วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ปราสาทพิมานอากาศ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ปราสาทพิมานอากาศ” เกาะต้นหมันและนางนาคีในพระราชวังหลวง

ภายหลังสงครามกลางเมืองในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 15 “พระเจ้ายโศวรมัน” (Yaśōvarman) ผู้ได้รับชัยชนะ ได้ย้ายราชสำนักจากเมืองหริหราลัยที่ประสบความเสียหายอย่างยับเยินมาสร้างเมือง “ศรียโศธรปุระ” (Sri Yaśōdharapura) ขึ้นใหม่ทางเหนือของหริหราลัยเดิม ทรงให้พราหมณ์ “วามะศิวะ” (Vāmaśiva) ประกอบพิธีสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็น “เทวราชา” (Devarāja) เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ที่ปรากฏในกายมนุษย์ ทรงสถาปนามหาปราสาทพีรามิดบนยอดเขา “ศรียโศธรคีรี” (Yaśōdharagiri) หรือ "พนมบาเค็ง - พนมกังดาล" (Phnom Bakheng - Phnom Kandal) ที่ประดิษฐาน “ศิวลึงค์ (ปลอก) ทองคำ” ประตูสู่สรวงสวรรค์แห่งเทวราชา นามว่า “ยโศธเรศวร” (Yaśōdhareśvara) ขึ้นเป็นศูนย์กลางจักรวาล-อาณาจักรแห่งใหม่ ที่ยิ่งใหญ่กว่าสมัยพระราชบิดาของพระองค์ สร้าง “ปราสาทพนมบก” (Phnom Bok) บนยอดเขาทางตะวันออกเฉียงเหนือ และ “ปราสาทพนมกรอม” (Phnom Korm) ภูเขาลูกโดดทางใต้ ใกล้กับโตนเลสาบ
.
ส่วนในพระราชวังหลวงแห่งราชสำนักใหม่ ทรงโปรดให้สร้างเขาไกรลาสสมมุติที่ประทับแห่งองค์พระศิวะ บริเวณจุดที่มีความเชื่อว่าเป็นดินแดนเก่าแก่ตามตำนานเรื่องการกำเนิดอาณาจักร ที่ภายหลังกลายเป็นตำนานเรื่อง “พระทอง (Preah Thaong)/นางนาคทาวดี-โสมานาคี (Nāgī)/นครโคกหมัน” ที่เรียกว่า “เกาะโกกโธลก” (Kôk Thlok) หรือ “เกาะต้นหมัน” เป็นปราสาทบนฐานพีรามิด (Pyramid) แบบขั้นบันไดขนาดใหญ่ ที่เป็นความนิยมมาตั้งแต่สมัยพระราชบิดา (พระเจ้าอินทรวรมัน/Indravarman) ถมยกเนินดินล้อมรอบ ก่อศิลาแลงที่ขอบตลิ่งจนฐานพีรามิดดูเหมือนเกาะใหญ่กลางสระน้ำครับ 
.
*** จารึกกรอบประตูปราสาทพิมานอากาศ (Phĭmãnàkàs K.291 มหาศักราช 832) ที่ระบุนาม “มฺรตาญ ศฺรีสัตฺยาศฺรย” (Mratāñ śrī Satyāśraya) ขุนนางในสมัยพระเจ้ายโศวรมัน ได้ประดิษฐานรูป “ศฺรีตฺรโลกฺยนาถ” (Śrī Trailokyanātha) (ควรเป็นรูปของพระศิวลึงค์/ลิคโกษะ (Lingakosฺa)ทองคำ) และถวายข้าทาสปรากฏชื่อนาม 90 คน ที่ปราสาทแห่งนี้ 
.
ต่อมาในสมัยพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 (Sūryavarman I) ได้มีก่อสร้างกำแพงและซุ้มประตูล้อมพระราชวังหลวงขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งในสมัยนี้ได้มีการสร้างบูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทพิมานอากาศ ซ่อมปราสาทประธานผังจตุรมุข สร้างซุ้มประตูโคปุระและอาคารระเบียงคดล้อมแบบย่อส่วนรอบตัวปราสาทประธานด้านบน รวมทั้งขุดสระสรง/สระหลวง ผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ขึ้นทางทิศเหนือครับ  
.
*** จากการขุดค้นโดยองค์กรอัปสราและสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (EFEO) โดยรอบฐานปราสาทพิมานอากาศ ได้แสดงให้เห็นร่องรอยการทับถมและรากฐานอาคารแต่ละยุคสมัยลึกลงไปใต้ดินเป็นจำนวนมาก มีการใช้ประโยชน์รอบปราสาทมาตั้งแต่ยุคพระเจ้ายโศวรมัน มาจนถึงฐานอาคารด้านหน้าฐานขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18  
.
*** การขุดค้นยังได้พบกิ่งก้านและเมล็ดของ “ต้นหมัน” (โธลก) จำนวนมาก ถูกฝังอยู่ในชั้นดินทางทิศใต้ของปราสาท สอดรับกับตำนาน “เกาะต้นหมันที่พระทองกับนางนาคเทวี (เกาณฑินยะ (Kauṇḍinya) และ นางนางโสมา)” ได้มาพบรักกันครับ
.
ซึ่งตำนานเกาะต้นหมัน ต้นกำเนิดอาณาจักรกัมพุชะเทศะ อาจเป็นนิทานที่เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปของชาวเขมรในเมืองพระนครธมมาหลายยุคสมัย จนเมื่อ “โจวต้าหว้าน” (Chou Ta Kuan/Zhou Daguan) ที่ได้เดินทางมาพร้อมกับราชทูตราชวงศ์หยวน (รัชสมัยของจักรพรรดิเฉวิงจง) มาถึงเมืองพระนครในสมัยของพระเจ้าศรีนทรวรมัน ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ได้จดบันทึก “เรื่องเล่าชาวบ้าน” (Folk Tale) ที่เล่าเรื่องราวของปราสาทพิมานอากาศไว้ว่า
.
“....ทางทิศเหนือประมาณ 1 ลี้เศษ เป็นพระราชนิเวศน์ในตำหนักที่บรรทม (ของกษัตริย์) มีปราสาททองคำอยู่หลังหนึ่ง ฉะนั้น การที่พ่อค้าชาวเรือกล่าวขวัญชมเชยว่า เจินละมั่งคั่งและสูงส่งนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าคงจะเป็นเพราะเรื่องดังกล่าวแล้วนั่นเอง .......ส่วนที่เกี่ยวกับปราสาททองคำภายในพระราชวังนั้น พระเจ้าแผ่นดินจะเข้าที่พระบรรทมในยามราตรีบนยอดปราสาท พวกชาวพื้นเมืองพากันกล่าวว่า..... ในปราสาทนั้นมีภูตงูเก้าศีรษะซึ่งเป็นพระภูมิเจ้าที่ ทั่วทั้งประเทศ ภูตตนนี้เป็นร่างของสตรีและจะปรากฏกายทุกคืน พระเจ้าแผ่นดินจะเข้าที่บรรทมและทรงร่วมสมพาสด้วยก่อน แม้แต่บรรดามเหสีทั้งหลายของพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่กล้าเข้าไปในปราสาทนี้...
...พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จออกจากปราสาทนั้นเมื่อเพลายามที่ 2 แล้วจึงจะเข้าที่พระบรรทมร่วมกับพระมเหสีและพระสนมได้ ถ้าหากราตรีใดภูตตนนี้ไม่ปรากฏกาย ก็หมายความว่าเวลาสวรรคตของพระเจ้าแผ่นดินของชาวป่าเถื่อนพระองค์นั้นใกล้เข้ามาแล้ว ถ้าพระเจ้าแผ่นดินของชาวป่าเถื่อนมิได้เสด็จไปเพียงราตรีเดียว ก็จะต้องทรงได้รับภัยอันตราย...”
.
*** ตำนานของนครโคกหมัน/เกาะโกกโธลก สถานที่ที่พระทองได้ร่วมเสพสังวาสกับนางนาคทาวดี/โสมา อาจเป็นต้นเรื่องสำคัญที่ชาวบ้านเมืองพระนครธม ได้นำมาเล่าให้โจวต้ากว้านฟัง โดยมีปราสาทพิมานอากาศที่อาจมีเพียงพิธีกรรมบูชาพระศิวลึงค์ “ศรีไตรโลกยนาถ” และอาจมีพิธีกรรมบูชาพระแม่โสมา/โสมะนาคี/หลิวเย่ (Somā Nāgī/Liǔyè) ผู้เป็นพระมารดาแห่งแผ่นดิน ที่เกาะนครต้นหมันจำลองหรือเกาะพิมานอากาศ โดยเอาตอนเสพสังวาสของพระทองกับนางนาคบนเกาะต้นหมันมาผสมผสานกับเรื่องในรั้วในวังที่ตนเองก็ไม่รู้อะไรมากนัก (แต่อยากเล่า) รวมทั้งนาค 9 เศียร (จากรูปประติมากรรมนาคที่พบเห็นได้ทั่วไปในอาณาจักร) แล้วเล่าให้โจวต้ากว้านฟังเพื่อเพิ่มอรรถรสให้ดูสมจริงสมจังครับ
เครดิต :FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ปราสาทพระถกล

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
อดีตที่เคยงดงาม “ปราสาทพระถกล” ปราสาทอานุภาพบารมีแห่งพระโพธิสัตว์ ที่เมืองกำปงสวาย
.
.
.
เมื่อครั้งที่ “หลุยส์ เดอลาพอร์ต” (Louis Delaporte) นักสำรวจและจิตรกรชาวฝรั่งเศสผู้หลงใหลในวัฒนธรรมที่สาบสูญในลุ่มน้ำโขง ได้ท่องเที่ยวสำรวจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากยูนนานลงมายังลาว ไทยและเขมร ในช่วงทศวรรษที่ 2400 นักเดินทางชาวฝรั่งเศสผู้นี้ได้วาดรูปลายเส้นเพื่อจดบันทึกเรื่องราวการเดินทางท่องอินโดจีนไว้มากมาย ซึ่งแต่ละภาพนั้น ก็ล้วนแต่มีคุณค่าในเวลาต่อมา เพราะภาพที่เขาวาดไว้นั้นยังคงอยู่ 
.
*** แต่ตัวซากปรักหักพังหลายแห่งในภาพวาดของเขา ได้ถูกทำลายซ้ำซากโดยสงครามกลางเมือง ความขัดแย้งและความยากจนครับ
.
ครั้งหนึ่ง ดอลาพอร์ตได้เดินทางไปถึงกลุ่ม “ปราสาทพระขรรค์แห่งกำปงสวาย” (Preah Khan Kampog Svay) นครใหญ่ลึกลับในป่าทางตะวันออกของอาณาจักรกัมพุชะเทศะที่เคยยิ่งใหญ่ ภาพวาดลายเส้นของเขาจำนวนมาก ได้แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของหมู่มหาปราสาทในไพรสณฑ์ สะพานชาลาทางเดินและภาพแกะสลักอันวิจิตรบรรจง สลักเสลาไปบนเนื้อหินที่ดูอ่อนนุ่มราวอย่างกับงานแกะสลักไม้
.
 *** “ปราสาทพระถกล” (Preah Thkol) หรือที่เรียกกันว่า “ปราสาทแม่บุญ” (Mebon) เป็นปราสาทแบบเพื่อการแสดงอานุภาพแห่งจักรวรรดิบายน ตั้งอยู่กลางบารายใหญ่ (ตระเปรียงประดาก/Tapeang Pradak) ทางตะวันออกของเมืองรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่เรียกว่ากำปงสวาย มีปราสาทพระขรรค์เป็นศูนย์กลาง ปราสาทประธานของปราสาทพระถกล ผังจัตุรมุขทรงศิขระวิมานจำลองลดหลั่นเป็นชั้นเชิงบาตร ไม่มีใบหน้าของพระโพธิสัตว์เหมือนปราสาทประธานในรูปแบบอื่น ๆ  มีซุ้มประตูโคปุระทั้ง 4 ทิศ ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง อาคารบรรณาลัย ปราสาทหลังนี้เคยมีสภาพที่สมบูรณ์ก่อนถูกกะเทาะทำลายอย่างยับเยิน เพื่อเอารูปสลักติดผนังออกมาขายในยุคไร้เสถียรภาพด้วยเพราะสงครามกลางเมืองครับ 
.
ภายในคูหาจัตุรมุข เปิดเป็นประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้านอันเปล่าเปลี่ยว เคยเป็นที่ประดิษฐานรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งอำนาจบารมีเหนือสกลจักรวาล นับเป็นรูปประติมากรรมที่มีความสมส่วนทางสรีระ มีใบหน้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในวัยหนุ่ม ที่มีความงดงามมากที่สุดในบรรดารูปเคารพในคติและงานศิลปะเดียวกัน รวมทั้งรูปประติมากรรมพระทวารบาล สิงห์ทวารบาลและนาคหัวราวบันได ที่ปัจจุบันได้ถูกขนย้ายไปจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ช่วงยุคอาณานิคม
.
ภาพลายเส้นปราสาทพระถกลของเดอลาพอร์ต ได้แสดงให้เห็นอดีตอันสุดอลังการของปราสาทอานุภาพหลังนี้ ที่มุมรักแร้ของเรือนธาตุ ส่วนเพิ่มมุมที่ควรจะว่างเปล่า กลับแกะสลักทำเป็นชั้นของหมู่นางอัปสราและเทพยดากำลังถวายอัญชลีสาธุการ ถัดขึ้นไปเป็นช้างเอราวัณสามเศียร มีรูปครุฑยุดนาคแบกขนาดใหญ่รองรับลวดบัวชั้นรัดเกล้าของเรือนธาตุ ที่เริ่มต้นชั้นอัสดงเป็นรูปหงส์เหิน
.
*** ภาพวาดของเดอลาพอร์ต คงได้ช่วยเติมเต็มจินตนาการให้กับความงดงามที่สาบสูญไปแล้วตลอดกาล ในท่ามกลางซากปรักหักพังของปราสาทงามและความหดหู่ใจ ได้คืนกลับมาครับ 
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy 

วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

พระศิวะ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระศิวะ” มหาเทพแห่งความรัก พระผู้สร้างความรักที่มองไม่เห็นด้วยตา แต่สัมผัสได้ด้วยใจ

ในวรรณกรรมฮินดู หากสตรีที่ยังไม่มีคนรักหรือยังไม่ได้แต่งงาน ประสงค์จะขอพรเรื่อง “ความรัก” ขอสามีที่เป็นคนดีมีความเพียบพร้อม มีความเหมาะสมทางจิตวิญญาณและกายภาพ (รวมทั้งเคมีและระดับศีล) ที่จะนำพาให้ชีวิตคู่นั้นยั่งยืนและประสบแต่ความสุขไปตลอดชีวิต ก็เห็นจะมีแต่องค์ “พระศิวะ” เท่านั้นที่จะประทานสามี (ผู้ชายดี ๆ) ได้ชัดเจนที่สุดแล้ว  โดยในสังคมฮินดูจะมีพิธีกรรมเพื่อการขอสามี (ผู้ชาย) ที่สมบูรณ์แบบ (ประดุจองค์พระศิวะ ผู้มีรักแท้เป็นต้นแบบ) ในเดือนศฺราวณะ (กรกฏาคม - สิงหาคม) เพราะถือว่าเป็นเดือนที่พระศิวะเจ้าโปรดปรานที่สุด ต่อเนื่องไป 16 วันจันทร์/16 ครั้ง/16 เสี้ยวพระจันทร์ (ไวทิกทรฺศน 2021) 
.
วรรณกรรม “มหากาพย์มหาภารตะ” (The Epic Mahābhārata)  ภาค “อาทิบรรพ” (Adi Parva)  มหาฤๅษีวยาสะ เล่าถึงเหตุการณ์อดีตชาติของ “นางเทราปตี” (Draupadī)  ว่า แต่เดิมก่อนที่นางจะมาเกิดเป็นพระธิดาของท้าวทรุปัท นางเคยเป็นบุตรีของพระฤๅษีรูปหนึ่ง มีความงดงามและคุณสมบัติของกุลสตรีทุกประการ เธอปรารถนาจะได้ชายที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติ (และรักนางอย่างสุดหัวใจ) มาเป็นสามี จึงได้บำเพ็ญพรตทำพิธีขอสามีจากองค์พระศิวะ/พระอิษฎเทพ ด้วยความพากเพียรพยายาม จนพระศิวะพอพระทัยจึงได้เสด็จลงมาปรากฏพระวรกายต่อหน้านาง ครั้งนางได้เห็นก็ตกใจจนเลิ่กลั่กด้วยความดีใจ ทูลขอสามีด้วยเสียงสั่นละล่ำละลัก ขอสามีที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมไปถึง 5 ครั้ง ในชาตินี้นางเทราปตีจึงได้ภารดาปาณฑพ (Pāṇḍava) ทั้ง 5 มาเป็นสามี พร้อมกันในคราวเดียวครับ
.
ในวรรณกรรม “กุมารสัมภวะ/กำเนิดกุมาร” (Kumārasambhava) ที่แต่งโดย “กาลิทาส” (Kālidāsa) ได้เล่าเรื่องราวความรักอันยิ่งใหญ่ขององค์พระศิวะ ผ่านรสชาติของวรรณกรรมอันสุดแสนโรแมนติกและอีโรติก ที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายแห่งความรักอันบริสุทธิ์ โดยมีความพินาศของมนุษย์และโลกจากการทำลายล้างของ “อสูรตาระกา”  (Tārakāsura) เป็นเดิมพันครั้งใหญ่ 
.
“มหาตาระกาสูร ได้รับพรจากพระพรหมให้เป็นผู้ไม่ตาย แต่ก็มีข้อยกเว้นแนบท้ายในพรที่ประสาทให้ไว้ (ตามแบบฉบับของพระพรหม) ว่า จะตายได้เพราะบุตรที่กำเนิดจากองค์พระศิวะและพระศักติเท่านั้น ซึ่งในเวลาที่อสูรตารกะขอพร ก็เป็นเวลาเดียวกับที่พระศิวะยังครองรักอยู่กับพระนางสตี (Sati) ผู้เป็นความรักครั้งแรกและครั้งเดียวอยู่พอดีครับ
.
แต่เมื่อพระนางสตีได้วิ่งเข้ากองไฟจนสิ้นชีวิต ในเหตุการณ์ที่ท้าวทักษะประชาบดี (Dakṣa Prajapati)  ผู้เป็นพระบิดาได้กล่าวดูแคลนพระศิวะผู้เป็นพระสวามี และยังไม่เชิญให้เข้าร่วมในพิธียัชญะ (Yagam) เมื่อสิ้นพระนางสตี พระศิวะได้แต่เศร้าโศกเสียพระทัย เป็นเวลายาวนาน 
ทรงรำพันในท่ามกลางน้ำตาที่ไหลนองพระพักตร์ "...กาลนับจากนี้ไป ข้าจะจมลึกเข้าไปในห้วงระทมทุกข์จนสุดแห่งจักรวาลไปตลอดกาล ด้วยเพราะ "ความรัก" ของข้านั้นสูญสลายไปพร้อมกับนางอันเป็นที่รักของข้า "สตี" นางผู้พลีกายบูชาความรักแห่งข้า จักรวาลนี้จะไร้ซึ่งความรัก โลกจงดิ่งจมลงไปสู่ทะเลแห่งระทมไปตราบนานเท่านาน....”
.
ถึงแม้พระนางสตีได้กลับมาจุติเป็น “พระนางปารฺวตี/พระนางอุมา” ( Pārvatī/Umā) ธิดาของท้าวหิมวัต (Himavat) และนางเมนาวตี (Menavati) และยังระลึกถึงชาติแห่งรักเดิมได้เป็นอย่างดี แต่กระนั้น ก็มิได้ทำให้พระศิวะที่ยังรักมั่นเพียงหนึ่งเดียวกับพระนางสตี หันมารักและสนใจพระนางปารฺวตีเลยแม้แต่นิดเดียว ซึ่งเวลานั้นมหาตาระกาสูรก็ยังคงสนุกสนานเพลิดเพลินกับการเข่นฆ่าทำลายล้างผู้คนและเทวดาไปทั้งสามโลกครับ   
.
 “....ธิดาแห่งหิมวัต... เจ้าเป็นใคร ทำไมเข้าช่างละหม้ายคล้ายกับนางสตีของเรายิ่งนัก แต่อย่างไรก็ตามความรักของข้านั้นยังคงมั่นคง ยั่งยืนต่อนางสตีผู้เป็นประดุจดวงใจแห่งข้า เจ้าปราวตีเอ๋ย เจ้าช่างน่าไม่อาย ที่เอ่ยอ้างว่าเจ้านั้นคือนางสตีเมื่อภพชาติที่แล้ว ...ก็เมื่อความรักของข้ายังมิเคยจาง นางจะกลับมาเกิดเป็นเจ้าได้อย่างไร เจ้านี่ช่างน่าขยะแขยงยิ่งนัก ไสหัวไปจากข้า ไปให้ไกล เจ้าไม่ใช่นางสตี    และ.....ข้าจะไม่มีวันรักเจ้า...." 
.
"ข้าจะไม่มีวันรักเจ้า...ตลอดไป"
.
*** จักรวาลและมนุษย์กำลังจะสูญสิ้น เมื่อไร้ซึ่งความรักอันยิ่งใหญ่เกินจะพรรณนาจากองค์มหาเทพ
.
พระพรหมได้ขอให้พระนางปารฺวตีบำเพ็ญพรตขอสามีด้วยพิธีบูชาศักดิ์สิทธิ์จากองค์พระศิวะ แต่ก็ไร้ผล เพราะหัวใจขององค์มหาเทพนั้นดำดิ่งลึกลงไปในความดำมืดแห่งจักรวาล ปราศจากสิ้นแล้วซึ่งความรักทั้งปวงแล้ว เหล่าคณะเทพเจ้าขอให้ “พระกามเทพ” (Kāmadeva) (“พระมันมธะ” (Manmatha- ผู้ปลุกความปรารถนาในรักและใคร่) เทพเจ้าแห่งความรัก เสน่หาและแรงปรารถนา (ทางเพศ) ผู้มอบความสุขในแก่ชีวิต และมเหสีนามว่า “นางรตี” (Rati) เทวีแห่งความรัก แรงปรารถนา ตัณหาและความสุขแห่งเพศ) เทพอุ้มสมได้แผลงศรเบญจพฤกษาแห่งความรักที่หอมหวน คันศรปล้องอ้อยแห่งความหวานซึ้งตรึงใจ สายรั้งฝูงผึ้งแห่งความเพียรพยายามในรัก ซึ่งอย่างไรก็ไม่น่าพลาดเป้าที่จะนำพาให้พระศิวะหันกลับมารักพระนางสตีในพระชาติพระนางปารฺวตีได้
.
แต่คันศรแห่งรักของพระกามเทพนั้น มันใช้ได้แค่กับเหล่าเทพเจ้าและมนุษย์ สำหรับมหาเทพนั้น มันประดุจเข็มพิษที่แทงซ้ำเข้าไปในดวงใจอันแตกสลายของพระองค์อย่างเจ็บปวดอีกครั้ง น้ำพระเนตรไหลหลั่งด้วยความรักที่มั่นคงต่อพระนางสตีไม่เปลี่ยนแปลง นำไปสู่มหาโกรธา รุทรเนตรของพระองค์เบิกกว้าง เพลิงพิโรธเผาผลาญพระกามเทพจนเป็นจุลหายสิ้นไปจากจักรวาล     
.
บัดนี้ ความรักและความปรารถนาทั้งปวงในจักรวาลได้มลายหายสิ้นไปแล้ว
.
*** คงมีเพียงเสียงสวดภาวนาอ้อนวอนเล็ก ๆ ที่ดูอ่อนโยนและจริงใจ เพื่อขอให้พระศิวะกลับคืนมาสู่ความรัก   จากที่ไกลแสนไกล เพียงแว่วเข้ามาส่องแสงสว่างในจิตใจที่มืดดับแห่งองค์มหาเทพอยู่เสมอเท่านั้น 
.
*** ณ มหาอาศรมในดินแดนอันไกลโพ้น ที่ซึ่งเหล่านักบวชชายหญิงได้มารวมตัวกันเพื่อบำเพ็ญตบะ บูชาพระศิวะมหาเทพด้วยความรักและศรัทธา มีพราหมณ์มุนีรูปงามผู้หนึ่ง แวะเวียนเข้ามาเกี้ยวพาราสีนางปารฺวตี อดีตชาติของนางสตี ผู้ยังคงเทิดทูนบูชาพระศิวะด้วยความรักอันระทมอยู่เป็นนิจ
.
"...ปารฺวตีเอ๋ย เจ้าผู้งามเพียบพร้อม ใยเจ้ายังอาลัยอาวรณ์ในรักถึงองค์พระศิวะเจ้า ผู้ไม่เคยสนใจเจ้า ไม่เคยคิดถึงเจ้า ไม่เคยกล่าวถึงเจ้า ทั้งยังเกลียดชังเจ้า ไฉนเจ้ายังคงครองรักไว้ในหัวใจ ในเมื่อแดนมหาอาศรมนี้ เจ้าก็ยังมีข้า คนที่หลงรักเจ้ามาโดยตลอด เฝ้าดูแลทะนุถนอมเจ้า ไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียว..." 
.
"... พี่พราหมณ์จ๋า ข้านั้นกำเนิดขึ้นมาจากอดีตชาติแห่ง "ความรัก" ของพระองค์ พาให้ข้านั้นยังคงรักและเทิดทูนองค์พระศิวะเจ้า ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนแปรผันไป ถึงพระองค์จะไม่รักข้า เกลียดชังข้า หรือแม้จะดูถูกเหยียดหยาม ขับไล่ไสส่งข้า...แต่ความรักของข้านั้น ก็ยังคงมอบถวายแด่องค์พระศิวะไปตลอดกาล ...."ข้ารักพระศิวะ..."
 
"...โอ้แม่ปารฺวตี เจ้านี่ช่างโง่เขลานัก ในยามนี้โลกกำลังวุ่นวาย วายร้ายมหาตารกะอสุราออกทำลายล้างไปทั่วสามโลก มหาเทพผู้ประสาทพรอันโง่เขลาก็ไร้ซึ่งแล้วด้วยพลานุภาพ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายดั่งคนบ้า ปล่อยให้เหล่าเทพเจ้าต้องต่อสู้กันตามมีตามเกิด โลกก็กำลังพินาศ ผู้คนล้มตายมากมาย คนเห็นแก่ตัวในความรักเช่นนี้ เจ้ายังคงรักได้ลงอีกเชียวหรือ..."
.
"...พี่พราหมณ์ อาจเป็นเพราะข้าเองที่หุนหันพลันแล่น ไม่ได้คิดให้ดีในชาติภพที่แล้ว บาปกรรมทั้งหลายอันเกิดจากตารกะอสูรนั้น มิได้เกี่ยวข้องกับองค์มหาเทพเลย มันเป็นความผิดของข้า ข้าได้ทำลายความรักของพระองค์ เพียงด้วยเพราะความเห็นแก่ตัวในความรักของนางสตีที่มีต่อพระองค์ ความผิดทั้งหลายนั้นจึงไม่ใช่เป็นของพระศิวะ แต่เป็นเพราะข้า ...พระองค์คือทุกสิ่งของข้า ความรักของข้า จะมอบถวายแด่องค์พระศิวะไปตลอดกาล ...."ข้ารักพระศิวะ"..."
.
"... เจ้านี่ช่างไร้สติเสียกระไร ศิวะมันเป็นใคร ไฉนเจ้าจึงรับความผิดบาปทั้งมวลของเขามาไว้ที่เจ้า อีกร้อยพันชาติ เจ้าจะระทมทุกข์อย่างแสนสาหัส อีกหมื่นแสนชาติ เจ้าจะถูกเผาไหม้ในนรกภูมิ วิญญาณของเจ้าจะมอดไหม้ไม่จบสิ้นไปตราบนานชั่วกาลแห่งจักรวาล เพียงเพราะเจ้ายังคงมีความรักให้กับมหาเทพผู้ไร้ซึ่งความเมตตา ไร้ซึ่งความรักและกำลังวิปลาสบ้าคลั่ง เพียงเพราะสูญเสียความรักของตน ... ทำอย่างกับว่าตนนั้นมีความรักเพียงผู้เดียว..."
.
"... พี่พราหมณ์ ท่านอย่าได้กล่าวดูถูกดูแคลนมหาเทพเลย ถึงความระทมทุกข์ของโลกทั้งหลายจะมาลงโทษที่ข้า จนวิญญาณของข้านั้นดับสูญไปตลอดกาล ขอเพียงแต่ให้ความรักของข้าที่มีอยู่นั้น ได้เข้าไปอยู่ในหัวใจขององค์มหาเทพแม้เพียงเสี้ยวนิด หากทุกอย่างจะดับสลาย ข้าก็ยินดี เพราะความรักของข้านั้น มอบถวายแด่องค์พระศิวะไปแล้วตลอดกาล ... "ข้ารักพระศิวะ"....” 
.
".... เหนื่อยใจเจ้าปารฺวตีเอ๋ย...ข้าก็เพียรมาหาเจ้า มารักเจ้า มาดูแลเจ้าก็นานแล้ว แต่เจ้ากลับไม่มีหัวใจให้แก่ข้าผู้เป็นพราหมณ์รูปงามแห่งอาศรมเหมือนกับนางอื่น ๆ เจ้ายังคงหลงใหลในมหาเทพตัวเน่าเหม็น ผมเผ้ารุงรังสกปรก สังวาลเป็นงูรัดน่ารังเกียจ อาภรณ์นั้นก็สาปเน่าด้วยหนังสัตว์เสือ ทั้งยังวิปลาส โง่เขลาไม่เหมาะที่จะเป็นมหาเทพ ในวันนี้ ไม่มีอะไรที่น่าเทิดทูนเหลือไว้ให้มวลมนุษย์ศรัทธาอีกเลย ทิ้งทั้งโลก ทำลายทั้งจักรวาล ไปพร่ำเพ้อถึงแต่ความรักของตนเอง น่าขยะแขยงยิ่งนัก มหาเทพผู้ครองสามภพองค์นี้
.
"...พี่พรหมณ์จ๋า ให้คำว่าร้ายของพี่พราหมณ์นั้นตกมากระหน่ำแก่ข้าเถิด พระองค์เป็นมากยิ่งกว่าที่พี่พราหมณ์ได้เอ่ยไว้ พี่พราหมณ์ไม่เคยเห็นหรอก ....แต่ข้าเคยได้เห็นนะ ข้าเคยสัมผัสในรักที่อบอุ่นของพระองค์เมื่อชาติภพที่แล้ว .....พี่ไม่เห็น ...พี่ก็จะไม่เข้าใจหรอก พระองค์เป็นมหาเทพแห่งความรักที่แท้จริง ในวันนี้อาจขาดเพียงแต่ความรักที่มากพอจะกลับไปเยียวยาความระทมทุกข์ในจิตใจของพระองค์... .แต่หากในวันใดวันหนึ่ง เมื่อพระองค์ได้กลับมาพบเจอกับความรักที่สูญหายไปอีกครา โลกก็จะกลับสู่สันติแลสงบสุข ข้าตั้งหวังเพียงว่า จะได้เห็น "ความรัก" ของพระองค์ที่คืนกลับมาด้วยปิติแห่งหัวใจรักในที่แห่งใดก็ได้ไปตราบนานแสนนาน เพราะความรักของข้านั้น มอบถวายแด่องค์พระศิวะไปแล้วตลอดกาล.."ข้ารักพระศิวะ"...” 
.
“... พี่พราหมณ์จ๋า....ในหัวใจของข้ามีแต่พระศิวะมหาเทพ ข้ารักพระองค์ ข้ารักพระศิวะ ข้ารักพระศิวะ และจะรักไปจนสิ้นทิวาราตรี ไปจนสิ้นใจและกายอันเจ็บปวด ...แสนทรมาน นี้...
.
“...ข้าก็จะยังคงรักพระศิวะ...ตลอดไป...” 
.
*** พราหมณ์หนุ่มที่สดับฟังอย่างชัดเจน และควรจะเศร้าเสียใจในความรักที่ไม่มีทางสมหวังของตนกับนางปารฺวตี กลับน้ำตาซึมไหลออกมาให้เห็นอย่างน่าฉงน ก้มหน้าหยุดนิ่งอยู่เบื้องหน้า ไม่ใช่เพราะคำสะบัดรัก ตัดเยื่อใยของนางปารฺวตี
.
พราหมณ์หนุ่มเอื้อนเอ่ยวจีเบา ๆ ด้วยเสียงที่สั่นเครือ  "....ข้าก็รักเจ้า ...ข้ารักเจ้า....ข้ารักเจ้าเหลือเกินปารฺวตี ข้าจะรักและทะนุถนอมเจ้าไปตราบกาลจักรวาลสิ้นสลาย ความรักของเจ้าที่มีต่อข้านั้นช่างสวยงาม บริสุทธิ์และยิ่งใหญ่นัก ....ความรักของเจ้าทำให้ข้าเรียนรู้ว่า หัวใจข้านั้นไม่ได้เข้าใจในความหมายแห่งรักเลยแม้แต่น้อย จริตแห่งความยิ่งใหญ่ ไม่ได้ช่วยให้ข้ามอบ "ความรัก" ที่แท้จริงให้แก่โลกและสรรพสัตว์เลยแม้แต่น้อย
.
....ความรักที่เสียสละของเจ้าต่างหากปารฺวตี คือ "ความรัก" ที่ทรงอานุภาพ ความรักของเจ้า.....ช่างยิ่งใหญ่เหลือเกิน
.
“....ข้ารักเจ้า และจะรักไปตลอดกาลเช่นเดียวกับที่เจ้ามอบความรักแก่ข้า เป็นนิรันดร..."
.
*** ร่างของพราหมณ์หนุ่มรูปงาม ได้กลับคืนมาเป็นองค์พระศิวะ มหาเทพที่หัวใจสลาย ได้ออกติดตามหา "ความรัก" ที่หายไปมาจนถึงมหาอาศรมแห่งนี้ ได้เห็นและเข้าใจในความรักแท้ที่พระนางปารฺวตีอดีตชาติแห่งพระนางสตีมอบให้ตลอดมา 
.
เมื่อได้รู้ความจริงว่าเป็นใครที่มาลองหัวใจ นางก้มลงกราบที่พระบาทและคว้าพระหัตถ์อันแสนอบอุ่นที่หายไปในชาติปางก่อนนั้น มาแอบอิงไว้ที่พระปรางอย่างนุ่มนวลอีกครั้ง 
“...ข้ารักพระองค์ พระศิวะ...ในทุกทิวาราตรี”
“...ข้าก็แสนรักเจ้า ปารฺวตี ข้าขอรักเจ้าตลอดไป...”
.
.
*** ในงานวิวาหะพิธีวิวาหะอันแสนหวาน พระนางรติเทวีชายาแห่งกามเทพที่ต้องระทมทุกข์ในการสูญเสียผู้เป็นที่รัก ในขณะพิธีวิวาหะที่มีแต่ความสุข จึงได้ขอสามีคืนจากพระศิวะที่ได้เผลอทำลายพระกามเทพด้วยเพราะห้วงทุกข์ในความรัก พระนางปารฺวตีจึงแนะให้พระองค์นำพลังแห่งความรักของพระองค์กับพระนางได้ฟื้นคืนเทพเจ้าแห่งความรักกลับคืนมา
“....โอ้พระกามเทพ ผู้มอบความรักอันหวานชื่นประดุจน้ำผึ้งและอ้อยหวาน งดงามปานบุปผา ด้วยคันศรปล้องอ้อย สายรั้งฝูงผึ้งและศรเบญจพฤกษา เราไร้สติด้วยความเจ็บช้ำ สิ้นหวังและทุกข์ระทมในการจากไปของนางสตี จึงเผลอโกรธาโดยมิตั้งใจเลย ในเหตุที่เจ้าพยายามยิงบุษปศรใส่เราเพื่อให้เราได้ครองรักกับนางปารฺวตี 
.
รุทรเนตรของเราจึงได้เผาผลาญเจ้าจงเป็นจุล จนรูปกายของเจ้าและความรักอันสดชื่น ได้สูญสิ้นไปจากจักรวาล
.  
แต่กระนั้น ข้าก็มิอาจจะคืนรูปกายอันประเสริฐให้แก่เจ้าได้ ด้วยเพราะอำนาจแห่งรุทรเนตรนั้นยิ่งใหญ่นัก ข้าไม่สามารถชุบชีวิตของเจ้า คงทำได้เพียงมอบคืนจิตวิญญาณแห่งรักให้กับเจ้าได้เพียงเท่านั้น 
.
เจ้ากามเทพผู้อุ้มสมในความรักแห่งโลกเอ๋ย นับแต่นี้ วิญญาณเจ้าจงกลับคืนมา ทำหน้าที่มอบความรักให้กับมวลมนุษย์ทั้งปวงเฉกเช่นเดิม เจ้าจะเป็นรูปอนังคะ (Ananga/ไม่มีรูปกาย) ที่จะไม่มีใครได้มองเห็นไปทั่วจักรวาล
.
.
“....ขอให้ความรักจงเป็นความงดงามที่มองไม่เห็น แต่ทุกคนจะสัมผัสได้ ยามเมื่อเจ้าแผลงศรรักอันหวานชื่น...มอบให้...เขา... ได้รักกัน” 
เครดิต FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ที่มาชื่อนครวัด

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
วิมานบนยอดสุดแห่ง “นครวัด/บรมวิษณุโลก”
ชื่อนามของ “นครวัด” (Angkor Wat) ในอดีต คือ “มหาวิษณุโลก” (Mahā Viṣṇuloka) ต่อมาคือเมืองพิศนุโลก (Bisnuloka) ที่เป็น “วัดพระเชตุพน” (Wat PhraJetavana) ตามพระนามของพระเจ้าสูรยวรมเทว ที่ 2 (Suryavarmadeva II) ภายหลังการสวรรคตว่า “บรมวิษณุโลก- พระบาทมหาวิษณุโลก” (Paramavishnuloka - Phra Bat Mahā Viṣṇuloka)  หรือ  "วรบาท กมรเตงอัญ ปรมวิษณุโลก" (Vora Bat Kamradeng An Paramavishnuloka)  ผู้สร้างมหาปราสาทอันยิ่งใหญ่ เป็น “พระเมรุมาศมหาปราสาท” เพื่อการเสด็จคืนสู่สวรรคาลัยไปรวมกับพระผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์ ตามคติความเชื่อ ปรมาตมัน/เทวราชา (Paramātman/Devarāja)
.
ซึ่งน่าจะเป็นการรวมกับพระวิษณุ โดยเชื่อว่าพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 เป็นดั่งพระอวตาร (Avatar) แห่งองค์พระวิษณุ ดังปรากฏภาพสลักนูนต่ำบนผนังกำแพงของระเบียงคดชั้นนอกและอวตารภาคอื่น ๆ ที่บอกเล่าวรรณกรรมสรรเสริญพระวิษณุในมหาวีรกรรมแต่ละอวตาร ทั้ง “กฤษณวตาร” (Krishna Avatar) ฉากสงครามทุ่งกุรุเกษตร พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ ปราบท้าวพณาสูร กรุงพาณ “กูรมาวตาร” (Kurma Avatar) อวตารเป็นเต่าเพื่อปกป้องโลกจากเขามัทรคีรี ในการกวนเกษียรสมุทร “รามาจันทราวตาร” (Rama Avatar) อวตารเป็น “พระราม" ในมหากาพย์รามายณะ ภาพสลักชัยชนะของกองทัพเทวดาโดยการนำของพระวิษณุเหนือเหล่าอสูร ศึกเทวากับอสูร ฯลฯ ครับ
.
โดยผนังกำแพงของระเบียงคดทิศใต้ปีกตะวันตกและฝั่งตะวันออก สลักเป็นเรื่องราวของพระองค์ในฐานะพระอวตาร เดินแบบ “อุตราวรรต” (เวียนซ้าย ทวนเข็มนาฬิกา) ไปทางทิศตะวันออก เพื่อการเสด็จกลับคืนสู่สวรรคาลัยของพระองค์ เริ่มจากการนำขบวนกองทัพและพระเพลิง 22 กลุ่ม ภายใต้การปกครองของอาณาจักรอันรุ่งเรืองในยุคสมัยของพระองค์ เดินผ่านการพิพากษาคุณงามความดี โดย “พระยมราชา” 18 กร ทรงกระบือ เทพเจ้าแห่งความความตาย และผู้ช่วย “ธรรมบาล - จิตรคุปต์” บนผนังต่อเนื่องปีกตะวันออก
ซึ่งพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 พระมเหสี นางใน ขุนศึกและข้าราชบริพารของพระองค์ทั้งหมดในโลกแห่งความเป็นจริง ได้รับการตัดสินให้เสด็จขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ตามภาพสลักแถวบน ส่วนศัตรูผู้คิดร้ายต่อพระองค์ จะถูกตัดสินความ แยกพาไปลงนรก 32 ขุม ที่สลักภาพการลงทัณฑ์ไว้อย่างสยดสยองในแถวล่าง
.
ภาพสลักนางอัปสรา ที่มีความงามอันหลากหลายนับพันรูปที่สลักเสลาอยู่โดยทั่ว สะท้อนให้เห็นความเป็นสรวงสวรรค์ ในขณะที่เหล่านักบวชและเจ้าหน้าที่กำลังนำพระบรมอัฐิ/พระบรมราชสรีรางคาร ที่ผ่านพิธีถวายพระเพลิงศักดิ์สิทธิ์จาก “หอพระวรเพลิง”  (วฺร เวลิง) /พระเพลิงกลาโหม-พระสังเวียนพิธีกูณฑ์ โดยราชโหตาจารย์ เหล่าพราหมณ์และและเหล่าราชบัณฑิต ประกอบดนตรีประโคม สังข์ แตร ฆ้องกลองและการฟ้อนรำถวายในภาพสลักขบวนที่ 16 ครับ
.
ปราสาทประธานที่บรรจุพระบรมอัฐิ  เป็นปราสาทกลางเพิ่มมุมที่ยกชั้นซ้อนขึ้นไป 3 ชั้น มีเรือนวิมานเป็นยอดสูงสุดของมหาปราสาทในความหมายของเขาไกลาส/ไวกูณฐ์ มีซุ้มประตูและมุขชั้นลดแบบจัตุรมุขทั้ง 4 ด้าน ต่อระเบียงคดในรูปกากบาทเชื่อมต่อกับโคปุระในแต่ละทิศ เหนือมณฑปมุมระเบียงก่อเป็นยอดวิมานปราสาท 4 หลัง ในความหมายของมหาคีรีทั้ง 4 (สุทัสสนะกูฏ/จิตตะกูฏ/กาฬกูฏ/คันธมาทณ์กูฏ) ถัดลงมาเป็นปราสาทเหนือมุมระเบียงคดชั้น 2 ในความหมายของทวีปทั้ง 4 สอดรับกับการวางผังสระน้ำทั้ง 4 ของชั้นล่าง ที่หมายถึงมหาสมุทรทั้ง 4 (ปีตะสาคร/เกษียรสมุทร/ผลึกสาคร/นิลสาคร) บริเวณทางขึ้นด้านหน้าฝั่งตะวันตก 
.
ห้องครรภคฤหะของปราสาทประธานมีขนาดประมาณ 7*7 เมตร  มีฐานรูปประติมากรรมพระวิษณุ (?) ขนาดใหญ่ตั้งอยู่  ใต้ฐานตรงกลางก่อเป็นช่องลึกลงไปประมาณ 24 เมตร (อาจเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิพร้อมของมีค่าและใช้เป็นแกนเดือยของรูปเคารพ ?) แต่เดิมนั้นทำเป็นซุ้มประตูทางเข้าไปภายในคูหาได้ทั้ง 4 ด้าน ซึ่งต่อมาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 22  “นักองค์จัน” (Ang Chan I) “พระญาจันทราชา” (Chan Reachea) หรือ “สมเด็จพระเจ้าบรมราชาที่ 2 /สมเด็จพระบรมราชาองค์บรมบพิตร” ปฐมกษัตริย์อาณาจักรละแวก-ลงแวก (Lovek) ได้นำไพร่พลกลับมาครอบครองและฟื้นฟูปราสาทนครวัดขึ้นใหม่อย่างเป็นรูปธรรม อย่างการแกะสลักภาพนูนต่ำบนผนังระเบียงคดชั้นแรกจากเค้าโครงเดิมที่ทิ้งค้างไว้ ฝั่งตะวันออกปีทิศเหนือและฝั่งทิศเหนือขึ้นใหม่ทั้งหมด 
.
*** จากรูปถ่ายเก่าภายในห้องครรภคฤหะ ของ“จอร์จ อเล็กซานเดอร์ ตรูเว่” (Georges Alexandre Trouvé) ภัณฑารักษ์ของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (École française d'Extrême-Orient หรือ EFEO)  ประมาณปี พ.ศ. 2477 และภาพของสำนักจดหมายเหตุ EFEO ประมาณปี พ.ศ. 2490 แสดงให้เห็นว่าแต่เดิมนั้นภายในห้องครรภคฤหะเคยมีฐานรูปเคารพขนาดใหญ่ในสภาพแตกหัก ที่กรอบประตูทั้ง 4 มีการนำหินก้อนมาอุดช่องประตู 3 ช่อง คงเหลือแต่ฝั่งทิศใต้เท่านั้นที่ไม่มีการอุดช่องกรอบประตูครับ
.
การอุดช่องประตูทั้ง 3 ด้าน คงเกิดขึ้นในสมัยนักองจันทราชา โดยได้มีการการแกะสลักพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยตามรูปแบบศิลปะละแวกบนผนังกำแพงด้านนอก โดยทางทิศใต้แกะสลักเป็นพระพุทธรูปยืนแบบลอยตัวในรูปศิลปะเดียวกัน ตั้งประดิษฐานที่หน้าประตู
.
*** การเปิดช่องประตูทางทิศใต้ของปราสาทประธานในสมัยพระญาจันทราชา อาจเพื่อให้สอดรับกับภาพสลักขบวนกองทัพและภาพการพิพากษาคุณความดีบนผนังระเบียงคดฝั่งทิศใต้ ที่ปรากฏรูปของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 และจารึกกำกับชื่อพระนาม “สมตจ วรปาท กมรเตง อัญ ปรมวิษณุโลก” ที่ชัดเจนทั้งสองภาพครับ 
เครดิตFB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ปราสาทหินกลางนครลวะปุระยุคบาปวน” ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี

ในปี พ.ศ. 1545 พระเจ้าสูริยวรมะเทวะที่ 1 ที่ซ่องสุมกำลังในเขตอีศานปุระ ได้เริ่มพิชิตเขตตะวันออกของอาณาจักร ขยายอิทธิพลเข้ายึดครองเมืองพระนครศรียโสธระปุระได้สำเร็จในปี พ.ศ. 1549 สถาปนาราชวงศ์ “ศรวะ” (Šarva dynasty) ขึ้น   
.
พระเจ้าชัยวีรวรมัน กษัตริย์เทวราชาพระองค์เดิม ได้ถอยร่นผู้คนในปกครองมาทางพระตะบองเข้ามาตั้งมั่นในเขตทางเหนือในดินแดนวิมายปุระและลวะปุระ (lavapūr) ที่ยังอยู่ในอำนาจของราชวงศ์มหิธระปุระ (Mahīdharapura Dynasty) เดิมได้อยู่ประมาณ 9 ปี พระเจ้าสูริยวรมันได้ยกทัพติดตามขยายอิทธิพลรุกไล่เข้ามาทางเมืองพิมาย เสมาและอาจตามเข้ามาเผด็จศึกทัพพระเจ้าชัยวีรวรมันและพันธมิตรชาวรามัญที่เมืองละโว้ จนบ้านเมืองเสียหายครับ  
.
จารึก K.1198 ระบุปีจารึก พ.ศ. 1554 ได้กล่าวถึงการเข้ายึดครองดินแดนตะวันตกและเมืองลวะปุระ โดยขุนศึกคนสำคัญคือ “พระกำเสตงอัญศรีลักษมีปติวรมัน” (Vraḥ Kamrateṅ Añ Śrī Lakṣmīpativarman)” แม่ทัพใหญ่ของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1  
.
 “...ทรงให้ฟื้นฟูลวะปุระที่เกิดกลียุค (สงคราม ?) จนบ้านเมืองร้างกลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า...พระองค์ได้ส่งนักรบนามว่าศรีลักษมีปติวรมันเข้าไปปกครองและฟื้นฟูดินแดนรามัญ (rāmaṇya) ทางตะวันตก...ศรีลักษมีปติวรมัน ผู้เป็นนักรบ ได้ประดิษฐานรูปพระศิวลึงค์ไปทั่วดินแดนที่ได้ยึดครองมาได้...เขาจึงได้รับพระราชทานที่ดินและวิหารสำหรับประดิษฐานพระศิวลึงค์ หลังจากยึดมาจากศัตรูแห่งกษัตริย์...” 
.
*** ภายหลังการเข้ายึดครองลวะปุระจากและราชวงศ์มหิธระปุระเดิมและกลุ่มชนชั้นนำชาวรามัญ จึงได้มีการสร้างปราสาทศิริศะ/บนยอดเขาจำลอง (ศาลพระกาฬ/ศาลสูง) ยกฐานสูงตามคติฮินดูไศวะนิกาย ขึ้นที่ใจกลางนคร ซึ่งต่อมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 (พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 – พระเจ้าหรรษวรมันที่ 3) ช่วงที่ราชวงศ์ศรวะยังมีอำนาจเหนือเมืองละโว้ จึงได้มีสร้างปราสาทหินกลางเมืองขึ้นใหม่เยื้องลงมาทิศใต้ บริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุในปัจจุบันครับ
.
ร่องรอยของฐานปราสาทหินกลางนครละโว้ในยุคต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ยังปรากฏให้เห็นอยู่ที่ด้านหลังของพระปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ ที่เพิ่งสร้างขึ้นภายหลังช่วงต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 19  เป็นฐานปัทม์/บัวลูกฟัก ขนาด 11 * 15 เมตร ก่อด้วยหินทรายสีเทา หันหน้าไปทางตะวันออก ฐานบัวเชิงของเรือนปราสาทหินผังจัตุรมุข โดยมีมุขฐานและมุขซุ้มประตูหน้ายาวกว่าด้านอื่น 
.
ชิ้นส่วนประดับปราสาทหลายชิ้นที่มีรูปแบบทางศิลปะและเนื้อหินทรายสีเทาแบบเดียวกันก็ยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่ ทั้งนาคปลายหน้าบันที่มีลายคายพวงมาลัย ชิ้นส่วนบัวเชิงชายหินทรายประดับชายหลังคามุขหน้า ชิ้นส่วนบันแถลงรูปนางอัปสรา รวมถึงส่วนหม้ออมลกะยอดปราสาทที่เหลืออยู่ อีกทั้งทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณที่มีสิงห์คายท่อนพวงมาลัยศิลปะแบบบาปวน ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 อาจเคยเป็นทับหลังของมุขหน้าตัวปราสาทหินกลางเมืองนี้มาก่อนครับ
.
*** การเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองในช่วงเวลาต่อมา ทั้งการกลับคืนมาของราชวงศ์มหิธระปุระตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 จนถึงการเข้ามาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ได้ส่งพระราชโอรส “นฤปตีนทรวรมัน” ขึ้นมาปกครองเมืองละโว้ทยปุระ (Lavodayapura) จนถึงยุคสมัยการกลับมาของราชวงศ์ลูกครึ่งชาวรามัญ/เขมรจนเกิดการสร้างปรางค์ประธานวัดมหาธาตุในนิกายคณะกัมโพชสงฆ์ปักขะ (Kambojsanghapakkha) 
.
ปราสาทหินกลางเมือง ที่อาจเคยมีอาคารประกอบอย่างบรรณาลัยและโคปุระจึงได้ถูกรื้อถอน นำหินทรายก้อนสีเทาอันเป็นวัตถุดิบสำคัญของศาสนสถานที่หมดประโยชน์/อำนาจ/การอุปถัมภ์ไปแล้วกลับมาใช้ใหม่ ทั้งเพื่อเป็นก่อโครงสร้างปราสาทในยุคหลัง แกะสลักเป็นหินประดับปราสาท และนำไปแกะสลักเป็นรูปประติมากรรมตามคติและศิลปะที่นิยมกันในแต่ละยุคสมัย คงเหลือแต่เพียงส่วนฐานของปราสาทมาจนถึงในปัจจุบันครับ
เครดิต :FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

พระพุทธบาทสระบุรี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“หัวเม็ดยอดเสา” ที่งดงามที่สุดในประเทศไทย พระมณฑปพระพุทธบาทสระบุรี
.
.
.
“หัวเม็ด” คือ ชิ้นส่วนประดับ “ยอดเสา” หรือ “หัวเสา” ของกำแพงพระระเบียงหรือกำแพง/กำแพงแก้ว หรือแบบเสาเดี่ยว เรียกว่า “เสาหัวเม็ด” มีรูปทรงนิยม คือ หัวเม็ดทรงหม้อน้ำกลมยอดฝาหม้อน้ำ เรียงแหวนบัวลูกแก้วขึ้นไปจบที่ยอดแหม คล้ายตัวขุนเกมหมากรุก หัวเม็ดทรงหม้อน้ำเหลี่ยม เรียงชั้นเหลี่ยมขึ้นไปแบบเดียวกับแหวนลูกแก้วจบที่ยอดแหลม ทรงเหลี่ยมแบบยกมุม/หยักมุม หัวเม็ดทรงมัณฑ์/มณฑป เรือนยอดแหลมทรงปราสาท เป็นงานประดับสถาปัตยกรรมที่เริ่มนิยมมากในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา
.
พระมณฑปพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ตําบลขุนโกลน อําเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี  สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22 แต่เดิมเป็นมณฑปโปร่งทรงยอดแหลม/กุฎาคาร ค้ำด้วยเสาใหญ่ไม่มีผนัง ซึ่งต่อมาได้รับการทำนุบำรุง/เสด็จมานมัสการบวงสรวงพระพุทธบาทในทุกรัชกาล ทั้งในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระมหาบุรุษ/พระเพทราชา จนถึงสมัยสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี/พระเจ้าเสือ จึงมีการเปลี่ยนแปลงหลังคายอดพระมณฑปเป็นห้ายอด โดยมี พระครูสุวรรณมุนี/สมเด็จพระสังฆราชแตงโม เป็นแม่งาน
.
ถึงสมัยสมเด็จพระภูมินทราธิบดี/พระเจ้าท้ายสระ จึงได้มีการก่อผนังกำแพงระหว่างเสาเพื่อประดับกระจกเงาปั้นลายปิดทองภายใน ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 2/พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้มีการหุ้มแผ่นทองคำหุ้มส่วนนาค เหมและยอดพระมณฑป ปูพื้นภายในด้วยแผ่นเงิน สร้างบานประตูประดับมุก ทั้ง 4 ด้าน    และหล่อเศียรนาค (สวมมงกุฎ) ชายราวบันไดฝั่งทิศเหนือ
ในสมัยสมเด็จกรมขุนพรพินิต/พระเจ้าอุทุมพร ได้มีหุ้มแผ่นทองคำหลังคาพระมณฑป จนถึงสมเด็จพระสุริยาสน์อมรินทร์/พระเจ้าเอกทัศน์ กลุ่มชาวจีนอาสาจากคลองสวนพูลได้เข้าปล้นสะดมเผาทำลายพระมณฑป ลอกแผ่นทองคำและแผ่นเงินออกไปทั้งหมด
.
*** พระมณฑปพระพุทธบาท จึงเพิ่งได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ซ่อมประตูมุกที่เหลือรอดจากการเผาทำลายและสร้างขึ้นใหม่ ปูพื้นด้วยแผ่นเงิน หล่อเศียรนาคบันไดฝั่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (2 คู่) ซึ่งการบูรณปฏิสังขรณ์ยังต่อเนื่องมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย/รัชกาลที่ 2 และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว/รัชกาลที่ 3 
.
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว/รัชกาลที่ 4 ได้มีการซ่อมแซมหลังคาเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างไม้ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว/รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท 4 ครั้ง   โดยในช่วงปลายรัชกาล ต่อเนื่องมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว/รัชกาลที่ 6  ได้มีการสร้างหลังคามณฑปขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยได้เสด็จมายกยอดพระมณฑปเมื่อปี พ.ศ. 2456
.
*** กำแพงแก้วล้อมรอบพระมณฑปเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนความสูงไม่มากนัก ชั้นล่างสุดเป็นระเบียงของฐานไพทีใหญ่ มีหัวเม็ดยอดเสาทรงมัณฑ์ทั้งหมด ชั้นที่ 2 และ 3 ผนังทึบแต่เจาะช่องยอดโค้งสอบแหลมไม่ทะลุเพื่อวางฝางประทีป มีหัวเม็ดยอดเสาทรงมัณฑ์ทั้งหมด ผนังระเบียงชั้นประทักษิณชั้นที่ 4 บนสุด ตั้งบนฐานสูงประดับฐานสิงห์ที่หน้ากระดานล่าง ผนังเจาะเป็นช่องลมยอดสอบแหลม เสาของระเบียงเป็นเสาสี่เหลี่ยมฐานบัว/หัวบัว สันเว้าโค้งแอ่นกลางเล็กน้อย ยกมุม 12  ยอดเสาหัวเม็ดของชั้นที่ 3 และ 4 บางเสาแกะสลักหินสบู่ (Soapstone) เป็นรูปปราสาทยอดปรางค์ขนาดเล็กมีซุ้มหน้าบันซ้อนปลายนาคเบือน 4 ด้าน ประดับกระจังที่มุมยก ส่วนฐานแกะสลักมุม 12 รับตรงมุมกับบัวยอดเสา ประดับมุมเสาระเบียงชั้นที่ 3 และมุมระเบียงชั้นบนรวม 8 ยอด แกะสลักเป็นรูปปราสาทยอดแหลม/เจดีย์ยกมุมไม้ 12 มีมุขหน้าบันซ้อนปลายนาคเบือน 4 ด้านประดับกระจังที่มุมยก ชั้นที่ 3 จำนวน 12 ยอด ชั้นบน 8 ยอด  
.
*** มีคำอธิบายว่า เดิมทีหัวเม็ด/หัวเสาระเบียงแกะสลักจากหินสบู่นี้เคยอยู่ที่วัดไชยวัฒนาราม ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ดังที่พบเสมาทรงซุ้มที่แกะสลักเป็นช่องเพื่อวางฝาง/ตะคันพระประทีป บนสันกำแพงแก้วล้อมรอบลานประทักษิณของฐานไพทีองค์พระปรางค์ประธาน อดีตเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทได้ไปขนย้ายมาประดับกำแพงแก้วล้อมพระมณฑป ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6-7
.
*** แต่จากภาพวาดลายเส้นของ อ็องรี มูโอ ในปี พ.ศ. 2404 (รัชกาลที่  4) และภาพถ่ายเก่าประมาณ ปี พ.ศ. 2447 (รัชกาลที่ 5) และภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2449 (สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ) ได้แสดงให้เห็นว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 ชั้นต่าง ๆ ของพระมณฑปได้สร้างเสร็จสมบูรณ์มาก่อนห้าแล้ว และก่อนหน้าจะมีการบูรณะส่วนเรือนยอดมณฑปครั้งใหญ่ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 นั้น มีหัวเม็ดทรงปรางค์และเจดีย์เหล่านี้ประดับมาอยู่แล้ว   
.
หัวเม็ด/ยอดเสา แกะสลักจากหินสบู่ของพระมณฑปพระพุทธบาทจึงควรถูกแกะสลักขึ้นเพื่อประดับระเบียงของพระพุทธบาทโดยตรงในช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ดังรูปศิลปะของกระจังปฏิญาณประดับมุมยกของหัวเม็ด หน้าบันลายกระหนกใบขด ลำยองตวัดไอยราโค้งที่มีกระจัง 3 ตัวเรียงด้านล่าง และรูปแบบสถาปัตยกรรมนิยมอย่างแข้งสิงห์ฐานประทักษิณบนและการเจาะช่องกำแพงรูปซุ้มยอดสอบแหลมเพื่อประดับฝางประทีป ที่ล้วนเป็นศิลปะในพระราชนิยมในช่วงเวลานี้
.
*** หัวเม็ดยอดเสาแกะสลักจากหินสบู่ ประดับพระมณฑปพระพุทธบาทสระบุรี ได้รับการซ่อมแซมใหม่ในช่วงยุคปัจจุบันจนสมบูรณ์ เป็นหัวเม็ดยอดเสาพระระเบียงที่จัดได้ว่ามีความงดงามที่สุดของประเทศไทยเลยครับ
เครดิต FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy