วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ศรนาคบาศ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“Garuda Man” ฮีโร่ผู้พิชิตศรนาคบาศ   

ในวรรณกรรม “มหากาพย์รามายณะ” (Rāmāyaṇa) ภาค “ยุทธกัณฑ์หรือลงกาภัณฑ์” (Lanka Kanda) ได้เล่าถึงช่วง “ศึกอินทรชิต” ว่า
.
...เมื่อ “นละ” (Nala)  และ "นีละ”(Nila) นำไพร่พลวานรขุดหินภูเขามาจองถนน ข้ามมหาสมุทรไปจนถึงฝั่งกรุงลงกา ได้พบกับ “พิเภก/วิภีษณะ” (Vibhishana)  พระอนุชาของท้าวราพณ์ (ราวาณะ) เข้ามาร่วมทัพ ได้เริ่มเข้าสัประยุทธ์กับกองทัพรากษส/ยักษ์กันครั้งแรก จนทัพฝ่ายลงกาพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ท้าวราพณ์จึงให้ “อินทรชิต” (Indrajit) หรือ “เมฆานาถ” (Meghanāda) พระราชโอรสผู้มีสุรเสียงประดุจฟ้าคำราม นำกองทัพเข้าต่อสู้ขับไล่ผู้รุกรานในทันที 
ในวันแรกของการต่อสู้ อินทราชิตผู้เคยพิชิตพระอินทรา ได้เข้าจู่โจมกองทัพขององค์รามอย่างรวดเร็ว แต่ก็พ่ายแพ้ต่อ “องคต” (Aṅgada) จนต้องล่าถอย เมื่อรวมทัพกลับขึ้นใหม่ได้ อินทรชิตสามารถเอาชนะพลวานรของพญาสุครีพ (Sugriva) จนแตกพ่าย ... 
.
...อินทรชิตประกาศท้าทายด้วยเสียงฟ้าคำราม ให้องค์รามและองค์ลักษมัณออกมารบด้วยตนเอง ด้วยเพราะอยากแก้แค้นให้กับลุงและพี่น้องของเขา เมื่อองค์รามและองค์ลักษมัณนำกองทัพมาถึง อินทรชิตได้บังคับเมฆให้เข้าบดบังแสงอาทิตย์ และล่องหนด้วยมนตราวิเศษ ฝ่ายองค์รามก็ให้เหล่าขุนทัพวานรผู้เก่งกล้าขึ้นไปตามหา แต่ก็หาไม่พบ เมื่อได้จังหวะอินทรชิตจึงแผลง “ศรนาคบาศ” (Nāgapāśa) อันเกรียงไกร แผ่เป็นร่างแหของงูนับล้านเต็มท้องฟ้าเข้าใส่พลวานร พุ่งเข้ามัดตรึงร่างขององค์รามและองค์ลักษมัณจนล้มลงบนปัฐพีประดุจดังสิ้นชีวิตในทันที...
.
...เหล่าวานรต่างรู้สึกตกใจ ท้อแท้และเศร้าโศกเสียใจ ส่วนอินทรชิตก็คิดว่าองค์รามและองค์ลักษมัณได้สิ้นชีวิตแล้ว จึงกลับกรุงลงกา แจ้งข่าวชัยชนะแก่ท้าวราพณ์ จึงได้ให้นางตรีชฎา (Trijata) พานางสีดา ขึ้นบุษบกวิมาน(Pushpaka Vimana) เหาะมาดูความตายขององค์รามและองค์ลักษมัณ นางสีดาสำคัญว่าพระรามตายจริง กำลังจะโศกเศร้า แต่นางตรีชฎาได้ปลอบนางสีดาโดยชี้แจงว่า ถ้าหญิงที่ผัวตายแล้วขึ้นบุษบกวิมานจะไม่ลอยขึ้น... 
.
...หนุนามได้เหาะขึ้นไปสวดภาวนาแก่พญาครุฑ พระพาหนะของพระวิษณุ ผู้เป็นลุงของ “นกสดายุ” (Jatayu) และ “นกสัมพาที” (Sampati) พญาครุฑจึงได้บินลงมายังสนามรบ เข้ากินบ่วงนาคราชที่รัดอยู่ เหล่าศรนาคที่เหลือก็พากันตกใจเลื้อยหนีไปทั้งหมด องค์รามและองค์ลักษมัณรวมทั้งเหล่าวานรจึงเป็นอิสระและได้ขอบคุณพญาครุฑอย่างจริงใจในความช่วยเหลือครั้งสำคัญนี้...
.
...เมื่ออินทรชิตได้ยินว่าองค์รามและองค์ลักษมัณหลุดรอดจากพิษศรนาคบาศก็โกรธจัด ด้วยก้าวย่างอันโกรธเกรี้ยว เขาเดินทางกลับไปที่สนามรบ ส่งเสียงคำรามท้าทายองคร์รามและองค์ลักษมันอีกครั้ง...
.
-----------------
*** “ปราสาทกุกเขว็ด” (Kuk/Kok Khvat) ทางเหนือของแพรกแม่น้ำโขงกับแม่น้ำโตนเลสาบ เหนือกรุงพนมเปญ ในเขตจังหวัดกำปงจาม เป็นปราสาทก่อศิลาแลงแบบหลังเดี่ยวบนเนินสูง ที่ถูกสร้างขึ้นมาในยุคพระวิหาร ช่วงประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 16 แต่ยังสร้างทิ้งค้างคาไว้ไม่แล้วเสร็จ เพิ่งถูกแกะสลักลวดลายขึ้นใหม่เฉพาะส่วนทับหลังและเชิงเสาประดับกรอบประตูในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นภาพแกะสลักอันวิจิตรที่แสดงความสำคัญของพญาครุฑในศึกอินทรชิต/ศรนาคบาศอันโดดเด่น ตามแบบวรรณกรรมรามายณะ
.
*** โดยทางฝั่งซ้ายแสดงภาพของ“พิเภก/วิภีษณะ”กำลังประคองพระเศียรขององค์รามและองค์ลักษมัณ ที่ต้องศรนาคบาศด้วยกันทั้งสองพระองค์ ในท่ามกลางความแตกตื่นและเศร้าโศกเสียใจของเหล่าพลวานร พญาหนุมานเหาะขึ้นไปวิงวอนขอให้พญาครุฑผู้เป็นศัตรูของนาคลงมาช่วย ตรงกลางแสดงภาพของพญาครุฑ ประดุจฮีโร่คนสำคัญ ล้อมรอบด้วยเหล่าเทพยดานางฟ้า โดยมีองค์รามและองค์ลักษมัณนั่งแสดงอัญชุลีขอบคุณอย่างจริงใจ พิเภกยกมือกุมไว้ที่หน้าอกเพื่อแสดงความเคารพ ภาพด้านขวาเป็นกลุ่มพลวานรกำลังร้องรำทำเพลงแสดงความดีใจครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น