วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

วัดนางพญา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“วัดนางพญา” สัญลักษณ์อำนาจของอาณาจักรอยุธยา ที่เมืองศรีสัชนาลัย
ถึงแม้ว่าในยุคพระบรมไตรโลกนาถ อาณาจักรอยุทธยาจะได้สงบศึกกับพระเจ้าติโลกราช "ราชาผู้พิชิต" กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรล้านนามาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2017  ซึ่งในครั้งนั้น ฝ่ายราชสำนักอยุทธยาได้เข้าครอบครองดินแดนรัฐสุโขทัยเดิม ขึ้นไปถึงเมืองเชลียง-ศรีสัชนาลัย (เชียงชื่นหรือเมืองสวรรคโลก) กลับมาได้ทั้งหมด
.
สงครามระหว่างอาณาจักรใหญ่แดนเหนือใต้ปะทุขึ้นอีกครั้ง เมื่อพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิราช (พญาแก้วหรือพระเมืองแก้ว) กษัตริย์นักรบอีกพระองค์หนึ่งแห่งอาณาจักรล้านนา พยายามขยายอิทธิพลลงมาทางใต้ โดยหวังจะชิงรัฐสุโขทัยที่เสียไปคืนมา ฝ่ายล้านนาจึงเริ่มส่งกองทัพเข้ายึดครองดินแดนเหนือเมืองเชลียง เกิดเป็นสงครามขึ้นในปี พ.ศ.2050  แล้วยกทัพใหญ่ลงมาตีกรุงสุโขทัย ในปี พ.ศ. 2056 ซึ่งฝ่ายกรุงศรีอยุทธยาโดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐาธิราช) ได้นำทัพใหญ่ขึ้นไปป้องกันเมืองสุโขทัย ขับไล่กองทัพล้านนาให้ล่าถอยออกไปครับ
.
สงครามยืดเยื้อจนถึงปี พ.ศ. 2058 ฝ่ายอยุทธยาเริ่มได้เปรียบ สมเด็จพระรารมาธิบดีที่ 2 ได้ทรงนำกองทัพบุกทะลวงเข้าสู่อาณาจักรล้านนา จนสามารถยึดครองเมืองลำปางได้ ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ว่า “....ศักราช 877 กุนศก วัน 3 15 ค่ำ เดือน 11  เพลารุ่งแล้ว 8 ชั้น 3 ฤกษ์ 9 ฤกษ์ สมเด็จพระรามาธิบดี เสด็จไปเมืองนครลำภางได้เมือง...” 
.
การสงครามยังดำเนินต่อมาอีกนานกว่า 7 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2065 จึงเกิดการเจรจาตกลงเป็นไมตรีกัน สงครามระหว่างอาณาจักรจึงสิ้นสุดลง  ฝ่ายกรุงศรีอยุทธยาจึงได้คืนดินแดนเหนือเมืองเชลียงกลับไปเป็นของอาณาจักรล้านนาครับ
.
--------------------------------
***  ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ระบุถึงการสร้างพระมหาเจดีย์ใหญ่วัดพระศรีสรรเพชญ์ว่า “ ...ศักราช 854 ชวดศก (พ.ศ. 2035) ประดิษฐานมหาสถูปพระบรมธาตุสมเด็จพระบรมไตรโลก แล (ะ) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า...” หลังจากการสร้างพระมหาเจดีย์ทั้งสามองค์บนฐานไพทีเดียวกัน ที่ใช้เวลาก่อสร้างนานประมาณ 7 ปี จึงได้มีการสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ ด้านหน้าฝั่งตะวันออก ดังความว่า “...ศักราช 861 มะแมศก (พ.ศ. 2042) แรกสร้างพระวิหารวัดศรีสรรเพชญ์...” 
.
ดูเหมือนว่ารูปแบบทางสถาปัตยกรรมของพระเจดีย์ในยุคสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 จะไม่นิยมเจดีย์ทรงปราสาท (ปรางค์ทรงงาเนียม) ตามแบบพระราชบิดา แต่หันมานิยมการสร้างเจดีย์ทรงระฆังแบบลังกา พัฒนาการมาเป็นเจดีย์แบบศิลปะอยุทธยาแท้ ๆ เป็นครั้งแรกครับ
.
รูปแบบเจดีย์แบบอยุทธยา มีฐานล่างผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส (หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบฐานไพที) เป็นฐานประทักษิณเวที (Pradakshina platform) รองรับชั้นฐาน “มาลาสนะ”หรือ “ตรีมาลา”  (Mālāsana-Trimālā) ผังกลม 3 ชั้น ชั้นฐานปัทม์ผังกลมที่มีท้องไม้ใหญ่ ฐานบัวหงายรองรับชั้นมาลัยเถา (บัวลูกแก้ว) 3 วง ชั้นองค์ระฆังสั้นที่มีลวดบัวปากระฆังด้านล่าง ด้านบนเป็นบัลลังก์ (หรรมิกา-Harmika) ใหญ่ แบบฐานปัทม์ผัง 4 เหลี่ยมคลุมยอดระฆัง รองรับก้านฉัตร บัวฝาละมี ปล้องไฉนมีลวดซ้อนเว้นระยะห่างระหว่างปล้องวง ขึ้นไปจบที่ปลียอดและลูกแก้วบัวตูม
.
*** การปรากฏชั้นฐานปัทม์ผังกลมที่มีท้องไม้ใหญ่เหนือฐานตรีมาลา ชั้นมาลัยเถาและปล้องไฉนมีลวดซ้อนเว้นระยะห่างระหว่างวง เป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญของเจดีย์ทรงลังกาในงานศิลปะแบบอยุทธยาในยุคแรกครับ 
.
เจดีย์ใหญ่วัดพระศรีสรรเพชญ์ หันหน้าไปทางวิหารทางตะวันออก ทำมุขซุ้มประตูเป็นจระนำยื่นออกมาบนระนาบเดียวกับฐานมาลัยเถาสมมาตรทั้ง 4 ด้าน ทำบันไดขึ้นลงมาที่ฐานประทักษิณ มีประตูเข้าภายในด้านหน้า ภายในแกนกลางขององค์ระฆังมี “เรือนธาตุทรงปราสาทแบบเจดีย์ทรงปรางค์ฎ แต่ละด้านเป็นซุ้มหน้านาง ปรากฏชั้นครุฑเหินที่นิยมมาตั้งแต่ยุคพระบรมไตรโลกนาถที่ชั้นอัสดงของมุมหลัก เป็นสถูปภายในเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์ด้านตะวันออก องค์กลางบรรจุพระบรมอัฐิของบรมไตรโลกนาถ และองค์ตะวันตกบรรจุพระบรมอัฐิของพระบรมราชาธิราชที่ 3   
.
----------------------------
***  ที่ “วัดนางพญา” เมืองโบราณศรีสัชนาลัย-เชลียง มีการจัดวางแผนผัง-สถาปัตยกรรมของวิหารและพระเจดีย์ ประธานในรูปแบบเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชรญ์ในยุคแรกสร้าง โดยที่เจดีย์ประธานมีองค์ประกอบแบบเดียวกับเจดีย์ใหญ่วัดพระศรีสรรเพชญ ทั้งฐานประทักษิณ ฐานตรีมาลา ฐานมาลัยเถา (ที่แตกต่างไปจาก “บัวถลา” 3 วงแบบสุโขทัย) องค์ระฆังอ้วนป้อมที่มีบัวปากระฆัง มีบัลลังก์ใหญ่ครอบด้านบนระฆัง ก้านฉัตร บัวฝาละมี และปล้องไฉนมีซ้อนเส้นลวดและวางระยะห่างจากกันตามแบบอยุทธยา (ปล้องไฉนแบบศิลปะสุโขทัย แทบจะไม่เว้นช่องว่างระหว่างวงปล้อง) วางมุขจระนำเป็นซุ้มประตูในระนาบเดียวกับชั้นมาลัยเถาครับ   
.
ที่แกนกลางภายในองค์ระฆังของเจดีย์ประธานวัดนางพญา ยังได้ถอดแบบ “เรือนทรงปราสาท” ที่มีซุ้มหน้าบันแบบหน้านาง-รวยนาค-ปลายกระหนกหางหงส์ ถอดแบบแผนโดยตรงมาจากเรือนปราสาททรงปรางค์ ที่เป็นแกนอยู่ภายในเจดีย์ประธานวัดพระศรีสรรเพชญ์อย่างชัดเจน 
.
เมื่อพิจารณาช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ของการพระราชสงครามระหว่างกรุงศรีอยุทธยากับล้านนาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ที่มีความสอดรับของช่วงเวลากับรูปแบบทางสถาปัตยกรรม การคลี่คลายลวดลายทางศิลปะของฝ่ายอยุทธยาที่รับมาจากล้านนาและจีน การจัดวางเรือนธาตุปราสาทภายในองค์ระฆังตามแบบพระเจดีย์ใหญ่วัดพระศรีสรรเพชญ์ และคติความเชื่อในเรื่องสัญลักษณ์แห่งอำนาจที่นิยมมาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) สร้างปรางค์แบบเขมรขึ้นที่วัดจุฬามณี เมืองสองแควแล้ว  
.
“วัดนางพญา”  เมืองเชลียง-ศรีสัชนาลัย จึงควรถูกสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2065 – 2070 ภายหลังการเจรจาสันติภาพ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของกรุงศรีอยุทธยา โดยยึดตามรูปแบบสถาปัตยกรรมของพระเจดีย์ประธานใหญ่แห่งวัดพระศรีสรรเพชญ์ในยุคเริ่มแรก เช่นเดียวกับการสร้างปรางค์พระมหาธาตุเชลียง ครอบทับเจดีย์ยอดดอกบัวตูม (พุ่มข้าวบิณฑ์) ในยุคพระราชบิดา (พระบรมไตรโลกนาถ) หลังจากที่ทรงได้รับชัยชนะเหนือล้านนาในสงครามเมืองเชลียง (ดังปรากฏความเฉลิมพระเกียรติในลิลิตยวนพ่าย) ครับ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆 
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น