วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564

แท่นหินวิมานสูริยจักร

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“แท่นหินวิมานสูริยจักร" รองพระธรรมจักร-สตัมภะ  
และจารึกพระคาถา “เย ธมฺมา” ที่ไม่เคยถูกล่าวถึง
ในบรรดาวัตถุโบราณในยุควัฒนธรรมทวารวดี ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มีแท่นหินชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่งจัดแสดงอยู่มาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งจากภาพถ่ายเก่าหนึ่งได้แสดงให้เห็นว่า แท่นหินนี้ เดิมในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ยังตั้งประกอบชิ้นส่วนแตกหักอยู่บนลานประทักษิณขององค์พระปฐมเจดีย์ ปะปนร่วมกับชิ้นส่วนโบราณวัตถุอีกเป็นจำนวนมาก 
.
ชิ้นส่วนและรูปประติมากรรมที่วางอยู่รายรอบนี้ ถูกเคลื่อนย้ายมาจากซากสิ่งก่อสร้างโบราณในยุคสมัย “ภารตะภิวัฒน์” (Indianization) ต้นทางวัฒนธรรมทวารวดี จนมาถึงยุคลูกครึ่งท้องถิ่นอย่างวัฒนธรรมทวารวดี   ที่เคยปรากฏอยู่เป็นจำนวนมากก่อนถูกทำลาย รื้อถอนหายสาบสูญไปหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดนครปฐมครับ
.
นับตั้งแต่การสร้างองค์พระปฐมเจดีย์ครอบซากสถูปเจดีย์โบราณ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ตั้งแต่ปี 2396 เป็นต้นมา ปรากฏหลักฐานว่า ได้เคยมีซากโบราณสถานเป็นจำนวนมากในเมืองนครปฐมโบราณ ดังที่มีการกล่าวถึงไว้ในบันทึกการสร้างพระราชวังปฐมนคร ว่า  “มีพระเจดีย์จำนวนมาก ติดเนื่องกันไปไม่ขาดระยะยิ่งกว่ากรุงเก่า ...มีฐานปราสาทพระราชวัง โบสถ์พราหมณ์ สระน้ำและกำแพงวัง อยู่ทางด้านตะวันตกขององค์พระปฐมเจดีย์...”
.
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศ วริยากรณ์ เคยมีพระนิพนธ์ว่า ที่เมืองโบราณนครปฐมนั้น เคยมีโบราณสถาน รวมทั้งยังพบพระพิมพ์ดินเผาและธรรมจักรศิลาอยู่เป็นจำนวนมาก    “...แผ่นดินในเมืองนั้นก็หนาสูงขึ้นมาก วัดวิหารเจดียสถานหักพังจมลงอยู่ใต้ดินมีมาก หลายแห่ง หลายตำบล เขาเล่าว่าสองศอกบ้าง สามศอกบ้าง สามศอกเศษบ้างต่างๆ กัน...”
.
ในระหว่างการสร้างพระปฐมเจดีย์ ในสมัยรัชกาลที่ 4  ได้มีการค้นพบจารึกพระคาถา เย ธมฺมา บริเวณซากพระปทม (พระปฐมเจดีย์องค์เดิม)  ซึ่งนั่นก็อาจเป็นการค้นพบจารึกในยุคสมัยวัฒนธรรมทวารวดีอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกครับ 
.
จนมาถึงช่วงรัชกาลที่ 5  ได้มีการรวบรวมโบราณวัตถุในเขตเมืองโบราณนครปฐมและมณฑลนครไชยศรี โดยครั้งที่สมเด็จฯ กรมพระยาดารงราชานุภาพ ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จมาตรวจราชการที่มณฑลนครไชยศรีในปี พ.ศ. 2441  ทรงมีรับสั่งถึงโบราณวัตถุพบที่เมืองนครไชยศรีว่า
.
“...มาพระปฐมคราวนี้ ได้เอาเปนธุระสืบค้นของโบราณได้พระพิมพ์หลายรูป พิเคราะห์ดูรูปพระพิมพ์เปนทานองฮินดูคล้ายกับที่ได้ในแหลมมลายู แลได้ไปพิจารณาดูศิลาจาหลักที่ตั้งไว้ในลานพระปฐม ท่วงทีฝีมือคล้ายกับที่มีในเกาะชะวา ดูพอเปนพยานในความสันนิถานได้อย่างหนึ่งว่า พระปฐมเจดีย์นี้ชาวมัชฌิมประเทศ คงจะเปนผู้สร้างหรือเปนครูให้สร้าง แต่เทวรูปที่ขุดได้เปนเทวรูปอย่างเดียวกับขอม เหมือนกับที่มีในเมืองสรรค์ เมืองสิงห์ แลเมืองนครราชสีมา ตลอดจนเมืองขอม..”
.
“... ได้พบของสาคัญในคราวนี้อย่างหนึ่ง คือ เงินเหรียญโบราณ พวกจีนขุดได้ทางคลองพระปโทน จีนพุกผู้ใหญ่บ้านนามาให้ดูตราเปนทำนองปราสาทมีรูปปลาอยู่ใต้นั้นด้านหนึ่ง เปนอุณาโลมกับลายรูปอะไรไม่รู้อีก ด้านหนึ่ง ไม่เคยเห็นเงินอย่างนี้มาแต่ก่อน...”  
.
การรวบรวมวัตถุโบราณ เกิดขึ้นในช่วงหลังการสร้างทางรถไฟ ในปี 2443 ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดารงราชานุภาพ ในฐานะนายกราชบัณฑิตยสภา มีรับสั่งว่า “...มีเรื่องที่ข้าพเจ้ายังไม่หายเสียดายอยู่เรื่องหนึ่ง คือเมื่อเริ่มสร้างรถไฟสายใต้ใน พ.ศ. 2443 เวลานั้นท้องที่รอบพระปฐมเจดีย์ยังเป็น ป่าเปลี่ยวอยู่โดยมาก ในป่าเหล่านั้นมีซากพระเจดีย์โบราณขนาดใหญ่ ๆ ซึ่งสร้างทันสมัยพระปฐมเจดีย์อยู่หลายองค์ พวกรับเหมาทาทางรถไฟไปรื้อเอาอิฐพระเจดีย์เก่ามาถมเป็นอับเฉากลางรางรถไฟ ได้อิฐพอถมตั้งแต่สถานีบางกอกน้อยไปตลอดระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร ขอให้คิดดูก็จะได้เห็นว่ารื้อ พระเจดีย์ที่เป็นของควรสงวนเสียสักกี่องค์ ...”
.
“...เมื่อย้ายที่ว่าการมณฑลจากริมแม่น้ำขึ้นไปตั้ง ณ ตำบลพระปฐมเจดีย์ซึ่งรื้อกันเสียหมดแล้ว ก็ได้แต่เก็บศิลาเครื่องประดับพระเจดีย์เก่าเหล่านั้นมารวบรวมรักษาไว้ ยังปรากฏอยู่รอบพระระเบียงพระปฐมเจดีย์บัดนี้ ถ้ามีราชบัณฑิตยสภาอยู่ในเวลานั้น ก็จะหาเป็นเช่นนั้นไม่ ...”
.
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพรับสั่งให้เจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ ซึ่งดำรงตาแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรี เป็นผู้รวบรวมโบราณวัตถุ เจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์จึงได้มอบให้หลวงพุทธเกษตรานุรักษ์ (จร จรณี) ซึ่งเป็นผู้มีนิสัยชอบเสาะแสวงหาโบราณวัตถุกับหลวงไชยราษฎร์รักษา (โพธิ์ เคหะนันท์) (ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระพุทธเกษตรานุรักษ์) เป็นผู้ช่วยรวบรวมโบราณวัตถุนามาเก็บรักษาให้เป็นระเบียบที่ระเบียงคดและลานรอบองค์พระปฐมเจดีย์  ก่อนจะน้ำโบราณวัตถุส่วนใหญ่มาไว้ในอาคารซึ่งจัดสร้างเป็น “พระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน” หรือพิพิธภัณฑ์ขององค์พระปฐมเจดีย์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 ครับ (สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง : โบราณคดีเมืองนครปฐม 2557)
.
-------------------------------
*** แท่นหินขนาดใหญ่ 2 ชิ้น อยู่ในสภาพแตกหักเพราะถูกทุบทำลายทั้งคู่ ถูกสลักขึ้นในยุคสมัยเดียวกัน เพื่อใช้เป็น “แท่นรองพระธรรมจักรแบบตั้งเสา” หรือ “พระธรรมจักรสตัมภะ” (Dhamma-chakra Stambha – สดมภ์ แปลว่าเสาตั้ง) รูปประติมากรรมธรรมจักรแบบตั้งไว้บนบนเสาสูง (Pillar) ธรรมจักรสตัมภะนี้ อาจเคยตั้งตระหง่านที่ด้านหน้าและด้านหลังของพระสถูปใหญ่ในยุครุ่งเรือง เช่นเดียวกับความนิยมในการตั้งเสาธรรมจักรหน้าสถูป ยุคอมราวดี-นาคารชุณโกณฑะ ของแคว้นอานธระในยุคสมัยก่อนหน้า
.  
โดยแท่นหินชิ้นหนึ่งสลักเป็นภาพพุทธประวัติตอนปฐมเทศนา ในวาระ “อาสาฬหปูรณมีบูชา”ตามคตินิยมในนิกายสถวีรวาท-เถรวาท (ราชวงศ์ปัลลวะ-คติลังกามหาวิหาร) ที่นิยมในแคว้นอานธระ อินเดียใต้ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ครับ 
.
แท่นหินรองธรรมจักรอีกชิ้นหนึ่งจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร สัณฐานสี่เหลี่ยมขยายออกช่วงบน หน้ากระดานด้านบนสุดสลักเป็นลายลูกปัดอัญมณี ขนาบลายร้อยมาลัยดอกไม้ต่อเนื่องแบบที่นิยมในงานศิลปะอินเดียเหนือ ตัวเรือนสลักเป็นเรือนวิมานบัญชรซ้อนชั้นที่มีการจัดลวด “บัวรวน” (กลีบใบไม้ใหญ่ ม้วนที่ยอดใบ วางเรียงต่อเนื่อง) และ “กลีบบัวสับหว่าง” วางเป็นชั้นบัวหงายรองรับหน้ากระดาน (ลายสังวาลสี่เหลี่ยมต่อเนื่อง) ปรากฏรูป  "พระสูรฺยเทพ" (Surya Deva) ถือดอกบัวขาบในซุ้มวงโค้ง (กุฑุ) อยู่ภายในซุ้มบัญชรชั้นบนสุดของเก็จประธานในแต่ละด้าน 
.
*** รูปศิลปะประติมานของแท่นรองพระธรรมจักรรูปเรือนวิมานนี้ อาจได้สะท้อนคติ “สูริยจักร” (Surya Chakra) ที่เปรียบรูปศิลปะพระธรรมจักร คือ “พระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร” (Dhammacakkappavattana Sutta)  ที่จะส่องแสงสว่างอันแรงกล้าไม่มีวันสิ้นสุดในทิศทั้ง 4 ผ่านไปยังโลกทั้งสาม ทั้งแผ่นดิน อากาศและท้องฟ้า ประดุจดั่งการโคจรแห่งพระสูริยะในสกลจักรวาลครับ
.
บริเวณมุมทั้งสี่ด้านบนสุดของแท่นวิมานสูริยจักร ทำเป็นฐานบัวลูกแก้วและฐานช่องขื่อปลอม ตรงกลางของแท่นเจาะเป็นช่องเข้าเดือย ซึ่งน่าจะเคยมีรูปสถูปประดับที่มุมทั้ง 4  มุม
.
ส่วนตรงกลางนั้นเจาะสกัดเป็นช่องสี่เหลี่ยมใหญ่ ที่ส่วนบนมีหินคั่นกันเพื่อรับปลายยอดเสาอยู่ทั้งสองฝั่ง แสดงว่ามีช่องสำหรับเสียบเข้าเดือยและล็อคเดือยไว้ก่อนทะลุขึ้นไปด้านบน แท่นหินวิมานสูริยจักรนี้จึงเป็นชิ้นส่วนของแท่นส่วนยอดบนสุด โดยมีเสาหินขนาดใหญ่ ที่สลักด้านบนเป็นรูปประดับของเครื่องถนิมพิพาภรณ์และช่ออุบะดอกไม้ย้อยเป็นพวงลงมาที่เรียกว่า “เสาสตัมภะ” (สดมภ์ – เสา) ตั้งรองรับอยู่ด้านล่าง
.
------------------------------
*** บนสุดของชิ้นส่วนเสาหินที่เหลืออยู่ มีจารึกสลักอยู่บนผิวยอดเป็นอักษรแบบปัลลวะ ภาษาบาลี อายุอักษรอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 เขียนว่า “...สญฺจ โย นิโรโธ” อันเป็นส่วนหนึ่งใน 4 บาท ของบทพระคาถา “เย ธมฺมา” ที่นิยมในยุคสมัยต้นของวัฒนธรรมอินเดีย-ทวารวดี จึงอนุมานว่าด้านที่แตกหายไปก็จะสลักด้านละบาท เป็น “พระคาถาหัวใจของพระพุทธศาสนา” ที่มีความเต็มว่า
.
“...เย ธมฺมาเหตุปฺปภวา  เตสัง เหตุ ตถาคโต อาห  ...เตสญฺจ โย นิโรโธ ...เอวังวาที มหาสมโณ”
“...พระมหาสมณะจะตรัสอยู่เสมอว่า ธรรมะทั้งหลายของพระองค์นั้น ล้วนเกิดขึ้นมาด้วยเพราะเหตุแห่งความเป็นทุกข์  พระตถาคตจึงได้ทรงสั่งสอนพระธรรมอันบริสุทธิ์ เพื่อนำไปสู่ความดับทุกข์จากเหตุเหล่านั้น ...”  
.
*** จารึกพระคาถา “เย ธมฺมา” บนยอดเสาสตัมภะของแท่นวิมานสูริยจักรนี้ ยังไม่เคยถูกกล่าวถึงหรือปรากฏในงานศึกษา เอกสารหรือทะเบียนและฐานข้อมูลจารึก ใด ๆ ของยุคสมัยวัฒนธรรมทวารวดีมาก่อนเลยครับ  (ลองค้นหาดูนะครับ ถ้ามีก็ช่วยบอกด้วย)  
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น