วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ธรรมจักรศิลาบ้านกงรถ ห้วยแถลง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
อาจเป็น “พระธรรมจักร” ที่หายไปจากบ้านกงรถ ห้วยแถลง ? 

ข้อมูลกรมศิลปากร ระบุว่า สมเด็จเจ้าพระกรมพระนริศรานุวัติวงศ์ ได้เคยเสด็จไปทอดพระเนตรซากสถูปกลางเมืองโบราณบ้านกงรถ ทรงพบเห็น “ธรรมจักรศิลา” (Dhammachakra) อยู่บนเนินดิน การพบในครั้งนี้ อาจอยู่ในช่วงที่เสด็จสำรวจเส้นทางรถไฟ ที่นครราชสีมา ระหว่างปี พ.ศ.2430-2433 ครั้งยังทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ สอดคล้องกับความทรงจำของผู้คนบ้านกงรถ ชุมชนอพยพของชาวไทเบิ้งหรือไทยโคราชจากเขตเมืองพิมาย และกลุ่มชาวไท – ลาว ที่เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมืองประมาณ 160 ปีที่แล้ว จะเล่าต่อกันมาว่า แต่เดิมนั้นชาวบ้านที่เข้ามาหาของป่าในยุคแรก ๆ ได้มาพบเห็นกงล้อหินบนเนินสูง  เมื่อเข้ามาจับจองที่ดินตั้งบ้านเรือนในเนินเมืองเก่า จึงเรียกกลุ่มบ้านที่อยู่ใกล้เนินกลางเมืองว่า “บ้านกงรถ” ทั้งยังเคยพบโกรกหินบดยา เศษภาชนะดินเผาและเศียรพระพุทธรูป เศษเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับที่เป็นโลหะอยู่โดยรอบเนิน แต่กงล้อหิน-ธรรมจักรหินที่เคยมีอยู่นั้นก็ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งต่อมาได้มีสำนักสงฆ์เข้ามาใช้ประโยชน์ก่อสร้างอาคารกุฏิซ้อนอยู่บนเนินสถูปเก่า
.
ในคติชนจากนิทานพื้นบ้านอีสานใต้เรื่อง “นางอรพิม ท้าวปาจิตและท้าวพรหมทัต” ที่ดัดแปลงมาจากปัญญาสชาดก เรื่อง "ปาจิตตกุมารชาดก" เล่าในส่วนของบ้านกงรถว่า  “...เมื่อท้าวปาจิตยกขันหมาก เดินทางกลับมารับนางอรพิม ทราบข่าวที่นางจะเข้าพิธีอภิเษกกับท้าวพรหมทัต  จึงบังเกิดเป็นความโกรธ ด้วยเพราะเข้าใจผิดคิดว่านางอรพิมลืมคำมั่นสัญญา สั่งให้ไพร่ขันหมากทุบภาชนะทิ้ง ที่บ้าน "เสราะแบจาน" (บ้านทุบจาน) ส่วนสินสอดทองหมั้นก็เทให้ไหลไปตามน้ำ จึงเรียกว่า "ลำมาศ" หรือ "ลำปลายมาศ" ส่วนรถเกวียนขนของหมั้น ก็เอาไปทิ้งที่ “บ้านกงรถ” และเอาเครื่องสินสอดทองหมั้นไปทิ้งใน “ถ้ำเป็ดทอง”...”  
.
---------------------
*** “บ้านกงรถ หมู่ 1  ตำบลกงรถ  อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่ในเมืองโบราณรูปวงกลม ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางคันดินชั้นในประมาณ 550 เมตร ในยุคเริ่มแรกวัฒนธรรมภารตภิวัฒน์ ประมาณช่วงพุทธศตวรรษที่ 12  ทางทิศเหนือมีลำห้วยกงรถไหลจากทางตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ลงสู่ลำมาศ ด้านนอกเกาะเมืองยังมีร่องรอยคันดินเพื่อการจัดการน้ำล้อมรอบออกไปอีก 2 – 3 ชั้น ครับ 
.
จนถึงช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 16  จึงได้มีการสร้างแนวคันดินรูปสี่เหลี่ยมค่อมแนวลำห้วยกงรถ ติดกับคูเมืองทางทิศเหนือ ความกว้างยาวประมาณ  650 x 600 เมตร ตามแนวชั้นความสูงของระดับพื้นดินที่ลาดลงไปทางเหนือ/ตะวันออก ซึ่งเป็นรูปแบบของการจัดเก็บน้ำในระบบ “บาราย” แบบวัฒนธรรมเขมรโบราณ ที่ในช่วงฤดูน้ำ จะต้องมีการเติมน้ำจากลำห้วยจากพื้นที่สูงลงสู่พื้นที่กักเก็บของบารายที่อยู่ในระดับต่ำกว่า  
บริเวณกลางเนินเกาะเมือง มีระดับความสูงกว่าบริเวณโดยรอบ เป็นที่ตั้งซากสถูปขนาดประมาณ 10 * 10 เมตร อิฐที่ใช้ก่อสร้างเป็นอิฐขนาดใหญ่ที่มีการผสมแกลบข้าวเม็ดอ้วนป้อมจำนวนมาก ตามแบบแผนอิฐในยุคทวารวดีที่พบโดยทั่วไป ยังคงพบหลักหินเสมาหินและชิ้นส่วนแตกหักของเสมาหินแบบแผ่นขึ้นจากหินทรายเม็ดใหญ่ (Millet-seed Sandstone) และเห็นทรายสีออกแดง รวมทั้งชิ้นส่วนแตกหักของหินในตระกูลหินปูน (Limestone) ซึ่งมีลักษณะคล้ายชิ้นส่วนของ “ระฆังหิน” ที่นิยมในช่วงต้นของวัฒนธรรมทวารดีครับ
.
--------------------------------
*** ที่พิพิธภัณฑ์กีเม่ต์  (Guimet) ประเทศฝรั่งเศส มีวงล้อธรรมจักรศิลาหินทราย (สีออกแดง) ชิ้นหนึ่งระบุว่า ได้มาจากจังหวัดนครราชสีมา ปรากฏภาพในนิตยสาร Paris Worldwide เดือนกันยายน-ตุลาคม 2015 มีรูปศิลปะแบบเดียวกับธรรมจักรใหญ่ที่พบจากวัดธรรมจักรเสมาราม (วัดบ้านคลองขวาง) ทางใต้ของเมืองเสมา ที่เป็นธรรมจักรแบบ “สตัมภะ” (Dhamma-chakra Stambha – สดมภ์ แปลว่าเสาตั้ง) ประกอบร่วมกับเสาหินสูง (Pillar) หินกลุ่มบัวส่วนฐานและฐานก่ออิฐ  ในคติพุทธศาสนาแบบมหาวิหาร-ลังกา ในความนิยมของกลุ่มชนเครือข่ายวัฒนธรรมพุทธ-ทวารวดี มีอายุการสร้างในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 13
 .
ธรรมจักรหินทรายจากกีเม่ต์ อาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเกือบ 1 เมตร มีรูปร่างคล้ายล้อเกวียน ที่ตรงกลางมีดุม ไม่ฉลุแผ่นหินทำเป็นช่องเหมือนจริงของซี่ล้อ แกะสลักทั้งสองฝั่งเป็นแบบเดียวกัน โดยสลักวงดุมล้อด้วยลายกระหนกที่หมายถึงเกสรดอกบัว ล้อมรอบด้วยลายกลีบบัวรวนกำหรือซี่ล้อ 11-12 ซี่ ที่มีส่วนปลายในรูปศิลปะของเสารองรับอาคาร มีบัวยอดตวัดลายกระหนกพรรณพฤกษาออกมาด้านข้างเป็นเท้าแขน สลับกับพุ่มกระหนกใบแหลมคล้ายหอก ซ้อนด้วยมาลัยอุบะหสามเหลี่ยมออกมาจากกลางดุมล้อ หน้ากระดาน (ปัฏฏะ) ของขอบกงล้อ ล้อมรอบด้วยลายสังวาลรูปสี่เหลี่ยมอัญมณีต่อเนื่อง ลายดอกไม้ต่อเนื่องสลับตาบสี่เหลี่ยมผืนผ้าและกระหนกใบไม้เป็นสายมาลัย ด้านนอกสุดเป็นลายกระหนกใบขด (บัวรวน) ต่อเนื่อง  แต่ละลายคาดขวางด้วยเส้นลวดเรียบ ๆ ครับ
.
จุดเด่นของธรรมจักรชิ้นนี้ เทียบได้กับลวดลายของธรรมจักรใหญ่ที่เมืองเสมา คือที่โคนของวงล้อส่วนที่เชื่อมต่อกับฐานบนยอดเสาหิน สลักเป็นลายตัวสิงห์มีเขากำลังแยกเขี้ยว ที่ได้รับอิทธิพลมาจากรูปตัว “วยาละ” (Vyāla - สิงห์มีเขา) ล้อมรอบด้วยกระหนกใบและใบม้วนใหญ่ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของศิลปะยุคก่อนเมืองพระนคร ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 ลายดอกไม้ต่อเนื่องก็มีลักษณะทางศิลปะที่คล้ายกับศิลปะแบบปราสาทสมโบร์ไพรกุก-ไพรกเมง  ที่ไม่นิยมลายลูกประคำอัญมณีคาดแบบทวารวดีครับ
.
ธรรมจักรหินที่พิพิธภัณฑ์กีเม่ต์ อาจเป็นธรรมจักรหินที่หายไปจากบ้านกงรถ ด้วยเพราะมีรูปแบบทางศิลปะเดียวกับที่พบจากเมืองเสมา ที่ห่างไปทางตะวันตกประมาณ 100 กิโลเมตร และยังสอดรับกับหลักฐานของซากสถูปกลางเมือง ชิ้นส่วนหินทรายและความทรงจำเรื่อง “กงล้อหิน” ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
.
*** พระสถูปกลางเมืองและพระธรรมจักร (ที่หายไป) ตามคติธรรมจักรตั้งเสาสูงเพื่อประกาศพระธรรม ในความนิยมของนิกายมหาวิหาร-อานธระของรัฐทวารวดีจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ได้เดินทางเข้ามาสู่ดินแดนอีสานใต้ ผสมผสานศิลปะลวลดายที่นิยมจากแดนโตนเลสาบทางทิศใต้ ปรากฏเป็นร่องรอยธรรมจักรแบบตั้งเสาองค์สุดท้าย ไกลสุดจากแดนตะวันตกอยู่เพียงที่เมืองโบราณบ้านกงรถเท่านั้น เพราะไม่ปรากฏพระสถูปและธรรมจักรในคตินิยมแบบทวารวดีนี้ ลึกไปในดินแดนทางตะวันออก-ใต้ ต่อลงไปอีกเลยครับ  
 เครดิต ;FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น