วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

มหาธาตุเชลียง ศรีสัชนาลัย

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ซุ้มประตูยอดปราสาทเฟื้อง” มหาธาตุเชลียง ศรีสัชนาลัย ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหน้าบายน
“ซุ้มประตูยอดปราสาทเฟื้อง” วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง/วัดพระปรางค์หรือวัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง  ทางตะวันออกของเมืองโบราณศรีสัชนาลัย/เชียงชื่น เป็นซุ้มประตูศิลาแลงที่ดูแปลกตาแตกต่างไปจากซุ้มประตูวัดโบราณอื่น ๆ ที่พบในรัฐสุโขทัย ด้วยเพราะมีการใช้แท่งหินศิลาแลงขนาดใหญ่ 2  ชิ้นยกขึ้นวางเป็นคานระหว่างเสาศิลาแลงขนาดใหญ่ 3 ต้น ดูจากการบากแต่งหินแล้วคงต้องใจทำเป็นหลังคาวิหาร โดยบากเป็นหน้าบันสามเหลี่ยมแบบซ้อนชั้นจำลองตามรูปหลังคาเครื่องไม้ ปลายหินที่สลักเป็นรูปสามเหลี่ยมเคยมีการวางหิน “ป้านลมที่มียอดแหลมชะลูด” ปั้นปูนประดับเป็นรูปราหูอมจันทร์ (อย่างที่คงเหลืออยู่ชิ้นหนึ่งทางทิศใต้ในปัจจุบัน) วางประกบทับอยู่ทั้ง 4 หน้าบัน ตรงกลางวางหินฐานสามเหลี่ยมจั่วขนาดใหญ่ครอบประกบเข้ากับสันหลังคาจำลอง ทิ้งน้ำหนักทับบนคานทั้ง 2 เพื่อกดล็อคตรงรอยต่อระหว่างคานหินกับเสารองรับด้านล่าง โดยด้านบนทำเป็นเรือนยอดทรงปราสาท
.
รั้วกำแพงของวัด (ส่วนตะวันออก) ยังใช้แท่งหินศิลาแลงทรงกระบอกขนาดใหญ่ปักเรียงชนกัน โดยวางหินทรงลาดหลังคาทับหลังอยู่ด้านบน รวมความสูงประมาณ 2 เมตร ซึ่งการสร้างซุ้มประตูและกำแพงรั้วด้วยหินศิลาแลงขนาดใหญ่ที่มีความหนาและแข็งแรงนี้ อาจมีเหตุผลเพื่อการป้องกันต้นไม้ใหญ่และเศษสวะที่ไหลมาในช่วงฤดูน้ำหลาก (รุนแรง) ไม่ให้หลุดเข้าไปกระแทกกับสิ่งก่อสร้างภายในกำแพงครับ 
.
*** ชื่อนาม “ปราสาทเฟื้อง” มาจากคำเรียกเครื่องบนประดับตกแต่งหลังคาในงานสถาปัตยกรรมล้านนา  หมายถึง “ปราสาทย่อขนาด/ปราสาทขนาดเล็ก/ปราสาทจำลอง/ช่อฟ้า” ที่นิยมตั้งประดับอยู่กลางสันหลังคาวิหาร ในความหมายของเขาพระสุเมรุหรือปราสาทไพชยนต์ อันเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลในคติพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท   
.
รูปแบบสถาปัตยกรรมของปราสาทเฟื้อง อาจพิจารณาได้จากซุ้มประตูด้านตะวันตกที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็น “เจดีย์แบบเรือนธาตุยอดบัวตูม” ตามความนิยมของรัฐสุโขทัย ที่เริ่มต้นในสมัยพญาฦๅไทย/ลิไท ตามอิทธิพลรูปทรงเจดีย์แบบนิกายละโว้/กัมโพชสงฆ์ปักขะ  มุม 4 ด้านประดับด้วยบัวกาบ (กลีบขนุน) แบบเตี้ย   ยอดปราสาทเฟื้องฝั่งตะวันออก ยกเก็จซุ้มบัญชรเฉพาะชั้นเรือนธาตุ มีรูปบุคคลสวมเครื่องประดับ พระหัตถ์ทั้งสองวางลงบนพระเพลา (ไม่ใช่ปางสมาธิหรือมารวิชัย) เหนือขึ้นไปหน้ากระดานไม่ยกเก็จ โกลนเป็นรูปดอกบัวตูมแบบเดียวกับฝั่งตะวันตก ไม่ใช่ทรงยอดวิมานแบบปราสาท ปูนปั้นประดับทั้งที่หน้าบันและกาบล่าง /บัวกาบ/กลีบขนุน แสดงลวดลายตามแบบล้านนา (โดยเฉพาะลายเม็ดอัญมณี มีรูตรงกลาง วางห่างไม่ติดกัน) สลับกับลายดอกซีกดอกซ้อน/ประจำยาม และ รูปหน้าบุคคลขนาดใหญ่ 4 ด้าน ตามศิลปะแบบสุโขทัย (อิทธิพลงานช่างเขมรในรัฐสุโขทัยเดิม) ครับ
.
*** ความหมายของรูปบุคคล 4 หน้าบนยอดบัวตูม หมายถึงสวรรค์ชั้นชั้นโสฬสพรหมและอรูปภูมิ ที่อยู่ยอดบนสุดตามวรรณกรรม “เตภูมิกถา/ไตรภูมิกถา/ไตรภูมิโลกวินิจฉัย/ไตรภูมิโลกสัณฐาน” รูปบุคคลนั่งในซุ้มบัญชร คือ “พระจตุโลกบาล/จตุมหาราชิกา (Cātum-Lokapala /Cātummahārājika) บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาซึ่งเป็นชั้นแรกของแดนเทวภูมิ เรียกว่า “ชั้นฉกามาพจร/จาตุม” ที่มีอยู่ 6 ชั้น ตั้งอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ/สิเนรุราช ประกอบด้วยท้าวธตรฐราช มีบริวารเป็นคนธรรพ์ เมืองตะวันตกมีท้าววิรูปักษ์ ปกครองเหล่าครุฑและนาค เมืองทิศใต้มีท้าววิรุฬหกราช ปกครองเหล่ายักษ์กุมภัณฑ์ (เป็นยักษ์ท้องใหญ่มีอัญฑะเหมือนหม้อ) เมืองทางทิศเหนือ มีท้าวไพศรพณ์มหาราช ปกครองเหล่ายักษ์และรากษส 
.
ฐานล่างประดับปูนปั้นด้วยรูปเทวดาแสดงอัญชุลี และนางฟ้าแสดงการร่ายรำ หมายถึงชั้นเทวภูมิ/ฉกามาพจรเดียวกับพระจตุโลกบาล ที่อยู่ของเหล่าเทวดาและนางฟ้า เหนือแดน “มนุสสภูมิ/มนุษยภูมิ” และ “อบายมุขภูมิ” ครับ
.
*** รูปแบบสถาปัตยกรรมและงานศิลปะของปราสาทเฟื้อง จึงสอดรับกับคติ “ไตรภูมิกถา” ในช่วงยุคพรฺญาฦๅไทย/พรฺญาลิไท อย่างชัดเจน มิได้เกี่ยวข้องกับยอดวิมานที่มีพระพัตร์ 4 ด้านแบบบายน ถึงจะมีความคล้ายคลึงกันทางศิลปะก็ตามครับ
.
เมื่อพิจารณาลวดลายปูนปั้นประดับรูปราหูอมจันทร์เหนือรวยตัวนาคกลางจั่วและแท่งสอบแหลม แสดงให้เห็นรูปแบบการประดับซุ้มบัญชรชั้นซ้อนของเจดีย์วัดป่าสัก เมืองโบราณเชียงแสน ที่วางรูปราหูอมจันทร์ไว้กลางหน้าจั่ว โดยมี  “ใบเพกากลีบยาว” หรือ “ซุ้มเคล็ก” (Clec) แบบพุกาม ประดับเป็นยอดแหลมอยู่ด้านบนไม่แตกต่างกัน ในขณะที่รัฐสุโขทัยจะนิยมหน้ากาล/เกียรติมุขคายมาลัยแบบลังกา
.
การวางปราสาทเฟื้องกลางสันหลังคาวิหาร เครื่องแต่งกายและรัศมีของรูปเทพพนม นางฟ้าร่ายรำ รูปเทวดาประดับหัวเสา ลายกรอบกลมหยักใน (กรอบกระจก)และลายกรอบสามเหลี่ยมแบบ“หัวหยู่อี้” บนเฟื่องอุบะ ลวดลายปูนปั้นและรูปทรงของกลีบขนุนแบบกาบประดับมุม ก็ล้วนแต่แสดงรูปแบบงานศิลปะนิยมแบบล้านนาที่ผสมผสานเข้ามาครับ
.
ประกอบกับความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างรัฐสุโขทัยและรัฐล้านนาในสมัยมหาธรรมราชาฦๅไทย/พรฺญาลิไท กับ พรฺญากือนา ที่เชื่อมความสัมพันธ์ด้วยการส่งพระสุมนเถระขึ้นไปเผยแพร่พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์/รามัญนิกาย จนเกิดเป็นวัดและนิกายสวนดอกขึ้นในเชียงใหม่
.
*** ซุ้มประตูยอดปราสาทเฟื้อง มหาธาตุเชลียง จึงควรอาจมีอายุการสร้างอยู่ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นงานสถาปัตยกรรมเจดีย์ยอดดอกบัวตูมแบบสุโขทัยที่สอดรับกับคติไตรภูมิกถา โดยได้รับอิทธิพลจากคติและงานศิลปะแบบล้านนา (พุกามและจีน) เข้ามาผสมผสานอย่างชัดเจนครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น