วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

มหานิบาตชาดก

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“มหานิบาตชาดก”ลังกาวงศ์เริ่มแรกในจักรวรรดิบายน

ความแตกแยกระหว่างนิกายต่าง ๆ ในลังกาที่ยาวนานกว่า 500 ปี จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 จึงได้เกิดการปฏิรูปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกาครั้งใหญ่ ในสมัยของพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช ทรงโปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก กำหนดพระธรรมวินัยขึ้นใหม่จนเกิดพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบ “ลังกาวงศ์” (Theravāda/Lankavong Buddhism) ขึ้นเป็นครั้งแรก 
.
คติลังกาวงศ์ ได้เริ่มส่งอิทธิพลเข้ามายังเมืองตามพรลิงค์/ตมฺลิงคะ (Tamlinga)/นครศรีธรรมราช ผ่านต่อไปยังเมืองพระนครศรียโสธรปุระตามเส้นทางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนัก ดังปรากฏหลักจากจารึก “พระเจ้านิสสังกมัลละ” (Nissanka Malla) แห่งนครโปโลนนารุวะ ที่ระบุว่าอาณาจักรสิงหลได้มีไมตรีกับรามัญเทศะและกัมโพชเทศะ ทั้งยังได้ส่งคณะสงฆ์เข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาลังกาวงศ์ในอาณาจักรทั้งสอง ซึ่งในอาณาจักรกัมพุชเทศะจะตรงกับช่วงแรกของสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ครับ
.
นิกายลังกาวงศ์ในยุคแรกที่เข้าไปสู่รามัญเทศะ ได้พัฒนาไปเป็น “รามัญนิกาย” หรือ นิกายอรัญวาสี /อุทุมพรคีรี/ทิมพลุคละ” (Āraṇya-vāsī/Udumbaragiri Dimbulagala) หรือ “ลังกาวงศ์ยุคที่ 2” มีศูนย์กลางเมืองนครพัน/พะอัน/เมาะตะมะ (Pa-an /Martaban) ส่งต่ออิทธิพลมาไปยังกลุ่มรัฐต่าง ๆ ทางตะวันออก ทั้งในเขตล้านนา สุโขทัย สุพรรณภูมิ ละโว้ เข้าไปยังราชสำนักเมืองพระนคร ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19
.
*** ถึงแม้ว่าในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ราชสำนักบายนให้ความนิยมในคติความเชื่อนิกายมหายาน/วัชรยานตันตระ  (Mahāyāna/Vajrayāna Tantric Buddhism) เน้นหนักไปที่ลัทธิ “โลเกศวร” (Lokeśvara) ก็ตาม แต่อิทธิพลของพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์รุ่นแรกที่ยังไม่ได้รับความนิยม ยังได้แทรกเข้าไปสู่ราชสำนักเมืองพระนครธมเช่นเดียวกัน อย่างการปรากฏเจดีย์แบบลังกา/โปโลนนารุวะ องค์ระฆังเตี้ยอ้วนป้อม ฐานปัทม์สามชั้น บัลลังก์ใหญ่ ประดิษฐานภายในปราสาทประธานของปราสาทพระขรรค์ (Jayaśrí) ปราสาทที่ถูกสถาปนาขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระราชบิดา บริเวณที่ได้รับชัยชนะต่อกองทัพเรือจามปาครับ   
.
โดยเฉพาะการปรากฏรูปงานศิลปะที่แสดงเรื่องราว “มหานิบาตชาดก/ทศชาติชาดก”” (Mahānipāta jātaka) อันเป็นชาดกเรื่องใหญ่ 10 พระชาติสุดท้ายจาก “อรรถกถาชาดก”(Jātakatthavaṇṇanā) ในภาษาบาลีทั้งหมด 547 (550) เรื่อง เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติบำเพ็ญบารมีธรรมของพระโพธิสัตว์ในแต่ละภพชาติก่อนจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงการกระทำความดีและความชั่วผ่านเรื่องเล่าแบบนิทาน อันเป็นคตินิยมของฝ่ายเถรวาทโดยตรง 
.
*** ภาพสลักเรื่องราวในมหานิบาตชาดก ที่พบในช่วงจักรวรรดิบายน เป็นเรื่อง  “พระเวสสันดร” (Vessantara Jātaka) ที่ปราสาทตาพรหม ปราสาทพระขรรค์ ปราสาทตาพรหมแห่งโตนเลบาตี ปราสาทตาไนย ปราสาทบันเตียสำเหร่  นิยมสลักเป็นภาพตอนที่พระเวสสันดรพระราชทานกัญหาและชาลีให้กับชูชก และตอนพระราชทานช้างแก้วปัจจัยนาเคนทร์ ให้แก่พราหมณ์ทั้ง 8 จากเมืองกลิงครัฐครับ 

เรื่อง “สุวรรณสาม” (Sāma Jātaka) พบที่ปราสาทบายน  เป็นภาพตอนที่สุวรรณสามออกมาตักน้ำที่แม่น้ำมิคสัมมตาให้กับบิดามารดาที่ตาบอดเพราะพิษงู แต่ถูกพระเจ้ากบิลยักขราช แผลงศรมาสังหาร เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นร่างแปลงของนาคป่า เทพยาแห่งป่าหิมวันต์
.
พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในราชสำนักบายน ยังได้ปรากฏความนิยมในการสร้างพระพุทธรูป ที่เปลี่ยนรูปแบบจากการนั่งไขว้ข้อพระชงฆ์ประสานขัดสมาธิเพชร แบบการปฏิบัติโยคะที่เรียกว่า “วัชราสนะ” (Vajrāsana) ตามศิลปะนิยมของฝ่ายมหายาน จากอิทธิพลศิลปะราชวงศ์ปาละ มาเป็นการนั่งแบบขัดสมาธิราบ “วีราสนะ/ปรยังกาสนะ” (Vīrāsana /Paryaṅkasana) ตามแบบลังกา โปโลนนารุวะทั้งหมด
.
*** พระพุทธรูปในงานสิลปะแบบบายนที่ควรนั่งขัดสมาธิเพชรตามศิลปะฝ่ายมหายาน/วัชรยาน กลับนิยมสลักเป็นรูปนั่งสมาธิราบตามแบบลังกาวงส์ทั้งหมดครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น