วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

พระบรมสารีริกธาตุเมืองแพรก

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระบรมสารีริกธาตุเมืองแพรก” วัดมหาธาตุสรรคบุรี ชัยนาท 
พระมหาธาตุเจดีย์องค์แรกแห่งรัฐสุพรรณภูมิ 

พระมหาธาตุเจดีย์เมืองแพรก วัดมหาธาตุสรรคบุรี ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่าหน้าพระลาน ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน้อยหรือแม่น้ำสรรค์ตรงโค้งหักไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้าของวัดบางส่วนขนานไปตามลำน้ำ เดิมเรียกว่า “วัดหัวเมือง” หรือ “ศีรษะเมือง” สร้างขึ้นช่วงแรกในกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งต่อมา คงได้มีการสถาปนาพระมหาธาตุเจดีย์ขึ้นเป็นศูนย์กลางใหม่ ภายหลังการสถาปนา “รัฐสุพรรณภูมิ” ในช่วงต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 19 และได้มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุตามคติ “พระมหาธาตุ” ศูนย์กลางแห่งนคร   
.
“เมืองแพรก/ศรีราชา” เป็นเมืองแนวปะทะทางศิลปะและอำนาจจากรัฐเหนือและใต้  จึงเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นก่อนชุมชนอื่น ๆ ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำน้อย พบหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่สมัยทวารดี มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมไม่สม่ำเสมอขนาดประมาณ 1,450 x 1,400 เมตร มีแม่น้ำน้อยเป็นคูเมืองทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออกและทิศใต้มีร่องรอยคูน้าคันดินแยกออกจากลาแม่น้ำน้อยขนานไปกับแม่น้ำน้อยและลำน้ำเก่าซึ่งผ่านทางตอนใต้ของเมืองไปบรรจบกับคูเมืองด้านทิศตะวันตก มีคลองใต้กับคลองลำน้ำไหลมาจากทิศตะวันตกมาบรรจบกัน โดยภายในตัวเมืองด้านทิศเหนือเป็นที่ตั้งของวัดโตนดหลาย ตัวเมืองทิศใต้มีขนาด 2,200 x 800 เมตร มีร่องรอยคูน้าคันดินสูงราว 3-4 เมตร กว้าง 5-6 เมตร ในเขตบ้านหัวเมือง เป็นที่ตั้งของวัดมหาธาตุ วัดพระยาแพรก วัดสองพี่น้อง ตลอดจนโคกเนินเจดีย์กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณตัวเมืองกว่า 189 แห่ง ใช้แม่น้ำเก่าเป็นคูเมืองทิศเหนือ ลำแม่น้ำน้อยเป็นคูเมืองด้านตะวันออก ด้านทิศตะวันตกและใต้มีคูน้ำคันดิน กำแพงและคูเมืองเริ่มตั้งแต่ริมน้ำเก่า ตอนกลางเป็นคลองควายผ่านคันชลประทานไปจดบริเวณหน้าวัดพระแก้วแล้ววกขึ้นเหนือไปบรรจบกับแม่น้ำน้อยครับ
.
ชื่อนาม “แพรก” หมายถึงทางแยกของลำน้ำ (แม่น้ำน้อย/แม่น้ำเจ้าพระยา) ปรากฏครั้งแรกในจารึกสุโขทัย หลักที่ 1 ที่มีอายุในช่วงประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ความว่า  “...เบื้องหัวนอน  รอดคณฑี  พระบาง  แพรก  สุพรรณภูมิ  ราชบุรี  เพชรบุรี  ศรีธรรมราช  ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว...” และยังพบชื่อนาม “แพรกศรีราชาธิราช” ในเอกสารกฎหมายลักษณะลักพา ประมาณปี พ.ศ. 1898 อีกด้วย 
.
ชื่อนามแพรกศรีราชายังปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน ชำระในช่วงต้นรัตนโกสินทร์  ความว่า “...แล้วจึงให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าอ้ายพระยาครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พระยาครองเมืองแพรกศรีราชา เจ้าสามพระยาครองเมืองชัยนาท (พิษณุโลก)...” และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ตอนแผ่นดินสมเด็จพระอินทราราชาธิราชที่ 1 ความว่า “... พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จกลับพระนคร แล้วจึงให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าอ้ายพระยากินเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่กินเมืองแพรกศรีราชา คือ เมืองสรรค์ เจ้าสามพระยากินเมืองชัยนาท” อีกครับ
.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีกของหอพระสมุดวชิรญาณ (ชำระใหม่) ช่วงปี พ.ศ.1984  ในสมัย พระบรมราชาธิราชที่ 2  ปรากฏนาม “เจ้าพระยาแพรก” หรือสมเด็จเจ้าพระยาแพรกศรีราชา  ในเหตุการณ์ตอนทรงยกทัพไปตีเมืองพระนครหลวงหรือเมืองยโสธรปุระได้สำเร็จ แล้วให้เจ้านครอินทร์ พระราชโอรสไปปกครอง แต่พระนครอินทร์ประชวรและสวรรคตในที่สุด จึงโปรดเกล้าฯ ให้ “พระยาแพรก” ไปปกครองแทน
.
ส่วนชื่อนามเมือง “สรรคบุรี” อันหมายถึงแพรกศรีราชาเดิมนั้น อาจเริ่มปรากฏครั้งแรกในสมัยอยุธยาตอนกลาง ดังความในพระราชพงศาวดารความเก่าฉบับหลวง ชำระขึ้นใหม่ในสมัยกรุงธนบุรี แต่งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ กล่าวถึงเรื่องราวตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  ในปี พ.ศ.2111 ว่า เมื่อครั้งที่พระเจ้าหงสาวดีหรือพระเจ้าบุเรงนอง ยกทัพมาตีพระนครศรีอยุธยา พระเจ้าช้างเผือกและสมเด็จพระมหินทราธิราชเกณฑ์ประชาชนเมืองชัยนาท เมืองสุพรรณบุรีเมืองลพบุรี เมืองอินทบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองนครนายก เมืองสระบุรี เมืองพรหมบุรี เมืองสรรคบุรี เมืองสิงห์บุรี เมืองนครชัยศรี เมืองธนบุรี และเมืองมะริดเข้าร่วมศึกครั้งนี้ด้วย
.
และความในเอกสารกฎหมายตราสามดวง ปี พ.ศ.2302 ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ยังได้กล่าวถึงชื่อนามเมืองชัยนาท มโนรมย์ และเมืองแพรก เรียกนามว่า “เมืองไชยนาฏบุรีย มะโนรม และเมืองสรรค์บุรีย” ครับ
.
--------------------
*** เมื่อกลุ่มชนรามัญ/ทวารวดีเดิม ได้ทำสงครามเข้าช่วงชิงอำนาจคืนจากกลุ่มราชสำนักลูกครึ่งเขมร/บายน-พระปิถุ ที่มีอิทธิพลในภาคกลางและตะวันตกจนถึงประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นการเริ่มต้นรัฐสุพรรณภูมิ ราชสำนักเชื้อสายทวารวดีเดิมที่นิยมในคติพุทธศาสนาแบบเถรวาทลังกาวงศ์/รามัญนิกาย ขึ้นเป็นครั้งแรก (ก่อนขยายอิทธิพลลงไปทางใต้ เข้าโจมตีทำลายเมืองสุวรรณปุระและเมืองในจักรวรรดิบายนเดิมไปจนถึงเมืองเพชรบุรี) พระมหาธาตุเจดีย์แห่งเมืองแพรกจึงได้ถูกสร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมนิยมแบบรัฐสุพรรณภูมิ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากรัฐมอญหริภุญชัย/พุกาม เป็นศูนย์กลางนคร (คามวาสี) แห่งแรกของรัฐสุพรรณภูมิ โดยมีเจดีย์วัดพระแก้วเมืองสรรค์ เป็นพระมหาธาตุศูนย์กลางของเขตอรัญวาสีทางทิศใต้นอกตัวเมือง
พระมหาธาตุเจดีย์เมืองแพรก วัดมหาธาตุสรรค์บุรี มีฐานล่างสุดเป็นผังแผนสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานบัวลูกฟัก 2 เส้นที่ท้องไม้ ฐานชั้นที่สองเริ่มจากฐานเขียง 2 ชั้นรองรับท้องไม้คาดด้วยลูกแก้วอกไก่ 2 เส้น ระหว่างลูกแก้วประดับด้วยปูนปั้นรูปสี่เหลี่ยม 22 ช่อง มุมของฐานชั้นสองทำย่อมุมทั้ง 4 มุมครับ
.
จากภาพถ่ายเก่าได้แสดงให้เห็นว่า เหนือชั้นฐานขึ้นไปเป็นชั้นเรือนธาตุผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสทรง “ปราสาท” แบบเดียวกับวัดพระแก้วเมืองสรรค์ มีซุ้มใหญ่ด้านหน้า ประดับซุ้มพระพุทธรูปยืนมีหน้าบันเกือกม้า ด้านบนสุดเป็นทรงระฆังชะลูด ซากที่พังทลายก่อนบูรณะได้แสดงแสดงให้เห็นแกนก่ออิฐเป็นเอ็นรูปกากบาท 8 เส้น ด้านทิศตะวันออกมีการก่อบันไดลาดชันจากพื้นขึ้นไปถึงส่วนด้านบน (ซึ่งอาจเป็นการก่อขึ้นใหม่ภายหลัง) ครับ
.
-----------------------
*** ประมาณปี พ.ศ. 2533 ได้มีการขุดพบ “พระบรมสารีริกธาตุ” ภายในกรุของพระมหาธาตุเจดีย์แห่งเมืองแพรกศรีราชา ถูกบรรจุไว้ในองค์เจดีย์ทองคำจำลองขนาดเล็ก ร่วมกับหินกึ่งอัญมณี ใส่ไว้ในช่องรูกลมของกล่องหินทรายมีฝาปิด ลักษณะเป็นพระบรมสารีริกธาตุ (สมมุติ) ขนาดเม็ดข้าวสาร สีใสแบบควอทซ์และพลอยดอกตะแบก นับได้ 24 พระองค์ ทางวัดได้นำมาประดิษฐานไว้ในโถแก้ว ภายในบุษบกตู้กระจก ชั้นสองของอาคารพิพิธภัณฑ์ของวัด 
.
*** พระเจดีย์ทองคำทรงลอมฟาง ไม่มีบัลลังก์และปล้องไฉน ตามแบบอิทธิพลของเจดีย์พุกาม มีอายุทางศิลปะประมาณต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 19  สอดรับกับพระเครื่องที่บรรจุร่วมในกรุ ทั้งพระปางลีลาแบบรามัญนิกาย พระหูยาน และพระร่วงนั่งซุ้ม แบบนิกายกัมโพช (ละโว้) ที่มีอายุเวลาร่วมสมัยกันครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น