วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ปราสาทบ้านพลวง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
ลวดลายสะท้อนความอุดมสมบูรณ์แห่งพงไพร ที่ “ปราสาทบ้านพลวง” เมืองสุรินทร์ 
“ปราสาทบ้านพลวง” ตั้งอยู่ที่บ้านพลวง ตำบลกังแอน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ตามถนนสายสุรินทร์-ปราสาท-ช่องจอม มีทางแยกซ้ายมือเข้าไปอีกประมาณ 900 เมตร มีป้ายบอกทางเข้าไปถึงตัวปราสาทได้โดยสะดวก เป็นปราสาท “สฺรุก” (Sruk) ศาสนสถานศูนย์กลางประจำชุมชน (Communities) เพื่อประดิษฐานรูปเคารพในคติความเชื่อแบบฮินดู (Hinduism)  ในศิลปะ (ช่วงความนิยม) แบบปราสาทพระวิหาร-บาปวน ราวกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 17
.
ปราสาทหินบ้านพลวงเป็นปราสาทหินขนาดเล็กที่ได้รับการขุดแต่งบูรณะโดยวิธีการ "อนัสติโลซิส" (Anastylosis - การรื้อมาและประกอบเป็นจิ๊กซอว์ขึ้นไปใหม่ เสริมโครงสร้างและรากฐานใหม่ หินส่วนไหนขาดก็เติมหินใหม่เข้าไปให้สมบูรณ์ โดยไม่ขัดแย้งกับลวดลายศิลปะเดิมของปราสาท) โดย นาย แวนส์ เรย์ ซิลเดรส นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ที่กำลังทำงานวิจัยเรื่องเกี่ยวกับศิลปะตะวันออกสมัยโบราณอยู่ในขณะนั้นครับ
.
ซิลเดรสได้เดินทางสำรวจปราสาทหินมาหลายแห่งในอีสานใต้ ก็ยังไม่ถูกใจ เพราะว่าปราสาทส่วนใหญ่เป็นแบบ "อาโรคยศาลา" (ĀrogyaŚālā)  จึงไม่มีลวดลายศิลปะการแกะสลักหินให้ศึกษามากนัก หลายปราสาทก็มีขนาดใหญ่  จนเขาได้มาพบกับปราสาทหลังหนึ่งในสภาพมีดินทับถม แต่ส่วนเรือนยังคงสมบูรณ์ สลักลวดลายอย่างสวยงามบนหน้าบันใกล้กับบ้านพลวง เขาจึงเกิดความสนใจและต้องการที่จะบูรณะขึ้นมาใหม่ตามแนวคิดอนัสติโลซิสที่นิยมใช้กับการบูรณะปราสาทในช่วงนั้น
.
ในปี พ.ศ. 2514  ซิลเดรส จึงได้ทำเรื่องขออนุญาตกรมศิลปากรและได้รับทุนจากมูลนิธิวิจัยโซเดย์ แห่งสหรัฐอเมริกา มาเป็นงบประมาณในการบูรณะปราสาทบ้านพลวงประมาณ 6 แสนบาทครับ
.
------------------------------
*** ปราสาทบ้านพลวงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีคูน้ำเป็นรูปตัวยู ( U ) ล้อมรอบ ใกล้เคียงกันทางตะวันออกมี “บาราย” (Baray) หรือสระน้ำขนาดใหญ่ (Pond) ขนาด 350*350 เมตร แสดงความเป็นที่ตั้งของชุมชน (สฺรุก-วิษัย) โบราณมาก่อน เป็นปราสาทหลังเดี่ยวก่อด้วยหินทรายทั้งหมด ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขฐานยื่นเฉพาะส่วนกลางยาวไปข้างหน้า 
.
จากร่องรอยส่วนรักแร้ของมุขฐานได้แสดงว่า ในครั้งแรกสร้างนั้น (ในช่วงสมัยพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1) อาจมีความตั้งใจจะสร้างเป็นปราสาทอิฐแบบตรีมูรติ (Trimurti)  3 หลังบนฐานยาว ที่มีร่องรอยของการยกมุขเป็นเก็จด้านหน้า แต่ต่อมาได้สร้างขึ้นเพียงหลังเดียวโดยสร้างฐานด้านหน้าเป็นฐานยาวเสริมเข้าไปกับฐานเดิมครับ      
.
เรือนธาตุปราสาทบ้านพลวง มีประตูทางเข้าอยู่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว ส่วนด้านอีก 3 ด้านแกะสลักหินเป็นรูปประตูแบบเครื่องไม้ประดับอกเลาประดับผนังที่เรียกว่า “ประตูหลอก” (False doors) ด้านบนเรือนสร้างแค่เพียงชั้นบัวรัดเกล้า ส่วนบน (หลังคา) ทรงเรือนวิมานอาจสร้างด้วยการก่ออิฐ แต่พังทลายลงมาจนหมดแล้ว จึงเหลือตัวปราสาทเพียงครึ่งเดียว หรืออาจยังไม่ได้สร้างขึ้นไป
.        
หน้าบันขององค์ปราสาทแกะสลักเข้าไปบนผนังของมุขยกเก็จ โดยไม่ได้แยกเป็นหน้าบันออกมาเป็นแผ่น ซึ่งเป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่นิยมกันในศิลปะแบบพระวิหาร หน้าบันทางทิศตะวันออกด้านหน้าแกะสลักเป็นเรื่องราว “พระกฤษณะกำลังยกเขาโควรรธนะ” ร่วมกับภาพของโคปาล โคปีและรูปวัว อยู่บนก้านขดใบม้วนที่หน้าบันอย่างชัดเจน ส่วนทางเหนือก็ปรากฏรูปพระกฤษณะต่อสู้กับนาคกาลียะบนทับหลัง สะท้อนคติ วรรณกรรมเรื่อง “พระกฤษณะ” (Krishna-Kṛṣṇa) หรือ “ชีวประวัติแห่งพระกฤษณะ” (Krishnacaritra)  ในวัยเด็ก (Childhood of Kṛṣṇa) อันเป็นคตินิยมสำคัญในยุคศิลปะแบบพระวิหารครับ 
.
*** “หน้าบัน” (Pediment) ทางทิศเหนือ มีสภาพผุกร่อนไปมาก สลักเป็นเทพเจ้าประทับบนช้าง (พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ) หน้าบันทางทิศตะวันตกไม่มีการแกะสลัก  ส่วนหน้าบันทางทิศใต้ เป็นรูปบุคคลในท่านั่ง มหาราชาลีลาสนะบนหน้าเกียรติมุข ซึ่งตามคติความเชื่อของฮินดู ควรจะหมายถึงพระยม 
.
*** “ทับหลัง”(Lintel) เหนือกรอบประตูด้านทิศตะวันออกหรือด้านหน้าของปราสาทสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ (แบบหันด้านข้าง ที่นิยมในยุคปราสาทพระวิหาร) อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วเหนือเกียรติมุข ที่ผนังมุมหลักของด้านหน้ายังสลักรูปทวารบาลถือกระบองในซุ้มเรือนแก้ว แต่ยังแกะสลักไม่เสร็จสิ้น 
.
ทับหลังทางทิศเหนือเป็นเรื่องพระกฤษณะกำลังรบกับนาคกาลียะ ส่วนทางด้านตะวันตกยังไม่ได้เริ่มแกะสลักรูปใด ๆ ดูเหมือนว่าปราสาทด้านหลังจะเป็นทิศสุดท้ายในการแกะสลักของทุกปราสาทหินเสมอ ๆ   
.
ส่วนทางด้านทิศใต้ ทับหลังสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสามเศียร มีเส้นเกศาที่ตะพอง ทับหลังรูปพระอินทร์นี้ อาจเคยเป็นทับหลังในตำแหน่งด้านหน้าทิศตะวันออกในครั้งแรกสร้าง แต่ได้ถูกย้ายมาไว้ทางทิศใต้  โดยได้มีการแกะสลักแก้ไขแผงด้านบนที่เคยเป็นรูปฤๅษีสวดบริกรรมคาถาในซุ้มตามขนบแบบแผน มาเป็นรูปสัตว์นานาชนิดร่วมอยู่ ทั้งลิงที่มาเกาะอยู่ยอดช่อกรุยสามเหลี่ยม วัวหมอบ หมูป่าและนก บริเวณผนังเรือนธาตุ (ยกเก็จ) ด้านตะวันออก มีร่องรอยเริ่มต้นการแกะสลักรูปนางอัปสรา ส่วนเสาประตูซุ้ม (Pilaster) สลักลวดลายหนุมานคายท่อนก้านต่อก้านต่อดอก ท
.
ส่วนผนังเหนือทับหลัง (คอสอง) ฝั่งทิศใต้นี้ สลักรูปสัตว์ป่า ทั้ง เสือ (ลิง?) ปลาจำนวนมาก แม่ม้าพาลูกมาเล็มหญ้า จระเข้กินปลา หงส์กินปลา นกหงส์-ห่านหรือนกน้ำ ทั้งยังมีรูปกระรอก-กระแต หลุดลงมาเกาะอยู่ที่ข้างซุ้มบัญชรของพระอินทร์อีกด้วย
.
รูปสลักสัตว์ป่าอย่างกระรอกกระแตและกวางป่า(ละมั่ง ?) ยังหลุดลามมาอยู่เหนือพวยระกา-ใบไม้ก้านต่อดอกพันธุ์พฤกษาที่หน้าบันด้านหน้า เหนือรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ ทั้งยังมีภาพหงส์เหินเข้าไปเรียงแทนกลีบบัวลวดบัวหงายของชุดบัวหัวเสาทางทิศใต้ สลักรูปนกน้ำไปแอบวางไว้ใต้รูปหนุมานคายท่อนพรรณพฤกษาของเสาประดับ  ซึ่งการแทรกลวดลายของรูปสัตว์เช่นนี้ยังไม่เคยปรากฏเป็นคติในลัทธิความเชื่อใดในการสร้างปราสาทองค์ไหนในวัฒนธรรมเขมรครับ
ภาพสลักสัตว์ป่าที่เข้าไปแฝงอยู่ในร่วมในลวดลายประดับปราสาทที่สร้างขึ้นเพื่อการอุทิศถวายแก่เทพเจ้า ไม่เคยปรากฏในงานศิลปะเขมรโบราณที่เคร่งครัดตามแบบแผนอันศักดิ์สิทธิ์ คงพบเห็นได้ที่ปราสาทบ้านพลวงเพียงแห่งเดียว อาจด้วยเพราะความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ที่เคยเป็นป่าใหญ่ มีสัตว์นานาชนิดและบึงน้ำใหญ่  ช่างท้องถิ่นปราสาทบ้านพลวงในอดีต จึงได้แหกกรอบความเชื่อ ขนบแบบแผนและศิลปะ นำเอาสภาพแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ในถิ่นฐานของตนลงมาผสมผสานกับความเชื่อทางศาสนาในคติเรื่องพระอินทร์ เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์  สะท้อนความอุดมสมบูรณ์แห่งพงไพรในอดีตของดินแดนแถบนี้    
.
*** แต่ผู้ปกครองใหญ่จากราชสำนักหรือนักบวชพรามหณ์อาจไม่ได้มองเห็นด้วยตามความคิดของช่างแกะสลักศิลปะ จึงไม่อยากให้ภาพสลักนอกขนบแบบแผนที่แทรกรูปสัตว์ป่ามาร่วมกับลวดลายเทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์มาอยู่ด้านหน้า ช่างศิลปะท้องถิ่นและนักบวชพราหมณ์ที่สฺรุกบ้านพลวง จึงได้เจรจาตกลงประนีประนอมกัน รื้อเอาทับหลังและเสาประดับจากเดิมที่เป็นซุ้มประตูด้านหน้าย้ายมาอยู่ทางทิศใต้ทั้งหมด ซุ้มประตูด้านหน้าปราสาทที่มีความสำคัญที่จะต้องแกะสลักเสร็จสมบูรณ์ก่อนด้านอื่น ๆ จึงต้องมาถูกแกะสลักแก้ไขใหม่ กลายเป็นด้านยังแกะสลักไม่แล้วเสร็จ ในขณะที่ด้านทิศใต้และทิศเหนือกลับแกะสลักลวดลายประดับซุ้มประตูได้อย่างสมบูรณ์ครับ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น