วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2564

ปราสาทตาพรหม

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
เรื่องเล่าที่ปลายก้านม้วนของปราสาทตาพรหม ไม่ได้มีแค่ “สเตโกซอรัส”นะจ๊ะ

ในช่วงศิลปะแห่งจักรวรรดิบายน (กลางพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 – พระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 พระโอรส) ศิลปะเขมรยุคเมืองพระนครธม (ชยศรี) นิยมแกะสลักลวดลายดอกไม้เละสิ่งมงคลประดับผนังตัวอาคารหินในส่วนต่าง ๆ แต่ได้เพิ่มเรื่องราววรรณกรรมทางคติความเชื่อศาสนาจากยุคก่อนหน้า ที่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายฮินดูหรือพุทธ รวมทั้งคติชน วีถีชีวิตตามยุคสมัยผสมเข้าไปในลวดลายด้วย
.
ผนังเรือนของอาคารปราสาทหินหลายแห่งในยุคสมัยนี้ จึงนิยมสลักผนังกำแพงขัดเรียบเปลี่ยนให้เป็นลวดลายหลายอย่าง ทั้งลายดอกพิกุล/ดอกพุด/ดอกลำดวนแบบต่อเนื่อง ลายก้านต่อก้าน ลายก้านขดสลับต่อก้าน ลายพวงดอกไม้เฟื่องอุบะ แบ่งแยกลวดลายด้วยกรอบเส้นลวดและลายสร้อยลูกปัดกลม โดยมีการแทรก “เรื่องราว “ (Story) จากวรรณกรรมความเชื่อในความนิยมยุคก่อนเข้าร่วมไว้ในลวดลายประดับ โดยมีความนิยมในการเล่าเรื่องราว แทรกเข้าไว้ที่ปลายลายลายก้านขด/ผักกูด/ใบไม้ขดม้วน (ที่มีก้านต่อเนื่องไปยังขดถัดไป) บนผนังหน้ากระดานของเสา เพิ่มมุมหรือเสาอิงประดับซุ้ม บางเสาก็เป็นวางรูปสัตว์เทพอย่างหงส์ในวงใบขด เทวดาขี่หงส์ นาค โดยมีลายสิงห์คายท่อนมาลัย หน้ากาลคายท่อนมาลัยและครุฑอยู่ที่โคนเสาครับ
.
ดูเหมือนว่า “เรื่องราวและเรื่องเล่า” ที่นำมาสลักเสลาในปลายขดแต่ละวงที่ต่อเนื่องกัน ไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์ตายตัวว่าจะต้องมีเนื้อหาต่อเนื่องสอบรับกันไป แต่เป็นเรื่องเฉพาะแยกจากกันไปคนละเรื่องในแต่ละขดแต่ละวง แต่บางชุดก็ดูเหมือนว่าจะสลักเป็นเรื่องราวต่อเนื่อง ...ตามใจช่างเลยละกัน
.
----------------------
*** ตัวอย่างอันดีของเรื่องเล่าที่ปลายลายใบขดม้วน คือภาพสลัก “สัตว์ประลาด” อันเป็นที่รู้จักกันดีของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ในลายก้านขดวงหนึ่ง บริเวณเพิ่มมุมรักแร้ของมุมซุ้มโคปุระด้านในฝั่งตะวันตก ที่เล่ากันว่าเหมือนไดโนเสาร์พันธุ์ “สเตโกซอรัส” (Stegosaurus) เป็นหนึ่งในลวดลายที่เป็นเพียงภาพสวยงามจากจินตนาการ หรือภาพสัตว์ตามธรรมชาติในยุคสมัยนั้น ที่ช่างแกะสลักแทรกเข้ามาไว้ในกลางวงก้านขดหนึ่ง แต่ดันประกอบพื้นที่ว่างอยู่ด้วยลายพุ่มใบไม้ที่ดูเหมือนครีบหลังของไดโนเสาร์พันธุ์นี้ไปครับ 
.
จึงกลายมาเป็นจินตนาการไดโนเสาร์จากนักท่องเที่ยวที่ได้มาเยือนกันไปซะงั้น 
.

**** ก้านขดต่อเนื่องในชุดเดียวกับสเตโกซอรัส  มีลวดลายเริ่มต้นจากสิงห์คายก้านขดที่เชิงภาพ ถัดขึ้นมาเป็นวงขดของหัวนาค/งู/หัวนก/ไก่ ?ในพุ่มใบไม้ วงขดของภาพระมาด/กระซู่/แรด/หมูป่า/ชะมด/ตัวนิ่ม ? ในพุ่มไม้ ต่อด้วยวงขดภาพกวางหรือเมกาโรซอรัสในพุ่มไม้ ทั้งสามภาพแสดงความหมายของป่าและสัตว์ป่า ต่อเนื่องด้วยภาพบุคคล (อรชุนในมหาภารตะ ?) กำลังภาวนาในถ้ำ ภาพการให้พรแก่อรชุนโดยพระศิวะ ? ภาพภีษมะนอนบนธนูดอกเห็ด และภาพบุคคลชายกำลังฉุดบุคคลหญิง (ทุหศาสัน-นางเทรปตี ? ในมหาภารตะ) ประกอบร่วมในชุดลายขดม้วนต่อเนื่องเดียวกันครับ
.
*** เรื่องเล่าในลายใบขดม้วนที่ปราสาทตาพรหมนี้ ยังมีให้เห็นอีกหลายเรื่อง ทั้งที่พอตีความ (มโน) ได้ หนือบางทีก็ไม่รู้จะมั่วไปเป็นเรื่องอะไร อย่างเช่นที่ซุ้มมุขโคปุระฝั่งทิศตะวันตกของกลุ่มอาคารด้านทิศใต้ ก็เป็นตัวอย่างอันดีของลวดลายประดับผนังอาคารที่มีรูปแบบของลวดลายก้านขดต่อลายที่มีการแทรกวรรณกรรมทั้งพุทธและฮินดูเข้าไปด้วยอีกกลุ่มหนึ่ง 
.
ด้านบนสุดเป็นภาพพระโพธิสัตว์กำลังถูกยักษ์เลื่อยแบ่งพระวรกาย จากนิทานอวทานศตกเรื่อง “ศรีเสนาวทาน” หรือชาดกนอกนิบาตเรื่อง “สิริจุฑามณีชาดก” ถัดลงมา ขดวงด้านบนเป็นเรื่องของ พระราม (ถือคันศรธนู) พระลักษณ์ ออกเดินดงในมหากาพย์รามายณะ วงที่สองเป็นเรื่อง พาลีรบสุครีพ ในมหากาพย์รามายณะเช่นเดียวกันครับ
.
ก้านขดวงที่สามถัดลงมาเป็นรูปบุคคลสองคนกับสัตว์ เหมือนจะกำลังต่อสู้กับสิงห์ อาจหมายถึงเรื่องพระกฤษณะประลองกำลัง โดยมีพระพลรามอยู่ใกล้ ๆ หรืออาจเป็นพระราม พระลักษณ์ ต่อสู้กับมารีศในรามายณะ 
.
*** ไล่ลงมาถึงก้านขดวงที่สี่เป็นภาพบุคคลถืออาวุธด้านมือขวา กำลังขี่ม้า อาจหมายถึงเรื่องราวในวรรณกรรมประเภทชาดก ตามคติพุทธศาสนาเรื่อง “โภชาชานียชาดก” ที่พระมหาโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นม้าศึก สินธพ/อาชาไนย ชื่อว่า " โภชาชานียะ"  
.
ภาพสลักไม่ได้มีรายละเอียดชัด ก็คงต้องมโน เล่าเป็นตุเป็นตะกันไปครับ
.
*** ส่วนก้านขดวงสุดท้ายด้านล่าง เป็นภาพของบุคคล งูเห่า (มีแม่เบี้ย) และพังพอน ซึ่งควรจะหมายถึง “นกุลชาดก” ที่เล่าเรื่องราวของฤๅษี งูเห่าและพังพอน ที่เนื้อความโดยย่อว่า 
.
“.…ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ครั้นเจริญวัยได้เรียนศิลปะทุกแขนง ในกรุงตักสิลา พอศึกษาเล่าเรียนจบแล้วก็ออกบวชเป็นฤๅษี ยังอภิญญาและสมบัติให้เกิด กินรากไม้ในป่าเป็นอาหาร โดยการเที่ยวแสวงหาที่อยู่อาศัยในป่าหิมพานต์
.
ที่อาศรมของพระฤๅษี สุดท้ายพระฤๅษีก็ใช้จอมปลวกแห่งหนึ่งเป็นที่พักอาศัย ใกล้จอมปลวกนั้นมีงูอาศัยอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง งูและพังพอนทั้งสองทะเลาะกันเป็นเรื่องปกติ พระฤๅษีจึงเจริญเมตตาให้สัตว์ทั้งสองรู้ผลที่จะได้รับจากการกระทำ แล้วสอนว่าเจ้าไม่ควรทะเลากัน ควรอยู่กันด้วยความสามัคคี ได้ทำให้สัตว์ทั้งสองนั้นสามัคคีกัน
.
ครั้นถึงเวลาที่งูออกไปข้างนอก พังพอนก็นอนอ้าปากหันหัวไปทางช่องโพลงจอมปลวกท้ายอาศรมแล้วหายใจเข้าออกหลับไป พระฤๅษีเห็นพังพอนนั้นนอนหลับ เมื่อจะถามว่าภัยอะไรเกิดขึ้นแก่เจ้า "พังพอน ท่านได้ทำมิตรภาพกับงูผู้เป็นศัตรู ไฉนจึงยังนอนแยกเคี้ยวอยู่อีกเล่า ภัยที่ไหนจะมาถึงแก่ท่านอีก" 
.
พระโพธิสัตว์กล่าวอย่างนี้แล้ว พังพอนจึงบอกว่า "พระคุณเจ้า ขึ้นชื่อว่าศัตรูไม่ควรดูหมิ่น ควรระแวงไว้เสมอ" แล้วได้กล่าวต่อว่า 
.
"บุคคลพึงระแวงภัยในศัตรูไว้ แม้ในมิตรก็ไม่ควรวางใจ ภัยเกิดขึ้นแล้วจากมิตร ย่อมตัดมูลรากทั้งหลายเสีย" 
.
ด้านล่างของชุดก้านขดที่เชิงภาพเป็นภาพครุฑยุคนาคในศิลปะที่งดงามครับ
  --------------------- 
*** การแทรกเรื่องราวและเรื่องเล่าจากวรรณกรรม คำสอนเรื่องมงคลและความดีงามในทุกคติความเชื่อในยุคก่อนหน้า รวมทั้งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมตามยุคสมัยร่วมลงไปในลวดลายประดับเล็ก ๆ อย่างกระหนกใบขด  ปรากฏความนิยมอยู่ทั่วไปทุกหนแห่งในปริมณฑลของหมู่ปราสาทตาพรหมและปราสาทราชวิหารขนาดใหญ่ในยุคสมัยจักรวรรดิบายน ได้ช่วยสร้างความศักดิ์สิทธิ์และมนตร์ขลังอันแยบยลให้กับศาสนาสถานอันควรค่าแก่การเคารพบูชาได้เป็นอย่างดีครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น