วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

วัดพระศรีสรรเพชญ์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระพุทธรูปประธาน” ในพระอุโบสถ วัดพระศรีสรรเพชญ์ 
จากบทความ พระเศียรของ “พระพุทธรูปประธาน” แห่งวัดพระศรีสรรเพชญ์
.
https://www.facebook.com/EJeab.Academy/posts/902119056919464
.
ได้อธิบายเรื่องราวของ “พระเศียรของพระพุทธรูปใหญ่” ที่จัดแสดงอยู่ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ที่มีหลักฐานระบุในเอกสารจัดส่งวัตถุโบราณของพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ที่ได้แจ้งรายงานส่งสิ่งของแก่ราชบัณฑิตสภา ในปี พ.ศ. 2470 เพียงว่า “....พระเศียรขุดพบที่วัดพระศรีสรรเพชญ์....” เท่านั้น 
.
*** ไม่มีหลักฐานใดก่อนหน้าหลักฐานนี้ (และภายหลัง) ที่ระบุเจาะจงว่า ได้พบพระเศียรสำริดนี้ภายใน “วิหารหลวง” หรือ “ศาลาการเปรียญ” อย่างที่ได้มีการเขียนอธิบายกันในภายหลังครับ
แนวทางหนึ่งในการศึกษาที่มาของพระเศียรสำริดแก่ทองปริศนาจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ ว่าควรเป็นพระพุทธรูปที่เคยประดิษฐานอยู่ในอาคารหลังใด (ไม่ใช่พระศรีสรรเพชญ์ ที่ระบุหลักฐานหลายชิ้นอย่างชัดเจนว่าเป็นพระพุทธรูปหุ้มทองคำแกนสำริด) จึงได้มีการคำนวณจากสัดส่วนของพระเศียรเอง มาใช้เป็นหลักฐานในการสืบหา โดยพระเศียรนั้นมีขนาดความสูงประมาณ 1.70 เมตร ส่วนพระพักตร์กว้างสุดที่ประมาณ 1.1 เมตร หากอยู่ครบทั้งกระหม่อมอุษณีษะ (Ushnisha) และพระเกตุมาลา (Ketumala) พระเศียรจะมีความสูงทั้งหมดประมาณ 2.5 - 3 เมตร 
.
ได้มีการนำขนาดของพระเศียรไปเทียบเคียงอัตราส่วนกับพระพุทธรูปในงานศิลปะอยุธยา ต่างระบุใกล้เคียงกันว่า หากเป็นสัดส่วนของพระพุทธรูปนั่ง (ปางมารวิชัย) พระพุทธรูปนี้จะมีความสูงทั้งหมดรวมประมาณ 7  เมตร พระอุระจะกว้าง 1.5 – 1.7 เมตร หน้าตักส่วนนั่งขัดสมาธิจะกว้างประมาณ 5.5 เมตร  แต่หากจะวัดอัตราส่วนแบบพระยืนก็จะมีความสูงรวมประมาณ 9.5 -10 เมตร (ไม่รวมส่วนฐาน) ครับ  
.
เมื่อนำขนาดความกว้างของส่วนหน้าตักพระพุทธรูปในอัตราส่วนที่ได้ประมาณ 5.5  เมตร มาประกอบกับการสำรวจ เปรียบเทียบกับขนาดของ “ฐานชุกชี” ก่ออิฐที่พบอยู่ภายในอาคารแต่ละหลังภายในวัดพระศรีสรรเพชญ์ก็จะพบว่า ฐานของวิหารพระโลกนาถนั้นมีฐานชุกชีกว้างประมาณ 4.4 เมตร ฐานประธานในพระที่นั่งจอมทองกว้าง 3.5 เมตร ฐานชุกชีของวิหารป่าเลยไลยก์ มีขนาดกว้าง 4.6 เมตร วิหารจัตุรมุขท้ายพระมหาเจดีย์ มีฐานชุกชีพระประธานในคูหาปีกทิศเหนือกว้าง 1.5 เมตร ทิศตะวันตกกว้าง 4 เมตร  ทิศใต้กว้าง 7.5 เมตร และทิศตะวันออก 7.5 เมตร แต่ยังคงมีซากของพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 7 เมตร เหลืออยู่ ส่วนฐานชุกชีของวิหารหลวงกว้างประมาณ 7.5 เมตร
.
*** ในการศึกษา-วัดขนาดฐานชุกชีของพระอุโบสถ ที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้เยื้องทางด้านหน้าของวิหารหลวง ปรากฏว่าฐานประธานของพระอุโบสถมีความกว้างประมาณ 6.20 เมตร และไม่ปรากฏร่องรอยว่าเคยมีการก่ออิฐถือปูนเพื่อทำเป็นพระพุทธรูปประธานเหลืออยู่ด้านบนของฐานครับ 
.
เมื่อนำภาพ CG มาทำภาพเชิงซ้อน เศียรพระพุทธรูปใหญ่ปริศนาที่มีสัดส่วนสอดรับกันกับขนาดของฐานชุกชีของพระอุโบสถได้อย่างพอดี ประกอบกับการใช้ใบเสมาจากวัสดุหินชนวนขนาดใหญ่ และหลักฐานของพุทธศิลป์ ที่มีกลิ่นอายของศิลปะรัฐสุโขทัย-พิษณุโลก สอดรับกับความนิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22  ที่ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐพิษณุโลกอย่างชัดเจนในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ 
.
*** คติการประดับ "พระอุณาโลม" (Unalome)  แก่พระพุทธรูป จะนิยมเฉพาะพระพุทธรูปสำคัญที่เป็นประธานของพระอาราม ที่เป็นปาง "มารวิชัย-ผจญมาร” (Assualt of Mara) หรือ “ภูมิสปรรศมุทรา” (Bhūmiśparṣa Mudrā) เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมหาบุรุษที่จะปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดที่สุดในช่วงของการต่อสู้กับพญามาร  เป็นคติที่นิยมใช้กับพระประธานปางมารวิชัยในพระอุโบสถเป็นอันดับแรก และอาจมีพระรูปสำคัญปางมารวิชัยในพระวิหารด้วย 
.
ซึ่งอุณาโลมรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ประดับอัญมณีตรงกลางพระนลาฏของพระเศียรปริศนา ที่มีลักษณะทางคติ-ศิลปะแบบเดียวกับพระอุณาโลมของพระพุทธชินราช ก็เป็นหลักฐานอย่างดี ที่ชี้ชัดให้เห็นถึงความสำคัญของเศียรพระพุทธรูปสำริดสีแก่ทองนี้ ว่าควรเป็นเศียรของพระประธานใหญ่ปางมารวิชัยที่เคยประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ วัดพระศรีสรรเพชญ์นั่นเองครับ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น