วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ปราสาทเขาน้อยสีชมพู

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
ทับหลังศิลปะก่อนเมืองพระนครที่ “ปราสาทเขาน้อยสีชมพู” จังหวัดสระแก้ว 
.
.
.
“ปราสาทเขาน้อยสีชมพู”  ปราสาท 3 หลัง เรียงตัวไปตามแนวทิศเหนือ/ ใต้  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก บนยอดเขาน้อย ในเขตบ้านหมู่ 1 ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 12 กว่ากิโลเมตร จารึก (กรอบประตู) เขาน้อย (K.506) อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตและเขมรโบราณ ระบุปีมหาศักราชที่ 559  หรือประมาณปี พ.ศ. 1180  ถือเป็นศักราชที่พบจากจารึกโบราณ ที่มีความเก่าแก่มากที่สุดในประเทศไทย 
.
ปราสาทก่ออิฐหลังแรกที่สร้างขึ้นบนเขาน้อย เป็นปราสาทแบบหลังเดี่ยวตามคติไวษณพนิกาย (ดังข้อความสรรเสริญพระวิษณุที่พบจากจารึก) แต่ถึงแม้ว่าในจารึกจะกล่าวถึงพระนามของพระเจ้าศรีภัทรวรมัน กษัตริย์แห่งรัฐ “อีศานปุระ” (Īśānapura) หรือ “สมโปร์ไพรกุก” (Sambor Prei Kuk) ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12 แต่ข้อความในจารึกก็ระบุเวลาในสมัยของพระเจ้าอีศานวรมันที่ 1 ปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ไว้อย่างชัดเจนครับ
.
*** ปราสาทเดี่ยวหลังแรกที่เขาน้อยสีชมพู จึงควรมีอายุการสร้างในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ตามที่ระบุเวลาในจารึก ซึ่งก็สอดรับกับรูปศิลปะแบบสมโปร์ไพรกุกบนทับหลังของปราสาทประธานหลังกลาง ที่ปฏิสังขรณ์/สร้างปราสาทประธานขึ้นใหม่ในตำแหน่งเดิมช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ขนาดความยาวของทับหลังจึงไม่สอดรับกับขนาดของกรอบประตู เพราะนำทับหลังจากปราสาทหลังเก่ามาใช้ใหม่ 
.
ต่อมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13  ได้มีการขยายเป็นปราสาท 3 หลัง โดยปราสาททางทิศเหนือมีการแกะสลักทับหลังขึ้นใหม่ 3 แผ่น โดย 2 แผ่นแกะสลักตามขนบการจัดวางรูปประกอบแบบศิลปะสมโปร์ไพรกุกเดิมนำมาประดับที่ประตูหลอกทิศเหนือและใต้ ส่วนซุ้มประตูด้านหน้าและประตูหลอกด้านหลังแกะสลักทับหลังตามศิลปะแบบไพรกเมง (Prei kmeng) มีความยาวเท่ากับกรอบประตู แต่สั้นกว่าทับหลังแบบสมโบร์ไพรกุกเดิมครับ     
.
ทับหลังจากปราสาทเขาน้อยสีชมพู แสดงแบบแผนการจัดวางองค์ประกอบตามศิลปะแบบสมโบร์ไพรกกุ/อีศานปุระกับศิลปะแบบไพรกเมง ที่ซ้อนทับเวลาความนิยมกันในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ตรงกับช่วงเวลาที่ปรากฏในจารึก  โดยทับหลังแบบสมโบร์ไพรกุกจากปราสาทประธาน (ตัวปราสาทสร้างขึ้นในภายหลัง) ยังคงนิยมแบบรูปตัว ม ก ร  มีเทพเจ้า/นักรบ/ทวารบาลนั่งอยู่ด้านบน ตามแบบศิลปะ “ถาลาบริวัตร/ธาราบริวัต ”(Thala Boriwat Style) ในยุคก่อนหน้า  ตัว ม ก ร ชูงวง อ้าปากเห็นเขี้ยวและฟัน มีหางเป็นกระหนกใบขดห้อยสองม้วน ยืนบนแท่นฐาน/ยกเก็จ (เชื่อมต่อตรงตำแหน่งกับเสาประดับกอบประตู/เสารองรับน้ำหนักทับหลังที่อยู่ด้านล่าง) เหมือนกันทั้งสองฝั่ง คายแถบเส้นคาดออกมาเป็นวงโค้งเข้าหากัน 4 ขยัก ในความหมายของการสำรอกน้ำศักดิ์สิทธิ์ สะพานสายรุ้ง/ความอุดมสมบูรณ์ ประดับลายลูกปัดอัญมณีและดอกไม้   โดยมีพุ่มช่อดอกไม้ประดับลายลูกปัดอัญมณีในเส้นลวดกลมรี 3 ช่อ ตรงตำแหน่งจุดขยัก พุ่มช่อตรงกลางเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ รูปม้าในกรอบด้านข้างทั้งสองฝั่งหมายความถึงพระอาทิตย์และพระจันทร์ ด้านบนเป็นรูปดอกไม้แตกพุ่มกระหนกกับดอกไม้ 8 กลีบ วางสลับห่างกัน  ใต้แถบเส้นแถบโค้งแกะสลักเป็นอุบะมาลัยสลับกระหนกใบห้อยทิ้งยอดแหลมลงมา ตรงกลางเป็นพวงมาลัยใหญ่มีพุ่มแผ่ออกที่ปลาย คอสอง/ท้องไม้ด้านล่างยุบเข้าไปสลักเป็นลายกระหนกใบขดสลับลายดอกไม้
.
ทับหลังอีก 2 แผ่นของปราสาทหลังทิศเหนือซ้อนเวลากับศิลปะแบบไพรกเมง ยังคงวางองค์ประกอบเป็นแผ่นยาวแบบทับหลังสมโบร์ไพรกุก มีลวดลายเลียนแบบทั้งหมด แต่ปรากฏรูปศิลปะใบไม้แบบไพรกเมงเข้ามาผสมผสาน คอสองด้านล่างแคบลง สลักลายดอกไม้กลีบวางสลับห่างกัน โดยแผ่นหนึ่ง (ประตูหลอกทิศเหนือ) ยังสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระอาทิตย์และพระจันทร์ทรงม้าในช่อพวงดอกไม้ทรงกลมรีบนแถบโค้งตามแบบเดิม แต่อีกแผ่นหนึ่ง (ประตูหลอกทางทิศใต้) เปลี่ยนเป็นรูปหงส์ (ลายนิยมในยุคไพรกเมง) หันหน้าตรงและหันข้างเข้าหากันครับ  
.
ทับหลังซุ้มประตูหน้าทิศตะวันอออกและทับหลังด้านตะวันตก (ประตูหลอก) ของปราสาททางทิศเหนือ แสดงรูปศิลปะและการจัดวางแบบไพรกเมงอย่างชัดเจน แผ่นหินจะสั้นตามขนาดกรอบประตูของปราสาทที่แคบลง แต่ขยายแผ่นกว้างกว่าเดิม ไม่นิยมใช้รูปศิลปะตัว ม ก ร ทับหลังด้านหน้าเปลี่ยนมาเป็นรูปบุคคล (เทวดา) เหาะหันเข้าหากึ่งกลาง แสดงอัญชลีบนฐานที่มีการประดับซุ้มบัญชรขนาดเล็ก (รูปเทวดาเหาะน่าจะได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปแบบทวารวดี/อานธระเพียงแผ่นเดียวในประเทศไทย ไม่พบในเขตกัมพูชา) ยังคงใช้แถบโค้ง ทิ้งอุบะสังวาลมาลัยและประดับพวงดอกไม้กลมรี แต่เป็นแถบตรงไม่มีขยักโค้ง เปลี่ยนปลายแถบโค้งเป็นการตวัดเข้าเป็นพุ่มใบขด (เหมือนคาดผม) ประดับด้วยลายดอกไม้มีกลีบและกระหนกใบไม้ทั่วแผ่น ส่วนแผ่นด้านหลังปราสาท วางปลายแถบม้วนโค้งไว้บนฐาน มีรูปสิงห์ทะยานขนาบอยู่ด้านข้าง (แกะสลักไม่เสร็จ) เพิ่มพวงดอกไม้กลมบนแถบเป็น 5 วง ใส่รูปนกและหงส์  (วงตรงกลางสลักเป็นรูปหงส์หันหน้าตรง) ประกอบลวดลายดอกไม้กลีบและกระหนกใบไม้
.
*** ทับหลังในยุคก่อนเมืองพระนครที่จากปราสาทเขาน้อยสีชมพู หาพบได้ไม่มากนักในประเทศไทย ปัจจุบันตั้งจัดแสดงอย่างสวยงามที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี  โดยทำรูปจำลองไปจัดแสดงไว้ที่ตัวปราสาทเขาน้อยสีชมพูครับ 
.
.
*** มีจังหวะดี ๆ ในต้นปีหน้า EJeab จะพาไปเที่ยวชมแบบมโนวิทยากันครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น