วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

พระบรมสารีริกธาตุ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระบรมสารีริกธาตุ” ประดิษฐานในสถูปเจติยะสถาน เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ที่เมืองโบราณคูบัว

คติการประดิษฐาน “พระบรมสารีริกธาตุแห่งพระพุทธเจ้า” (Buddha’s Śarīra /Buddha's Relic) บรรจุในห้องกรุ (Chamber) ของสถูปเจติยะสถาน อาจเริ่มต้นมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ดังปรากฏความในวรรณกรรม/คัมภีร์/พุทธประวัติเรื่องการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุภายหลังการถวายเพลิงพระบรมศพพุทธสรีระองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เมืองกุสินารานคร โดยโทณพราหมณ์ ผู้เป็นทิศาปาโมกข์อาจารย์ของเหล่ากษัตริย์เป็นผู้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุมอบให้แก่ทั้ง 8 แว่นแคว้น    
.
ซึ่งในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 3 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชา ได้มีการขุดพระบรมสารีริกธาตุจากพระสถูปเจติยะ (Chaitya) เดิมในแต่ละแคว้นที่ชำรุดทรุดโทรม ขาดการทำนุบำรุง มาสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุกรุขึ้นใหม่พร้อมสิ่งของมีค่า/มงคล เพื่อเป็นการพุทธบูชา อีกทั้งยังได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุบางส่วนจากที่ขุดได้ จัดสรรไปประดิษฐาน/บรรจุไว้ในพระสถูปที่สร้างขึ้นใหม่ในเขตจักรวรรดิของพระองค์ครับ
.
จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ 10 – 11 เมื่อปรากฏอิทธิพลวัฒนธรรมพุทธศาสนาจากแคว้นอานธระประเทศ (Andhra Pradesh) ในเอเชียตะวันออกเฉียงอย่างเป็นรูปธรรม ได้มีการสร้างพระสถูปเจติยะสถาน (เจดีย์) ขึ้นเป็นศูนย์กลางของชุมชน/เมืองโบราณหลายแห่ง ตามคติ “มหาธาตุ” มีการบรรจุ/ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในตำแหน่งกึ่งกลาง ของพระสถูปในระดับเดียวกับจากพื้นโดยรอบหรืออาจสูงกว่าและลึกกว่าเล็กน้อย โดยนิยมทำเป็นห้องกรุขนาดเล็ก พร้อมบรรจุสิ่งของมีค่าในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นการพุทธบูชาลงไปในกรุพร้อมกันด้วย    
.
แต่กระนั้นสถูปเจติยะจำนวนมากในยุคเริ่มแรกช่วงต้นวัฒนธรรมทวารวดี ก็ได้ถูกขุดค้นหาสมบัติมีค่า ทำให้พระบรมสารีริกธาตุที่ถูกประดิษฐานไว้ในห้องกรุสูญหายไปเป็นจำนวนมากครับ
.
*** ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2504 – 2056 กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดสำรวจที่กึ่งกลางโบราณสถานทั้ง 44 แห่ง ในเขตเมืองโบราณคูบัว ที่เป็นเมืองโบราณในช่วงวัฒนธรรมทวารวดีขนาดใหญ่ ทางทิศใต้ของตัวเมืองราชบุรี ได้พบห้องกรุที่ประดิษฐานผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุกลางเจดีย์หมายเลข 1 (โคกนายใหญ่) ริมห้วยคูบัว มุมตะวันตกเฉียงเหนือ นอกแนวคันดินและคูน้ำฝั่งตรงข้ามทางรถไฟของเมือง ซึ่งเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก แผนผังจัตุรัสกว้างยาวประมาณ 6 * 6 เมตร ฐานล่างสูง 1 เมตร ชุดฐานเวทีพันธะ – อธิษฺฐานะ” (Vedībandha - Adhiṣṭhaāna) หน้ากระดาน เป็นบัววลัย/บัวลูกแก้วใหญ่ (Bua Valai) ท้องไม้แบ่งเป็นช่องด้วยเสาอิง คั่นกลางด้วยแถบลูกพักแบ่งท้องไม้เป็น 2 ชั้น ยกเก็จ 8 กระเปาะ เก็จประธานยกเก็จซ้อน 2 ชั้น ด้านบนพังทลายแต่ก็ควรเป็นส่วนขององค์ระฆัง รูปทรงอัญฑะ/ฟองน้ำ 
.
กรุตรงกลางเจดีย์หมายเลข 1 อยู่ในตำแหน่งสูงกว่าระดับพื้นดินด้านข้างเล็กน้อย เป็นตาราง 9 ช่อง แบบการวางทิศมงคลทั้ง 8 หรือ “ยันตรคละ” (Yantragaḷa)  ช่องกลางประดิษฐานผอบบรรจุพระบรมรีริกธาตุ ซ้อนกัน 3 ชั้น ชั้นนอกเป็นผอบสำริด ชั้นกลางเป็นผอบเงิน ฝาทรงกลีบดอกบัวซ้อน 2 ชั้น ชั้นในสุดเป็นผอบทองคำ มีเส้นฝ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร ยอดทรงกระบอกประดับแก้วควอทซ์ที่ส่วนปลาย ภายในมีพระบรมสารีริกธาตุ  5 พระองค์ สัณฐานคล้ายเมล็ดผักกาด ลูกปัดแก้วสีน้ำเงิน ก้อนทองคำบริสุทธิ์ ควอทซ์และก้อนดินครับ
.
เหนือช่องกลางที่บรรจุผอบถูกปิดด้วยแผ่นหินปูนขนาดเล็ก แกะสลักเป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิแบบไขว้ข้อพระบาทตามอิทธิพลของพุทะศิลป์แคว้นอานธระ มีสัญลักษณ์มงคลเป็นรูปพระสถูปหม้อน้ำและพระธรรมจักรสตัมภะแผ่รัศมี ตามคติแบบสถวีรวาทจากแคว้นอานธระประเทศ/อินเดียใต้ฝั่งตะวันออก 
.
*** เมื่อพิจารณารูปงานศิลปะของแผ่นหินแกะสลัก ที่ยังปรากฏคติพุทธศาสนาแบบอานธรนะประเทศ ทั้งธรรมจักรตั้งเสาและการไขว้ข้อพระบาท พระสถูปเจติยะสถานหมายเลข 1 นี้ จึงควรมีอายุการสร้างในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 13  
.
*** และเมื่อพิจารณาเทียบกับพระบรมสารีริกธาตุ ที่ขุดพบทางโบราณวิทยาจากพระธาตุนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ที่มีอายุอยู่ในช่วงประมาณต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 14 พระบรมสารีริกธาตุที่พบจากเจดีย์หมายเลข 1 เมืองโบราณคูบัว จึงได้ครองอันดับหนึ่ง ที่ถือได้ว่ามีความเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย (ที่ขุดพบจากงานโบราณวิทยา) ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้องวัฒนธรรมทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรีครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น