วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ขวานจะงอยปากนก

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ขวานจะงอยปากนก” อาวุธเหล็ก ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ร่องรอยการใช้เครื่องมือเหล็ก (Iron Tools) ที่ผ่านกระบวนการถลุง การตีขึ้นรูปและการหล่อมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้เองในภูมิภาคลุ่มน้ำเจ้าพระยาและใกล้เคียง อาจเริ่มต้นขึ้นครั้งแรก ๆ ในช่วง 2,800 ปีที่แล้ว 
.
ดูเหมือนว่า เครื่องมือเหล็กทั้งประเภทเครื่องมือช่าง อาวุธและเครื่องประดับ ที่ผ่านการตีขึ้นรูปเพื่อใช้งาน ที่พบเป็นเครื่องอุทิศอยู่ในหลุมฝังศพของชุมชนโบราณ จะถูกวางรวมไว้กับเครื่องอุทิศอย่าง “ลูกปัดหินกึ่งอัญมณี”   (Semi-Precious Ancient Beads) ที่มีแหล่งวัตถุดิบและแหล่งผลิตในอินเดียและวัฒนธรรมพยู (Pyu) ในหุบเขาสาโมน  (Samon Vally) ที่นำเข้ามาโดยเหล่าพ่อค้าวาณิชและผู้คนหลากหลายทั้งนักบวช นักแสวงโชค นักผจญภัย จนไปถึงผู้อพยพ ตามเส้นทางการค้าจากอ่าวเบลกอลเข้าสู่ชุมชนโบราณในเขตที่ราบภาคกลางต่อไปยังอีสาน มาตั้งแต่ช่วงต้นพุทธกาลครับ
.
เครื่องมือเหล็กที่พบในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและใกล้เคียง จึงอาจเป็นการนำเข้าภูมิปัญญา-เทคโนโลยีการโลหกรรมจากชาวอินเดียโพ้นทะเล ที่มาพร้อมกับเดินทางเข้ามาเพื่อทำการค้า การแสวงหาทรัพยากร จนถึงการตั้งถิ่นฐานขึ้นเป็นชุมชนอาณานิคม-สถานีการค้าขึ้นในภูมิภาค ในขณะที่โลหกรรมการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ด้วยโลหะประเภทสำริด (Bronze) จะเป็นภูมิปัญญาจากอิทธิพลของกลุ่มชนจากทางตะวันออก ทั้งจากยูนนาน ดองซอง ซาอูล ที่ได้เข้ามาบรรจบผสมผสานกันอย่างลงตัวในภูมิภาคนี้
.
ซึ่งในช่วง 2,500 – 2,800 ปี ยังปรากฏหลักฐานการทำเหมืองเหล็กในเขตภาคกลาง อย่างที่เขาทับควาย อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เขาแม่เหล็ก อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ แหล่งแร่เหล็กที่อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี  และแหล่งแร่เหล็กขนาดใหญ่ในอีสานใต้ที่บ้านดงพลอง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ครับ 
.
---------------------
*** “ขวานจะงอยปากนก-หัวนก” (Billhook -Falx Axe) เป็นเครื่องมือเหล็กที่น่าจะถูกใช้เป็น “อาวุธ” (Weapon) มากกว่าเครื่องมือช่างหรือเครื่องมือการเกษตร ด้วยเพราะมีรูปร่างโค้งแบบปลายแหลมโค้งจะงอยปากนก มีบ้อง-ช่องเข้าด้ามตั้งฉากกับตัวใบ (Shaft-hole Axe) ส่วนกว้างของแผ่นใบติดกับบ้องและโค้งออก ไปตวัดปลายแหลม ส่วนท้องและคอที่คล้ายหัวนกเป็นส่วนที่มีความคม ลักษณะแบบเดียวกับขวาน ที่เข้าด้ามตรงบ้องเพื่อใช้ในการ “สับฟัน” ไปข้างหน้า ส่วนแหลม (หัวนก) จะทำหน้าที่เจาะ ส่วนคอและท้อง (นก) ทำหน้าที่สับเฉือน
.
ขวานจะงอยปากนก ถูกขุดพบครั้งแรกในงานโบราณวิทยาที่บ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ในช่วงปี พ.ศ. 2523 – 2524 พบวางอุทิศอยู่ที่บริเวณส่วนปลายหน้าแข้ง-เท้าของโครงกระดูกหนึ่ง ร่วมกับเครื่องมือเหล็กอีกชิ้นหนึ่งที่มีลักษณะเป็นเครื่องมือเหล็กที่มีบ้องตรงปลายด้านหนึ่ง ตั้งฉากกับส่วนคมโค้งของปลายแผ่นใบมีดที่แผ่ออก ที่เรียกกันว่า “ขวานบ้อง” (Socketed Axe) โดยไม่มีเครื่องมือเหล็กชิ้นอื่น ๆ อยู่ใกล้เคียง เครื่องมือเหล็กทั้งสองชิ้นที่แตกต่างกันในการเข้าด้ามที่ส่วนบ้อง จึงควรเป็นเครื่องมือที่ถูกประกอบเข้าด้วยกันในด้ามจับเดียวกันครับ
.
ต่อมาได้มีการพบขวานจะงอยปากนกจากหลุมฝังศพโบราณในเขตที่ราบลอนลูกคลื่นตากฟ้า-ตาคลี ลุ่มน้ำป่าสัก เขตจังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพิจิตร พิษณุโลกขึ้นไปถึงเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ฝังอุทิศอยู่ร่วมกับขวานบ้องเป็นคู่ ๆ พร้อมกับลูกปัดหินกึ่งอัญมณีจำนวนมากพร้อมกัน ที่อาจสรุปได้ว่า ขวานจะงอยปากนกและขวานบ้องที่เป็นเครื่องมือเหล็ก เป็นภูมิปัญญาจากฝ่ายตะวันตก (อินเดีย-พยู) ที่เข้ามาพร้อมกับความนิยมลูกปัดหินกึ่งอัญมณี เป็นเครื่องมือเหล็กประเภทอาวุธ 2 ชิ้นในด้ามจับเดียวกัน โดยขวานจะงอยปากนกนั้นจะเข้าด้ามที่บ้องฝั่งด้านหนึ่ง และขวานบ้องจะเสียบไม้เข้าที่ท้ายบ้อง ปิดที่ปลายของด้ามจับ แต่ด้วยเพราะด้ามไม้ ที่อาจจะเป็นแบบด้ามสั้นหรือด้ามยาวผุพังไป จึงพบเพียงแต่เครื่องมือเหล็กทั้งสองวางอยู่ใกล้เคียงกันเท่านั้น            
.
*** ขวานจะงอยปากนก จึงเป็นอาวุธเหล็กรุ่นแรก ๆ (เอาไว้ฟัน-เจาะ-เฉาะ-เฉือน) ในช่วงปลายยุคเหล็กของภูมิภาคลุ่มน้ำเจ้าพระยาและป่าสัก จากอิทธิพลของฝ่ายอินเดีย ในช่วง 2,500 ปีที่แล้วครับ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น