วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

พระแม่ธรณีบิดมวยผม

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พุทธศิลป์และคติ “พระแม่ธรณี” ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกและในประเทศไทย   

ชื่อนาม “พระแม่ภูมิเทวี” (Bhūmi Devi ) (พระแม่แห่งแผ่นดิน - Goddess Earth - Mother Earth - Mother goddess ) “พระปฤธวีเทวี” (Pṛthivī  Devi Goddess/พระแม่แห่งโลก) “พระแม่วสุธา” (พสุธา/Vasudha) “พระแม่เอลร่า” (Ella) “พระแม่เอลลาวาติ” (Elavaani) “พระแม่วสุนธรา” (Vasundharā) “พระแม่ธรติ” (Dharti) “พระกษิติ” (Kṣiti)/ “พระกษิติครรภะโพธิสัตว์” (Kṣitigarbha Bodhisatava) มหาโพธิสัตว์แห่งปัฐพีและเจ้าแห่งนรก จนมาถึงชื่อนามของ “พระแม่ธรณี” (Dharaṇī) “พระแม่ธรณี” (Phra Mae Thorani) ล้วนแต่เป็นชื่อนามของเทพีแห่งโลก มารดาผู้ให้กำเนิด/หล่อเลี้ยงโลกและแผ่นดิน (Earth Deity) เทวีแห่งแผ่นดินผู้อำนวยความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง ค้ำจุนสิ่งมีชีวิตทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์ ซึ่งในคติวรรณกรรมและงานศิลปะทางพุทธศาสนาช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 17 ยังไม่เคยปรากฏเรื่องราวการ “พระแม่ธรณีบิดมวยผม” (Hair-wringing)  ร่วมอยู่ในพุทธประวัติตอน “ผจญมาร/มารวิชัย” (Assault of Māra/Māravijaya) มาก่อน
.
ร่องรอยเก่าแก่ที่สุดในเรื่องพระแม่ธรณี/วสุนธรา ตามวรรณกรรมพุทธประวัติ ปรากฏใน “มหาวัสดุอวทาน” (Mahāvastu Avadāna) และ“ลลิตวิสตระสูตร” (Lalitavistara Sūtra) คัมภีร์พุทธประวัติที่มีเรื่องราวอำนาจปาฏิหาริย์ของพระมหาโพธิสัตว์-พระศากยุมนี ปรากฏครั้งแรกในแคว้นคันธาระ (Gandhara) ช่วงพุทธศตวรรษที่ 5-6 เริ่มต้นมาจาก “มหานิทานไวปุลยสูตร” (Vaipulya Sutra) ที่เป็นพุทธประวัติของนิกายสรวาสติวาท (Sarvāstivāda) ซึ่งในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 7  “นิกายมหายาน” (Mahayana) ที่ได้พัฒนาแนวคิดขึ้นมาจาก “นิกายมหาสังฆิกะ” (Mahāsāṃghika) ผสมผสานกับคติ “บารมี 6 ประการแห่งพระโพธิสัตว์” ของฝ่ายนิกายสรวาสติวาท ได้นำลลิตวิสตระสูตรมาใช้จนกลายเป็นพุทธประวัติของฝ่ายมหายานครับ 
.
งานพุทธศิลป์พระแม่ธรณี/วสุนธรา ในวรรณกรรมพุทธประวัติตอนผจญมารที่เก่าแก่ที่สุด ปรากฏอยู่บนคานกลาง ฝั่งด้านในซุ้มประตูโตรณะฝั่งทิศใต้ของสถูปสาญจี (Sanchi Stupa) สร้างขึ้นประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 5 ช่วงราชวงศ์สาตวาหนะ (Sātavāhana) เป็นภาพของพระธรณี ในรูปแบบ “สตรีถือหม้อน้ำ “กลศ/ปูรณฆฏะ/ปูรณกลศะ”(Pūrṇa-ghạta/Pūrṇa-Kalaśa) ตามความหมายของ “เทวีแห่งความอุดมสมบูรณ์/มารดาผู้ให้กำเนิดหล่อเลี้ยงโลกและแผ่นดิน” เป็นพยานในสิทธิการประทับบนโพธิบัลลังก์อันเป็นแก่นกลางแห่งโลก เพื่อการตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ/อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า ตามที่ทรงมีพระคาถา (Gāthā) ร้องขอให้มีสักขีพยาน (Witness) ยืนยันแก่พญามาร โดยแสดง “ภูมิสปรรศมุทรา” (Bhūmiśparṣa Mudrā) หรือ “ปางโลกสัมผัส” (Earth-touching) หย่อนพระหัตถ์ขวาจากพระเพลาลงต่ำ ให้พระมัชฌิลงแตะสู่พื้นปฐพี  ซึ่งพระแม่ธรณีได้ใช้น้ำ (จากหม้อน้ำกลศ) ชโลมใจที่บอบช้ำในความพ่ายแพ้ของพญามาร ดังปรากฏความใน “พุทธจริต” (Buddhacarita) ที่รจนาโดยพระอัศวโฆษ (Aśvaghoṣa) ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 7 ความว่า 
.
 “...แล้วแผ่นดินก็สั่นไหว แผดเสียงดังกึกก้องกัมปนาท จนเจ้าแห่งความมืด (Lord of Darkness) และกองทัพอันเกรียงไกรล้มลงบนพื้น เขาหวาดกลัว หยาดเหงื่อท่วมกาย ความสง่างามทั้งหมดของเขามลายหายไป เขาเห็นใบหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นความแก่ชรา (ไม่ยั่งยืน) เขาทุบหน้าอกและร้องไห้ออกมา .... กองทัพของเขาพ่ายแพ้แตกกระเจิงหนีออกไปทุกทิศทาง ...เทพีแห่งต้นไม้อันทรงปัญญา (หมายถึงพระแม่ธรณี) บังเกิดเป็นความสมเพชเวทนา จึงเอาน้ำทิพย์โปรยปรายให้แก่กัลยาณมิตรแห่งความมืด แล้วกล่าวว่า ...จงลุกขึ้นเถิดพญามาร แล้วจงถอยกลับออกไป ยอมพ่ายแพ้แก่พระธรรมคำสอนเถิด....”
.
*** พุทธศิลป์ของพระแม่ธรณี/วสุนธรา ถือหม้อน้ำ (อาจปรากฏคู่กับรูปพญามารแสดงความเศร้าโศก) ใต้รูป ภูมิสปรรศมุทรา นิยมต่อเนื่องมาในงานศิลปะแบบคันธาระในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7-9 ราชวงศ์คุปตะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 9-11 ราชวงศ์ปาละช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-16 ราชวงศ์ไศเลนทรา/ศรีวิชัย/ปาละแห่งคาบสมุทรช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-16 และอาณาจักรพุกามช่วงพุทธศตวรรษที่ 16–19 ครับ 
.
แต่กระนั้น จนถึงพุทธศตวรรษที่ 17 ก็ยังไม่เคยปรากฏวรรณกรรมและศิลปะ “พระแม่ธรณีบิด/บีบมวยผม  ให้เกิดเป็นน้ำประดุจมหาสมุทร ขับไล่กองทัพพญามาร” (Winging the waters of detachment out of her hair to drown Mara) แต่อย่างไร  
.
เมื่อพุทธประวัติฝ่ายมหายานในภาษาสันสกฤต (Sanskrit Script) และปรากฤต (Prakrit Script) จากอินเดีย/อานธระประเทศ ได้เริ่มส่งอิทธิพลเข้าสู่เกาะลังกา/สิงหล วรรณกรรมพุทธศาสนาถูกเปลี่ยนเป็นภาษาบาลี (PāIi) ผสมผสานเข้ากับคติพุทธประวัตินิกายเถรวาท (Theravāda) แบบดั้งเดิม เรื่องราวของพระแม่ธรณีจึงได้เข้ามาสู่วรรณกรรมพุทธประวัติแบบลังกาเป็นครั้งแรก โดยปรากฏความ “....การร่ายรำของพระแม่ธรณีในท่ามกลางมหาสมุทรที่ล้อมรอบโพธิบัลลังก์ เกิดคลื่นใหญ่อันมโหฬาร โลกสั่นสะเทือนเหวี่ยงหมุนรอบทิศ” ขึ้น
.
*** การใช้น้ำพรมกองทัพพญามารจากพุทธจริตมหายาน ประกอบกับเรื่องราวอานุภาพของพระแม่ธรณีประดุจมหาสมุทรจากลังกา การหลั่งน้ำทักษิโณทกเพื่ออุทิศผล หรือเป็นสักขีพยานในคำปฏิญาณ และรูปศิลปะที่แสดงความงดงามของสตรีแบบสาวงามเล่นมวยผม อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การเกิดรูป“พระแม่ธรณีแบบบิดมวยผม” ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปรากฏในวรรณกรรมของฝ่ายพุกาม รูปศิลปะของอารกัน/ยะไข่ ศิลปะเขมรโบราณที่พบในประเทศกัมพูชาและไทยครับ
.
พุทธศิลป์ในพุทธประวัติตอนมารผจญที่ปรากฏภาพของพระแม่ธรณีที่สำคัญในงานศิลปะเขมร คือภาพสลักนูนสูงข้างซุ้มประตูด้านนอกปีกทิศเหนือ โคปุระตะวันออกของปราสาทตาพรหม และทับหลังเหนือซุ้มประตูที่อยู่ติดกัน แสดงภาพพระแม่ธรณีในแบบ “สาวงาม (อัปสรา) เล่นมวยผม” ผุดขึ้นจากดอกบัว ใต้ภาพพระพุทธเจ้าใต้ซุ้มต้นโพธิ์ที่ถูกสกัดทำลาย ฐานะผู้เป็นสักขีพยาน ไม่บิดมวยผม ไม่ปรากฏศิลปะคลื่นน้ำหรือมหาสมุทรประกอบ เช่นเดียวกับทับหลังซุ้มประตูทางตะวันตกของปราสาท ที่แสดงภาพของพระแม่ธรณี ยกแขนชูปัทมบัลลังก์ ( ภาพพระพุทธเจ้าถูกสกัดออก) ในฐานะสักขีพยาน อีกทั้งหน้าบันภายในปราสาทบันทายกุฎี (บันเตียกะเดย) ได้แสดงภาพพระแม่ธรณีแบบนางอัปสราถือดอกบัว และภาพสลักพระแม่ธรณีเล่นมวยผมบนหลักหินจากปราสาทพระป่าลิไลย ทั้งหมดแสดงภาพพระแม่ธรณีในฐานะสักขีพยาน ไม่ปรากฏภาพศิลปะการบิดน้ำออกจากมวยผมเพื่อขับไล่กองทัพพญามารแต่อย่างใด
.
--------------------------------
*** ส่วนในประเทศไทย พระแม่ธรณีบิดมวยผมที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุประมาณช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 19  อาจเป็นรูปโขนราชยานคานหามสำริดที่จัดแสดงอยู่ที่ Cleveland Museum of Art สหรัฐอเมริกา ที่ควรพบจากจังหวัดสุพรรณบุรี (สุวรรณปุระ) แสดงรูปสตรีร่ายรำแบบ “นางฑากิณี” (ḍākinī - Dakini) (มีเชือกคล้องไขว้ที่หน้าอก /ยักษิณี)  พลังเพื่อการปกปักษ์รักษานักบวชในคติวัชรยานตันตระใต้รูปพระศากยมุนีแสดงภูมิสปรรศมุทรา แสดงท่าจับมวยผมบิดทั้งสองมืออย่างชัดเจน ขนาบข้างด้วยรูปมารถือโล่และกระบอง ซึ่งไม่ปรากฏรูปศิลปะนางฑากิณีบิดเส้นผมด้วยสองมือ (ให้เกิดน้ำ) เช่นนี้ ในเขตเมืองพระนครครับ 
.
รูปพระแม่ธรณี ที่น่าจะพบจากสุพรรณบุรีอีก 2 รูป จัดแสดงอยู่ที่ Metropolitan Museum of Art สหรัฐอเมริกา เป็นภาพพญามาร “วัสวัตตี” (Vasavatti) และช้างศึก “คีรีเมขลา” (Girimekhalā) เคลื่อนไปทางขวาของภาพ ปรากฏรูปพระแม่ธรณีผุดขึ้นจากดอกบัวแสดงอัญชลีอยู่ที่หน้างวงช้าง อีกชิ้นหนึ่งเป็นภาพพญามารแสดงอัญชลียอมพ่ายแพ้ รูปช้างที่แสดงท่าก้มศิโรราบเดินออกไปทางขวา โดยปรากฏรูปของพระแม่ธรณียกแขนทั้งสองบิดมวยผม (เพื่อให้เกิดน้ำ) อยู่ที่ด้านหลังของช้าง
.
รูปแบบการจัดวางให้พญามารไสช้างเข้าและขี่ช้างออกไปอีกด้านหนึ่งด้วยความพ่ายแพ้ ก็ไม่ปรากฏความนิยมในงานศิลปะเขมรทั้งในยุคศิลปะบายนและศิลปะเถรวาทในเขตกัมพูชา ปรากฏเฉพาะภาพการไสช้างของกองทัพมารจากสองด้านเข้าหาจุดศูนย์กลาง (รูปพระพุทธเจ้า) อย่างเช่นบนหน้าบันวัดเทพประนัม (Tep Pranam Temple) ที่มีอายุประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ครับ
.
*** พุทธศิลป์พระแม่ธรณีบิดมวยผม ยังพบเห็นจากกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี ในเว็บไซต์ของ มูลนิธิ The Norton Simon Foundation เป็นส่วนฐานพระพุทธรูปสำริดแบบประกบหลายชิ้นของรัฐสุวรรณปุระ หล่อฉลุลวดลายที่ท้องไม้เป็นภาพของพระแม่ธรณีบิดมวยผม โดยมีภาพกองทัพพญามาร แสดงความฮึกเหิมเข้ามาจากด้านซ้ายและยอมศิโรราบออกไปทางด้านขวา เช่นเดียวรูปแผ่นสำริด 2 ชิ้นของ MET 
.
ถึงแม้พุทธศิลป์พระแม่ธรณีบีบมวยผม จะพบเห็นในงานศิลปะแบบพุกามและเขมร จากอิทธิพลวรรณกรรมพุทธศาสนาลังกาวงศ์ ตั้งแต่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 แต่กระนั้นก็ยังไม่ได้แสดงคติ “พระแม่ธรณีบีบมวยผม ให้เกิดเป็นน้ำหลากประดุจมหาสมุทร เพื่อขับไล่กองทัพพญามาร” อย่างชัดเจน นอกจากคติสาวงาม (นางอัปสรา) เล่นมวยผมยาว คติผู้เป็นสักขีพยานและผู้ปกป้องในพุทธประวิติตอนผจญมารตามวรรณกรรมฝ่ายลังกาเท่านั้นครับ
.
*** แต่งานพุทธศิลป์ในคติเถรวาทลังกาวงศ์แบบรามัญนิกาย/กัมโพชสงฆ์ปักขะ ที่นิยมในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ในรัฐสุวรรณปุระและรัฐละโว้ ที่ยังคงรักษารูปศิลปะแบบยุคพระปิถุ (หลังบายน) ได้แสดงอิทธิพลคติของฝ่ายพุกามและรามัญที่ผสมผสานเข้ากับคติผู้ปกปักษ์พระพุทธศาสนาของฝ่ายวัชรยาน ในคณะกัมโพชสงฆ์ปักขะ ได้นำไปสู่การสร้างเรื่องราววรรณกรรม “พระแม่ธรณีบิดมวยผม เกิดน้ำหลากเป็นมหาสมุทร ขับไล่กองทัพพญามาร” ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก ที่ต่อมาได้ส่งอิทธิพลย้อนกลับไปยังเกาะลังกา รัฐล้านนา รัฐสุพรรณภูมิ/อยุทธยา พม่าและเขมร 
.
*** นำไปสู่การสร้างวรรณกรรมพระแม่ธรณีบีบมวยผมเกิดเป็นน้ำหลากประกอบร่วมในความของพุทธประวัติ “ปฐมสมโพธิ” (Paṭhamasambodhi) และ “ชินมหานิทาน” (Chinmahānitān) ที่นิยมใช้มาจนถึงในปัจจุบันครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น