วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เจดีย์ทรงระฆัง วัดไชยวัฒนาราม

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
เจดีย์ทรงระฆังวัดไชยวัฒนาราม ...“สมเด็จพระไชยราชาธิราช” ? 

บนฐานไพทีใหญ่ ยกระดับสูงจากระดับพื้นเดิม (ระดับเดียวกับเจดีย์ใหญ่ย่อมุมไม้สิบสองด้านหน้า ริมแม่น้ำ) ประมาณ 1.2 เมตร เป็นฐานสูงก่อเอ็นอัดดินบดรองรับกลุ่มอาคารปรางค์ประธาน เมรุราย เมรุทิศ ระเบียงคด โบสถ์ ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง โดยมีกลุ่มเจดีย์อุทิศขนาดเล็ก 4 องค์ ตั้งอยู่มุมตะวันออกเฉียงเหนือของฐาน ซึ่งในปัจจุบันคงเหลือแต่เจดีย์ทรงระฆังองค์หนึ่งตั้งอยู่เท่านั้น
.
ฐานปัทม์ผังสี่เหลี่ยมที่คาดเส้นลวดบัว “ลูกแก้วอกไก่”กลางท้องไม้ ของเจดีย์ทรงระฆัง ฝังจมลงไปภายในฐานใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวัดไชยวัฒนารามในยุคหลัง คงลอยขึ้นมาบนพื้นเพียงชั้นบัวหงายและหน้ากระดานบน ส่วนท้องไม้และเส้นลวดนูนแบบสันแหลมอกไก่นั้น หลายส่วนจมอยู่ใต้ดิน สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน จนดูเหมือนว่าเจดีย์เป็นฐานเตี้ยครับ 
.
ส่วนล่างของฐานปัทม์ (ท้องไม้ ลวดบัวคว่ำและหน้ากระดานล่าง) รวมฐานเขียงอีก 1-2 ชั้น ที่เคยตั้งอยู่บนระดับพื้นดินเดิม จมอยู่ภายในฐานไพทีใหญ่ (ที่ยกขึ้นสูง) แสดงให้เห็นว่าเจดีย์ทั้ง 4 องค์ ( 3 องค์เหลือแต่ฐาน) นี้ เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นมาก่อนการสร้างวัดไชยวัฒนารามในปี พ.ศ. 2173 
.
*** กลุ่มเจดีย์อุทิศนี้ สร้างมาตั้งแต่เมื่อใด มีความสำคัญอย่างไร จึงไม่ถูกรื้อเมื่อมีการสร้างวัดซ้อนทับแบบยกฐานไพทีสูง แต่ยังคงเว้นเจดีย์กลุ่มนี้ฝังคาลงไว้ในฐานเท่านั้น ? 
.
เมื่อพิจารณาตามรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์ที่มีฐานล่างผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานเขียงผังกลม 3 ชั้น  แบบ “ตรีมาลา” (Trimālā) ฐานปัทม์ผังกลมที่มีท้องไม้ใหญ่ คาดแถบบัวลูกฟักซ้อนลูกแก้วสันคม (อกไก่) ซ้อนด้วยชั้นฐานเขียงกลมแบบตรีมาลาแคบ 3 ชั้น รองรับฐานชั้นมาลัยเถา (บัวลูกแก้ว) 3 วง ฐานบัวปัทม์/ปากระฆัง คาดเส้นลวดอกไก่ตรงกลางไม่มีผนังท้องไม้รองรับระฆังทรงชะลูด ปากผายออกเล็กน้อย บนยอดระฆังเป็นบัลลังก์ผังสี่เหลี่ยมยอมุม 12 กลม มีท้องไม้ใหญ่คาดแถบบัวลูกฟักซ้อนลูกแก้วสันคม ก้านฉัตรใหญ่ ใต้บัวฝาละมี ต่อด้วยปล้องไฉน (บัวลูกแก้วกลม/ฉัตรวรี) เว้นระยะห่างระหว่างปล้องวง ขึ้นไปจบที่ปลียอด ( หักหายไป) ครับ
.
***  ฐานตรีมาลา ฐานปัทม์ผังกลมที่มีท้องไม้ใหญ่ ชั้นมาลัยเถา บัวปากระฆังและปล้องไฉนซ้อนเว้นระยะห่างระหว่างวง เป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญของเจดีย์ทรงลังกาในงานศิลปะแบบอยุธยาในยุคสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 
.
*** แต่ทรวดทรงของเจดีย์กลับชะลูดเพรียวสูง เหมือนกับองค์ระฆังแบบลอมฟางของรัฐสุพรรณภูมิ แตกต่างจากระฆังของเจดีย์ลังกาในยุคสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ที่จะอ้วนป้อมและสั้นกว่า อย่างเจดีย์ประธานวัดนางพญา ที่มีรูปทรงเดียวกับเจดีย์ประธานวัดพระศรีสรรเพชญ  
.
ปูนปั้นบัวปากระฆังปั้นเป็นลายกลีบบัวซ้อนสับหว่างอย่างงดงาม 3 ชั้น ทั้งลาดบัวคว่ำและหงาย บัลลังก์เหนือองค์ระฆังที่เป็นฐานปัทม์แผนผัง 4 เหลี่ยม ยอมุม เป็นรูปแบบที่พบจากเจดีย์เมืองโบราณกำแพงเพชร หรือ อยุธยาหมวดกำแพงเพชร ที่รับอิทธิพลจากเจดีย์แบบล้านนา มีอายุความนิยมเริ่มต้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาครับ    
.
*** เจดีย์ทรงระฆังที่วัดไชยวัฒนาราม มีการยืดทรงลังกาเดิมจนชะลูดสูงและรับอิทธิพลรูปแบบเจดีย์ล้านนาจากเมืองกำแพงเพชรแล้ว จึงควรมีอายุการสร้างประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 21 เกี่ยวเนื่องกับช่วงสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชที่ทรงปกครองเมืองพิษณุโลกในฐานะพระมหาอุปราชา ทำสงครามกับรัฐล้านนาที่เชียงไกร/เชียงกราน (เขตแดนเมืองตาก) ตีลำพูนและปราบกบฏที่เมืองกำแพงเพชร
.
---------------------------
*** ก่อนหน้าการสร้างวัดไชยวัฒนารามในสมัยพระเจ้าปราสาททอง บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของวัดเก่าที่อาจเคยมีการใช้ชื่อนาม “วัดชัยวัฒนาราม/วัดไชยวัดธนาราม" (พงศาวดารพันจันทนุมาศ ตอนเสียกรุง/กฎหมายตราสามดวง หมวดมรดก) ตามพระนามสมเด็จพระไชยราชา ? มาก่อนแล้ว เมื่อมีการสร้างวัดซ้อนทับวัด (ขยายวัด) จึงได้มีการนำชื่อนามวัดที่เป็นนามมงคลเดิมมาใช้ ซึ่งกลุ่มเจดีย์รายนี้จะต้องมีความสำคัญมากในความทรงจำของราชสำนักอยุธยา จึงไม่ได้ถูกรื้อถอนออกไปทั้งหมด เช่นเดียวกับสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ของวัด ทั้งโบสถ์ วิหารและเจดีย์ประธานครับ
.
มโนหนักอีกนิด หรือพระเจดีย์อุทิศในวัดไชยเก่านี้ จะเกี่ยวข้องกับการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ในปี พ.ศ. 2089 หลังจากเสด็จกลับมาจากศึกเมืองเชียงใหม่ ?
.
คงต้องให้เป็นหน้าที่ของสายมูเท่านั้น ที่จะหาคำตอบได้ครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น