภรณ์แบบกระบังหน้า มีแถบผ้าผูกไขว้กันเป็นเงื่อนกระตุกเหนือพระกรรณทั้งสองข้าง ประดับกุณฑล/กรรเจียก (ตุ้มหู) ที่ปลายพระกรรณทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นอิทธิพลงานศิลปะแบบราชวงศ์ปาละ/พุกาม ในคติมหายานผ่านมาทางหริภุญชัย ประทับขัดสมาธิราบบนอาสนะแบบเบาะ 3 ท่อนม้วนรัด ในซุ้มเรือนแก้วโค้งสามเหลี่ยมยาวแหลมรูปทรงสูง นาครวยลำยองหยักสะดุ้ง ประดับใบระกาเรียบเป็นแถวยาว  เหนือซุ้มเป็นรูปต้นโพธิ์เป็นกิ่งท่อนและใบโพธิ์แบบเรียวยาวขึ้นไปจนจบที่ปลายเป็นใบพุ่มม้วนแหลม เป็นแผงโค้งไล่ระดับยอดสอบแหลม ซึ่งงานศิลปะเด่นของคณะกัมโพช/นิกายละโว้
.
*** ประติมานของพระพุทธรูปสามองค์นี้ ควรหมายถึง “พระตรีกาย” (Tri-kāya Buddhas) ตามคติฝ่ายมหายาน โดยองค์กลางคือ “พระอาทิพุทธะ/พระวัชรสัตว์/พระมหาไวโรจนะ” (Ādi /Vajrasattva /Mahāvairocana) พระพุทธเจ้าในพุทธภาวะระดับสูงสุดเรียกว่า “ธรรมกาย” (Dharma-kāya)  ผู้ให้กำเนิดพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ที่เรียก “ปัญจสุคต” (Paῆca Sugatā) ประทับบนอาสนะ 3 ท่อนรูปกลีบบัวที่สูงและละเอียดกว่า รวมทั้งบัลลังก์และเรือนแก้วตรงกลางที่โดดดเด่นกว่า ขนาบข้างด้วย “พระพุทธเจ้าไวโรจนะ” (Vairocana Dhyāni Buddha) ในพุทธภาวะ “สัมโภคกาย” (Sambhoga-kāya) และ “พระศากยมุนีพุทธเจ้า” (Shakyamuni)  พระพุทธเจ้ากายเนื้อ “นิรมาณกาย” (Nirmāṇakāya)  ที่ลงมาประสูติบนโลกมนุษย์ครับ 
.
*** ถึงแม้ว่างานพุทธศิลป์ฝ่ายมหายานจากอิทธิพลปาละ/พุกาม จะนิยมแสดงท่าพระหัตถ์ “ธยานะมุทรา” (Dhyana Mudra) หรือปางสมาธิ และนั่งในท่าขัดสมาธิเพชร แต่เมื่อลงมาผสมเข้ากับศิลปะฝ่ายเถรวาท (ลังกาวงศ์/รามัญนิกาย) งานพุทธศิลป์แบบกัมโพช/นิกายละโว้ ในท้องถิ่นลุ่มเจ้าพระยา จึงได้ถูกปรับเปลี่ยนรูปศิลปะตามความนิยมมาเป็นปางมารวิชัย นั่งในท่าขัดสมาธิราบ   
---------------------
*** พระพุทธรูปมีแผงหลังประภาวลี เป็นพุทธศิลป์ที่มีรูปแบบอันเป็นลักษณะเฉพาะที่ถูกสร้างขึ้นในเขตสามรัฐขอมเจ้าพระยาเท่านั้น ก่อนจะถูกส่งต่อเข้าไปยังเมืองพระนครหลวง  กลายเป็นความนิยมของราชสำนักเขมรที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยปรากฏรูปแบบของคติความเชื่อและพุทธศิลป์แบบผสมผสานนี้ ในที่แห่งใดในเขตอาณาจักรกัมพุชเทศะอย่างชัดเจนครับ
.
*** และก็เช่นเดิม คำอธิบายก็ยังคงยกให้ไปเป็นงานในศิลปะเขมร ย้อนยุคสมัยขึ้นไปในยุคบายน ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18  ทั้ง ๆ ที่ในช่วงศิลปะบายน ยังคงนิยมในคติพุทธแบบวัชรยาน/ตันตระ ไม่เคยปรากฏความนิยม คติความเชื่อและอิทธิพลพุทธศาสนาแบบลูกผสมนี้ หากไม่ผ่านจากรัฐในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากแดนตะวันตกเข้าไป 
.
*** 100 ปี หลังยุคเมืองพระนคร บ้านเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยาช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ก็ยังคงมืดมนและหายไปจากความเข้าใจเช่นเดิมครับ
เครดิต :FB
วรณัย  พงศาชลากร

วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2564

พระเจ้าองค์ตื้อ ภูพระ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระเจ้าองค์ตื้อ ภูพระ” จากทวารวดีอีสานมหายานสู่พุทธสถานเถรวาท ที่ชัยภูมิ  
.
.
.
“วัดศิลาอาสน์” หรือ “ภูพระ” ตั้งอยู่บนเนินเขาหินทรายเล็ก ๆ ที่บ้านนาไก่เซา ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดเมืองชัยภูมิ มีภูมิวัฒนธรรมเป็นเชิงลาดเทือกเขาหินทรายทางใต้ของเขาภูแลนคาตะวันออก/ตาดโดน ใกล้กับจุดโค้งของแนวเทือกเขา ที่เชื่อมต่อมาจากเขาเพชรบูรณ์ทางตะวันตกทอดยาวไปทางตะวันออก โค้งขึ้นไปทางทิศเหนือที่อำเภอคอนสวรรค์ ต่อขึ้นไปทางเหนือถึงภูเบ็ง น้ำพอง ภูฝอยลม ภูพระบาท ในเขตตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี 
.
บนโขดเพิงหินเทินรูปดอกเห็ดตามธรรมชาติ 2 โขด ปรากฏการแกะสลักผนังของหินส่วนโคนของเพิง โขดทางทิศเหนือเป็นพระพุทธรูปใหญ่ เรียกกันว่า “พระเจ้าองค์ตื้อ” ที่หมายถึง “พระพุทธรูปใหญ่ (ที่สุด ในบริเวณนั้น)” (ตื้อ ในภาษาลาวหมายถึง มหาศาล ประมาณมิได้) อีกโขดหนึ่งอยู่ใกล้เคียงกันทางทิศใต้ แกะสลักเป็นพระพุทธรูปเรียงรายรอบผนังโคนด้านเหนือและตะวันตก 7 องค์ ครับ
.
พุทธศิลป์ของพระเจ้าล้านตื้อพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชรหงายพระบาท แต่วางพระหัตถ์ซ้ายเหนือพระบาท/พระเพลา แตกต่างไปจากขนบงานศิลปะปางมารวิชัย พระวรกายใหญ่ พระพักตร์สี่เหลี่ยม พระขนงต่อกันเกือบเป็นเส้นตรง พระเนตรเปิดและมองตรง พระนาสิกแบน พระเกศาสลักเป็นเส้นขีดถี่ ไม่ทำเป็นวงก้นหอย ห่มคลุมแต่วางผ้าสังฆาฏิเป็นแถบใหญ่เฉียงพาดตรงมาจากพระอังสาซ้าย  
.
*** ส่วนพระพุทธรูป 7 องค์ ถึงจะมีมีพุทธศิลป์ที่คล้ายคลึงกัน แต่ก็มีรายละเอียดของรูปศิลปะและปางที่แตกต่างกัน จนดูเหมือนว่าจะไม่ได้ถูกแกะสลักขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันครับ    
.
พระพุทธรูปเพิงเล็กมุมทิศตะวันออก/เหนือ และองค์แรกทางตะวันออก มีพุทธศิลป์ที่ดูเก่าแก่มากที่สุด คือแกะสลักในท่า “ธยานะมุทรา” (Dhyāna Mudra) หรือปางสมาธิ ไขว้ข้อพระชงฆ์ประสานขัดสมาธิเพชร หงายฝ่าพระบาทออกให้เห็นทั้งสองข้างแบบการปฏิบัติโยคะที่เรียกว่า “วัชราสนะ” (Vajrāsana)   พระหัตถ์ขวาวางเหนือพระหัตถ์ซ้าย อีกองค์หนึ่งปลายนิ้วพระหัตถ์ชนกัน นุ่งจีวรแบบห่มคลุม พระพุทธรูปนี้จึงควรถูกแกะสลักขึ้นครั้งแรกจากอิทธิพลของงานศิลปะแบบราชวงศ์ปาละ ***แบบทวารวดีอีสานมหายาน ส่วนพระพักตร์ พระเกศาและอุษณีษะทรงกรวยแหลม มีรูปแบบเดียวกับพระพุทธรูปในงานศิลปะแบบพระวิหาร ยุคพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1  พระพุทธรูปสององค์เล็กที่เพิงฝั่งทิศใต้ในครั้งแรกนี้ จึงควรมีอายุในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นงานศิลปะผสมระหว่างทวารวดีอีสานกับเขมร/พระวิหารในคติมหายาน    
.
ซึ่งในการแกะสลักครั้งแรก ก็อาจได้มีการแกะสลักโกลนของพระพุทธรูปไว้ รวม 7 พระองค์ ตามคติ “พระสัปตมานุษิพุทธเจ้า”(Sapta Mortal Buddha) ของฝ่ายมหายาน รวมทั้งโกลนของพระพุทธรูปองค์ตื้อ แต่ยังแกะสลักไม่แล้วเสร็จครับ
.
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 จึงได้มีการแกะสลักรายละเอียดพระพุทธรูป 2 – 3 องค์ ให้สวมเทริดอุณหิสแบบเขมร และองค์ทางด้านทิศใต้องค์หนึ่งมีร่องรอยการสลักกรอศอตามแบบศิลปะแบบนครวัด จนเมื่อชาวล้านช้าง/เชียงแสน อพยพเข้ามาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 – 22 จึงได้มีการแกะสลักองค์ตื้อขึ้นใหม่จากโกลนเดิมที่ทิ้งค้างไว้ในอดีต โดยพระองค์เล็กมุมทิศใต้ของเพิงเล็กก็มีรูปแบบเดียวกัน โดยลอกแบบมาจากพระพุทธรูปองค์ที่แกะสลักครั้งแรก รวมทั้งเลือกแกะสลักผ้าสังฆาฏิแบบเถรวาทเพิ่มเข้าไปเฉพาะพระพุทธรูปแบบที่ไม่สวมเทริดอุณหิส     
.
*** บริเวณภูพระในอดีต เป็นเส้นทางสำคัญเชื่อมต่อเมืองโบราณศรีเทพ ตามเส้นทางช่องเขาพังเหย ขึ้นไปสู่แดนอีสานเหนือตามตั้งแต่ยุคทวารวดี/ปาละ นักบวชและผู้ศรัทธากลุ่มหนึ่งคงได้เริ่มเข้ามาอาศัยเพิงผาหินเทินบนลาดเขา สร้างเป็นชุมชนที่พำนักปฏิบัติธรรมตามแนวทาง “พระป่า/อารัณยกะ”(Aranyaka)” หรือ “อารัญวาสี/อรัญวาสี” (Āraṇya-vāsī /Buddhist forest monastery /Forest renunciates) ดังเช่นที่เขาถมอรัตน์ ทางตะวันตกของเมืองโบราณศรีเทพ  โดยได้ปรับปรุงพื้นที่พำนักใต้โขดหินที่เทินเป็นเพิง ปรับแต่งพื้นและผนังหิน สกัดหินเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่น้อยและได้แกะสลักผนังเป็นรูปพระพุทธเจ้าศากยมุนีใต้โคนหินเทิน อภิเษกให้เป็น “เจติยสถาน” (Chaitya Hall) ในการประกอบสังฆกรรม มาตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 15  ต่เนื่องมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 17 แล้วปรากฏร่องรอยการทิ้งร้างไประยะหนึ่งครับ  
.
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 21 – 22 จึงมีกลุ่มนักบวชและข้าโอกาส/กะโยม ที่นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทเข้ามาใช้พื้นที่ภูพระอีกครั้ง ซึ่งในครั้งหลังนี้จึงได้มีการแกะสลักโกลนพระพุทธรูปใหญ่เดิมที่ทิ้งค้างไว้ขึ้นเป็นพระเจ้าองค์ตื้อ โดยเลียนแบบพุทธศิลป์จากพระพุทธรูปเพิงเล็กที่แกะสลักไว้ในยุคก่อนหน้า สลักเป็นท่าขัดสมาธิเพชรตามแบบพระสิงหล/เชียงแสน (หรือตามศิลปะนิยมแบบทวารวดีอีสานเดิม) ปางมารวิชัยแบบใช้พระหัตถ์ซ้ายที่เรียกว่า “ปางสะดุ้งกลับ” (กลับร้ายกลายเป็นดี) ที่ปรากฏคติและศิลปะในเชียงรุ้ง เชียงแสนล้านนาและล้านช้าง มาก่อนหน้าแล้ว ทั้งยังสลักผ้าสังฆาฏิให้กับพระพุทธรูปบางองค์เพิ่มเติมเพื่อเปลี่ยนให้เป็นพระพุทธเจ้าแบบเถรวาท ยกเว้นแต่พระพุทธรูปที่สวมเทริดอุณหิส (ที่อาจปล่อยให้เป็นพระศรีอาริยเมตไตรย)  
.
*** การใช้ประโยชน์จากภูพระเพื่อเป็นวัดป่า/อรัญวาสี (มีโคนหินเพิงสลักพระเจ้าองค์ตื้อเป็นศูนย์กลาง) คงได้สิ้นสุดลงกลายเป็นป่ารกชัฏ จนเมื่อชนกลุ่มชนลาวยุคหลังถูกกวาดต้อน/อพยพจากเวียงจันทน์ (ท้าวแล) เข้ามาในพื้นที่  จึงได้มีการมาพบเจติยสถานที่ภูพระอีกครั้ง ชาวลาวได้นำคติความเชื่อฮีตสิบสอง (ประเพณี 12 เดือน ที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาแบบลาว) คองสิบสี่ การบูชาผีฟ้า/ผีแถน/ผีบรรพบุรุษ ตามวิถีวัฒนธรรมของตน มาประยุกต์ใช้กับเจติยสถานเก่าแก่ในพระพุทธศาสนา โดยได้จัดให้มีพิธีกรรม “ลำผีฟ้า/บูชาแถน ในช่วงเดือน 3 และเดือน 5 ของทุกปี
.
*** ลำผีฟ้า/บูชาแถนของชาติพันธุ์ลาว เป็นการนำคติความเชื่อและพิธีกรรมบูชาผีฟ้า/ผีบรรพบุรุษ เข้ามาสวมทับกับซากพุทธสถานโบราณที่เพิ่งมาพบใหญ่ในเขตที่ตั้งชุมชนของตน จึงมิใช่เป็นคติเดียวกันแบบ “ผีปนพุทธ” มาตั้งแต่แรกนะครับ

เครดิต :FB
วรณัย 

วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2564

พระพุทธรูปปฏิมากรทองคำ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระพุทธปฏิมากรทองคำ” พุทธศิลป์แบบปลายรัฐสุโขทัย วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร

พระพุทธรูปประประธานในพระวิหาร วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร เป็นพระพุทธปฏิมากรทองคำเนื้อแก่ทองแดง ที่เป็นโลหกรรมแบบโบราณที่ใช้ทองคำบริสุทธิ์ (ที่มีสายแร่ทองแดงผสมมาตามธรรมชาติ/ไม่มีการถลุงแยก) มาใช้เป็นโลหะวัสดุในการหล่อแบบไล่ขี้ผึ้งทั้งองค์ มีพุทธศิลป์แบบปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ มีพระพักตร์กลมไข่ พระเนตรเล็ก พระขนงโก่งเชื่อมกับสันพระนาสิกทั้งสองด้าน พระโอษฐ์ทรงกระจับเล็ก พระหนุสอบเล็กกลม ขนาดหน้าตักกว้าง 1.6 เมตร สูง 1.83 เมตร เดิมนั้นถูกหุ้มปูนพอกไว้เป็นพระประธานของวิหารร้าง (โบสถ์เก่า) ที่มีพุทธศิลป์แบบต้นรัตนโกสินทร์ ต่อมาใน พ.ศ. 2499 พระสุขุมธรรมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามในเวลานั้น ได้พบรอยกะเทาะของปูนหุ้มที่พระพักตร์ของพระพุทธรูป ทำให้รู้ว่ามีพระพุทธรูปทองคำฝังอยู่ภายในองค์พระ จึงได้แกะปูนที่พอกออกทั้งหมด เมื่อมีการขัดผิวขององค์พระเกิดจึงเป็นสีทองแวววาวเปล่งปลั่ง จึงถูกถวายพระนามว่า “หลวงพ่อทองสุก”ครับ 
.
ที่ฐานเขียงขององค์พระพุทธรูป ปรากฏจารึกภาษาไทยสุโขทัย 3 บรรทัด ที่อาจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ ได้อ่านแปลไว้ ความว่า 
.
“...ศาสนาพระเจ้าได้ ๑๙๖๗ (ปีแบบลังกา) ปีเถาะ เดือน ๓ ออก ๗ คํ่า เสด็จท่านพระญาศรียศราช...... ศรัทธาประสาทอวย ทานกัดสวน ๒ อัน แห่งเจ้านนทปัญญาเป็นฉัน พระเจ้าองค์นี้ สวนหนึ่งต้นคํ้า ตระพังปลาย จดดอกหวาย ๖ ไร่สวน .....กับลูกเมีย.... ข้าวของทั้งมวลบําเรอพระเจ้านี้บ่ต่อสิ้นพงศ์แห่งมัน เมื่อสิ้นเขาผู้ใดบําเรอพระเจ้าได้ให้ (รุ่งเรือง ?)......”
 .
*** ชื่อนามพระญาศรียศราช และปี พ.ศ. 1966 สอดรับกับพระนาม “เจ้าราชศรียศ”ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีก เลขที่ 222, 2/ก,104 (ความเริ่มจากลำดับที่ 471-476 ภาคปลาย) ความว่า 
.
“...แล้วให้ส่งหนังสือไปถือพระมหา (ธรรมราชา) แลพระยารามราช พ่อยาแสนสอยดาว ได้พระกำหนดผู้เป็นเจ้าที่มีพระบัณฑูรแต่ก่อนหน้าแล้ว และพระยาเชลียงก็ไว้ (มอบ) เมืองสวรรคโลกแก่เจ้าราชศรียศ ผู้เป็นบุตร หมื่นใจขวาง ขุนนครไชย นักพฤทธิ์ ทั้งหลายแลพลกุฎีศีลบาล (ข้าโอกาส) ประมาณ ๓,๐๐๐ คนแล้ว พระยาเชลียงก็สั่งแก่เจ้าราชศรียศว่า ถ้าพระยาทั้งสามให้ช้างขึ้นมาถึงเราเมื่อใดไซร้ ก็ให้เร่งตามทัพเราจนทัน อนึ่งถ้าพี่เรามหาธรรมราชามาถึงไซร้ ให้เข้ามาอยู่รั้งเมืองด้วย....” 
.
สอดรับกับตำนาน มูลศาสนา (ฉบับวัดยางควง เชียงตุง) ที่ระบุว่า “...ในปี พ.ศ. 1972 พระยาเชลียงมีพระนามว่า “ไสยศรียศ”...” 
.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีกและตำนานมูลศาสนาวัดป่าแดง กล่าวถึงช่วงเวลาที่สมเด็จพระบรมราชธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยาขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 1967 ใกล้เคียงกันว่า ขณะนั้นพระยาบาล/บรมปาล เมืองเจ้าเมืองพิษณุโลกได้ลงมาเข้าเฝ้าที่เมืองสองแคว เจ้าสามพระยาจึงพระราชทานสุพรรณบัฏเครื่องราชูปโภคและเฉลิมพระนามเป็นมหาธรรมราชา และโปรดเรียกให้พระยารามราช พระยาเชลียง และพระยาแสนสอยดาว มาช่วยงานด้วย ซึ่งก่อนหน้านั้น รัฐสุโขทัยภายหลังพรญาเลอไท ในปี พ.ศ. 1952 ได้แตกแยกออกจากกันเป็น 4 ส่วน มีกษัตริย์ปกครองเป็นอิสระต่อกัน โดยมี “พญาบาลเมือง/บรมปาล” (มหาธรรมราชา) ปกครองอยู่ที่เขตสองแคว มีความสัมพันธ์กับ “พญาเชลียง” ที่ปกครองเขตสวรรคโลก (ต่อมาคือ พระยาไสศรียศ) “พญารามราช” ที่ปกครองกรุงสุโขทัยและ “พญาแสนสอยดาว” ที่กำแพงเพชร (ปรากฏชื่อพระนามชัดเจนในจารึกลานเงินเสด็จพ่อพระยาสอย พ.ศ. 1963)  ครับ
.
*** พระพุทธรูปทองคำที่วัดหงส์รัตนาราม จึงควรถูกหล่อขึ้นในยุคพระญาเชลียง กษัตริย์แห่งเมืองเชลียง พระราชบิดาของเสด็จท่านพระญาศรียศราช พระราชโอรสผู้ถวายพระพุทธรูปทองคำ ในปี พ.ศ. 1966 ที่เมืองเชลียง ช่วงเวลาก่อนที่พระบรมราชาธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยา (กรุงศรีอยุธยา) จะขึ้นครองราชย์
.
เป็นตัวอย่างอันดีของพัฒนาการงานพุทธศิลป์แบบรัฐสุโขทัยแท้ ๆ  ปลายยุคสมัยแห่งความรุ่งเรือง ช่วงต้นของปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ที่ยังไม่ปรากฏอิทธิพลงานศิลปะแบบอยุธยาเข้ามาผสมผสานครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

พระพุทธรูปเชิงช่างหริภุญชัย

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระพุทธรูปดินเผาเชิงช่างหริภุญชัย” ความงามที่ไม่มีใครเหมือน

พุทธศาสนาของ “นครหริภุญชัย” รุ่งเรืองสูงสุดในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช (พระเจ้าทิตตะ) จนถึงสมัยพระเจ้าสววาธิสิทธิ (สรรพสิทธิ์) ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ใช้ภาษารามัญ/มอญเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร ใช้อักษรมอญโบราณ บันทึกเป็นภาษามอญและบาลีเป็นหลัก 
จนถึงราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรหริภุญชัยที่ปกครองโดยพญาญี่บา ได้พ่ายแพ้ต่อพญามังราย สิ้นสุดยุคสมัยของอาณาจักรรามัญตะวันออกครับ
.
ในช่วงเวลานี้ ได้มีความนิยมในการสร้าง “พระพุทธรูปดินเผา” (Terracotta Buddha Statue) ในงานศิลปะที่มีรูปแบบเฉพาะตัวขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งหมดจะมีรูปพระพักตร์ค่อนข้างยาว พระหนุโค้งกลมเล็ก พระนลาฏใหญ่ พระขนงเป็นสันนูนต่อกันเป็นปีกนก บางองค์มีพระอุณาโลมเหนือพระพระขนง พระเนตรใหญ่โปน เปลือกพระเนตรมีทั้งแบบเหลือบต่ำ ไปจนถึงเบิกกว้างจนเห็นพระกาฬเนตรชัดเจน พระนาสิกบาน พระโอษฐ์ยาว บางองค์มีพระมัสสุ (หนวด)เหนือพระโอษฐ์ มีเส้นขอบไรพระศกนูน เส้นพระเกศาขมวดเป็นวงก้นหอย แต่นูนแหลมทรงกระบอกแบบหนามทุเรียน นุ่งห่มคลุม บางองค์มีผ้าชายสังฆาฏิยาวตรงลงมายาวถึงพระอุทร ปลายผ้าตัดเรียบ นั่งในท่า ขัดสมาธิเพชร ขัดไขว้ข้อพระบาท หงายพระบาทออกให้เห็นทั้งสองแบบการปฏิบัติโยคะที่เรียกว่า “วัชราสนะ”(Vajrāsana) พระหัตถ์ขวาวางบนพระเพลา แสดง“ภูมิสปรรศมุทรา” (Bhūmiśparṣa Mudrā) หรือปางมารวิชัย 
.
พระพุทธรูปดินเผาศิลปะหริภุญชัยองค์หนึ่ง ได้รับมอบมาจากสมาคมเผยแพร่และส่งเสริมศิลปวัตถุเมื่อปี พ.ศ. 2531 เคยจัดเก็บไว้ที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถูกนำมาจัดแสดงในงานนิทรรศการ "อารยธรรมวิวัฒน์ : ลพบุรี - ศรีรามเทพนคร" ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ได้แสดงความสมบูรณ์และความงดงามของพระพุทธรูปดินเผาในสกุลช่างหริภุญชัยที่หาดูได้ยาก พระหนุโค้งกลมเล็ก พระนลาฏใหญ่ มีพระอุณาโลมเหนือกึงกลางพระขนงที่ปั้นเป็นสันนูน พระเนตรเบิกกว้าง พระนาสิกบาน (แตกหัก) พระกรรณใหญ่โค้ง พระอุษณีษะ (หม่อมกะโหลก) หักออกไป แผ่นหลังตัดเรียบไม่เต็มองค์ เหมือนจะใช้นำมาประดับอาคารเจติยสถาน โดยมีร่องใหญ่ที่ด้านหลังเพื่อยึดประกบกับผนังครับ   
.
ที่ส่วนฐานเชียงด้านหน้ามีจารึกเป็นอักษรมอญโบราณ ภาษามอญ/บาลี อายุอักษร/ภาษาในช่วงกลาง-ปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ได้มีการแปลความไว้ว่า “...นี้คือในกาลที่พ่อราชินีสร้างพระปางตรัสรู้ กับชนชาวบ้าน/ นี้คือพระปางตรัสรู้ ในวาระที่พ่อ (ของ) ราชินี (?) ร่วมกันสร้างกับชาวบ้าน...” 
.
ประติมาณของพระพุทธรูปดินเผาองค์นี้ แสดงความเป็น “พระศากยมุนีพุทธเจ้า” (Shakyamuni) ในพุทธประวัติตอนผจญมาร (Assault of Māra) ประทับในท่าขัดสมาธิเพชรแบบโยคะและแสดงมุทราตามคติและศิลปะฝ่ายมหายาน (Mahāyāna Buddhism) จากอิทธิพลราชวงศ์ปาละผ่านมาทางพุกามตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 แต่เริ่มรับอิทธิพลการพาดผ้าสังฆาฏิแบบเถรวาทจากฝ่ายรามัญนิกายเข้ามาผสมผสาน ส่วนพระพักตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ รวมกับเม็ดพระเกศาแหลมแบบหนามทุเรียน เป็นงานฝีมือของกลุ่มช่างพื้นถิ่นรามัญ/หริภุญชัยที่นิยมกันเฉพาะในช่วงเวลานั้นครับ    
.
*** พระพุทธรูปในคติมหายานแบบหริภุญชัย เป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงว่าในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 นั้น ราชสำนักผู้ปกครองหริภุญชัยเดิมยังคงนิยมศิลปะฝ่ายมหายานตามแบบราชวงศ์ปาละและอาณาจักรพุกาม ซึ่งต่อมาเมื่อกลุ่มรามัญอีกกลุ่มหนึ่งจากทางใต้ได้เข้ามาครอบครองหริภุญชัย จึงเกิดการผสมคติรามัญนิกาย/เถรวาทเมืองพัน เข้ากับมหายาน/หริภุญชัย จนเกิดเป็นนิกายใหม่ ส่งอิทธิพลลงมายังละโว้ตามเส้นทางการค้า ผสมผสานอีกครั้งกับคติวัชรยานในยุคจักรวรรดิบายน จนเกิดเป็นนิกายลูกผสม “คณะกัมโพชสงฆ์ปักขะ”(Kambojsanghapakkha) ขึ้นที่ละโว้เป็นครั้งแรก 
.
*** คติและลูกผสมงานศิลปะของคณะกัมโพชสงฆ์ปักขะที่เกิดขึ้นในละโว้ ได้ส่งความนิยมย้อนกลับขึ้นไปยังหริภุญชัย และอาณาจักรมอญตะวันตกในช่วงกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ครับ  
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ปราสาทกำแพงแลง เพชรบุรี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ปราสาทกำแพงแลง” ศูนย์กลางวิษัยนครศรีชยวัชรปุรี เมืองท่าบายนที่เพชรบุรี

ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 อาณาจักรกัมพุชะเทศะ (Kambujadeśa ) ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ขยายอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจกลับเข้ามายึดครองเมืองลวปุระอีกครั้ง ดังความในจารึกปราสาทพิมานอากาศ (K.485) ที่ได้กล่าวถึงการส่งพระราชโอรสนามว่า “นฤปตีนทรวรมัน” มาปกครอง ทั้งยังใช้เมืองลวะปุระเป็นฐานที่มั่นใหญ่ ขยายอิทธิพลเข้ามาสู่แดนตะวันตก ที่ราบภาคกลางและลุ่มเจ้าพระยาตอนบนอีกครั้ง ดังปรากฏร่องรอยสำคัญ ใน “จารึกปราสาทตอว” (K.692) ที่แสดงว่ามีการทำสงครามเพื่อพิชิตเหล่าพระราชาในดินแดนตะวันตก (รามัญนะ/ทวารวดี) เช่นเดียวกับการทำสงครามกับอาณาจักรจามปา (Campāpura) ทางตะวันออก 
.
ความใน “จารึกปราสาทพระขรรค์” (K.908) บทที่ 114 121 และ 159 ได้กล่าวถึง “วิษัยนคร” (Viṣaya) ที่น่าจะเป็นเมือง/ดินแดนที่ถูกเข้ายึดครองรวมเข้าอยู่ภายในจักรวรรดิตามจารึกปราสาทตอว์ เริ่มจาก “ลโวทยปุระ” (Lavodayapura) หรือเมืองโบราณลพบุรี วิษัย “ศรีชยสิงหปุรี” (Śrí Jaya-Siṃhapurí) หรือเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี  เมืองใหญ่เพื่อการควบคุมเส้นทางตะวันตก (แม่น้ำแม่กลอง) ข้ามเทือกเขาตะนาวศรีไปยังอ่าวเบงกอล วิษัย “ชยราชปุรี” (Jaya-Rájapurí) เมืองซ้อนทับรามัญ/ทวารวดี ที่มีราชวิหารเป็นศูนย์กลางอยู่ที่วัดมหาธาตุราชบุรี  วิษัย “สุวรรณปุระ” (Svarṇapura) เมืองซ้อนทับที่บ้านหนองแจง  อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีเครือข่ายชุมชนขนาดเล็กที่มีศาสนสถานประจำสรุก กระจายตัวไปทั่วลุ่มน้ำท่าว้า/ท่าจีน อย่างบ้านเนินทางพระ บ้านดอนกอก บ้านดอนคา บ้านดงเชือก  วิษัย “ศัมพูกปัฏฏนะ” (Śambúkapura) สระโกสินารายณ์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ใกล้กับเส้นทางโบราณตามแม่น้ำแม่กลองที่มีจอมปราสาทเป็นศูนย์กลาง วิษัย “ศรีชยเกษมบุรี” (Śrí Jaya-Käemapurí)  ที่อาจหมายถึงเมืองโบราณสุโขทัย เมืองใหญ่เพื่อการควบคุมทางเหนือขึ้นสู่จีน วิษัย "ศรีชยปุรี" (Śrí Jayapurí) ที่อาจหมายถึงเมืองโบราณที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐมครับ 
.
เมืองท่าเล็ก ๆ ดินแดนสันทรายจุดเชื่อมต่อชายทะเลกับภาคพื้นทวีป ที่สามารถเชื่อมต่อการค้าทางทะเลและการค้าทางบกบนคาบสมุทรนามว่า “เติ่งหลิ่วเหม่ย” (Dengliume/i登流眉) ตาม “บันทึกจูฟานจื้อ” (Zhu Fan Zhi) ช่วงราชวงศ์ซ่งใต้ ก็ได้ถูกเข้ายึดครอง โดยอาจได้เกณฑ์/ขนย้ายผู้คนเป็นกองคาราวานจากเมืองมัลยัง/มังคละปุระ (Malyang/Maṅgalapura) มาสร้างเป็นวิษัย/สฺรุกใหม่ ในนามวิษัย “ศรีชยวัชรปุรี” (Śrí Jaya-Vajrapurí) เพื่อคุมเส้นเส้นทางการค้าออกสู่โลกภายนอก ทั้งยังเป็นเมืองท่าการค้าจีน-อาหรับ และเป็นเมืองหน้าด่านกันชนกับเมืองครหิ (ไชยา) กลุ่มสหพันธรัฐตามพรลิงค์/ตมฺลิงคะ/ตานมะลิงค์/ในคาบสมุทรภาคใต้ที่กำลังเติบโตขึ้น โดยสร้างศาสนสถานศูนย์กลางของเมืองที่ “ปราสาทกำแพงแลง” ปัจจุบันคือ “วัดเทพปราสาทศิลาแลง” ริมถนนโพธิ์การ้องภายในตัวเมืองเพชรบุรี  
.
ปราสาทหินหรือศาสนสถานประจำเมือง (สฺรุก) ตามขนบงานสถาปัตยกรรมแบบราชสำนักบายน ถูกสร้างขึ้นเกือบกึ่งกลางวิษัยนครศรีชยวัชรปุรี ที่มีผังเมืองเป็นกำแพงคันดินกว้าง 1.1 กิโลเมตร ยาว 1.2 กิโลเมตร ล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยม (มีขนาดใกล้เคียงกับเมืองศัมพูกปัฏฏนะ/บ้านโป่ง และเมืองศรีชยปุรี/พระราชวังสนามจันทร์) ในปัจจุบันแนวกำแพงเมืองเดิมกลายเป็นถนนพงษ์สุริยา หน้าวัดใหญ่สุวรรณาราม ถนนช่องสะแกฝั่งตะวันออก ถนนท่าหินฝั่งทิศใต้และถนนพาณิชเจริญ ฝั่งทิศตะวันตกติดแม่น้ำเพชรบุรี  เป็นปราสาทเรือนยอดทรงวิมานศิขระ 5 หลัง ปราสาทประธานตั้งตรงกลางมีผังจัตุรมุข มุขทั้ง 4 ด้านเป็นมุขยกชั้นซ้อน มีคูหายื่นเปิดเป็นซุ้มประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน ตามคติ “ปราสาทเพื่อการแสดงอานุภาพบารมี” ที่นิยมประดิษฐานรูปของ “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งอานุภาพบารมี 8 พระกร”  (Bodhisattva Avalokiteśvara  Irradiant/ Prestige-Almighty) ในห้องครรภธาตุของปราสาทประธานหลังกลาง ล้อมรอบด้วยปราสาท 4 หลัง ตรงตามแกนประตูทั้ง 4 ทิศ ที่ประดิษฐานพระโพสัตว์อวโลกิเตศวร 4 พระกร พระอาทิพุทธนาคปรกและเทวีปรัญาปารมิตา ขนบเดียวกับปราสาทพนมบานัน ปราสาทพระถกล/กำปงสวาย ปราสาทวัดนครบาเจย ปราสาทตาพรหมโตนเลบาตี  ในประเทศกัมพูชา หรือปราสาทจอมปราสาท บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีและปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรีครับ  
.
ถึงโคปุระทิศตะวันออกด้านหน้ามีผังจัตุรมุขแต่ก็มีปีกอาคารด้านข้างยาวกว่ามุขด้านหน้าและด้านหลังตามแบบโคปุระปราสาทพนมบานันไม่มีผิดเพี้ยน ด้านหน้าของโคปุระยังมีการแกะสลักโกลนบนผนังของมุขหน้าและปีกทั้งสองฝั่ง เป็นรูปหน้าต่างกรงลูกแก้วปิดผ้าม่าน (หลอก) ลงมาครึ่งหนึ่ง เป็นลักษณะเด่นเฉพาะของภาพศิลปะหน้าต่างในแบบบายน ส่วนปราสาทบริวารอีก 3 หลัง (ทางตะวันตก เหนือและใต้) มีเรือนธาตุทรงจัตุรมุข โดย 2 หลังที่ขนาบปราสาทประธาน มีร่องรอยการต่อเติมมุขหน้าและมุขหลังยาว ส่วนปราสาทด้านหลัง (ตะวันตก) ผังจัตุรมุขพังทลายลงมาทั้งหมด 
.
แผนผังปราสาท 5 หลังของปราสาทกำแพงแลงมีความคล้ายคลึงกับปราสาทอานุภาพหลังอื่น ๆ แต่ปราสาทเกือบทุกหลังจะมีระเบียงคดก่อด้วยหินมุงหลังคา ส่วนปราสาทกำแพงแลงก็อาจเคยมีการสร้างระเบียงคดแบบหลังคาเครื่องไม้ แต่ไม่มีการกรุหินที่ฐานด้วยเพราะขาดแคลนแหล่งวัตถุดิบหินศิลาแลงในท้องถิ่นและแรงงานที่ไม่เพียงพอ ซึ่งต่อมาอาคารเครื่องไม้ของระเบียงคงได้ถูกรื้อ/เผาทำลายไปจนหมด เช่นเดียวจอมปราสาท ที่อำเภอบ้านโป่งครับ
*** คติปราสาทเพื่อแสดงอานุภาพของจักรวรรดิ/จักรพรรดิ สอดรับกับการขุดค้นทางโบราณวิทยาที่ปราสาทกำแพงแลง ที่ได้มีการขุดพบหลักฐานชิ้นส่วนรูปประติมากรรมของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งอานุภาพบารมี รูปพระพุทธรูปนาคปรก รูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร 2 รูป พระเศียรของเทวีปรัชญาปารมิตาและนาคหัวราวบันได ซึ่งทั้งหมดมีลักษณะถูกทุบทำลายให้แตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอย่างตั้งใจ
.
*** ลวดลายปูนปั้นของปราสาทประธานปราสาทกำแพงแลงที่ยังหลงเหลืออยู่ ได้แสดงถึงฝีมือเชิงช่างในเทคนิคการปั้นปูนประดับบนศิลาแลง สร้างลวดลายที่มีความความสวยงามไม่แตกต่างไปจากการแกะสลักหินทราย วางโครงแม่ลายและจัดวางตามขนบแบบแผนศิลปะบายน แต่ได้ผสมลวดลายในท้องถิ่น ทั้งลายลวดบัวบัวหัวเสา บัวกุมุทและดอกไม้สี่กลีบแบบแยกวางห่าง ลายประจำยาม ลายเฟื่องอุบะแบบมาลัย ลายเพื่องอุบะใบมะม่วง/ดอกบัวตูมแหลม ลายหน้ากาลลิ้นยาวกลางยอดลำยอง (รวยนาค) มกรตัวเล็กลีบปากกว้างคายนาคปลายหน้าบัน 5 เศียร บัวหงายกลีบใหญ่ซ้อนของชั้นรัดเกล้า ลายประดับภายในใบระกา (ครีบรวยนาค/ลำยอง) ที่ทำเป็นลายกระหนก รูปตัวสิงห์และหน้ากาลผสมผสานลายขดม้วนหัวกลม ซึ่งแตกต่างไปจากลวดลายตามขนบงานศิลปะเขมรโบราณไปเกือบทั้งหมดครับ  
.
*** เมื่อสิ้นสุดจักรวรรดิบายนอายุสั้น ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ราชสำนักผู้ปกครองนครศรีชยวัชรปุรีที่เป็นชาวมัลยัง คงยังมีความสัมพันธ์ในเชิงเครือญาติและการเมืองอย่างแน่นแฟ้นกับราชสำนักในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 มีสถานะเป็นรัฐอิสระขนาดเล็ก ดังปรากฏในบันทึกราชวงศ์หยวน “ต้าเต๋อ หนานไห่จื้อ” (Ta děi Nan hi tchih) ของ “เฉินต้าเจิ้น” (Chen Ta-Chin) ได้กล่าวถึงวิษัยวัชรปุรีว่า “...ในช่วงปี พ.ศ. 1837 กันมู่ติง (กมรเตง) ผู้ปกครองจากนครปี้ชาปู้หลี (Bi cha bu li /ไพชะบูรี)  ได้ส่งราชทูตมาถวายเครื่องราชบรรณาการ ในเดือน 6 วันเกิงอี๋น ปีที่ 31 รัชกาลจี้หยวน...” ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของพระจักรพรรดิจูหวางตี้ หรือ “กุบไลข่าน” (Kublai Khan) 

ในช่วงเวลาอันสั้นนี้ มีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นปราสาท 3 หลัง ตามคติฝ่ายฮินดูไศวะนิกาย โดยมีร่องรอยการก่อสร้างต่อเติมมุขซุ้มหน้าและหลังของปราสาทบริวารให้ยาวขึ้น รื้อปราสาทองค์ด้านหลังออก อาจรื้อถอน/ทุบทำลายรูปประติมากรรมในคติวัชรยานเดิมทั้งหมด จนมาถึงประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 19 กลุ่มรัฐวัชรปุรี/เพชรบุรี จึงได้ถูกกลุ่มรัฐสุพรรณภูมิจากทางเหนือ ที่เป็นรัฐของชาวรามัญ-ทวารวดีดั้งเดิมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา/ท่าจีน เข้าโจมตีและอาจได้ทุบทำลายรูปเคารพอันเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจเดิมทั้งหมดภายในปราสาทกำแพงแลงอีกครั้ง ผนวกเมืองวัชรปุรี/เพชรบุรีเข้าในรัฐสุพรรณภูมิ ที่กำลังพัฒนาขึ้นมาเป็นรัฐใหญ่ในเขตตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามชื่อนาม “เสียน” ในบันทึกยุคราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิงครับ
.
*** ปราสาทกำแพงแลง จึงได้ถูกเปลี่ยนแปลงมาเป็นพระปรางค์/พระธาตุ/พุทธสถานแบบเถรวาท/ลังกาวงศ์ ประดับบันแถลงเป็นรูปใบเสมา ปั้นพระพุทธรูปยืนปางประทานพรที่อกเลาของผนังประตูหลอกเดิม ซึ่งต่อมาในช่วงสมัยอยุธยา ยังก็ได้มีการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปสลักหินทรายเข้ามาประดิษฐานในคูหาปราสาท และคงได้ถูกทิ้งร้างหมดความสำคัญไปช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครับ
.
.
*** ปล. หลังตุรษจีนนี้ ชวนไปเที่ยวเมืองศร้างสรรค์อาหารอร่อยระดับ UNESCO กินปูดูปราสาท ที่เพชรบุรีกันครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy

วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2564

โนรา/มโนราห์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“โนรา/มโนราห์” มรดกแห่งภูมิปัญญาของมนุษยชาติ เริ่มต้นมาจากวรรณกรรมฝ่ายมหายานของรัฐศรีวิชัย

การแสดงร่ายนำประกอบเนื้อเรื่อง “โนรา” (Norah, Dance Drama) เป็นนาฏกรรม (Dramatic presentation) ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภาคใต้ของประเทศไทย มีเนื้อเรื่องในการแสดงมาจากเรื่อง “พระสุธน-มโนราห์ชาดก”(Sudhana-Manoharā) ที่มีเนื้อหาหลักมาจาก “กินรีชาดก” (Kinnarī-jātaka) ปรากฏในวรรณกรรมเก่าแก่ทางพุทธศาสนาอย่าง “มหาวัสดุ” Mahāvastu/นิกายมหาสังฆิกะ (Mahāsāṅghika) ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 4 - 5 และใน “คัมภีร์ทิวยาวทาน” (Divyāvadāna) วรรณกรรมประเภทเรื่องเล่า/อวทาน (Avadāna) ประมาณพุทธศตวรรษที่ 7- 8  ปรับเปลี่ยนเนื้อหามาเป็น “กินรีสุธนชาดก” (Kinnarīsudhana-jātaka) เรื่องเล่าพระโพธิสัตว์ 35 เรื่องของ “หริภัฏฏชาดกมาลา (Haribhaṭṭa-Jātakamālā) ในภาษาสันสกฤต ที่มีอายุการรจนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10-11 ทั้งยังแพร่หลายและส่งอิทธิพลให้กับนิทานในญี่ปุ่น (เรื่อง “ฮาโกโรโม" แปลว่าเสื้อขนนก) จีน ลาว ชวา เขมร มอญ บอร์เนียว ในเค้าโครงการดำเนินเรื่องที่คล้ายคลึงกัน คือมีนางฟ้า/นางกินรีจากสวรรค์แบบต่าง ๆ ลงมาเล่นน้ำ และถอดปีกหางหรือเสื้อผ้าไว้ แล้วมีนายพรานมาขโมยเอาปีกหางหรือเสื้อผ้า เลยกลับไปสวรรค์ไม่ได้ 
.
วรรณกรรมสันสกฤตเรื่องพระสุธน/มโนราห์ ปรากฏอย่างชัดเจนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งแรกจากอิทธิพลของ “ราชวงศ์ปาละแห่งคาบสมุทรมาลายู” (Pala Dynasty of Malay Peninsula) ตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 ราชสำนักที่มีความนิยมในพุทธศาสนาแบบมหายาน/วัชรยาน (Mahāyāna/ Vajrayāna Buddhism) ใช้คัมภีร์ในภาษาสันสกฤต ได้พัฒนาจนกลายมาเป็น “ราชวงศ์ไศเลนทรา” (Śailendra Dynasty) อนุวงศ์ใหญ่ที่กระจายตัวปกครองดินแดนคาบสมุทรไปจนจรดหมู่เกาะชวาครับ
.
ซึ่งก็ดูเหมือนว่าราชสำนักไศเรนทราแห่งหมู่เกาะจะมีความนิยมในวรรณกรรมเรื่องกินรี/มโนราห์ จากอวทานในคัมภีร์ทิวยาวทานเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ดังปรากฏงานพุทธศิลป์เป็นภาพแกะสลักบนผนังกำแพงฐานชั้นที่ 1 “มหาบุโรพุทโธ” (Candi Borobudur) หรือ “ชินาลายา” (Jinalaya-แดนแห่งผู้ชนะ) จำนวน 20 ช่องผนัง  ที่สร้างขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 14  
.
การแสดงละครลำนำ/ร่ายรำเรื่องพระสุธน/มโนราห์ในราชสำนักไศเลนทรา อาจดำเนินไปตามรูปแบบ “ราธยาตรี/ยาตรา” (Rath Yatri/Yatra) ที่เป็นร่ายรำประกอบเนื้อหาของแคว้นเบงกอลตะวันตก ที่ได้ผสมผสานอิทธิพลการแสดง “กถัก กฬิ” (Kathak Kali)” อันเป็นความนิยมในกลุ่มราชสำนักฮินดูในอินเดียเหนือมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์คุปตะ เป็นการแสดงเรื่องราวละครประกอบจังหวะด้วยดนตรีที่ถ่ายทอดเนื้อหาในวรรณกรรมผ่านผู้เล่าเรื่อง (คนร้อง/คนพากย์/กลอนสด) แสดงในที่แจ้ง ไม่มีโรงละคร ผู้แสดงชายล้วน แต่งกายแบบเทพที่มีการประดับประดาอย่างหรูหราครับ 
.
สอดรับกับหลักฐานจากวรรณกรรมในภาพสลักทางศิลปะที่บุโรพุทโธ ที่ได้แสดงความนิยมในเรื่องกินรีชาดก/มโนราห์อันชัดเจน การแสดงเรื่องราวของพระสุธน/มโนราห์ ตามการลำนำเรื่องราวแบบละครราชยาตรี/กถัก กฬิ ในราชสำนักของราชวงศ์ปาละ จึงควรเป็นความนิยมในราชสำนักไศเลนทรา (ศรีวิชัย) ที่ยังเป็นการแสดงลำนำวรรณกรรมแบบเดียวกับการแสดงละคร “รามายณะ” ที่นิยมในวัฒนธรรมชวา/อินโดนิเชีย สืบทอดต่อมาจนถึงในปัจจุบัน  
.
การแสดง “มโนราห์” (ดำเนินเนื้อเรื่องแบบละครชาตรี) ที่มีการแต่งกายอย่างหรูหรา ประดับลูกปัดแก้วแบบเฉพาะคาบสมุทรร้อยเป็นเส้น สวมปลอกเล็บงอน นุ่งผ้าแบบโธฏียาวคลุ่มสมพตขายาว ทิ้งชายผ้ากุฎิสูตร สวมเทริดมียอดแหลมแบบเทพเจ้าอินเดีย จึงควรมีมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรศรีชัยตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 ครับ
ซึ่งต่อมาก การแสดง “มโนราห์ยาตรี” ได้มีพัฒนาเปลี่ยนแปลงท่าร่ายรำและการประยุกต์เครื่องแต่งกายไปตามยุคสมัย แต่ยังคงเป็นกินรีชาดกตามแบบวรรณกรรมมหายาน ทั้งยังส่งความนิยมในรูปแบบการแสดงละครลำนำ/ดำเนินเรื่องราว ให้แก่ราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ในวรรณกรรมชาดกอื่น ๆ มาตั้งแต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมา แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยม จนมาถึงช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้เกิดละครชาตรี (ชายล้วนแบบโนรา) ขึ้น โดยใช้เนื้อหาในวรรณกรรมเรื่องอื่นมาลำนำการแสดง 
.
**** เป็นรากเหง้าที่เกิดขึ้นจากผสมผสานคติเรื่องราวในวรรณกรรมและการแสดงร้องรำทำเพลงในท้องถิ่น สะสมพัฒนาไปตามยุคสมัยในดินแดนคาบสมุทรปักษ์ใต้มาตลอด 1,200 ปี มิได้เป็นการรับรูปแบบการแสดงไปจากกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด 
.
.
*** ในวันนี้ การแสดงละครลำนำ “โนรา” จากภาคใต้ของประเทศไทย ได้รับการรับรองให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Intangible Cultural Heritage) จากองค์การยูเนสโก (UNESCO) อย่างเป็นทางการแล้วครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2564

รอยพระพุทธบาท สระบุรี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
รอยพระพุทธบาท

ท่านพระอาจารย์เคยเล่าให้ฟังถึงเรื่องรอยพระพุทธบาท ที่อยู่จังหวัดสระบุรีว่าเป็นรอยพระพุทธบาทแท้ตามตำนานปรัมปราว่า ประทานแก่ฤาษีหรือนายพราน แต่ท่านพระอาจารย์ว่า ทรงประทานไว้แก่สามเณรเรวตะ ผู้เป็นน้องชายพระสารีบุตร

ท่านพระอาจารย์เคยไปนมัสการเล่าว่า มีมณฑปที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างไว้มีคนเฝ้ารักษา ท่านอยากดูภาพมงคล ๑๐๘ ในรอยพระพุทธบาท แต่คนเฝ้าไม่ยอมเปิด อ้างว่าไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต เลยไม่ได้ดู ท่านว่า

ส่วนรอยที่ ๒ ชื่อว่า"พระบาทฮังฮุ้ง" (รังเหยี่ยวใหญ่) พระพุทธบาทนี้ ประดิษฐานอยู่ที่โยนกประเทศ อยู่ที่เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า รอยพระบาทนี้ประทานแก่อชิตฤาษี ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์จะมาตรัสรู้ข้างหน้า เคยเป็นพระสหาย สงเคราะห์กันมาหลายภพหลายชาติ ประทานไว้บนแผ่นหิน

ความว่า หลังจากเสด็จเยี่ยมฤๅษีอชิตะ ได้สนทนาร่าเริงกันแล้ว ฤๅษีได้ถวายผลไม้ พร้อมทั้งต้มน้ำกระดูกสัตว์ถวาย ก่อนเสด็จกลับ ฤๅษีขอรอยพระบาทไว้เป็นที่ระลึก

พระพุทธองค์ทรงตรัสถาม "จะไว้ที่ไหน"

ฤๅษีกราบทูลว่า "บนแผ่นหินมีรังเหยี่ยวใหญ่อาศัยเลี้ยงลูกอยู่"

พระพุทธองค์ทรงตรัสถาม "ทำไมจึงให้ประทับไว้ที่นั่น"

ฤๅษีกราบทูลว่า " ในวันฝนตก ไม่ได้ออกไปหาผลไม้ ข้าพระองค์ได้อาศัยเก็บกระดูกสัตว์มาต้มบริโภค ถ้าพระองค์ประทานรอยไว้ที่นั่น วันที่ขึ้นไปเก็บกระดูกสัตว์ จะได้ทำความสะอาด และกราบนมัสการด้วย"
พระบาทฮังฮุ้ง เรียกตามภาษาท้องถิ่นเชียงใหม่กับเชียงตุง พระอาจารย์มนูเคยไปกราบนมัสการ เล่าให้ฟังว่า พระบาทฮังฮุ้งนี้อยู่บนแผ่นหินที่ตั้งขึ้นไป ไม่มีทางขึ้น เจ้าเมืองเชียงตุงทำบันไดเวียนขึ้นไปแต่นานแล้ว บันไดตอนกลางต่อโซ่ใส่พอได้ปีนขึ้นไป แต่ผู้หญิงหรือคนไม่แข็งแรงขึ้นไม่ได้ พระอาจารย์มนูตั้งใจจะขึ้นไปพักภาวนา แต่พอขึ้นไปแล้ว แผ่นหินนั้นเหมือนหลังช้าง ไม่มีที่ให้พัก บริเวณไม่กว้าง ประมาณ ๑๐ วา รอบปริมณฑล เอาบริขารไปด้วย พะรุงพะรังลำบาก ขากลับ นำเอาบริขารพะรุงพะรังกลับลงมา ถ้าพลัดตกลงมาคงไม่ได้กลับบ้านเรา
เรื่องพระพุทธบาทท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเล่าแค่นี้

หนังสือ "รำลึกวันวาน" อันเป็นบันทึกของ หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ เกี่ยวกับเกร็ดประวัติและปกิณกธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ภาพ: รอยพระพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

พระมหาวีระ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
รูปศิลปะในคติ “ศาสนาเชน” เพียงองค์เดียวในประเทศไทย ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร 
.
.
.
“ศาสนาเชน” ไชนะหรือชินะ (Jainism/Jain) แปลว่า “ผู้ชนะ” กำเนิดขึ้นที่เมืองเวสาลี (Vaishali) แคว้นวัชชี  (1 ในแว่นแคว้นที่เรียกว่า 16 มหาชนบท/รัฐพิหารปัจจุบัน) ก่อนพุทธกาลกว่า 50 ปี โดยมี “พระมหาวีระ” (Mahāvīra)  หรือ “เจ้าชายวรรธมานะ/วรรธมาน” (Vardhamāna)  ( ในวรรณกรรมฝ่ายพุทธศาสนาจะเรียกศาสนาเชนว่าลัทธิสัจจะนิครนณ์ และเรียกพระมหาวีระว่า นิครนถนาฏบุตร) เป็นพระศาสดาพระองค์แรก 
.
แต่ในวรรณกรรมของฝ่ายเชนจะอธิบายว่า ศาสนาเชนนั้นมีมายาวนานนับล้านล้านปี โดยมีพระพระฤษภนาถ/พระอาทินาถ (Ṛṣabhadeva - Adinatha) เป็นพระปฐม “ตีรถังกร” (Tirthankaras/Tīrthaṅkara - ผู้เป็นประดุจสะพานพาข้ามวัฏจักรสงสาร) องค์แรก สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน 24 พระองค์ ซึ่งพระองค์สุดท้ายกำหนดให้เป็นพระมหาวีระ โดยมีภาคพระอดีตและภาคพระอนาคตตีรถังกร อีกรวม 72 พระองค์ครับ
.
พระศาสดา/ตีรถังกรที่ได้รับการเคารพสูงสุดในศาสนาเชน คือ พระฤษภนาถ/พระฤษภเทพ  (พระอาทิตีรถังกร) พระเนมินาถ (Neminatha) ตีรถังกรองค์ที่ 22 เมื่อ 3,200 ปีที่แล้ว) พระปรรศวนาถ (Pārśvanāth ตีรถังกรองค์ที่ 23 เมื่อ 2,800 ปีที่แล้ว) และพระมหาวีระ (ตีรถังกรองค์ที่ 24 ในโลกปัจจุบัน)
.
คติความเชื่อในศาสนาเชนได้รับความนิยมศรัทธาในอินเดียควบคู่มากับพุทธศาสนา มีหลักธรรมที่คล้ายคลึงกันมาก จนไม่สามารถระบุได้ว่า ใครลอกใครกันแน่ หรืออาจเคยเป็นคติความเชื่อเดียวกันมาตั้งแต่ครั้งเริ่มแรก แต่กระนั้นเมื่อพุทธศาสนาในอินเดียถูกทำลาย ย้ายค่ายออกมายังลังกา พิหารและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ศาสนาเชนนั้นยังคงดำรงอยู่ได้ ด้วยเพราะเหล่าผู้ศรัทธาในศาสนาเชนนั้น ส่วนมากเป็นพ่อค้าวาณิชผู้มั่งคั่ง ชนชั้นสูงของสังคมที่มีการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นเอกภาพ ดำเนินกุศโลบายอันแยบยลทางการเมือง รวมทั้งการสนับสนุน/แบ่งปันทางเศรษฐกิจแบบยืดหยุ่นแก่ผู้มีอำนาจเพื่อการดำรงอยู่ของศาสนามาในทุกยุคทุกสมัยครับ 
.
รูปประติมากรรมทางศิลปะของพระตีรถังกร จะมีความคล้ายกับพระพุทธรูปที่ทำมวยพระเกศาเป็นกระจุกก้นหอย (Tuft) แตกต่างกันตรงที่รูปพระตีรถังกรนั้นจะเป็นรูปบุคคลไม่สวมอาภรณ์ เปลือยเปล่าแบบนุ่มลมห่มฟ้า ซึ่งพระตีรถังกรทั้ง 24 พระองค์ ก็จะมีสัญลักษณ์รูปสัญลักษณ์มงคลประจำพระองค์ที่แตกต่างกัน  โดย 1)พระฤษภเทพ มี วัว เป็นสัญลักษณ์  2) พระอชิตนาถ/ช้าง 3)พระสัมภวนาถ/ม้า 4)  พระอภินันทนนาถ/วานร 5) พระสุมตินาถ/นกกะสา  6) พระปัทมประภา/ปัทมะ  7) พระสุปารศวนาถ /สวัสดิกะ 8)พระจันทรประภา/พระจันทร์เสี้ยว 9) พระปุษปทันตะ-สุวิธินาถ/มกร  10) พระศีตลนาถ/กัลปพฤกษ์  11)  พระเศรยางสนาถ/แรด 12) พระวาสุปุชยะ/กระบือ 13) พระวิมลนาถ/หมูป่า 14) พระอนันตนาถ/เม่นหรือเหยี่ยว 15) พระธรรมนาถ/วัชระ 16) พระศานตินาถ/ละมั่งหรือกวาง 17) พระกุนฤนาถ/แพะ 18) พระอรนาถ/นันทวัตตะหรือปลา 19) พระมัลลินาถ/หม้อกลศ 20) พระมุนิสุวรตะ/เต่า 21) พระนมินาถ/เต่า  22) พระเนมินาถ/หอยสังข์ 23) พระปารศวนาถ/งู และ 24) พระมหาวีระ/สิงห์
.
*** คติความเชื่อในศาสนาเชน คงจำกัดอยู่เฉพาะในสังคมชั้นสูงและพ่อค้าอินเดียมาตั้งแต่ยุคโบราณ จึงไม่ปรากฏหลักฐานร่องรอยอิทธิพลทั้งทางศิลปะและความเชื่อออกมานอกดินแดนเลย ส่วนในประเทศไทยนั้น มีรูปประติมากรรมพระตีรถังกรองค์หนึ่ง ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับถวายมาจากรัฐบาลอินเดีย/อังกฤษ ในปี พ.ศ. 2476 ตามที่ได้ทรงขอไป จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เป็นรูปพระตีรถังกร นั่งแสดงธยานมุทรา/สมาธิ ในงานศิลปะแบบราชวงศ์ปาละ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 14 มีรูปสัญลักษณ์ด้านล่าง เป็นรูปสิงห์ (ทะยาน หันหน้ามาด้านใน) รูปหอยสังข์ขนาบข้างรูปดอกบัวบานตรงกลางที่หมายถึงความบริสุทธิ์ ซึ่งการปรากฏรูปสังข์ที่ชัดเจนนี้ เป็นประติมานสำคัญที่แสดงว่า รูปศิลปะนี้ก็คือ “พระเนมินาถ” ตีรถังกรองค์ที่ 22 ในศาสนาเชนนั่นเองครับ 
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2564

สุนัขขาวเห่าพระพุทธเจ้า

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พุทธศิลป์ “สุนัขขาวเห่าใส่พระพุทธเจ้า”

ภาพสลัก “สุนัขขาวเห่าใส่พระพุทธเจ้า” (The White Dog that Barked at the Buddha) ปรากฏความครั้งแรกในพระสูตรทีฆนิกาย (Dīghanikāya ) ในนิกายสรวาสติวาท (Sarvāstivāda)  นิยมสร้างเป็นรูปงานพุทธศิลป์เฉพาะในช่วงราชวงศ์กุษาณะ แบบช่างศิลปะแบบกรีก/คันธาระ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7 แต่กลับไม่พบการสร้างรูปศิลปะรูปสุนัขอยู่คู่กับพระพุทธเจ้าในพระสูตรนี้ในศิลปะแบบมถุรา หรือสืบเนื่องต่อมาในสมัยหลัง นอกจากความกล่าวถึงในคัมภีร์ต่าง ๆ เท่านั้น
.
“... ครั้งหนึ่งในระหว่างการเสด็จบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี พระพุทธเจ้าโดนสุนัขขาวตัวหนึ่งเห่าหอนใส่ด้วยอาการโกรธเกรี้ยว จึงตรัสขึ้นมาอยู่ชัดเจนว่า “ท่านโตเทยะพราหมณ์ (Todeyyaputta)  เมื่อก่อนเมื่อตอนที่ยังมีชีวิต ท่านก็ด่าว่าร้ายเรา ครั้นเมื่อตายไปเกิดเป็นสุนัขแล้ว ยังมาเห่าใส่เราอีกหรือ...”... 
.
ฝ่าย “ศุกะพราหมณ์/ศุภมานพ” (śuka Brāhmana / Śubhā Manava) บุตรของโตเทยะพราหมณ์ ได้ยินเข้าก็บังเกิดความไม่เข้าใจ คิดหาไปว่าพระพุทธเจ้าได้ดูถูกพ่อของตนที่ตายไปแล้ว ว่ามาเกิดมาเป็นสุนัข 
.
“พระองค์รู้ได้อย่างไร ว่าสุนัขขาวนั้นเป็นบิดาข้า จึงตรัสดูถูกเช่นนั้น”
.
พระพุทธองค์ จึงได้แสดงการพิสูจน์ ทรงขอให้ศุกะเอาสุนัขขาวตัวนั้นไปอาบน้ำ แล้วให้เลี้ยงอาหารอย่างดี เมื่อสุนัขขาวกินอาหารจนอิ่มหนำสำราญแล้ว พระองค์จะทำให้สุนัขขาวนั้นระลึกชาติได้ 
.
ศุกะทำตามที่พระพุทธเจ้าแนะนำ เกิดเป็นอัศจรรย์เมื่อสุนัขขาวมีอาการ กระสับกระส่าย แล้วก็พลันวิ่งไปยังมุมหนึ่งในอาณาเขตของบ้าน เอาเท้าตะกุยขุดดินจนเป็นหลุม มีทรัพย์สินที่โตเทยะพราหมณ์เคยฝังเอาไว้ก่อนตาย ทั้งถาดทองคำ รองเท้าทองคำ ร่มทองคำ และอื่น ๆ อีกมาก โดยไม่ได้บอกบุตรชาย
.
เมื่อศุกะ เห็นสมบัติในหลุมมากมาย ให้เชื่อว่าบิดาของตนนั้นได้กลับมาเกิดเป็นสุนัขขาวจริงแท้ จึงสามารถระลึกชาติได้ ดังพุทธวาจา
.
พระพุทธองค์ตรัสว่า “.. โตเทยะพราหมณ์นั้นเป็นคนที่มีความตระหนี่ขี้เหนียว ละโมบในสมบัติพัสถาน มีทรัพย์สินศฤงคารมาก แต่ไม่เคยมีศรัทธา ไม่เคยประกอบกรรมดี เป็นคนมิจฉาทิฐิเห็นผิดเป็นชอบอยู่เสมอ พระพุทธองค์เคยเสด็จมาโปรดสั่งสอนเมื่อครั้งยังมีชีวิตหลายครั้ง แต่ก็ถูกขับไล่ไสส่งด้วยวาจาหยาบคายอยู่เสมอ 
.
...แต่ด้วยเพราะเป็นคนมัวเมาลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติไม่ได้คิดการกระทำบุญกุศลไว้ เมื่อโตเทยะพราหมณ์สิ้นชีวิตลง จึงกลับมาเกิดเป็นสุนัขขาวในบ้านของตน เพื่อเฝ้าทรัพย์สมบัติในชาติก่อน ที่แม้แต่ตัวเองในชาติภพใหม่นี้ก็ได้ลืมเลือนไปแล้ว 
.
...ถึงเก็บสะสมทรัพย์สมบัติไว้ได้มากมาย แต่ถ้าไม่คิดการกุศลสร้างผลบุญแก่โลก .. .ไม่ว่าจะเป็นชาติไหน ๆ ก็ไม่ได้ใช้หรอก...”
.
ศุกะพราหมณ์ เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธองค์ จึงทูลถามข้อสงสัยที่ติดอยู่ในใจ ว่า “ข้าแต่พระผู้เจริญ เพราะเหตุใดบางคนที่เกิดมาในโลกนี้ จึงเป็นคนมั่งมีด้วยทรัพย์สมบัติศฤคาร และมีคนยากจนเข็ญใจ เพราะเหตุใดบางคนจึงมีรูปกายที่สวยงาม บางคนขี้เหร่ไม่น่าดู เพราะเหตุใดบางคนจึงอายุยืน แต่บางคนกลับมีอายุสั้น เพราะเหตุใดบางคนจึงมีสติปัญญาดีเลิศ แต่หลายคนกลับโง่เขลาเบาปัญญา เพราะเหตุใดบางคนจึงมียศถาบรรดาศักดิ์สูงส่ง แต่บางคนจึงไร้เกียรติยศ”
.
พระพุทธองค์จึงได้มีพุทธวัจน ว่า “ศุกะ บุตรแห่งโตเทยะพราหมณ์เอ๋ย บุคคลที่เกิดมาในชาติภพนี้ หากมั่งมีด้วยทรัพย์สมบัติศฤคาร ก็เพราะด้วยในชาติปางก่อน เขาเคยทำทานบารมีไว้มาก ติดมาในชาติภพนี้ เขาก็จะยังมีความขยันหมั่นเพียร ส่วนคนที่เกิดมายากจน ก็เพราะไม่เคยประกอบทานบารมีไว้ในชาติปางก่อน ติดมาในชาตินี้ ก็จะเป็นคนเกียจคร้านไม่มีความเพียรพยายาม
.
คนที่เกิดมารูปร่างสวยนั้น เพราะชาติภพที่แล้ว เขารักษาศีลธรรม มีเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง เป็นคนไม่โกรธง่าย เป็นเหตุให้เกิดมาในชาตินี้ จึงเป็นคนมีรูปร่างหน้าตา กายและใจสวยงาม ส่วนคนที่มีหน้าตาขี้เหร่หน้าเกลียดทั้งกายและใจนั้น เป็นคนไม่รักษาศีลธรรม ไม่มีหิริโอตัปปะ เป็นคนฉุนเฉียวโมโหง่าย จึงเกิดมามีรูปร่างขี้เหร่
.
คนที่เกิดมาแล้วมีอายุยืน ก็เพราะเป็นคนที่ไม่เบียดเบียนสัตว์โลก ไม่ทำลายชีวิตของสัตว์ ส่วนคนที่เกิดมาแล้วอายุสั้นนั้น เพราะว่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมามาก จึงทำให้อายุสั้น
.
บางคนที่เกิดมาแล้วมีสติปัญญานั้น ก็เพราะว่า ในชาติก่อนได้ศึกษาเล่าเรียนภูมิปัญญาความรู้ วิชาการมามาก สดับรับฟังพระธรรมมามาก ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมมามาก ได้ให้ธรรมเป็นทานมามาก จึงเป็นเหตุให้มีสติปัญญา ส่วนบางคนโง่เขลาเบาปัญญาเพราะในชาติภพที่แล้ว ไม่หมั่นเล่าเรียนศึกษาหาความรู้ ไม่ฟังครูบาอาจารย์  ไม่มีธรรมะในจิตใจ ไม่เคยปฏิบัติธรรม
.
บางคนที่เกิดมามียศถาบรรดาศักดิ์สูงส่งนั้น เพราะว่าในชาติก่อนเป็นผู้ที่ไม่มีความอิจฉาริษยา อาฆาตมาดร้ายแก่ผู้ใด ใครได้ดีก็แสดงความยินดีเสมอด้วยความจริงใจ ส่วนคนที่เกิดมาไร้เกียรติยศศักดิ์ศรีนั้น ก็เพราะในชาติปางก่อนเป็นผู้อิจฉาริษยาผู้อื่น เห็นเขาได้ดีแล้วทนไม่ได้ หาทางลิดรอนใส่ความว่าร้าย ไม่อยากให้คนอื่นได้ดีกว่าตนเอง..."
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy 

มงคลสูตร

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
มงคลสูตร 

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ครั้นปฐมยามล่วงไป เทวดาตนหนึ่งมีรัศมีงามยิ่งนัก  ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่าเทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดี ได้พากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสอุดมมงคล

พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาตอบว่า

การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ 
การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑ นี้เป็นอุดมมงคล 

การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ 
ความเป็นผู้มีบุญอันกระทำแล้วในกาลก่อน ๑ 
การตั้งตนไว้ชอบ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล 

พาหุสัจจะ ๑ ศิลป ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ 
วาจาสุภาสิต ๑ นี้เป็นอุดมมงคล 

การบำรุงมารดาบิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑ 
การงานอันไม่อากูล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล 

ทาน ๑ การประพฤติธรรม ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑ 
กรรมอันไม่มีโทษ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
                          
การงดการเว้นจากบาป ๑ 
ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑
ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ 
นี้เป็นอุดมมงคล
                          
ความเคารพ ๑ ความประพฤติถ่อมตน ๑ 
ความสันโดษ ๑ ความกตัญญู ๑ 
การฟังธรรมโดยกาล ๑  นี้เป็นอุดมมงคล
                          
ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ 
การได้เห็นสมณะทั้งหลาย ๑ 
การสนทนาธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
                          
ความเพียร ๑ พรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ ๑ 
การกระทำนิพพานให้แจ้ง ๑ นี้เป็นอุดมมงคล 

จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ๑ 
ไม่เศร้า-โศก ๑ ปราศจากธุลี ๑ 
เป็นจิตเกษม ๑ นี้เป็นอุดมมงคล 

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทำมงคลเช่นนี้แล้ว 
เป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า 
ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน 
นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ฯ

จบมงคลสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2564

วัดชนะสงคราม

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
#ความเป็นมาของชื่อวัดชนะสงคราม 📌
#โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทฯ 📌

...ณ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร จ.กรุงเทพฯ

"วัดชนะสงครามฯ" เป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า "วัดกลางนา" เพราะในอดีตรอบๆวัดเป็นทุ่งนากว้างใหญ่ ต่อมา "สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" พระราชอนุชาใน "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช" (รัชกาลที่ 1) ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นใหม่ และเปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดตองปุ"

สาเหตุที่ตั้งชื่อวัดนี้ว่า "วัดตองปุ" มีข้อมูลอยู่ 2 กระแส คือ 1. ชื่อ "ตองปุ" มาจากชื่อ "หมู่บ้านตองปุ" หมู่บ้านของชาวมอญในหงสาวดี ซึ่งคนเหล่านี้ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บริเวณวัด 2. มาจากชื่อ "วัดตองปุ" วัดพระรามัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่ง "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช" (รัชกาลที่ 1) ทรงตั้งพระราชาคณะฝ่ายรามัญสำหรับพระนคร จึงทรงให้พระสงฆ์ฝ่ายรามัญมาอยู่ที่วัดนี้

ต่อมา... หลังจาก "ทำสงครามชนะพม่า 3 ครั้ง" นับแต่สงครามเก้าทัพ พ.ศ.2328 / สงครามท่าดินแดงและสามสบ พ.ศ.2329 / และสงครามป่าซาง นครลำปาง พ.ศ.2330 "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช" (รัชกาลที่ 1) จึงโปรดเกล้าฯพระราชทานนามวัดใหม่เป็น "วัดไชยชนะสงคราม" แต่ภายหลังตัดเหลือเพียง "วัดชนะสงครามฯ" และใช้มาจนถึงปัจจุบัน 

>>> "ตองปุ" แปลว่า "ที่รวมพลทหารไปออกรบ" 😊

"วัดชนะสงครามฯ" ได้รับการทำนุบำรุงมาเรื่อยๆในทุกรัชกาล เช่น "สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์" พระราชโอรสใน "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช" (รัชกาลที่ 1) และทรงเป็น "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" ในรัชสมัย "พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย" (รัชกาลที่ 2) ทรงโปรดเกล้าฯให้รื้อ "พระที่นั่งพิมานดุสิตา" นำไม้มาสร้าง "กุฏิสงฆ์" ที่วัดแห่งนี้ 

หรือเจ้านายฝ่ายวังหลวงอย่าง "สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง" พระบรมราชินีนาถใน "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" (รัชกาลที่ 5) ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ก่อสร้าง "ที่บรรจุพระอัฐิเจ้านายฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล" (เจ้านายฝ่ายวังหน้า) ที่เฉลียงพระอุโบสถด้านหลัง และได้มีพิธีอัญเชิญพระอัฐิจากพระราชวังบวรสถานมงคลไปประดิษฐานในปี พ.ศ.2470 

พระประธานในพระอุโบสถมีพระนามว่า "พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ มเหธิศักดิ์ ปูชนียะชยันตะโคดม บรมศาสดาอนาวรญาณ" หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "หลวงพ่อปู่" พระพุทธรูปองค์นี้มีมาตั้งแต่ครั้งยังเป็น "วัดปลายนา" มีตำนานกล่าวว่า.....

"...ก่อนออกรบ "สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" จะเสด็จมาสักการะพระพุทธรูปองค์นี้ และทรงได้รับชัยชนะทุกครั้ง และยังมีเรื่องเล่าว่า "หลังสงครามเก้าทัพ" พระองค์ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ ทรงถวาย "ฉลองพระองค์ลงยันต์คลุมองค์พระประธาน" และโปรดเกล้าฯให้แม่ทัพนายกองทำเช่นกัน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ก่อนจะโปรดเกล้าฯให้โบกปูนทับไว้อีกชั้นหนึ่ง..."

ที่มา : คุณธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล / สารานุกรมไทย

เกิดเป็นมนุษย์สุดประเสริฐ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
เกิดเป็นมนุษย์สุดประเสริฐ
คำถามถึงเทวดา, พญานาค, พระภูมิเจ้าที่, สัตว์เดรัจฉาน, เปรต, สัตว์ในนรก และมนุษย์
คำถามเดียวกัน แต่ต่างคำตอบ ต่างภพภูมิ ต่างวาระต่างบารมี ต่างความคิด ต่างการกระทำ ต่างจุดมุ่งหมาย
"ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์อยากจะทำอะไร"
#เทวดา ตอบว่า
"เราจะพิจารณาธรรม เพราะมนุษย์มีกายสังขาร ที่เหมาะกับการพิจารณาธรรมมาก ร่างกายของมนุษย์เป็นเครื่องมือที่ใช้พิจารณาธรรมได้ดีที่สุด น่าอิจฉาพวกมนุษย์จริงๆ"
#พญานาค ตอบว่า
"บวชสิ ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เราจะบวช... เป็นพญานาคมีฤทธิ์มากก็จริง แต่บวชไม่ได้ พ้นทุกข์ไม่ได้ ไม่เหมือนมนุษย์ พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้นาคบวช แต่มนุษย์บวชได้ มนุษย์สร้างบุญใหญ่ไปสวรรค์ชั้นสูง ไปแดนนิพพานได้ แสนประเสริฐ"
#พระภูมิเจ้าที่ ตอบว่า
"ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง คราวนี้เราจะไปทำบุญใส่บาตรทุกวัน ไม่ต้องมานั่งรอคนอุทิศส่วนกุศลมาให้เราอีก ไปทำเองเลย เพิ่มบารมีได้เร็วทันใจดี"
#สัตว์เดรัจฉาน ตอบว่า
"ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เราจะสงเคราะห์สัตว์ตัวอื่นๆ เป็นสัตว์นั้นทุกข์มาก พูดก็ไม่ได้ คิดอะไรฉลาดๆ ก็ไม่ได้ เป็นมนุษย์มีสมองมีปัญญา เราจะใช้ปัญญาของมนุษย์ทำให้ตัวเองไม่ต้องมาเป็นสัตว์อีก"
#เปรต ตอบว่า
"เราไม่อยากมีหน้าตาน่าเกลียด ไม่อยากมีปากเท่ารูเข็ม มีรูปร่างสูงเหมือนต้นตาล ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เราจะถือศีล จะได้ไม่ต้องมาเป็นเปรตผู้หิวโหย อดๆ อยากๆ ทนทุกข์ทรมานแบบนี้"
#สัตว์นรกในอเวจี ตอบว่า
"ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เราจะทำความดี จะไม่ผิดศีล 5 อีก จะปฏิบัติธรรม เพราะนรกมันร้อนมันโหดร้าย อยู่แล้วมีแต่ความเจ็บปวด ทุรนทุราย ถ้าข้ามีโอกาสอีกครั้ง เราจะไม่ทำเลว เราไม่อยากทรมาน ไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นสัตว์นรกอีก"
แต่... เมื่อถามคำถามเดียวกัน
มนุษย์ตอบว่า "อยากสมหวังรัก, อยากรวย, อยากมีตำแหน่งสูง, อยากมีอำนาจ แม้ต้องผิดศีล ทำร้ายใครก้อจะทำ"
อนิจจาใครหนอ... น่าสงสารที่สุด!
มนุษย์ผู้ที่อยากแต่ทรัพย์สมบัติภายนอกที่ยึดถือได้ชั่วคราว ทั้งที่มีโอกาสจะทำบุญกุศลมากกว่าเพื่อน ทำให้มีอริยทรัพย์คือ
ทรัพย์อันประเสริฐเป็นของติดตัวไปทุกภพภูมิ อยู่ภายในใจ มี ๗ สิ่งคือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา

วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ประติมากรรมรูปเต่า พิมาย

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
ประติมากรรมรูปเต่า “พระกูรมะอภิเษก” พบเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่เมืองโบราณพิมาย
.
.
.
ปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 เด็กน้อยในตัวเมืองพิมายหลายคน ได้ชักชวนกันไปเล่นน้ำจับปลาที่สระโบสถ์ สระน้ำ(บารายโบราณ) นอกแนวคันดินและคูน้ำ ทางตะวันตกของตัวเมืองโบราณพิมาย ติดกับลำจักราช กลุ่มเด็กที่กำลังเล่นน้ำหาปลาบริเวณด้านใกล้กับเนินดิน (เกาะ) กลางสระน้ำฝั่งทิศตะวันตกเฉียงใต้ ได้ไปสะดุดกับก้อนหินขนาดเขื่องที่ก้นสระ เมื่อช่วยกันยกขึ้นมาจึงพบว่าเป็นหินทรายที่มีการแกะสลักเป็นรูป “เต่า” (Turtle Statue) น้องณัฎฐ์สักก์ จันทร์เกษม จึงได้แจ้งแก่ผู้ปกครอง แล้วนำไปมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย
.
*** ประติมากรรมรูปเต่า มีขนาดกว้างยาวประมาณ 32 * 46 เซนติเมตร สูงประมาณ 15 เซนติเมตร สลักขึ้นจากหินทรายแดง มีลายตารางและรูปกลมบนกระดอง หัวยื่นแหลมมาด้านหน้า สลักลายลูกตาทั้งสองด้าน บนกระดอกเจาะช่องตันสี่เหลี่ยม 7 ช่อง ล้อมรอบช่องตันสามเหลี่ยมใหญ่ตรงกลาง 1 ช่อง ทั้งหมดคงเคยมีฝาหินยัดปิดช่องรูแบบพอดีแต่คงได้หลุดหายไปทั้งหมด คงเหลือเพียงฝาของช่องสามเหลี่ยมกลาง ที่เมื่อเปิดออกได้พบแผ่นทองสี่เหลี่ยมขนาดเล็กจำนวน 6 แผ่นบรรจุอยู่ด้านในครับ 
.
รูปประติมากรรมเต่าบรรจุสิ่งของมงคล (อย่างแผ่นทอง) เป็นคติความเชื่อในวัฒนธรรมเขมรโบราณ มาตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 แต่พบมากที่สุดในช่วงศิลปะแบบจักรวรรดิบายน กลางพุทธศตวรรษที่ 18 ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับคติฝ่ายฮินดูไวษณพนิกาย (Vaishnavism) ดังวรรณกรรมพระอวตาร ที่พระวิษณุนั้นเคยได้อวตารมาเป็น “กูรมาราชา-กูรมาวตาร” (Kurmraja/ Kurma Avatar) ลงมาค้ำจุนปกป้องโลก ในตอน “การกวนเกษียรสมุทร” ที่พระกูรมะ(เต่า)  ได้ใช่กระดองหลังของตนรองรับเขามัณทรคีรี (Mandaragiri) ที่ก้นเกษียรสมุทร (Kṣīrasāgara) มิให้ทะลุผ่านลงไปทำลายโลก 
.
รูปประติมากรรมเต่าในวรรณกรรมกูรมาวตาร พัฒนากลายมาเป็นคติ “รากฐานอันมั่นคง” เพื่อการ “ค้ำจุนอาณาจักร/ค้ำจุนโลก” ผ่านคติการ “การอภิเษก” (Abhiṣeka) ให้รูปประติมากรรมเปลี่ยนเป็นตัวแทนของพระกูรมะ/เต่า ด้วยการบรรจุวัตถุมงคลในช่องต่าง ๆ ทำพิธีแล้วนำไปประดิษฐานไว้ใต้สระน้ำ เพื่อเปลี่ยนผ่านให้สระน้ำ/บารายนั้นให้กลายเป็นเกษียรสมุทรที่ประทับแห่งวิษณุครับ 
.
ซึ่งประติมากรรมรูปเต่าเพื่อการอภิเษกนี้ ได้เคยพบในเมืองพระนครหลายแห่ง ทั้งที่ประตูเมืองนครธมฝั่งทิศเหนือ สระน้ำฝั่งทิศใต้ของปราสาทบายน ปราสาทนาคพัน ล่าสุดในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 พระกูรมะอภิเษก 2 องค์ ในสระสรงหน้าปราสาทบันเตียกะเดย ด้วยเพราะที่มีการอภิเษกสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ 2 ครั้ง ครั้งแรกในช่วงการขุดสระครั้งแรกในสมัยของพระเจ้าราเชนทรวรมัน ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 รูปศิลปะเป็นเต่าน้ำจืด/เต่าทะเลขนาดใหญ่ บรรจุหินเขี้ยวหนุมาน (ควอตซ์ใส) จำนวนมาก (ที่นิยมใช้บรรจุในเครื่องหินศิลาฤกษ์) และอภิเษกอีกครั้งด้วยรูปเต่ากระดองโปน ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ได้มีการกรุหินขอบบ่อใหม่ทั้งหมด สร้างพลับพลาท่าน้ำ (ลงสรง) ริมคันบารายเป็นแนวตรงรับกับซุ้มประตูด้านหน้าของปราสาทบันเตีย-กะเดย ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18  
.
รูปศิลปะของประติมากรรมเต่า/พระกูรมะอภิเษกในยุคจักรวรรดิบายนทั้งหมดที่พบในเมืองพระนคร จะนิยมรูปแบบของเต่าบก (Tortoise, Land turtle) ที่มีกระดองนูนโปน เจาะตรงกลางหลังกระดองเป็นรูปสามเหลี่ยม แต่ไม่พบแบบที่มีการเจาะช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กล้อมรอบ ในขณะที่พระกูรมะอภิเษกที่พบจากสระโบสถ์ เมืองพิมาย มีการเจาะช่องเล็กล้อมรอบเพื่อให้ครบ 8 ช่อง ตามคติ “ทิศมงคลทั้ง 8” เพิ่มเติมเข้าไป จึงสลักเพียง 7 ช่อง นับรวมกับช่องสามเหลี่ยมกลางจนครบ 8 ตามขนบพิธีกรรมการวางศิลาฤกษ์ (Deposit stones Ritual) แบบฮินดู/เขมรโบราณครับ 
.
และด้วยเพราะบารายสระโบสถ์ เป็นบารายที่มีการถมดินตรงกลางเพื่อให้เกิดเป็นเกาะ เช่นเดียวกับบารายพิมายทางทิศใต้ที่มีเกาะกลางราย เรียกว่า “เนินวัดโคก” มีซากปราสาทก่ออิฐหรือพลับพลาเครื่องไม้ สอดคล้องกับคติ “พระราชวังไวกูณฐ์” ที่ประทับของพระวิษณุกลางเกษียรสมุทร เช่นเดียวกับบารายตะวันออก บารายของปราสาทบันทายฉมาร์ ที่พบเทวาลัยในคติฮินดูไวษณพนิกาย 
.
*** ประติมากรรมรูปเต่าที่พบจากสระโบสถ์ เมืองพิมาย จึงมีความเกี่ยวข้องกับคติไวษณพนิกายในความหมายพระกูรมะโดยตรง เป็นรูปพระกูรมะชิ้นแรกที่พบในประเทศไทย มีอายุการใช้งานอภิเษกสระน้ำอยู่ประมาณช่วงต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ก่อนการสร้างคูน้ำค้นดินเมืองพิมายครับ 
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2564

พระพุทธจักรพรรดิ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระพุทธจักรพรรดิ/พิมพ์ใบแต้แซ่ม้า” พุทธศิลป์นิกายปาละ ในยุคปลายวัฒนธรรมทวารวดี

การขุดค้นทางโบราณวิทยา บริเวณสถูปขนาดย่อมก่ออิฐ/หินท้องถิ่น บนหน้าเขาที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 180 เมตร ของเขารางกะบิด ในช่วงปี พ.ศ. 2559 – 2560 ได้พบพระพิมพ์ดินเผา (Terracotta Votive Tablet) ที่มีพุทธศิลป์เฉพาะแบบหนึ่ง ขนาด 8 * 11.5 เซนติเมตร ด้านบนโค้งมนจำนวนหลายองค์ บรรจุอยู่ภายในไหดินเผาที่ฝังอยู่มุมด้านหนึ่งของพระสถูป รวมกับรูปประติมากรรมในความเชื่อทางพุทธศาสนาแบบมหายาน/ปาละ/มอญทวารวดี 
.
พระพิมพ์ชิ้นหนึ่งปรากฏการจาร/เขียนข้อความไว้ที่ด้านหลังในระหว่างการกดพิมพ์ก่อนนำไปเผาไฟ เป็นอักษรแบบหลังปัลลวะในภาษามอญ ว่า “...vauᵃʼ puñʼ tralaᵃʼ mra tā kyātʼ...” อายุของอักษรอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-15 (Hunter Ian Watson 2017) แปลความหมายว่า “การทำบุญของพระมระตา/การทำบุญถวายแด่พระพุทธเจ้าโดยพระมระ/“การกระทำบุญของ (พระ)มะระ ด้วยการสร้างพระ(ถวาย)” อันเป็นเนื้อความที่กล่าวถึงการกระทำบุญ อุทิศถวายอุเทสิกเจดีย์อันได้แก่พระพิมพ์ รูปเคารพและสิ่งของมีค่าไว้ประดับแก่สถูปเจดีย์ เพื่อเป็นการปฏิบัติพุทธบูชาสักการะในระหว่างการเดินทางมาจาริกแสวงบุญ (Pilgrimage) มิใช่การบรรจุพระภายในกรุของพระสถูปตั้งแต่แรกสร้างครับ  
.
พุทธศิลป์ของพระพิมพ์ สะท้อนงานศิลปะในช่วงราชวงศ์ปาละ (อินเดียตะวันออก) ในคติมหายาน หรืออาจเรียกเป็นการเฉพาะว่า “นิกายปาละ” ที่มีส่วนผสมระหว่างฝ่ายมหายาน (วัชรยาน) กับเถรวาทลังกาคณะมหาวิหารที่นิยมในวัฒนธรรมทวารวดีมาแล้วในยุคก่อนหน้า แต่ใช้แก่นธรรมและแนวปรัชญาของฝ่ายมหายานเป็นหลัก เป็นรูปของ“พระศากยมุนีพุทธเจ้า” (Śākyamuni) พระพุทธเจ้ากายเนื้อ (นิรมาณกาย/Nirmāṇakāya) ประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิราบ ตามอิทธิพลทางศิลปะในวัฒนธรรมทวารวดีฝ่ายเถรวาทคณะมหาวิหารเดิมที่เคยนิยมในเขตภาคกลางมาก่อน (ถ้าเป็นพุทธศิลป์มหายานจะนิยมขัดสมาธิเพชร ไขว้ข้อพระบาท) แสดงปางสมาธิหรือ “วรทมุทรา” (Varada Mudrā) บนแท่นภัทรบิฐโพธิบัลลังก์มีพนักพิง คาดรัดท้องไม้ด้วยสังวาลที่มีข้อสร้อยเป็นรูปดอกไม้ 4 กลีบในโครงรูปสี่เหลี่ยม  
.
 พระวรกายของพระพุทธรูปแสดงการนุ่มจีวรแบบห่มคลุม มีชายผ้าสังฆาฏิแบบพับทับเกิดเป็นนิ้วและชายผ้าปลายแหลม มี “ประภามณฑล” (Prabhāmandฺala) โค้งรอบพระวรกายและศิรจักรรัศมีที่มีกระหนกเปลวล้อมรอบที่พระเศียร แวดล้อมด้วยเครื่องสูงแห่งจักรพรรดิทั้ง 5 ประกอบด้วยฉัตรสัปทนเดี่ยว ซ้อนอยู่บนรูป “ต้นศรีมหาโพธิ” ขนาบข้างด้วยพัดบังแทรก/บังสูรย์ และแส้จามร แสดงอิทธิพลของงานศิลปะแบบราชวงศ์ปาละในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 14 ในวัฒนธรรมรามัญ/ทวารวดีอย่างชัดเจนครับ
.
*** รูปศิลปะบนพระพิมพ์ จึงแสดงคติ “พระพุทธจักรพรรดิ” ตามศิลปะแบบนิกายปาละ/มหายาน โดยใช้พุทธประวัติตอนตรัสรู้ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา อันเป็นช่วงเวลาที่นับว่ามีความสำคัญมากที่สุดในพุทธประวัติทั้งหมด ที่นิยมทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท จึงน่าจะเป็นการสร้างรูปพิมพ์ศิลปะขึ้นเองในเขตวัฒนธรรมทวารวดี พื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย **** ไม่ได้นำเข้ามาจากอินเดีย/ปาละแต่อย่างใด 
.
*** ในปี พ.ศ. 2562 – 2563 ยังได้มีการขุดพบพระพุทธจักรพรรดิแบบนิกายปาละผสมศิลปะทวารวดีหลายองค์ที่วัดพระงาม จังหวัดนครปฐม ซึ่งก็ได้แสดงว่า ในอดีตได้เคยมีคณะพระสงฆ์และผู้ศรัทธาเดินทางมาจาริกแสวงบุญที่พระสถูปแห่งนี้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 14 และได้อุทิศถวายสร้างอุเทสิกเจดีย์อย่างพระพิมพ์ไว้ตามสถูปในเมืองโบราณนครชยศรี เช่นเดียวกับที่พบจากเมืองโบราณอู่ทอง
.
*** ซึ่งในอดีต ก็เคยได้มีการพบพระพิมพ์พระพุทธจักรพรรดิแบบนิกายปาละ/ทวารวดีนี้มาแล้วก่อนหน้าจะขุดพบที่เมืองโบราณอู่ทองและนครปฐม ทั้งที่เมืองโบราณลพบุรี (วัดนครโกษา) ที่กันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ตามเส้นทางการจาริกแสวงบุญของคณะสงฆ์ชาวรามัญจากแดนตวันตกไปยังเมืองโบราณในเขตภาคอีสานที่นับถือพุทธศาสนา เรียกรูปแบบพุทธศิลป์ (พิมพ์) กันต่อมาว่า “ใบแต้แซ่ม้า” ซึ่งหมายถึงใบมะค่าแต้ที่มีรูปทรงกลมแทนรูปศิลปะบังแทรก/บังสูรย์ และแซ่ม้าแทนความหมายรูปศิลปะของแส้จามรที่ปรากฏร่วมอยู่บนพระพิมพ์ครับ
เครดิต :FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2564

พญาช้างฉัททันต์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ฉัททันตชาดก” พระพุทธเจ้าเล่านิทาน ที่ฐานสถูปจุลประโทนเจดีย์  

ในครั้งหนึ่ง พระมหาโพธิสัตว์ได้เสวยพระชาติเป็นพญาช้างเผือก มีปากและเท้าสีแดง ที่งามีแสงรัศมีเปล่งประกายเจิดจรัส 6 รังสี มีฤทธิ์เหาะไปในอากาศได้ มีนามว่า “ฉัททันต์” ปกครองช้าง 8,000 เชือก อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์  มีภรรยา 2 ตัว (ก็คือเมียหลวงและเมียน้อยนั่นแหละ) ช้างเมียหลวงชื่อ “มหาสุภัททา” ส่วนช้างเมียน้อย ชื่อ “จุลลสุภัททา” 
.
ในวันหนึ่งของฤดูร้อน พญาช้างฉัททันต์ได้พาบริวารไปหากินในป่ารังที่มีดอกบานสะพรั่ง ใช้โหนกตระพองชนต้นรังให้ดอกหล่นลงมา นางช้างเมียหลวงยืนอยู่ใต้ลมจึงรับเกสรดอกไม้และใบสดโปรยปรายใส่ตัว ส่วนนางช้างเมียน้อยยืนอยู่เหนือลม จึงถูกใบแห้งติดกับกิ่งไม้ที่มีมดแดงตกใส่ตัว มดก็กัดนางไปทั่วร่าง นางช้างเมียน้อยจึงเกิดความน้อยใจ คิดว่าพญาช้างฉัททันต์นั้นลำเอียง โปรดปรานและรักใคร่แต่เมียหลวงมหาสุภัททา ส่วนตนมีแต่มดแดงร่วงใส่กัดจนเจ็บปวด จึงเกิดความอาฆาตพญาบาทในตัวสามีเป็นครั้งแรก 
.
ต่อมาอีกวันหนึ่ง พญาช้างฉัททันต์ได้รับดอกบัว 7 กลีบ สีสันงดงาม พญาช้างโปรยเกสรลงบนโหนกตระพองแล้วยื่นดอกบัวดอกเดียวนั้นให้แก่นางช้างเมียหลวงมหาสุภัททา เป็นเหตุให้นางช้างเมียน้อย เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจขึ้นมาอีกครั้ง เกิดเป็นความเจ้าคิดเจ้าแค้นสะสม อาฆาตว่า พญาฉัททันต์นั้นรักแต่เมียหลวง ไม่เคยรักตน  
.
จนถึงวันพระ พญาฉัททันต์ได้นำน้ำผึ้งไปถวายแก่พระมานุษิพุทธเจ้า ส่วนนางช้างเมียน้อยได้นำผลไม้ไปถวายด้วย แล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า "หากชาติหน้าฉันใด ของให้ข้าได้ไปเกิดใหม่ เป็นอัครมเหสีของพระราชาผู้ทรงอำนาจ สามารถฆ่าพญาช้างผู้เป็นสามีคนนี้ได้ด้วยเถิด" 
.
“.....ชาตินี้ความรักเราไม่สมหวัง ไม่เคยได้รับความรักจากสามีเลย เกิดใหม่ชาติหน้า เราจะทำให้ท่านต้องเสียใจมากกว่าเรา ท่านพญาช้างฉัททันต์.....”
.
หลังจากนั้น นางช้างเมียน้อยก็อดอาหาร อดน้ำจนร่างกายซูบผอมลง ไม่นานก็ล้มป่วยและล้มตายไปเกิดเป็นธิดาของพระราชาในแคว้นมัททรัฐ เมื่อเจริญวัยแล้ว ก็ได้อภิเษกสมรสเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตแห่งเมืองพาราณสีอย่างที่ได้อธิษฐานไว้ นางเป็นที่รักใคร่โปรดปรานของพระเจ้าพรหมทัตมาก และยังสามารถจดจำระลึกชาติแต่หนก่อนได้ วันหนึ่งจึงแกล้งทำทีเป็นประชวรหนักบรรทมอยู่ไม่ลุกขึ้นมา พระเจ้าพรหมทัตเสด็จมาตรัสถามว่า "ดูนัยน์ตาเจ้าก็แจ่มใสดี แต่เหตุไร  น้องนางจึงดูโศกเศร้าซูบผอมไปละ"
.
" หม่อมฉันแพ้ครรภ์เพคะเสด็จพี่  ฝันเห็นสิ่งที่หายากเป็นงาเปล่งรัศมี 6 รังสี หม่อมฉันต้องการงาคู่นั้น ถ้าไม่ได้ชีวิตของหม่อมฉันคงอยู่ไม่ได้เช่นกัน  ขอให้พระองค์นำมาให้ข้าด้วยเถิดจะหาได้   "
.
พระเจ้าพรหมทัต จึงโปรดให้เรียกนายพราน 60,000  คนมาที่ท้องพระโรง และรับสั่งให้ออกตามหาช้างที่มีลักษณะดังกล่าว แต่พรานทั้งหลายก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหน พระมเหสีจึงได้เลือกบิดาของเหล่าพรานช้างนามว่า “โสณุตระ” มีเท้าใหญ่ เข่าโต หนวดดก เคราแดง ตาเหลือง เป็นผู้ที่มีความโหดเหี้ยมพอที่จะสามารถสังหารพญาช้างนี้ได้ แล้วพระนางจึงได้บอกทิศทางที่จะไปหาพญาฉัททันต์แก่พรานป่า
.
"...จากนี้ไปทางทิศเหนือ ข้ามภูเขา 7 ลูก มีภูเขาสูงที่สุดลูกหนึ่งชื่อ “สุวรรณปัสสคีรี” เจ้าจงขึ้นไปบนภูเขาลูกนั้นมองดูตามเชิงเขา จะเห็นต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งมีกิ่งก้านสาขาหนาทึบมีพญาช้างเผือกเชือกหนึ่งอาศัยอยู่ มีงาสวยงามมาก มีบริวารอยู่มาก เจ้าจงระวังตัวให้ดี พวกมันระวังรักษาแม้แต่ธุลีก็ไม่ให้แตะต้องพญาช้างได้..."
.
นายพรานโสณุตระเดินทางมาจนถึงป่าหิมพานต์ พบพญาช้างเผือกที่มีงารัศมี 6 รังสี ถึงเวลากลางคืนจึงลอบขุดหลุมพรางปักไม้หลาวปลายแหลมที่ก้นหลุม เพื่อให้ตกหลุมแล้วคอยดักพญาช้างในเวลาใกล้รุ่ง คลุมร่างกายมิดชิดด้วยผ้าเหลืองร่มกาสาวพัตร์แล้วลงไปยืนถือธนูอาบยาพิษแอบอยู่ รอการมาของพญาช้าง
.
วันรุ่งขึ้นเป็นวันพระ พญาช้างฉัททันต์เดินทางไปสักการะพระมานุษิพุทธเจ้าบนทางที่มีการขุดหลุมพรางไว้อยู่เป็นประจำ จึงเดินตกลงไปในหลุมพราง ถูกแทงด้วยไม้หลาวปลายแหลมและถูกลูกศรธนูอาบยาพิษของนายพราน ฝูงช้างบริวารเมื่อได้ยินเสียงร้องของพญาช้างต่างก็ตกใจ แตกตื่นวิ่งหนีหายเข้าไปหลบในป่า พญาช้างบาดเจ็บหนัก แต่ได้ใช้งวงคว้าจับตัวนายพรานไว้ได้ หมายจะสังหาร แต่เห็นผ้าเหลืองพันกายนายพราน จึงละความโกรธ ละเว้นชีวิตแก่นายพราน 
.
"....เจ้าพรานเอ๋ย เจ้าสังหารเราเพื่ออะไร เพื่อตนเอง หรือคนอื่นใช้ให้มาฆ่าเรา...." นายพรานป่าตอบว่า "....พญาช้าง พระมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตประสงค์ให้มาสังหารท่านเพื่อเอางาทั้งคู่ของท่านกลับ...."
.
พญาช้างฉัททันต์ รู้แจ้งด้วยญาณในทันที ว่านี่คือการผูกเวรอาฆาตแค้นแต่ชาติปางก่อนของนางจุลลสุภัททาผู้เป็นเมียน้อยของตน ส่วนพรานนั้น ก็คือพระเทวทัตในอนาคตกาล จึงกล่าวว่า "...พรานเอ๋ย พระมเหสีมิได้จะต้องการงาทั้งสองของเรานักหรอก หากแต่นางประสงค์ที่จะสังหารเราเท่านั้น  “...นายพราน เราจะมอบงาของเราให้แก่ท่าน” นายพรานกล่าวว่า “แต่...มือที่สกปรกของข้ามิสามารถแตะต้องงาอันหนักอึ้งของท่านได้เลย...” พญาช้างฉัททันต์จึงได้ใช้งวงดึงงาทั้งคู่ออก มอบให้แก่นายพราน
.
“...บริวารช้างของเรามีมากมากมหาศาลนัก หากพวกเขารู้ว่าเจ้าสังหารเรา คงไม่ปล่อยเจ้าออกจากป่านี้ได้โดยง่ายเป็นแน่ เจ้าจงเดินทางไปทางทิศเหนือตามเส้นทางไปสักการะพระมานุษิพุทธเจ้าก่อน จะได้ไม่ปะทะกับบริวารของเรา”
.
พญาช้างมอบงาให้นายพรานแล้วตั้งจิตอธิษฐาน มอบเมตตาอภัยทานให้แก่นายพรานและให้อภัยไม่จองเวรแก่นางจุลลสุภัททาผู้เกิดเป็นพระมเหสีมในชาตินี้ แล้วก็ล้มลงขาดใจตาย
.
เมื่อนายพรานนำงาเปล่งรัศมีอันวิจิตร 6 รังสี กลับไปถวายพระนางสุภัททา พระนางรับงาคู่อันงดงามวางของอดีตพระสวามีในชาติที่แล้วไว้ที่พระเพลาทอดพระเนตรดู ก็บังเกิดความเศร้าโศกสลดในทันทีทันใด “...ท่านได้สิ้นชีวิตไปแล้วจริง ๆ หรือ พระโพธิสัตว์....” ด้วยเพราะยังคงผูกพันและระลึกถึงในความรักที่มีต่อพญาฉัททันต์ในชาติก่อน  ดวงหทัยของพระนางจึงตกในห้วงปริเวทนาแตกสลาย สิ้นพระชนม์ในราตรีที่สามนั้นเอง...
.
.
*** ภาพปูนปั้น (Stucco figures) ประดับฐานสถูป จุลประโทนเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ในช่องท้องไม้ของฐานในยุคแรก (ปัจจุบันฐานหน้ากระดานที่มีการแบ่งห้องเพื่อประดับปูนปั้นชาดก จมอยู่ในระดับใต้ดิน) มุมด้านทิศใต้ของฝั่งทิศตะวันออก ช่องหนึ่งได้แสดงเรื่องราวของพญาช้างเผือก “ฉัททันตชาดก” (Shaddanta Jataka) ถึงส่วนฐานจะมีอายุการสร้างในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12 แต่ปูนปั้นจำนวนมากอาจปั้นซ่อมแซมของเดิมที่เป็นรูปดินเผา (Terrracotta) ในการสร้างต่อเติมครั้งแรกช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 13  
.
ภาพปูนปั้นประดับนี้เป็นงานพุทธศิลป์ที่ถูกสร้างขึ้นตามคติความเชื่อของนิกาย“สรรวาสติวาท” (Sarvāstivāda) อันเป็นนิกายหนึ่งในสายหีนยาน ร่วมกับ “สถวีรวาท-เถรวาท” (Sthāvirīya -Theravāda)  แต่ใช้คัมภีร์ภาษาสันสกฤต ปฏิเสธปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ตามแบบนิกายมหาสังฆิกะ-มหายาน (Mahāsāṃghika - Mahāyāna) โดยใช้เรื่องราว “อรรถกถาชาดก”  (Jātakatthavaṇṇanā) ในภาษาบาลี ร่วมกับนิทานคติธรรมอย่าง “ชาดกมาลา” (Jātaka-mālā) บารมี 10 ทัศนะของพระโพธิสัตว์ และนิทาน “อวทานะ/อวทานศตกะ/ทิวยาวทานะ” (Avadānas – Avadānashataka - Divyāvadāna) ในภาษาสันสกฤต เป็นตัวอย่างของการกระทำคุณงามความดีและกุศลบารมีแบบต่าง ๆ โดยพระมหาโพธิสัตว์และบุคคลหลากชนชั้น ที่จะได้นำไปสู่การบรรลุเป็นพระมานุษิโพธิสัตว์/พระพุทธเจ้าครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

ตาลโตนด

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ตาลโตนด” พันธุ์ไม้มหัศจรรย์จากโลกโบราณ

“ตาลโตนด” (Palmyra palm, Sugar palm) เชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ขยายพันธุ์มาทางตอนใต้ของคาบสมุทรอินเดียเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกับผู้คนที่หลากหลายจากอินเดียที่เดินทางเข้ามา 
.
รากศัพท์ของคำว่าตาลโตนด มาจาก “ตาละ” ในภาษาบาลี เป็นหนึ่งในพรรณไม้ที่ถูกกล่าวถึงในพุทธประวัติ ตอนที่พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวก เสด็จไปประทับ ณ ลัฏฐิวนอุทยาน (ลัฏฐตาล) กรุงราชคฤห์ ในพรรษที่สองหลังจากการตรัสรู้ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ จึงเสด็จไปเฝ้าพร้อมด้วยข้าราชบริพารและประชาชนเป็นอันมาก พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสารและประชาชนทั้งปวง เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระเจ้าพิมพิสารทรงบรรลุโสดาปัตติผล จึงทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะ ทรงดำริว่าป่าไผ่นั้นร่มเย็นดีกว่าป่าตาล จึงได้ถวายพระราชอุทยานเวฬุวันหรือป่าไผ่ ให้เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาครับ
.
ในพุทธประวัติยังยังมีพระวินัยสำคัญ ที่ห้ามมิให้นำลูกตาลและผลไม้อีก 9 ชนิด มาใช้ทำน้ำอัฎฐปาล/มหาผลทั้ง 10 (น้ำผลไม้ - ปานะ) เพราะเป็นผลไม้ต้องห้ามหลังเที่ยงวันครับ (เพราะหมักได้ไม่นานก็จะเกิดเป็นน้ำเมา)
.
*** ชาวฮินดูในอินเดียนิยมปลูกต้นตาลตาลโตนด เพื่อใช้  “น้ำตาลโตนด” (Jaggery) มาเป็นส่วนผสมในอาหารหวาน เครื่องบูชาเทพเจ้า อย่างเช่น “ขนมโมทกะ” อีกทั้งยังใช้เป็นอาหารบริโภคและใช้ทำน้ำตาลเมา
ตาลโตนดเข้ามาถึงเมืองไทยเมื่อก็คงไม่มีใครบอกได้ แต่อย่างน้อยก็น่าจะเข้ามาตั้งแต่ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 ดังปรากฏหลักฐานเป็นตราประทับดินเผา (sealings/molded tablet) รูปคนปีนต้นตาล จากเมืองโบราณจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ครับ
.
การเดินทางเข้ามาของน้ำตาลโตนดในยุคเริ่มแรก หากเป็นทางทะเล ผลตาลแห้งคงติดจะเข้ามากับขบวนเรือค้าขายของพ่อค้าอินเดีย ดังจะเห็นได้จากตรงที่ต้นตาลขึ้นชุกชุมตามบริเวณเมืองท่าและเมืองโบราณเก่าแก่ ในจังหวัด สงขลา ยะลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี เพชรบุรี เรื่อยขึ้นมาในเขตภาคกลาง อย่าง กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ชัยนาท ลพบุรี ยิ่งลึกและไกลเข้าไปในแผ่นดินมากเท่าใดความหนาแน่นของต้นตาลก็จะลดลง
.
แต่ก็เป็นที่น่าแปลก ว่าสถานที่ใดที่มีศาสนสถานเก่าแก่ในคติพราหมณ์-ฮินดู ทั้งจากอิทธิพลของอินเดียในภาคใต้ จากอินเดียผ่านพุกามหรือเขมรในยุคโบราณ พื้นที่นั้นก็จะดาษดื่นไปด้วยต้นตาลเต็มท้องทุ่งหรือใกล้เคียงกับตัวศาสนสถานอยู่เสมอ เลยขึ้นไปถึงแขวงสะหวันนะเขตของ สปป.ลาว ที่มีปราสาทหินโบราณในคติฮินดูตั้งอยู่ครับ 
.
---------------------------------
*** ตาลเป็นพันธุ์ไม้มหัศจรรย์ที่ใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่รากจรดยอด “ลำต้น” ใช้เป็นเชื้อเพลิง ใช้ในงานก่อสร้าง เช่น เสาเรือน ถากเป็นกระดาน ทำเสาสะพานปลา ในสมัยโบราณยังใช้ต้นตาลปักเป็นกำแพงเชิงเทินเมือง หรือค่ายหอรบในการศึกสงคราม
.
“แก่นเนื้อไม้” ยังเอามาทำเครื่องมือเครื่องใช้มากมาย อย่าง ขันตักน้ำ ของเล่นแกะสลัก โต๊ะ ม้านั่ง เก้าอี้ กล่อง และเฟอร์นิเจอร์ 
.
“กาบตาลหรือทางตาล” ใช้เป็นเชื้อเพลิงใช้ทำฟืน ทำรั้วบ้าน รั้วไร่นา คอกสัตว์ เส้นใยกาบตาลใช้ทำเชือก เครื่องจักสานต่าง ๆ อย่าง หมวก กระเป๋า ไม้กวาด และเครื่องใช้ในบ้าน
.
“ใบตาล” ใช้แทนกระดาษเขียนหนังสือในยุคโบราณ เขียนบันทึกตำรา คัมภีร์ต่าง ๆ ใช้ทำของเล่นเด็ก เช่น กังหันลม สานเป็นตะกร้อ ปลาตะเพียน ใช้สานเป็นของใช้ เช่น หมวก ภาชนะใส่สิ่งของ ทำถาดอาหาร ใช้ทำพัด “ตาลปัตร” มุงหลังคา กั้นฝาบ้าน ใช้ในการทำอาหารขนมหวาน เช่น เผาเป็นขี้เถ้าละลายน้ำสำหรับทำขนมเปียกปูน และยังใช้ทำปุ๋ยหมัก
.
“ผลอ่อนหรือลูกตาลอ่อน เนื้อใส ๆ เหมือนวุ้น มีรสนุ่มหอมหวาน นำมารับประทานเป็นผลไม้ ลูกตาลแก่ที่สุกเหลืองสดมีกลิ่นหอม เรียกว่า “จาวตาล” นำมาเชื่อมทำขนม กินเป็นของหวาน นำมากรีดคั้นน้ำ ใช้ต้มดื่มหรือทำอาหารคาวหวาน เช่น แกงหัวตาล ขนมตาลคลุกมะพร้าว ใช้ประดิษฐ์เป็นของเล่น เช่น ทำล้อรถเด็ก ตุ๊กตา กะลาตาล เนื้อตาลแก่ใช้เผาทำถ่านสำหรับผสมยาสีฟัน
 “เปลือกผลแก่” ของตาล คั้นเอาน้ำสำหรับทำขนมตาล ใช้เป็นส่วนผสมของสบู่ ยาสระผม ใยลูกตาลแก่ใช้เป็นฝอยล้างจาน หรือนำมาเป็นฝอยขัดตัว
.
“ช่อดอก” หรือ “งวงตาล” ขึ้นปาดได้น้ำหวาน เรียกว่า “น้ำตาลสด หรือ น้ำตาลโตนด” ใช้ดื่มสด ๆ หรือนำมาเคี่ยวทำน้ำตาลปึก น้ำตาลปี๊บ ทำน้ำผึ้งตังเม นำมาหมักทำเป็นน้ำส้มสายชู กะแช่ หรือกลั่นเป็นเหล้า/น้ำตาลเมา
.
นอกจากนี้ ต้นตาลยังให้ประโยชน์ด้าน “สมุนไพร” น้ำตาลสดใช้เป็นยาระบาย เป็นกระสายยาบำรุง “ดอก”หรือ “งวงตาลอ่อน” นำมาฝานต้ม เป็นยาบำรุงหัวใจ ยาเจริญอาหาร รักษาตานขโมยในเด็ก ฝนทำยารักษาแผล แก้ร้อนใน ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขับพยาธิ “ผลตาลแก่” คั้นเอาน้ำจากเปลือกผล ใช้ต้มดื่มกินแก้โรคตานขโมย ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไข ร้อนในกระหายน้ำ หรือใช้แช่น้ำอาบ แก้ผดผื่นคัน
.
“ก้านตาล” และ “ใบตาล” นำมาเผาไฟแล้วคั้นเอาน้ำดื่มสำหรับเป็นยาแก้ท้องร่วง ขับปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อย หากนำมาต้มน้ำดื่ม แก้อาการกระสับกระส่ายหลังคลอด แก้อาการท้องร่วง ท้องเสียและช่วยลดความดันโลหิต
.
รากตาลโตนด นำมาต้มดื่ม แก้ไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ซางเด็ก บำรุงร่างกาย ขับปัสสาวะ และใช้ขับพยาธิ ในพม่ายังคงใช้รากตาลอ่อนมาต้ม คลุกน้ำตาล ทำเป็นขนม ในพม่าจะใช้รากตาลมาทำขนมปิ้งเรียกว่า “ขนมทาเมี๊ยะ”
.
*** ด้วยคุณประโยชน์อันมหาศาล ตาลโตนดจึงเป็นที่นิยมของมนุษย์ จนแพร่กระจายขยายพันธุ์ไปตามที่ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว นักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่า การแพร่กระจายของตาลโตนดนั้น สัตว์ก็มีส่วนด้วยเหมือนกัน เช่น เวลาช้างกินเมล็ดตาลโตนด ก็จะกลืนทั้งเมล็ด ช้างที่เดินทางไกลนับเป็นร้อยกิโลเมตร ก็จะเป็นผู้กระจายพันธุ์ ทำให้ตาลโตนดแพร่กระจายจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งได้เช่นกัน ตรงข้ามกับวัว ควาย ซึ่งชอบกินเมล็ดตาลโตนดสุกเหมือนกัน แต่วัว ควายได้แต่แทะ และดูดกินส่วนของเส้นใยของเมล็ดตาล พอหมดรสหวานก็จะทิ้งไว้ใกล้เคียงบริเวณเดิม ไม่แพร่กระจายไปสู่ถิ่นอื่น
.
*** การอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของผู้คนจากอินเดียในยุคก่อนทวารวดีต่อเนื่องมาจนถึงเขมรโบราณ โดยเฉพาะกลุ่มชาวฮินดู น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการขยายพันธุ์ของตาลโตนด ไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างกว้างขวาง และยังลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ เราจึงพบทุ่งต้นตาลไปถึงสกลนคร หนองคาย หนองหาน วัดพู นครพนม ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่มีศาสนสถานแบบปราสาทเขมรตั้งอยู่ หรือแม้แต่กรุงสุโขทัย เมืองใหญ่ในยุคโบราณของเขมร ก็ยังใช้ต้นตาลโตนดเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำจังหวัด 
.
ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวข้องกันหรือเปล่า แต่ก็ดูเหมือนว่า หากที่ใดมีปราสาทหิน มีศาสนสถานแบบฮินดูหรือเป็นเขตอิทธิพลของอาณาจักรเขมรโบราณมาก่อน ที่นั่นก็มักจะพบต้นตาลขึ้นอยู่ทุกหนแห่งเลยครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy

วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ปราสาทเขาน้อยสีชมพู

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
ทับหลังศิลปะก่อนเมืองพระนครที่ “ปราสาทเขาน้อยสีชมพู” จังหวัดสระแก้ว 
.
.
.
“ปราสาทเขาน้อยสีชมพู”  ปราสาท 3 หลัง เรียงตัวไปตามแนวทิศเหนือ/ ใต้  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก บนยอดเขาน้อย ในเขตบ้านหมู่ 1 ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 12 กว่ากิโลเมตร จารึก (กรอบประตู) เขาน้อย (K.506) อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตและเขมรโบราณ ระบุปีมหาศักราชที่ 559  หรือประมาณปี พ.ศ. 1180  ถือเป็นศักราชที่พบจากจารึกโบราณ ที่มีความเก่าแก่มากที่สุดในประเทศไทย 
.
ปราสาทก่ออิฐหลังแรกที่สร้างขึ้นบนเขาน้อย เป็นปราสาทแบบหลังเดี่ยวตามคติไวษณพนิกาย (ดังข้อความสรรเสริญพระวิษณุที่พบจากจารึก) แต่ถึงแม้ว่าในจารึกจะกล่าวถึงพระนามของพระเจ้าศรีภัทรวรมัน กษัตริย์แห่งรัฐ “อีศานปุระ” (Īśānapura) หรือ “สมโปร์ไพรกุก” (Sambor Prei Kuk) ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12 แต่ข้อความในจารึกก็ระบุเวลาในสมัยของพระเจ้าอีศานวรมันที่ 1 ปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ไว้อย่างชัดเจนครับ
.
*** ปราสาทเดี่ยวหลังแรกที่เขาน้อยสีชมพู จึงควรมีอายุการสร้างในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ตามที่ระบุเวลาในจารึก ซึ่งก็สอดรับกับรูปศิลปะแบบสมโปร์ไพรกุกบนทับหลังของปราสาทประธานหลังกลาง ที่ปฏิสังขรณ์/สร้างปราสาทประธานขึ้นใหม่ในตำแหน่งเดิมช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ขนาดความยาวของทับหลังจึงไม่สอดรับกับขนาดของกรอบประตู เพราะนำทับหลังจากปราสาทหลังเก่ามาใช้ใหม่ 
.
ต่อมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13  ได้มีการขยายเป็นปราสาท 3 หลัง โดยปราสาททางทิศเหนือมีการแกะสลักทับหลังขึ้นใหม่ 3 แผ่น โดย 2 แผ่นแกะสลักตามขนบการจัดวางรูปประกอบแบบศิลปะสมโปร์ไพรกุกเดิมนำมาประดับที่ประตูหลอกทิศเหนือและใต้ ส่วนซุ้มประตูด้านหน้าและประตูหลอกด้านหลังแกะสลักทับหลังตามศิลปะแบบไพรกเมง (Prei kmeng) มีความยาวเท่ากับกรอบประตู แต่สั้นกว่าทับหลังแบบสมโบร์ไพรกุกเดิมครับ     
.
ทับหลังจากปราสาทเขาน้อยสีชมพู แสดงแบบแผนการจัดวางองค์ประกอบตามศิลปะแบบสมโบร์ไพรกกุ/อีศานปุระกับศิลปะแบบไพรกเมง ที่ซ้อนทับเวลาความนิยมกันในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ตรงกับช่วงเวลาที่ปรากฏในจารึก  โดยทับหลังแบบสมโบร์ไพรกุกจากปราสาทประธาน (ตัวปราสาทสร้างขึ้นในภายหลัง) ยังคงนิยมแบบรูปตัว ม ก ร  มีเทพเจ้า/นักรบ/ทวารบาลนั่งอยู่ด้านบน ตามแบบศิลปะ “ถาลาบริวัตร/ธาราบริวัต ”(Thala Boriwat Style) ในยุคก่อนหน้า  ตัว ม ก ร ชูงวง อ้าปากเห็นเขี้ยวและฟัน มีหางเป็นกระหนกใบขดห้อยสองม้วน ยืนบนแท่นฐาน/ยกเก็จ (เชื่อมต่อตรงตำแหน่งกับเสาประดับกอบประตู/เสารองรับน้ำหนักทับหลังที่อยู่ด้านล่าง) เหมือนกันทั้งสองฝั่ง คายแถบเส้นคาดออกมาเป็นวงโค้งเข้าหากัน 4 ขยัก ในความหมายของการสำรอกน้ำศักดิ์สิทธิ์ สะพานสายรุ้ง/ความอุดมสมบูรณ์ ประดับลายลูกปัดอัญมณีและดอกไม้   โดยมีพุ่มช่อดอกไม้ประดับลายลูกปัดอัญมณีในเส้นลวดกลมรี 3 ช่อ ตรงตำแหน่งจุดขยัก พุ่มช่อตรงกลางเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ รูปม้าในกรอบด้านข้างทั้งสองฝั่งหมายความถึงพระอาทิตย์และพระจันทร์ ด้านบนเป็นรูปดอกไม้แตกพุ่มกระหนกกับดอกไม้ 8 กลีบ วางสลับห่างกัน  ใต้แถบเส้นแถบโค้งแกะสลักเป็นอุบะมาลัยสลับกระหนกใบห้อยทิ้งยอดแหลมลงมา ตรงกลางเป็นพวงมาลัยใหญ่มีพุ่มแผ่ออกที่ปลาย คอสอง/ท้องไม้ด้านล่างยุบเข้าไปสลักเป็นลายกระหนกใบขดสลับลายดอกไม้
.
ทับหลังอีก 2 แผ่นของปราสาทหลังทิศเหนือซ้อนเวลากับศิลปะแบบไพรกเมง ยังคงวางองค์ประกอบเป็นแผ่นยาวแบบทับหลังสมโบร์ไพรกุก มีลวดลายเลียนแบบทั้งหมด แต่ปรากฏรูปศิลปะใบไม้แบบไพรกเมงเข้ามาผสมผสาน คอสองด้านล่างแคบลง สลักลายดอกไม้กลีบวางสลับห่างกัน โดยแผ่นหนึ่ง (ประตูหลอกทิศเหนือ) ยังสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระอาทิตย์และพระจันทร์ทรงม้าในช่อพวงดอกไม้ทรงกลมรีบนแถบโค้งตามแบบเดิม แต่อีกแผ่นหนึ่ง (ประตูหลอกทางทิศใต้) เปลี่ยนเป็นรูปหงส์ (ลายนิยมในยุคไพรกเมง) หันหน้าตรงและหันข้างเข้าหากันครับ  
.
ทับหลังซุ้มประตูหน้าทิศตะวันอออกและทับหลังด้านตะวันตก (ประตูหลอก) ของปราสาททางทิศเหนือ แสดงรูปศิลปะและการจัดวางแบบไพรกเมงอย่างชัดเจน แผ่นหินจะสั้นตามขนาดกรอบประตูของปราสาทที่แคบลง แต่ขยายแผ่นกว้างกว่าเดิม ไม่นิยมใช้รูปศิลปะตัว ม ก ร ทับหลังด้านหน้าเปลี่ยนมาเป็นรูปบุคคล (เทวดา) เหาะหันเข้าหากึ่งกลาง แสดงอัญชลีบนฐานที่มีการประดับซุ้มบัญชรขนาดเล็ก (รูปเทวดาเหาะน่าจะได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปแบบทวารวดี/อานธระเพียงแผ่นเดียวในประเทศไทย ไม่พบในเขตกัมพูชา) ยังคงใช้แถบโค้ง ทิ้งอุบะสังวาลมาลัยและประดับพวงดอกไม้กลมรี แต่เป็นแถบตรงไม่มีขยักโค้ง เปลี่ยนปลายแถบโค้งเป็นการตวัดเข้าเป็นพุ่มใบขด (เหมือนคาดผม) ประดับด้วยลายดอกไม้มีกลีบและกระหนกใบไม้ทั่วแผ่น ส่วนแผ่นด้านหลังปราสาท วางปลายแถบม้วนโค้งไว้บนฐาน มีรูปสิงห์ทะยานขนาบอยู่ด้านข้าง (แกะสลักไม่เสร็จ) เพิ่มพวงดอกไม้กลมบนแถบเป็น 5 วง ใส่รูปนกและหงส์  (วงตรงกลางสลักเป็นรูปหงส์หันหน้าตรง) ประกอบลวดลายดอกไม้กลีบและกระหนกใบไม้
.
*** ทับหลังในยุคก่อนเมืองพระนครที่จากปราสาทเขาน้อยสีชมพู หาพบได้ไม่มากนักในประเทศไทย ปัจจุบันตั้งจัดแสดงอย่างสวยงามที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี  โดยทำรูปจำลองไปจัดแสดงไว้ที่ตัวปราสาทเขาน้อยสีชมพูครับ 
.
.
*** มีจังหวะดี ๆ ในต้นปีหน้า EJeab จะพาไปเที่ยวชมแบบมโนวิทยากันครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

เทพนพเคราะห์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
เรื่องราวของ “เทพนพเคราะห์” บนทับหลังชิ้นงาม ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร  

ทับหลังชิ้นงามแผ่นหนึ่งได้มาจากปราสาทล่อลั่ว (Lolei) ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2449 ที่สยามยังปกครองเมืองเสียมราฐ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร แสดงคติเรื่องราวและงานศิลปะอันงดงามเรื่อง “เทพนพเคราะห์/นวคฺรห/นวเคราะห์” (นะวะคระหะ Navagrahas – Nine Planets) ทั้ง 9 องค์ ในงานศิลปะแบบปราสาทพะโค ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 15
.
คติและงานศิลปะเรื่องเทพเคราะห์ เป็นการนำดวงดาวและปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่สังเกตได้ มาจัดเป็นเทพเจ้าทั้ง 9 (Nine Deities) เริ่มจากพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู (คราสของพระอาทิตย์) พระเกตุ (โหนดเว้าของพระจันทร์) ปรากฏในอินเดียเหนืออย่างชัดเจนในยุคราชวงศ์คุปตะ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 9-10 ต่อเนื่องมาในงานศิลปะช่วงยุคราชวงศ์จาลุกยะ (Chalukya) ในอินเดียใต้ ราชสิทธิ์ตุลยกุล (Rajarsitulyakula) ในแคว้นกลิงคะ ราชวงศ์ปัลลวะ (Pallava) ในอินเดียใต้ฝั่งตะวันออก ราชวงศ์คุชราต-ปาฏิหาริย์ (Gurjara-Pratihara) อินเดียเหนือ-ตะวันตก  ราชวงศ์โจฬะ (Chola) อินเดียใต้ และยังคงได้รับของผู้ศรัทธาในลัทธิฮินดูในอินเดียมาจนถึงในปัจจุบันครับ    
.
จนถึงประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 12  เริ่มปรากฏรูปศิลปะเทพนพเคราะห์จากอินเดียใต้ในงานศิลปะแบบปราสาทสมโบร์ไพรกุก-อีศานปุระ โดยใช้รูปบุคคลยืนเรียงแถว เริ่มจากวันอาทิตย์ (พระสูริยเทพ) ถึงวันศุกร์ (พระพฤหัสคุรุ จะเป็นรูปบุคคลมีเครายาว)  ตามลำดับแบบดั้งเดิมในอินเดียใต้ โดยยังไม่มีรูปสัตว์พระวาหนะ (Vāhana-Mount, Vehicle) เข้ามาประกอบร่วมอยู่ด้วย 
.
แต่คงอาจด้วยเพราะห่างไกลจากคติต้นแบบมาเป็นเวลายาวนาน ช่างในยุคเริ่มแรกของเมืองพระนคร ก็อาจได้หลงลืมหรือสับสนในคติเทพนพเคราะห์แบบดั้งเดิมที่ไม่มีรูปพระวาหนะประกอบ จึงได้มีการสร้างรูปศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ขึ้นใหม่ด้วยการวางรูปสัตว์วาหนะมาใส่ให้เพิ่มเติม โดยไม่ได้คำนึงถึง “ตามลำดับวัน” แบบวัฒนธรรมอินเดีย มาเรียงลำดับแบบวางเทพนพเคราะห์สลับวันกัน แต่ยังคงรักษาตำแหน่งของพระสูริยเทพและจันทราเทพที่ด้านหน้า และพระราหูกับพระเกตุที่ด้านหลัง ตามลำดับของขนบแบบแผนเดิมจากอินเดียครับ
ทับหลังชิ้นงามจากปราสาทร่อลั่ว ศาสนสถานเพื่อการอุทิศแด่บรรพบุรุษกลางบาราย "อินทรฏะฏะกะ" นครหริหราลัย ทางตะวันออกของเมืองเสียมเรียบ ยังคงจัดวางรูปเทพนพเคราะห์ตามแบบอินเดีย แต่สลับรูปเทพเจ้ากับสัตว์พาหนะไม่เรียงตามลำดับวัน เริ่มจากทางซ้ายสุดคือ “พระสูริยะเทพ” (Surya Deva) ถือบัวขาบอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ บนรูปม้า 7 ตัว 7 สีและราชรถ กำเนิดจากพระกัศยปะเทพและนางอทิติ (บ้างก็ว่าพระศิวะสร้างขึ้นจาก ราชสีห์ทั้ง 6 (ความกล้าหาญทั้ง 6 ) พรมด้วยน้ำอมฤต  สัญลักษณ์ของความกล้าหาญ รวดเร็ว ฉับไว ซื่อสัตย์มั่นคง
.
"พระจันทราเทพ" (Chandra – Soma Deva) ประทับในเรือนแก้ว ถือบัวขาบอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ กำเนิดจากพระกัศยปะเทพและนางอทิติ (พระศิวะสร้างขึ้นจาก มิสยูนิเวิร์สทหาอัปสราทั้ง 15 (ความงามพร้อมทั้ง 15) พรมด้วยน้ำอมฤต) ทรงม้าขาวนวลดั่งสีมุกดา 10  สัญลักษณ์ของความอ่อนหวาน นุ่นนวล หลงใหลและรวนเร  
.
ลำดับ 3 คือ “พระพฤหัสปติเทพ”(Brihaspati Deva) แสดงประทานพร ทรงกวาง พระศิวะสร้างพระพฤหัสบดีขึ้นจากขึ้นจาก"ฤๅษีคุรุ ทั้ง 19) บดเป็นผง แล้วพรมด้วยน้ำอมฤต  แสดงมุทราแห่ง "ครูผู้ให้/การให้ " (เราเลยต้องมากราบสักการะพระคุณครูบาอาจารย์กันในวันพฤหัสไงครับ) สัญลักษณ์แห่งปัญญาและความรู้ 
.
ลำดับที่ 4 คือ  “พระเสาร์เทพ"(Shani Deva) ที่มีจุดเด่นคือถือไม้คทายอดกลม (Danda scepter) ทรงนกกระยาง (ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามศิลปะ บ้างก็ปากสั้นแบบนกคุ้ม บ้างก็ปากยาวแบบ นกกา หรือนกกระยางซึ่งเป็นนกมงคล ประจำถิ่นของวัฒนธรรมเขมรโบราณ เกิดจากเสือบด 10 ตัวสัญลักษณ์ของความเคร่งขรึม ความกล้าได้กล้าเสียและความโศกเศร้า
ลำดับที่ 5 "พระพุธเทพ"(Budha Deva) พระศิวะสร้างพระพุธขึ้นจากขึ้นจาก"ช้างงาม" ทั้ง 17 บดเป็นผง แล้วพรมด้วยน้ำอมฤต ทรงช้าง แสดงมุทราถือ แท่งหลักชัย/ศิวลึงค์  สัญลักษณ์ของความสุขุมรอบครอบ การพูด การเจรจา ความสุขุม ตั้งมั่นในสติ
.
ลำดับที่ 6 "พระศุกร์เทพ" (Shukra Deva) ) หรือเทพดาววีนัส ดาวแห่งความงดงาม ในคติปรัชญาของ "ศิลปศาสตร์ ความงาม และความรื่นรมย์"  พระศิวะสร้างพระศุกร์ขึ้นจากขึ้นจาก โคงาม ทั้ง 21 บดเป็นผง แล้วพรมด้วยน้ำอมฤต ทรงม้า (ในศิลปะอื่นอาจทรงโค) แสดงมุทราถือ ม้วนคัมภีร์ อันหมายถึงการเป็น “พระศุกราจารย์” ทรงเป็นผู้สอน (คุรุ อาจารย์) ศิลปวิทยาการแก่เหล่ายักษ์อสูร  สัญลักษณ์ของความรัก ความสุขและความงดงาม ความสุข โชคลาภและความมั่งคั่ง
 .
ลำดับที่ 7 “พระอังคารเทพ/มังคลา”(Mangala - Mars - Angaraka Deva) หรือพระดาวคะนอง พระศิวะสร้างพระพุธขึ้นจากขึ้นจาก กระบืองามทั้ง 8 บดเป็นผง แล้วพรมด้วยน้ำอมฤต ถือคทาวุธ/พระขรรค์/ศัสตราวุธ (ดาบ) อันหมายถึงการทรงเป็นเทพแห่งสงครามและความขัดแย้ง บาปเคราะห์   จึงได้ทรงสัตว์อย่างแพะ ตัวแทนของความโง่เขลา ในความโมโหโกรธา หุนหันพลันแล่น ไม่มีสติยั้งคิด สัญลักษณ์ของความขัดแย้ง สงคราม และความรุนแรง
.
อันดับที่ 8 "พระราหู" (Rahu Asura) อสูรผู้กลืนกินแสงแห่งสูริยะและจันทรา จนโลกมิดมิด ทรงวิมานเมฆา พระศิวะสร้างพระราหูขึ้นจากขึ้นจาก ผีโขมด ทั้ง 12 บดเป็นผง แล้วพรมด้วยน้ำอมฤต เป็นรูปบุคคลมีแต่หัว แสดงมุทรามายา อันหมายถึงบาปเคราะห์ เป็นดาวแห่งอุปสรรค ความท้อแท้ ความลุ่มหลงมัวเมาในอวิชชา นำไปสู่ความหายนะและอุปสรรค ทรงเป็นคราสพระจันทร์ในข้างขึ้น หรือโหนดขึ้น (Ascending node /North Lunar Node) ในฝั่งทิศเหนือ 
.
อันดับสุดท้ายทางขวาสุดคือ "พระเกตุ-ดาวหาง"(Kethu Asura) พระศิวะสร้างพระเกตุขึ้นจากขึ้นจาก นาค ทั้ง 9 บดเป็นผง แล้วพรมด้วยน้ำอมฤต เป็นรูปบุคคลมีแต่หัว แสดงมุทราถืออาวุธโค้ง (คล้ายบูมเบอแรง) เป็นอสูรผู้มีหางอย่างนาคา บ้างก็ว่า พระเกตุเกิดขึ้นมาจากหางของพระราหูที่ถูกตัดขาดในคราวขโมยดื่มน้ำอมฤต จึงไม่มีรูปกายที่เต็มตัว ไม่สามารถเป็นเพผู้เสวยอายุของมนุษย์ได้โดยตรง แล้วด้วยเพราะเกิดจากหางของพระราหู พระเกตุจึงถือเป็นผู้กลืนกินพระจันทร์ในข้างแรม - โหนดลง (Descending Node) รูปร่างของพระจันทร์จึงมีทั้งโค้งเข้าและโค้งออก ในอินเดีย รูปลักษณ์ของพระเกตุจะเป็นบุคคลหางยาวหัวมีนาคแผ่พังพาน บ้างก็ให้พระเกตุทรงนกอินทรี ในคติแบบไทยจะทำรูปให้พระเกตุทรงนาค (แบบเดียวกับพระพิรุณ) แต่ในรูปแบบของศิลปะเขมรโบราณ กลับนิยมสลักทำเป็นรูปของอสูรขี่ราชสีห์ผู้มีอำนาจแทน 
*** ผู้ศรัทธาในคติเทพนพเคราะห์ จะนิยมสักการบูชาพระคเณศก่อน ด้วยเพราะที่เป็นประธาน (คณปติ) แห่งดวงดาวที่คอยปกป้องและขจัดอุปสรรคไปจากชีวิตของมนุษย์ อันมาจากดวงดาวบาปเคราะห์ที่เป็นดาวเสวยอายุของมนุษย์ในกลุ่มเทพนพเคราะห์นี่เองครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy 

วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2564

พระโพธิสัตว์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พุทธศิลป์ภาพจิตรกรรม “พระโพธิสัตว์” มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ที่ถ้ำอชันต้า 

“ถ้ำอชันต้า”  หมายเลข 1 (Ajanta Caves No.1)  ตั้งอยู่ปลายด้านตะวันออกของส่วนโค้งของเทือกเขารูปวงพระจันทร์ ที่มีถ้ำเจติยะคฤหะ/กุฏิ/วิหาระ เจาะเข้าไปในเชิงหน้าผาหินบะซอลต์ (Rock-cut) จำนวน 30 ถ้ำ ในเมืองออรังกาบัด รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย ถูกสร้างขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ 11 ในสมัยของ “พระเจ้าหริเสนะ” (Harishena) กษัตริย์ในช่วงยุคสุดท้ายแห่งความรุ่งโรจน์ของราชวงศ์วากาฏกะ (Vākāṭaka  Dynasty) ราชสำนักผู้ปกครองเขตเดกข่านตะวันตก (Western Deccan) ที่มีความนิยมในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน (Mahāyāna Buddhism) ก่อนการเกิดขึ้นของนิกายวัชรยาน (Vajrayāna)
.
จุดเด่นของถ้ำเจติยะหมายเลข 1 คือ ภาพเขียนสีจิตรกรรมฝาผนัง (Mural Painting) แบบปูนเปียก/เฟรสโก้ (Dry Fresco) ที่แสดงเรื่องราวของพุทธประวัติ นิทานชาดก (Jatakas) รูปชาวต่างชาติอย่างทูตชาวเปอร์เซียและพ่อค้าผู้มั่งคั่งชาวซัสเซเนียน (Sasanian) ภาพวาดยังได้สะท้อนให้เห็นวีถีชีวิต คติความเชื่อ กิจกรรมทางสังคม เครื่องแต่งของชนพื้นเมืองทั้งของราชวงศ์ชนชั้นสูง นักบวช สามัญชน รวมถึงภาพของกองทัพ ร้านค้า การค้า เทศกาล การแสดง ขบวนแห่ พระราชวัง ดนตรีและสภาพแวดล้อมในช่วงเวลานั้นของดินแดนเดกข่านตะวันตกได้เป็นอย่างดีครับ
.
ภาพวาดปูนเปียกที่เหลือรอดมาจากอดีต มีชื่อเสียงไปทั่วโลกของถ้ำหมายเลข 1 คือภาพของพระโพธิสัตว์ ผู้เป็นบริวารแห่งพระศายมุนีพุทธเจ้า โดยภาพวาดผนังทางขวา (เมื่อมองเข้าไปจากประตู) ข้างห้องประธานตรงกึ่งกลาง เป็นภาพวาดของ “พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี” (Padmapāṇi Bodhisatava) ที่เป็นบริวารทางเบื้องขวา ยืนเอียง 3 ส่วนแบบตริภังค์ (Tribhaṅga) สวมมงกุฎประดับอัญมณี ถือดอกบัวในพระหัตถ์ขวา ผนังด้านขวา เป็นพระโพธิสัตว์ผิวกายคล้ำถือดอกบัว/วัชระขนาดเล็ก ?  ซึ่งตามคติของฝ่ายมหายานจะหมายถึง “พระโพธิสัตว์วัชรปาณี” (Vajrapāṇi Bodhisatava) พระโพธิสัตว์รุ่นแรก ๆ ของฝ่ายมหายาน ผู้เป็นพละกำลังและพระธรรมบาลแก่พระศากยมุนี สวมมงกุฎเป็นยอดบัญชรโค้ง 3 เรือน ภายในซุ้มก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นรูปใด ยืนเอียงสามส่วนแบบเดียวกับพระโพธิสัตว์ปัทมปาณี แวดล้อมด้วยรูปบริวารที่มีผิวกายคล้ำเช่นเดียวกัน
.
*** ซึ่งในเวลาต่อมา เมื่อนิกายวัชรยานได้ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงราชวงศ์จาลุกยะ (Early Chalukya Dynasty) ราชวงศ์ฮินดูที่ให้การสนับสนุนพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน/ตันตระ ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา รูปศิลปะแบบวางรูปสามองค์ (Triad) ของพระศากยมุนีพุทธเจ้าและบริวารผู้ช่วย ได้ถูกเปลี่ยนแปลงความนิยมของรูปศิลปะจากพระโพธิสัตว์ปัทมปาณี มาเป็น “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” (Bodhisattva Avalokiteśvara) ส่วนพระโพธิสัตว์วัชรปาณี ได้ถูกเปลี่ยนแปลงมาเป็น “พระโพธิสัตว์ไมเตรยะ” (Maitreya Bodhisatava) รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงท่านั่งของพระศากยมุนี จากทางนั่งขัดสมาธิแสดงธรรมจักรมุทรา มาเป็นการนั่งห้อยพระบาทแบบกรีก/ยุโรป “ปรลัมพปาทาสนะ” (Pralambapa – dasana posture) บนภัทรบัลลังก์/ภัทรบิฐ มีพนักพิงแบบเก้าอี้ แสดงธรรมจักรมุทรา ดังปรากฏงานพุทธศิลป์แกะสลักที่ “หมู่ถ้ำเอลโลรา” (Ellora Caves)  เมืองออรังกาบัด ห่างจากหมู่ถ้ำอชันต้าประมาณ 100 กิโลเมตรครับ
เครดิต :FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ปุณฑริกสูตร

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
สถาปัตยกรรมและงานพุทธศิลป์ในคติ  “เทศนาพระสัทธรรมปุณฑริกสูตร” ที่จันทิเมนดุต

“จันทิเมนดุต” (Candi Mendut) หรือชื่อนามตามจารึกว่า “วินุวนา” (Venuvana /แปลว่าป่าไผ่) สร้างขึ้นในสมัย “พระเจ้าสามาลาตังกะ” (Samaratungga)  ราชวงศ์ไศเลนทรา (Śailendra Dynasty) ตามคติมหายาน/วัชรยาน ในปี พ.ศ. 1367 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าอินทรา ตรงบริเวณสถานที่จัดพิธีถวายพระเพลิง ตัวจันทิจึงวางหันหน้าไปทางทิศตะวันตกตามคติของความตาย เป็นอาคารก่อหินภูเขาไฟทรงปราสาทวิมาน มีเรือนผังกล่องสี่เหลี่ยมเรียกว่า “กุฎี” หรือ “จันทิ” (Candi)  ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ความยาวด้านละ 14 เมตร ด้านหน้ามีมุขบันไดยื่นออกมาสำหรับขึ้นลงเพียงทางเดียว ชั้นหลังคาทำเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นแบบศิขระประดับจระนำซุ้ม  ลาดหลังคาประดับด้วยหน้าบันจำลอง เหนือลาดหลังคาวางสถูป (สถูปิกะ /Stupika) จำลองเป็นเครื่องประดับอยู่ที่มุม ยอดสุดเคยเป็นพระสถูปใหญ่ กรอบประตูและกรอบหน้าต่างจะประดับด้วยลายเกียรติมุขและมกร ด้านหน้าของตัวอาคารเรือนธาตุ เป็นมุขซุ้มประตูที่อาจเคยมีวิมานปราสาทชั้นซ้อนจำลองอยู่เหนือหลังคามุขอีกทีหนึ่ง  
.
*** องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมและงานพุทธศิลป์แกะสลักของจันทิเมนดุต ได้แสดงถึงคติเรื่องราวในพุทธประวัติฝ่ายมหายานตอน “เทศนาพระสัทธรรมปุณฑริกสูตร/สทฺธรฺมปุณฺฑรีกสูตฺร” (Saddharmapuṇḍarīka Sūtra) หรือ “พระสูตรบัวขาวแห่งธรรมอันล้ำเลิศ” (Sūtra on the White Lotus / Lotus Sūtra) ที่ได้เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 8 ปีสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของ “พระศากยมุนีพุทธเจ้า” (Śākyamuni) ทรงมีพระประสงค์จะเทศนาพระสัทธรรมอันประเสริฐสูงสุดให้แก่มวลมนุษย์เพื่อการพ้นทุกข์/สู่พระนิพพาน แต่มนุษย์ในสมัยนั้นก็ยังไม่พร้อมจะเข้าใจในพระสัทธรรมขั้นสูงของพระองค์ จึงทรงมีพุทธพยากรณ์ว่า ภายหลังที่พระองค์เสด็จสู่มหาปรินิพานไปแล้ว 2,000 ปี จึงจะปรากฏพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ ซึ่งในเวลานั้นยังคงเป็นพระโพธิสัตว์องค์ใดองค์หนึ่งบนสวรรค์ ลงมาเทศนาพระสัทธรรมของพระองค์ให้เหล่ามวลมนุษย์ในอนาคตเข้าใจได้ครับ
.
เมื่อเสด็จไปถึงกรุงราชคฤห์  พระศากยมุนีพุทธเจ้าจึงได้เสด็จขึ้นไปบนยอดเขาคิชกูฏ (เขาแร้ง) เพื่อโปรดเทศนาพระสัทธรรมปุณฑริกสูตร ฝากไว้ให้กับเหล่าพระโพธิสัตว์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งจะลงมาจุติ/ประสูติเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ด้วยเพราะในเวลานั้นมีแต่เพียงพระโพธิสัตว์เท่านั้นที่จะเรียนรู้และเข้าใจในพระสัทธรรมขั้นสูงได้ 
“คัมภีร์ทิวยาวทาน” (Divyāvadāna) วรรณกรรมประเภทอวทาน (Avadāna – เรื่องเล่าประวัติการกระทำบุญกุศลของบุคคลสำคัญ) เล่าว่า เมื่อเริ่มต้นการเทศนาพระสัทธรรม พระศากยมุนีพุทธเจ้าประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนดอกบัวขาว พญานาค “นันทะ-นนฺท”  (Nanda Nāga kings) และ“อุปนันทะ-อุปนนฺท” (Upananda Nāga – นาคผู้น้อง) ตัวแทนแห่งโลกและสะพานสายรุ้ง ปรากฏขึ้นใต้ดอกบัว แสดงอิทธิฤทธิ์ยกดอกบัว“ปัทมบัลลังก์” พุ่งขึ้นสู่สรวงสวรรค์  เหล่าพระมหาโพธิสัตว์ พระมานุษิโพธิสัตว์ทั่ว จากทั่วพุทธมัณฑละจำนวน 80,000 องค์ ต่างมาเข้าเฝ้าเพื่อฟังเทศนาเรียนรู้พระสัทธรรม ทรงจำแนกคำสอนออกเป็น 4 ส่วน เพื่อสั่งสอนมนุษย์ทั้งหลายให้บรรลุนิพพานและการปฏิบัติสู่ความเป็นพระมานุษิโพธิสัตว์ สำหรับคำสอนขั้นสูงสุดเพื่อการบรรลุสู่ความเป็นพระพุทธเจ้านั้น มนุษย์ไม่สามารถเรียนรู้ได้ พระองค์จะทรงสอนให้แก่ระดับพระ(มานุษิ)โพธิสัตว์ขึ้นไปเท่านั้นครับ
.
*** ผนังโดยรอบของจันทิเมนดุต จึงแกะสลักเป็นรูป “พระอัษฏมหาโพธิสัตว์” (Aṣṭamahābodhisatava)  ในความหมายของ “ตัวแทน” แห่งพระโพธิสัตว์ทั้ง 80,000 องค์ และ 8 ทิศมงคลแห่งสรวงสวรรค์ โดยด้านหน้าฝั่งทิศตะวันตก ฝั่งเหนือเป็นรูปของ “พระสรรวนิวรณวิษกัมภินโพธิสัตว์” แสดงวิตรรกะมุทราในพระหัตถ์ซ้ายและถือดอกบัวในพระหัตถ์ขวา ฝั่งใต้เป็นรูปของ “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” (แต่พังทลายลงมาแล้ว) ทิศเหนือฝั่งตะวันตกเป็นรูปของ “พระโพธิสัตว์ไมเตรยะ” มีสถูปประดับบนมงกุฎ แสดงประทานพรในพระหัตถ์ขวาและถือดอกไม้สามช่อดอกในพระหัตถ์ซ้าย ทิศเหนือฝั่งตะวันออก (ด้านหลังอาคาร) เป็นรูปของ “พระสมันตภัทระโพธิสัตว์” แสดงประทานพรในพระหัตถ์ขวาและถือดอกไม้สามช่อดอก (จินดามณี) ในพระหัตถ์ซ้าย
.
ด้านหลังทิศตะวันออกฝั่งเหนือ เป็นรูป “พระกษิติครรภะโพธิสัตว์” แสดงประทานพรในพระหัตถ์ขวาและถือดอกไม้สามช่อดอกในพระหัตถ์ซ้าย ทิศตะวันออกฝั่งใต้เป็นรูปของ “พระวัชรปาณีโพธิสัตว์” ถือวัชระในพระหัตถ์ขวาและพระหัตถ์ซ้ายแสดงวิตรรกะมุทรา ด้านข้างทิศใต้ฝั่งตะวันออกเป็นรูปของ “พระโพธิสัตว์มัญชูศรี” แสดงธรรมจักรมุทราในพระหัตถ์ขวาและถือดอกบัวขาบในพระหัตถ์ซ้าย และฝั่งทิศตะวันตกคือรูปของ “พระอากาศครรภะโพธิสัตว์” ถือดาบในพระหัตถ์ซ้ายและประทานพรในพระหัตถ์ขวาครับ 
.
*** ในการเทศนาพระสัทธรรมปุณฑริกสูตร เหล่าพระโพธิสัตว์ยังได้มีโอกาสเรียนรู้พระธรรมร่วมกับ “พระอดีตพุทธเจ้า” ทั้งปวงที่เข้าสู่พระนิพพานไปแล้ว ซึ่งในรูปศิลปะจะทำเป็นรูป (Stupa) ซึ่งก็คือ “สถูปิกะ” ที่ประดับอยู่บนชั้นหลังคาวิมานลดหลั่นของตัวจันทิเมนดุตนั่นเอง
.
*** ภายในห้องครรภธาตุ ตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานรูปของ “พระศากยมุนีพุทธเจ้า” ที่กำลังเทศนาพระสัทธรรมปุณฑริกสูตร แสดงพระหัตถ์ทั้งสองในท่า “ธรรมจักรมุทรา” (Dharmachakra Mudra) นั่งห้อยพระบาทแบบกรีก/ยุโรป บนรัตนบัลลังก์ที่มีพนักพิงประดับด้วยรูปช้าง สิงห์และมกร กลางพระนลาฏมีพระอุณาโลม (Unalome) แบบปาละ มีแผ่นประภามณฑลล้อมรอบพระเศียร โดยเบื้องขวา มี “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” (Bodhisattva Avalokiteśvara) มุ่นมวยพระเกศาแบบ “ชฏามกุฏ” (Jaṭāmakuṭa) มีรูปพระอมิตาภะด้านหน้ามวยผม  รัดพระองค์ด้วยเข็มกลัดรูปตาบประดับอัญมณี  คาดหนัง “มฤค” (เลียงผา กวาง ละมั่ง หรือพวกแอนติโลป) เฉียง พระหัตถ์ซ้ายแสดง “วรทมุทรา”(ประทานพระ พระหัตถ์ขวาถือบัวปัทมะ (หายไป อาจทำจากโลหะสำริด/ทองคำ?) ครับ 
.
เบื้องขวา คือ “พระโพธิสัตว์วัชรปาณี” (Vajrapāṇi Bodhisatava) หรืออาจเป็น “พระมัญชุศรีโพธิสัตว์” (Mañjūsrī Bodhisatava) พระโพธิสัตว์แห่งปัญญา หรือ “พระไมเตรยะโพธิสัตว์” (Maitreya Bodhisatava) พระอนาคตพุทธเจ้า สวมกีรีฏมุกุฏ  (Kirīṭamukuṭa) พระหัตถ์ขวาแสดงการถือของมงคล (หายไป) ที่อาจเป็นได้ทั้ง “วิศววัชระ” (Viśva Vajra) ดอกบัวขาบ คัมภีร์ หม้อน้ำหรือพระขรรค์ (ที่เป็นโลหะมีค่า)
.
*** พระมหาโพธิสัตว์ทั้งสององค์มีประภามณฑลล้อมรอบพระเศียร นั่งในท่า “ลลิตาสนะ” (Lalitāsana) ประทับบนดอกบัวบาน บนบัลลังก์ที่มีปลายคานเป็นรูปตัวมกรแบบเดียวกับบัลลังก์ของพระศากยมุนีครับ   
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

พระบรมสารีริกธาตุ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระบรมสารีริกธาตุ” ประดิษฐานในสถูปเจติยะสถาน เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ที่เมืองโบราณคูบัว

คติการประดิษฐาน “พระบรมสารีริกธาตุแห่งพระพุทธเจ้า” (Buddha’s Śarīra /Buddha's Relic) บรรจุในห้องกรุ (Chamber) ของสถูปเจติยะสถาน อาจเริ่มต้นมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ดังปรากฏความในวรรณกรรม/คัมภีร์/พุทธประวัติเรื่องการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุภายหลังการถวายเพลิงพระบรมศพพุทธสรีระองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เมืองกุสินารานคร โดยโทณพราหมณ์ ผู้เป็นทิศาปาโมกข์อาจารย์ของเหล่ากษัตริย์เป็นผู้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุมอบให้แก่ทั้ง 8 แว่นแคว้น    
.
ซึ่งในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 3 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชา ได้มีการขุดพระบรมสารีริกธาตุจากพระสถูปเจติยะ (Chaitya) เดิมในแต่ละแคว้นที่ชำรุดทรุดโทรม ขาดการทำนุบำรุง มาสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุกรุขึ้นใหม่พร้อมสิ่งของมีค่า/มงคล เพื่อเป็นการพุทธบูชา อีกทั้งยังได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุบางส่วนจากที่ขุดได้ จัดสรรไปประดิษฐาน/บรรจุไว้ในพระสถูปที่สร้างขึ้นใหม่ในเขตจักรวรรดิของพระองค์ครับ
.
จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ 10 – 11 เมื่อปรากฏอิทธิพลวัฒนธรรมพุทธศาสนาจากแคว้นอานธระประเทศ (Andhra Pradesh) ในเอเชียตะวันออกเฉียงอย่างเป็นรูปธรรม ได้มีการสร้างพระสถูปเจติยะสถาน (เจดีย์) ขึ้นเป็นศูนย์กลางของชุมชน/เมืองโบราณหลายแห่ง ตามคติ “มหาธาตุ” มีการบรรจุ/ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในตำแหน่งกึ่งกลาง ของพระสถูปในระดับเดียวกับจากพื้นโดยรอบหรืออาจสูงกว่าและลึกกว่าเล็กน้อย โดยนิยมทำเป็นห้องกรุขนาดเล็ก พร้อมบรรจุสิ่งของมีค่าในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นการพุทธบูชาลงไปในกรุพร้อมกันด้วย    
.
แต่กระนั้นสถูปเจติยะจำนวนมากในยุคเริ่มแรกช่วงต้นวัฒนธรรมทวารวดี ก็ได้ถูกขุดค้นหาสมบัติมีค่า ทำให้พระบรมสารีริกธาตุที่ถูกประดิษฐานไว้ในห้องกรุสูญหายไปเป็นจำนวนมากครับ
.
*** ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2504 – 2056 กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดสำรวจที่กึ่งกลางโบราณสถานทั้ง 44 แห่ง ในเขตเมืองโบราณคูบัว ที่เป็นเมืองโบราณในช่วงวัฒนธรรมทวารวดีขนาดใหญ่ ทางทิศใต้ของตัวเมืองราชบุรี ได้พบห้องกรุที่ประดิษฐานผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุกลางเจดีย์หมายเลข 1 (โคกนายใหญ่) ริมห้วยคูบัว มุมตะวันตกเฉียงเหนือ นอกแนวคันดินและคูน้ำฝั่งตรงข้ามทางรถไฟของเมือง ซึ่งเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก แผนผังจัตุรัสกว้างยาวประมาณ 6 * 6 เมตร ฐานล่างสูง 1 เมตร ชุดฐานเวทีพันธะ – อธิษฺฐานะ” (Vedībandha - Adhiṣṭhaāna) หน้ากระดาน เป็นบัววลัย/บัวลูกแก้วใหญ่ (Bua Valai) ท้องไม้แบ่งเป็นช่องด้วยเสาอิง คั่นกลางด้วยแถบลูกพักแบ่งท้องไม้เป็น 2 ชั้น ยกเก็จ 8 กระเปาะ เก็จประธานยกเก็จซ้อน 2 ชั้น ด้านบนพังทลายแต่ก็ควรเป็นส่วนขององค์ระฆัง รูปทรงอัญฑะ/ฟองน้ำ 
.
กรุตรงกลางเจดีย์หมายเลข 1 อยู่ในตำแหน่งสูงกว่าระดับพื้นดินด้านข้างเล็กน้อย เป็นตาราง 9 ช่อง แบบการวางทิศมงคลทั้ง 8 หรือ “ยันตรคละ” (Yantragaḷa)  ช่องกลางประดิษฐานผอบบรรจุพระบรมรีริกธาตุ ซ้อนกัน 3 ชั้น ชั้นนอกเป็นผอบสำริด ชั้นกลางเป็นผอบเงิน ฝาทรงกลีบดอกบัวซ้อน 2 ชั้น ชั้นในสุดเป็นผอบทองคำ มีเส้นฝ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร ยอดทรงกระบอกประดับแก้วควอทซ์ที่ส่วนปลาย ภายในมีพระบรมสารีริกธาตุ  5 พระองค์ สัณฐานคล้ายเมล็ดผักกาด ลูกปัดแก้วสีน้ำเงิน ก้อนทองคำบริสุทธิ์ ควอทซ์และก้อนดินครับ
.
เหนือช่องกลางที่บรรจุผอบถูกปิดด้วยแผ่นหินปูนขนาดเล็ก แกะสลักเป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิแบบไขว้ข้อพระบาทตามอิทธิพลของพุทะศิลป์แคว้นอานธระ มีสัญลักษณ์มงคลเป็นรูปพระสถูปหม้อน้ำและพระธรรมจักรสตัมภะแผ่รัศมี ตามคติแบบสถวีรวาทจากแคว้นอานธระประเทศ/อินเดียใต้ฝั่งตะวันออก 
.
*** เมื่อพิจารณารูปงานศิลปะของแผ่นหินแกะสลัก ที่ยังปรากฏคติพุทธศาสนาแบบอานธรนะประเทศ ทั้งธรรมจักรตั้งเสาและการไขว้ข้อพระบาท พระสถูปเจติยะสถานหมายเลข 1 นี้ จึงควรมีอายุการสร้างในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 13  
.
*** และเมื่อพิจารณาเทียบกับพระบรมสารีริกธาตุ ที่ขุดพบทางโบราณวิทยาจากพระธาตุนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ที่มีอายุอยู่ในช่วงประมาณต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 14 พระบรมสารีริกธาตุที่พบจากเจดีย์หมายเลข 1 เมืองโบราณคูบัว จึงได้ครองอันดับหนึ่ง ที่ถือได้ว่ามีความเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย (ที่ขุดพบจากงานโบราณวิทยา) ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้องวัฒนธรรมทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรีครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

พระพุทธรูปปางลีลา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระพุทธรูปลีลา/ประทานพร” ศิลปะราชวงศ์คุปตะ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

*** บันทึกของหลวงจีนฟาเหี้ยน (Faxian ,Fa-Hien) พระภิกษุในยุคราชวงศ์จิ้นตะวันออก ที่ได้เดินทางไปไปนมัสการสังเวชนียสถานที่สารนาถในปี พ.ศ. 945 ในยุคของพระเจ้าจันทรคุปตะที่ 2 วิกรมาทิตย์ (Chandragupta II Vikramaditya) แห่งราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 10 เขียนไว้ว่า  
.
“....คณะของเราออกเดินทางไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของแม่น้ำวรุณาประมาณ 10 ลี้ ได้มาถึงสังฆารามสารนาถ (อารามมฤคทายวัน) อันใหญ่กว้าง บริเวณฆาราวาสแย่งออกเป็น 8 ส่วน มีกำแพงล้อมอยู่โดยรอบแยกเป็นสัดส่วนจากพระภิกษุสงฆ์ แต่ละส่วนทำเป็นชั้นต่อกันขึ้นไปยื่นออกไปด้วยระเบียงทางเดินยาว นายช่างผู้ออกแบบได้แสดงฝีมือการก่อสร้างที่หาเปรียบไม่ได้ ขณะไปถึง มีพระภิกษุสงฆ์อาศัยอยู่ในบริเวณสังฆารามแห่งนี้ประมาณ 1,500 รูป เป็นสงฆ์ในนิกายสางมิตียะอันเป็นสาขาหนึ่งแห่งนิกายหินยาน...”
.
-------------------
*** “พระพุทธรูปยืนตริภังค์” (Tribhaṅga/เอียงสามส่วน) ปางประทาน/ลีลา มีแผ่นหลังเป็นประภามณฑล ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับถวายมาจากรัฐบาลอินเดีย/อังกฤษในครั้งเสด็จเยือนในปี พ.ศ. 2434 ดังปรากฏความใน “นิทานโบราณคดี” (พ.ศ. 2487) เรื่องที่ 7 ตอน “สืบพระศาสนาในอินเดีย” ความว่า
.
“...เวลาฉันเสาะหาของโบราณ ที่เนื่องด้วยพระพุทธศาสนา เจ้าพนักงานกรมตรวจโบราณคดีของรัฐบาลอินเดียเขาสงเคราะห์มาก ของโบราณเช่นพระพุทธรูปเป็นต้น ที่ยังไม่ได้ส่งเข้าพิพิธภัณฑสถานฉันไปพบสิ่งใด อยากได้เขาก็ให้ แต่เราก็ต้องเกรงใจเขา เลือกเอามาบ้างแต่พอสมควร ฉันได้พระพุทธรูปปางลีลาแบบสมัยคุปตะ ราว พ.ศ. ๑,๐๐๐ มาจากมฤคทายวันองค์หนึ่ง และมาได้รอยพระพุทธบาที่กล่าวมาแล้ว กับทั้งพระพุทธรูปและพระสถูปขนาดน้อยที่พุทธคยาอีกหลายสิ่ง ของเหล่านั้นฉันเอามาถวายพระเจ้าอยู่หัว เดิมโปรดให้ไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังย้ายเอาไปไว้ในพิพิธภัณฑสถาน ยังอยู่ที่นั่นทั้งนั้น...” 
.
*** พระพุทธรูปยืนปางประทานพร ศิลปะแบบคุปตะ ที่ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครองค์นี้ เป็นงานพุทธศิลป์แบบ “สกุลช่างสารนาถ” (Sārnāth Art) (“สารงฺค+นารถ – สารังคนาถ” /ที่พักพิงของหมู่กวาง) /ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (Isipatana Migadava) ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 10 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 11 สลักขึ้นจากหินทรายชูนาร์ (Chunar sandstone) สีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง กระหม่อมอุษณีษะกลมไม่โหนกสูง ไม่มียอดพระเจ้า มวยพระเกศาหยิกแบบก้นหอย ครองผ้าจีวรและสังฆาฏิแบบห่มคลุม ผ้าบางแนบพระวรกายแบบผ้าเปียกน้ำ ไม่มีรอยริ้วผ้า (ซึ่งอาจหมายผ้าไหมกาสี (Kashi Silk) เนื้อบางละเอียด มีความงดงาม มีคุณค่าและคงทน เป็นผ้าชั้นสูงที่นิยมของราชสำนักเมืองพาราณาสีมาแต่ยุคโบราณ) แต่ยังปรากฏลายเส้นผ้าย่น ลายเส้นจีบทบ ลายเส้นรัดประคดผ้าสบงแบบผูกปมปล่อยสายห้อย ผ้าสังฆาฏิจากข้อพระกรทั้งสองลงมาที่พระชงฆ์ ปลายรั้งขึ้นเหนือกว่าผ้าสบง พระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานพรแบบทิ้งพระกรฝั่งขวาตามแนวพระวรกาย แล้วแบพระหัตถ์หงายออก แยกพระกนิษฐา (นิ้วก้อย) ออกมาเป็นสัญลักษณ์ พระหัตถ์ซ้าย ชักรั้งผ้าขึ้นมากำลูกบวบ (หักหายไป) ที่แสดงถึงท่าเดิน (ลีลา)
.
พระพุทธรูปองค์นี้ เป็น “พระพุทธเจ้าสมณโคตม” ในนิกาย“สถวีรวาท”(Sthāvirīya) หรือนิกายหินยาน นิกายย่อย “สางมิตียะ/วาตสิปตรีย/วาตสิปุรียสางมิตียะ” (Samitīya) ผสมผสานกับคติมหาบุรุษ/เทพเจ้าของฝ่ายฮินดู (รูปลักษณ์แบบตริภังค์) ที่อาจเรียกว่า “นิกายคุปตะ” (ราชสำนักคุปตะนับถือ/นิยมลัทธิฝ่ายฮินดูแทบทุกสมัย) ใช้คัมภีร์เป็นภาษาสันสกฤต  เน้นคำสอนเรื่อง ขันธ์ 5 ในการเวียนว่ายตายเกิด เชื่อว่าทุกสิ่งเป็นอนัตตาไม่มีตัวตน ถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาไม่ใช่เทวดาหรือพระเจ้าแต่อย่างใด เพียงแต่มีคุณสมบัติบางประการเหนือมนุษย์สามัญเท่านั้น 
.
.
*** พรุ่งนี้ เราจะได้ไปเรียนรู้แบบชัด ๆ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กันครับ 
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร 
EJeab  Academy

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

พุดตานด้านซ่อน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พุดตาน ก้านขดม้วน เครือเถา ช่อหางและใบอะแคนตัส” พุทธศิลป์งามในพระพุทธบาทแห่งวัดพุทไธศวรรย์ 

“...ตรงกลางของจัตุรัสมีพระปรางค์ใหญ่ปิดทอง มี 4 ประตู ...มีบันไดศิลาปิดทอง... มหาธาตุนั้นประดิษฐานอยู่ภายในคูหาของพระปรางค์ ห้องนี้สร้างขึ้นเพื่อให้สามารถเดินประทักษิณได้โดยรอบพระมหาธาตุโดยไม่ต้องเข้าไปใกล้... ภายในพระปรางค์ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองปิดทองอีกด้วย...” (บันทึกคณะทูตชาวสิงหล ที่ได้มาเยือนวัดพุทธิสุวรรณ ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปี พ.ศ. 2239)
.
*** บริเวณช่องริมผนังภายในคูหาตรีมุขด้านหน้า ติดกับเรือนธาตุปราสาทของพระปรางค์ประธานวัดพุทไธศวรรย์ ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาทจำลอง” สลักขึ้นจากหินทราย ทั้งฝั่งทิศเหนือและฝั่งทิศใต้ โดยฝั่งทิศใต้ยังคงมีความสมบูรณ์ครบถ้วนกว่าฝั่งทางทิศเหนือ  
.
ในครั้งแรกสร้างนั้น พระพุทธบาทจำลองทั้งสองฝั่งน่าจะมีรูปแบบของการประดับและฐานขาสิงห์แบบเดียวกัน แต่พระพุทธบาทผนังฝั่งทางทิศเหนือถูกเจาะและทุบทำลายจนสิ้นสภาพ คงเหลือเพียงแต่ส่วนพระพุทธบาทที่แกะสลักจากหินทรายอยู่เท่านั้นครับ ในขณะที่ฝั่งทิศมีร่องรอยถูกเจาะบางส่วนครับ   
.
ถึงแม้ว่า รูปงานศิลปะของพระพุทธบาทสลักหินทรายทั้งสองจะแตกต่างกัน โดยพระพุทธบาทฝั่งทิศเหนือ สลักความยาวนิ้วไม่เท่ากัน ส่วนพระอังคุฐ (หัวแม่เท้า) ใหญ่กว่านิ้วอื่น ๆ ทำให้รู้ว่าเป็นพระบาทเบื้องขวา (พระพุทธบาททางฝั่งทิศใต้ ความยาวของนิ้วเท่ากัน) อีกทั้งยังสลักช่วงข้อนิ้วบุ๋มลงไปตามแบบนิ้วเท้าจริงของมนุษย์ (ทางทิศใต้ เป็นแผ่น 3 ปล้อง ปั้นรักเป็นลายม้วนก้นหอย) แต่ด้วยการจัดวางรูปแบบตะแคงตั้งขวางเพื่อประดิษฐานแบบวางพิง (ผนัง) วางสัญลักษณ์มงคล 108 ประการ (อัฏฐุตรสตมงคล) ในกรอบเส้นลวดแบบตารางไปจนสุดส้นพระบาท (พระบาททิศใต้ เว้นปลายเป็นช่องใหญ่) ไม่ได้จัดเรียงลำดับมิติสุคติภูมิอย่างชัดเจน ตามแบบแผนโบราณ (ลบเลือนไปมาก) พระองคุลีบาททั้ง 5 (พระอังคุฐ พระดัชนี พระมัชฌิมา พระอนามิกา พระกนิษฐา) หันไปทางซ้ายและร่องรอยของรูปทรงกลมของดอกบัวบานแบบซ้อนดอก ที่ล้วนมีลักษณะทางศิลปะร่วมกัน ประกอบกับลวดลายประดับปั้นรัก ปั้นปูน ลงรักปิดทองประดับกระจกเกรียบที่เหลืออยู่เกือบสมบูรณ์ของพระพุทธบาทฝั่งทิศใต้ ก็สอดรับกับลายประดับพระเจดีย์ทรงปราสาท ประธานภายในคูหาของพระปรางค์ รวมถึงลายประดับของฐานพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ที่ประดิษฐานในคูหามุขฝั่งทิศตะวันตก 
.
*** พระพุทธบาทจำลองทั้งสององค์นี้ จึงมีรูปแบบการจัดวาง ความตั้งใจสร้างเพื่อประดิษฐานในคูหาและงานพุทธศิลป์อยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ครับ
.
ลวดลายประดับของซุ้มพระพุทธบาททางฝั่งทิศใต้ ได้สะท้อนพัฒนาการของศิลปะอยุธยาที่รับอิทธิพลจากตะวันตกในช่วงเวลานี้ได้เป็นอย่างดี  เริ่มต้นจากการจัดวางฐานขาสิงห์ล่างสุด ที่ส่วนหลังสิงห์กลายมาเป็นลาดหลังคาหรือบัวคว่ำ จนเกิดเป็นสันคมระหว่างหลังสิงห์เเละท้องสิงห์ที่เรียกว่า “บัวหลังสิงห์” น่องสิงห์โค้งมีคิ้วประดับ กาบเท้าสิงห์ ครีบน่อง ครีบท้องเเละนมสิงห์ มีการใช้กระหนกรูปทรงกระจังเข้ามาประกอบ เหนือฐานสิงห์ประดับกระจังตาอ้อยและกระจังเจิม ต่อด้วยท้องไม้รองรับชั้นกลีบบัวหงายสอดไส้กระจังคว่ำ หน้ากระดานดอกไม้ต่อเนื่องแบบช่องกระจกกลม (ประดับกระจกเกรียบ) สลับดอกไม้กลีบ (ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นลายช่องกระจกแบบยาวสลับก้ามปูในช่วงอยุธยาตอนปลาย) ด้านบนปั้นปูนเป็นกระจังตาอ้อยวางตัวถี่ 2 ระดับ ฐานท้องไม้รองรับบัวลูกแก้วที่ปั้นปูนประดับเป็นบัวกลุ่ม วางกลีบบัวซ้อนแบบบัวคลุ่มสับหว่าง 4 ชั้น 
.
ด้านบนทำเป็นโครงหน้าบันสามเหลี่ยม ขอบลำยองคาดเส้นลูกปัดอัญมณี 2 เส้นคู่ ตรงกลางประดับกระจก ส่วนโค้งมีหยัก (นาค) สะดุ้ง ขอบนอกปั้นเป็นกระจังบัวรวนเรียงเฉียงต่อเนื่องขึ้นไปจนถึงยอด มุมขอบล่างทั้งสองฝั่งปั้นปูนเป็นกระจังกาบใหญ่ซ้อนชั้น วางลวดลายปูนปั้นแบบลงรักปิดทองบนพื้นรักดำที่เคยประดับกระจกเกรียบ พื้นที่ด้านล่างส้นพระบาทปั้นปูนเป็นก้านขดม้วน แตกใบฝรั่ง/อะแคนตัส (Acanthus) แบบหน้าบันวิหารวัดเตว็ด ไปตามก้านเครือเถาแบบอิทธิพลจีนครับ
.
ลวดลายประดับของกรอบสามเหลี่ยมหน้าบัน เป็นการผสมผสานศิลปะแบบอยุธยา/จีนและตะวันตก จัดวางรูปประธานกลางภาพเป็นดอกพุดตานแตกใบดอกโบตั๋นในรูปใบฝรั่งประดิษฐ์ แตกเถาเป็นก้านขดวง ก้านม้วนแบบเครือเถาไม้เลื้อย แตกใบเป็นกระหนกเปลว กระหนกตัวเหงา ต่อก้านด้านบนเป็นดอกพุดตานเล็กแตกใบ ก้านโค้งแตกเป็นใบฝรั่งม้วนเข้ามาด้านใน จบลายที่ปลายก้านเป็นช่อหางรูปพุ่มข้าวบิณฑ์และกระหนกสามตัว  ขอบล่างตรงกลางเป็นดอกไม้มีกลีบครึ่งดอกแบบลายจีนแต่ใช้รูปดอกไม้ตะวันตก
.
ดูเหมือนว่ารูปศิลปะของลวดลายกระหนกแบบผสมผสานอยุธยา/จีน/ตะวันตกจะพบได้เฉพาะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เท่านั้น เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจราชสำนักในเวลาต่อมา รูปศิลปะของใบอะแคนตัสได้หายไป ก้านจะเริ่มมีขนาดใหญ่ไม่แตกใบเป็นเถาแบบจีน แต่ยังคงลายนิยมลายก้านขดเป็นวง นิยมจบลายด้วยพุ่มช่อหาง
.
*** ลวดลายประดับของพระพุทธบาทในคูหามุขหน้าของปรางค์ประธานวัดพุทไธศวรรย์นี้ เรียกได้ว่า เป็นลายกระหนกแบบอยุธยาผสมผสานรูปศิลปะตะวันตกในโครงร้างการแตกพุ่มใบในงานสิลปะจีน ที่นิยมมาตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยาในยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่ยังคงมีความสมบูรณ์ หาชมความงดงามเช่นนี้ได้ยากแล้วครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy