วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2564

วัดอาทิต้นแก้ว

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“วัดอาทิต้นแก้ว”  ความขัดแย้งระหว่างนิกายป่าแดงและนิกายสวนดอก ที่เมืองโบราณเชียงแสน
ร่องรอยการกำเนิดของเมืองเชียงแสนโบราณริมฝั่งแม่น้ำโขง ทั้งจากชินกาลมาลีปกรณ์ ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 และตำนานพื้นเมืองเชียงแสน อธิบายได้ว่า ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ได้เริ่มมีการสร้างศาสนสถานทางพุทธศาสนาขึ้นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกในยุคสมัยพระญาแสนพู-พระยาราชแสนภู ที่วัดพระเจดีย์หลวงและวัดป่าสัก ต่อเนื่องมาในสมัยพญากือนา พระญาแสนเมืองมา พญาสามฝั่งแกน พระเจ้าติโลกราช (พระญาติโลกราช) มาจนถึงพระเมืองแก้วในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21  ปรากฏนิกายพุทธศาสนา 3 กลุ่ม ทั้งคณะสงฆ์นิกายป่าแดง-สีหล (วัดแภะป่าทึ – หนป่าแดง) จากอิทธิพลของนิกายสีหลภิกขุ-กัลยาณีภิกขุในลังกา คณะสงฆ์สำนักวัดบุปผาราม (สวนดอก) ในสายพระสุมนเถระ-รามัญนิกาย และคณะสงฆ์พื้นเมืองเดิม (หริภุญชัย-กัมโพช) ในเมืองเชียงแสน
.
ความขัดแย้งระหว่างนิกายป่าแดงและนิกายสวนดอก ใน “ตำนานมูลศาสนา” อาจเริ่มต้นในสมัยพญาสามฝั่งแกน ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อพระสงฆ์กลุ่มหนึ่ง นำโดย “พระญาณคัมภีร์” ได้เดินทางไปศึกษาพระธรรมวินัยและอุปสมบทใหม่ในเรือขนานที่ท่าเรือยาปา แม่น้ำกัลยาณี (Kelaniya River) ทางตะวันตกของเกาะลังกา และได้เดินทางกลับมาเผยแพร่พุทธศาสนาแบบลังกาที่เรียกว่า “นิกายสีหลภิกขุ” หรือ “นิกายกัลยาณีสีมา” เมื่อเดินทางกลับจึงได้ตั้งพระอารามขึ้นใหม่ที่วัดป่าแพะตึง (วัดป่ากวาง) เชิงดอยสุเทพ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดรัตตวนาราม เกิดนิกาย “ป่าแดง” ที่เน้นการประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด  ส่วนนิกายสวนดอก ที่นิยมในยุคก่อนหน้านั้น สืบทอดมาจากฝ่ายรามัญนิกาย-อรัญวาสีเดิม เน้นการบูชาวัตถุรูปเคารพและการสร้างพระอารามครับ   
.
นิกายป่าแดง (ใหม่) มองว่า รามัญนิกายของฝ่ายสวนดอกล้าหลัง พระวินัยหย่อนยาน สวดภาษาบาลีผิดเพี้ยน เน้นการสร้างศาสนวัตถุ กราบแต่พระพุทธปฏิมา แต่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอันบริสุทธิ์ ความขัดแย้งระหว่างพระสงฆ์รุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ ได้ทวีความรุนแรง ต่างฝ่ายต่างไม่กระทำสังฆกรรมร่วมในอุโบสถเดียวกัน เกิดการโต้เถียงในพระธรรมวินัยจนเลยเถิดไปในเรื่องอื่น ๆ ถึงขั้นลงไม้ลงมือ เกิดการทำลายพระพุทธรูปฝ่ายสวนดอกในเมืองเชียงใหม่ 
ถึงพญาสามฝั่งแก่น จะทรงโปรดนิกายป่าแดง และการประลองความรู้-พระธรรมวินัยที่ฝ่ายป่าแดงเหนือกว่าฝ่ายสวนดอกในทุกด้าน แต่กระนั้นผู้คนในเมืองเชียงใหม่จำนวนมากยังคงให้ความนิยมและศรัทธาในนิกายสวนดอกกำลังรวบรวมผู้คน ซึ่งจะเป็นภัยร้ายแก่ผู้ศรัทธานิกายป่าแดงจนถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมือง พญาสามฝั่งแก่นจึงขอให้ฝ่ายนิกายป่าแดงที่มีจำนวนน้อยกว่าย้ายออกไปจากเมืองเชียงใหม่ กระจายตัวไปตามหัวเมืองล้านนา ทั้งเชียงราย พะเยา ลำปาง ขึ้นไปถึงเมืองเชียงตุง โดยมีคณะนิกายป่าแดงกลุ่มหนึ่งได้เข้ามาปักหลักที่เมืองเชียงแสนครับ  
.
ปลายพุทธศตวรรษที่ 20 พระญาติโลกราช ที่ทรงโปรดนิกายป่าแดง-กัลยาณีภิกขุ ได้ใช้กุศโลบาย สร้างความประนีประนอม ลดความขัดแย้งบาดหมางในอดีตระหว่างสองนิกาย ด้วยการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นที่วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด)  บังคับให้ทั้งสองนิกายกลับมาร่วมทำสังฆกรรมตามพระธรรมวินัยที่ได้ชำระขึ้นใหม่ร่วมกัน
 .
------------------------------
*** วัดอาทิต้นแก้ว ตั้งอยู่ภายในเมืองโบราณเชียงแสน เจดีย์ประธานมีเรือนทรงปราสาทแบบพุกาม-ล้านนา    รองรับองค์ระฆังเป็นชุดฐานบัว ผังแปดเหลี่ยม 2 ชั้น แต่ละชั้นมีท้องไม้กว้าง คาดเส้นลวดลูกแก้วไก่ 2 เส้น รัดด้านบนและล่าง รองรับองค์ระฆัง ซึ่งเป็นรูปแบบเจดีย์ล้านนาที่นิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ครับ
ในพงศาวดารโยนกกล่าวว่า วัดอาทิต้นแก้วสร้างในสมัยพระเมืองแก้ว เมื่อจุลศักราช 877 (พ.ศ.2058) “....เริ่มลงมือขุดรากในวันศุกร์ เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุนถึง ณ วันศุกร์ เดือน 5 แรม 1 ค่ำ ก่อฐานเจดีย์กว้าง 15 วา สูง 1 เส้น 5 วา แล้วให้ผูกเรือขนานในแม่น้ำของ (โขง) ชุมนุมพระสงฆ์ 108 รูป มีพระราชาคณะวัดโพธารามเมืองเชียงใหม่เป็นประธานกระทำสังฆกรรม แล้วบวชภิกษุอื่นอีกต่อไป รวมเป็นภิกษุบวชใหม่ 1,010 รูป แล้วเสด็จจากเมืองเชียงแสนมาประทับเมืองเชียงราย....”   
.
ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 ก็ยังปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับวัดอาทิต้นแก้วว่า “...พระเมืองแก้วลูกพระเมืองยอด ได้กินเมืองเชียงใหม่ได้ 2 แล้ว ท่านก็เสด็จขึ้นมาอยู่กระทำบุญให้ทานยังเมืองเงินยางเชียงแสนที่นี้แล ท่านก็มีปราสาทสัทธาในบวรพุทธศาสนามากนัก ...ศักราชได้ 876 ตัวปีกาบเสด (พ.ศ.2057) ท่านสร้างวัดหลังหนึ่งในเวียงเชียงแสนที่นั้น วิหารกว้าง 7 วา สูง 9 วา สร้างเจดีย์กว้าง 4 วา สูง 12 วา บรรจุธาตุย่อย 868 พระองค์ สร้างธรรมปิฏก 84,000 พระธรรมขันธ์สำเร็จแล้วบริบูรณ์ จึงใส่ชื่อวัดอาทิตย์แก้วนั้นแล...”
.
เจดีย์ประธานเรือนปราสาทล้านนาในยุคพระเมืองแก้ว ก่อครอบเจดีย์ประธานองค์เดิมทรงเรือนปราสาทแบบเดียวกัน แต่มีขนาดเล็กกว่า ยกเชิงบาตรแบบยอดวิมานปราสาทขึ้นไป 2 ชั้น มียอดเป็นหม้อน้ำ “กัลปลตา” หรืออมลกะ ที่สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20  ตามอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมแบบเจดีย์ยอดดอกบัวตูมของรัฐสุโขทัย ในคติรามัญนิกายที่นิยมในราชสำนักสุโขทัยในยุคพญาลิไท (ฦๅไทย-ลิเทยฺย)  ซึ่งพระญากือนา ได้อาราธนาพระมหาสุมนเถระจากกรุงสุโขทัย มาเผยแพร่พุทธศาสนฝ่ายรามัญนิกาย จนเกิดนิกายสวนดอกขึ้นในเมืองเชียงใหม่ครับ
.
เจดีย์องค์เดิมของวัดอาทิต้นแก้ว จึงถูกสร้างขึ้นในนิกายสวนดอก ยุคพระเจ้ากือนา  ซึ่งต่อมาราชสำนักล้านนาเปลี่ยนไปนิยมในนิกายป่าแดง จนได้มีการสังคยานาพระธรรมวินัยขึ้นใหม่ในยุคพระญาติโลกราช และเมื่อพระเมืองแก้ว ได้นำนิกายมหาโพธาราม ที่เกิดขึ้นหลังจากการสังคยานา แต่ยังคงรายละเอียดตามแบบสีหลภิกขุ – ป่าแดงเป็นส่วนใหญ่ มาใช้ปกครองคณะสงฆ์ในเมืองเชียงแสน  
.
*** คติมหาโพธารามแห่งอาณาจักร ที่เกิดขึ้นจากการตกลงระหว่างนิกายในการสังคยานาครั้งใหม่ แต่ยังคงมีกลิ่นอายแห่งนิกายสีหลภิกขุ-ป่าแดง อย่างเข้มข้น จึงได้ถูกนำมาสร้างเป็นพระเจดีย์ทรงล้านนาครอบทับเจดีย์ประธานองค์เดิมของฝ่ายรามัญนิกาย-นิกายสวนดอก สิ้นสุดความขัดแย้งระหว่างสองนิกายที่เมืองเชียงแสนครับ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น